ThaiPublica > เกาะกระแส > ธนาคารโลกเปิดข้อมูลคนเอเชียตะวันออกย้ายถิ่นเกือบ 200 ล้านคนในช่วง 10 ปี แนะวิธีพัฒนาเมืองรับมือความหนาแน่น

ธนาคารโลกเปิดข้อมูลคนเอเชียตะวันออกย้ายถิ่นเกือบ 200 ล้านคนในช่วง 10 ปี แนะวิธีพัฒนาเมืองรับมือความหนาแน่น

26 มกราคม 2015


26 มกราคม 2558 – ธนาคารโลกออกรายงาน New Data to Help Ensure Urban Growth Benefits the Poor โดยระบุในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ประชากรเกือบ 200 ล้านคน ย้ายถิ่นฐานเข้ามาในเขตเมืองระหว่างปี 2543 – 2553 ตัวเลขนี้เทียบเท่ากับประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 6 ของโลก

สถิติของการขยายตัวพื้นที่เขตเมืองภูมิภาคเอเชียตะวันออก (2543 – 2553)

200 ล้านคน : จำนวนผู้ย้ายเข้ามาอยู่ใหม่ในเขตเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก – เทียบเท่ากับประชากรของประเทศที่มากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก
42 ล้านคน : จำนวนประชากรในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุกซึ่งเป็นเขตเมืองที่ใหญ่ที่สุดในโลก – มากกว่าประชากรของประเทศอาร์เจนตินา ออสเตรเลีย และแคนาดา รวมกัน
ร้อยละ 2.4 : อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของพื้นที่เขตเมือง
ร้อยละ 1 : สัดส่วนของพื้นที่เขตเมืองใน 2553
ร้อยละ 36 : ประชากรในพื้นที่เขตเมืองเมื่อ 2553 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29 เมื่อ 2543
869 : จำนวนพื้นที่เขตเมืองที่มีประชากรมากกว่า 100,000 คน

รายงานนี้เป็นการเปรียบเทียบข้อมูลระหว่างพื้นที่เขตเมืองและจำนวนประชากรของแต่ละพื้นที่ด้วยวิธีเดียวกันทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกครั้งแรก ซึ่งจะช่วยให้รัฐบาลและผู้นำท้องถิ่นสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางและขนาดของการเติบโตทางเศรษฐกิจดียิ่งขึ้น เพื่อที่จะสามารถพัฒนาพื้นที่เขตเมืองได้อย่างเหมาะสมและสร้างโอกาสให้กับทุกกลุ่ม

นายเอ๊กเซล แวน ทรอทเซนเบิร์ก รองประธานภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของกลุ่มธนาคารโลกกล่าวว่า“การพัฒนาเขตเมืองอย่างรวดเร็วเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออก เราจะไม่สามารถบริหารจัดการได้ดีหากเราไม่สามารถเข้าใจเรื่องนี้ได้ การเผยแพร่ข้อมูลเหล่านี้เพื่อผู้นำท้องถิ่นจะเข้าใจและผลักดันการพัฒนาเมืองให้เกิดประโยชน์แก่ประชากรที่ย้ายเข้ามาอยู่ในเขตเมืองมากขึ้น โดยเฉพาะคนจน”

ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากรายงานการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์เมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออก “การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา” ระบุว่า ภาพรวมพื้นที่เมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 2.4 ต่อปีในช่วงทศวรรษที่ทำการศึกษา โดยพื้นที่เขตเมืองมีขนาดเพิ่มขึ้นถึง 134,800 ตารางกิโลเมตรในปี 2553

ประชากรในเขตเมืองมีการเติบโตอย่างรวดเร็วที่ค่าเฉลี่ยร้อยละ 3 ต่อปี หรือเพิ่มขึ้นเป็นเป็นจำนวน 778 ล้านคนในปี 2553 นับว่าเป็นภูมิภาคที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขณะที่แหล่งข้อมูลอื่นได้ชี้ให้เห็นว่า ภูมิภาคยุโรปต้องใช้เวลากว่ากว่า 50 ปีเพื่อให้มีจำนวนประชากรในเขตเมืองที่เท่ากันนี้

นอกจากนี้ รายงานยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการพัฒนาเขตเมืองและการเพิ่มขึ้นของรายได้ รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าผลผลิตทางเศรษฐกิจต่อหัวของประชากรในภูมิภาคมีการเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของประชากรที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง

รายงานนี้พบว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่มีเมืองจำนวน 869 แห่งที่มีประชากรมากกว่า 100,000 คน นอกจากนี้ยังมีมหานครอีก 8 แห่งที่มีประชากรกว่า 10 ล้านคน อาทิ พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำไข่มุก เซียงไฮ้ กรุงปักกิ่ง ในประเทศจีน กรุงโตเกียว และโอซาก้าในญี่ปุ่น และกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย กรุงโซล ประเทศเกาหลี และกรุงมะนิลา ประเทสฟิลิปปินส์ ปัจจุบันพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ลในจีนได้แซงหน้ากรุงโตเกียวและกลายเป็นเมืองที่มีขนาดและประชากรมากที่สุดในโลกแล้ว

ในขณะเดียวกัน รายงานนี้ยังได้ระบุถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่เมืองขนาดเล็กอย่างมีนัยสำคัญ โดยเมืองขนาดเล็กที่สุดที่มีประชากรระหว่าง 100,000 ถึง 500,000 คนมีจำนวน 572 แห่ง และเมืองขนาดกลางมีประชากรระหว่าง 1-5 ล้านคนมีจำนวน 106 แห่ง ซึ่งเมืองทั้งหมดนี้มีพื้นที่รวมกันมากกว่ามหานครทั้ง 8 แห่ง รวมกัน

ข้อสังเกตประการหนึ่งเกี่ยวกับการขยายตัวดังกล่าวคือ การพื้นที่เขตเมืองโดยเฉลี่ยมีความหนาแน่นสูงขึ้น หากมีการบริหารจัดการที่ดีแล้ว ความหนาแน่นนี้สามารถเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม และสามารถทำให้เกิดการให้บริการแก่ประชากรในเขตเมืองนี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี ยังมีความท้าทายในเรื่องการกระจายตัวของเมืองใหญ่ ซึ่งมีพื้นที่เขตเมืองกว่า 350 แห่งซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น ในบางพื้นที่ก็มีการควบรวมหน่วยงานท้องถิ่นในเขตเมืองให้เป็นหน่วยงานเดียว แต่ยังคงให้มีการบริหารจัดการที่แยกกันอยู่

ในขณะที่การพัฒนาเขตเมืองได้เปลี่ยนภาพลักษณ์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกนั้น ความพยายามของรัฐบาลและผู้นำท้องถิ่นที่จะทำความเข้าใจและตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ชะงักลงเนื่องจากขาดข้อมูลที่สามารถเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ และแต่ละประเทศได้นิยามพื้นที่เขตเมืองและประชากรที่แตกต่างกันไป

ข้อมูลชุดใหม่จากรายงานนี้ถูกรวบรวมขึ้นเพื่อแก้ไขความท้าทายข้างต้นโดยการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมและเทคนิคการสร้างแบบจำลองการกระจายตัวประชากร การทำแผนที่การตั้งถิ่นฐานของประชากรเพื่อบรรลุความเข้าใจร่วมกันเรื่องทิศทางการพัฒนาเขตเมือง โดยแนวทางดังกล่าวสามารถระบุได้ว่า บริเวณใดที่จะเกิดเป็นเขตเมือง ความรวดเร็วของการเติบโต และอัตราการเติบโตของประชากรที่สืบเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของพื้นที่เขตเมืองได้อย่างเป็นระบบ

นางมาริเซลา มอนโทลิว มูโนซ ผู้อำนวยการกลุ่มงานแนวทางการปฏิบัติสากลด้านการพัฒนาสังคม เมือง ชนบท และความยั่งยืน ของกลุ่มธนาคารโลก กล่าวว่า“เมื่อเมืองได้ถูกสร้างขึ้นแล้ว ผังเมืองและรูปแบบการใช้พื้นที่จะคงอยู่ในรูปแบบเดิมไปหลายชั่วอายุคนการพัฒนาคุณภาพของข้อมูลเพื่อให้สามารถเข้าในทิศทางการขยายตัวของพื้นที่เขตเมืองเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายสามารถตัดสินใจในการสนับสนุนการพัฒนาชุมชนที่ยั่งยืนภายใต้สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยประชาชนต้องสามารถเข้าถึงบริการภาครัฐ มีงานทำ และมีที่พักอาศัยได้ดียิ่งขึ้น”

แม้เขตเมืองจะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วดังที่กล่าวข้างต้น หากข้อมูลแสดงให้เห็นว่ามีเพียงน้อยกว่าร้อยละ 1 ของพื้นที่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกที่จัดว่าเป็นเขตเมือง และมีประชากรเพียงร้อยละ 36 ที่อาศัยอยู่ในเขตเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการพัฒนาเขตเมืองของภูมิภาคนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น

อนึ่ง แม้ว่าการพัฒนาเขตเมืองส่วนใหญ่จะเป็นไปตามกลไกตลาด ผู้กำหนดนโยบายในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นต่างมีบทบาทสำคัญเพื่อให้การพัฒนามีความยั่งยืนและเป็นไปอย่างทั่วถึง ดังนี้

1.เตรียมการสำหรับการขยายพื้นที่ในอนาคต โดยการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงที่ดินเพื่อให้การขยายตัวของเมืองเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้กลไกต่างๆ เช่น แผนการพัฒนาพื้นที่ การใช้ประโยชน์ร่วมกันและการปรับเปลี่ยนเขตแดน การแบ่งปันที่ดิน และการโอนกรรมสิทธิ์ในการพัฒนาที่ดิน

2.ทำให้การพัฒนาในเขตเมืองเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ โดยการวางแผนการพัฒนาเมืองด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์ระดับชาติสำหรับการพัฒนาเขตเมือง การสนับสนุนด้วยการลงทุนภาครัฐทั้งในเมืองใหญ่ เมืองขนาดกลาง และเมืองขนาดเล็ก เพื่อส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หลากหลาย

3.ทำให้การพัฒนาเขตเมืองมีการลดความเหลื่อมล้ำ โดยการวางแผนการพัฒนาเชิงพื้นที่เพื่อลดความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และลดความเปราะบางของผู้ย้ายถิ่นเข้ามาใหม่

4.ส่งเสริมการพัฒนาเขตเมืองอย่างยั่งยืน โดยการจัดวาง วางผัง และประสานงานให้เขตเมืองที่มีความหนาแน่นของประชากรสูงมีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตของประชาชน

5.แก้ไขปัญหาด้านการขาดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการเขตเมือง โดยการประสานงานการให้บริการในเขตเมืองระหว่างหน่วยงานท้องถิ่นโดยผ่านการใช้อำนาจของหน่วยงานภาครัฐในระดับภูมิภาคและกลไกการบริหารอื่นๆ

นายอาบาซ จาฮ์ ผู้จัดการกลุ่มงานแนวทางการปฏิบัติสากลด้านการพัฒนาสังคม เมือง ชนบท และความยั่งยืน ของกลุ่มธนาคารโลก กล่าวเพิ่มเติมว่า“การพัฒนาให้เกิดรูปแบบเมือง ความหนาแน่นของประชากร และการประสานงานด้านการบริหารจัดการที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการลดความยากจนและการเพิ่มความมั่งคั่งโดยรวมของสังคม”

อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ http://www.worldbank.org/eap/MeasuringUrbanExpansion และดูแผนที่และดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ Puma.worldbank.org