เหว่ยเฉียง
“มันไม่ได้เกี่ยวข้องกับวิกิลีกส์ มันเกี่ยวกับความโปร่งใสของตัวผู้ควบคุมข้อมูลข่าวสารเองนั่นแหละ” ประโยคปิดท้ายของตัวอย่างหนัง We Steal Secrets: The Story of WikiLeaks ถึงกับทำให้จอมแฉอย่างจูเลียน อัสซานจ์ ต้องออกแถลงชี้แจงแต่ละจุดบิดเบือนของสารคดีเรื่องนี้ ผ่านเว็บไซต์วิกิลีกส์ของเขาเอง

โลกรู้จักอัสซานจ์ หรือบรรณาธิการเว็บแฉอย่างวิกิลีกส์ ในฐานะฮีโร่ผู้ปล่อยรั่วข้อมูลลับทางราชการ รัฐบาลในหลายประเทศจึงมองเขาเป็นผู้ร้าย ซึ่งสิ่งที่เขาแฉล้วนเป็นข้อมูลสำคัญที่หลายๆ ประเทศพยายามปกปิดไม่ให้พลเมืองของตัวเองรู้ความจริง อาทิ เปิดโปงเอกสารลับทางทหารของสหรัฐฯ ในกรณีสงครามอัฟกัน เช่น คลิปทหารในเฮลิคอปเตอร์ยิงถล่มชาวบ้านในแบกแดด กรณีทหารอังกฤษฆ่าเด็กอัฟกันตาย 16 คน กรณีทหารระดับสูงของปากีสถานให้การสนับสนุนกลุ่มตาลีบัน และอีกหลายกรณีที่เป็นต้นเหตุให้เกิดอาหรับสปริงหรือการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาลเผด็จการในตะวันออกกลางที่ลุกลามอย่างต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้ไม่ว่าจะในอียิปต์หรือซีเรีย ฯลฯ
อัสซานจ์เคยได้รับรางวัล Amnesty International Media Award เมื่อปี 2009 ในฐานะผู้เปิดเผยการลอบสังหารผู้พิพากษาในเคนยา ได้รับรางวัล Economist Index on Censorship Award เมื่อปี 2008 และรางวัลอื่นๆ อีกหลายสถาบัน ทั้งยังเคยเข้าร่วมการประชุมสัมมนาด้านสื่อมวลชนและไอทีชั้นนำของโลกอีกหลายครั้ง

ถึงกระนั้น อัสซานจ์ก็ยังถูกสาปส่งว่าเป็นพวกทรยศขายชาติ และเป็นแฮคเกอร์ที่มีความด่างพร้อยอย่างยิ่งในด้านจริยธรรม แถมรัฐบาลในหลายประเทศต่างหมายหัวและจ้องจะตะครุบตัวเขามาลงโทษให้จงได้ “ผู้คนมองอัสซานจ์ในฐานะผู้ปลดปล่อย เป็นกูรูแห่งโลกใหม่ เป็นฮีโร เป็นปอปสตาร์ หรืออะไรก็ตามที่สร้างความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ให้เกิดขึ้นบนโลกใบนี้” แดเนียล ดอมชีท-เบิร์ก อดีตโฆษกของวิกิลีกส์กล่าวยกย่องอัสซานจ์ไว้อย่างนั้นในหนัง ก่อนจะตบท้ายว่า
“แล้วคนทั้งโลกก็ต่างสรรเสริญให้เครดิทกับอัสซานจ์ ว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่นำไปสู่การตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่เลย แบรดลีย์ แมนนิง ต่างหากที่เป็นฮีโร แมนนิงคือผู้กล้า แมนนิงคือคนเดียวที่ต้องทนแบกรับความเสี่ยงเหล่านั้นไว้ทั้งหมด”

แบรดลีย์ แมนนิง วัย 22 ปี คือพลทหารในหน่วยข่าวกรองฐานทัพอเมริกาผู้ส่งผ่านคลิปลับสุดอื้อฉาวซึ่งบันทึกไว้ได้โดยกล้องที่ติดอยู่กับเฮลิคอปเตอร์ขณะกำลังยิงถล่มชาวบ้านในแบกแดด เมื่อทหารอเมริกันเข้าใจผิดว่าเลนส์กล้องของนักข่าวคืออาวุธสงครามและรถตู้กำลังขนย้ายผู้ก่อการร้าย ทั้งที่จริงๆ แล้วเป็นเพียงพ่อกำลังจะขับรถไปส่งลูกชายที่โรงเรียน ซึ่งในเหตุการณ์นี้ทั้งนักข่าวและชาวบ้านเสียชีวิตทั้งหมด ซ้ำในคลิปยังมีเสียงหัวเราะถากถางของทหารอเมริกันขณะกำลังรัวกระสุนสาดชาวบ้านอย่างเมามัน

“ผมค้นหาเรื่องราวในส่วนที่หายไปจากข่าวมากมาย หนังเรื่องนี้เกี่ยวกับความจริงและการโกหก เพื่อแสดงให้เห็นว่ามันยากแค่ไหนในการพูดความจริง และง่ายดายอย่างไรในการโกหก”อเล็กซ์ กิบนีย์ ผู้กำกับ We Steal Secrets: The Story of WikiLeaks นี้กล่าว โดยนอกจากหนังสารคดีเรื่องนี้จะเผยให้เห็นอิริยาบถส่วนตัวของอัสซานจ์ เช่น ปฏิกิริยาสดๆ ขณะทราบข่าวร้ายบางอย่าง ลีลาโชว์สเต็ปแดนซ์ของเขาในผับ ภาพเบื้องหลังก่อนออกสื่อ ภาพถ่ายวัยเด็ก หรือข้อความส่วนตัวที่เขาทวีตคุยกับแหล่งข่าวแล้ว หนังยังเทน้ำหนักไปที่อีกสองประเด็นหลักด้วย นั่นก็คือ ความเป็นไปของแบรดลีย์ แมนนิง และหญิงชาวสวีดิช 2 ราย ที่ออกมาแฉว่าพวกเธอถูกอัสซานจ์ข่มขืน
กรณีหลังนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2010 เมื่อศาลสวีเดนออกหมายจับอัสซานจ์ในข้อหาข่มขืนซึ่งทำให้บรรดาสาวกที่เข้าข้างเขาปักใจเชื่อว่าเป็นการสมคบคิดของฝ่ายศัตรูที่ส่งผู้หญิง 2 คน นี้มาเป็นนางนกต่อล่อให้อัสซานจ์ติดกับโดยมีอเมริกาอยู่เบื้องหลัง เพราะไม่สามารถเอาผิดเขาในข้อหาอื่นได้จึงใช้กรณีข่มขืนนี้เล่นงานเขา
ทว่าสารคดีเรื่องนี้ได้ทำให้คนดูเห็นความจริงอีกด้านหนึ่ง เมื่อแอนนาหนึ่งในเหยื่อสาวออกมาปรากฏตัวและทำให้เราได้พบว่า แท้จริงแล้ว เธอคืออดีตอาสาสมัครผู้เคยร่วมงานกับวิกิลีกส์นั่นเอง ส่วนโซเฟียเหยื่อสาวอีกรายก็เป็นแฟนคลับผู้คลั่งใคล้อัสซานจ์ และเหตุผลที่ทำให้พวกเธอเรียกเพศสัมพันธ์กับอัสซานจ์ว่าเป็นการข่มขืนเพราะพวกเธอไม่เต็มใจที่เขามีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยาง

ไม่ว่าความจริงคืออะไร สิ่งหนึ่งที่หนังตั้งคำถามได้อย่างน่าสนใจคือ เมื่อบรรดาสาวกของอัสซานจ์แพร่ภาพระบุตัวตนของสองสาวนี้ไปตามเว็บไซต์ เพื่อกล่าวหาลากไส้ว่าพวกเธอชั่วช้าและถูกใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายอัสซานจ์อย่างไร โดยมีหลายโพสต์ที่ถูกเพิ่มเติมด้วยคำด่าทอหยาบคาย หรือตัดต่อราวกับพวกเธอเป็นปิศาจร้าย ก็น่าจะให้ความเห็นใจและเป็นธรรมต่อพวกเธอบ้าง
ส่วนในกรณีของพลทหารแมนนิง หนังได้สัมภาษณ์เอเดรียน ลาโม แฮ็คเกอร์ซึ่งรู้จักและสนิทสนมกับแมนนิงทางออนไลน์ เมื่อครั้งที่แมนนิงรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่อาจทนต่อความโหดเหี้ยมจากภาวะสงครามในแบกแดดได้ ลาโมจึงเป็นเพื่อนเพียงไม่กี่คนที่แมนนิงทวีตคุยและปรับทุกข์ด้วย
ซ้ำหนังยังตั้งคำถามต่อมาตรการการปกป้องแหล่งข่าวของอัสซานจ์ว่ารัดกุมเพียงพอหรือไม่ แล้วทำไมจึงปล่อยให้แหล่งข่าวเดือดร้อน จนแมนนิงถูกจับเข้าคุกตั้งแต่พฤษภาคม 2010 โดยถูกขังเดี่ยวในคุกทหารควนติโก ก่อนจะถูกย้ายไปที่ฟอร์ท ลีเวนเวิร์ธ ในข้อหาจารกรรมและให้ความช่วยเหลือแก่ศัตรู ซึ่งต้องรับโทษอีกอย่างน้อย 3 ปี แถมอัสซานจ์ยังได้หน้าไปคนเดียวเต็มๆ
ซึ่งกรณีการได้หน้าของอัสซานจ์นี้ เขาได้ตอบข้อสงสัยผ่าน “เดอะการ์เดียน” ว่า“ตอนแรกผมก็ใช้วิธี ‘นิรนาม’ เพราะไม่อยากให้อีโก้ของตัวเองมีอิทธิพลต่อเนื้อหาข่าว แนวทางนี้ผมได้มาจากกลุ่มนักคณิตศาสตร์ชาวฝรั่งเศสชื่อ The Bourbaki ที่ร่วมกันเขียนงานภายใต้ชื่อกลุ่มโดยไม่ระบุตัวตน ปัญหาคือ นโยบายนี้กลับทำให้คนยิ่งสงสัยว่าเราเป็นใครและกล่าวหาเอาผิดคนอย่างมั่วซั่ว สุดท้ายผมเลยคิดว่าต้องมีคนออกหน้าต่อสาธารณะ…ผมจึงยินดีเป็น ‘สายล่อฟ้า’ รับแรงปะทะทุกอย่าง และแน่นอนว่าในทางกลับกัน ผมก็ได้เครดิตอย่างมากด้วยเช่นกัน”
แต่ความจริงมีสองด้านเสมอ และแม้ความจริงนั้นจะมาจากสารคดีที่ตัวผู้กำกับอ้างว่าต้องการให้ข้อมูลทั้งสองฝั่งอย่างเป็นธรรม ความจริงอีกด้านหนึ่งที่ยังคงอยู่และปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เรื่องฉาวแปดเปื้อนส่วนตัวของอัสซานจ์ไม่ได้ทำให้ ‘ความจริง’ที่เขาเคยเปิดเผยเกี่ยวกับบรรดาชนชั้นปกครองในหลายประเทศซึ่งกระทำต่อพลเมืองของตนเองอย่างอยุติธรรมนั้นกลายเป็นเรื่อง ‘โกหก’
หมายเหตุ:
1) อเล็กซ์ กิบนีย์ เคยได้รางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมในปี 2008 จากTaxi to the Dark Side (2007) ซึ่งวิพากษ์การสอบสวนอย่างทารุณของทหารอเมริกัน ผ่านเรื่องราวของดิลาวาคนขับแท็กซี่ชาวอัฟกันอายุ 22 ปี ซึ่งถูกทรมานจนถึงแก่ความตายภายในคุกทหารอเมริกันที่อัฟกานิสถาน
2) ปีนี้จะมีหนังเกี่ยวกับจูเลียน อัสซานจ์ อีกเรื่องหนึ่งคือ The Fifth Estate (2013) กำกับโดย บิลล์ คอนดอน (ผู้กำกับ Kinsey, Dreamgirls) โดยผู้รับบทอัสซานจ์คือ เบเนดิกท์ คัมเบอร์แบทช์ (พระเอกซีรีส์ Sherlock)
3) ล่าสุดเมื่อ 21 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลทหารในอเมริกาได้ตัดสินแล้วว่าแบรดลีย์ แมนนิง มีโทษจำคุก 35 ปี