ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > ข้อถกเถียงของคนหุ้นกับคนคลัง กรณีข้อเท็จจริง LTF เครื่องมือหักลดหย่อนภาษี – พัฒนาตลาดทุนหรืออุ้มคนรวย 10 ปีกองทุนโตกว่า 2 แสนล้าน

ข้อถกเถียงของคนหุ้นกับคนคลัง กรณีข้อเท็จจริง LTF เครื่องมือหักลดหย่อนภาษี – พัฒนาตลาดทุนหรืออุ้มคนรวย 10 ปีกองทุนโตกว่า 2 แสนล้าน

15 ตุลาคม 2014


10 ปี หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการลดหย่อนภาษีแก่ผู้ลงทุนใน “กองทุนรวมตราสารแห่งทุนเพื่อการลงทุนในระยะยาว” หรือ LTF (Long-Term Equity Fund) เมื่อ 27 เมษายน 2547 โดยสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินต่อปี และไม่เกิน 500,000 บาท ทั้งนี้ เจตนารมณ์ของมาตรการคือ เพื่อส่งเสริมการออมระยะยาวและพัฒนาตลาดทุนไทย มีเงื่อนไขสำคัญคือต้องเป็นกองทุนเปิดที่มีอายุไม่ต่ำกว่า 10 ปี เน้นลงทุนในตราสารทุนหรือใน “หุ้น” และต้องสิ้นสุดอายุไม่เกินปี 2563 ที่สำคัญสุดคือให้เปิดขายหน่วยลงทุนได้จนถึงปี 2559 ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่เงินลงทุนจะได้รับการลดหย่อนภาษี ทำให้เกิดข้อถกเถียงขึ้นว่าควรจะต่ออายุมาตรการต่อไปหรือไม่

ด้วยเหตุนี้จึงมีข้อถกเถียงในช่วงที่ผ่านมา โดยในเดือนพฤษภาคม นายสุทธิชัย สังขมณี อธิบดีกรมสรรพากร ณ เวลานั้น ได้ให้สัมภาษณ์ว่าจะทบทวนสิทธิประโยชน์ลดหย่อนต่างๆ รวมไปถึงสิทธิลดหย่อนของ LTF ด้วย ต่อมาในเดือนกรกฎาคมนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้ออกมาชี้แจงถึงประโยชน์ของการลดหย่อนภาษีและสนับสนุนให้มีการต่ออายุมาตรการออกไป เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ที่ได้ออกความเห็นในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า การไม่ต่ออายุมาตรการลดหย่อนภาษีอาจจะส่งผลต่อการออมของประเทศได้ จากที่ตัวเลขมูลค่าการออมเพื่อเกษียณอายุอยู่ที่ 17% ของผลผลิตมวลรวมหรือจีดีพี ซึ่งเป็นระดับที่สูง

ขณะที่ล่าสุด นายประสงค์ พูนธเนศอธิบดีกรมสรรพากรในปัจจุบัน เปิดเผยว่ายังไม่มีการตัดสินใจว่าจะยกเลิกการลดหย่อนดังกล่าวหรือไม่ เพราะยังมีเวลาอีก 2 ปีก่อนที่จะครบกำหนดในปี 2559 ซึ่งกรมสรรพากรได้ให้คำตอบกับทางสมาคมบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุนไปแล้วว่า ในกรณี LTF นั้น จะขอพิจารณาข้อมูลก่อนและถ้าจะต่ออายุอาจปรับเพิ่มระยะเวลาถือหน่วยลงทุนออกเป็น 7-10 ปี จากเดิม 5 ปี เพื่อให้บรรลุวัตถุการออมระยะยาวมากขึ้น แต่ในส่วนของกองทุน RMF จะยังคงยืนยันให้สามารถนำมาลดหย่อนได้ต่อไป

ขนาดกองทุนรวมตราสารทุ

ทั้งนี้ ขนาดของกองทุนรวมตราสารแห่งทุนเพื่อการลงทุนในระยะยาว ภายใต้มาตรการดังกล่าวได้เติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มขึ้นจาก 5,634 ล้านบาทในปี 2547 เป็น 213,913 ล้านบาทในปี 2556 หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 38 เท่าในระยะเวลา 10 ปี หรือเฉลี่ยเติบโตปีละ 300% ขณะที่กองทุนรวมตราสารทุนเพื่อการเลี้ยงชีพหรือ RMF ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเช่นกัน ก็เติบโตสูงถึง 13 เท่า หรือเฉลี่ยเติบโตปีละ 120%

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยย้ำ LFT พัฒนาตลาดทุน ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองว่าควรจะต่ออายุมาตรการนี้แบบไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประเด็น ได้แก่ 1) มาตรการนี้ช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงแก่ตลาดทุนไทย และ 2) มาตรการนี้ไม่ได้ทำลายหลักการความเป็นธรรมของระบบภาษีปัจจุบัน

เหตุผลประเด็นแรก สภาธุรกิจตลาดทุนไทยระบุว่า “มาตรการลดหย่อนภาษี” เป็นแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนผ่านสถาบันภายในประเทศ ซึ่ง “ไม่ผันผวนตามแรงซื้อหรือขายด้วยความตื่นตระหนกของนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนรายย่อย” ส่งผลให้ตลาดทุนมีเสถียรภาพและความมั่นคงมากขึ้น โดยที่ผ่านมาทั้งขนาดของกองทุนและสัดส่วนการลงทุนโดยสถาบันในประเทศต่างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนความสำเร็จของมาตรการลดหย่อนภาษีที่ช่วยสร้างเสถียรภาพแก่ตลาดทุนไทย

ข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ระบุว่าสัดส่วนของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์เพิ่มมากกว่า 2 เท่า จาก 8.5% ในปี 2547 เป็น 19.7% ในปี 2557

อย่างไรก็ดี เมื่อสำนักงาน ก.ล.ต. ได้ปรับปรุงวิธีจำแนกประเภทนักลงทุนในปี 2552 โดยแยกนักลงทุนสถาบัน ซึ่งจัดการดูแลกองทุนรวม ออกมาจากบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นการลงทุนโดยบริษัทหลักทรัพย์ (เพื่อให้เกิดความชัดเจน โปร่งใส และเพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนอย่างเพียงพอ) พบว่ามีนักลงทุนสถาบันในประเทศคิดเป็นสัดส่วน 6.8% ในปี 2552 และเพิ่มขึ้นเป็น 9.9% ในปี 2557

Web

สัดส่วนนักลงตามมูลค่าซื้อขายในตลาด

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยสรุปปิดท้ายในประเด็นนี้ว่า “จากข้อมูลข้างต้นสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการของกองทุนในแง่มุมของขนาดและจำนวนบัญชีที่มีต่อทั้งอุตสาหกรรมกองทุนรวมและตลาดหลักทรัพย์ อีกนัยหนึ่งหมายถึงสัดส่วนนักลงทุนสถาบันในประเทศที่เพิ่มขึ้น”

ประเด็นสุดท้าย สภาธุรกิจตลาดทุนไทยระบุว่า มาตรการลดหย่อนภาษีไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้คนรวยและไม่ได้ทำลายความเป็นธรรมของระบบภาษีในปัจจุบัน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ความเป็นธรรมแนวตั้งและแนวนอน โดยความเป็นธรรมในแนวตั้งอาศัยหลักการว่า “ผู้มีรายได้สูงควรเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย” ขณะที่ความเป็นธรรมแนวนอนมีหลักการว่า “ผู้ที่มีรายได้เท่าเทียมกันต้องเสียภาษีในอัตราเท่ากัน ไม่แบ่งแยก”

ทั้งนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารทุนระยะยาว เมื่อคิดตามชั้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแล้ว พบว่าบุคคลที่รายได้น้อย จะได้รับการลดหย่อนภาษีเป็น “เม็ดเงิน” น้อยกว่า แต่เมื่อเทียบกับภาระภาษีเดิมที่ต้องเสียแล้ว จะได้รับลดหย่อนด้วยสัดส่วนที่มากกว่า ขณะที่บุคคลที่มีรายได้มากกว่าจะมีสัดส่วน “เงินภาษีที่ลดหย่อน” น้อยกว่า และจะน้อยลงเรื่อยๆ เมื่อรายได้มากขึ้น เนื่องจากถูกจำกัดการลดหย่อนเพียง 5 แสนบาท ส่งผลให้เมื่อพิจารณาเป็นสัดส่วนแล้วมาตรการลดหย่อนภาษีของ LTF ยังคงเป็นระบบภาษีที่มีลักษณะแบบอัตราก้าวหน้า ซึ่งมีความเป็นธรรมแนวตั้งไว้ (ดูตารางและกราฟิก)

ขณะเดียวกัน จาก ข้อมูลของกรมสรรพากร ปี 2553 จำนวนคนที่จ่ายภาษีและมีฐานรายได้ตั้งแต่ 150,000–1,000,000 บาท คิดเป็น 97% ของผู้เสียภาษีทั้งหมด ดังนั้น สภาธุรกิจตลาดทุนไทยจึงสรุปว่า “เกณฑ์ลดหย่อนของกองทุน LTF ที่ภาครัฐได้กำหนดไว้ตอนตั้งโครงการจึงมีความเหมาะสม เพราะมุ่งเน้นสนับสนุนกลุ่มคนที่มีเงินได้ 1,000,000 บาทลงมา (กลุ่มมนุษย์เงินเดือน) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ในระบบภาษี ให้ได้รับประโยชน์สูงสุด” คือประมาณสัดส่วน 30% จากฐานภาษีเดิม และไม่สร้างความไม่เป็นธรรมแก่สังคมแต่อย่างใด

LTF

จำนวนเงินภาษีที่หักลดหย่อน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าวว่า การยกเลิกมาตรการนี้ จะส่งผลให้แผนการส่งเสริมให้ประชาชนเรียนรู้เรื่องการออมผ่านทางการลงทุนในระยะยาวขาดความต่อเนื่องเพราะขาดสิ่งจูงใจ ทั้งยังทำลายปริมาณเงินออมระยะยาว ซึ่งควรจะถูกผูกพันอยู่ในตลาดทุนผ่าน LTF ขณะเดียวกัน จะสร้างความผันผวนในตลาดทุนในระยะยาว เนื่องจากผู้ลงทุนประเภทสถาบันลดลง

คลังเห็นต่าง LTF ไม่ได้สร้างนักลงทุนสถาบันอย่างแท้จริง-สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง ได้วิเคราะห์ว่า มาตรการลดหย่อนภาษี LTF ไม่ได้ช่วยให้ตลาดทุนมีเสถียรภาพและมั่นคงมากขึ้น เนื่องจากผู้ลงทุน มักลงทุนเพราะสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นสำคัญ นอกจากนี้ ยังซื้อและถือระยะสั้นเพียงเพียง 3 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาต่ำสุดที่เป็นไปได้ เพื่อรับสิทธิประโยชน์ทางภาษี โดยซื้อในเดือนธันวาคมและขายในเดือนมกราคม

ส่งผลให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดทุนเพียงครั้งเดียวในช่วงปลายปี โดยไม่ได้สนใจเรื่องผลตอบแทนจากการลงทุน ซึ่งอาจจะสร้างความไร้เสถียรภาพแก่ตลาดทุนได้ นอกจากนี้ การลงทุนเพียงครั้งเดียวในช่วงปลายปีของผู้ลงทุน จะทำให้นักลงทุนสถาบันลงทุนเพียงครั้งเดียวเช่นกัน ซึ่งไม่ช่วยเพิ่มสัดส่วนนักลงทุนสถาบัน เพื่อความมั่นคงของตลาดทุนตามเจตนารมณ์ของมาตรการอย่างมีนัยสำคัญ

“จากกราฟที่นำมาแสดงชี้ให้เห็นถึงพฤติกรรมคนที่ลงทุนใน LTF ช่วงต้นปีมีการเทขาย LTF ในปริมาณมาก ช่วงปลายปีก็ซื้อเก็บเพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษี ตามกฏหมายกำหนดให้ถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปีปฏิทิน แต่ในทางปฏิบัติ ถือครอง LTF แค่ 3 ปี กับอีก 2 วันเท่านั้นก็ได้รับสิทธิประโยชน์ภาษี LTF แล้ว กล่าวคือ ประมวลรัษฎากรให้นับปีปฏิทิน ยกตัวอย่าง ซื้อ LTF วันที่ 31 ธันวาคม 2557 นับ 1 ปี พอถึงวันที่ 1 มกราคม2558 นับปีที่ 2 ,มกราคม 2559 นับเป็นปีที่ 3 ,มกราคม 2560 นับเป็นปีที่ 4 และตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เริ่มขายได้แล้ว ตามประมวลรัษฎากรถือว่า ครบ 5 ปีปฏิทินแล้ว สรุปถือครอง LTF จริงแค่ 3 ปี (1 ม.ค. 2558-31 ธ.ค.2560) กับอีก 2 วันเท่านั้น ช่วงไตรมาสแรกของทุกปีจึงมีปริมาณขายจำนวนมาก ส่วนปลายปีจะแรงซื้อเข้ามา เพื่อเตรียมไว้หักลดหย่อนภาษี”แหล่งข่าวกล่าว

การเติบโต LTF รายเดือน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า มาตรการลดหย่อนภาษี LTF ทำให้ระบบภาษีมีความก้าวหน้าน้อยลง (ดูตารางและกราฟิก) ซึ่งส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมมากขึ้น เพราะคนที่มีรายได้มากกว่าจะถูกเก็บภาษีน้อยลง และคนที่มีรายได้น้อยกว่าจะถูกเก็บภาษีมากขึ้นโดยเปรียบเทียบในทุกๆ ชั้นของภาษี เป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำในแนวตั้ง

LTF-1

อัตราภาษีที่แท้จริงตามชั้นเงินได้สุทธิ

เมื่อคิดเป็นมูลค่าภาษีที่รัฐต้องสูญเสียไปเพื่อคืนให้แก่ผู้ลงทุน ตกประมาณปีละ 8,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มากกว่างบประมาณประจำปี 2557 ของกระทรวงต่างๆ หลายกระทรวง เช่น กระทรวงพลังงาน ในปี2557ได้รับงบประมาณ 2,100 ล้านบาท, กระทรวงอุตสาหกรรม 6,800 ล้านบาท, กระทรวงวัฒนธรรม 6,900 ล้านบาท และกระทรวงพาณิชย์ 7,800 ล้านบาท เป็นต้น

ตย_งบประมาณกระทรวงต่าง

มาตรการLTF

นอกจากนี้ มาตรการนี้ยังทำลายความเป็นกลางของระบบภาษีระหว่างภาคเศรษฐกิจ เนื่องจากประชาชนที่มีความรู้ ความเข้าใจ และความสามารถที่จะเข้าถึงกองทุน LTF จะได้รับสิทธิประโยชน์มากถึง 5 แสนบาท ขณะที่ประชาชนที่อาจจะมีรายได้เทียบเท่ากัน แต่มีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอที่จะเข้าถึงกองทุน LFT ได้ ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ส่วนนี้ ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเขานำเงินนั้นไปฝากธนาคารในบัญชีเงินฝากประจำ จะถูกเก็บภาษี 15% หรือถ้านำไปซื้อประกันชีวิตเพื่อนำมาลดหย่อนภาษี จะลดหย่อนได้สูงสุดเพียง 1 แสนบาท สร้างความเหลื่อมล้ำในแนวนอนมากขึ้น