คณะ “อภิรัฐมนตรี” ถูกนำเสนออีกครั้งหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองผ่านไป 82 ปี นับตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 7 ก็มีการหยิบเอาเรื่องคณะ “อภิรัฐมนตรี” มานำเสนออีกครั้งในการประชุมวิชาการประจำปี 2557 ของสถาบันพระปกเกล้า หัวข้อ “8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย: พลวัตแห่งดุลอำนาจ” เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2557
ในห้วงที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ, รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กำลังจะเริ่มออกแบบประเทศไทยผ่านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อีกครั้ง
นายบวรศักดิ์ สวมหมวกทั้ง 3 ใบ สรุปผลการประชุมประจำปีของสถาบันพระปกเกล้าว่า “ข้อเสนอจัดตั้งอภิรัฐมนตรี เป็นข้อเสนอของนายสุรพล ศรีวิทยา รองคณบดี วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต คนเดียว ไม่ใช่ข้อเสนอของกลุ่ม”
กระนั้น ข้อเสนอ “อภิรัฐมนตรี” เป็นอำนาจที่ 4 หรือ “จตุอธิปัตย์” ก็ถูกวิจารณ์ และแบ่งรับ-แบ่งสู้กันอย่างกึกก้อง ทั้งนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เห็นว่า “น่าจะต้องมีการถกเถียงจนได้ข้อสรุปก่อนเสนอต่อ สปช. และ สนช. และยินดีจะรับฟัง”
ขณะที่นายปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และที่ปรึกษา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่สรุปผลการประชุมกลุ่มย่อย “การสร้างดุลยภาพในระบบโครงสร้างอำนาจรัฐ” ในงานประชุมวิชาการของสถาบันพระปกเกล้า ว่า “มีการเสนอให้ตั้งอภิรัฐมนตรี ให้เป็นอีกดุลอำนาจหนึ่งนอกเหนือจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยจัดวางให้ อภิรัฐมนตรีมีอำนาจมากที่สุดในฐานะรัฏฐาภิบาลเพื่อช่วยแก้ปัญหาเมื่อ 3 อำนาจหลักในอำนาจอธิปไตยมีความขัดแย้งกัน อภิรัฐมนตรีจะเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาด”
จากข้อเสนอของนายสุรพล ในโครงสร้างอภิรัฐมนตรี ประกอบด้วย ส่วนกลาง 23 คน เป็น ตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติ 5 คน ฝ่ายบริหาร 5 คน ตัวแทนฝ่ายตุลาการ 5 คน ที่เหลือ 8 คน มาจากหัวหน้าองค์กรอิสระทั้งหมด โดยมีตัวแทนจากส่วนท้องถิ่นอีก 22 คน
เมื่อข้อเสนอนี้ดังขึ้นในห้องประชุมใหญ่ของสถาบันพระปกเกล้า และถูกนำมาเป็นหัวข้อไฮไลต์ในการสรุปกลุ่มย่อยของนายปณิธาน แม้ไม่ได้เป็นข้อสรุปในเวทีใหญ่ และไม่ได้ถือว่าเป็นข้อเสนอของสถาบันพระปกเกล้า แต่คำเสนอเรื่อง “อภิรัฐมนตรี” ถูกบันทึกไว้ และอาจถูกขยายความ-ต่อยอดในสภาปฏิรูปแห่งชาติ จึงเป็นประเด็นที่น่าติดตาม
อนึ่ง คำว่า “อภิรัฐมนตรี” มีขึ้นครั้งแรกในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ประกอบด้วย 8 พระองค์ ดังนี้
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ต้นราชสกุล “บริพัตร”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ต้นราชสกุล “ดิศกุล”
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ต้นราชสกุล “จิตรพงศ์”
สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ต้นราชสกุล “ภานุพันธุ์”
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ ต้นราชสกุล “กิติยากร”
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ เจ้าฟ้ายุคลทิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ แห่งต้นราชสกุล “ยุคล”
สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน ต้นราชสกุล “ฉัตรชัย”
พระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นเทววงศ์วโรทัย ทรงอยู่ในราชสกุล “เทวกุล”
คณะอภิรัฐมนตรีในยุคนั้น ทำหน้าที่ถวายคำปรึกษาแก่พระเจ้าแผ่นดิน เป็นหน่วยงานเฉพาะที่อยู่นอกโครงสร้างของรัฐบาล โดยการเสนอความเห็นเรื่องการบริหารราชการให้เป็นหน้าที่ของเสนาบดี ส่วนคณะอภิรัฐมนตรีมีหน้าที่ให้คำปรึกษาและแสดงความเห็นแก่เสนาบดี
คณะ “อภิรัฐมนตรี” นับว่าเป็นกฎหมาย “ฉบับแรก” ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธย หลังจากเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติเพียงสามวัน คือ การประกาศตั้ง “อภิรัฐมนตรี” เป็นสภาที่ปรึกษาที่ประกอบด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ 5 พระองค์ และหลังจากนั้นมีการตั้งเพิ่มอีก 3 พระองค์ ซึ่งในแรกเริ่มให้ใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “High Council of State” ต่อมาคำว่า “High” เปลี่ยนเป็น “Supreme” ตามคำแนะนำของ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ที่เสนอแนะต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ให้ทรงใช้ชื่อ “อภิรัฐมนตรี”
ภายใต้พระปณิธานที่ว่า คณะอภิรัฐมนตรี ที่ทรงเลือกมานั้น “พิจารณาจากประสบการณ์ของแต่ละท่านที่ผ่านมาตามฐานะความรับผิดชอบตั้งแต่สมัยพระราชบิดาของข้าพเจ้า”
ดูเพิ่มเติม การประชุมวิชาการ สถาบันพระปกเกล้า ครั้งที่ 16 ประจำปี 2557“8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย: พลวัตแห่งดุลอำนาจ”