ThaiPublica > คอลัมน์ > 20 Feet from Stardom จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า?

20 Feet from Stardom จะไปเป็นดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า?

31 มีนาคม 2014


เหว่ยเฉียง

MV5BMTQxNDY2NjMwNF5BMl5BanBnXkFtZTcwNzExMDg0OQ@@._V1_SX214_

ไม่ใช่ประเด็นแปลกใหม่อีกต่อไปแล้ว สำหรับผล ‘พลิกโผ’ บนเวทีออสการ์ ที่มักจะไม่ถูกใจคนดูบางกลุ่ม โดยเฉพาะปีนี้ที่ถูกด่าหนักหน่อยก็คือสายสารคดี ซึ่งผู้ที่คว้าออสการ์ไปครองได้ก็คือ 20 Feet from Stardom สารคดีเกี่ยวกับนักร้องแบ็คอัพเรื่องนี้ชนะเฉือนหนังขวัญใจนักวิจารณ์และผู้ชมทั่วโลกอย่าง The Act of Killing (ที่ว่าด้วยการสังหารหมู่ชาวจีนในอินโดนีเซียตามนโนบายปราบปรามคอมมิวนิสต์ของอเมริกาในยุค 60s) ซึ่งมีประเด็นทางการเมืองแข็งแรงกว่า แต่กลับชวดรางวัลไปซะงั้น

ประกอบกับกติกาอย่างหนึ่งที่เปลี่ยนไปในสายสารคดี, แอนิเมชันขนาดสั้น และหนังสั้น ในปีนี้ก็คือ แต่เดิมการโหวตจะถูกจำกัดวงไว้ในหมู่กรรมการที่เคยดูหนังเรื่องนั้นๆ มาก่อนแล้วเท่านั้น แต่ปีนี้ทางสถาบันได้เปลี่ยนกฎใหม่กลายเป็นว่ากรรมการทุกคนในสาขาเหล่านี้จะได้รับแผ่นดีวีดีของหนังที่ติดโผในรอบแรกทั้ง 149 เรื่องกลับไปดูที่บ้าน ซึ่งภายหลังกรรมการบางส่วนออกมาแฉว่ามีมากกว่า 120 เรื่องที่ไม่ได้ถูกพูดถึงเลยในการตัดสินรอบแรก ซึ่งแปลว่ากรรมการซึ่งมีงานประจำอย่างอื่นหนักอึ้งอยู่แล้วไม่มีทางได้ดูหนังครบทุกเรื่อง รวมถึงหนังในรอบ 5 เรื่องสุดท้ายก็ล้วนมีแต่หนังเด่นๆ ดังๆ ที่กรรมการคุ้นชื่อเท่านั้น นั่นแปลว่าหนังด้อยๆ ที่อาจมีประเด็นแปลกใหม่น่าสนใจกว่าจะไม่เคยได้รับการพิจารณา รวมถึงบรรดากรรมการทั้งหลาย ก็คือกลุ่มชนชั้นนำในธุรกิจบันเทิงฮอลลีวูด ที่ไม่ค่อยจะใส่ใจในแง่มุมทางการเมืองสักเท่าไร

20-feet-from-stardom-review-photo

แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่สารคดีโลกสวยมีชัยชนะเหนือเนื้อหาทางการเมืองข้นคลั่ก เพราะย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว สมัยที่กติกาใหม่ยังไม่เกิดขึ้น กรณีคล้ายๆ กันนี้ยังเกิดขึ้นอยู่ดีกับ Searching for Sugar Man ที่ว่าด้วยนักร้องเม็กซิกันอเมริกันโนเนมในสหรัฐฯ แต่เพลงของเขากลับโด่งดังและจุดไฟแห่งการแสวงหาเสรีภาพในหมู่แฟนเพลงชาวแอฟริกัน ก็คว้าออสการ์มาได้ ขณะที่หนึ่งในหนังพลาดรางวัลกลับเป็น 5 Broken Cameras สารคดีที่ฉายภาพเหตุความขัดแย้งรุนแรงระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์

10f27singers2-463978

แต่ความจริงอันเจ็บปวดกว่านั้นก็คือ The Act of Killing กับ 20 Feet from Stardom ซึ่งมีทุนสร้างหนึ่งล้านเหรียญเท่าๆ กัน แต่เรื่องแรกทำรายได้ไปเพียง 484,221 เหรียญ ขณะที่เรื่องหลังกลับทำรายได้มากกว่าเป็นสิบเท่า คือ 4,934,900เหรียญ

20 Feet from Stardom กำกับโดย มอร์แกน เนวิลล์ เป็นสารคดีที่เข้าถึงได้ไม่ยาก ด้วยการเรียบเรียงบทสัมภาษณ์แสนจะธรรมดาเหมือนสารคดีทั่วๆ ไป แต่นั่นกลับยิ่งสร้างความเร้าใจและตื่นตาให้กับผู้ชม เมื่อบรรดานักร้องแบ็คอัพที่ปกติไม่เคยจะเป็นที่สนใจ กลับทำให้คนดูพบว่าน้ำเสียงของพวกเธอช่างทรงพลังและแสนเสนาะหู อันเป็นประเด็นสำคัญของหนังเรื่องนี้ที่ตั้งคำถามกับคนดูว่า ทำไมนักร้องผู้มากพรสวรรค์เหล่านี้ ที่บางทีถึงกับได้รับการยกย่องจากศิลปินตัวจริงด้วย และบางคนยังเป็นตัวผลักดันให้กับเพลงดังๆ บางเพลงได้แจ้งเกิด แต่ตัวนักร้องคอรัสเหล่านี้กลับไม่มีโอกาสแจ้งเกิดในฐานะศิลปินเดี่ยวกับเขาบ้างเลย

อาทิเช่น เมอร์รี เคลย์ตัน เจ้าของเสียงร้องแบ็คอัพในเพลง Gimme Shelter ของวงโรลลิง สโตนส์ ที่มีเนื้อหาว่าด้วยการเรียกร้องเสรีภาพ ซึ่งน้ำเสียงของนักร้องผิวสีรายนี้มีส่วนอย่างยิ่งในการเติมเต็มให้เพลงนี้สมบูรณ์ขึ้น และผลักดันให้เพลงนี้กลายเป็นอมตะ

100783_gal

หรือ ดาร์เลน เลิฟ ผู้เคยอยู่ในค่ายเพลงอันโด่งดังในยุค 60s และเสียงของเธอเคยถูกใช้เป็นแบ็คอัพให้กับเพลงฮิตมากมายจนติดชาร์ตในเวลานั้น รวมถึงหนึ่งในนั้นคือเพลง He’s a Rebel ที่เธอร้องนำให้กับวง The Crystals อันเคยฮิตติดชาร์ตอันดับหนึ่งในอเมริกันซิงเกิลในปี 1962 มาแล้ว แต่เลิฟกลับไม่เคยมีอัลบัมเดี่ยวเป็นของตัวเองเลย จนเธอต้องผิดหวังและหันหลังให้กับวงการเพลง กระทั่งเพลง Christmas (Baby please come home) ที่เธอเคยร้องเอาไว้เมื่อปี 1963 กลับมาฮิตอีกครั้งในยุคนี้ ชื่อของเธอถึงเพิ่งถูกขุดกลับมาแจ้งเกิดใหม่อีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมานี้เอง

รวมถึง จูดิธ ฮิลล์ ที่แม้จะพลาดท่าเคยถูกเตะออกในรอบ 8 คนสุดท้ายของรายการ The Voice ในอเมริกา แต่เธอก็เคยร่วมงานกับศิลปินดังๆ อีกเพียบ เช่น เอลตัน จอห์น, สตีวี วอนเดอร์ และคนทั่วโลกจดจำเธอได้จากการเป็นนักร้องในเพลง We are the World และ Heal the World ในพิธีไว้อาลัย ไมเคิล แจ็คสัน

271623-Film-Clip-apos-20-Feet-From-Stardom
หนังเทน้ำหนักไปที่นักร้องหญิงผิวสี ที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะนโยบายกีดกันพวกผิวสีในอดีต ที่ทำให้อเมริกันชนไม่ค่อยจะยอมรับนักร้องกลุ่มนี้สักเท่าไหร่ ขณะที่ก็มีการเปรียบเทียบกับนักร้องชายผิวสีอย่าง ลูเธอร์ แวนดรอสส์ ผู้เข้าสู่วงการด้วยการเป็นนักร้องแบ็คอัพให้กับ เดวิด โบวี แต่ต่อมาแวนดรอสส์กลับประสบความสำเร็จในฐานะตำนานเพลงอาร์แอนด์บีในยุคต่อมา

หนังตามไปสัมภาษณ์ศิลปินตัวจริงชื่อดังอีกหลายคน อาทิ มิก แจ็กเกอร์, เบตต์ มิดเลอร์ และบรูซ สปริงทีน เพื่อมายืนยันยกย่องฝีไม้ลายมือของบรรดานักร้องเบื้องหลังเหล่านี้ รวมถึง เชอรีล โครว์ หนึ่งในนักร้องแบ็คอัพเพียงไม่กี่รายที่ต่อมาประสบความสำเร็จในฐานะนักร้องเดี่ยว และได้รับการยอมรับว่ามีน้ำเสียงอันทรงพลัง พูดง่ายๆ ว่ามันคือสารคดีที่เรียบเรียงเอาประวัติศาสตร์เพลงของอเมริกามาโฟกัสที่กลุ่มนักร้องแบ็คอัพ ให้เห็นว่ามีนักร้องคุณภาพอีกมายมายที่ไม่เป็นที่รู้จัก แต่เป็นฟันเฟืองเล็กๆ ในการขับเคลื่อนและพัฒนาวงการเพลงของอเมริกันมาจนทุกวันนี้

และนอกจากสารคดีเรื่องนี้จะได้ออสการ์แล้ว มันยังเคยติดท็อปห้าอันดับสารคดียอดเยี่ยมของ National Board of Review, ชนะรางวัลขวัญใจคนดูที่ยกให้เป็นสารคดีที่ดีที่สุดของเทศกาลหนังสารคดีซานดิเอโก, สารคดียอดเยี่ยมจาก Critics Choice Award, สารคดียอดเยี่ยมในเทศกาลหนังนานาชาติซีแอตเติล, และเทศกาลสารคดีอัมสเตอร์ดัม และรางวัลอื่นๆ อีกยิบย่อยมากมาย

backing_2706719b

เหนือสิ่งอื่นใด มันคือหนังที่ปลุกแรงบันดาลใจให้กับผู้คนตัวเล็กตัวน้อย ที่แม้จะไม่ใช่ดาวโดดเด่นบนฟากฟ้า แต่ก็เป็นดาวดวงหนึ่งที่ขับเน้นดาวดวงอื่นๆ ให้เจิดจรัส ด้วยประโยคที่ว่า “ฉันคิดว่าความล้มเหลวคือเมื่อเราไม่รู้ว่าเราเป็นใคร และเราไม่สามารถจะยืนอยู่ตรงไหนได้เลยต่างหาก…คนเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน เราต่างมีพรสวรรค์ที่แตกต่างกัน หาคุณค่าของตัวคุณเองให้เจอ บางทีคุณอาจจะพบว่าอาจจะดีกว่าที่คุณได้ไปอยู่ในตำแหน่งอื่นที่ไม่ใช่ตัวหลัก แต่เป็นตัวเสริมให้เพลงนั้นมีความงดงามมากยิ่งขึ้น” (ตัวอย่างภาพยนตร์)