ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > นายกฯ แก้กฎหมาย เลื่อนสัมปทานปิโตรเลียมยาว – ย้ำแยกแยะ”ศาสนา-การเมือง” – ดัน คสช. ประสานส่วนราชการ เร่งเบิกงบ “ค้างท่อ”

นายกฯ แก้กฎหมาย เลื่อนสัมปทานปิโตรเลียมยาว – ย้ำแยกแยะ”ศาสนา-การเมือง” – ดัน คสช. ประสานส่วนราชการ เร่งเบิกงบ “ค้างท่อ”

24 กุมภาพันธ์ 2015


เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมร่วม คสช. ครั้งที่ 2 และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งที่ 8 ถึงการเปิดเวทีกลางหารือเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา ว่าสถานการณ์ในเวทีดังกล่าวนั้นมีทิศทางที่ดีขึ้นจากการหารือกันโดยสงบเรียบร้อย และได้ข้อยุติว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการมาศึกษารายละเอียด โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ตนได้ตัดสินใจไปแล้วว่าให้แก้กฎหมายให้เรียบร้อยก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป

“ก็ต้องมีการพูดคุยกันต่อ ไม่ใช่แค่แก้กฎหมาย (พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และพระราชบัญญัติภาษีเงินได้ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514) เพียงอย่างเดียว ยังคงมีขั้นตอนการดำเนินการ แล้วอะไรที่ทำแล้วจะทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ ที่ผ่านมาทั้ง 2 ฝ่ายนั้นมีความมุ่งหมายที่ดีมาตลอด ก็ถือว่าเป็นสิ่งดี”

สำหรับประเด็นกำหนดการยื่นซองยื่นประมูลเปิดสัมปทานในวันที่ 16 มีนาคม 2558 นั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า จะยังไม่มีการเปิดให้ยื่นสัมปทาน แต่จะมีการหารือว่าจะทำอย่างไร โดยย้ำว่าต้องแก้กฎหมายก่อน จึงจะดำเนินการเรื่องต่างๆ ต่อไปได้

“การแก้กฎหมายนั้น ต้องไปดูว่ามีข้อขัดข้องตรงไหน ทำได้หรือไม่ อย่างไร อะไรดีกว่าอะไร ต้องเป็นเรื่องที่ต้องหารือกันอีก ถึงได้บอกว่าต้องมาคุยกันอีกสิ ที่ผ่านมาเพียงแต่พูดในหลักการเฉยๆ ต้องลงรายละเอียดกันอีกที คุยกันแล้วเดี๋ยวไปแก้กฎหมายเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จบเมื่อไหร่ก็ว่ากันในขั้นตอนของการเปิดสำรวจสัมปทาน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ไม่ได้มีกรอบเวลา กฎหมายเสร็จเมื่อไหร่ก็ทำเมื่อนั้น”

ผู้สื่อข่าวถามถึงแนวทางการสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในประเด็นนี้ต้องไปถามฝ่ายที่คัดค้าน ว่าจะรับผิดชอบอย่างไร อย่าถามตน เพราะตนไม่ได้เป็นคนไปทำให้ช้าเสียเวลา รัฐบาลก็มีหน้าที่ในการจัดหาพลังงาน แต่เมื่อรับฟังความคิดแล้วก็เข้าใจ ว่าทุกฝ่ายต้องการให้เกิดความชัดเจนขึ้น รัฐบาลก็น้อมรับในคำแนะนำเหล่านั้น และหาทางออกกันต่อไป

“แน่นอนมันต้องเสียเวลา เมื่อการเสียเวลาเกิดขึ้น ถ้ามีความผิดพลาด ความเสียประโยชน์ เขาต้องเป็นคนรับผิดชอบ ก็รู้อยู่แล้วว่ามีใครบ้าง ทุกคนต้องยอมรับกันบ้าง ผมก็สั่งให้ลงบันทึกไว้หมดแล้วว่าใครอะไรยังไง ความคิดเห็นอย่างไร ผมถือว่าทุกคนต้องรับผิดชอบด้วยกัน ถ้ารัฐฟัง ท่านก็ต้องรับผิดชอบกับรัฐด้วย แค่นั้นเอง”

ในประเด็นระยะเวลาการแก้กฎหมาย ที่ก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้เคยระบุไว้ว่าจะใช้เวลา 3 เดือนนั้น พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ระยะเวลา 3 เดือน เป็นเวลาที่เร็วที่สุดที่น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งก็ต้องไปดูในกระบวนการแก้กฎหมายนั้นแก้อย่างไร แก้โดยใคร ซึ่งเรื่องนี้ ครม. ได้ปรึกษากับ คสช. เรียบร้อยแล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าคณะกรรมการร่วมจะต้องหารือร่วมกันให้ได้ข้อสรุปภายในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ตามกรอบเวลาเดิมหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า หากในวันที่ 16 มีนาคม 2558 ไม่สามารถยื่นสำรวจสัมปทานได้ ก็คือต้องชะลอ ต้องเลื่อนไปก่อน ระหว่างนี้ก็เป็นการปรับแก้กฎหมาย ซึ่งก็คงไม่ได้ในวันที่ 16 มีนาคม 2558 อยู่แล้ว ส่วนคณะกรรมการร่วมที่ตั้งมาต้องหาแนวทางกันต่อไป โดยเมื่อขั้นตอนกฎหมายอยู่ในขั้นกรรมาธิการ ผ่านการแปรญัตติ ก็ต้องไปทำงานร่วมกัน ซึ่งหากถามเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนนั้นกรณีนี้ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของตนแล้ว

ในส่วนของรัฐบาล ตนได้มอบหมายให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า รัฐมีหน้าที่ในการแสวงหาพลังงาน เข้าใจว่าทุกฝ่ายหวังดีต่อชาติ แต่ไม่อยากให้ความขัดแย้งไปกระทบถึงประชาชนที่ไม่รู้เรื่อง ซึ่งหากแก้กฎหมายไม่ได้ก็ต้องหาไปหารือทางออกกันต่อไป

“ก็ยังไม่รู้ว่าแก้ได้หรือไม่ได้ ก็ต้องไปว่ากันในชั้นกรรมาธิการ ไม่ใช่สั่งแก้แล้วแก้เลย โดยเรารับข้อสังเกตมาแล้วทำให้ ประชาชนก็อย่าไปให้เขาปลุกเร้าออกมาบนถนน มันผิดกฎหมาย ไม่อยากให้เดือดร้อนตรงนั้น ส่วนตรงนี้ถ้าพลังงานมันขาด จัดหาไม่ได้ หรือไม่เกิดความน่าเชื่อถือขึ้นก็ต้องรับผิดชอบกันบ้าง ใครทำให้มันเกิดขึ้น ผมก็ไม่ได้ไปขัดแย้งอะไรกับท่านอยู่แล้ว”

สอดคล้องกับที่นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ตาม 3 ข้อสรุป ที่ให้มีคณะทำงานจะมาคุยกัน ม.ล.ปนัดดาจะเป็นผู้รับผิดชอบ และจะรายงานผลต่อ ครม. อีกครั้ง ซึ่งในวันนี้ยังไม่มีรายงานความคืบหน้าเข้ามา

นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ตนได้ชี้แจงและให้ข้อมูลอยู่ตลอด สำหรับกฎหมายดังกล่าวได้มีการแก้ไขมาแล้ว 4-5 รอบ กว่าจะทันสมัย ซึ่งในกฎหมายนี้ เปิดให้รัฐบาลสามารถตั้งเงื่อนไขกับผู้รับสัมปทานได้ ทั้งนี้ระหว่างการเจรจาจะตั้งเงื่อนไขอะไรก็ได้เพิ่มเข้าไป หากน้ำมันยังคงมี เอกชนก็ยังสนใจ กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการจ้างผลิต รัฐเพียงให้เอกชนมาสำรวจ ซึ่งค่าสำรวจเป็นวงเงินประมาณ 1,000 ล้านบาท

ส่วนนโยบายการดึงต่างชาติร่วมลงทุนนั้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เราเปิดรับทุกประเทศ ซึ่งก็มีทั้งประเทศในแถบตะวันออกกลางที่เป็นมิตรกับไทยอยู่ แต่ประเทศนั้นเป็นประเทศเล็ก และเขาก็มองว่าเราเป็นแหล่งพลังงานเล็กๆ เท่านั้น หากเทียบกับแหล่งน้ำมันในแถบตะวันออกกลาง เขาจึงเบนเข็มไปลงทุนในประเทศอื่น

สำหรับไทยนั้น เรื่องความร่วมมือด้านพลังงาน การศึกษา เตรียมธุรกิจการประกอบน้ำมัน ไทยเองทำได้ดี แต่ไม่ใช่ด้านการขุดเจาะ เพราะประเทศไทยไม่ได้มีน้ำมันในปริมาณมาก

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/240215_tro/240215tro-54625.html
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/240215_tro/240215tro-54625.html

ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนพิเศษ

นอกจากนี้ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมร่วม ครม.-คสช. ในครั้งนี้ ได้มีการรายงานความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจเช่นกัน ขณะนี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนไว้ 3-4 คณะ ด้วยกัน เป็นกลไกพิเศษที่จะเข้ามาช่วย เพื่อขับเคลื่อนช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพราะที่ผ่านมาใช้กลไกปกติตามระบบราชการที่ระเบียบข้อบังคับบางอย่างทำให้ล่าช้า

ทั้งนี้กฎระเบียบปกตินั้นไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ต้องการความรวดเร็ว อาทิ ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง การใช้จ่ายงบประมาณ วันนี้จึงให้กระทรวงการคลังไปทบทวนขั้นตอนการดำเนินงานว่าจะต้องมีการปรับส่วนใดบ้าง ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องระมัดระวังคือ การทุจริตในวิธีการของงบประมาณ ซึ่งอยู่ที่ขั้นตอนการทำงานด้วย รวมไปถึงการปรับปรุงแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งนี้ต้องไม่ผิดกฎหมาย และระมัดระวังไม่ให้มีการทุจริตเกิดขึ้น

ด้านกระแสข่าวการปรับปรุงภาษีทั้งระบบ นายกรัฐมนตรีตอบคำถามสื่อมวลชนว่า ทุกคนต้องเข้าใจว่าเป็นการปรับปรุงภาษีทั้งระบบ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการพิจารณาของกระทรวงการคลัง พร้อมย้ำประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากเรื่องใดก็ตามที่รัฐบาลไม่ได้แถลง ถือว่ายังไม่มีการปฏิบัติใดๆ ทั้งสิ้น

ส่วนกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวนั้น เป็นเพียงการชี้แจงในภาพรวมที่เชื่อมโยงกันทั้งระบบ ซึ่งเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น การดำเนินการเรื่องภาษียังต้องผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

ต่อจกนั้นนายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงแนวคิดการแยกอาณาจักรกับศาสนจักรว่า ต้องแยกคำว่าอาณาจักรกับศาสนจักรออกจากกัน คำว่า “อาณาจักร” คือประชาชนคนไทย และ “ศาสนาจักร” คือ พระสงฆ์และศาสนา ซึ่งแต่ละองค์กรมีกฎหมายคุ้มครองอยู่แล้ว

ส่วนกรณีที่พระสงฆ์จะทำผิดหรือถูกนั้น ต้องว่ากันไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ตนไม่ต้องการให้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการ เพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหาบานปลายกระทบกับความเชื่อของประชาชน อยากให้ประชาชนมองในสิ่งที่รัฐมีส่วนรับผิดชอบมากกว่า คือ กรณีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ก็ให้มุ่งไปที่การดำเนินการตามกฎหมายเรื่องการทุจริต

โดยเรื่องดังกล่าว ตนได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามกฎหมายแล้ว และมอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับคณะสงฆ์ทบทวนกฎระเบียบของพระสงฆ์อย่างเหมาะสม โดยขอให้ประชาชนฟังเรื่องราวต่างๆ อย่างมีสติ

สำหรับกระแสข่าวการปรับตำแหน่งปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ยังไม่มีการปรับตำแหน่งดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีได้ชี้แจงการดำเนินงานของรัฐบาลว่า เป็นการทำงานตามโรดแมป ในส่วนของเรื่องความมั่นคงและเรื่องความปลอดภัย หากบุคคลหรือกลุ่มใดออกมาเคลื่อนไหวก็จะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเต็มที่ พร้อมกล่าวทิ้งท้ายว่า

“ผมเข้ามาบริหารประเทศในช่วงเวลาวิกฤติด้วยวิธีพิเศษ ภายใต้แรงกดดันของประชาชน สื่อมวลชน และต่างประเทศ ไม่มีผลประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น ทุกอย่างทำเพื่อประเทศ ทำเพื่อประชาชน และไม่เคยท้อกับการทำงาน สำหรับอนาคตจะเป็นอย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่นั้น ทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินการจึงจะประสบความสำเร็จ สำหรับอุปสรรคในการดำเนินตามโรดแมปที่จะไม่ประสบความสำเร็จนั้น มีปัญหาหลายๆ อย่างทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมถึงความร่วมมือของคนภายในประเทศ”

ภายหลังการประชุม ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ร่วมกันแถลงเรื่องที่นายกรัฐมนตรีปรารภและสั่งการ โดยสรุปมีสาระสำคัญดังนี้

12 รายชื่อ คณะทำงานร่วมสัมปทานปิโตรเลียม

สำหรับการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อเสนอข้อมูลความมั่นคงทางพลังงานอย่างยั่งยืน เบื้องต้นได้มีการส่งรายชื่อของคณะทำงานร่วมระหว่างกระทรวงพลังงานและกลุ่มผู้เห็นต่างเข้ามาแล้วฝ่ายละ 6 คน หลังจากที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ได้ออกจดหมายเชิญอย่างเป็นทางการแล้ว

ฝ่ายกระทรวงพลังงานประกอบไปด้วย นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน นายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) และผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน นายพล ธีรคุปต์ ผู้เชี่ยวชาญสํานักกฎหมายกรมสรรพากร นายประภาส คงเอียด ที่ปรึกษากฎหมาย กระทรวงการคลัง นายไกรฤทธิ์ นิลคูหา อดีตอธิบดีกรมพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) นายบุญบันดาล ยุวนะศิริ เชี่ยวชาญด้านสัมปทานปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ นายรักไทย บูรพ์ภาค อาจารย์พิเศษวิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี สถาบันเอ็มไอที

สำหรับคณะทำงานจากฝ่ายที่เห็นต่างประกอบไปด้วย นาวาอากาศตรี ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระ นางสาวรสนา โตสิตระกูล สปช. ด้านพลังงาน นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ นายวิวัฒน์ชัย อัตถากร อาจารย์ประจำสถาบันพัฒนบัณฑิตและบริหารศาสตร์ หรือนายนพ สัตยาศัย อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ทั้งนี้ พล.ต. สรรเสริญกล่าวว่า คณะทำงานร่วมทั้งสองฝ่ายจะสรุปรายชื่อฝ่ายละ 6 คน เข้ามาเป็นคณะทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่จะทำหน้าที่เป็นโฆษกของคณะทำงาน รวมทั้งอาจจะมีการเพิ่มนักกฎหมายเข้ามาเป็นองค์ประกอบของคณะทำงานชุดนี้เพื่อให้สามารถวางแนวทางในการแก้ไขกฎหมายหรือจัดตั้งองค์กรใหม่ที่มีความเกี่ยวข้องด้วย

พล.ต. สรรเสริญเปิดเผยว่า การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปปัตย์ และนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไม่ได้เข้าร่วมเนื่องจากไม่ต้องการให้มีภาพของนักการเมืองเข้ามาทำงานในคณะกรรมการร่วมชุดนี้

ภาพจาก: http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/240215_tro/240215tro-54625.html#joomimg
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/240215_tro/240215tro-54625.html#joomimg

ดัน คสช.ประสานราชการ เร่งรัดเบิกงบ “ค้างท่อ”

นายกรัฐมนตรีได้มีการชี้แจงให้ที่ประชุมได้รับทราบว่า แม้จะมีแม่น้ำ 5 สาย ก็คือ คณะรัฐมนตรี คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และสภาปฎิรูปแห่งชาติ ซึ่งจะมีคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ด้วย รวมไปถึงส่วนคณะกรรมาธิการการปรองดอง แต่ว่าส่วนที่จะต้องรับผิดชอบหลักจริงๆ คือ คสช. ฉะนั้น ในวันนี้ท่านได้พยายามอธิบายความให้ คสช. ได้รับรู้ว่ารัฐบาลมีเจตนารมณ์อย่างไร มีแนวทางในการบริหารราชการอย่างไร และมีปัญหาข้อขัดข้องอย่างไรบ้าง ที่จะขอให้ คสช. เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา

แม้จะมีความขัดแย้งต่างๆ เกิดขึ้นมากมายก่อน คสช. จะเข้ามา และเริ่มส่งผลของความขัดแย้งให้ปรากฏมากขึ้น แต่รัฐบาลยังคงยืนยันว่าจะพยายามแก้ไขปัญหาอย่างเต็มที่บนหลักของนิติรัฐและนิติธรรม เพื่อจะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดความยั่งยืน

ผลงานทั้งหลายเหล่านี้ คสช. จำเป็นต้องรับทราบ เพื่อที่จะช่วยกันแก้ปัญหา สิ่งที่ต้องระมัดระวังก็คือ ไม่ขยายความขัดแย้งให้มากขึ้น และไม่สร้างปัญหาใหม่ ท่านจึงเน้นให้ทุกส่วนได้รับทราบว่า ขณะนี้เรามีคณะกรรมการขับเคลื่อนในการที่จะผลักดันงานของรัฐบาลอยู่ 5 คณะด้วยกัน คือ

1. คณะกรรมการขับเคลื่อนของรัฐบาลที่มี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานอยู่
2. คณะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของ คสช. ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
3. คณะติดตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีพร้อมติดตามผลการปฏิงานรัฐบาล โดยมี นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ
4. คณะขับเคลื่อนระดับกระทรวง ซึ่งแต่ละกระทรวงจะมีผู้แทนมาอยู่ในคณะนี้
5. คณะกรรมการบูรณาการระดับจังหวัด (คบจ.)

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีความต้องการให้ คสช. โดยเฉพาะคณะที่ 2 เป็นหลักในการที่จะช่วยติดตามงานในเรื่องราวต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ จิตวิทยา กระบวนการยุติธรรม ต่างประเทศ ฯลฯ

ที่ผ่านมานั้นแผนงานโดยรวมดี การรวมเบิกจ่ายงบประมาณเมื่อไปยังหน่วยปฏิบัติทำได้เร็ว แต่เกิดความล่าช้าในการกระจายงบประมาณจากหน่วยสุดท้ายไปยังการจัดซื้อจัดจ้าง จึงมุ่งหวังว่าคณะขับเคลื่อนของ คสช. จะช่วยแก้ไขปัญหาความล่าช้าตรงนี้ได้ ทั้งนี้ไม่ได้ต้องการจับผิดฝ่ายใด แต่เป็นการทำงานควบคู่กันไป และเป็นตัวเร่งรัด ส่วนใดที่มีปัญหาก็เข้าไปแก้ไข ข้าราชการอาจติดขัดเรื่องระบบระเบียบงาน แต่ คสช. สามารถทำได้ รวมทั้งต้องเข้าใจการทำงานของหน่วยงานในระดับล่างและประชาชนด้วยเช่นกัน ไม่เพียงแต่การบริหารราชการแผ่นดินอย่างเดียว แต่รวมไปถึงเรื่องความสงบเรียบร้อยด้วย โดยเฉพาะกลุ่มความเคลื่อนไหวต่างๆ คสช. จะต้องลงไปทำความเข้าใจ

ในส่วนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทยจะต้องให้ความรู้ในเรื่องของวิธีการบริหารงานของภาครัฐ และการจัดทำแผนงานและแผนเงิน เพื่อให้ในระดับปฏิบัตินั้นการทำงานไม่ซ้ำซ้อนกัน และเพื่อให้การดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน บรรลุเป้าหมายของรัฐบาลช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในกลุ่มมีรายได้น้อย (มาก)

ย้ำ วิษณุ ทำความเข้าใจ ปชช. – หน้าที่ สปช. แค่ “เสนอแนะ”

ด้านสภาปฏิรูปแห่งชาติ สปช. ที่นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ว่า ที่ผ่านมาสังคมอาจจะยังเข้าใจคลาดเคลื่อนไปบ้าง แม้ สปช. จะเป็นผู้คิดแผนงานในการปฎิรูป แต่สิ่งที่จะออกมาขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมนั้นจะต้องผ่านกระบวนการ 2 ช่องทางด้วยกัน คือ ผ่านกระบวนการพิจารณาของ ครม. ซึ่งหากไม่ติดขัดเรื่องใดก็สามารถดำเนินการได้ทันที และการปรับแก้กฎหมายโดย สนช. ให้มีกฎหมายรองรับก่อนจึงปฏิบัติได้ จึงอยากให้ สปช. ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าการดำเนินการในส่วนของ สปช. เป็นเพียงขั้นตอนการ “วางแผน” เท่านั้น เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความตื่นตระหนกไปก่อน

ปรับยุทธศาสตร์รับมือความรุนแรง 3 จว.ชายแดนใต้

สำหรับเรื่อง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ วันนี้สถิติการก่อเหตุความรุนแรง รวมถึงตัวเลขผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บของประชาชนในพื้นที่ลดลง แต่ความรุนแรงของเหตุการณ์แต่ละครั้งมีมากขึ้น จึงขอให้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ภาค 1 ส่วนหน้า ประสานงานกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่จะบริหารจัดการแผนงานให้ลงตัว และสามารถดำเนินการได้ในหลายพื้นที่

โดยเฉพาะพื้นที่ที่ต้องเร่งรัดให้พัฒนาโดยเร็ว คือ พื้นที่ที่ยังคงมีเหตุร้ายเกิดขึ้น ต่อมาคือพื้นที่เร่งรัดพัฒนาปานกลาง คือ พื้นที่ที่เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าไปพัฒนาได้ และสุดท้ายคือพื้นที่ที่พัฒนาเต็มรูปแบบ คือ มีความปลอดภัย ซึ่งทุกหน่วยงานต้องเร่งรัดในการพัฒนาควบคู่ไปกับการสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน วิธีการต่างๆ ต้องปฏิบัติโดยกฎหมายที่เป็นธรรม

หากมีข้อมูลข่าวสารที่ทำให้ประชาชนเกิดความไม่มั่นใจต้องมีการอธิบายให้ชัดแจ้ง เพื่อให้ประชาชนไม่เกิดความตื่นตระหนก และที่สำคัญ เจ้าหน้าที่ทุกภาคส่วนต้องทำด้วยใจ ให้ครอบคลุมทั้งพื้นที่เขตเมือง ชนบท และพื้นที่ป่าเขา

จัดทำ แอปฯ ส่งเสริมความรู้ – รณรงค์ลดใช้ โฟม พลาสติก

นายกรัฐมนตรีได้ฝากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ไปดำเนินการในเรื่องการจัดทำแอปพลิเคชันให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ พร้อมทั้งให้กระทรวงไอซีทีไปจัดหมวดหมู่ของข้อมูลในแอปพลิเคชันดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลของกระทรวงซึ่งประชาชนควรจะรับทราบ หรือข้อมูลเกี่ยวกับการท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ทางวัฒนธรรมต่างๆ

นอกจากนี้ ในเรื่อง “ขยะ” ที่เป็นวาระแห่งชาติ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ให้ปี 2558 เป็นปีของการรณรงค์เพื่อลดการใช้โฟมและพลาสติก เนื่องจากเป็นวัสดุที่มีอายุการย่อยสลายเป็นระยะเวลานาน