ThaiPublica > คอลัมน์ > คุณชายเต่ากับไอ้เตา (ตอนที่ 1)

คุณชายเต่ากับไอ้เตา (ตอนที่ 1)

30 พฤศจิกายน 2014


บรรยง พงษ์พานิช

“คนนี้หรือที่ชื่อบรรยง พงษ์พานิช ผมได้ยินชื่อเสียงคุณมานานแล้ว …ชื่อเน่าๆ เหม็นๆ น่ะ” นี่คือคำทักทายประโยคแรกที่ท่านอธิบดีกรมบัญชีกลาง (สมัยนั้น) ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล เอ่ยออกจากปากในคราวที่ผมได้เจอะเจอท่านเป็นครั้งแรกในชีวิต เมื่อปี พ.ศ. 2533 ที่ออฟฟิศของท่าน เนื่องจากผมและคุณปิ่น จักกะพาก ต้องเข้าไปพบเพื่อรายงานความคืบหน้าในฐานะที่บริษัทเงินหลักทรัพย์( บงล.)ภัทรธนกิจ และ บริษัทเงินทุน(บง.)เอกธนกิจ ร่วมกันเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการนำ บมจ.การบินไทย เข้าจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกองรัฐวิสาหกิจ (ฐานะสมัยนั้น) อยู่ในสังกัดกรมบัญชีกลาง ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้ถือหุ้น

ผมจำรายละเอียดภารกิจที่เข้าไปพบในวันนั้นไม่ได้แล้ว แต่ที่จำได้แน่ๆ ก็คือ ก่อนเริ่มธุระ พี่ปิ่นต้องนั่งฟังสองคนเถียงกันเกือบครึ่งชั่วโมง เพราะผมไม่ยอมให้ถูกด่าฟรีๆ (ถึงท่านจะมีเชื้อเจ้า แถมตำแหน่งใหญ่โตก็เถอะ) ย่อมต้องเถียงหัวชนฝา และอธิบายในมุมของผม

สรุปได้ว่าท่านค่อนข้างเคืองกับการที่ผม underwrite และนำ บริษัท Technology Application (TATL) เข้าตลาดในปี 2532 เพราะเป็นบริษัทของต่างชาติ 100% แถมขายหุ้นราคาแพง และพอเข้าตลาดแล้วราคาตก นอกจากนั้น บริษัทนี้ยังพลาดในการไปทำ M&A ในอเมริกา แล้วทำให้ฐานะย่ำแย่ ซึ่งผมก็พยายามเรียนอธิบายว่า เรื่องพวกนี้เป็นความเป็นไปธรรมดาในตลาดทุน แต่ในส่วนที่ผมเกี่ยวข้อง ได้ทำหน้าที่ตามที่ควรตามมาตรฐานมืออาชีพครบถ้วนทุกประการ ซึ่งในที่สุดท่านก็สรุปว่า “เอาล่ะ พอฟังได้ เพราะผมไม่ชอบทำงานกับคนชั่ว กับคนโง่พอรับได้”

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่มาภาพ :http://www.bangkokbiznews.com
ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ที่มาภาพ :http://www.bangkokbiznews.com

ตั้งแต่วันนั้น ตลอดเกือบยี่สิบห้าปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสทำงานและเจอะเจอกับหม่อมเต่าอีกนับครั้งไม่ถ้วน ทั้งจากการที่ภัทรฯ ได้รับงานจากราชการและรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นทางการ ทั้งจากการที่ท่านเรียกไปใช้ ไปช่วยงานราชการแบบฟรีๆ และต้องเจอะเจอในฐานะที่ท่านเป็นผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินคราวดำรงตำแหน่งผู้ว่าการ ธปท. แม้เมื่อท่านพ้นจากราชการผมก็ยังได้มีโอกาสพบพานกับท่านเสมอมา ผมไม่กล้าที่จะกล่าวอ้างว่าสนิทสนมใกล้ชิด แต่ก็นับได้ว่าได้ร่วมงานกับท่านในเรื่องสำคัญๆ มากมายหลายเรื่อง มีโอกาสสังเกตเห็นอัจฉริยภาพ และสไตล์ที่นับว่าโดดเด่นไม่เหมือนใคร สำหรับผมแล้ว หม่อมเต่านับว่าเป็นข้าราชการที่มีหลักการ มีคุณธรรม มีประสิทธิผลสูง และได้สร้างคุณูปการมากมายไว้ให้แก่ประเทศไทย นับได้ว่าเป็นข้าราชการที่ดีที่สุดคนหนึ่งที่ประเทศนี้เคยมีก็ว่าได้

เวลาเจอกัน แล้วผมชวนท่านคุยถึงเรื่องเก่าๆ หม่อมเต่ามักจะบอกว่า “ผมไม่เคยจำว่าทำอะไรมาบ้าง จะจำไปทำไมเรื่องเก่าๆ เอาสมองไปเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ดีกว่า” แต่เนื่องจากผมเป็นคนชอบเล่าตำนาน ชอบจดจำเรื่องราวหนหลัง จึงจะขอนำเอาเรื่องราวของท่านที่ผมได้มีโอกาสเข้าไปเกี่ยวข้องบ้างมาเล่าสู่กันฟังนะครับ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมครอบคลุมได้ไม่ถึงส่วนเสี้ยวของผลงานมากมายของท่าน

ตอนที่จัดจำหน่ายหุ้นการบินไทยและทางการตกลงตั้งราคาขายที่หุ้นละ 60 บาท ทั้งๆ ที่ที่ปรึกษา (เอกธนกิจและภัทรฯ) แนะนำว่า ราคาที่เหมาะสมตามปัจจัยพื้นฐานควรจะเป็น 40-45 บาท หม่อมเต่าบอกกับพวกเราว่า “ผมขอท้าพนัน ว่าเข้าตลาด ราคาเกิน 70 บาท แหงๆ” ผมเลยรับท้าว่าใครแพ้ต้องเลี้ยงใหญ่ 1 มื้อ ที่ Le Normandie โรงแรมโอเรียนเต็ล แต่พอเข้าตลาดหุ้นรูดเอาๆ ตำ่กว่าห้าสิบบาท หม่อมเต่าก็บอกว่า “มันมีเหตุสุดวิสัย เป็น act of god เกิดพฤษภาทมิฬขึ้นมา ผมเป็นข้าราชการ ไปทานข้าวที่แพงๆ กับพ่อค้ามันดูไม่ดี คนจะครหาได้” ว่าแล้วท่านก็เบี้ยวไปตามฟอร์ม

หม่อมเต่าเคยเป็นประธานกรรมการ ขสมก. ท่านเรียกผมไปบอกให้เอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ “ทำเป็นแต่รัฐวิสาหกิจที่มีกำไร ถ้าแน่จริงต้องขายรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนได้ด้วย” ผมยืนยันว่าไม่มีทางที่จะทำได้ ไม่มีทางที่นักลงทุนจะโง่ขนาดนั้น และไม่มีทางที่จะทำให้ ขสมก. มีกำไรได้ ถ้ายังบริหารแบบรัฐวิสาหกิจ และยังควบคุมราคาอยู่ ท่านบอกว่าถ้าอย่างนั้นช่วยหาวิธีล้างขาดทุนสะสมที่มีอยู่หลายหมื่นล้านให้หน่อย ผมบอกว่าต้องมีปาฏิหาริย์ถึงจะทำได้ แล้วท่านก็แสดงปาฏิหาริย์ล้างได้จริงๆ (ใช้เทคนิคทางบัญชี โอนขาดทุนสะสมให้รัฐรับไป) แต่พอท่านพ้นตำแหน่ง ขสมก. ก็เริ่มสะสมขาดทุนได้อีกทุกปี จนวันนี้มีได้กว่า 90,000 ล้านแล้ว

ผมเคยบ่นกับท่านเรื่อง “การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ” ว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก สำคัญต่อประเทศ และถูกระบุว่าเป็นนโยบายหลักมาตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 5 (2525-2529) แต่มีการดำเนินการน้อยมาก มีเพียงธนาคารกรุงไทยกับบริษัทการบินไทยเข้าตลาดแค่สองแห่งเท่านั้น ทำให้ตลาดทุนไม่พัฒนาไปด้วย กรมบัญชีกลางในฐานะที่ดูแลอยู่น่าจะต้องผลักดัน ท่านเป็นอธิบดีควรต้องรับผิดชอบ ท่านบอกว่า “ได้แค่สองแห่งนี่ก็บุญแล้ว ถ้ากรุงไทยไม่ใช่ของคลัง ถ้าการบินไทยไม่อยากซื้อเครื่องบินแล้วขอให้คลังค้ำหนี้ เราก็คงบีบไม่ได้ ไม่มีใครเขาอยากแปรรูปหรอก รัฐวิสาหกิจเป็นหัวแก้วหัวแหวนของรัฐมนตรี ของนักการเมือง ของกระทรวงต่างๆ เขา จะให้หน่วยงานระดับกอง ระดับกรม อย่างกองรัฐวิสาหกิจ กรมบัญชีกลาง ไปผลักดันกระทรวง คงจะเขยื้อนหรอก แถมพวกเอ็นจีโอยังไปเข้าทางพวกนั้นเข้าอีก เลยทำให้ยากมากๆ คงต้องปล่อยไปตามมีตามเกิด”

แต่พอคุณอานันท์ ปันยารชุน ได้เป็นนายกฯ ในช่วงปี 2534-2535 หม่อมเต่าก็เลยฉวยโอกาสให้มีมติ ครม. สั่งการให้มีการประเมินรัฐวิสาหกิจ โดยรัฐวิสาหกิจที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ดี จะมีสิทธิได้รับโบนัสพิเศษเป็นแรงจูงใจ แต่ก็มีเงื่อนไขให้ไปศึกษารายละเอียดเตรียมการแปรรูปเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอนที่ท่านเตรียมเสนอ ครม. ในเรื่องนี้ ท่านได้เรียกผมเข้าไปหารือ ผมก็เลยท้วงติงท่านว่า การให้รัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าภาพศึกษาเตรียมการแปรรูปเองนั้น ผลย่อมบิดเบี้ยว ไม่เป็นประโยชน์ในวงกว้างแท้จริง เพราะแต่ละแห่งย่อมพยายามรักษาข้อได้เปรียบ รักษาสภาพผูกขาดให้กับองค์กรให้มากที่สุด เหมือนกลัดกระดุมเสื้อเม็ดแรกผิดรังดุมแหละครับ มันจะทำให้บิดเบี้ยวไปหมด ที่ถูกต้องทำแบบมาร์กาเรต แทตเชอร์ คือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาวางแผน โดยรัฐวิสาหกิจนั้นจะต้องเป็นผู้ “ถูก” แปรรูป ไม่ใช่แปรรูปตัวเอง

ผมยังจำได้ดีถึงชั่วขณะที่หม่อมเต่ามองหน้าผมอย่างสมเพช แล้วเอื้อมมือมาตบบ่าสั่งสอนว่า “ตื่นๆ ไอ้หนู ตื่นมาเจอสภาพความจริง อย่ามัวบ้าทฤษฎี เรามีอย่างที่เรามี เราเป็นอย่างที่เราเป็น (We have what we have. We are what we are.) จะเอาสมบูรณ์แบบต้องรอชาติหน้า ได้แค่นี้ต้องเอาไว้ก่อน รัฐบาลนี้อยู่แป๊บเดียว ทำได้แค่นี้ เตรียมๆ ไว้ก่อน มันยังไม่เกิดจริงหรอก วันหน้าอาจมีโอกาสเกิด” แล้วก็ปรากฏว่าท่านมองการณ์ไกลจริงๆ เพราะพอหลังวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” การเตรียมการต่างๆ นั้นก็ทำให้เกิดการนำรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ มีการออก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจมารองรับ ทำให้เศรษฐกิจและตลาดทุนได้พัฒนามาจนทุกวันนี้ ผมถือว่าหม่อมเต่าเป็นผู้วางรากฐานและมีบทบาทสำคัญที่สุดคนหนึ่งในกระบวนการปรับปรุงและแปรรูปรัฐวิสาหกิจของไทย

เรื่องนี้ นอกจากมีประโยชน์ต่อประเทศมากแล้ว ยังเป็นบทเรียนที่สำคัญสำหรับชีวิตการทำงานของผม มันทำให้ผมรู้จักกับความหมายของคำว่า “ประสิทธิผลนิยม” (pragmatism) เพราะนักวิชาการ นัก “อุดมการณ์นิยม” (idealism) นั้น มักจะได้แต่ตำหนิ หาข้อบกพร่องของมาตรการต่างๆ โดยไม่เข้าใจข้อจำกัด ใครจะทำอะไรก็เอาแต่วิจารณ์ก่นด่า มีแต่เหตุผลว่าทำไมไม่ควรทำ และมักไม่มีแม้แต่ทางเลือกด้วยซำ้ เข้าทำนอง “คนดีชอบทำ คนระ…ชอบติ” จะทำอะไรต้องไม่มีที่ติ ซึ่งจะเอาสมบูรณ์อย่างนั้นคงต้องรอยุค “พระศรีอาริย์” อย่างเดียว ไม่ต้องริเริ่มทำอะไรกัน ซึ่งสำหรับอาชีพ “วาณิชธนกร” อย่างผม ความมีประสิทธิผล (effectiveness) สำคัญกว่าความมีประสิทธิภาพ (efficiency) ด้วยซำ้ไป ผมเชื่อว่าบทเรียนที่หม่อมเต่าให้ผมในวันนั้นมีผลต่อพฤติกรรมการทำงานของผมในระยะต่อมาอย่างมาก

เรื่องสำคัญอีกเรื่องที่ผมมีโอกาสได้รับใช้หม่อมเต่า (และก็ถือว่าได้รับใช้ชาติไปด้วย) คือ การจัดตั้ง “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” โดยครั้งหนึ่งในปี 2535 ผมได้เรียนหม่อมเต่าไปว่า ระบบบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่เรามีอยู่ (ในสมัยนั้น) เป็นระบบที่ไม่มีการกันเงินกองทุนไว้เลย (unfunded) แถมเป็นระบบ defined benefit plan (ระบุประโยชน์ตามคุณสมบัติผู้รับ เช่น อายุงาน ระดับหน้าที่) ซึ่งจะทำให้เกิดภาระอนาคตมหาศาลที่คาดการณ์ไม่ได้ ถือเป็นระเบิดเวลาให้กับระบบงบประมาณภายหน้า และเท่ากับผลักภาระของผู้เสียภาษีวันนี้ไปให้กับผู้เสียภาษีวันหน้าอย่างมโหฬาร ท่านฟังแล้วมองหน้า และก็บลัฟกลับทันที (เป็นนิสัยพิเศษที่ทุกคนรู้ดี) “เอาจากไหนมามั่ว ผมเรียนทฤษฎีภาษีมาเยอะแยะ ไม่เห็นมีเรื่องอย่างนี้”

พอหลังจากนั้นสักเดือน หม่อมเต่าก็โทรมาหาผม “ผมไปสิงคโปร์มา มันพูดเหมือนคุณพูดเลย ว่าถ้าเราไม่ทำกองทุนบำนาญข้าราชการ เราฉิบหายแน่ในอนาคต เข้ามาพบหน่อยสิ จะให้ช่วยศึกษาให้ทางการหน่อย” ในวันเริ่มประชุมที่มีรองอธิบดีกรมบัญชีกลางร่วมด้วยหลายท่าน (ทุกท่านต่อมาได้เป็นข้าราชการระดับอธิบดีที่ผมต้องร่วมงานด้วยยาวนาน) ท่านเปิดประชุมตามสไตล์เอกลักษณ์ “ผมคิดว่าเราต้องเริ่มทำกองทุนบำเหน็จฯ แต่เนื่องด้วยแถวนี้มีแต่คนที่เอาแต่กินหญ้า ไม่ค่อยมีสมอง เลยต้องรบกวนเอกชนที่โง่น้อยลงมานิดนึง ให้มาช่วยศึกษาตั้งเรื่อง” โชคดีที่ผมถูกอบรมให้สัมมาคารวะต่อผู้ใหญ่มาตั้งแต่เป็นนักเรียนวชิราวุธ เลยเอาตัวรอดมาได้ แถมยังเป็นที่เอ็นดูของข้าราชการเหล่านั้น

ผมและทีมงานช่วยศึกษาการตั้ง “กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ” อยู่หลายเดือน (ทำให้ฟรีๆ ไม่มีค่าจ้างนะครับ) มีการทำแบบจำลองมากมาย จนในที่สุดพอได้ข้อสรุปเบื้องต้น และตัดสินใจเปลี่ยนไปเป็นระบบ defined contribution Plan ที่คาดการณ์ภาระอนาคตได้ดีกว่า แล้วเราก็มอบงานศึกษาขั้นต้นให้กับทีมที่ธนาคารโลกส่งมาให้ความช่วยเหลือรับไปประสานทำงานต่อจนตั้งกองทุนสำเร็จ ซึ่งกว่าจะออก พ.ร.บ.ตั้งกองทุนได้ก็เป็นปี 2539 เมื่อหม่อมเต่าเป็นปลัดกระทรวงการคลัง (เป็นเรื่องธรรมดาที่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ใดๆ ในประเทศนี้จะเกิดได้ยากเย็น มีการต่อต้านมากมาย)

การตั้ง กบข. นี้ถือเป็นการปฏิรูปการคลังที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะตอนนี้มีกองทุนอยู่ 700,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าไม่มีกองทุนนี้ย่อมหมายความว่ารัฐมีหนี้สาธารณะแฝงตัวอยู่อีกถึง 6% ของจีดีพีและจะโตขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่ตั้งได้ก็เป็นเพราะฝีมือหม่อมเต่าอีกนั่นแหละ เพราะท่านไปใส่เงื่อนไขไว้ในมติ ครม. ว่า ถ้าตั้งไม่เสร็จ ข้าราชการทั้งประเทศจะไม่ได้ขึ้นเงินเดือนตามบัญชี ข. จนในที่สุดทุกฝ่ายเลยร่วมมือกันจัดตั้งจนสำเร็จ นับได้ว่าท่านเป็นบิดาแห่ง กบข. เลยทีเดียว (หม่อมเต่าท่านจะมีวิธีต่างๆ ที่จะกดดันให้มาตรการที่ท่านผลักดันมีผลเสมอ ผมต้องเรียนรู้อีกเยอะครับ)

ระหว่างที่ว่างเว้นการวิจารณ์บ้านเมือง ผมตั้งใจจะเล่าเรื่องประสบการณ์เก่าๆ โดยเฉพาะกับเหตุการณ์และเรื่องราวของคนที่ผมประทับใจ หยิบเอาเรื่องคุณชายเต่า ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ขึ้นมา ปรากฏว่าเล่าเสียยาวยังเหลืออีกเยอะ คงต้องยกยอดไปต่อตอนสองอีกแล้วครับ รออ่านนะครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanich วันที่ 29 พฤศจิกายน 2557