ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (8): ตั้งกรรมการสอบคนกรมศุลฯ ข่าวรั่ว “เบื้องหลังสรุปคดีแอมเวย์ ชง DSI ส่งฟ้อง”

ข้อพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” (8): ตั้งกรรมการสอบคนกรมศุลฯ ข่าวรั่ว “เบื้องหลังสรุปคดีแอมเวย์ ชง DSI ส่งฟ้อง”

16 มีนาคม 2014


หลังจากสำนักข่าวไทยพับลิก้านำเสนอข่าวกรณีพิพาท “กรมศุลฯ-แอมเวย์” ต่อเนื่อง 7 ตอน จากปัญหาความขัดแย้งภายในกรมศุลฯ คดีแอมเวย์ ซึ่งเจ้าหน้าที่มีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายสำนักสืบสวนและปราบปราม (สสป.) ในฐานะผู้จับกุม มองว่า “เงินโบนัสที่แอมเวย์จ่ายให้ตัวแทนจำหน่ายอิสระ (IBO) ถือเป็นส่วนหนึ่งของราคานำเข้า ต้องเสียภาษี” ขณะที่สำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (สมพ.) วินิจฉัยว่า “เงินโบนัสเป็นค่าใช้จ่ายทางการตลาดของแอมเวย์ ไม่ต้องนำมาเสียภาษี” ตอบโต้กันไปตอบโต้กันมาเกือบ 8-9 ปี คดีนี้ผ่านโต๊ะอธิบดีกรมศุลกากร 9 คน แต่ไม่สามารถสรุปสำนวนคดีส่งให้ศาลชี้ขาดได้

นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร
นายราฆพ ศรีศุภอรรถ อธิบดีกรมศุลกากร

จนกระทั่งนายราฆพ ศรีศุภอรรถ เข้ารับตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรในเดือนตุลาคม 2556 มีหน่วยงานภายนอก อาทิ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย, สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และกระทรวงการคลัง ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าของคดีแอมเวย์ เนื่องจากคดีทยอยขาดอายุความ นายราฆพจึงปิดฉากปมขัดแย้งดังกล่าว โดยเสนอเรื่องให้ที่ประชุมคณะกรรมการกรมศุลกากรตัดสินในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 มติที่ประชุมวันนั้นเป็นเอกฉันท์ ให้เจ้าหน้าที่สรุปสำนวนพร้อมพยานหลักฐานส่งกรมสอบสวนคดี (DSI) ดำเนินคดีกับบริษัทแอมเวย์

หลังจากที่สำนักข่าวไทยพับลิก้านำเสนอข่าวไป ไม่นานมานี้กรมศุลกากรแต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงข้าราชการทุกคนที่เข้าประชุมคณะกรรมการบริหารกรมศุลกากรวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 รวมทั้งส่งหนังสือถึงสำนักข่าวไทยพับลิก้า ในฐานะที่รายงานข่าว “เบื้องหลังมติกรมศุลฯ ส่ง DSI ดำเนินคดีแอมเวย์”

สอบคนกรมศุลฯ-ไทยพับลิก้า

วันที่ 12 มีนาคม 2557 กรมศุลกากรส่งไปรษณีย์ด่วนพิเศษ หรือ “EMS” มาที่สำนักข่าวไทยพับลิก้า เป็นหนังสือเลขที่พิเศษ 2/2557 ลงวันที่ 7 มีนาคม 2557 ตีตราลับ เรื่องขอทราบข้อเท็จจริง กรณีสำนักข่าวไทยพับลิก้าเผยแพร่บทความ “เบื้องหลังมติกรมศุลฯ ส่ง DSI ดำเนินคดีแอมเวย์” ลงในเว็บไซต์ โดยกรมศุลกากรทำหนังสือมาสอบถามว่า “ข้อมูลดังกล่าวได้ออกไปจากกรมศุลกากรได้อย่างไร ในฐานะที่สำนักข่าวไทยพับลิก้าเผยแพร่ขอมูลดังกล่าว คณะกรรมการจึงใคร่ขอความอนุเคราะห์จากท่านว่า ท่านได้รับข้อมูลนี้จากแหล่งใด เป็นหน่วยงานในสังกัดกรมศุลกากร กระทรวงการคลังหรือไม่ อย่างไร โปรดให้ความอนุเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวภายในวันที่ 17 มีนาคม 2557 ด้วย จักขอบคุณยิ่ง ขอแสดงความนับถือ ลงชื่อนายสัมพันธ์ จารุรัตนานนท์ ประธานคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง”

นายสัมพันธ์ จารุรัตนานนท์ ประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กล่าวกับ “ไทยพับลิก้า” ว่า “ผมเข้าใจ การนำเสนอบทความดังกล่าวของไทยพับลิก้าเป็นสิทธิและเสรีภาพของสื่อมวลชน แต่บังเอิญเนื้อหาที่นำเสนอไปตรงกับมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกรมศุลกากรเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 หลายประเด็น กรมศุลกากรจึงแต่งตั้งผมเป็นประธานคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ตอนนั้นผมดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญระดับ 9 สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพฯ ตอนนี้ผมย้ายมาเป็นนายด่านศุลกากรเบตง ขอให้กรมศุลฯ เปลี่ยนตัว แต่กรมศุลฯ ไม่ยอมให้เปลี่ยน”

สำหรับประเด็นสอบข้อเท็จจริงที่ได้รับมอบหมายจากกรมศุลกากร นายสัมพันธ์บอกว่า “เน้นเฉพาะวันที่มีการประชุมคณะกรรมการบริหารกรมศุลกากร วันที่ 12 พฤศจิกายน 2556 ซึ่งมีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธาน ประเด็นหลักคือข้อความการสนทนาจากที่ประชุมกรมศุลฯ เล็ดรอดออกไปปรากฏในบทความของสำนักข่าวไทยพับลิก้าได้อย่างไร ซึ่งเนื้อหาที่นำเสนอส่วนใหญ่ใกล้เคียงมติที่ประชุมมาก ข้าราชการกรมศุลฯ คนไหนเป็นคนให้ข่าวผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้า”

นายสัมพันธ์กล่าวอีกว่า “ผมคิดว่าสำนักข่าวไทยพับลิก้าคงบอกไม่ได้ ซึ่งผมเข้าใจ แต่ผมต้องทำตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากกรมศุลกากร ผมเข้าใจทุกประเด็น โดยจรรยาบรรณของนักข่าวต้องปกปิดแหล่งข่าวไว้เป็นความลับ และเชื่อว่าเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรที่ให้ข่าวก็คงไม่มีใครยอมรับ”

อย่างไรก็ตาม แนวทางการสืบสวนข้อเท็จจริงของตนนั้นคือ สอบปากคำข้าราชการกรมศุลกากรทุกคนที่เข้าร่วมประชุมในวันนั้น ไม่เว้นแม้แต่อธิบดีกรมศุลกากรและรองอธิบดี แต่คิดว่าคงจะยาก ไม่มีใครยอมรับว่าเป็นคนให้ข่าว หรือไทยพับลิก้าจะเมตตาให้ตอบคำถามของผม ว่าข้อมูลที่ลงในบทความของท่านได้มาจากกรมศุลกากรหรือไม่ ซึ่งท่านอาจจะตอบว่ามาจากแหล่งข่าวทั่วไป หรืออะไรก็ได้ คำถามของผมเปิดช่องเอาไว้ให้แล้ว ข่าวออกมาจากกรมศุลกากร หรือไม่ได้มาจากกรมศุลกากร” นายสัมพันธ์กล่าว

นายสัมพันธ์กล่าวต่อไปอีกว่า “ผมเป็นนายด่านเบตงมา 2 สัปดาห์แล้ว เมื่อถึงเวลาเรียกประชุมคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผมก็ขึ้นเครื่องบินมาสอบข้าราชการกรมศุลกากรที่คลองเตย ใช้วิธีการสอบแบบวิดีโอเทเลคอนเฟอเรนซ์ไม่ได้ เพราะผู้ถูกสอบต้องลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน ส่วนข้าราชการที่อยู่ต่างประเทศ ผมก็ใช้วิธีการส่งจดหมายไปสอบถามเหมือนกับไทยพับลิก้า ผู้ถูกสอบต้องส่งหนังสือตอบยืนยันมาที่ผม ซึ่งผมจะถ่ายสำเนาส่งกลับไปให้ผู้ถูกสอบเก็บไว้เป็นหลักฐาน ไม่ต้องห่วง ผมช่วยหลวงประหยัดงบประมาณอย่างเต็มที่ ขึ้นเครื่องบินมาสอบข้าราชการครั้งเดียวก็น่าจะจบ แต่ถ้าไม่จบ คราวถัดไปก็จบ หวังว่าไทยพับลิก้าจะให้ความอนุเคราะห์ข้อมูล”

อนึ่ง คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง กรณีสำนักข่าวไทยพับลิก้าเผยแพร่บทความ “เบื้องหลังมติกรมศุลฯ ส่ง DSI ดำเนินคดีแอมเวย์” ประกอบด้วยนายสัมพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมการฯ กรรมการประกอบด้วย นางปุณณภา ตอสุวพรรณ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ และน.ส.สุพิดา ทองอินทร์ ด่านศุลกากรมาบตาพุด