ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ตั๊ก”เผยสูตรลดน้ำหนัก 13 วัน 13 กก. ย้ำ “คุณแพทย์” ไม่ต้องห่วง – จีนสร้างตึก 57 ชั้น ภายใน 19 วัน!

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์: “ตั๊ก”เผยสูตรลดน้ำหนัก 13 วัน 13 กก. ย้ำ “คุณแพทย์” ไม่ต้องห่วง – จีนสร้างตึก 57 ชั้น ภายใน 19 วัน!

14 มีนาคม 2015


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 8-14 มีนาคม 2558

  • “ตั๊ก” เผยสูตรลดน้ำหนัก 13 วัน 13 กก. ย้ำ “คุณแพทย์” ไม่ต้องห่วง
  • จีนสร้างตึก 57 ชั้น ภายใน 19 วัน!
  • สุดท้ายนายกฯ สั่งเบรกภาษีบ้าน-ที่ดิน
  • มติ ครม. เว้นภาษีโรงเรียนเอกชน ลุยเก็บกวดวิชาอัตรา 20%
  • หมู่เกาะตาชัยปะการังหาย อุทยานฯ โต้ยังดีอยู่

“ตั๊ก” เผยสูตรลดน้ำหนัก 13 วัน 13 กก. ย้ำ “คุณแพทย์” ไม่ต้องห่วง

t1-down
ที่มาภาพ: https://instagram.com/takbongkod/

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดาราสาว “ตั๊ก-บงกช คงมาลัย” ได้โพสต์ข้อความผ่านอินสตาแกรมถึงวิธีการลดน้ำหนัก 13 กิโลกกรัม ได้ใน 13 วัน ซึ่งภายหลังจากการโพสต์ข้อความนี้ โลกออนไลน์วิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เหมาะสมของวิธีการลดน้ำหนักนี้ รวมถึงแพทย์และนักวิชาการต่างๆ ที่ได้ออกมาให้ความเห็นว่าวิธีการดังกล่าวเป็นอันตรายต่อร่างกาย

ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ดาราสาวได้โพสต์ข้อความตอบโต้ผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวว่า “ดิฉันทราบดีค่ะว่าสารอาหารไม่เพียงพอ เพราะสูตรนี้ ร่างกายจะดึงเอาของเก่ามาใช้ ดิฉันเชื่อในสูตรพระราชทานของพระเทพฯ เเละก็ได้เขียนบอกไว้เเล้วว่า ถ้าใครไม่เเข็งเเรง ก็อย่าทำ เเล้วคุณเเพทย์จะอะไรค่ะ หรือเเค่อยากมีส่วนร่วมเพราะเรียนมาไรงี้ เข้าใจค่ะว่าคุณเเพทย์เป็นห่วงคนอื่น เเต่ไม่ต้องมาห่วงดิฉันนะคะ ดิฉันอยากทำสูตรนี้เอง เเละก็โพสในig ของดิฉันไม่ได้ไปบังคับใครให้ทำ เเค่ชวนทำ ไม่ทำก็ไม่ได้จะจิกกัดเค้าซะหน่อย คุณเเพทย์เก่งก็คิดสูตรให้ประชาชนบ้างสิค่ะ หรือทำโครงการดีๆให้ผู้หญิงไทยมีทางออกมากกว่าการทานยาลด ดีกว่ามั๊ยคะ คุณเเพทย์คะ”

ด้านไทยรัฐออนไลน์รายงานคำยืนยันทางการแพทย์ จากการสอบถาม ศ. นพ.ประวิตร อัศวานนท์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า การจะลดน้ำหนักนั้นจะต้องทราบถึงประวัติแต่ละบุคคล เช่น อายุ ส่วนสูง น้ำหนัก อาชีพ และกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน ซึ่งในการลดน้ำหนักที่ดีนั้น ไม่มีสูตรใดสามารถใช้กับทุกคนได้ จะต้องมีสูตรที่เหมาะสมกับแต่ละคน

จากสูตรดังกล่าว ศ. นพ.ประวิตรมองว่า สามารถทำให้น้ำหนักลดได้อย่างแน่นอน แต่เป็นสูตรที่ไม่ปลอดภัย เสี่ยงต่อการขาดน้ำตาล การเป็นลมหน้ามืด หรือสภาวะที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต เนื่องจากพลังงานในร่างกายอาจไม่เพียงพอต่อการใช้ในชีวิตประจำวัน หากบางคนเป็นโรคเบาหวานแล้วมาใช้สูตรนี้ อาจทำให้ร่างกายขาดน้ำตาลจนถึงขั้นช็อกได้ ซึ่งค่อนข้างเสี่ยงและอันตรายมาก แม้ว่าเป็นคนปกติทั่วไปนั่งอยู่เฉยๆ อาจจะพอดำเนินชีวิตอยู่ได้ แต่ถ้าเป็นคนที่ใช้แรงมากการกินแค่นี้ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย

อย่างไรก็ตาม การจะลดน้ำหนักนั้น จะต้องค่อยๆ กินอาหารและค่อยๆ ปรับลดแคลอรีลง แต่อาหารควรจะมีความสมดุล มีผัก เนื้อ ไขมัน แป้ง แต่ค่อยๆ ปรับเปลี่ยนสัดส่วนไป และระยะเวลาในการลดน้ำหนักไม่มีใครแนะนำแค่ 13 วัน ซึ่งอันตรายมาก ส่วนใหญ่จะค่อยๆ ลดเพื่อให้ร่างกายสามารถปรับตัวได้

จีนสร้างตึก 57 ชั้น ภายใน 19 วัน!

Screen Shot 2558-03-13 at 8.29.06 PM
คลิปการสร้างตึก: http://www.springnews.co.th/global/194214

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เว็บไซต์สปริงนิวส์รายงานว่า บริษัทก่อสร้างแห่งหนึ่งในประเทศจีน สร้างอาคารสูงระฟ้า 57 ชั้น ขนาด 2,000,000 ตารางฟุต เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาเพียงแค่ 19 วัน ซึ่งหากคิดค่าเฉลี่ยจะตกอยู่ที่ประมาณ 3 ชั้นต่อวัน

ทั้งนี้ อาคารดังกล่าวแบ่งเป็นส่วนเอเทรียม 19 ห้อง มีความสูง 10 เมตร ส่วนพื้นที่สำนักงานสามารถบรรจุคนได้ 4,000 คน และส่วนอพาร์ตเมนต์จำนวน 800 ห้อง นอกจากนี้ กระบวนการก่อสร้างอาคารยังมีการลดปริมาณการใช้คอนกรีตลง 15,000 รถบรรทุก ทำให้ในอากาศมีปริมาณฝุ่นลดลงด้วย

อย่างไรก็ตาม บริษัทผู้ก่อสร้างอาคาร 57 ชั้นแห่งนี้ ไม่ได้เพิ่งก่อสร้างด้วยความเร็วเป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้เคยก่อสร้างอาคารภายในเวลา 15 วันมาแล้ว ซึ่งบริษัทดังกล่าว เปิดเผยว่า เทคนิคการก่อสร้างของพวกเขาเป็นนวัตกรรมที่ลึกล้ำที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ ขณะเดียวกัน ประชาชนต่างยังกังวลเรื่องความปลอดภัยของอาคารดังกล่าว เนื่องจากระยะเวลาในการสร้างที่สั้นเกินไปจนทำให้ไม่มั่นใจ

สุดท้ายนายกฯ สั่งเบรกภาษีบ้าน-ที่ดิน

pm
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/en/photo/100315_tro/100315tro-55242.html

กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้กลายมาเป็นประเด็นที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา จึงเกิดการถกเถียงถึงความเหมาะสมของการเก็บ “ภาษีบ้าน-ภาษีที่ดิน”​ ว่าจะควรจะมีหลักการและอัตราการเก็บภาษีนี้อย่างไร ซึ่งแน่นอนว่าหากกฎหมายนี้ได้ใช้เร็ววันก็คงต้องมีกระแสต่อต้านอย่างแน่นอน

ล่าสุด เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา ประชาชาติธุรกิจรายงานความคืบหน้าล่าสุดว่า ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างประธานและฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดต่างๆ 5 คณะ ครั้งที่ 1/2558 โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน ร.อ. นพ.ยงยุทธ มัยลาภ แถลงภายหลังการประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการในที่ประชุมให้ชะลอเรื่องการออกกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกไปก่อน โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาถึงความเหมาะสมในระยะยาว และไม่ให้กระทบต่อประชาชน เนื่องจากขณะนี้เศรษฐกิจอยู่ในช่วงชะลอตัว สถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ค่อยพร้อม และตอนนี้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยยังมีภาระอยู่ จึงอยากให้ชะลอไปก่อน ให้เป็นไปในแนวทางการศึกษาและดูว่าสิ่งต่างๆ ที่อาจมีการดำเนินการต้องไม่กระทบกับประชาชนในอนาคต ส่วนจะชะลอไปนานหรือไม่นั้นจะต้องดูสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโดยรวมต่อไป

ร.อ. นพ.ยงยุทธกล่าวว่า การชะลอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวออกไปก่อนนั้นไม่เกี่ยวกับแรงกดดันหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะเรื่องนี้เป็นการหารือภายใน แต่เมื่อเป็นข่าวออกมาทำให้หลายฝ่ายกังวล โดยแท้จริงแล้วอยู่ระหว่างการศึกษายังไม่ได้เป็นข้อยุติแต่อย่างใด นายกรัฐมนตรีจึงคิดว่า เพื่อความชัดเจนจึงขอให้ชะลอออกไปก่อน ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษาและดูแนวทางที่เหมาะสมในอนาคตต่อไป โดยมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลังเป็นผู้รับผิดชอบในการรวบรวมศึกษาดังกล่าว ซึ่งกรอบที่ศึกษานั้นกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะศึกษาเรื่องโครงสร้างภาษีโดยรวม การปฏิรูปภาษีให้เหมาะสมกับอนาคต โดยศึกษาระบบภาษีของประเทศอื่นๆ ว่าต่างจากระบบภาษีของประเทศไทยอย่างไร และประเทศไทยมีประสิทธิภาพในเชิงการเก็บภาษีและใช้จ่ายรายได้มากน้อยเพียงใดหากเทียบกับต่างประเทศ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องรายได้งานมาเป็นระยะ แต่ยังไม่กำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจน

มติ ครม. เว้นภาษีโรงเรียนเอกชน ลุยเก็บกวดวิชาอัตรา 20%

Print
ที่มาภาพ: https://thaipublica.org/2015/03/tutor-2/

หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้เก็บภาษีเงินได้โรงเรียนกวดวิชาในปี 2554 เนื่องจากพบว่าโรงเรียนกวดวิชาเป็นธุรกิจอย่างหนึ่งที่สร้างกำไรเกินควรกว่าร้อยละ 40 และมีเงินสะพัดในตลาดปีละกว่าหมื่นล้านบาท แต่เรื่องดังกล่าวยังไม่คืบหน้า จนกระทั่งธันวาคม 2557 ป.ป.ช. เสนอเรื่องเข้าคณะรัฐมนตรีอีกครั้งเพื่อเร่งจัดเก็บภาษีโรงเรียนกวดวิชา

ล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2558 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้จัดเก็บภาษีโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชา โดยกำหนดให้เงินได้จากกำไรสุทธิหรือผลตอบแทน และเงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรของโรงเรียนเอกชนประเภทกวดวิชาต้องนำมาคำนวณเพื่อเสียภาษี ตามข้อเสนอของกระทรวงคลังซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้ปีละประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยการจัดเก็บภาษีดังกล่าวคาดว่าจะอยู่ในอัตราร้อยละ 20 เช่นเดียวกับการจัดเก็บภาษีของนิติบุคคล

นอกจากนี้ยังมีมติให้กระทรวงศึกษาธิการเร่งรัดดำเนินการจัดทำตัวชี้วัดผลผลิตและผลลัพธ์ของแผนงานหรือโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์/มาตรการตามแผนขับเคลื่อนกรอบคุณวุฒิแห่งชาติให้ชัดเจนและเกิดเป็นรูปธรรมโดยเร็ว อีกทั้งต้องกำกับดูแลให้โรงเรียนกวดวิชาจัดการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพและกำหนดอัตราค่าเล่าเรียนอย่างเหมาะสมเป็นธรรมแก่ผู้เรียน รวมถึงกำกับติดตามการปรับปรุงคุณภาพมาตรฐานการจัดการเรียนการสอนของสถานศึกษาต่างๆ ให้มีความทัดเทียมกัน เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม และเพื่อลดแรงจูงใจและความจำเป็นของการกวดวิชาด้วย สำหรับนักเรียนที่มีผลการเรียนในระดับต่ำ สถานศึกษาต้องรับผิดชอบและแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน และ 9 ธันวาคม 2557

หมู่เกาะตาชัยปะการังหายเหี้ยน-อุทยานฯ โต้ยังดีอยู่

pkr
ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat/posts/1067331939948675

เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2558 ที่ผ่านมา เฟซบุ๊กของ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์จดหมายเปิดผนึกถึงสังคม กรณี “วิกฤตการจัดการการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติ” ซึ่งมีใจความสำคัญ ดังนี้

“ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผมได้รับแจ้งจากเพื่อนๆ ผู้รักและเป็นห่วงใยทะเลมาโดยตลอด อย่างต่อเนื่องและเป็นจำนวนมาก เกี่ยวกับการจัดการด้านการท่องเที่ยวในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล หลายเรื่องเป็นประเด็นของสังคม จนกลายเป็นข่าวที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก เช่น กรณีเล่นปลานีโมที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา-อาดังราวี กรณีเรือเลี้ยงปลาทะเลที่อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี กรณีนักท่องเที่ยวต่างชาติจับสัตว์น้ำมากินและมาเล่นในอุทยานแห่งชาติอีกหลายต่อหลายแห่ง ฯลฯ

บางกรณีจะเป็นประเด็นที่ชัดเจนในอนาคตอันใกล้ เช่น กรณีการท่องเที่ยวที่เกาะตาชัย กรณีเรือประมงลักลอบจับปลาในอุทยานแห่งชาติทางทะเล ฯลฯ

ประเด็นเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่มีที่มาจากหลายกลุ่ม ทั้งนักท่องเที่ยวทั่วไป ผู้ประกอบการ กลุ่มช่างภาพใต้น้ำ ผู้เชี่ยวชาญด้านทะเล นักวิชาการรุ่นใหม่ องค์กรภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติบางท่าน ฯลฯ

ประเด็นที่มาจากหลากหลายกลุ่ม หลากหลายสาเหตุ หลากหลายสถานที่ หลากหลายเวลา และเป็นประเด็นที่เปิดกว้างสู่สังคมผ่านโซเชียลมีเดีย ถือเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสนใจและสมควรพิจารณาในรายละเอียด

ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ และในฐานะข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับทะเล ผมถือเป็นหน้าที่ซึ่งต้องปฏิบัติ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว

ในฐานะประธานอนุกรรมการปฏิรูปทะเลไทย สภาปฏิรูปแห่งชาติ ผมได้จัดประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ 12 ครั้ง เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ข้อมูล ตลอดจนการลงพื้นที่ และ/หรือ ขอให้อนุกรรมาธิการฯและทีมงาน ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น หมู่เกาะสิมิลัน เกาะตาชัย หมู่เกาะสุรินทร์ หมู่เกาะพีพี ฯลฯ

นอกจากนี้ ผมยังมีโอกาสเข้าพบท่านรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนหัวหน้าหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนข้อมูลแนวทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ รวมถึงการอนุรักษ์ทะเลไทย

ผมใคร่ขอสรุปการประมวลข้อมูลต่างๆ ดังนี้

1) สภาพทรัพยากรทางทะเล โดยเฉพาะแนวปะการัง ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเลฝั่งอันดามัน กำลังมีปัญหาอย่างเห็นได้ชัด ปะการังร้อยละ 25 หรือกว่านั้น อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมอย่างมาก (ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง) และไม่ปรากฏว่ามีแผนการดำเนินใดๆ ที่จะฟื้นฟูหรือแก้ปัญหาเหล่านี้

2) ปัญหาของปะการังบางส่วนเกิดจากปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว ในพ.ศ.2553 ซึ่งในขณะนั้น กระทรวงทรัพยากรฯ ได้ออกคำสั่งให้ปิดจุดดำน้ำบางแห่งเพื่อให้ปะการังฟื้นตัว

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ปะการังบางพื้นที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่กลับมีการใช้ประโยชน์ในการท่องเที่ยวอย่างกว้างขวาง เช่น อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ฯลฯ

3) การจัดการด้านการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนหรือยุทธศาสตร์ ทั้งที่การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ มีวัตถุประสงค์แรกคือเพื่อการอนุรักษ์และรักษาทรัพยากรเพื่อเป็นสมบัติของชาติ

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ในอุทยานแห่งชาติทางทะเลหลายแห่ง ถูกนำไปใช้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวอย่างมาก จนเกิดผลกระทบจนเป็นหลายประเด็นที่ปรากฏต่อสาธารณะ

ผมขอยกตัวอย่าง “เกาะตาชัย” อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน

เมื่อพิจารณาตามการศึกษาวิจัย ไม่เคยมีแผนแม่บทอุทยานแห่งชาติ งานวิจัย หรือใดๆ ที่ระบุว่า “เกาะตาชัยเหมาะสมต่อการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่”

ในทางกลับกัน ข้อมูลสรุปตรงกันว่า เกาะตาชัยเป็นพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นแหล่งความหลากหลายทางชีวภาพ ควรมีการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวอย่างเคร่งครัด

แต่ในสถานที่เช่นนี้ กลับมีการส่งเสริมให้มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเป็นจำนวนหลายร้อยถึงหลักพันคนต่อวัน โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

4) การจัดการทรัพยากรทางทะเลและการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยานแห่งชาติ ขาดผู้ที่มีความรู้ความชำนาญด้านทะเลอย่างแท้จริง โดยจะเห็นว่า บุคลากรเกือบทั้งหมดไม่ได้มีการศึกษาหรือความเชี่ยวชาญในด้านทะเล แต่มีความเชี่ยวชาญในด้านอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง

เป็นที่ทราบกันมานาน และเป็นมาตรฐานสากลว่า การจัดการทรัพยากรทางทะเลเป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อน จำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ความชำนาญด้านนี้

ประเทศไทยได้ผลิตบุคลากรในด้านที่เกี่ยวข้อง เช่น วิทยาศาสตร์ทางทะเล ติดต่อกันมาเป็นเวลาเกือบ 50 ปี จึงไม่มีปัญหาขาดแคลนบุคลากรในด้านนี้ แต่บุคลากรเหล่านี้กลับไม่ได้มีส่วนรับผิดชอบในการจัดการทรัพยากรทางทะเลที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย

5) ระบบการตรวจสอบดูแลทรัพยากรทางทะเลและการท่องเที่ยวไม่ชัดเจน ทำให้มีการจับกุมการกระทำผิดน้อย จนเกิดเป็นประเด็นต่างๆ ในสังคม และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีแนวทางใดที่ชัดเจนในการปรับปรุงระบบดังกล่าว

6) ระบบการจ่ายค่าธรรมเนียมอุทยาน ตลอดจนการอนุญาตกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล ไม่ชัดเจนและโปร่งใส ทำให้เปิดช่องในการกระทำที่มิชอบ

7) มีการนำอุทยานแห่งชาติทางทะเล อันเป็นสมบัติของชาติ ไปใช้เพื่อหาประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อันเป็นประเด็นที่เป็นที่สังคมให้ความสนใจมาตลอด

ประเด็นต่างๆ เหล่านี้ และอื่นๆ อีกมาก เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิด “วิกฤตการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติทางทะเล”

ผมทราบดีถึงหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละฝ่าย ในฐานะสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เราพยายามผลักดันแนวทางปฏิรูปเพื่อการแก้ไข เช่น การนำเสนออุทยานแห่งชาติทางทะเลในอันดามันเป็นมรดกโลก ตลอดจนแนวทางแก้ไขอื่นๆ ที่กำลังอยู่ระหว่างดำเนินการ

อย่างไรก็ตาม ประเด็นต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคมตลอดเวลา 2-3 เดือนที่ผ่านมา ทำให้เกิดกระแสสังคมที่อาจต่อเนื่องไปจนทำให้เกิดปัญหาอย่างรุนแรงในการอนุรักษ์และการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของประเทศไทย จนอาจทำให้การปฏิรูปประเทศไทยในส่วนนี้เกิดความติดขัด

ผมจึงใคร่ขอเสนอแนะการ “จัดระเบียบอุทยานทางทะเล” ดังนี้

1) ใคร่ขอเสนอให้ผู้มีอำนาจในด้านการบริหาร ผลักดันให้โครงการ “นำเสนออันดามันเป็นเขตมรดกโลก” เกิดความชัดเจน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวได้รับความเห็นชอบจากสภาปฏิรูปแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อย และได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี

โครงการปฏิรูปดังกล่าว จะมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ในการยกระดับการดูแลรักษาทรัพยากรทางทะเลให้ได้มาตรฐานโลก และทำให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนี้กับประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะในประชาคมอาเซียน

2) ใคร่ขอเสนอให้มีการยกระดับประเด็นนี้เป็นเรื่องเร่งด่วน มีการจัดสัมมนาในวงกว้าง เพื่อรวบรมความรู้ความชำนาญและประสบการณ์จากบุคลหลากหลาย เช่น สมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทศไทย ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ภาคประชาชน ผู้สนใจ ฯลฯ เพื่อร่วมกันหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา

3) ใคร่ขอเสนอให้อุทยานแห่งชาติทางทะเล กระทำตามแผนแม่บทตลอดจนการวิจัยต่างๆ ด้วยการอนุรักษ์พื้นที่ซึ่งสมควรอนุรักษ์ ลดหรือหยุดการท่องเที่ยวที่ไม่เป็นไปตามแผนอย่างเร่งด่วน เลิกประชาสัมพันธ์การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ซึ่งสมควรสงวนรักษาให้เป็นมรดกสำหรับคนรุ่นต่อไป

รายละเอียดต่างๆ ของพื้นที่เหล่านั้น อยู่ในแผนแม่บทของอุทยานแห่งชาติ และแผนอื่นๆ ตลอดจนงานวิจัยที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น แผนจัดการระบบนิเวศแนวปะการัง (สผ.) แผนการฟื้นฟูปะการังที่เสื่อมโทรมเนื่องจากกรณีปะการังฟอกขาว (ทช.)

4) ใคร่ขอเสนอให้มีการปรับปรุงระบบตรวจสอบและควบคุมการกระทำผิดในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่น รายงานการตรวจการและจับกุม จัดทำศูนย์รับแจ้งเหตุ เปิดเผยข้อมูลเพื่อความโปร่งใส พัฒนาระบบอนุญาตและการเก็บค่าธรรมเนียมในการประกอบกิจกรรมในอุทยานแห่งชาติ ฯลฯ เพื่อให้เป็นอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนเปิดโอกาสให้ชุมชมท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแล

5) ใคร่ขอเสนอให้ปรับปรุงการบริหารจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถด้านการจัดการอุทยานแห่งชาติทะเลเข้าไปมีบทบาทโดยตรง และเร่งฝึกอบรมเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง

6) ใคร่ขอเสนอให้มีการตรวจสอบกิจกรรมการท่องเที่ยวและการบริการในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล เพื่อป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อน และเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและท้องถิ่น

ในนามของคนที่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของทรัพยากรทางทะเลมาตลอด ผมขอเน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน สามารถเรียกว่า “วิกฤตการท่องเที่ยวทางทะเลในเขตอุทยาน” อย่างแท้จริง

และจะเป็นวิกฤตที่มิอาจเยียวยาได้ หากไม่มีการจัดการอย่างหนึ่งอย่างใดอย่างฉับไวและเฉียบขาด

ผมจึงใคร่ขอนำเสนอจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้แก่สังคมไทย เพื่อช่วยกันพิจารณา

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์

หมายเหตุ-พร้อมกันนี้ ผมได้แนบภาพความพินาศย่อยยับของแนวปะการังที่หมู่เกาะตาชัยและหมู่เกาะสิมิลัน ที่เพื่อนๆ กรุณาถ่ายภาพไว้ เพื่อเป็นหลักฐานประกอบจดหมายฉบับนี้”

หลังจากมีการเผยแพร่ข้อความนี้ออกไป จึงเกิดการตั้งคำถามต่อความเป็นจริงของสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างกว้างขวาง ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา เว็บไซต์ครอบครัวข่าว รายงานว่า นายณัฐ โก่งเกษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา ยืนยันว่ากรณีมีผู้โพสต์ภาพแนวปะการังที่เกาะตาชัยและหมู่เกาะสิมิลันอยู่ในสภาพฟอกขาวและตายเพราะการทิ้งขยะและปล่อยน้ำเสียลงทะเลไม่ใช่เรื่องจริง เพราะจากการตรวจสอบสภาพน้ำทะเลในขณะนี้ยังคงใสสะอาดและคงความอุดมสมบูรณ์ของปะการัง เนื่องจากตลอดเวลาที่ผ่านมาทางอุทยานฯ ดูแลอย่างเข้มงวด จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลงเกาะ มีการจัดการขยะและน้ำเสียอย่างถูกต้อง เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ส่วนสีดำที่เกิดขึ้นในภาพที่โพสต์ออกมาอาจเกิดจากแสงเงาของการถ่ายภาพมุมสูง

อย่างไรก็ตาม เมื่อปี 2553 ชายฝั่งอันดามัน เคยประสบปัญหากับปะการังฟอกขาวและตายไปมากกว่าครึ่ง และจากการศึกษาของศูนย์นวัตกรรมอุทยานแห่งชาติฯ จังหวัดภูเก็ต พบว่า ปะการังฟื้นตัวในระดับดี ทั้งนี้ได้กำชับผู้ประกอบการให้เข้าใจในกฎระเบียบต่างๆ และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด รวมทั้งจะมีกำหนดเวลาในการชมปะการังของนักท่องเที่ยว เพื่อให้ปะการังมีเวลาพักเพื่อฟื้นตัวด้วย