ThaiPublica > เกาะกระแส > “3 แยก” รัฐธรรมนูญ บนถนน สปช. ประชามติ และหลังการบังคับใช้

“3 แยก” รัฐธรรมนูญ บนถนน สปช. ประชามติ และหลังการบังคับใช้

6 กันยายน 2015


580906บวรศักดิ์_เทียนฉาย
นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ (ซ้ายสุด) ในวันส่งมอบร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช. นำไปพิจารณาก่อนลงมติว่าจะเห็นชอบหรือไม่ ผ่านทางนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. (ที่ 2 จากซ้าย) ที่มาภาพ : http://m.posttoday.com/articlestory/383561/0005

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ครั้งที่ 67/2558 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของ สปช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 กันยายน 2558 เวลา 10.00 น. โดยวาระเพื่อพิจารณา 3 วาระ แต่วาระสำคัญ ก็คือ การลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบ “ร่างรัฐธรรมนูญแห่งอาณาจักรไทย พ.ศ. ….” ที่คณะกรรมาธิการกยร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.ยกร่างฯ) ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เสนอขึ้นมาหรือไม่

ซึ่งตามข้อบังคับการประชุม สปช. พ.ศ.2557 ข้อ 120 วรรคสาม กำหนดว่า “การลงมติร่างรัฐธรรมนูญฯ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีเสียงเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สปช. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่” ซึ่งปัจจุบัน มีจำนวนสมาชิก สปช. ทั้งหมด 247 เสียง ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องได้รับคะแนนเสียงตั้งแต่ 124 เสียงเป็นต้นไป ถึงจะถือว่าได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช.

หากที่ประชุม สปช. เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ จะนำไปสู่การพิจารณาวาระที่ 2 คือ ลงมติว่า สปช. จะ ตั้งคำถามพ่วงไปในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ หรือไม่ โดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งขององค์ประชุม

หากที่ประชุมเห็นชอบอีก ก็จะนำไปสู่วาระที่ 2 คือคำถามที่จะพ่วงไปในการทำประชามติ จะใช้คำถามใด ระหว่าง “ขอให้มีการปฏิรูปประเทศต่ออีก 2 ปี” กับ “ให้มีรัฐบาลปรองดองในช่วง 4 ปีแรกภายหลังการเลือกตั้ง

นี่คือ 3 เรื่องสำคัญ ที่ สปช. จะพิจารณา ในการประชุมครั้งสุดท้าย

ซึ่งหลังจากนี้ อนาคตประเทศจะต้องเผชิญกับทางแยกแห่งชะตากรรม อีก 3 ครั้ง

ทางแยกแรก : มติที่ประชุม สปช. เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ หรือไม่

  1. กรณีเห็นชอบ สปช. จะแจ้ง คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแจ้งต่อไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้เตรียมการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ โดยจะต้องมีการจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฯ 17 ล้านเล่ม ส่งไปยังครัวเรือนผู้มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ และเมื่อได้รับแล้วเกินกว่า 80% ของจำนวนครัวเรือนทั้งหมด ก็ให้ กกต. ประกาศวันทำประชามติ ซึ่งต้องจัดทำขึ้นภายใน 30-45 วัน แต่คาดว่าน่าจะเป็นวันที่ 10 มกราคม 2559
  1. กรณีไม่เห็นชอบ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 21 คน ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จภายใน 180 วัน เมื่อร่างเสร็จแล้วให้แจ้ง ครม. ทราบ เพื่อแจ้งต่อไปยัง กกต. เพื่อเตรียมจัดทำประชามติเช่นเดียวกัน

แต่ไม่ว่าที่ประชุม สปช. จะเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฯ สมาชิก สปช. ทั้ง 247 คน ก็ต้องพ้นจากตำแหน่งไปอยู่ดี เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 39/2 กำหนดให้มี “สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป” ขึ้นมาแทน มีจำนวน 200 คน ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูป ไปจนกว่าจะมีการประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรก ภายหลังการเลือกตั้ง ซึ่งอย่างเร็วที่สุดก็คือปลายปี 2559

อย่างไรก็ดี อดีตสมาชิก สปช. ก็สามารถเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปได้ เพราะกฎหมายไม่ได้ห้ามเอาไว้

ทางแยกที่สอง : ผลของการทำประชามติ

ขณะนี้มีการยกปมประเด็นปัญหาที่น่าสนใจ ก็คือ “จำนวนเสียง” ที่จะเห็นชอบประชามติร่างรัฐธรรมนูญฯ คือเท่าไรกันแน่

เพราะรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 37 วรรคเจ็ด ใช้ถ้อยคำว่าต้องใช้เสียงข้างมากของจำนวน “ผู้มีสิทธิ” ออกเสียงประชามติ แปลว่าต้องมีเสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ 47 ล้านคน แปลว่าต้องมีผู้เห็นชอบ 23.5 ล้านคนขึ้นไป

ไม่ใช่เสียงข้างมากของจำนวน “ผู้มาใช้สิทธิ” ออกเสียงประชามติ ที่แค่มาลงคะแนนเกิน 23.5 ล้านขึ้นไป แล้วมีเสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ เกิน 13 ล้านเสียง ก็ถือว่าผ่านแล้ว

กรณีประชามติ สามารถแยกได้ 2 เส้นทางเช่นกัน

  1. หากร่างรัฐธรรมนูญฯ ผ่านการทำประชามติ กมธ.ยกร่างฯ ก็จะเริ่มจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือกฎหมายลูกที่จำเป็น โดยเฉพาะกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ ร่างกฎหมายว่าด้วย กกต.ฉบับใหม่ ร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับใหม่ และร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว.ฉบับใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาจัดทำ 3 เดือน แล้วส่งให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาเพื่อออกมาบังคับใช้เป็นกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ที่คาดว่าน่าจะเป็นราวเดือนสิงหาคม 2559 โดย กมธ.ยกร่างฯ จะอยู่ไปจนกว่าจะมีการเปิดประชุมรัฐสภาเป็นครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้งจึงจะพ้นจากตำแหน่ง ทั้งนี้ การทำประชามติ นอกจากถามว่า จะรับร่างรัฐธรรมนูญฯ หรือไม่ ยังต้องพ่วงคำถามจาก สปช. และสภานิติบัญญัติ (สนช.) ไปอีกองค์กรละ 1 คำถาม
  1. หากร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ผ่านการทำประชามติ กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ก็จะพ้นจากตำแหน่ง โดย คสช. จะตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีจำนวน 21 คน ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้เสร็จภายใน 180 วัน จากนั้นก็นำไปสู่การทำประชามติอีกครั้ง เป็นลูปเดียวกับกรณีที่ที่ประชุม สปช. ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฯ

แต่ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ จะไม่ผ่านในชั้น สปช. หรือการทำประชามติ ต่างก็ทำให้ความชอบธรรมของ คสช. และรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลดลงไป

และจะทำให้การเลือกตั้งล่าช้าไปอีกอย่างน้อย 8 เดือน โดยเฉพาะถ้าร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่ผ่านในขั้นตอนการทำประชามติ มีการคำนวณกันว่าจะทำให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปไกลถึงช่วงต้นปี 2560

ไม่รวมถึงกรณีที่เลวร้ายที่สุด คือไม่ผ่านประชามติครั้งแรก เมื่อกรรมการร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญฯ ขึ้นมาให้ ก็ยังไม่ผ่านการทำประชามติครั้งที่สองอีก ซึ่งเป็นกรณีที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ไม่ได้เขียนไว้ด้วยว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ทางแยกที่สาม : หลังบังคับใช้รัฐธรรมนูญ

สมมุติว่าร่างรัฐธรรมนูญฯ นี้ ผ่านฉลุย ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช. และผ่านการลงประชามติ จนสามารถจัดการเลือกตั้งได้ตามโรดแม็ปของ คสช. คือภายในเดือนสิงหาคม 2559 แต่ก็ใช่ว่าปัญหาเรื่องกฎหมายสูงสุดของประเทศนี้จะหมดไป เพราะจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฯ ยังมีหลายประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมาก และอาจสร้างปัญหาต่อไปในอนาคต อาทิ

– คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ที่ถูกวิจารณ์ว่าเป็นเป็นรัฐซ้อนรัฐ หรือ “อภิรัฐบาล” คือมีอำนาจเหนือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยช่วง 5 ปีแรก สามารถเข้ามาเทกโอเวอร์อำนาจทั้งของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติได้หากเกิดสถานการณ์วิกฤต ใช้มติสองในสามของจำนวนสมาชิก คปป. ทั้งหมด 23 คน ซึ่งหากไปดูโครงสร้างที่บัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 260 และบทเฉพาะกาล มาตรา 280 จะพบว่า สมาชิก คปป. เกินกว่าสองในสามน่าจะมีความใกล้ชิดกับ คสช. ไม่ว่าจะเป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพทั้ง 4 คน และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นกรรมการ คปป. โดยตำแหน่ง และผู้ทรงคุณวุฒิอีก 11 คน ที่แต่งตั้งโดย สนช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐสภาในเวลาที่ร่างรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้ประกาศใช้

ขณะที่ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่า ขณะนี้ไทยอยู่ในช่วงประชาธิปไตยแบบเปลี่ยนผ่าน เมื่อพ้น 5 ปีไปแล้วค่อยกลับไปสู่ประชาธิปไตยแบบตะวันตก พร้อมยอมรับว่าองค์กรอย่าง คปป. ไม่เป็นประชาธิปไตยแบบเต็มที่แต่อย่างใด แต่ต้องมีขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูป สร้างความปรองดอง และใช้อำนาจพิเศษแก้ปัญหาความขัดแย้งที่รัฐบาลปกติไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว

– การออกแบบให้ได้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งที่อ่อนแอ ที่มาของ ส.ส. จำนวน 450-480 คน จะกระจายไปหลายพรรค ไม่มีโอกาสที่จะมีพรรคการเมืองใดได้เสียงเกินครึ่ง เกิดเป็นรัฐบาลผสมที่ไม่มีเสถียรภาพ ในขณะที่เพิ่มกลไกการตรวจสอบมากขึ้น จนอาจทำให้การบริหารราชการแผ่นดินไม่มีประสิทธิภาพ กลไกการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทำได้ง่ายขึ้นด้วยการใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งจากที่ประชุมรัฐสภา และผู้ที่ถูกถอดถอนจะถูกห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตลอดชีวิต

ฯลฯ

เส้นทางที่กล่าวมาข้างต้น เป็น 3 แยก ของรัฐธรรมนูญไทย ที่ไม่ว่าจะออกซ้ายหรือขวา ก็มีผลต่ออนาคตของประเทศแทบทั้งสิ้น