ThaiPublica > คอลัมน์ > ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดีที่ขอให้ระงับการปรับราคา LPG หน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

ศาลปกครองไม่รับฟ้องคดีที่ขอให้ระงับการปรับราคา LPG หน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติ

20 เมษายน 2015


ฉกาจนิตย์ จุณณะภาต
นักกฎหมายพลังงาน

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องไว้พิจารณา กรณีที่มีผู้ฟ้องคดี 7 คน ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เรื่องมติของ กบง. ที่ส่งผลให้ราคาก๊าซ LPG หน้าโรงกลั่นของโรงแยกก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้นจากประมาณ 11 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 16 บาทต่อกิโลกรัม

ผู้เขียนเห็นว่า มติ กบง. และคำสั่งของศาลปกครองดังกล่าว เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวพวกเราผู้ใช้ก๊าซ LPG ทุกคน และแสดงให้เห็นถึงนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบันเกี่ยวกับนโยบายพลังงาน จึงขอสรุปสาระสำคัญมาให้ท่านผู้อ่านทราบดังนี้

ความเป็นมา

1. เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ 55/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (มีรองหัวหน้า คสช. ด้านเศรษฐกิจเป็นประธานและปลัดกระทรวงพลังงานเป็นกรรมการ) โดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการเสนอแนะนโยบายและมาตรการทางด้านราคาพลังงาน

2. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2557 กบง. ได้มีการประชุมครั้งที่ 2/2557 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติข้อหนึ่งออกมาว่า “…ให้ยกเลิกการกำหนดราคา ณ โรงกลั่นของโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ระดับ 332.7549 เหรียญสหรัฐต่อตัน (11 บาทต่อกิโลกรัม) โดยเห็นควรให้กำหนดราคาใหม่ให้อยู่ในระดับราคาที่เหมาะสมต่อไป…”

3. เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2557 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในฐานะประธาน กบง. ได้แถลงข่าวว่า กบง. มีมติปรับสูตรคำนวณต้นทุนการจัดหาก๊าซ LPG ใหม่ให้เหมาะสม คำนวณจากค่าเฉลี่ย 3 แหล่ง คือ โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และราคาตลาดโลก โดยเรียกว่าสูตรอัตราถ่วงน้ำหนักราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 488 เหรียญสหรัฐต่อตัน (16.11 บาท ต่อกิโลกรัม) เพื่อใช้สำหรับทุกกลุ่ม คือ ภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง ภาคอุตสาหกรรม และภาคปิโตรเคมี โดยจะให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558 เป็นต้นไป

ยื่นฟ้อง กบง. ต่อศาลปกครองกลาง

การปรับสูตรราคาดังกล่าว ทำให้ราคาต้นทุนก๊าซ LPG ราคาหน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพิ่มมากที่สุด คือ จากเดิม 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็น 498 เหรียญสหรัฐต่อตัน โดยราคาเฉลี่ยกระทรวงพลังงานจะประกาศทุกต้นเดือน ส่วนการปรับสูตรคำนวณราคาจะพิจารณาใหม่ทุกๆ 3 เดือน

ผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 คน ในคดีนี้ซึ่งเป็นประชาชนผู้ใช้ก๊าซ LPG จึงเห็นว่ามติของ กบง. จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นมาก ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ศาลเพิกถอนมติของ กบง. ที่จะมีผลวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558

คำพิพากษา

เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2558 ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งไม่รับฟ้องของผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 คน ไว้พิจารณา ดังนี้

– จากข้อเท็จจริงที่ได้จากการไต่สวนของศาลปรากฏว่า มติของ กบง. เป็นมติที่ปรับสูตรการคำนวณต้นทุนการจัดหาก๊าซ LPG เป็นราคาซื้อตั้งต้นของก๊าซ LPG โดยใช้ต้นทุนจากแหล่งผลิตและแหล่งจัดหาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ซึ่งทำให้ราคาตั้งต้นก๊าซ LPG หน้าโรงแยกก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นจากเดิม 333 เหรียญสหรัฐต่อตัน เป็น 498 เหรียญสหรัฐต่อตัน แต่อย่างไรก็ตาม ราคาที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อราคาขายปลีก เนื่องจากราคาต้นทุนตั้งต้นเดิมนั้น จะมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอีก 6 บาท แต่ราคาต้นทุนตั้งต้นใหม่นั้น ลดเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจาก 6 บาท เป็น 50 สตางค์ ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ในเดือนกุมภาพันธ์จึงยังเท่าเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด มติของ กบง. จึงมิได้ส่งผลทำให้ราคาขายปลีก LPG ในเดือนกุมภาพันธ์ปรับขึ้น ดังนั้น จึงยังมิได้ส่งผลกระทบต่อผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 คน ตามที่กล่าวอ้าง

– นอกจากนั้น ที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 คนอ้างว่า มติ กบง. ดังกล่าว แม้ว่าการกำหนดราคาต้นทุนตั้งต้นก๊าซ LPG ใหม่ จะยังไม่มีผลต่อราคาขายปลีกในตอนนี้ก็ตาม แต่ก็อาจส่งผลให้ราคา LPG ที่จำหน่ายในประเทศมีราคาสูงขึ้นในอนาคตอันเนื่องมาจากการปรับสูตรคำนวณราคาใหม่ที่อ้างอิงจากราคาตลาดโลกนั้น ศาลเห็นว่า กรณีดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนแน่นอนว่าราคาขายปลีก LPG จะมีการปรับราคาให้สูงขึ้นอีกเมื่อใด เนื่องจากจะต้องผ่านการพิจารณาจาก กบง. เป็นคราวๆ ไป จึงยังถือไม่ได้ว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 คน ได้รับความเดือดร้อนแล้ว

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ศาลปกครองเห็นว่าผู้ฟ้องคดีทั้ง 7 คน จึงยังไม่ใช่ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากมติ กบง. แต่อย่างใด จึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองตามมาตรา 42 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

สรุป

ผู้เขียนเห็นว่าเรื่องนี้แม้จะได้มีการนำข้อเท็จจริงและความเห็นต่างๆ เข้าต่อสู้ในศาลกันมากมาย แต่ท้ายที่สุดศาลปกครองกลางก็เน้นใช้ข้อกฎหมายในการวินิจฉัยไม่รับฟ้องของผู้ฟ้องคดีดังกล่าว

ทว่า อย่างไรก็ตาม จากคำพิพากษานี้ แม้ศาลจะไม่ได้ลงไปวินิจฉัยในข้อเท็จจริงมากก็ตาม แต่เราก็จะเห็นได้จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏในศาลได้ว่า รัฐบาลชุดปัจจุบันได้มีความพยายามที่จะเลิกใช้กลไกกองทุนน้ำมันในการอุดหนุนราคาพลังงาน แต่ให้หันมาใช้ราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแทนโดยไม่ให้มีผลกระทบกับราคาขายปลีกมากนัก ซึ่งผู้เขียนเห็นด้วยกับความพยายามของรัฐบาลว่า นโยบายพลังงานของประเทศไทยควรจะดำเนินแบบสะท้อนต้นทุนราคาตลาดที่แท้จริงเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่มุ่งเน้นอุดหนุนพลังงานระยะสั้นจนเกิดการบิดเบือนตลาด

ลองดูตัวอย่างของประเทศอินโดนีเซียใกล้ๆ เราก็ได้ครับ ที่มีการดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานมาตลอด จนกระทั่งตอนนี้ได้เปลี่ยนจากประเทศผู้ส่งออกพลังงานเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานไปแล้ว มิหนำซ้ำตอนนี้กรุงจาการ์ตายังขึ้นแท่นเมืองที่รถติดมากที่สุดในโลกเรียบร้อยแล้วด้วย