ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > คสช. จี้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้า 15 ล้านคน “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” อึดอัดสต็อกข้าว 17 ล้านตัน โชว์มาตรการรับมือวิกฤติ ครม. อนุมัติงบ’ 59 วงเงิน 2.33 ล้านล้าน

คสช. จี้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจรากหญ้า 15 ล้านคน “ม.ร.ว.ปรีดิยาธร” อึดอัดสต็อกข้าว 17 ล้านตัน โชว์มาตรการรับมือวิกฤติ ครม. อนุมัติงบ’ 59 วงเงิน 2.33 ล้านล้าน

20 มกราคม 2015


ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ (ขวา)โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลง ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/200115_krit_1/200115krit1-53579.html
ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ (ขวา)โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลง ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/200115_krit_1/200115krit1-53579.html

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมร่วมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กับคณะ คสช. เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2558 มีการอนุมัติงบประมาณ แผนงาน และโครงการที่สำคัญ ตามที่ ร.อ. ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกันแถลงมติที่สำคัญ ดังนี้

คสช. จี้แก้รากหญ้า “คุณชายอุ๋ย” โชว์แผนฟื้นเศรษฐกิจ

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ทั้ง ครม. และ คสช. ได้หารือสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งทั้งสองคณะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า ตัวเลขทางเศรษฐกิจต่างๆ มีทิศทางที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม มีผู้ที่อยู่ในที่ประชุมหลายคนแสดงความเป็นห่วงเกี่ยวกับเศรษฐกิจในเรื่องต่างๆ โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและคณะ คสช. กล่าวว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในขณะนี้จะต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดเนื่องจากในสหภาพยุโรป (EU) กำลังจะใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน (QE) ซึ่งอาจจะทำให้เงินทุนไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น ประกอบกับค่าเงินบาทไทยในขณะนี้ก็มีการแข็งค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลต่างๆ เช่น เงินยูโรและเงินเยน ซึ่งอาจจะกระทบกับการส่งออกได้ รัฐบาลจึงควรหามาตรการดูแล ซึ่ง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ได้กล่าวว่าเป็นเรื่องที่หน่วยงานเศรษฐกิจต้องเตรียมพร้อมอยู่แล้ว  
 
สำหรับผลการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา นายสมคิดระบุว่า ให้ดูจากการจัดเก็บรายได้โดยเฉพาะรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่ม  (VAT) โดยหากรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ลดลงก็แสดงว่ากำลังซื้อของประชาชนยังอยู่ในระดับปกติ อย่างไรก็ตาม อยากให้รัฐบาลเร่งรัดการช่วยเหลือเกษตรกรเพราะมองว่ามาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือเกษตรกรยังล่าช้าทำให้คนกลุ่มนี้เดือดร้อนจากราคาผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำลง
 
พล.ต. สรรเสริญกล่าวด้วยว่า นายมีชัย ฤชุพันธุ์ คณะ คสช. ด้านกฎหมาย ให้ความเห็นว่า การดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ผู้ที่จะได้ประโยชน์ส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่มีฐานะปานกลางขึ้นไปถึงระดับสูง โดยเป็นประชากรวัยแรงงานที่มีอยู่กว่า 40 ล้านคน คือ แรงงานที่ได้รายได้ประจำ ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ 15 ล้านคน และอีก 25 ล้านคน ที่เป็นกลุ่มที่มีอาชีพอิสระ ขณะที่อีก 15 ล้านคนที่เป็นเกษตรกรยังไม่ได้ประโยชน์ชัดเจน ยกตัวอย่างเช่น การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ คนที่จะได้ประโยชน์ก็ไม่ใช่เกษตรกร จึงอยากให้เร่งรัดการแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรด้วย

ทั้งนี้ หลังจากที่นายกรัฐมนตรีรับฟังข้อเสนอแนะจากที่ปรึกษา คสช. และ ครม. บางคนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นแล้วก็ได้สรุปว่า การแก้ปัญหาเกษตรกร 15 ล้านคน เป็นเรื่องที่สำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีพร้อมที่จะใช้อำนาจที่มีอยู่ทั้งหมดในการแก้ปัญหาให้เกษตรกรและช่วยเหลือให้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้มีการสอบถามเกี่ยวกับสต็อกข้าวของรัฐบาลที่มีอยู่กว่า 17 ล้านตัน โดยนายกรัฐมนตรีระบุว่า เวลาที่มีการเดินทางไปต่างประเทศ นักธุรกิจจะสอบถามว่าข้าวที่ไทยจะส่งออกเป็นข้าวใหม่หรือข้าวเก่า จึงอยากให้มีการทำเรื่องนี้ให้ชัดเจนควบคู่ไปกับการดูแนวทางการระบายข้าวในประเทศควบคู่กันไปด้วย

ทั้งนี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธรระบุในเอกสารรายงานแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2558 ว่า “ปัจจุบันผลที่ราคาพืชตกต่ำที่ควรได้รับความสนใจก็คือข้าวและยางพารา แต่การที่จะทำให้ราคาสูงขึ้นกว่านี้ทำได้ยาก เพราะราคาข้าวในตลาดโลกยังไม่สูงขึ้น และที่สำคัญ สต็อกข้าวรัฐบาลที่เหลืออยู่สูงถึง 17 ล้านตัน ซึ่งมีผลกดราคา ไม่เฉพาะราคาข้าวในประเทศ แต่มีผลต่อราคาข้าวในตลาดโลกด้วย จึงมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องกำหนดให้มีการระบายข้าวให้หมดในระยะเวลาที่ไม่นานเกินไป เพราะคุณภาพข้าวจะเสื่อม หากต้องการระบายต้องใช้เวลา 4 ปี ต้องตั้งเป้าระบายปีละ 4 ล้านตัน จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีกำหนดระยะเวลาในการระบายที่เหมาะสม” จากนั้น พล.อ. ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้รายงานคณะรัฐมนตรีว่า มีแผนในการระบายข้าวให้หมดได้ในระยะเวลา 2 ปี
 
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรยังได้รายงานด้วยว่า ปัจจัยที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยในปี 2558 ขยายตัวได้ตามเป้าหมายมี 4 ส่วนสำคัญ คือ 1. การใช้จ่ายภาครัฐ 2. การลงทุนภาคเอกชน 3. การบริโภคภาคเอกชน และ 4. การส่งออก สำหรับการใช้จ่ายที่เป็นรายได้ประจำปี 2558 ในไตรมาสที่ 1 ทำได้สูงถึง 34.18% ซึ่งสูงกว่าปีที่ผ่านมามาก จึงคาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณประจำในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือจะทำได้ตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม การเบิกจ่ายงบลงทุนในไตรมาสที่ 1 ทำได้เพียง 9.2% ซึ่งถือว่าต่ำมาก ส่วนงบฯ ที่ได้มีการผูกพันไว้แล้วอีก 18.24% ถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ โดย ม.ร.ว.ปรีดิยาธรได้ชี้แจงว่า สาเหตุที่ทำให้การเบิกจ่ายงบลงทุนฯ ยังต่ำ ได้แก่

1. งบประมาณที่ผ่านสภาฯ ในเดือนสิงหาคมปีก่อน และการจัดสรรงบประมาณเพื่อแจ้งยังหน่วยงานปฏิบัติยังล่าช้ากว่าปกติประมาณ 1 เดือน
2. โครงการใหม่ในปี 2558 จะต้องใช้เวลาขั้นตอนในการทำงานไม่ต่ำกว่า 42 วัน จึงจะเริ่มลงนามผูกพันสัญญาได้
3. บางโครงการใช้ราคามาตรฐานเดิม ซึ่งต่ำกว่าราคาจริงในปัจจุบันจนไม่มีผู้รับงาน จำเป็นต้องแก้ไขแบบลดเนื้องานลง และต้องใช้เวลาในการแก้ไขรายละเอียด โดยเรื่องนี้นายกรัฐมนตรีสั่งการให้สำนักงบประมาณแก้ไขราคากลางใหม่ให้แล้วเสร็จใน 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ ในการประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ได้รับการยืนยันว่าจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อผูกพันงบฯ ได้ทั้งหมดภายในเดือนมีนาคม 2558 โดยได้กำหนดการเบิกจ่ายงบลงทุนทั้งปีไว้ให้ได้ถึง 80% ของงบประมาณ ส่วนการใช้จ่ายงบประมาณการลงทุนจากงบเหลื่อมปีในไตรมาสแรกของปี 2558 จ่ายได้ 23.08% ของงบประมาณและได้ทำสัญญาไว้แล้ว 32.6% ยังสามารถเร่งรัดได้มากขึ้นอีก โดยสามารถลงนามในสัญญาเพื่อผูกพันงบฯ ได้ทั้งหมดภายในเดือนมีนาคม 2558 และกำหนดการเบิกจ่ายงบกันเหลื่อมปีงบประมาณให้ได้ถึง 85%
 
สำหรับงบประมาณลงทุนที่มีการเบิกจ่ายน้อยที่สุดในไตรมาสที่ 1 ของงบประมาณปี 2558 ก็คืองบกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใช้จากงบประมาณไทยเข้มแข็งและงบกลางส่วนที่ยังเหลือรวม 2.3 หมื่นล้านบาท โดยเพิ่งเบิกจ่ายไปเพียง 5.9% ในไตรมาสแรกและทำสัญญาผูกพันเพียง 3,641.93 ล้านบาทหรือ 15.83% ของงบประมาณทั้งหมด โดยได้มีการกำหนดให้มีการเร่งรัดและปรับปรุงราคากลางให้มีความทันสมัย ทั้งนี้ ตั้งเป้าเบิกจ่ายงบประมาณในส่วนนี้ให้ได้ 90% เมื่อสิ้นสุดปีงบประมาณ 2558

ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีข้อมูลสนับสนุนว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2557 โดยมีการขอใบอนุญาตโรงงานเพิ่มขึ้น 3,815 โรงงาน และได้มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการแล้ว 1,661 โรงงาน คิดเป็นมูลค่าลงทุนกว่า 2.14 แสนล้านบาท และจ้างงานเพิ่มขึ้น 90,000 คน ทั้งนี้ได้มีการกำหนดแผนให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ออกไปทำโรดโชว์ในต่างประเทศเป็นระยะๆ เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติมาลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ รวมทั้งส่งเสริมการลงทุนตามนโยบายการให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุน ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนได้ประโยชน์จากราคาน้ำมันที่ลดลงและคาดว่าจะไม่กระทบเงินเฟ้อตลอดช่วงครึ่งแรกของปี 2558

ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/
 
ในส่วนของการส่งออก ม.ร.ว.ปรีดิยาธรรายงานว่า เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัวแต่การจ้างงานยังคงอยู่ในระดับ.5.8% ขณะที่ตลาดอื่นๆ ของไทยยังไม่ฟื้นตัวดีนัก โดยผู้ส่งออกไทยรู้สถานการณ์ดี ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะใช้แผนเชิงรุกในการนำเอกชนไปหาตลาดใหม่ๆ ในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และเอเชียใต้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเร่งทำและทำต่อเนื่องให้ครอบคลุมตลาดใหม่ทุกแห่งที่มีศักยภาพ รวมทั้งเร่งแก้อุปสรรคทางการค้าต่างๆ ด้วย ขณะที่การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานนอกจากแผนการดำเนินการโครงการต่างๆ ที่กระทรวงคมนาคมมีอยู่ในปี 2558 ยังควรให้มีความชัดเจนในเรื่องการเปิดประมูลหาผู้เดินรถเอกชนให้เข้ามาเดินรถไฟฟ้ามวลชนในกรุงเทพฯ การประมูลดังกล่าวจะทำให้ภาคเอกชนเริ่มดำเนินการจัดหาอุปกรณ์และเริ่มจัดหาเงินทุนประเภท infrastructure fund ทำให้ตลาดการเงินคึกคักขึ้น โดยขอให้กระทรวงคมนาคมเสนอแผนการประมวลคัดเลือกบริษัทเอกชนที่จะทำหน้าที่เป็นผู้เดินรถของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ และรถไฟชานเมืองเพื่อดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชนในสาขาต่างๆ ที่จะตามมาในอนาคต

อนุมัติงบ 2559 รายได้ 2.33 ล้านล้าน ขาดดุล 3.9 แสนล้าน

ครม.เห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2559 โดยยังจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อ วงเงิน 390,000 ล้านบาท มีงบประมาณรายจ่าย 2.72 ล้านล้านบาท และรายได้สุทธิ 2.33 ล้านล้านบาท โดยมีสมติฐานเศรษฐกิจขยายตัว 3.7-4.7% มีอัตราเงินเฟ้อ 1.1-2.1% ซึ่งสำนักงบประมาณได้เสนอให้มีผู้แทนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้ามาร่วมในขั้นตอนการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำงบประมาณด้วย

สำหรับโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายปี 2559 วงเงิน 2.72 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 5.6% มีรายจ่ายประจำ 2.1 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง 13,536 ล้านบาท ลดลง 67.7% รายจ่ายลงทุน 544,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 62,100 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.5%   

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 2559 แบ่งเป็น 8 ยุทธศาสตร์ 1 รายการ คือ ยุทธศาสตร์การเร่งรัดการจัดทำรากฐานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจเติบโตอย่างเป็นธรรม ยุทธศาสตร์การศึกษาสาธารณสุขคุณธรรม จริยธรรมคุณภาพชีวิต ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ และยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ส่วน 1 รายการ คือ รายการค่าดำเนินการภาครัฐ

โดยยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณต้องให้ความสำคัญกับการบูรณาการตามนโยบายรัฐบาล 19 เรื่อง และกำหนดแนวทางให้สอดคล้องกับด้านความมั่นคง โดย สมช. ต้องจัดทำแผนด้านความมั่นคงให้เสร็จโดยเร็ว ก่อนเสนอให้สำนักงบประมาณพิจารณา ซึ่งหลักการการจัดทำต้องสอดคล้องแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และต้องคำนึงถึงความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน คู่กับการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาล สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา

ครม. สั่งคุมสินค้าบริการ 41 รายการ ไม่คุมสบู่-แชมพู

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกำหนดสินค้าหรือบริการควบคุมปี 2558 แยกเป็นสินค้า 38 รายการ และบริการ 3 รายการ ที่จำเป็นใช้ในชีวิตประจำวัน มีผลตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม เป็นต้นไป โดยยกเลิกสินค้าควบคุมเดิม 3 รายการ  คือ เครื่องวัดความชื้นข้าว, เครื่องตรวจสอบคุณภาพข้าว และเครื่องชั่งวัดอัตราส่วนร้อยละของแป้งในหัวมัน เพราะไม่มีความจำเป็นแล้ว ส่วนที่เหลือให้คงรายการเดิมไว้ พร้อมกับเพิ่มรายการสินค้าควบคุมใหม่ คือ ท่อพีวีซี เพราะเป็นสินค้าที่ใช้ในการก่อสร้างและเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในพื้นที่การเกษตร

ทั้งนี้ สินค้าและบริการควบคุมทั้ง 41 รายการ คือ หมวดอาหาร ได้แก่ กระเทียม ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวโพด มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ ไข่ไก่ สุกรและเนื้อสุกร น้ำตาลทราย น้ำมัน และไขมันที่ได้จากพืชหรือสัตว์ทั้งที่บริโภคได้หรือไม่ได้ ครีมเทียมนมข้นหวาน นมข้น นมคืนรูป นมแปลงไขมัน นมผง นมสด แป้งสาลี อาหารในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท อาหารกึ่งสำเร็จรูปบรรจุภาชนะผนึก และผลปาล์มน้ำมัน

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน ได้แก่ ผงซักฟอก ผ้าอนามัย กระดาษชำระ กระดาษเช็ดหน้า

หมวดปัจจัยทางการเกษตร ได้แก่ ปุ๋ย ยาป้องกัน หรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ เครื่องสูบน้ำ รถไถนา รถเกี่ยวข้าว

หมวดวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ปูนซีเมนต์ เหล็กเส้น เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ เหล็กแผ่น สายไฟฟ้า ท่อพีวีซี

หมวดขนส่ง ได้แก่ แบตเตอรี่รถยนต์ ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก

หมวดปิโตรเลียม ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง เม็ดพลาสติก

หมวดยารักษาโรค ได้แก่ ยารักษาโรค

และอื่นๆ ได้แก่ เครื่องแบบนักเรียน

ส่วนบริการ มี 3 รายการ ได้แก่ การให้สิทธิในการเผยแพร่งานสิขสิทธิ์เพลงเพื่อการค้า บริการรับฝากสินค้าหรือบริการให้เช่าสถานที่เก็บสินค้า บริการทางการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในการกำหนดสินค้าควบคุมครั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังได้เสนอให้ควบคุมสบู่และแชมพูด้วย โดยให้เหตุผลว่าเป็นสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน และในระยะที่ผ่านมามีผู้ประกอบการบางรายปรับลดขนาดบรรจุ ขณะที่คงราคาขายเท่าเดิม หรือปรับราคาลดลงน้อยกว่าสัดส่วนของปริมาณที่บรรจุ แต่คณะรัฐมนตรีเห็นว่า ทั้งแชมพูและสบู่มีการแข่งขันในตลาดอยู่แล้ว และมีราคาที่เหมาะสม จึงไม่จำเป็นต้องเสนอมาเป็นสินค้าควบคุม

ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/200115_krit_1/200115krit1-53581.html#joomimg
ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/200115_krit_1/200115krit1-53581.html#joomimg

อนุมัตินำเข้าปาล์มดิบ 50,000 ตัน แก้วิกฤติน้ำมันปาล์ม

 
ครม.เห็นชอบตามที่คณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.)  ที่มี พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเสนอให้องค์การคลังสินค้า (อคส.) นำเข้าน้ำมันปาล์มดิบปริมาณ 50,000 ตัน ให้แล้วเสร็จภายในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยนำมาจำหน่ายให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มเพื่อนำไปผลิตเป็นน้ำมันพืชปาล์มชนิดบรรจุขวดจำหน่ายให้ประชาชนในราคาไม่เกินลิตรละ 42 บาท

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์จัดเตรียมมาตรการรองรับผลกระทบให้เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันขายผลปาล์มน้ำมันได้ราคาไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท โดยให้โรงกลั่นน้ำมันปาล์มและโรงงานไบโอดีเซลรับซื้อน้ำมันปาล์มดิบจากโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 30 บาท ในช่วงเวลาที่นำเข้าจนถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ พร้อมทั้งให้กระทรวงพลังงานปรับลดข้อกำหนดการใช้ไบโอดีเซล บี 100  ผสมในน้ำมันดีเซลจากไม่น้อยกว่า 6% แต่ไม่เกิน 7% เป็นไม่น้อยกว่า 3.5% แต่ไม่เกิน 7%  เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำมันปาล์มในการผลิตพลังงานทดแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม  และให้กลับมาใช้ไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นเป็น 7% เมื่อพ้นวิกฤติขาดแคลนน้ำมันปาล์ม พร้อมทั้งให้คณะอนุกรรมการเพื่อบริหารจัดการปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มด้านการผลิตติดตามและบริหารจัดการสต็อกและราคาผลปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มทุก 2 สัปดาห์ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มิถุนายน 2558 ซึ่งเป็นช่วงวิกฤติเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้บริโภค

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้รายงานว่า จะมีผลผลิตน้ำมันปาล์มดิบในประเทศในเดือนมกราคม ปริมาณ 102,515 ตัน และเดือนกุมภาพันธ์ ปริมาณ 110,626 ตัน  ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ได้รายงานการตรวจสต็อกน้ำมันปาล์มคงเหลือ ณ วันที่ 9-11 มกราคม ที่ผ่านมาของผู้ประกอบการมีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบคงเหลือปริมาณ 113,734 ตัน ส่งผลให้ระดับสต็อกน้ำมันปาล์มดิบเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ลดลงต่ำกว่าระดับวิกฤติที่ 135,000  ตัน  เสี่ยงต่อการเกิดภาวะการขาดแคลนน้ำมันปาล์มบริโภคและระดับสต็อกในประเทศที่ควรอยู่ที่ระดับไม่ต่ำกว่า 168,000 ตัน  จึงจำเป็นต้องสั่งน้ำมันปาล์มดิบเข้ามา เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความไม่มั่นใจ เกรงว่าน้ำมันปาล์มจะขาดแคลน ซึ่งในอดีตเกิดการเก็งกำไร มีการสต็อกน้ำมันปาล์มเก็บไว้ ส่งผลให้น้ำมันปาล์มมีราคาสูง