ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > “พล.อ.ประยุทธ์” สั่งล่าคนแพร่แถลงการณ์ปลอม เตรียมเยือนญี่ปุ่น ดึงนักลงทุนหนุนทวายโปรเจกต์ แก้แบบรถไฟฟ้างบพุ่ง 8,140 ล้าน

“พล.อ.ประยุทธ์” สั่งล่าคนแพร่แถลงการณ์ปลอม เตรียมเยือนญี่ปุ่น ดึงนักลงทุนหนุนทวายโปรเจกต์ แก้แบบรถไฟฟ้างบพุ่ง 8,140 ล้าน

3 กุมภาพันธ์ 2015


เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงกรณีการเผยแพร่เอกสารแถลงการณ์สำนักพระราชวังปลอมในโลกออนไลน์ว่า ต้องรีบตามหาคนตัวคนทำผิด แต่ต้องใช้เวลา คิดว่าคนทำเรื่องนี้จิตใจใช้ไม่ได้ ขอให้คนไทยอย่าเชื่ออะไรผลีผลาม

ส่วนกรณีเหตุคนร้ายวางระเบิดบริเวณทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยามกับห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน เมื่อค่ำวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า เกิดจากคนบางพวกมุ่งหวังจะให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรงเกิดขึ้น สร้างผลกระทบต่อการท่องเที่ยว การค้า การลงทุน ซึ่งต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างเข้มงวด นอกจากนี้ยังให้คณะรักษาความปลอดภัยเพิ่มการวางกำลังในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง แต่ก็ระมัดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นด้วยในกรณีที่ทหารใช้กำลังในพื้นที่

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/030215_krit_1/030215krit1-54016.html
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/030215_krit_1/030215krit1-54016.html

“สถานการณ์ขณะนี้กำลังเป็นไปด้วยดี แต่ไม่ใช่ว่ามีกฎหมายความมั่นคงแล้วทุกคนจะกลัวหมด ก็มีการใช้ความรุนแรงกับรัฐบาลในปี 2553 และในปี 2556-2557 แต่เกิดจากใครนั้นขอให้ไปคิดกัน อย่าไปให้ความสำคัญมาก โชคดีที่ไม่มีใครบาดเจ็บหรือสูญเสีย ถือเป็นบทเรียนที่ต้องไปหามาตรการป้องกัน มันจะอันตรายมากขึ้นในช่วงที่เปิดการค้าเสรีกับเออีซี มีการเคลื่อนย้ายแรงงาน เมื่อมีการลงทุนมากขึ้น ผลประโยชน์ก็มากขึ้น คนจนก็มากขึ้น นี่ต้องระมัดระวัง”

ด้านการประเมิณสถานการณ์จากเหตุระเบิด พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่า คนที่วิพากษ์วิจารณ์ว่ารัฐบาลสร้างสถานการณ์ขึ้นเองเพื่อต่ออายุกฎอัยการศึกนั้น “พวกนี้สมองเสีย เขียนอย่างนี้ได้อย่างไร ไม่มีใครเขาลงทุนขนาดนั้นหรอก สอง มีการแย่งชิงจ่าฝูงกองทัพบก ไม่มีการปรับอีกแล้ว จะมีการปรับย้ายในเดือนตุลาคมโน่น ตอนนี้กำลังตรวจสอบเรื่องราวทั้งหมดอยู่ อย่าไปให้ความสำคัญมากนัก ไปหามาตรการในการป้องกันดีกว่า”​

ส่วนจะกระทบการท่องเที่ยวหรือไม่นั้น พล.อ. ประยุทธ์ยืนยันว่า ไม่กระทบอย่างแน่นอน แต่ถ้ามีการขยายข่าวออกไป ผลกระทบก็จะเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการ ใครเกี่ยวข้องต้องจับให้หมด

ในประเด็นเรื่องการปราบปรามยาเสพติด ได้ให้กระทรวงยุติธรรมขอความร่วมมือกลับไปยังลาว เมียนมาร์ และจีน ว่าจะร่วมมือกันอย่างไรในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ โดยให้กระทรวงมหาดไทยและฝ่ายความมั่นคง ตำรวจ ทหาร ร่วมมือกันในการลาดตระเวนลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ระบุว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติด อาชญากรรม และการใช้อาวุธสงครามได้ดีกว่าก่อนหน้านี้มาก

ส่วนมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ขณะนี้ก็ได้อนุมัติจ่ายเงินไปมากกว่าร้อยละ 90 ของวงเงินที่ตั้งเอาไว้แล้ว แต่ก็ต้องเข้าใจว่าเงินอาจจะไม่ถึงมือเกษตรกรทันที เพราะต้องผ่านหลายขั้นตอนในการตรวจสอบให้ถูกต้อง รวมถึงก็จะมีการดูแลจัดระเบียบทะเบียนสหกรณ์ทั้งหมดใหม่ โดยอาจอนุโลมให้คนที่อยู่มาก่อนเป็นเวลานาน

ด้านการแก้ปัญหาระยะยาวจะสนับสนุนให้ใช้กลไกสหกรณ์ช่วยรับซื้อและต่อรองราคาขาย โดยที่ไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง และรัฐก็จะไม่ไปแทรกแซงกลไกตลาดซึ่งทำให้ราคาไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยรัฐบาลจะให้เงินอุดหนุนกลุ่มสหกรณ์ใหญ่ เพื่อนำไปกระจายสู่สหกรณ์ย่อยต่อไป

ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมและมติคณะรัฐมนตรี ที่ได้อนุมัติแผนงาน นโยบายและงบประมาณที่สำคัญ ดังนี้

ดึงญี่ปุ่นลงทุนทวาย-ร่วมทุนรถไฟทางคู่

คณะรัฐมนตรี รับทราบกำหนดการของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งมีกำหนดเดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2558 เพื่อหารือทวิภาคีกับนายชินโซ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในเรื่องระบบรางของไทย และความร่วมมือเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย การร่วมมือด้านการค้าและการส่งเสริมการค้าลงทุนให้เกิดความคืบหน้าเป็นรูปธรรม ตลอดจนเสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคส่วนต่างๆ ของญี่ปุ่นและต่อประชาคมระหว่างประเทศ

นอกเหนือจากการพบหารือทวิภาคีกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น พล.อ. ประยุทธ์ยังมีกำหนดหารือกับบุคคลสำคัญของรัฐบาลและภาคเอกชน ได้แก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรญี่ปุ่น ประธานสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเศรษฐกิจที่สำคัญทั้ง 5 แห่ง ในเขตคันไซ ประธาน Japan-Thailand Business Forum และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

โดยทั้ง 2 ฝ่ายมีกำหนดในการลงนามบันทึกแสดงเจตจำนง หรือ MOI (Memorandum of Intend) ว่าด้วยความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางระหว่างกระทรวงคมนาคมไทยกับญี่ปุ่น และบันทึกความร่วมมือส่งเสริมธุรกิจไทยในญี่ปุ่นระหว่างโครงการส่งเสริมการค้าต่างประเทศในญี่ปุ่น (The Japan External Trade Organization: JETRO) กับคณะกรรมการร่วมสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย (สรท.)

ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น รับทราบด้วยความสนใจถึงข้อริเริ่มของไทยที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนที่เชื่อมกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมาร์ และมาเลเซีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนสนับสนุนการรวมตัวของอาเซียน

ทั้งสองประเทศยืนยันว่าการพัฒนาระบบรางในไทยมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและการส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค ในบริบทนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่มีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยกับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ว่าด้วยความร่วมมือระบบราง และยืนยันว่าทั้งสองประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้รับทราบการแก้ไข MOI ตามที่นายกรัฐมนตรีแนะนำ โดยให้ระบุใน MOI ว่า ฝ่ายรัฐบาลญี่ปุ่นจะสนับสนุนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย และให้นักลงทุนญี่ปุ่นเชิญชวนนักลงทุนฝ่ายญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนด้วย พร้อมทั้งให้ระบุว่า “ในการลงทุนด้านพื้นฐาน ระบบโครงสร้าง ไม่ใช่ฝ่ายญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุน แต่เป็นผู้สนับสนุน ร่วมมือด้านการลงทุน ส่วนการดำเนินการสร้างเป็นความรับผิดชอบของไทยเอง”

ในส่วนของความสำคัญในการร่วมมือทางเศรษฐกิจ ได้แก่

1. สองฝ่ายย้ำถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจซึ่งพึ่งพาอาศัยกันและเห็นพ้องถึงความสำคัญของการกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคีด้านเศรษฐกิจให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ผ่านการดำเนินการตามกลไกความตกลงทางหุ้นเศรษฐกิจไทย–ญี่ปุ่น (Japan–Thailand Economic Partnership Agreement: JTEPA) อย่างราบรื่น สาขาหลักที่จะกระชับความร่วมมือมากขึ้น ได้แก่ สินค้าและบริการ การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ในการนี้ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันความพร้อมที่จะจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วม ภายใต้กลไก JTEPA ในวันเวลาที่สองฝ่ายสะดวก

2. ทั้งสองฝ่ายยืนยันพันธสัญญาของทั้งสองประเทศที่จะร่วมมือกันในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนและจะร่วมมือกันให้สามารถสรุปผลการเจรจาความตกลงพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค (RCEP) ภายในปี 2558 ตามเป้าหมาย

3. ทั้งสองฝ่ายยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งและมีศักยภาพอย่างยิ่ง โดยย้ำว่าการลงทุนของญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น ไทยยืนยันว่าจะรักษาและปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนในไทยของบริษัทของญี่ปุ่นในระยะยาว

4. นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นแสดงความพร้อมที่จะร่วมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในภาพรวมของไทยต่อไป โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง องค์ความรู้ และประสบการณ์ของบริษัทญี่ปุ่น

5. ทั้งสองประเทศตระหนักร่วมกันว่าการส่งเสริมและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของไทยในภาพรวมจะช่วยส่งเสริมบทบาทไทยในฐานะศูนย์กลางการเชื่อมโยงของอาเซียนและการกระตุ้นการพัฒนาในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

6. นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นรับทราบด้วยความสนใจถึงข้อริเริ่มของไทยที่จะจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ชายแดนที่เชื่อมต่อกับกัมพูชา สปป.ลาว พม่า และมาเลเซีย เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ชาติเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ชายแดนและสนับสนุนการรวมตัวกันของอาเซียน

7. ทั้งสองฝ่ายยืนยันว่าการพัฒนาระบบรางในไทยมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทยและการส่งเสริมการเชื่อมโยงในภูมิภาค ในบริบทนี้ ทั้งสองฝ่ายยินดีที่จะมีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงระหว่างกระทรวงคมนาคมไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน คมนาคม และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ว่าด้วยความร่วมมือกันด้านระบบรางและยืนยันว่าทั้งสองประเทศจะส่งเสริมความร่วมมือให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมในอนาคต

8. ทั้งสองฝ่ายยืนยันความสำคัญของกระบวนการประชุมสามฝ่ายระหว่างญี่ปุ่น ไทย และพม่า เกี่ยวกับโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย โดยยินดีที่ญี่ปุ่นจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปประจำนิติบุคคลเฉพาะกิจ (SPV) เบื้องต้นจะเริ่มศึกษาความเป็นไปได้ เบื้องต้นของการก่อสร้างถนนสายหลักเต็มระยะโดยไทยจะเป็นผู้ลงทุนโดยญี่ปุ่นจะเข้าร่วมลงทุน

9. นายกรัฐมนตรีอาเบะชื่นชมความพยายามของไทยในการยกเลิกมาตรการการจำกัดการนำเข้าอาหารญี่ปุ่น ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่เหตุการณ์แผ่นดินไหวของญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายจะตั้งใจที่ยกเลิกมาตรการดังกล่าวอย่างรวดเร็วและสมบูรณ์

10. ทั้งสองฝ่ายยืนยันถึงความร่วมมือทวิภาคีในสาขาพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน พลังงานหมุนเวียน การอนุรักษ์พลังงาน และยุทธศาสตร์พลังงานที่ครอบคลุม และทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดประชุมความร่วมมือพลังงานไทย-ญี่ปุ่น เพื่อสนับสนุนความร่วมมือและความรู้ด้านต่างๆ โดยเฉพาะความร่วมมือด้านถ่านหินคุณภาพสูง ซึ่งจะช่วยสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานและลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกต่อไป

ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ (ขวา) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/030215_tro3/030215tro3-54020.html
ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ (ขวา) โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และพล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/030215_tro3/030215tro3-54020.html

แก้กฏหมายแพ่ง-ให้เจ้าหนี้บี้ผู้ค้ำประกันเสมือนลูกหนี้

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ฉบับที่ 20 พ.ศ. 2557 (แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับการค้ำประกันและจำนอง) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ ซึ่งมีหลักการในการคุ้มครองสิทธิและให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ค้ำประกัน และผู้จำนองซึ่งมิใช่ลูกหนี้ชั้นต้น และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2557 และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558

ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 9 ธันวาคม 2557 ให้คณะกรรมการพัฒนากฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา รับไปพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ฉบับดังกล่าว โดยได้เชิญผู้แทนจากธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมพิจารณาด้วย และเห็นควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนที่เกี่ยวกับการค้ำประกันและการจำนอง และร้องเรียนว่าการแก้ไขดังกล่าวจะทำให้การทำธุรกรรมไม่สะดวก นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จึงรับมาแก้ไขเพิ่มเติม

โดยกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นนิติบุคคลสามารถผูกพันตนเพื่อรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมหรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมได้ และไม่มีสิทธิเกี่ยงให้เจ้าหนี้ไปทวงหนี้จากลูกหนี้ก่อน ในประเด็นการผ่อนเวลาชำระหนี้ให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงินหรือตัวแทนสามารทำข้อตกลงกับเจ้าหนี้ล่วงหน้าเพื่อผ่อนเวลาชำระหนี้ เพื่อไม่ให้กระทบต่อโครงการต่างๆ ของรัฐที่มีสถาบันการเงินเป็นผู้ค้ำประกัน และกำหนดให้ผู้ค้ำประกันที่เป็นสถาบันการเงินหรือค้ำประกันเพื่อสินจ้างเป็นปกติธุระสามารถทำข้อตกลงไว้ล่วงหน้ายินยอมให้มีการผ่อนเวลาได้

อนุมัติขยายเพดานเงินเดือน 35 รัฐวิสาหกิจ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ให้มีการขยายเพดานอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ตามมติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2557 เรื่อง การปรับปรุงบัญชีโครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ (โครงสร้าง 58 ขั้น) 35 แห่ง ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เนื่องจากเป็นการปรับปรุงเพื่อให้สอดคล้องกับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจและสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงเป็นการสร้างแรงจูงใจในการทำงานของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และเป็นการลดความเหลื่อมล้ำด้วย โดยจะมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน 2557

จากเดิมทีมีอัตราจ้างขั้นต่ำ 5,780-9,040 บาท ให้เริ่มมีอัตราขั้นต่ำที่ 9,040 บาท พร้อมปรับอัตราขั้นสูงสุด จากเดิมได้รับ 113,520 บาท ให้เพิ่มขั้นอีก 6.5 ขั้น โดยมีค่าจ้างอัตรา 142,830 บาท เป็นขั้นเงินเดือนสูงสุด ทั้งนี้ โครงสร้างอัตราค่าจ้างของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ ระหว่าง 9,040–113,520 บาท ยังคงเดิม

กรณีที่รัฐวิสาหกิจใดจะขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงขึ้นไปสูงกว่าอัตราขั้นสูงที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน จะต้องขอความเห็นชอบจากกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ หรือ ครส. และคณะรัฐมนตรีเป็นรายกรณีไป ทั้งนี้ การพิจารณาขยายเพดานอัตราค่าจ้างขั้นสูงต้องสอดคล้องกับขนาด ภาระหน้าที่ และความรับผิดชอบ ของรัฐวิสาหกิจที่มีความแตกต่างกันตามความเหมาะสมตลอดจนความสามารถในการรองรับภาระค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เพิ่มขึ้นของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้น

แก้แบบรถไฟฟ้าสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต ค่าก่อสร้างพุ่ง 8,140 ล้าน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้มีการแก้ไขแบบรายละเอียดและปรับปรุงกรอบวงเงินค่าจ้างของโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล (สายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต ซึ่งประกอบด้วยสัญญาการก่อสร้าง 3 สัญญา มีค่าก่อเพิ่มขึ้น 8,140 ล้านบาท แยกเป็นค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นภายใต้สัญญาที่ 1 จำนวน 4,315 ล้านบาท สัญญาที่ 2 จำนวน 3,352 ล้านบาท และสัญญาที่ 3 จำนวน 473 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ครม. ได้อนุมัติเฉพาะการแก้ไขสัญญา แต่ส่วนที่กระทรวงการคลังเสนอให้มีการขยายวงกรอบวงเงินกู้ให้ครอบคลุมค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นนั้น ครม. ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางไปจัดทำรายละเอียดให้รอบคอบก่อนนำเข้าให้ ครม. อนุมัติอีกครั้ง

สำหรับรายละเอียดของสัญญาที่มีการแก้ไขนั้น ในส่วนของ สัญญาที่ 1 ประกอบด้วยการแก้ไข 3 ส่วน ได้แก่ 1. สัญญางานก่อสร้างงานโยธาสถานีกลางบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ซึ่งมีการปรับในส่วนช่องทางวิ่งจากเดิมที่มี 3 ช่องทาง ให้ปรับเป็น 4 ช่องทาง 2. งานแก้ไขแบบโครงสร้างทางวิ่งรถไฟฟ้าสายสีแดง เพื่อรองรับโครงสร้างทางวิ่งของรถไฟความเร็วสูงบริเวณสถานีกลางบางซื่อ จึงให้ปรับชานชาลาชั้น 2 ให้รองรับการเดินรถไฟขนาดราง 1 เมตร แยกเป็นขบวนทางไกล 8 ขบวน และขบวนรถไฟระหว่างเมือง 4 ขบวน และให้ชานชาลาชั้น 3 รองรับการเดินรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร 3. แก้ไขความยาวของชานชาลาบนชั้นที่ 3 ให้มีความยาวเพิ่มจาก 230 เมตร เป็น 600 เมตร เพื่อให้เหมาะสมกับการที่มีรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร เพิ่มเข้ามา

สำหรับสัญญาที่ 2 และ 3 ซึ่งเป็นงานโยธาระหว่างสถานีบางซื่อถึงรังสิต และงานระบบราง อาณัติสัญญาญ และขบวนรถไฟฟ้า ให้แก้ไขให้สอดคล้องกับสัญญาที่ 1

ทั้งนี้ ก่อนที่จะมีการเสนอให้มีการแก้ไขสัญญาทั้ง 3 สัญญานี้ กรอบวงเงินทั้ง 3 สัญญาซึ่งได้รับการอนุมัติโดยมติ ครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2552 อยู่ที่ 73,077 ล้านบาท ส่วนที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ลงนามไปนั้น แยกเป็น สัญญาที่1 รฟท. ลงนามในสัญญาก่อสร้างกับกิจการร่วมค้าเอสยู ไปแล้ว มูลค่า 29,827 ล้านบาท สัญญาที่ 2 ได้ลงนามกับบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ มูลค่า 21,235 ล้านบาท ส่วนสัญญาที่ 3 รฟท. ยังอยู่ระหว่างการประกวดราคาคัดเลือก แต่กรอบวงเงินที่สัญญาที่ 3 ได้รับอนุมัติตามมติ ครม. เดิม คือ 26,272 ล้านบาท

อนุมัติ 1,215 ล้าน ขยายไฟฟ้าพื้นที่ห่างไกล 11,600 ครัวเรือน

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ โดยอนุมัติให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินโครงการขยายเขตระบบไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่ห่างไกล (คฟก.) หรือ Remote Rural Household Electrification Project (RHEP) วงเงินลงทุนทั้งสิ้นรวม 1,215 ล้านบาท โดยใช้เงินกู้ในประเทศจำนวน 910 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินลงทุนของโครงการดังกล่าว โดย กฟภ. จะทยอยดำเนินการกู้เงินตามความจำเป็นจนกว่างานจะแล้วเสร็จ และเงินลงทุนอีกส่วนหนึ่งมาจากเงินรายได้ กฟภ. จำนวน 305 ล้านบาท

โดยโครงการดังกล่าวเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล และแผนยุทธศาสตร์ของ มท. ในการก่อสร้างขยายเขตบริการไฟฟ้าให้ครัวเรือนที่ห่างไกล ซึ่งจะครอบคลุมครัวเรือนประมาณ 11,600 ครัวเรือน อีกทั้งช่วยเพิ่มผลผลิต สนับสนุนธุรกิจ อุตสาหกรรมในชนบท ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพิ่มการจ้างงานลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ กระจายความเจริญไปสู่ส่วนภูมิภาคและชนบท รวมถึงช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดอัตราการโยกย้ายเข้าสู่เมือง

ไทยเสนอเป็นเจ้าภาพจัดงาน “ท่องเที่ยวโลก 59”

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลกปี พ.ศ. 2559

เนื่องจากประเทศไทยเป็นสมาชิกขององค์การการท่องเที่ยวโลก (United Nation World Tourism Oranization : UNWTO) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 และมีบทบาทในการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ขององค์การการท่องเที่ยวโลก

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเล็งเห็นว่า การรับเป็นเจ้าภาพจัดงานวันท่องเที่ยวโลกนั้น เป็นการแสดงถึงศักยภาพและภาพลักษณ์ของประเทศไทยในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานและการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ทั้งด้านคุณภาพของแหล่งท่องเที่ยวและบริการ รวมถึงความปลอดภัยจากการท่องเที่ยว

เนื่องจากมีสถานที่ท่องเที่ยวและอารยธรรมที่ควรค่าแก่การศึกษา ซึ่งประเทศไทยสามารถใช้การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) เพื่อเผยแพร่ภาพลักษณ์อันงดงามของประเทศในการดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ (Quality Tourist) เข้าสู่ประเทศโดยการประชาสัมพันธ์และร่วมงานดังกล่าว

การจัดงานดังกล่าวจะใช้งบประมาณจากงบรายจ่ายอื่นประจำปี 2559 จากสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท ทั้งนี้ไม่รวมค่าตั๋วเครื่องบินของผู้เข้าร่วมการประชุม ส่วนไทยจะได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพในการจัดงานวันท่องเที่ยวโลกหรือไม่นั้น จะต้องผ่านการรับรองจากที่ประชุมร่วมจากคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก และคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียใต้ในช่วงเดือนมิถุนายน 2558 ที่สาธารณรัฐมัลดีฟ และผลการรับรองดังกล่าวจะต้องนำเข้าที่ประชุมสมัชชาใหญ่ของ UNWTO อีกครั้งหนึ่งเพื่ออนุมัติรับรองในช่วงเดือนกันยายน 2558 ณ ประเทศโคลัมเบีย

ที่ผ่านมา ประเทศไทยโดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับการเสนอให้เป็นประธาน พ.ศ. 2550–2552 และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งอีกสมัยหนึ่งระหว่างปี พ.ศ. 2553-2554 และเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมร่วมคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกและคณะกรรมาธิการภูมิภาคเอเชียใต้ ครั้งที่ 24 ณ จังหวัดเชียงใหม่

อนุมัติงบ 198.49 ล้าน ป้องกันอีโบลา

การขอรับงบกลางโครงการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา ระยะเร่งด่วนประจำปีงบประมาณ 2558 ซึ่งคณะรัฐมนตรีเห็นชอบอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินเป็นจำนวนเงิน 198.49 ล้านบาท และมอบให้สำนักงบประมาณดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ คสช. มีมติเมื่อเดือนสิงหาคม 2557 ในการอนุมัติงบกลางเบื้องต้นจำนวน 116.80 ล้านบาท เพื่อดำเนินความพร้อมในโครงการดังกล่าว ซึ่งทางสำนักงบประมาณได้ปรับลดวงเงินเหลือจำนวน 99.74 ล้านบาท และได้ทำการเบิกจ่ายแล้ว 10.15 ล้านบาท

อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งว่า สถานการณ์การติดเชื้อของโรคไวรัสอีโบลายังคงมีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง จึงต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมในทุกภาคส่วน ร่วมทั้งเพิ่มศักยภาพของห้องปฏิบัติการ รวมไปถึงห้องแยกผู้ป่วยให้มีประสิทธิภาพ โดยงบประมาณจำนวน 198.49 ล้านบาทนั้น แบ่งเป็น ค่าตอบแทนในการเสี่ยงภัย 59 ล้านบาทเศษ ค่าทดแทนค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลได้ทดลองยา 56.2 ล้านบาทเศษงบลงทุนเป็นค่าลงทุนก่อสร้าง 46.9 ล้านบาทเศษ และค่าครุภัณฑ์ 29.2 ล้านบาทเศษ