ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มหากาพย์นำเข้ารถหรู (3): ศุลกากรค่อนกรม “ไม่สงสัย” ผู้นำเข้าแจ้งราคาต่ำ เร่งตั้งศูนย์ข้อมูลกลางบีบพ่อค้ารถ – WTO ชี้ขัดหลัก GATT

มหากาพย์นำเข้ารถหรู (3): ศุลกากรค่อนกรม “ไม่สงสัย” ผู้นำเข้าแจ้งราคาต่ำ เร่งตั้งศูนย์ข้อมูลกลางบีบพ่อค้ารถ – WTO ชี้ขัดหลัก GATT

31 มกราคม 2015


ตอนที่แล้ว สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า นำเสนอ “ต้นตอของปัญหานำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำ” ทำไมนายตรวจศุลกากรทั่วประเทศจึงตรวจปล่อยรถหรูปีละหลายพันคันผ่านด่านศุลกากรโดยปราศจากข้อสงสัยว่าผู้นำเข้าสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ต้นตอของปัญหามาจากคำสั่งศุลกากรที่ 317/2547 เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรเลือกได้ “สงสัย” หรือ “ไม่สงสัย” อยู่ที่ดุลยพินิจศุลกากร

ถ้าเจ้าหน้าที่สงสัยว่าราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงไม่ใช่ราคาซื้อ-ขายจริง ต้องนำราคานั้นเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ราคาแกตต์ 6 วิธี ทำให้นายตรวจศุลกากรที่อยู่หน้างาน (front office) ตัดความวุ่นวาย เพราะไม่ต้องการมีปัญหากับขบวนการนำเข้ารถหรู จึงเลือกใช้สิทธิไม่สงสัยผู้นำเข้าแจ้งราคาต่ำ ตามที่กำหนดในคำสั่งศุลกากรที่ 317/2547 ส่งผลทำให้ระเบียบและแนวปฏิบัติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาราคา อาทิ ระเบียบกรมศุลกากรที่ 2/2550 คำสั่งทั่วไปกรมศุลกากรที่ 28/2552 ไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ เพราะสาระสำคัญของระเบียบปฏิบัติเหล่านี้ เน้นตรวจสอบราคาสำแดงเฉพาะกรณีที่เจ้าหน้าที่สงสัยเท่านั้น

ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จึงไม่มีเจ้าหน้าที่ศุลกากรคนใด “สงสัย” ผู้นำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำกว่าความเป็นจริง ไม่มีการนำราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ราคาตามหลักการแกตต์ หรือสั่งให้ผู้นำเข้ารถหรูวางหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่ากับจำนวนภาษีสูงสุดที่ต้องชำระ ก่อนตรวจปล่อยรถออกจากด่านศุลกากร

นอกจากนายตรวจที่อยู่หน้างานแล้ว อธิบดีกรมศุลกากรเกือบทุกสมัยมีการวางระบบบริหารความเสี่ยงด้านราคา กำหนดบทบาทภารกิจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในสังกัด อาทิ ด่านศุลกากรทุกแห่ง ต้องตรวจสอบราคาที่ผู้นำเข้าสำแดง ภายหลังการอนุมัติตรวจปล่อยสินค้าภายใน 30 วัน หรือที่เรียกว่า “post review” และ กำหนดให้สำนักตรวจสอบอากร (สตอ.) ทำหน้าที่ post audit มีอำนาจตรวจสอบราคาสินค้านำเข้าย้อนหลังได้อีก 10 ปี ถัดจาก 2 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบราคาแล้ว อธิบดีกรมศุลกากรยังมอบหมายให้สำนักสืบสวนและปราบปราม (สสป.) ทำหน้าที่เสมือนตำรวจกองปราบปราม เข้าไปตรวจสอบการกระทำความผิดตามกฎหมายศุลกากรทุกรูปแบบ

แนวทางแก้ปัญหารถหรู

ภายหลังจากนายตรวจศุลกากรอนุมัติตรวจปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากรโดยไม่มีข้อสงสัยว่าผู้นำเข้าสำแดงราคาต่ำ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นคือ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ post review และ post audit ก็ไม่มีใครติดใจสงสัยเช่นเดียวกับนายตรวจศุลกากร จนกระทั่ง พ.ต.อ.ดุษฎี อารยวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) สรุปผลสอบข้อเท็จจริงกรณีนำเข้ารถหรูส่งให้นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อดีตอธิบดีกรมศุลกากร ตั้งกรรมการ “สอบวินัยข้าราชการกรมศุลกากร 108 คน” ฐานพัวพันขบวนการนำเข้ารถหรู กรมศุลกากรแต่งตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงต่อจาก ป.ป.ท. อีกครั้ง สุดท้ายเหลือเพียงนายตรวจศุลกากร 27 คน ต้องรับโทษทางวินัยขั้นร้ายแรง

ทั้งนี้กรณีนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำเริ่มมีปัญหาตั้งแต่ปี 2547 แต่ไม่เป็นปัญหามากนัก จนกระทั่งช่วงปี 2552-2553 ผู้นำเข้าหลายรายมองเห็นช่องโหว่ของกฎหมาย และระเบียบกรมศุลกากรที่ไม่รัดกุมและชัดเจน บริษัทตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อิสระเกิดขึ้นถึง 110 บริษัท จากเดิมมีไม่ถึง 10 บริษัท ใช้เทคนิคสำแดงราคาต่ำ หลบเลี่ยงภาษีนำเข้า ภาษีสรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม ตั้งราคาขายหน้าโชว์รูมในราคาถูกผิดปกติ จนทำให้ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หรูที่ถูกต้องขายรถยนต์ไม่ได้ ร้องเรียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กดดันให้นายสมชัย สัจจพงษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากรเป็นสมัยแรก ต้องออกมาตรการแก้ไขปัญหาขบวนการนำเข้ารถหรูสำแดงราคาต่ำ

จากการตรวจสอบสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้น พบว่า นายตรวจศุลกากรที่ประจำอยู่ตามด่านศุลกากรทั่วประเทศ ตรวจปล่อยรถหรูยี่ห้อเดียวกัน-รุ่นเดียวกัน ออกจากด่านศุลกากร ปรากฏราคาแตกต่างกันมาก ด่านศุลกากรแห่งไหนยอมรับราคาสำแดงต่ำ ผู้นำเข้ารถหรูก็จะแห่ไปยื่นใบขนสินค้าที่ด่านนั้น ต้นตอของปัญหานี้เกิดจากนายตรวจศุลกากรที่อยู่หน้างานไม่มีฐานข้อมูลกลางเพื่อใช้ในการตรวจสอบวิเคราะห์เปรียบเทียบ “ราคาศุลกากร” ที่ด่านศุลกากรแห่งอื่นยอมรับและตรวจปล่อยรถหรูออกจากด่าน

วันที่ 29 มิถุนายน 2553 ที่ประชุมคณะกรรมการกรมศุลกากร ครั้งที่ 2/2553 ซึ่งมีอธิบดีกรมศุลกากรเป็นประธานฯ จึงมีมติให้สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ (สทก.) จัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการสำแดงราคา และการประเมินภาษีอากรรถยนต์นำเข้ากรมศุลกากร โดยสั่งการให้ทุกหน่วยงานที่ยอมรับราคารถหรูตามที่ผู้นำเข้าสำแดงเป็น “ราคาศุลกากร” บันทึกข้อมูลลง intranet พร้อมจัดส่งสำเนาหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาราคาศุลกากรให้ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการสำแดงราคาภายใน 5 วันทำการ นับจากวันที่อนุมัติราคาตรวจปล่อยรถออกจากด่าน โดยให้นายตรวจศุลกากรทั่วประเทศใช้เป็น “ราคาอ้างอิง” หรือ “ราคาขั้นต่ำ” พิจารณากำหนดเป็นราคาศุลกากร เพื่อใช้คำนวณภาษี โดยข้อมูลราคาดังกล่าวนี้จะปรากฏบนหน้าจอ “ข่าวประจำวัน” ในหัวข้อ “ข่าวศูนย์ควบคุมราคารถยนต์-ผลการพิจารณาราคาของสำนัก…” (ชื่อสำนัก)

หากเจ้าหน้าที่ศุลกากรหน่วยงานใด ยอมรับราคาที่สำแดงเป็นราคาศุลกากรต่ำกว่าราคาอ้างอิงหรือราคาขั้นต่ำ ตามที่ปรากฏในฐานข้อมูลของศูนย์ควบคุมมาตรฐานการสำแดงราคาฯ นายตรวจศุลกากรต้องทำเรื่องพร้อมระบุเหตุผลความจำเป็นที่ต้องยอมรับราคาสำแดงต่ำ เสนอให้ผู้อำนวยการสำนักหรือนายด่านศุลกากรลงนามอนุมัติตรวจปล่อยรถเท่านั้น และถ้าหากหน่วยงานใดยอมรับราคาโดยไม่สอดคล้องกับคำสั่งศุลกากรที่ 317/2547 หรือไม่นำข้อมูลราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงบันทึกลงใน intranet รวมทั้งไม่ส่งข้อมูลราคาให้ศูนย์ฯ หรือถือว่าปกปิดข้อมูล มีความผิดทางวินัยข้าราชการ ตามมาตรา 83 (1) 84 และ 85 (7) แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน 2551

และในกรณีที่เจ้าหน้าที่ศูนย์ควบคุมมาตรฐานการสำแดงราคาฯ ตรวจสอบราคาแล้วมีประเด็นข้อสงสัยผู้นำเข้าสำแดงราคาต่ำ ให้แจ้งสำนักสืบสวนและปราบปรามเข้ามาตรวจสอบร่วมกัน หรือรายงานกรมศุลกากรเพื่อมอบหมายให้สำนักตรวจสอบอากรตรวจสอบเอกสารผู้นำเข้าต่อไป

หลังจากกรมศุลกากรสร้างฐานข้อมูลราคารถยนต์เสร็จเรียบร้อย นายตรวจศุลกากรก็เริ่มมองเห็นภาพรวมราคารถยนต์ทั่วประเทศ และมีหลักในการพิจารณากำหนดราคาสำแดงเป็น “ราคาศุลกากร” ก่อนอนุมัติตรวจปล่อยรถหรูออกจากด่านศุลกากร นายตรวจศุลกากรจะเปิดดูข้อมูลราคาจาก “ข่าวศูนย์ควบคุมราคารถยนต์-ผลการพิจารณาของสำนัก…” ใน intranet ตรวจสอบดูว่าด่านศุลกากรทั่วประเทศหรือด่านข้างเคียงยอมรับราคาที่ผู้นำเข้าสำแดงและตรวจปล่อยรถหรูยี่ห้อเดียวกัน-รุ่นเดียวกันในราคาเท่าไหร่ นำมาเปรียบเทียบกับราคาที่ผู้นำเข้ารถหรูสำแดงในใบขนสินค้า

ปรากฏว่าในช่วงระยะเริ่มต้น นายตรวจศุลกากรไม่กล้าอนุมัติตรวจปล่อยรถหรู กรณีผู้นำเข้าสำแดงราคาต่ำกว่าราคาอ้างอิงหรือราคาขั้นต่ำ ยกตัวอย่าง ด่านศุลกากรอื่นเคยยอมรับราคาสำแดงเป็นราคาศุลกากรที่ 100 บาท แต่ผู้นำเข้าสำแดงราคาในใบขนสินค้าแค่ 70 บาท หากยอมรับราคาสำแดงที่ 70 บาท นายตรวจศุลกากรต้องระบุเหตุผลเสนอนายด่านศุลกากรอนุมัติ และบันทึกข้อมูลลง intranet เพื่อเป็นหลักฐานให้ศุลกากรทั่วประเทศช่วยกันตรวจสอบ หากไม่สมเหตุสมผล ทั้งนายตรวจและนายด่านศุลกากรอาจจะถูกตั้งกรรมการสอบวินัยได้

ที่ผ่านมาจึงไม่มีนายตรวจศุลกากรคนไหนเลือกใช้วิธีการดังกล่าวนี้ หันไปใช้วิธีการเจรจา ขอให้ชิปปิ้ง หรือผู้นำเข้า ปรับเพิ่มราคาสำแดงให้เท่ากับหรือมากกว่าราคาอ้างอิงของศูนย์ควบคุมมาตรฐานการสำแดงราคาฯ ผู้นำเข้ารถหรูที่สำแดงราคาต่ำอยู่แล้วไม่อยากวุ่นวายถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนเพิ่ม ต้องจัดหาพยานเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องมายืนยันราคาจนกว่าเจ้าหน้าที่ศุลกากรจะพอใจ แถมยังเสี่ยงถูกกรมศุลกากรตรวจสอบภาษีย้อนหลัง จึงต้องยอมรับราคาอ้างอิงของศูนย์ควบคุมมาตรฐานการสำแดงราคาฯ เป็นราคาศุลกากร ส่งผลทำให้ด่านศุลกากรทั่วประเทศที่เคยยอมรับราคารถหรูต่ำ ทยอยปรับราคาที่สำแดงในใบขนสินค้าเพิ่มขึ้น ตรวจปล่อยรถหรูออกด่านในราคามาตรฐานเดียวกัน และราคามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง วันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อิสระ ร้องเรียนคณะกรรมาธิการ การเงิน การคลัง และสภาบันการเงิน วุฒิสภา ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 – เดือนมีนาคม 2555 กรมศุลกากรปรับราคานำเข้ารถยนต์ 3 ครั้ง รวม 21% โดยไม่แจ้งล่วงหน้า ทำให้ผู้นำเข้ามีต้นทุนสูงขึ้น และต้องส่งมอบรถยนต์ให้ลูกค้าตามราคาที่กำหนดไว้ในใบจอง

มาตรการจัดตั้งศูนย์ควบคุมมาตรฐานการสำแดงราคาฯ กำหนดราคาอ้างอิง กดดันผู้นำเข้ารถหรูปรับราคาสำแดงเพิ่มขึ้น ดำเนินการมาได้ 3 ปี วันที่ 17 มิถุนายน 2556 นายชัยยุทธ คำคุณ ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานพิธีการและราคาศุลกากร (สมพ.) ส่งหนังสือเวียนเลขที่ 05119 (ล) / 632 แจ้งด่านศุลกากรทั่วประเทศและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร วันที่ 30 เมษายน 2556 หนังสือเวียนฉบับนี้ระบุว่า “คณะผู้แทนไทยประจำองค์การการค้าโลก (WTO) ทำบันทึกที่ พณ 52200/284 รายงานผลการประชุมคณะกรรมการว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากรว่าหอการค้าระหว่างประเทศ (International chamber of commerce: ICC) ได้หยิบยกประเด็นปัญหาการใช้ฐานข้อมูลการประเมินราคาศุลกากร (Customs Valuation Database) มากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำหรือราคาขั้นต่ำนั้น ขัดต่อความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร จึงขอให้ด่านศุลกากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ใช้ฐานข้อมูลราคาสินค้ามากำหนดเป็นราคาขั้นต่ำเพื่อประเมินค่าภาษีอากร”

นับตั้งแต่วันที่มีหนังสือเวียนฉบับนี้ออกมา ทั้งนายตรวจศุลกากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการตรวจสอบก็ตกอยู่ในสภาพที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก หรือลูบหน้าปะจมูก เจ้าหน้าที่ไม่กล้าบีบบังคับให้ผู้นำเข้าปรับราคาสำแดงเพิ่มขึ้น เพราะวิธีการที่ใช้อยู่นั้นขัดแย้งกับหลักการแกตต์ ขณะที่ผู้นำเข้ารถหรูมีแผลเก่า สำแดงราคาต่ำ ก็ไม่อยากมีเรื่องกับเจ้าหน้าที่ ทำให้สถานการณ์อึมครึมมาจนถึงทุกวันนี้