ThaiPublica > คอลัมน์ > “น่านโมเดล…เก็บน้ำใส่เมืองน่าน”

“น่านโมเดล…เก็บน้ำใส่เมืองน่าน”

9 เมษายน 2015


ดร.วิรไท สันติประภพ

คำพูดที่ว่า “น้ำคือชีวิต” มีความหมายมากสำหรับประเทศไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่อยู่ในชนบทและต้องพึ่งการเกษตรเป็นอาชีพหลัก การพัฒนาคุณภาพชีวิตคนไทยจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่มีน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเพียงพอ

การบริหารจัดการน้ำเป็นนโยบายหลักของทุกรัฐบาล และได้รับความสำคัญมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เพราะไม่ใช่ภาคเกษตรในชนบทเท่านั้นที่ขาดแคลนน้ำ ปัญหาเรื่องความเพียงพอและคุณภาพของน้ำได้กลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับภาคอุตสาหกรรม บริการ และกระทบคุณภาพชีวิตของคนเมือง การตัดไม้ทำลายป่าและสภาวะโลกร้อนได้ส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนแปรปรวนมากขึ้น เราต้องเผชิญกับภัยแล้ง น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ตลอดจนถึงมหาอุทกภัยที่สร้างความเสียหายอย่างหนักให้แก่คนกว่าครึ่งค่อนประเทศ

ประเทศไทยไม่ได้ขาดแคลนน้ำ แต่เรามีความสามารถกักเก็บน้ำได้จำกัด น้ำฝนจำนวนมากจึงถูกปล่อยไหลลงทะเลไปอย่างสูญเปล่า เมกะโปรเจกต์การบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลที่ผ่านมาจึงให้ความสำคัญกับการสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ การสร้างระบบระบายน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมหลักๆ และการสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในเขตเมืองและเขตอุตสาหกรรม เมกะโปรเจกต์เหล่านี้ใช้เงินลงทุนสูง และมีหลายมิติที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ (จนรัฐบาลที่แล้วเขียนทีโออาร์ไม่ถูก ต้องให้ผู้ประมูลเสนอเองว่าอยากทำอะไร) การบริหารจัดการน้ำมีทั้งผู้ได้และผู้เสียประโยชน์ รวมทั้งมีความเห็นต่างในด้านวิชาการ หน่วยงานราชการจึงไม่สามารถขับเคลื่อนให้โครงการขนาดใหญ่เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับเมืองน่าน ปัญหาเรื่องน้ำยากกว่าอีกหลายพื้นที่ของประเทศ เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูง ไม่สามารถทำระบบชลประทานขนาดใหญ่ได้ ต้องทำเป็นอ่างเก็บน้ำหรือฝายขนาดเล็ก และทำระบบจัดส่งน้ำตามระดับความสูงของพื้นที่ นอกจากนี้ พื้นที่ส่วนใหญ่เคยเป็นป่าต้นน้ำ ไม่มีเอกสารสิทธิ์ หน่วยงานราชการจะเข้าไปสร้างระบบชลประทานให้ก็คงลำบากใจพอสมควร คนน่านจึงต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมและน้ำป่าไหลหลากแทบจะทุกฤดูฝน หลายหมู่บ้านเคยถูกน้ำพร้อมโคลนถล่มพัดหายไป ส่วนในหน้าแล้ง คนน่านไม่มีน้ำพอสำหรับทำการเกษตร ต้องเข้าเมืองขายแรงงาน ส่วนชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ (โดยเฉพาะผู้สูงอายุ) ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ใช้น้ำน้อยและดูแลง่าย แต่ส่งผลให้เกิดการเผาป่า เกิดปัญหาหมอกควัน และใช้ยาฆ่าหญ้าจนน่านมีปริมาณสารเคมีสะสมในดินและน้ำใต้ดินสูงเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

น่านโมเดล

การสร้างและดูแลรักษาระบบบริหารจัดการน้ำให้พื้นที่ชนบทของไทยไม่น่าเป็นเรื่องยากเพราะหน่วยงานราชการทำเรื่องนี้มาหลายสิบปี แต่ในทางปฏิบัติแล้วกลับติดขั้นตอนของราชการจนไม่เกิดผล ปัญหาการประสานงาน (และไม่ประสานงาน) ระหว่างหน่วยราชการเป็นปัญหาโลกแตกของประเทศไทย มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้องกับการสร้างและดูแลรักษาระบบบริหารจัดการน้ำให้ชาวบ้าน กรมหนึ่งรับผิดชอบทำอ่างเก็บน้ำ กรมหนึ่งรับผิดชอบทำท่อส่งน้ำเข้าที่ทำกินของชาวบ้าน ส่วนอีกกรมหนึ่งต้องเป็นผู้อนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม หลายครั้งชาวบ้านได้แต่อ่างเก็บน้ำแต่ไม่มีท่อส่งน้ำรองรับ เพราะงบประมาณอนุมัติลงมาไม่พร้อมกัน หรือแต่ละหน่วยงานจัดลำดับความสำคัญให้แต่ละพื้นที่ต่างกัน บางครั้งได้งบประมาณแล้ว ออกแบบเสร็จแล้ว แต่ก็สร้างไม่ได้เพราะจัดสรรเงินทอนจากการประมูลไม่ลงตัว

การดูแลรักษาอ่างเก็บน้ำและระบบส่งน้ำหลังจากสร้างเสร็จแล้วยิ่งยุ่งยากขึ้นไปอีก เพราะงบประมาณเพื่อการซ่อมแซมไม่เคยพอสำหรับประเทศไทย นักการเมืองไม่นิยมจัดงบประมาณเพื่อซ่อมแซมสิ่งที่คนอื่นสร้างไว้ (เพราะไม่ได้หน้าตาเท่ากับเป็นคนสร้างเอง) ชาวบ้านจะซ่อมเองก็ไม่ได้ เพราะเป็นทรัพย์สินของทางราชการ และส่วนใหญ่ถูกสร้างด้วยผู้รับเหมา ไม่ได้ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ต้องอาศัยเครื่องมือขนาดใหญ่ในการซ่อมแซม การประสานงานระหว่างหน่วยงานราชการยิ่งยากขึ้นไปอีกหลังจากที่มีการถ่ายโอนงบประมาณและงานบางส่วนไปให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในบางพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาจจะพอมีงบประมาณอยู่บ้างแต่ไม่มีความรู้และช่างผู้เชี่ยวชาญ การถ่ายโอนงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมักจะถ่ายโอนแต่งาน ไม่มีการถ่ายโอนคนที่มีความรู้และผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานกลางไปด้วย

วันนี้ประเทศไทยจึงมีอ่างเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำเข้าพื้นที่การเกษตรหลายพันแห่งที่ถูกปล่อยให้ผุพัง หรือใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ถ้าเราให้ความสำคัญกับการซ่อมแซมระบบบริหารจัดการน้ำเหล่านี้อย่างจริงจังแล้ว จะช่วยเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำให้ประเทศได้อีกมากโข และจะเกิดผลได้เร็ว เป็นรูปธรรม มากกว่าที่จะไปรอให้เมกะโปรเจกต์การบริหารจัดการน้ำเกิดขึ้นได้จริง

น่ายินดีว่าตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว มูลนิธิปิดทองหลังพระสืบสานแนวพระราชดำริ ได้ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน และหน่วยงานราชการหลายแห่งในจังหวัด ลุกขึ้นมาทำโครงการซ่อมแซม ปรับปรุง ฝาย อ่างเก็บน้ำ และระบบท่อส่งน้ำทั่วทั้งจังหวัด โดยหวังว่า “น่านโมเดล” ที่กำลังเกิดขึ้นนี้จะช่วยให้ชาวบ้านมีน้ำใช้อย่างพอเพียง และเป็นต้นแบบของการซ่อมแซมระบบบริหารจัดการน้ำขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพ มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้สำรวจพื้นที่และตกลงร่วมกันที่จะซ่อมแซม ปรับปรุง ฝาย อ่างเก็บน้ำ และระบบท่อส่งน้ำกว่า 560 โครงการ คาดว่าจะมีชาวบ้านได้รับประโยชน์กว่า 41,700 ครัวเรือน และมีพื้นที่ทำการเกษตรกว่า 100,000 ไร่ที่จะมีน้ำใช้ดีขึ้น โดยเฉพาะน้ำสำหรับการปลูกพืชหลังนา ถ้าทำทุกโครงการได้สำเร็จ คุณภาพชีวิตของคนน่านจะดีขึ้นมาก รายได้เพิ่มขึ้น หนี้สินลดลง ไม่ต้องบุกรุกป่าทำไรเลื่อนลอยปลูกพืชเชิงเดี่ยว และชาวเมืองน่านก็ไม่ต้องกังวลกับปัญหาน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วม และหมอกควันที่มาแรงและถี่ขึ้นเรื่อยๆ

การทำงานตาม “น่านโมเดล” ก้าวหน้าเร็วกว่าการทำงานของระบบราชการปกติมาก ภายในสี่เดือนได้ซ่อมแซม ปรับปรุง เสร็จไปแล้วกว่า 110 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 22,000 ไร่ ฝายแก้งที่อำเภอปัวเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า “น่านโมเดล” สามารถแก้ปัญหาให้ชาวบ้านได้ดีกว่าระบบราชการหลายเท่านัก ฝายถูกน้ำป่าพัดพังไปเมื่อสิบปีที่แล้ว ชาวบ้านขอให้หน่วยงานราชการมาซ่อมหลายครั้งแต่ก็ไม่เกิดผล หน่วยราชการเคยประเมินว่าจะต้องใช้งบประมาณ 10 ล้านบาท แต่ติดปัญหาการจัดสรรงบประมาณและการประมูลหาผู้รับเหมามาซ่อม ส่งผลให้ชาวบ้านกว่า 740 ครัวเรือน เสียโอกาสเสียรายได้มานานนับสิบปี ภายใต้รูปแบบการทำงานของ “น่านโมเดล” ฝายแก้งถูกซ่อมเสร็จแล้วภายในเวลา 60 วัน โดยใช้เงินค่าวัสดุก่อสร้างเพียง 3 ล้านบาท และแรงงานชาวบ้านที่มาร่วมกันอีก 3,200 แรง ชาวบ้านประเมินกันเองว่าหลังจากที่ซ่อมฝายแก้งเสร็จแล้ว จะมีรายได้จากการเกษตรรวมกันเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 40 ล้านบาทในหนึ่งปี เป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลหลายเท่านัก

อ่างเก็บน้ำน้ำเลียบ ที่อำเภอเชียงกลาง เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของอ่างเก็บน้ำที่ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ รัฐบาลสร้างอ่างเก็บน้ำนี้มาแล้วสามสิบปี แต่ไม่มีระบบระบายน้ำที่มีประสิทธิภาพเพื่อระบายน้ำเข้าสู่ทางส่งน้ำของชาวบ้าน ทำให้ชาวบ้านได้รับน้ำไม่เพียงพอ ผลผลิตข้าวต่อไร่ต่ำ และไม่สามารถปลูกพืชหลังนาได้ “น่านโมเดล” ใช้เงินไปเพียง 450,000 บาท ร่วมกับแรงงานชาวบ้าน 627 แรงตลอดระยะเวลาสองเดือน เสริมสปิลเวย์ ซ่อมแซมประตูน้ำและเสริมระบบท่อส่งน้ำ ชาวบ้านกว่า 100 ครัวเรือนที่จะได้รับประโยชน์คาดกันเองว่า หลังจากหน้าฝนปีนี้แล้ว ระบบท่อส่งน้ำใหม่จะช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้จากการเกษตรเพิ่มขึ้นรวมกันเกือบ 8 ล้านบาทต่อปี

น่านโมเดล

การทำงานของ “น่านโมเดล” พัฒนาขึ้นจากรูปแบบการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่ทำงานพัฒนาชนบทและปลูกป่าต้นน้ำในจังหวัดน่านมานานกว่าห้าปี ทุกโครงการภายใต้ “น่านโมเดล” จะต้องเข้าเงื่อนไขสามข้อ คือ (1) ช่างของหน่วยงานราชการ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องเข้าไปสำรวจความเสียหายของฝาย อ่างเก็บน้ำ และระบบส่งน้ำเรียบร้อยแล้ว (2) ชาวบ้านจะต้องเข้าชื่อลงแรงที่จะมาซ่อมแซมร่วมกันโดยไม่มีการจ้างผู้รับเหมา และ (3) ต้องคำนวณผลประโยชน์ที่ชาวบ้านคาดว่าจะได้รับหลังจากที่ซ่อมแซมเสร็จแล้ว โครงการใดที่ครบเงื่อนไขทั้งสามข้อจะได้รับการสนับสนุนความรู้ทางเทคนิคการบริหารจัดการน้ำ และวัสดุก่อสร้างจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ซึ่งจัดซื้อจัดจ้างได้รวดเร็วและถูกกว่าการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานราชการ ไม่ต้องรองบประมาณตกเบิกและไม่มีเงินทอนจากการประมูล

รูปแบบการทำงานของ “น่านโมเดล” ทำได้จริง ทำได้เร็ว และได้ผลตอบแทนคุ้มค่าจากการลงทุน (หลายสิบเท่า) เพราะยึดหลักการทำงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่เอาชาวบ้านเป็นตัวตั้ง ทุกอย่างที่ทำต้องตอบได้ว่าชาวบ้านได้อะไร และที่สำคัญต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาลงแรงร่วมมือทำเอง ไม่นั่งรอระบบรัฐอุปถัมภ์ การลงแรงร่วมมือกันทำเองทำให้ชาวบ้านรู้สึกเป็นเจ้าของ และจะดูแลรักษาต่อไปได้ด้วยตนเอง

“น่านโมเดล” ไม่ได้หยุดเพียงแค่การซ่อมแซม ปรับปรุง ฝาย อ่างเก็บน้ำ และระบบท่อส่งน้ำ เพื่อเก็บน้ำให้เมืองน่านเท่านั้น แต่จะตามมาด้วยการวางระบบให้ชาวบ้านบริหารจัดการน้ำภายในชุมชนได้ด้วยตนเอง ส่งเสริมให้ชาวบ้านวางแผนการใช้น้ำเพื่อเพิ่มผลผลิตและปลูกพืชหลังนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกป่าและดูแลรักษาป่าต้นน้ำ และลดการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งการทำงานในระยะต่อไปต้องอาศัยภาคีทั้งจากภาคธุรกิจ ประชาสังคม และวิชาการ มาร่วมกับขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง

ถ้า “น่านโมเดล” ทำได้สำเร็จอย่างที่ตั้งใจ น้ำที่เก็บได้เพิ่มขึ้นจะหมายถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนน่าน และจะเป็นตัวอย่างการเก็บน้ำเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยที่ทำได้จริง ทำได้เร็ว และได้ผลตอบแทนคุ้มค่าการลงทุน

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์เศรษฐศาสตร์พเนจร หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 เมษายน 2558