เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2559 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับกรมบัญชีกลาง ได้จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact)” โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน รวมถึงผู้สังเกตการณ์ กว่า 400 คน มาร่วมรับฟัง
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางมีหน้าที่ดูแลการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ซึ่งมีโครงการนำ “ข้อตกลงคุณธรรม” หรือ Integrity Pact มาใช้ตั้งแต่ปี 2558 โดยหลักการก็คือการให้มีบุคคลภายเข้ามาเป็น “ผู้สังเกตการณ์” การจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ เพื่อให้กระบวนการต่างๆ เกิดความโปร่งใส
ที่ผ่านมา มีการนำ Integrity Pact มาใช้แล้วทั้งสิ้น 26 โครงการ ใน 24 หน่วยงาน คิดเป็นมูลค่า 5.5 หมื่นล้านบาท อาทิ โครงการเปลี่ยนผ่านระบบแอนะล็อกสู่ระบบดิจิทัลของกรมประชาสัมพันธ์ วงเงิน 1.7 พันล้านบาท โครงการจัดซื้อเครื่องจักรโรงงานยาสูบแห่งใหม่ วงเงิน 7.6 พันล้านบาท และโครงการก่อสร้างโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียนของกรุงเทพมหานคร(กทม.) วงเงิน 3 พันล้านบาท เป็นต้น
“แต่ปัจจุบันมีจำนวนผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ในบัญชีรายชื่อเพียง 100 คน จึงหวังว่าการสัมมนาเชิงปฏิบัติการครั้งนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนผู้สังเกตการณ์ให้มากขึ้น” นายมนัสกล่าว
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธาน ACT กล่าวว่า ความจริง ACT ได้เสนอให้ภาครัฐใช้ Integrity Pact ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน แต่ไม่ได้รับการสนับสนุน พอมารัฐบาลชุดนี้ก็เสนอไปอีกครั้ง ปรากฏว่าได้รับการสนับสนุนและให้ความสำคัญ เนื่องจาก พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เน้นเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน โดยเฉพาะเรื่องการป้องกัน จึงมีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ขึ้น โดยมีนายกฯ เป็นประธาน และหนึ่งในวิธีการป้องกันก็คือ Integrity Pact ซึ่งเป็นสิ่งที่นานาชาติใช้มานานแล้ว แต่เพิ่งมีการนำมาใช้ในเมืองไทย
ความจริงยังมีอีก 2 โครงการที่นานาชาติใช้ในการป้องกันการทุจริตนอกเหนือจาก Integrity Pact คือ CoST (Construction Sector Transparency Initiative) ที่จะใช้กับงานก่อสร้างที่มีความซับซ้อน และ EITI (Extractive Industries Transparency Initiative) ที่ใช้กับงานที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ
“หลักการของทั้ง 3 โครงการ จะเหมือนกัน คือให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินการของภาครัฐ” นายประมนต์กล่าว
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับการต่อต้านการทุจริตมาก เพราะถือเป็นวาระแห่งชาติ เราจะพยายามจัดการให้ได้มากที่สุด แต่จะทำให้หมดไปเลยคงเป็นเรื่องยาก และการดำเนินการหลายอย่างของรัฐบาลที่ผ่านมา ก็ทำให้ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) ของไทยดีขึ้น จากปี 2557 ซึ่งอยู่ที่ 85 พอถึงปี 2558 ก็ขึ้นมาอยู่ที่ 76 (แม้จะได้ 38 คะแนนเท่าเดิม) แต่รัฐบาลก็ยังไม่พอใจ ยังต้องต่อต้านการทุจริตต่อไป
ทั้งนี้ เมื่อพูดถึงการทุจริต คนมันจะนึกถึงการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งในแต่ละปีจะมีงบส่วนนี้ราว 5 แสนล้านบาท หากรั่วไหลไปสัก 10% ก็จะทำให้งบหายไปมหาศาลถึง 1 แสนล้านบาท แทนที่จะได้นำงบส่วนนี้ไปใช้พัฒนาประเทศหรือช่วยเหลือผู้ยากไร้
นายอภิศักดิ์กล่าวว่า หนึ่งในการต่อต้านการคอร์รัปชัน คือการที่กรมบัญชีกลางได้นำระบบ e-bidding มาใช้ ซึ่งโดยหลักการก็คือการประมูลทุกขั้นตอนให้ทำผ่านอินเทอร์เน็ต ทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการประมูลไม่ต้องเจอหน้ากันเพื่อป้องกันการฮั้ว ผลปรากฏว่า เพียง 3-4 เดือนที่เริ่มใช้ e-bidding สามารถประหยัดงบได้ราว 2 หมื่นล้านบาท โดยเฉลี่ยราคาประมูลที่ได้จะต่ำกว่าราคากลาง 15% แต่ก็มีบางโครงการที่พุ่งไปถึง 30%
สำหรับ Integrity Pact จะทำให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างมากขึ้น โดยจะมี “ผู้สังเกตการณ์” เข้าไปดูทุกกระบวนการตั้งแต่การเขียนทีโออาร์ไปจนถึงการรับมอบงาน เท่าที่ทดลองใช้มา 1 ปีเศษ ก็พบว่าสามารถช่วยประหยัดงบได้มหาศาล ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นโครงการที่ดี และจากเดิมที่เป็นเพียงมติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็จะใส่ลงไปในร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารการพัสดุของภาครัฐ พ.ศ. …. ที่จะเสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณาในสัปดาห์หน้า เพื่อให้เกิดผลยืนยาว ไม่ใช่ว่าพอเปลี่ยนรัฐบาลก็ยกเลิกไป
“แต่ปัญหาเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่ใช่การทุจริตเพียงอย่างเดียวที่น่าเป็นห่วง ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย มีคนบอกว่า ถ้าภาครัฐกำหนดมาตรการป้องกันการทุจริตอะไรขึ้นมาสักอย่าง ก็จะมีการคอร์รัปชันเพิ่มขึ้นอีก 1 อย่าง ส่วนตัวเคยทำภาคเอกชนมาก่อนเห็นว่าคำพูดนี้น่าจะจริง ดังนั้น อีกสิ่งสำคัญนอกจากการออกมาตรการต่างๆ มาป้องกัน คือการสร้างจิตสำนึกให้คนละอายต่อการทุจริต แล้วหวังว่าเมื่อถึงคนรุ่นต่อไปที่มีจิตสำนึกเช่นนี้แล้ว ปัญหาการคอร์รัปชันจะลดลง”
นายอภิศักดิ์ยังกล่าวว่า ความจริงแล้วเรื่องการจ่ายภาษีไม่ถูกต้องก็ถือเป็นการคอร์รัปชันอย่างหนึ่ง เพราะทำให้ประเทศขาดงบที่จะไปพัฒนา จึงเป็นที่มาของการที่กรมสรรพากรกำหนดให้บริษัทห้างร้านต่างๆ หันมาใช้ “บัญชีเดียว” โดยจะไม่มีการตรวจสอบย้อนหลัง นอกจากนี้ ยังกำหนดให้กรมศุลกากรตรวจสอบการเรียกเก็บภาษีศุลากรอย่างเข้มงวด หลังจากที่ผ่านมาพบการรั่วไหลมาก ทั้งการสำแดงราคาต่ำเกินจริง สำแดงปริมาณต่ำเกินจริง หรือแจ้งแหล่งกำหนดไม่ถูกต้อง ทั้งนี้ เคยมีผู้ประเมินว่าหากทำให้จ่ายภาษีได้อย่างถูกต้อง ก็จะเก็บได้เพิ่มมากขึ้นถึง 1 แสนล้านบาท
“จะเห็นได้ว่า การคอร์รัปชันไม่ได้เกิดจากภาครัฐอย่างเดียว ยังเกิดจากภาคเอกชนด้วย ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าว