เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า นโยบายการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม จาก 7% เป็น 8% ยังไม่มีการพิจารณา และได้คุยกับนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ซึ่งนายสมหมายรายงานว่าได้พูดไปตามหลักการ ที่ต้องมีการทยอยขึ้นไปจนถึง 10% ในปี 2559 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ โดยในปี 2558 คาดหวังว่าจะดีขึ้น ฉะนั้น วันนี้เป็นเพียงการพูดด้วยหลักการ กติกากำหนดไว้ว่าต้องขึ้นปีละ 1% ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลชะลอได้อยู่แล้ว 1 ปี เป็นเรื่องของรัฐบาลที่ต้องดูแลประชาชน โดยต้องมีมาตรการขั้นต้นในการหารายได้เพื่อรองรับด้วย แต่รับรองว่าเราไม่อยากทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เดือดร้อน
สำหรับมาตรการลดค่าใช้จ่าย ที่รัฐบาลจะมอบให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชนนั้น จะมีการสรุปรายละเอียดในการประชุม ครม. สัปดาห์หน้า ซึ่งจะมีหลายมาตรการ เช่น การลดราคาสินค้าหลายรายการทั่วประเทศ เพื่อลดค่าครองชีพในช่วงปีใหม่ และการลดเว้นค่าผ่านทางในทางด่วนและทางหลวงพิเศษหรือมอเตอร์เวย์ ในวันที่ 26 ธันวาคม 2557 ถึง 4 มกราคม 2558
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า มีหลายเรื่อง โดยเฉพาะการค้า การลงทุน กับประเทศเพื่อนบ้าน ที่ต้องมีการตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งจะสร้างงานในพื้นที่ชนบท และจะมีการแปรรูปวัตถุดิบภายในประเทศ เช่น ยางพารา หลายบริษัทกำลังติดต่อหารือเรื่องการลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะบริษัทยางรถยนต์ ซึ่งเราจะได้ใช้ยางที่ผลิตจากวัตถุดิบในประเทศ ดีกว่าขายเป็นยางดิบออกไป เพราะมีมูลค่าน้อย จะเห็นได้ว่าขณะนี้สินค้าส่งออกลดลง เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เราจะทำอย่างไรให้มีการเพิ่มตัวเลขที่หายไป ก็คือการบริโภคภายในประเทศ การค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และการท่องเที่ยว
“เป็นที่น่ายินดีว่าสินค้าส่งออกบางประเภทนั้นมียอดที่สูงขึ้น เช่น สินค้าไอที ส่วนที่ตกคือผลิตผลทางการเกษตร แต่ถือว่าเป็นธรรมดา เพราะมีการชะลอตัวลงทั่วโลก ทั้งนี้เราต้องส่งเสริมประเภทสินค้าที่สามารถส่งออกได้ดี โดยใช้มาตรการส่งเสริมการลงทุนทางภาษี รวมถึงส่งเสริมเอสเอ็มอี ถ้าเราทำให้เอสเอ็มอีเข้มแข็ง การจ้างงานก็จะเพิ่มขึ้น ผลผลิตก็จะมากขึ้น เราต้องไปต่อว่าจะทำอย่างไรถึงจะไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งการเชื่อมต่อตรงนี้ถือเป็นเรื่องยาก เพื่อให้ประเทศไทยก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง” นายกรัฐมนตรีกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามถึงมาตรการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องพิจารณาว่าตอนนี้ปัญหาอยู่ที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม การจะทำให้มีการได้ดีขึ้นต้องทำอย่างไรให้มีการลดต้นทุนการผลิต และต้องสร้างเกษตรกรยุคใหม่ ที่ต้องรู้ทั้งด้านการผลิตและการค้า ถ้าชาวนาผลิตข้าวได้อย่างเดียวแต่ไม่รู้เรื่องการตลาด ก็จะถูกเบียดบังผลประโยชน์ ซึ่งตอนนี้เรากำลังส่งเสริมด้านนี้อยู่
ส่วนการตรวจสอบทุจริตโครงการจ่ายเงินชาวนา ไร่ละ 1,000 บาท พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่พบการทุจริต ซึ่งมีหลายหน่วยงานเข้าไปตรวจสอบอยู่ ทั้งในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการดำเนินการ ถ้าเจอเมื่อไหร่ก็จัดการเมื่อนั้น ซึ่งการดำเนินการจ่ายเงินชาวนาต้องทำต่อไม่ให้ล้าช้า เพราะไม่เกิดประโยชน์ต่อการช่วยเหลือชาวนา
สำหรับการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2557 โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน มีการอนุมัติโครงการ งบประมาณ และแผนงาน ตามที่ พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงดังนี้
อนุมัติมาตรการช่วยมันสำปะหลัง 73,000 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการตลาดมันสำปะหลังปี 2557/2558 ตามมติคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) 4 มาตรการ ใช้วงเงินกู้รวม 73,000 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาด้านการผลิตและการตลาดเป็นวงเงินรวม 2,760 ล้านบาท ระยะเวลาสิ้นสุดโครงการภายในเดือนกันยายน 2558
สำหรับ 4 มาตรการที่จะดำเนินการประกอบด้วย มาตรการระยะสั้น 2 มาตรการ ได้แก่ การชดเชยดอกเบี้ยเพื่อชะลอการเก็บเกี่ยว วงเงินชดเชย 375 ล้านบาท ระยะเวลาชดเชย 6 เดือน โดยจะให้เกษตรกรกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ธันวาคม 2557-มีนาคม 2558 เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ไว้ใช้จ่ายระหว่างชะลอการเก็บเกี่ยว วงเงินกู้รายละไม่เกิน 50,000 บาท เป้าหมายเกษตรกรจำนวน 500,000 ราย วงเงินกู้รวม 25,000 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีมาตรการการเพิ่มสภาพคล่องทางการค้า วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 100 ล้านบาท ระยะเวลาชดเชย 4 เดือน โดยให้สหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้า และผู้แปรรูปมันสำปะหลัง กู้เงินจากธนาคารพาณิชย์หรือ ธ.ก.ส. ระยะเวลาการจ่ายเงินกู้ตั้งแต่ ธ.ค. 2557-มี.ค. 2558 เพื่อเพิ่มสภาพคล่องในการรวบรวมรับซื้อมันสำปะหลังจากเกษตรกรเพิ่มขึ้น วงเงินกู้ 10,000 ล้านบาท โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ขนาดกลางไม่เกิน 10 ล้านบาท และขนาดใหญ่ไม่เกิน 20 ล้านบาท
ส่วนมาตรการระยะปานกลางมี 2 มาตรการ ประกอบด้วย การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกในระบบน้ำหยด วงเงินชดเชย 1,380 ล้านบาท โดยให้เกษตรกรกู้เงินจาก ธ.ก.ส. ระยะเวลาจ่ายเงินกู้ตั้งแต่เดือนมกราคม-ธันวาคม 2558 เพื่อพัฒนาการปลูกมันสำปะหลังให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น จะทำให้ต้นทุนเฉลี่ยต่อไร่ของเกษตรกรลดลง โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกร 3% ระยะเวลา 24 เดือน วงเงินกู้รายละไม่เกิน 230,000 บาท เป้าหมายเกษตรกร 100,000 ราย วงเงินกู้ 23,000 ล้านบาท
อีกมาตรการคือการยกระดับมาตรฐานการแปรรูปมันสำปะหลัง วงเงินชดเชยดอกเบี้ย 900 ล้านบาท ระยะเวลาชดเชย 24 เดือน โดยสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการค้า และผู้แปรรูปกู้ยืมเงิน จากธนาคารพาณิชย์หรือ ธ.ก.ส. วงเงินกู้ 15,000 ล้านบาท กำหนดกรอบวงเงินกู้สำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ขนาดกลางไม่เกิน 10 ล้านบาท และขนาดใหญ่ไม่เกิน 20 ล้านบาท
“รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ 3% รวมวงเงินจ่ายขาดไม่เกิน 2,760 ล้านบาท เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับวงเงินกู้ 73,000 ล้านบาท ที่ส่วนดังกล่าวทาง ธ.ก.ส. และธนาคารพาณิชย์จะเป็นผู้พิจารณาปล่อยกู้ให้กับผู้กู้เป็นรายบุคคล ซึ่งธนาคารจะเป็นผู้รับความเสี่ยงเอง” พล.ต. สรรเสริญกล่าว
วาง 9 กฎเหล็ก 56 รัฐวิสาหกิจ บี้ทำแผนฟื้นฟูแก้ขาดทุน
คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานของคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่ได้มีมาตรการในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ประสบปัญหา 7 แห่ง ได้แก่ องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย โดยมาตรการกำกับดูแลดังกล่าวมีดังนี้
1. บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. ให้ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะองค์กร (due diligence) และให้ดำเนินการจัดกลุ่มธุรกิจจำนวน 6 กลุ่มที่เหมือนกัน ได้แก่ กลุ่มโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม กลุ่มเสาโทรคมนาคม กลุ่มอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ และเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศ กลุ่มโทรศัพท์เคลื่อนที่ กลุ่มโทรศัพท์ประจำที่และอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และกลุ่มบริการด้านไอที Internet Data Center (IDC) และคลาวด์คอมพิวเตอร์ รวมทั้งสั่งการให้รวบรวมข้อพิพาททางกฎหมายและแนวทางแก้ไข พิจารณายุบเลิกหรือปรับปรุงการบริหารบริษัทลูกให้สอดคล้องกับแนวทางประกอบธุรกิจในอนาคต (เฉพาะกรณี บมจ.ทีโอที) รวมทั้งปรับปรุงแนวทางการลดค่าใช้จ่ายโดยกำหนดให้ลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้ได้อย่างน้อยละ 10% และให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จัดจ้างบริษัทที่ปรึกษาเพื่อศึกษาทิศทางของธุรกิจโทรคมนาคมและเสนอแนวทางการดำเนินธุรกิจและปรับโครงสร้างองค์กรทั้งสององค์กรในอนาคต โดยให้เสนอรายงานต่อคณะทำงานกำกับผลการศึกษาที่มีนายทวีศักดิ์ กออนันตกูล เป็นหัวหน้าคณะทำงาน
2. ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์)และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ให้ดำเนินการตรวจสอบวิเคราะห์สถานะองค์กร จัดทำแผนและทิศทางการดำเนินการในอนาคตขององค์กร กำหนดให้เอสเอ็มอีแบงก์คงหลักเกณฑ์ในการปล่อยสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท ในสัดส่วน 80% ของวงเงินสินเชื่อรวม
3. บมจ.การบินไทย ให้เร่งดำเนินการปรับปรุงแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรโดยเน้นที่การลดต้นทุนอย่างจริงจังและลดหน่วยธุรกิจที่ไม่ทำกำไร โดยแผนการลดต้นทุนจะต้องมีเป้าหมายลดต้นทุนที่ท้าทาย เช่น 20–30% รวมทั้งนำเสนอมาตรการที่ใช้ประโยชน์จากพันธมิตรของสายการบินทั้งในและนอก Star Alliance อย่างเป็นรูปธรรม และให้ความสำคัญกับตำแหน่งยุทธศาสตร์โดยต้องวิเคราะห์รายละเอียดและมีกลยุทธ์ที่ลึกซึ้งกว่าเพียงจะเป็นสายการบินที่ให้บริการระดับพรีเมียมเท่านั้น
4. การรถไฟแห่งประเทสไทย(รฟท.) และองค์การขนส่งมวลชน(ขสมก.) โดย คนร. ได้พิจารณาแผนการฟื้นฟูของทั้งสององค์กรในเบื้องต้นพบว่าเป็นเพียงแค่การเสนอขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากรัฐบาลในการชำระหนี้สินและการรับภาระค่าใช้จ่ายขององค์กรเป็นหลัก โดยมิได้มีมาตรการในการปรับเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานหรือการปรับปรุงการบริหารจัดการที่เหมาะสมมากขึ้นที่จะไม่ทำให้
“คนร. เห็นควรให้มีการแยกบทบาทการกำกับดูแลออกจากผู้ประกอบการ ซึ่งในระบบขนส่งยังขาดความชัดเจนในเรื่องดังกล่าวและยังไม่มีความชัดเจนของการกำหนดบทบาทภารกิจของ รฟท. และ ขสมก. ให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าว โดย คนร. เห็นควรให้มีการจัดประชุมหารือระหว่างกระทรวงคมนาคม ประธานกรรมการ และกรรมการผู้แทนกระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคมในบอร์ด รฟท. และ ขสมก. เพื่อร่วมกันพิจารณากำหนดบทบาทและทิศทางการดำเนินการขององค์กรทั้งสองแห่งที่เหมาะสมต่อไป” พล.ต. สรรเสริญกล่าว
นอกจากนั้นในส่วนของการกำกับดูแลการทำงานของรัฐวิสาหกิจในภาพรวม คนร. ได้เสนอมาตรการต่างๆ ให้ ครม. รับทราบ ได้แก่ 1. การวางระบบการบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจ โดยนำระบบบรรษัทภิบาล (corporate governance) มาแก้ไขการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ โดยให้มีการวางระบบบริหารจัดการที่ดีในรัฐวิสาหกิจโดยนำระบบบรรษัทภิบาลมาใช้ เช่น การให้มีกระบวนการสรรหาและคัดเลือกเพื่อผู้ที่เข้ามาเป็นคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ให้มีคุณภาพและเหมาะสมกับภารกิจของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ มีการกำหนดยุทธศาสตร์และวัตถุประสงค์เป็นกรอบในการทำงานที่ชัดเจน การกำหนดการประเมินผลการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจ และเปิดเผยข้อมูลในการดำเนินการเทียบเท่ามาตรฐานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
2. การปฏิรูปการกำกับการดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) โดย คนร. ได้มีมติมอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหน่วยงานในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐโดยมีหน้าที่ในการครอบคลุมถึงออกเกณฑ์กำกับดูแลการตรวจสอบความเหมาะสมของผู้บริหาร ติดตามตรวจสอบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ รวมถึงการสั่งการให้มีการแก้ไขปัญหา ส่วนงานด้านกำกับนโยบายของรัฐและการกำกับในฐานะผู้ถือหุ้น/เจ้าของกิจการที่ยังคงเป็นของกระทรวงการคลัง มอบหมายให้กระทรวงการคลังและ ธปท. หารือร่วมกันเพื่อกำหนดรายละเอียดในการควบคุมดูแลต่อไป
3. การสร้างความโปร่งใสในการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ คนร. กำหนดให้มีการเพิ่มความโปร่งใสในการลงทุนโครงการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งเป็นกระบวนการในการเปิดเผยข้อมูลและติดตามการดำเนินโครงการก่อสร้างของรัฐวิสาหกิจที่เป็นมาตรฐานสากลมาใช้ โดยให้โครงการลงทุนของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการนำร่อง
4. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นเจ้าภาพในการจัดทำข้อตกลงคุณธรรมของโครงการจัดซื้อรถโดยสารก๊าซธรรมชาติขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และโครงการสำหรับการจัดหาเอกชนลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายขององค์การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.
5. การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐวิสาหกิจ คนร. เห็นชอบในหลักการให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นกองทุนแรกของรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยรูปแบบดังกล่าว ขนาดของกองทุนประมาณ 20,000 ล้านบาท เพื่อเป็นต้นแบบให้รัฐวิสาหกิจต่างๆ ในการดำเนินการต่อไปในอนาคต
6. การพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ให้ใช้หลักเกณฑ์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการกำหนดนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2557 ที่กำหนดหน้าที่ให้ คนร. เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองและเสนอความเห็นในการพิจารณาโครงการขนาดใหญ่ต่อ ครม. ขณะที่โครงการที่ไม่ใช่โครงการขนาดใหญ่ให้อยู่ในอำนาจของประธาน คนร. เสนอความเห็นต่อ ครม. ในการขออนุมัติโครงการ
7. แผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจ คนร. เสนอให้การจัดทำแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจให้มีการทบทวนบทบาทของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งกำหนดทิศทางที่เหมาะสมในการดำเนินการในอนาคตที่สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ
8. สิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจต่างๆ คนร. ได้เสนอว่าให้มีการยกเลิกสิทธิประโยชน์ในรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือบริการของรัฐวิสาหกิจและสิทธิประโยชน์พิเศษต่างๆ ของคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ รวมทั้งให้มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายและวงเงินที่ชัดเจนสำหรับสิทธิประโยชน์อื่นๆ โดยต้องให้เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของรัฐวิสาหกิจเท่านั้น
9. เงินบริจาคเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐวิสาหกิจ โดยเห็นชอบในหลักการพิจารณาอนุมัติวงเงินบริจาคของรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยให้คำนึงถึงประโยชน์ขององค์กรและประเทศที่ได้จากการบริจาคเป็นสำคัญ รวมทั้งให้พิจารณาปรับลดวงเงินบริจาคในปีงบประมาณ 2558 ลง 10% จากวงเงินที่มีการบริจาคในปีที่ผ่านมา
อุดหนุน รฟท.-ขสมก. 4,699 ล้านบาท
คณะรัฐมนตรีอนุมัติเงินอุดหนุนให้ รฟท. และ ขสมก. เพื่อชดเชยค่าตั๋วโดยสารที่มีการขึ้นราคาในบางเส้นทางที่ไม่คุ้มค่าการลงทุน รวมทั้งสิ้น 4,699.986 ล้านบาท แบ่งเป็นอุดหนุน รฟท. วงเงิน 2,732.664 ล้านบาท อุดหนุน ขสมก. วงเงิน 1,967.332 ล้านบาท ซึ่งวงเงินจำนวนนี้ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเงินอุดหนุนการบริการสาธารณะแล้ว
ทบทวนภารกิจกองทุนหมุนเวียน 121 กองทุน
คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่ง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้มอบหมายให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ไปรวบรวมกองทุนหมุนเวียนที่อยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงการคลังและกองทุนอื่นๆ รวม 121 กองทุน โดยให้จัดหมวดหมู่แล้วพิจารณาดูว่าแต่ละกองทุนได้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์หรือไม่ หากดำเนินการก็ให้คงอยู่หรือถ้าไม่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ก็อาจจะต้องยุบไป โดยวัตถุประสงค์การจัดการกองทุนหมุนเวียนครั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพในการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมของแต่ละกองทุน ยังไม่ได้กำหนดว่าเมื่อยุบกองทุนแล้วจะนำเงินของกองทุนที่ถูกยุบไปใช้จ่ายในส่วนใด
ทั้งนี้ จากการประเมินของกรมบัญชีกลาง 4 ด้าน คือ ด้านการดำเนินการด้านการเงิน ผลการดำเนินงานด้านปฏิบัติการ การสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสีย และการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน โดยพบว่ากองทุนที่มีผลการประเมินต่ำสุด ได้แก่ 1. กองทุนหมุนเวียนดำเนินการโครงการผลิตถ่านหินเป็นพลังงานทดแทน 2. เงินทุนหมุนเวียนข่าวสารการพาณิชย์ 3. เงินทุนหมุนเวียนโรงงานฟอกหนัง 4. กองทุนกำจัดซากดึกดำบรรพ์ 5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งกองทุนที่ 1-3 อยู่ระหว่างดำเนินการยุบเลิกในปีงบประมาณ 2557
สำหรับกองทุนที่มีผลการประเมินสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ กองทุนสนับสนุนการวิจัย, กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กองทุนประกันวินาศภัย, กองทุนประกันสังคม และกองทุนส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาสำหรับคนพิการ
ยกเว้นค่าผ่านทางพิเศษเทศกาลปีใหม่ 2558
คณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมในการใช้ยานยนต์บนทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-บ้านฉาง และทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ถนนวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ของวันที่ 26 ธ.ค. 2557 จนถึงเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 4 ม.ค. 2558 เพื่อเป็นของขวัญกับประชาชนในวันปีใหม่จากกระทรวงคมนาคม
ทั้งนี้ การยกเว้นค่าผ่านทางดังกล่าวถือว่าเพิ่มขึ้นจากทุกปีที่ผ่านมา จากเดิมที่ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมาจะมีการเว้นค่าผ่านทางในวันที่ 27 ธ.ค. – 3 ม.ค. ของปีถัดไป ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนเดินทางกลับบ้านโดยไม่เกิดปัญหาจราจรและลดค่าใช้จ่ายให้ประชาชน
อนุมัติ 5 เขตพัฒนาการท่องเที่ยว
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยว พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ โดยมีสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง กำหนดเขตท้องที่ในจังหวัดต่าง ๆ เป็นเขตพัฒนาการท่องเที่ยว 5 เขต ดังนี้
เขตที่ 1 เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน และลำปาง
เขตที่ 2 เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก (Active Beach) ประกอบด้วย ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด
เขตที่ 3 เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ ประกอบด้วยนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
เขตที่ 4 เขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันตก (Royal Coast) ประกอบด้วย เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง
เขตที่ 5 เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ประกอบด้วย ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล
แต่งตั้งคุณหญิงพรทิพย์ เป็น ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์
คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญ สังกัดกระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1. คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ 2. พันโท เอนก ยมจินดา ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง