ThaiPublica > เกาะกระแส > รายงานธนาคารโลกประเมินประชากรวัยทำงานไทยหด 30% ปี 2603 สัดส่วนคนสูงวัยเพิ่ม 31%

รายงานธนาคารโลกประเมินประชากรวัยทำงานไทยหด 30% ปี 2603 สัดส่วนคนสูงวัยเพิ่ม 31%

29 มิถุนายน 2021


วันที่ 29 มิถุนายน 2564 ธนาคารโลกเผยแพร่รายงาน Aging and The Labour Market in Thailand ที่ระบุว่า ตลาดแรงงานของประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายหลายประการด้วยกัน

รายงานระบุว่า แรงงานไทยมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานน้อยลง เนื่องจากการย้ายงานของแรงงานออกจากภาคเกษตรกรรมที่ให้ผลผลิตต่ำมีแนวโน้มชะลอตัวลงและแรงงานนอกระบบที่พบเห็นได้โดยทั่วไป การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้เกิดแนวโน้มดังกล่าว นอกจากนี้แรงงานในประเทศไทยยังไม่ได้เปลี่ยนไปยังประเภทของงานลักษณะไม่ประจำ(non-routine tasks) หรืองานที่ต้องใช้ทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคล (interpersonal communication) ซึ่งจะช่วยผลักดันไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยความรู้มากยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน แรงงานหญิงมีสัดส่วนต่ำกว่าแรงงานชายถึงร้อยละ 20 ซึ่งเป็นช่องว่างที่มีอยู่มานานถึงสองทศวรรษ ทั้งนี้ความจำเป็นในเรื่องของการดูแลประชากรสูงอายุที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอาจสร้างแรงกดดันให้กับผู้หญิงวัยทำงานมากขึ้น โดยสัดส่วนแรงงานผู้สูงอายุที่สูงขึ้นในพื้นที่ชนบทได้สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องทำงานให้นานขึ้นเพื่อเลี้ยงชีพแม้ว่าจะได้รับเงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดแล้วก็ตาม

ผู้สูงอายุต้องเผชิญกับความท้าทายหลายๆ ด้านในตลาดแรงงาน ผู้สูงอายุมักเป็นผู้ที่มีภาระหน้าที่ที่ต้องดูแล แม้จะมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพที่ดีกว่าในอดีต แต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาด้านสุขภาพ รายงานฉบับนี้ได้นำข้อมูลที่ได้จากผลสำรวจเศรษฐกิจและสังคมมาวิเคราะห์ให้เห็นว่าปัจจัยเหล่านี้มีความสัมพันธ์ต่อสัดส่วนแรงงานผู้สูงอายุที่ลดลง นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นด้วยว่าเงินบำนาญสมทบของประเทศไทยไม่ได้สร้างแรงจูงใจต่อแรงงานผู้สูงอายุให้เข้ามามีส่วนร่วมในตลาดแรงงาน อย่างไรก็ตามเงื่อนไขความคุ้มครองของเงินบำนาญที่มีอัตราต่ำไม่ได้ส่งผลต่อความกังวลที่มีในเรื่องนี้โดยตรง ความพอเพียงของเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุซึ่งเป็นเงินบำนาญสังคมยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อแรงจูงใจในการทำงานได้

นอกจากนี้ รายงานมีการนำเสนอประเด็นที่ควรให้ความสำคัญด้านความพร้อมของผู้สูงอายุต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อการทำงานปัจจุบันและอนาคต การวิเคราะห์ความเข้มข้นของงานแสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุยังไม่ได้ทำงานในอนาคตที่เน้นการใช้ทักษะในการคิดวิเคราะห์ (cognitive skills) มากขึ้น และอาศัยทักษะด้านแรงงาน (Manual skills) น้อยลง ในขณะที่เยาวชนกำลังเปลี่ยนจากการทำงานประจำซึ่งเป็นที่ต้องการในอดีตไปทำงานในสายอาชีพที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่คนที่อยู่ในวัยทำงานซึ่งจะเป็นคนที่มีอายุมากในอนาคตอันใกล้นี้ กลับยังคงทำงานประจำอยู่มากขึ้นในขณะที่ความต้องการลดลง

ความซับซ้อนของตลาดแรงงานเกิดจากจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งหมายถึงจำนวนแรงงานที่จะมีจำนวนน้อยลงในอนาคต

สัดส่วนของประชากรวัยทำงานในไทยคาดว่าจะลดลงจากร้อยละ 71 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 56 ในปี 2603 ซึ่งเทียบเท่ากับการลดลงของประชากรวัยทำงานเกือบถึงร้อยละ 30 ซึ่งเป็นสัดส่วนการลดลงที่มากที่สุดเป็นอันดับสามในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิก รองจากญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี

ในขณะเดียวกันสัดส่วนของประชากรวัย 65 ปีขึ้นไป ก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 13 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 31 ในปี 2603 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 22 ของโลก จำนวนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วโดยประชากรวัย 65 ปีขึ้นไปในประเทศไทยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าระหว่างปี 2543 ถึงปี 2563 และจะเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าในปี 2583 เป็นร้อยละ 26 ของประชากรทั้งหมด

ในบรรดาประเทศที่มีประชากรสูงวัยอยู่ในระดับเดียวกัน ประเทศไทยมีความมั่งคั่งน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ทำให้มีทรัพยากรที่จะช่วยจัดการกับความท้าทายของสังคมผู้สูงวัยน้อยกว่า ประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีรายได้ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ และบทวิเคราะห์ในรายงานแสดงให้เห็นว่า ในทุกช่วงอายุของผู้สูงวัยในประเทศไทยนั้น มี GDP ต่อหัวต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก กลุ่มประเทศเศรษฐกิจเก่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียแปซิฟิก อย่างเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเกาหลี และประเทศสิงคโปร์นั้น มี GDP ต่อหัวอยู่ที่ประมาณ 41,000 ดอลลาร์ (เปรียบเทียบความเสมอภาคของอำนาจการซื้อในสกุลเงินดอลลาร์สากลในปี 2554) ซึ่งมีอัตราส่วนการพึ่งพาของผู้สูงอายุอยู่ในระดับเดียวกันกับประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งมากกว่าระดับ GDP ต่อหัวของประเทศไทยในปัจจุบันถึงสองเท่า

ภาวะประชากรสูงวัยส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดแรงงานไทยและการพัฒนาเศรษฐกิจโดยรวม จำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงของประเทศไทยส่งผลให้รายได้เฉลี่ยของบุคคลในประเทศเติบโตลดลง และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร คาดการณ์ว่าจะส่งผลให้การเติบโตของ GDP ต่อหัวลดลงอีกร้อยละ 0.86 ในทศวรรษ 2020 ซึ่งสามารถส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างมาก

นอกจากนี้รายงานยังระบุว่า หากอัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานนั้นคงที่ตามอายุและเพศแล้ว โครงสร้างประชากรของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปโดยคาดการณ์ว่าจะส่งผลให้อัตราการมีส่วนร่วมของแรงงานโดยรวมจะลดลงประมาณร้อยละ 5 ระหว่างปี 2563 ถึงปี 2603 และจำนวนแรงงานลดลงถึง 14.4 ล้านคน ทั้งนี้จำนวนแรงงานที่ลดลงอาจส่งผลให้ประเทศอยู่ในภาวะขาดแคลนแรงงานซึ่งอาจขัดขวางโอกาสในการเติบโตของประเทศไทยได้ อย่างไรก็ตามการนำเทคโนโลยีออโตเมชั่น และเทคโนโลยีอื่นๆ ในอุตสาหกรรม 4.0 เข้ามาใช้ อาจช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานได้บางส่วน ในขณะที่ผลกระทบต่อประเทศอื่นๆ อาจทวีความรุนแรง เนื่องจากความต้องการแรงงานที่มีทักษะความชำนาญในด้านนี้เพิ่มมากขึ้น

เราสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบเชิงลบที่เกิดจากภาวะประชากรสูงวัยได้ โดยสร้างการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงานในประชากรทุกช่วงวัย การเกิดภาวะประชากรสูงวัยไม่ใช่เรื่องของผู้สูงวัยเท่านั้น ด้วยเหตุที่ว่าสาเหตุของภาวะประชากรสูงวัยและวิธีการรับมือนั้นเชื่อมโยงกับการดำเนินการและนโยบายที่มีผลกระทบต่อคนทุกวัย

การเพิ่มอุปทานแรงงานของประเทศไทย สามารถชดเชยจำนวนแรงงานที่หดตัวลงอันเนื่องมาจากภาวะประชากรสูงวัยได้ อายุขัยของประชากรที่เพิ่มขึ้นหมายความว่าผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะสามารถทำงานได้นานขึ้น ช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างจำนวนแรงงานชายและหญิง หมายถึงโอกาสในการเพิ่มแรงงานสตรีเข้ามาในตลาดแรงงาน แรงงานข้ามชาติได้เข้ามาเติมเต็มช่องว่างในตลาดแรงงานของประเทศไทยได้ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาและอาจเป็นเช่นนี้ในอนาคตด้วยเช่นกัน

แบบจำลองที่นำมาใช้ในรายงานนี้ชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มอุปทานแรงงาน สามารถชดเชยผลกระทบเชิงลบบางประการของภาวะประชากรสูงวัยได้ การจำลองสถานการณ์ต่างๆ ของการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานและการย้ายถิ่นแสดงให้เห็นว่า อัตราการมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานของผู้สูงอายุและสตรีที่สูงขึ้นและระบบการย้ายถิ่นแบบเสรีจะสามารถเพิ่มอุปทานแรงงานของประเทศไทยได้ในระยะยาวเมื่อเทียบกับการคาดการณ์ในปัจจุบันภายใต้ภาวะประชากรสูงวัย การอพยพย้ายถิ่นแบบเสรีและการเพิ่มขึ้นของการใช้แรงงานสตรีจะช่วยเพิ่มอุปทานแรงงานได้ดีที่สุด

อย่างไรก็ตามจำนวนแรงงานของประเทศไทยก็ยังคงลดลงตามอายุของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งหมายความว่าแรงงานจำเป็นจะต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จำนวนแรงงานที่น้อยลงจำเป็นต้องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อรักษาและยกระดับมาตรฐานการครองชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราการเกิดลดลง ต้องอาศัยการลงทุนอย่างมากในทุนมนุษย์ การเพิ่มอัตราการออม และเพิ่มสัดส่วนของทุนต่อแรงงาน (capital deepening) รวมถึงการรับเอาเทคโนโลยีที่ประหยัดแรงงานมาใช้เพื่อชดเชยการขาดแคลนแรงงาน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ต้องอาศัยทุนมนุษย์ที่เหมาะสมเพื่อเติมเต็มการลงทุนทางกายภาพ

นโยบายสามารถช่วยจัดการกับความท้าทายของภาวะประชากรสูงวัยได้ นโยบายสามารถช่วยกระตุ้นให้แรงงานผู้สูงอายุ สตรีและแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงานในตลาดแรงงานมากขึ้น และผู้กำหนดนโยบายสามารถส่งเสริมให้เกิดการลงทุนเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพในการทำงานของแรงงานทั้งในปัจจุบันและอนาคต ที่สำคัญผู้กำหนดนโยบายยังสามารถจัดการความท้าทายของภาวะประชากรสูงวัยและสร้างโอกาสใหม่ๆ โดยพุ่งเป้าไปที่ภาคการดูแล และ“เศรษฐกิจผู้สูงวัย”

  • นโยบายในการขยายอายุการทำงาน สามารถกำหนดเป้าหมายไปที่ผู้สูงอายุในเขตเมืองซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกษียณอายุก่อนวัยมากกว่าผู้สูงอายุที่อยู่ในชนบท นโยบายเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายเฉพาะคนที่มีอายุอยู่ในวัยหรือต่ำกว่าวัยเกษียณเท่านั้น แต่ยังรวมถึงคนในวัยทำงานซึ่งทำงานในอาชีพที่ไม่เป็นที่นิยมเพื่อให้พวกเขาสามารถยังคงทำงานต่อไปเมื่ออายุเพิ่มมากขึ้น
  • นโยบายการเพิ่มการใช้แรงงานสตรี สามารถกระตุ้นโดยตรง เช่น จัดให้มีโครงการฝึกอบรมแรงงานหญิงที่แยกตามกลุ่มอาชีพ และกระตุ้นในทางอ้อม ผ่านการเพิ่มความมั่นคงทางรายได้ของผู้สูงอายุและการให้สิทธิ์ลาคลอดเพื่อเลี้ยงดูบุตร
  • การพัฒนาระบบการย้ายถิ่น จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะขั้นต่ำและขั้นสูงได้ การทำแผนหรือยุทธศาสตร์การย้ายถิ่นระดับชาติจะช่วยให้สามารถกำหนดนโยบายการย้ายถิ่นได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถปรับปรุงระบบการย้ายถิ่น โดยอนุญาตให้ย้ายถิ่นฐานได้ยาวนานขึ้นรองรับการทำงานของแรงงานข้ามชาติในประเทศที่มีผลิตภาพในการทำงานสูง และจูงใจให้เกิดการย้ายถิ่นของแรงงานที่มีทักษะสูง
  • การส่งเสริมให้มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต จะช่วยกระตุ้นการเพิ่มผลิตภาพที่จำเป็นในขณะที่ประชากรวัยทำงานลดลง โดยสามารถพัฒนาแนวทางใหม่ๆ ในการศึกษาด้านเทคนิค วิชาชีพ และการฝึกอบรม ตลอดจนการฝึกอบรมนอกระบบ (nonformal training) ที่เน้นอบรมตามความต้องการของผู้เรียนแต่ละคนและมีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ การให้เงินอุดหนุนตามผลการเรียน (Performance-based financing) และการให้เงินอุดหนุนผู้เรียน (learner-targeted subsidies) ก็เป็นแนวทางสำคัญที่ต้องคำนึงถึง
  • สร้างโอกาสจากการที่ประเทศกำลังก้าวเข้าสู่ภาวะประชากรสูงวัย โดยจัดฝึกอบรมแรงงานในภาคการดูแล โดยเฉพาะแรงงานที่ว่างงานและแรงงานที่เปราะบาง และส่งเสริมการลงทุนในภาคบริการสำหรับผู้สูงอายุในประเทศและจากต่างประเทศ