ThaiPublica > เกาะกระแส > กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 0.50% โควิดยืดเยื้อลดเป้า GDP ปี’64 เหลือ 1.8%

กนง.เอกฉันท์คงดอกเบี้ยที่ 0.50% โควิดยืดเยื้อลดเป้า GDP ปี’64 เหลือ 1.8%

23 มิถุนายน 2021


นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศ แถลงผลการประชุม กนง. ในวันที่ 23 มิถุนายน 2564 ว่า คณะกรรมการฯ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี

คณะกรรมการฯ ประเมินว่า การระบาดระลอกที่สาม ของ COVID-19 ทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าลงและไม่ทั่วถึงมากขึ้นเทียบกับประมาณการเดิม อีกทั้งในระยะข้างหน้ายังมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่

คณะกรรมการฯ เห็นว่า การเร่งดำเนินมาตรการทางการเงิน โดยเฉพาะสินเชื่อฟื้นฟู รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะช่วยภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบได้ตรงจุดมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในการประชุมครั้งนี้ และพร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่มีจำกัดในจังหวะที่เกิดประสิทธิผลสูงสุด

เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวร้อยละ 1.8 และ 3.9 ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับ โดยปรับลดลงจากประมาณการเดิมตามแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลง และอุปสงค์ในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกที่สาม

ด้านตลาดแรงงาน โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระมีความเปราะบางมากขึ้นและอาจฟื้นตัวได้ช้า อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเร่งขึ้นชั่วคราวในไตรมาสที่ 2 ปี 2564 จากฐานราคาน้ำมันดิบที่อยู่ในระดับต่ำในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักและข้อจำกัดด้านอุปทานมีผลจำกัดต่ออัตราเงินเฟ้อไทย ด้านการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้ายังมีความเสี่ยง ด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ จากสถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส และจะส่งผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติรวมถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งคณะกรรมการจะติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

สภาพคล่องโดยรวมอยู่ในระดับสูง แต่การกระจายตัวยังไม่ทั่วถึงจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และภาคครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบเพิ่มเติมจากการระบาดระลอกที่สาม ด้านอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยเคลื่อนไหวทรงตัว

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาค คณะกรรมการฯ เห็นควรให้ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด รวมถึงผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) อย่างต่อเนื่อง

คณะกรรมการฯ เห็นว่า ความต่อเนื่องของมาตรการภาครัฐและการประสานนโยบายมีความสาคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากการระบาดระลอกใหม่ โดยควรเร่งจัดหาและกระจายวัคซีนเพื่อควบคุมไม่ให้การระบาดยืดเยื้อ มาตรการการคลังมีบทบาทสาคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

ภาครัฐจึงควรเร่งเบิกจ่ายมาตรการเยียวยาและมาตรการพยุงเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อให้เกิดแรงกระตุ้นต่อเศรษฐกิจและดูแลตลาดแรงงานในจุดที่มีความเปราะบางอย่างเพียงพอและต่อเนื่อง ขณะที่นโยบายการเงินต้องผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเพื่อฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 และมาตรการอื่น ๆ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจควรเร่งกระจายสภาพคล่องไปสู่ผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุด ลดภาระหนี้ และสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่กับการผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดย ธปท. จะติดตามความคืบหน้าและประเมินประสิทธิผลของมาตรการด้านการเงินและสินเชื่ออย่างใกล้ชิด

ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสาคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยสำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ การกระจายและประสิทธิภาพของวัคซีน สถานการณ์การระบาดทั้งในและต่างประเทศที่อาจรุนแรงขึ้นจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ออกมาแล้ว โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติม หากจำเป็น

ปรับคาดการณ์ GDP ปีนี้ลงเหลือ 1.8%

การประชุมของคณะกรรมการกนง.ครั้งเป็นการประชุมครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นรอบของการเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจด้วย
นายทิตนันท์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวชะลอตัวจากเดิม จาสถานการณ์การระบาดที่ยืดเยื้อและรุนแรงมากขึ้น รวมทั้งยังมีความเสี่ยงด้านต่ำที่นัยะสำคัญต่อเศรษฐกิจ ได้แก่การกลายพันธ์ของไวรัส

“โจทย์ที่สำคัญ คือการจัดหา จัดการและกระจายวัคซีนให้เหมาะสม เพียงพอและทันต่อสถานการณ์”

ในการการประมาณการเศรษฐกิจครั้งนี้ ได้ปรับประมาณการลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม โดยลดคาดการณ์การเติบโตลงมาที่ 1.8% จาก 3% ในดือนมีนาคม ส่วนปีหน้าจะขยายตัว 3.9% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปยังยึดเหนี่ยวในกรอบเป้าหมาย

“มองไปข้างหน้าระยะสั้น 4-5 เดือน เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของเศรษฐกิจไทย เพราะมีการกลายพันธ์ของไวรัสทำให้ต้องจัดหาวัคซีนให้ทันการณ์และเพียงพอ ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ภาคธุรกิจ ภาคครัวเรือนมีความเปราะบาง สายป่านสั้นลง ดังนั้นมาตรการทุกอย่างภาครัฐรวมทั้งธปท.ต้องเน้นผลักดันมาตรการที่มีอยู่ใหเกิดขึ้นในทางปฏิบัติ ทั้งมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูหรือมาตรการอื่นๆ”

“ถ้าหากเราก้าวข้ามช่วงนี้ไปได้ มีการควบคุมการระบาดของไวรัสไว้ได้ ก็จะเห็นสัญญานที่ดี การบริโภคจะปรับตัวดีขึ้นบ้างหลังจากที่อั้นไว้ การท่องเที่ยวในประเทศจะเพิ่มขึ้น นักท่องเที่ยวต่างประเทศจะมาก ก็จะทำให้เศรษฐกิจค่อยๆฟื้นตัว ถ้าควบคุมการระบาดได้ ภาคธุรกิจที่มีความเปราะบาง จะได้รับการกระตุ้น มีรายได้เพิ่มขึ้นและลดความเปราะบางของภาคบริการ”

สำหรับปัจจัยสำคัญต่อการปรับประมาณเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับการประมาณการเดือนมีนาคม ผลต่อการปรับประมาณการลงได้แก่

    1)อุปสงค์ในประเทศถูกกระทบจากการระบาดระลอกสาม
    2)จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศน้อยกว่าคาดเป็นผลจากการระบาดที่รุนแรงทั้งในและต่างประเทศ โดยได้ปรับประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศจาก 3 ล้านคนเหลือ 7 แสนคน และหากการระบาดยืดเยื้อทั้งในและต่างประเทศตัวเลขนี้อาจจะปรับลดลงอีก หากรัฐบาลในต่างประเทศมีมาตรการเข้มงวดจำกัดการเดินทาง

ส่วนปัจจัยที่มีผลทางบวก ได้แก่ 1)แผนการจัดหาวัคซีนและการกระจายวัคซีนที่มีความคืบหน้า 2) แรงกระตุ้นทางการคลังที่มีมากขึ้นจาก พ.ร.ก.เงินกู้ฉบับใหม่ และ 3)การส่งออกที่ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จึงได้ปรับประมาณการการส่งออกขึ้นจาก 10% เป็น 17.1% ในปีนี้ ส่วนการนำเข้าเร่งตัวและคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 22.7%

ความเสี่ยงสำคัญต่อประมาณการในระยะข้างหน้า ได้แก่ การระบาดที่อาจรุนแรงขึ้นทั้งในและต่างประเทศจากการกลายพันธุ์ของไวรัส ประสิทธิผลของวัคซีนที่อาจน้อยลง และความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง

“กนง.จะติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบจากการระบาดที่ยืดเยื้อกว่าที่คาด”

นอกจากนี้การระบาดรอบสามที่ยืดเยื้อ มีผลกระทบให้ตลาดแรงงานฟื้นช้ากว่าวิกฤติอื่นๆ เป็นการฟื้นตัวในลักษณะ W shape เด็กจบใหม่หางานได้ยากขึ้น ผู้ว่างงานระยะยาวเกิน 1 ปี มีแนวโน้มหางานยากขึ้น มีความเปราะบางมากขึ้นโดยเฉพาะในภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ ซึ่งต้องระมัดระวังหากดูแลไม่ทันอาจจะทำให้เป็นปัญหาในช่วงต่อไป

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะเพิ่มขึ้นชั่วคราวใน Q2/64 จากฐานต่ำก่อนที่จะโน้มลดลงมาอยู่ใกล้ขอบล่างของกรอบเป้าหมาย ทั้งนี้ผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในประเทศหลักๆมีไม่มาก เพราะในตะกร้าเงินเฟ้อมีการนำเข้าน้อยเพียง 16% และราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นไม่มากจากอุปทานที่อาจเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป อีกทั้งคาดว่าสถานการณ์ supply shortage จะคลี่คลายภายในต้นปี 2565