ThaiPublica > เกาะกระแส > ซัมซุง – ยูเนสโก ร่วมทำ “โครงการ Hack culture ” เสริมศักยภาพสตรีและรักษาหัตถกรรมท้องถิ่นประยุกต์ใช้ทักษะดิจิทัล – การค้าขาย

ซัมซุง – ยูเนสโก ร่วมทำ “โครงการ Hack culture ” เสริมศักยภาพสตรีและรักษาหัตถกรรมท้องถิ่นประยุกต์ใช้ทักษะดิจิทัล – การค้าขาย

1 กันยายน 2019


รายงานโดย ธนธัช กิตติศักดิ์ดำรง นักศึกษาฝึกงานสาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ สำนักวิชานวตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ตรงกับวันชนเผ่าพื้นเมืองสากล บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ร่วมกับองค์การยูเนสโก สำนักงานเพื่อการศึกษาในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ได้เปิดเผยถึงโครงการ Hack culture: กระเทาะเปลือกวัฒนธรรม: การแก้ปัญหาด้วยสื่อดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพสตรีและรักษาหัตถกรรมท้องถิ่น (Hack culture: Digital Solutions to Empower Women & Safeguard Traditional Crafts) ซึ่งเป็นโครงการที่ผสานความร่วมมือจากองค์การยูเนสโกและบริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ เพื่ออนุรักษ์งานหัตถกรรมฝีมือและมรดกทางภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ม้ง

โดยจัดให้มีการแข่งขันออกแบบสื่อดิจิทัลผ่านกิจกรรม (hackathon) เพื่อสรรหาแนวทางการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นและเพิ่มรายได้ให้กับกลุ่มสตรีชาติพันธุ์ผ่านการประยุกต์ใช้ทักษะดิจิทัลและทักษะการค้าขาย ซึ่งมีอาสาสมัครจากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วม ทั้งอาสาสมัครซัมซุง ผู้เชี่ยวชาญจากยูเนสโก ผู้ประกอบการธุรกิจหัตถกรรมในท้องถิ่น และคณาจารย์จากอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

นางสาวจีเฮียน ยูน ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด (ประเทศเกาหลี)

นางสาวจีเฮียน ยูน ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัทซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ ประเทศเกาหลี เผยถึงที่มาและแนวคิดของโครงการเพื่อสังคมจากทางซัมซุงว่า “วิสัยทัศน์และความรับผิดชอบต่อสังคมของซัมซุงคือการทำให้ผู้คนประสบความสำเร็จบนศักยภาพที่มีอยู่ได้ ด้วยการให้ความรู้ในทักษะพื้นฐานและทักษะเพิ่มเติม” โดยสอดคล้องกับแนวทางการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม (corporate citizenship) ของทางบริษัทที่ให้ความสนใจในด้านการศึกษา ซัมซุงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการศึกษาที่จะเป็นอนาคตของคนรุ่นใหม่ จึงต้องการสนับสนุนให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้เข้าถึงความรู้ด้วยเทคโนโลยีระดับสูง ซึ่งในก่อนหน้านี้บริษัทได้ดำเนินโครงการด้านการศึกษามาแล้วหลายโครงการ เช่น Samsung Learning Center, Samsung Solve for Tomorrow, Samsung Innovation Camp

Samsung OneWeek Program เป็นหนึ่งในโครงการที่จัดขึ้นเพื่อสังคมที่ได้ดำเนินการมาแล้วกว่า 15 ประเทศทั่วโลก มีตัวแทนอาสาสมัคร Samsung กว่า 150 คนร่วมทำกิจกรรมให้ความรู้แก่ชุมชนต่างๆ เป็นระยะเวลาหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งจะจัดขึ้นตามบริบทและความต้องการของแต่ละประเทศ สำหรับโครงการ Samsung OneWeek Program ในปีนี้จะจัดขึ้นทั้งหมด 6 ประเทศทั่วโลกด้วยกัน ได้แก่ กัมพูชา คาซัคสถาน อินโดนีเซีย ไทย เนปาล และฮังการี

สำหรับโครงการ “Hack Culture: กระเทาะเปลือกวัฒนธรรม: การแก้ปัญหาด้วยสื่อดิจิทัล เพื่อเสริมศักยภาพสตรีและรักษาหัตถกรรมท้องถิ่น” ถือเป็นส่วนหนึ่งของโรงการ Samsung OneWeek ที่จัดขึ้นในประเทศไทยและเป็นโครงการแรกที่ร่วมกันทำกับทางยูเนสโก โดยมีจุดเริ่มต้นความสนใจจากศักยภาพที่มีอยู่เดิมของสตรีกลุ่มชาติพันธุ์ม้งและความต้องการในการปกป้องงานหัตถกรรมชุมชน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าด้วยมรดกทางวัฒนธรรมที่มีอยู่

นางสาวยูนยังเล่าถึงความประทับใจในโครงการว่า “การทำงานร่วมกันบนหลากหลายของวัฒนธรรมและภาษาถือว่าไม่ใช่เรื่องง่าย ทั้งด้านอาสาสมัครซัมซุงจากประเทศเกาหลี กลุ่มสตรีชาติพันธุ์ม้ง ทีมงานยูเนสโก และผู้ประกอบการท้องถิ่น แต่สิ่งสำคัญคือการที่ทุกคนเปิดใจที่จะรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน จึงสร้างบรรยากาศของการทำงานเป็นทีมขึ้นมา”

ดร.ซุง บี แฮน์ หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร

ทางด้านของ ดร.ซุง บี แฮน์ หัวหน้าแผนกวัฒนธรรม องค์การยูเนสโก กรุงเทพมหานคร เล่าถึงที่มาและการดำเนินการขององค์การยูเนสโกว่า องค์การยูเนสโกเป็นหนึ่งในองค์กรของสหประชาชาติที่ทำงานด้านการส่งเสริมสันติภาพโลก ความเท่าเทียมของสังคมและสิทธิสตรี โดยงานหลักที่ยูเนสโกทำคือด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ซึ่งในที่ผ่านมาองค์กรได้มีการทำงานร่วมงานกับหลากหลายสถาบัน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรการศึกษา

ในการริเริ่มดำเนินโครงการของทางยูเนสโก ทีมงานยูเนสโกได้ลงพื้นที่สำรวจจังหวัดเชียงใหม่และค้นพบว่า ทักษะงานฝีมือของชาติพันธุ์ม้งกำลังเสี่ยงที่จะสูญหายไปด้วยความท้าทายจากบริบทสังคมและปัจจัยรอบด้าน ซึ่งปัญหาที่ได้ค้นพบคือการสืบทอดหัตถกรรมจากรุ่นสู่รุ่น คนรุ่นใหม่อาจจะมองว่าวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นสิ่งล้าสมัย ประกอบกับการเปิดรับวัฒนธรรมจากภายนอกที่ทำให้ความสนใจในวัฒนธรรมเหล่านี้ลดน้อยลง และความท้าทายในการแข่งขันกับสินค้าที่ถูกผลิตด้วยเครื่องจักร โดยถ้าหากเป็นผู้ที่ไม่ได้ให้ความสนใจในงานด้านหัตถกรรมจะไม่สามารถแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างสินค้าที่ถูกผลิตด้วยมือและเครื่องจักรออกมา จึงทำให้เกิดโจทย์สำคัญบนความแตกต่างของมูลค่างานหัตถกรรมท้องถิ่นและผลิตภัณฑ์จากงานอุตสาหกรรมทั่วๆ ไป ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทางยูเนสโกจึงเลือกพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เพื่อแก้จะนำไปปัญหาและต่อยอดสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและพัฒนาคุณภาพชีวิตเชิงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งโครงการ Hackathon จะสามารถตอบรับกับปัญหาดังกล่าวได้ ดร.ซุง กล่าวเสริม

นางสาวจงฮวี ปาร์ค ผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา องค์การยูเนสโก (ขวามือ)

นางสาวจงฮวี ปาร์ค ผู้เชี่ยวชาญด้านโปรแกรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา องค์การยูเนสโก ให้รายละเอียดเพิ่มเติมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้รักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นว่า กิจกรรมนี้จัดขึ้นเพื่อแก้ปัญหาด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ โดยมีเป้าหมาย 2 ประการ คือ การปกป้องและถ่ายทอดภูมิปัญญาของชาติพันธุ์ผ่านการดึงนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้งานและการสนับสนุนกลุ่มให้สตรีชาติพันธุ์มีความเป็นอิสระมากขึ้นในด้านสังคมและเศรษฐกิจ ซึ่งมีตัวแทนอาสาสมัครจากซัมซุงสำนักงานใหญ่กว่า 30 คนจากประวัติการทำงานที่แตกต่างกัน ทั้งด้านวิศวกรรม การตลาด พัฒนาซอฟต์แวร์และออกแบบดีไซน์ รวมถึงอาสาสมัครสตรีชนเผ่าม้งจากหมู่บ้านดอยปุย 30 คน และอาสาสมัครผู้ประกอบการหัตถกรรมในพื้นที่กว่า 10 คนในโครงการนี้

ในวันแรกของโครงการ อาสาสมัครกว่า 70 คนจะถูกแบ่งออกเป็น 5 ทีม เพื่อหาวิธีการแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยกันบนความต้องการจริงๆ ของชนเผ่าและวิธีการดำเนินงาน ส่วนวันถัดมาจะเป็นการหาจุดร่วมในการแก้ปัญหาและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในขณะเดียวกันยังให้ความรู้ในด้านทักษะการทำการตลาดออนไลน์ให้แก่กลุ่มสตรีชนเผ่าม้ง เช่น วิธีการถ่ายรูปสินค้าให้ดูน่าสนใจมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้ทางด้านการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์จากผู้ประกอบการในท้องถิ่นและผู้จัดการผลิตภัณฑ์จากบริษัทซัมซุง

นางสาวจงฮวี ปาร์ค กล่าวเสริมถึงผลจากการดำเนินโครงการ 5 วันที่ผ่านมา พบว่าโครงการดังกล่าวสามารถช่วยปกป้องภูมิปัญญาท้องถิ่นของชาวบ้านและสนับสนุนให้สตรีชาติพันธุ์มีอิสระมากขึ้นในการใช้ชีวิตทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยไม่เป็นการมองว่าเป็นผู้อ่อนแอหรือด้อยอำนาจในสังคม แต่เป็นการเสริมศักยภาพที่มีอยู่ด้วยการให้เครื่องมือเล็กๆ เพื่อดึงความสามารถที่มีอยู่ออกมาให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดและมองเห็นถึงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเอง ทางองค์การยูเนสโกเชื่อในเรื่องราวของการให้การศึกษาที่เท่าเทียมกับทุกๆ คน โดยหวังว่าโครงการนี้จะเป็นการเรียนรู้ร่วมกันจากทุกๆ ฝ่าย เพื่อนำประสบการณ์ที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวัน

นายวิชัย พรพระตั้ง รองประธานที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์องค์กรและกิจกรรมเพื่อสังคม บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด

นายวิชัย พรพระตั้ง ให้รายละเอียดถึงการดำเนินกิจกรรม Hack Culture ในตอนท้ายว่า กิจกรรมดังกล่าวจะเป็นการตอบโจทย์ในการเป็นเครื่องไม้เครื่องมือในการสืบสาน ถ่ายทอด และบันทึกเรื่องราวของภูมิปัญญา ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักในการดำเนินการ รวมถึงแพลตฟอร์มดิจิทัลที่จะเป็นการเปิดโอกาสในการทำการตลาดดิจิทัล อย่างไรก็ตาม โครงการนี้เป็นการดำเนินการครั้งแรกของซัมซุงที่ร่วมกับทางยูเนสโก ซึ่งไม่ได้คาดหวังถึงความเสร็จสมบูรณ์ แต่มองเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมากๆ ในการทำให้ชาวม้งเข้าใจถึงชาติพันธุ์ของตนเอง และเห็นถึงคุณค่าในสิ่งที่มีอย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น และสามารถต่อยอดจากเรื่องราวและสร้างผลิตภัณฑ์ที่จะออกไปสู่โลกภายนอกได้ง่ายขึ้น

นายวิชัยเล่าถึงความสำคัญของโครงการ Samsung Hack Culture: กระเทาะเปลือกวัฒนธรรมว่า เป็นโครงการที่จะรักษาวัฒนธรรมที่ถูกถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเอาสื่อดิจิทัลมารักษาคุณค่าของวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้ เช่น ภาษาของชาวม้ง และสร้างรายได้เพิ่มขึ้นให้กับชนเผ่าม้ง ซึ่งทุกคนรู้ดีว่าการอยู่ในสภาพแวดล้อมในเมืองนั้นไม่ได้ดีอย่างที่คิด จึงต้องการให้ชุมชนได้รักษาสภาพแวดล้อมไปด้วยพร้อมทั้งมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น นอกเหนือจากนี้ การมีช่องทางดิจิทัลจะช่วยสื่อสารให้กับชาวต่างชาติได้เข้าใจในวัฒนธรรม ซึ่งสิ่งที่ซัมซุงได้ทำคือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ โดยใช้องค์ความรู้และเทคโนโลยีเข้ามาแก้ปัญหา

“โดยในตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการได้พบเห็นสิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งความแตกต่างบนความเป็นจริงและสิ่งที่คาดหวัง ช่องว่างจากความเข้าใจที่แตกต่างกัน แต่ทุกคนมีความตั้งใจที่จะเห็นทางออกหรือโอกาสที่ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ถ้าหากไม่เริ่มต้นวันนี้ ก็จะไม่ได้เริ่ม ซึ่งการเริ่มต้นก็ไม่ควรจะคาดหวังถึงความสมบูรณ์แบบทั้งหมด” นายวิชัยกล่าวเสริม

สำรวจหมู่บ้านดอยปุย คุณค่าทางวัฒนธรรมของชนเผ่าม้ง นายเมธาพันธ์ เฟื่องฟูกิจการ พ่อหลวงของหมู่บ้านชาวม้ง ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่

นายเมธาพันธ์ เฟื่องฟูกิจการ พ่อหลวงของหมู่บ้านชาวม้ง ดอยปุย จังหวัดเชียงใหม่ บอกเล่าถึงรายละเอียดความเป็นมาของหมู่บ้านชาวม้งว่า หมู่บ้านดอยปุยเป็นหมู่บ้านของชาวม้งที่อยู่ใกล้กันกับตัวเมืองจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุด ซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกกว่า 300 ครัวเรือน ในอดีตหาเลี้ยงชีพด้วยวิถีเกษตรกรรมและมีการปลูกฝิ่นในพื้นที่ซึ่งสูงกว่า 2 เมตร ปัจจุบันเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวกว่า 500-600 คนเข้ามาเยี่ยมชมในแต่ละวัน ซึ่งในช่วงเทศกาลจะมีจำนวนมากถึง 3-4 พันคนต่อวัน จึงทำให้ชาวบ้านนำสินค้าหัตถกรรมมาจำหน่ายเพื่อหารายได้เพิ่มเติม

นายเมธาพันธุ์ยังเล่าถึงเรื่องราวการพัฒนาพื้นที่หมู่บ้านจากอดีตสู่ปัจจุบันว่า เมื่อครั้งที่ยังไม่มีถนนเข้าสู่หมู่บ้าน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ เยี่ยมเยือนราษฎรในพื้นที่กว่า 14 ครั้ง พระองค์ได้มีพระราชดำริให้ชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกผลไม้เมืองหนาวเป็นรายได้เสริม และพระราชทานทุนทรัพย์สำหรับโครงการหลวงครั้งแรก 200,000 บาทในการจัดตั้งสถานีวิจัยพืชเมืองหนาว และพระราชทานทุนทรัพย์ 30,000 บาทในการจัดตั้งสหกรณ์ต้นแบบแห่งแรกขึ้นในชุมชน และพระราชทานทุนทรัพย์สำหรับการจัดตั้งโรงเรียนแห่งแรกของดอยปุย ชื่อว่า “โรงเรียนเจ้าพ่อหลวงอุปถัมภ์ 1”

ในด้านเอกลักษณ์และคุณค่าของงานหัตถกรรมฝีมือ นายเมธาพันธ์เล่าว่า ผ้าเขียนเทียนถือว่าเป็นชีวิตและจิตวิญญาณของชาวม้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความผูกพันกับเส้นใยกัญชงที่เป็นวัตถุดับหลักในการผลิต ซึ่งเส้นใยกัญชงนั้นเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตชาวม้งตั้งแต่การเกิดจนการตาย สมัยก่อนรูปแบบของงานลายเขียนเทียนจะถูกวาดเป็นตัวอักษรหรือภาษาม้งลงบนผืนผ้า แต่เมื่อผ่านวันเวลาจนถึงปัจจุบันจึงกลับอ่านได้เพียงบางส่วน โดยผลิตภัณฑ์ที่พบเห็นจะมีลวดลายต่างๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวม้ง เช่น ลายดาว ลายเท้าช้าง ลายก้นหอย นอกจากนี้งานผ้าปักที่ถูกทำโดยกลุ่มชาติพันธุ์ที่วาดลวดลายผ่านจากด้านหลังของผืนผ้า โดยกลุ่มสตรีชาติพันธุ์ม้งที่ผลิตงานหัตถกรรมจะใช้เวลาว่างนอกเหนือจากการทำงานบ้านและเลี้ยงลูกในการทักถอ ซึ่งกว่าจะสามารถผลิตชุดเสื้อผ้าออกมาแต่ละชิ้นนั้นต้องใช้เวลาร่วมปีในการทำ

ผ้าเขียนเทียน (ผ้าฝ้าย) เป็นงานฝีมือที่ถูกผลิตจากสตรีชาวม้ง หนึ่งผืนจะใช้เวลาทำนานถึง 3 วัน
ในการทำผ้าเขียนเทียน จะถูกวาดลวดลายด้วยเทียนก่อนนำไปต้มเพื่อละลายเทียนออกและย้อมสีบนผ้า

การปักลวดลายบนผืนผ้าจะถูกปักจากทางด้านหลังด้วยความประณีต

นายเมธาพันธ์ยังเล่าอีกว่า นักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในพื้นที่นั้น จะใช้เวลาไปกับการถ่ายรูปสถานที่ท่องเที่ยวและธรรมชาติ แต่จะใช้เวลาสำหรับการศึกษาเรื่องราวพิพิธภัณฑ์ชาวม้งเพียงแค่ 5-10 นาทีเท่านั้น ในขณะเดียวกัน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะใช้เวลาเกือบชั่วโมงในพิพิธภัณฑ์และให้ความสนใจในเรื่องราวที่มาและศิลปะของวัฒนธรรมชนเผ่า

“ภายใต้บริบทสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป และการที่เด็กๆ ชาวม้งรุ่นใหม่จะต้องออกไปศึกษาเล่าเรียนข้างนอก ทำให้วัฒนธรรมของชาวม้งที่ถูกถ่ายทอดนั้นแตกต่างออกไป จึงคาดหวังให้เด็กๆ รุ่นใหม่ได้เรียนรู้วิถีชีวิตดั้งเดิม ภาษา ประเพณี และการแต่งกายของชาติพันธุ์ม้งมากยิ่งขึ้น” นายเมธาพันธ์กล่าว