ThaiPublica > คนในข่าว > “พล.ท. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาค 4…ข้อเท็จจริง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

“พล.ท. อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์” แม่ทัพภาค 4…ข้อเท็จจริง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

24 มกราคม 2012


พล.ท.อุดมชัย ธรรมมาสาโรรัชต์ แม่ทัพภาค 4
พล.ท.อุดมชัย ธรรมมาสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4

การแก้ไขปัญหาชายจังหวัดแดนภาคใต้ ยังเป็นเรื่องร้อนที่ทหารและรัฐบาลทุกสมัยพยายามแก้ไขเพื่อให้เกิดความสงบอย่างยั่งยืน

หากย้อนดูนับตั้งแต่เหตุการณ์ “มัสยิดกรือเซะ-ปล้นปืนที่ค่ายกองพันทหารพัฒนาที่ 4 จ.นราธิวาส–ผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์จับนอนอัดในรถบรรทุก อ.ตากใบ เมื่อปี 2547” เป็นจุดเริ่มต้นของความรุนแรงที่ทำให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่ ต้องเสียชีวิตหลายร้อยชีวิต จวบจนปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าสถานการณ์ความรุนแรงนั้นจะหมดสิ้นไปจากพื้นที่ภาคใต้

“บิ๊กเมา” พล.ท.อุดมชัย ธรรมสาโรรัชต์ แม่ทัพภาคที่ 4 ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าถึงการทำหน้าที่ “แม่ทัพภาคที่ 4” มากว่าปีเศษ รวมถึงทำงานในพื้นที่ภาคใต้กว่า 35 ปี โดยยอมรับว่า “การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน” นั้น เจ้าหน้าที่ยังทำได้ไม่ถึงทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์

แต่สำหรับนโยบาย “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ทำให้สถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้นมาก ประชาชนเข้าใจเจ้าหน้าที่ แต่ต้องใช้ระยะเวลาอีก 1–2 ปี ถึงจะเห็นผลเป็นรูปธรรม

…ในห้วง 1 ปีเศษ ที่ผมรับหน้าที่แม่ทัพภาคที่ 4 การเดินหน้าของกรอบยุทธศาสตร์หลักของทางกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) โดยใช้นโยบาย “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” จะเห็นได้ว่า ขณะนี้มีการขยายผลในส่วนของมวลชนเสื้อเขียว พื้นฐานที่ประชาชนพออยู่พอกิน มีเหตุ มีผล มีความยั่งยืนเป็นพื้นฐานที่เราทำจนประสบความสำเร็จ ด้านการสร้างความเข้าใจต่อพี่น้องประชาชน จะเห็นว่า ขณะนี้ข้อมูลบางอย่างที่ชาวบ้านโดนผลิตซ้ำทางความคิดอยู่ตลอดเวลาว่ารัฐโหดร้าย ทารุณ ข่มเหงพี่น้องประชาชน รัฐไม่จริงใจ วันนี้ข้อมูลพวกนี้เริ่มหายไป จะเห็นปรากฎการณ์เรื่องความเข้าใจ แต่ยังมีบางกลุ่มที่ยังไม่เข้าใจยังต่อสู้อยู่ โดยการก่อความวุ่นวายได้ทุกพื้นที่นั้น เรื่องนี้ไม่เป็นความจริง หากทำก็โดนจับเพราะเราสามารถที่จะดำเนินการได้

“เหตุร้ายรายวันที่ยังไม่ยุติยังมีต่อเนื่อง อาจมองว่าเป็นพื้นที่กว้างๆ มีกว่า 2 พันหมู่บ้าน แต่หมู่บ้านที่เกิดเหตุขึ้นจริงมี 4 – 5 ร้อยหมู่บ้าน และหมู่บ้านที่ยังมีปัญหาประมาณ 96 หมู่บ้าน ที่ต้องทำความเข้าใจ ซึ่งการสร้างความเข้าใจนั้นทำมาอย่างต่อเนื่อง ขณะนี้เรื่องที่พูดกันไม่ฟัง หน้าไม่อยากมองน้อยลงไปมาก”

การช่วยเหลือพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อเพิ่มศักยภาพของคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (จชต.) เราทำร่วมกับ “ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)” เพื่อพัฒนาอาชีพ การศึกษา ซึ่งมีความคืบหน้ามาตามลำดับ การศึกษาเหมือนหัวเรือใหญ่ หากจะมีการปรับเปลี่ยนแต่ละทีต้องค่อยๆ เคลื่อน ซึ่งเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยทิศทางที่ดี โรงเรียนที่เจ้าของไม่รู้ว่าเป็นแหล่งบ่มเพาะก็เริ่มปรับเปลี่ยนไปเยอะ แต่ยังมีบางส่วนที่แอบซ่อนเร้นอยู่ในสถาบันการศึกษา อาทิ โรงเรียนปอเนาะ เราก็พยายามสกัดตั้งแต่ต้นตอ อย่างไรก็ตาม การพัฒนาต้องมีการตื่นตัวเพื่อให้ประชาคมก้าวสู่อาเซียนต่อไป ด้วยการเพิ่มการศึกษาและอาชีพในชุมชน ทำให้มีความก้าวหน้ามากขึ้นกว่าเดิม

ไทยพับลิก้า: แล้วเรื่องภัยแทรกซ้อนอื่นๆ

ตั้งแต่ผมเป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ได้ดำเนินการเรื่องยาเสพติดอย่างจริงใจ มีโครงการเชิงรับ-เชิงรุก โดยให้หน่วยทหารเป็นศูนย์วิวัฒน์พลเมือง (บังคับบำบัด) ส่วนสถิติในการปราบปรามยาเสพติดดีขึ้นกว่าเดิมมาก และแทบไม่มีการค้าขายน้ำมันเถื่อนเลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ดี เรื่องยาเสพติดที่ยังมีเล็ดลอดขายในพื้นที่ก็ต้องอาศัยเวลาในการทำให้ยาเสพติดหมดไป ซึ่งพี่น้องประชาชนต้องลุกฮือต่อต้านเรื่องยาเสพติดที่จะมาสู่ชุมชน พร้อมทั้งให้ข่าวเจ้าหน้าที่ในทางลับเพื่อดำเนินการด้วย แต่ประชาชนยังไม่ได้ทำตรงจุดนี้

ไทยพับลิก้า: เรื่องสิทธิมนุษยชนในพื้นที่เป็นอย่างไรบ้าง

ผมยังไม่เห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ภาคใต้เลย อาจจะมีเรื่องที่ อ.บันนังสตา เรื่องเดียวเท่านั้น ที่อื่นผมได้ประสานทาง ศอ.บต. และตามไปเยียวยาคดีเก่าๆ ในอดีตหมด เพราะเราไม่ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ทุบตี ซ้อม หรือทรมานประชาชน

ที่ยังเป็นปัญหาคือ การดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เรื่องนี้ผมยอมรับว่ายังทำได้ไม่ทั่วถึง แต่เราก็พยายามทำให้ดีที่สุด ซึ่งทหารได้มีการจำกัดวงพื้นที่การก่อเหตุและขยายพื้นที่ความปลอดภัย ส่วนนี้ทำได้เยอะ แต่ก็เหมือนพื้นที่ที่มีสงครามประชาชนที่กระทำโดยคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นองค์กรลับ เราอยู่ในที่แจ้ง เขาดูเราทุกวัน เราเผลอเมื่อไหร่เขาก็ทำ

ทั้งนี้ การจัดตั้งกรมทหารพรานและค่อยๆ ถอนทหารหลักบางส่วนออกจากพื้นที่ก็ทำแบบสมดุล จำนวนที่ออกและเข้ามีปริมาณที่มีประสิทธิภาพ งานการข่าวกระชับขึ้น โดยปี 2554 งานด้านการข่าวช่วยให้เราจับคนร้ายได้มากขึ้น ดังนั้น ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน พี่น้องประชาชนก็ต้องดูแลตัวเองด้วย พร้อมช่วยเจ้าหน้าที่สังเกตสิ่งผิดปกติและเพิ่มความระมัดระวัง หากทำเช่นนั้น โอกาสที่คนร้ายจะลงมือก่อเหตุก็ยากขึ้น

ไทยพับลิก้า: การมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มีมากน้อยแค่ไหน

เชื่อว่าปัจจุบัน สิทธิเสรีภาพของพี่น้องประชาชนมีอย่างเสรี สามารถแสดงความเห็นที่แตกต่างกันได้ สามารถเปิดเวทีแสดงความคิดเห็นแม้กระทั้งการขอยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน , กฎหมายพิเศษ, เปิดเผยเรื่องไม่ดีไม่งามของรัฐ ,การพูดถึงนครรัฐปัตตานี ฯลฯ

นอกจากนี้ ผมถือเรื่องการพาคนกลับบ้านเป็นสำคัญ คนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่กลัวรัฐจะจับกุม จนต้องหนีข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ขณะนี้บางส่วนทยอยกลับมายังประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะจะทำให้เขากลับมาอยู่กับครอบครัว สำหรับคนที่ทำผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ไม่ยากในการแก้ไข โดน ป.วิอาญา ก็ไม่ยากในการเข้ามาสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น

ไทยพับลิก้า: นโยบายการแก้ปัญหาพื้นที่ชายแดนภาคใต้มาถูกทางหรือไม่

การสร้างความเข้าใจกับประชาชน การป้องกันภัยแทรกซ้อน การเพิ่มศักยภาพชุมนุม แนวทางสิทธิมนุษยชน การให้ทุกคนมีส่วนร่วม และการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน คือแนวทางที่เราเดินภายใต้กฎหมายสร้างความเข้าใจอย่างมีส่วนร่วม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพิ่มอาชีพ เพิ่มการศึกษาให้ประชาชน นโยบายแบบนี้จะไม่ถูกทางได้อย่างไร ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาหรืองานที่ดีต้องใช้ระยะเวลาทั้งนั้น ต้นยางพารา 7 ปี ถึงตัดได้ มะพร้าว 3 ปี ถึงออกผล นี่คือธรรมชาติ มันมีห้วงเวลาของมัน อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าประมาณ 1–2 ปี จะเห็นหน้าเห็นหลังมากกว่านี้

ไทยพับลิก้า: นโยบายรัฐบาลกับทหารในการแก้ไขปัญหาเป็นไปในทิศเดียวทางกันหรือไม่

ไม่มีปัญหา ทุกอย่างลงตัวหมด งานใดที่ยังออกคำสั่งไม่ได้ก็ใช้การประสานการปฏิบัติ เช่น จะให้ผมดูแลการบริหารจัดการเพื่อให้การบูรณาการระหว่างทหาร ศอ.บต. และจังหวัด ผมกับผู้ว่าราชการจะดูแลร่วมกัน ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร เราปรับแผนการทำงานร่วมกันให้ถูกที่ถูกเวลาและให้เหมาะกับสถานการณ์ ซึ่งไม่มีข้อขัดแย้งอะไรทั้งสิ้น

ไทยพับลิก้า: ข้อดีของการถอนทหารหลักกลับมาและจัดตั้งกรมทหารพรานเข้าไปดูแลพื้นที่ภาคใต้แทน

เรานำคนในท้องที่เข้ามาเป็นทหารพราน เพื่อให้คนในท้องถิ่นเข้ามาแก้ปัญหาของท้องถิ่นเขาเอง เพราะเขารู้ปัญหา รู้คน รู้ภูมิประเทศ รู้วัฒนธรรม เราจึงใช้ทหารพรานเป็นหลัก นี่คือข้อดี เพราะทหารหลักมีไว้ป้องกันเอกราชและอธิปไตยของประเทศชาติ บางทีห้วงเวลาที่มาอาจแค่ 1 ปี แต่สำหรับทหารพรานจะทำงานอยู่ในพื้นที่ตลอดชีวิต ซึ่งเขาต้องป้องกันชุมชนของเขาเอง ส่วนข้อเสียอาจมีบางคนเล็ดลอดแอบเข้ามาเป็นทหารพราน ซึ่งการตรวจสอบอาจไม่ทั่วถึง อาจมีการแสดงอิทธิพลต่อท้องถิ่นได้ ซึ่งเราก็พยายามคัดกรอง

“ผมให้ความสำคัญกับทหารพรานมาก เท่าที่ผ่านมาจะเห็นว่าทหารพรานไม่สร้างเรื่องเสียหายเลย หากมีก็น้อยมาก ผมรับผิดชอบอบรมทหารพรานมา 7–8 ปี ทำความเข้าใจให้เห็นอนาคตของบ้านเมือง ชี้ให้เห็นว่าท้องถิ่นจะเจริญอย่างไรถ้าเราช่วยกันดูแล”

ไทยพับลิก้า: ระดับแกนนำที่สร้างสถานการณ์ยังอยู่ในพื้นที่หรือรอบๆ ประเทศไทย

ระดับแกนนำบางส่วนอยู่ข้างนอกประเทศ แต่บางส่วนเข้ามาเคลื่อนไหวในประเทศ ซึ่งเราก็ตามจับกุมอยู่ ผมคิดว่า เมื่อทางการเมืองเข้าไปไม่ได้แล้ว การฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็ไปไม่ได้อีก แต่การมีอิทธิพลที่ทำให้ชาวบ้านกลัวทำให้เขายังคงสภาพอยู่ได้ ความเป็นองค์กรลับทำให้เขาอยู่ได้ เขาไม่สนกฎหมาย ซึ่งเขาอยู่ในที่มืดจึงยากต่อการจัดการ แต่ทหารก็พยายามจะดำเนินการภายใต้กรอบกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เหลือแนวร่วมขบวนการในพื้นที่ประมาณ 3–4 พันคน แต่กองกำลังที่เป็นหลักจริงๆ ผมเชื่อว่ามีไม่มาก

ไทยพับลิก้า: จากการวิเคราะห์การสร้างสถานการณ์ความรุนแรงของคนร้ายต้องการสิ่งใด

เป็นยุทธศาสตร์ควบคุมมวลชน ถ้ามวลชนไม่กล้าปริปาก ไม่กล้าพูด ข่าวสารข้อมูลขององค์กรลับก็จะไม่ถูกเปิดเผย เขาจึงใช้ความหวาดกลัวเข้าครอบงำ นี่คือยุทธศาตร์ของเขา นอกจากนี้ เขาก็พยายามให้ “โอไอซี” องค์การการประชุมอิสลาม (Organisation of The Islamic Conference: OIC) หรือ “องค์กรมุสลิมโลก” เป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ที่ต้องการแบ่งแยกประเทศนี้โดยใช้ต่างชาติเข้ามาดำเนินการ

“เราแน่ใจว่ากองกำลังติดอาวุธไม่สามารถแบ่งแยกแนวรบได้หรอก แต่ที่ทำตอนนี้คือสงครามประชาชน ใช้ชนกลุ่มน้อยเข้าสู้ ใช้ยุทธวิธีการก่อการร้าย”

ไทยพับลิก้า: มองว่าสถานการณ์ภาคใต้อาจถึงขั้นทำสงครามศาสนา “จีฮัด” หรือไม่

ไม่ถึงขนาดนั้น เราต้องทำความเข้าใจว่าจีฮัดคืออะไร หากประเทศเราห้ามเผยแพร่ศาสนาอิสลาม ไปแบ่งแยกหรือรังแกที่เกี่ยวกับหลักศาสนาอาจเกิดขึ้นได้ แต่เมื่อประเทศไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนาก็ไม่เข้าหลักเกณฑ์ รวมถึงที่บอกว่ารัฐนี้แต่ก่อนเป็นรัฐอิสระก็ไม่ใช่ เพราะเป็นแว่นแคว้นที่คนพุทธมุสลิมปกครองกันมาก่อน ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่เขาจะประกาศสงครามจีฮัดด้วยหลักการทางศาสนา อย่างไรก็ตาม อาจมีคนบิดเบือนเพื่อให้คนต่อสู้ให้ฟรีๆ กับผู้ที่อยู่เบื้องหลังการค้าน้ำมันเถื่อน ค้ายาเสพติด

ไทยพับลิก้า: นโยบายการพัฒนาในปี 2555

ยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังเคลื่อนที่ต่อไปโดย ศอ.บต. ทหารร่วมกับจังหวัด โดยที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการ ศอ.บต. ชูนโยบายเรื่องความเป็นธรรมในสังคม เพื่อให้ประชาชนได้เห็นว่ายังมีความเป็นธรรมอยู่ อย่างไรก็ดี ต้องใช้เวลาในการทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่จะบอกว่าลงทุนเป็นหมื่นล้านบาท จะให้ประชาชนมีรายได้แสนสองหมื่นทุกครัวเรือนคงไม่ใช่ ต้องค่อยๆ ทำงานไป

“อยากให้สื่อมวลชนเสนอภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ว่าไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด ต้องเสนอทั้งระบบที่มีการพัฒนาไปมาก และนำเสนอด้านที่ดีงามของจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับพี่น้องประชาชน รัฐไม่ได้โหดร้ายทารุณ รัฐไม่ได้ข่มเหงรังแกประชาชน แต่รัฐเป็นผู้ให้ เพราะรัฐมาจากประชาชน สิ่งใดที่ประชาชนไม่กล้าทำเพราะกลัวมากเกินไป นั่นทำให้ยิ่งกลัวยิ่งเกิดขึ้น แต่ถ้ามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้”