ThaiPublica > คอลัมน์ > “การบินไทย (ผมก็) รักคุณเท่าฟ้า” ตอนที่ 2

“การบินไทย (ผมก็) รักคุณเท่าฟ้า” ตอนที่ 2

28 เมษายน 2014


บรรยง พงษ์พานิช

ปัญหาของการบินไทย…สายการบินอันเป็นที่รักของชาวไทย

ในตอนแรกผมเกริ่นเรื่องสำคัญไว้สองเรื่อง คือ เรื่องความหินโหดของการแข่งขันในอุตสาหกรรมการบิน และเรื่องความได้เปรียบในอดีตของการบินไทยที่เลือนหายกลายเป็นอดีตไป (ถ้าใครยังไม่ได้อ่านควรกลับไปอ่านก่อนนะครับ เพื่อความต่อเนื่อง)

วันนี้ผมจะขอวิเคราะห์ต่ออย่างตรงไปตรงมาจากความรู้จากประสบการณ์

ขอเรียนไว้ก่อนเลยนะครับว่า ผมไม่มีความต้องการที่จะกล่าวหาหรือประณามบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ หรือผู้บริหารทั้งในอดีตและปัจจุบัน เพียงแต่จะระบุถึงปัญหาในเชิงโครงสร้าง และพฤติกรรมที่เป็นผลต่อเนื่องมาจากปัญหาในเชิงโครงสร้างเท่านั้น ถ้าจะเป็นการล่วงเกินใคร ไม่ว่าจะเป็นโดยตรงหรือโดยอ้อม ก็ต้องเรียนขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยนะครับ ทั้งหมดที่จะทำไป ก็ด้วยความหวังว่าความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่มี อาจจะเป็นประโยชน์กับองค์กร และประเทศชาติขึ้นมาได้บ้างเท่านั้น

ที่มาภาพ: http://www.thealami.com/upfile/thaismail2.jpg
ที่มาภาพ: http://www.thealami.com/upfile/thaismail2.jpg

ขอต่อด้วยปัญหา ต่อจากตอนที่แล้วเลยนะครับ

3. โครงสร้าง “บรรษัทภิบาล”….การบริหารแบบรัฐวิสาหกิจ….จุดตายในการแข่งขัน

ถึงแม้การบินไทยเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มาได้กว่ายี่สิบปีแล้ว แต่ก็ยังคงเป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ ซึ่งก็หมายความว่าจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ของการเป็นรัฐวิสาหกิจ และยังถูกบริหารจัดการแบบรัฐวิสาหกิจ ซึ่งในความเห็นของผม นั่นคืออุปสรรคสำคัญสุดในการแข่งขัน เพราะว่า…

– ในการลงทุนทุกครั้ง ยังต้องขออนุมัติจากหน่วยงานราชการต่างๆ ทั้งจากกระทรวงคมนาคมเจ้าสังกัด ทั้งจากสภาพัฒน์ฯ แถมในบางครั้งกระทรวงการคลังเข้ามามีส่วนอีก การลงทุนใหญ่ต้องผ่านมติ ครม. อีกด้วย เรียกได้ว่า ไม่มีความเป็นอิสระทางนโยบาย ไม่มี autonomy ไม่คล่องตัว อืดอาด ไม่สามารถตอบสนองต่อกลยุทธ์ได้ทันท่วงที และถูกแทรกแซงได้ทุกเรื่องทุกขั้นตอน ทั้งด้วยเจตนาที่ดีและไม่ดี เช่น ผมเคยได้ยินว่า ในอดีตเคยมีแม้แต่ขอซื้อเครื่องบินไปรุ่นหนึ่ง ตอนจบกลายเป็นคนละรุ่นคนละยี่ห้อเลยก็มี ตอนที่ผมเป็นกรรมการอยู่ คณะกรรมการเคยมีมติร่วมทุนจัดตั้งสายการบิน LCC Thai Tiger กับ Ryan Air ซึ่งเป็นหนึ่ง ในLCCที่ดีที่สุดในโลก แต่กระทรวงคมนาคมไม่ยอมอนุมัติ ด้วยเหตุผลต่างๆ นานาแปลกๆ ท่านปลัดกระทรวงฯ (คนที่ตู้เสื้อผ้าแตกนั่นแหละครับ) ดึงเรื่องจนในที่สุดเราต้องเบี้ยว MOU บอกเลิกเขาไป (ได้ยินว่ามีคู่แข่งสกัดไม่ยอมให้เกิด) ซึ่งผมเชื่อว่า นั่นเป็นนโยบายที่ดีกว่าการมาจัดตั้ง Thai Smile เองเยอะ

– ในการทำงาน เช่น การจัดซื้อจัดจ้าง ต้องเป็นไปตามขั้นตอน ตามระเบียบของรัฐวิสาหกิจทั่วไป ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างต้องอิงกับระเบียบสำนักนายกฯ ซึ่งเต็มไปด้วยขั้นตอนยืดยาด มีพื้นฐานจากความไม่ไว้วางใจ มุ่งเน้นเรื่องมาตรฐานที่จะตรวจสอบได้ง่าย (แต่เอาเข้าจริงก็รั่วก็ไหลได้เยอะ) ไม่ได้มุ่งเน้นประสิทธิภาพ ประสิทธิผล

– ระเบียบการบริหารงานบุคคลก็เช่นเดียวกัน ยังอิงกับวิธีการปฏิบัติ เช่น รัฐวิสาหกิจทั่วไป ที่ทำให้ไม่สะดวกในการควบคุมคุณภาพและต้นทุน ตัวอย่างเช่น พอปีไหนมีกำไร ก็ต้องขึ้นเงินเดือน ให้โบนัส ในอัตราเฉลี่ยใกล้เคียงกันไปทั้งหมด

4. โครงสร้าง และการแต่งตั้ง “คณะกรรมการ” องค์คณะที่สำคัญที่สุดขององค์กร…การเมือง และข้าราชการครอบงำ

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการในรัฐวิสาหกิจนั้นเป็นวาระที่สำคัญยิ่งทางการเมือง …ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น เปลี่ยนขั้วรัฐบาล มีปฏิวัติ หรือแม้แต่การสับเปลี่ยนพรรคการเมืองที่ดูแลกระทรวง (บางครั้งเปลี่ยนรัฐมนตรีในพรรคเดียวกันก็เหมือนกัน) ก็จะมีการปรับเปลี่ยนตัวกรรมการในรัฐวิสาหกิจที่สำคัญแทบทุกครั้ง โดยข้ออ้างต่างๆ นานา เช่น เพื่อให้นโยบายสอดคล้องเป็นบูรณาการ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ (ความจริงการเอารัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนเข้าไปอยู่ในกระแสน้ำก็เป็นเรื่องผิดหลักการ conflict of interest อยู่แล้ว)

นอกจากกรรมการที่นักการเมืองแต่งตั้ง ก็จะมีกรรมการที่เป็นข้าราชการประจำที่มาจากกระทรวงที่มีหน้าที่ดูแล กับกระทรวงการคลัง แห่งละ 2-3 คน อย่างการบินไทย ปัจจุบันมีกรรมการ 15 คน เป็นข้าราชการประจำ 7 คน ที่เหลือเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งหลายท่านก็เคยร่วมงานกันมาตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นกรรมการในช่วง 2552-2554

ต้องขอเรียนว่า ในความเห็นของผม โครงสร้างการบริหารราชการที่คานอำนาจนักการเมืองและผู้มีอำนาจ โดยกลไกข้าราชการ (ที่เคยถูกเรียกว่าเทคโนแครต) ที่เคยใช้ได้ผลในช่วงเผด็จการและประชาธิปไตยครึ่งใบ ก่อนปี 2531 นั้น ในปัจจุบันได้ถูกทำลายลงอย่างแทบจะราบคาบ ตั้งแต่เราเป็นระบบ Buffet Cabinets (2531-2544) มาจนเป็นเผด็จการรัฐสภาในปัจจุบัน (ชื่อที่คนอื่นเรียกนะครับ) เรียกได้ว่า ระบบข้าราชการถูกครอบงำ สั่งการได้โดยเหล่านักการเมืองอย่างแทบจะสิ้นเชิง ซึ่งส่งผลให้การเข้ามาบริหารรัฐวิสาหกิจทั้งหลายก็ต้องเป็นไปตาม “ใบสั่ง” แทบทุกเรื่องราว อย่างเก่งที่พวกท่านจะทำได้ก็แค่ต่อรอง คานอำนาจไว้บ้าง บรรเทาไม่ให้เกิดความเสียหายจนถึงระดับที่ท่านเห็นว่า “เกินควร” (ทั้งหมดเป็นการสังเกตประเมินอย่างจริงใจนะครับ ไม่ได้ตั้งใจล่วงเกินลบหลู่ผู้ใด…ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นไปในรัฐวิสาหกิจทุกแห่ง ไม่จำกัดเฉพาะที่การบินไทยเท่านั้น)

…ตลอดเวลาที่ผมดำรงตำแหน่งอยู่ ผมเห็นความพยายามของเหล่ากรรมการโดยส่วนใหญ่ ที่จะให้การบินไทยเป็นบริษัทที่ดี หลายท่านพยายามทำงานอย่างหนัก และ …โดยความสัตย์จริง ผมเห็นว่า กรรมการ “ส่วนใหญ่” มีความซื่อสัตย์ไม่ได้มีเรื่องทุจริตเอาประโยชน์เข้าตัวโดยมิชอบ และส่วนใหญ่ก็ถือเป็นคนคุณภาพที่ประสพความสำเร็จมาแล้วจากที่ต่างๆ

แต่ด้วยความเคารพ ผมก็ยังมีความเห็นว่า ลักษณะโครงสร้างและการแต่งตั้งกรรมการแบบนี้เป็นอุปสรรคสำคัญยิ่งต่อการบริหารกิจการให้มีประสิทธิภาพพอที่จะแข่งขันกับสายการบินชั้นนำที่บริหารแบบ World Class ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

– กรรมการทุกท่าน มีภาระกิจอื่นๆ ที่สำคัญเป็นหลักอยู่แล้ว หลายท่านรับตำแหน่งหลายสิบตำแหน่ง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นตำแหน่งสำคัญที่ต้องใช้เวลามาก ต่อให้ท่านหวังดีและตั้งใจแค่ไหน ก็ไม่สามารถทุ่มเทได้เต็มที่ ในขณะที่ในการบริหารการบินไทย (รวมทั้งรัฐวิสาหกิจอื่นๆ) ที่ฝ่ายบริหารอ่อนแอ ไม่มีเอกภาพ ไม่ได้รับความไว้วางใจในด้านความโปร่งใส ทำให้คณะกรรมการต้องลงไปยุ่งทำหน้าที่ในการบริหารด้วยจนมากเกินไป (ถึงแม้ส่วนใหญ่จะเป็นไปด้วยความหวังดี) เกินกว่า governance ของเอกชนที่มีคุณภาพทั่วไป ลองนึกดูว่า กลุ่มคนที่เวลาก็ไม่มี แถมไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะในอุตสาหกรรมการบิน (เขาไม่ได้เลือกตั้งจากความเชี่ยวชาญนี่ครับ) แต่ต้องมาตัดสินใจในเรื่องสำคัญแทบทุกเรื่องตลอดเวลา ย่อมยากที่จะแข่งกับสายการบินอื่นที่ใช้กลุ่มคนมืออาชีพ ที่ทุ่มเทเวลาวันละกว่าสิบชั่วโมง คอยบริหารกิจการ นี่ยังไม่ต้องนับถึงกรรมการบางคน ที่อาจลงไปยุ่ง ไปล้วงลูกอย่างมีวาระซ่อนเร้น เพื่อประโยชน์แอบแฝงอื่นๆ

– กรรมการที่ถูกแต่งตั้งมา ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ และข้าราชการ ล้วนแต่เกรงใจคนที่แต่งตั้งมา เมื่อมี “เรื่องฝาก” ซึ่งหลายครั้ง “ผู้ฝาก” ก็ถือหรือมั่นใจว่าเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น ฝากแต่งตั้งคนที่รู้จักและได้รับการยืนยันว่า “เป็นคนดีและเก่ง” เท่าๆ กับคนอื่นๆ หรือฝากให้พิจารณาสินค้าที่เห็นว่า “คุณภาพดีและราคาถูก” เท่ากับคู่แข่งอื่นๆ ย่อมเกิดความลำบากใจ และหลายครั้งทำให้การตัดสินใจเบี่ยงเบนไปจากสิ่งที่ควรจะเป็น (เพราะคำยืนยันว่า “ดีและเก่ง” กับ “ดีและถูก” นั้นไม่เคยจริงเลย) ผมเคยพยายามทัดทานเรื่องที่คนอื่นเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ จนต้องมีท่านผู้ใหญ่มาเตือนว่า พี่เตา…ยอมๆ ไปเถอะเรื่องแค่นี้ สงวนกำลังไว้สู้เรื่องใหญ่ดีกว่า เราอยู่เมืองไทยต้องเข้าใจคำว่า “แบบไทยๆ” ฮ่าๆๆ

– อันว่ากรรมการ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นข้าราชการ อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดนักการเมือง ถึงจะมีความสามารถ ก็มักจะเป็นความเก่งในด้านการบริหารอำนาจรัฐ การใช้อำนาจรัฐ การใช้ทรัพยากรรัฐ การรู้และนำกฎระเบียบราชการมาใช้ให้เกิดประโยชน์ การหาวิธีกีดกันการแข่งขัน การคานอำนาจรัฐ ฯลฯ น้อยคนที่จะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพ การแข่งขันแท้จริงในระดับโลก หรือมุ่งเพิ่ม productivity อย่างแท้จริง (คนที่ทำอย่างนั้นย่อมไม่ต้องพึ่งอำนาจรัฐ คนที่ไม่พึ่งอำนาจรัฐย่อมไม่ใกล้ชิดกับผู้ถืออำนาจ และไม่ยอมอยู่ใต้อำนาจ…นี่เป็นสัจจธรรมอยู่แล้วครับ) จะเห็นได้ว่า เวลารัฐวิสาหกิจมีปัญหา วิธีแก้ปัญหาก็คือใช้อำนาจ ใช้ทรัพยากรภาครัฐเข้าไปช่วย เช่น เพิ่มทุน ค้ำประกันหนี้ จัดสรรงบประมาณชดเชย ให้สิทธิพิเศษเหนือคู่แข่ง กีดกันการแข่งขันให้ ฯลฯ ซึ่งการแก้ปัญหาอย่างนี้ย่อมมีต้นทุนสาธารณะสูง และเป็นการขว้างงูไม่พ้นคอ ถ้าไม่แก้ปัญหาที่รากฐาน (fundamental problems) ในที่สุดต้องกลับมามีปัญหาอีกครั้ง แต่ก็มักไม่มีใครสนใจปัญหาอนาคต ขอเพียงผลักให้พ้นระยะเวลาที่ตนต้องรับผิดชอบเป็นพอ อย่างที่มาiNกาเรต แทตเชอร์ พูดไว้แหละครับ “When State Owns, Nobody Owns. When Nobody Owns, Nobody Cares.” (อันนี้ผมโควตมาหลายสิบครั้งแล้วครับ)

นี่แหละครับ…จุดเริ่มต้นในการบริหารกิจการ คือ คณะกรรมการที่จะเป็นผู้กำหนด ควบคุมนโยบาย ช่วยวางกลยุทธ์ ตลอดจนกำกับดูแลให้การบริหารเป็นไปอย่างที่ควร พอมีความเบ่ียงเบนไปจากที่ควรเป็น ก็เหมือนกลัดกระดุมเสื้อแหละครับ…พอเม็ดแรกเบี้ยวไปแล้ว ที่เหลือจะให้ถูกต้องเป็นระเบียบ ย่อมเป็นไปไม่ได้ …ไอ้ที่ชอบเรียกหาคนดี คนเก่ง ถ้าที่มามันเป็นอย่างนี้ ถึงบางทีอาจจะฟลุค หาได้ ก็ชั่วครั้งชั่วคราว แถมมักอยู่ได้ไม่ยั่งยืน อย่างที่เราเคยเจอมา ถ้าจะเอาให้ถาวร ต้องแก้ที่โครงสร้างของระบบ

ทั้งหมดนี่ไม่ได้เป็นเฉพาะการบินไทยหรอกนะครับ ทุกๆ รัฐวิสาหกิจเป็นเหมือนกันหมด เพียงแต่การบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจเดียวที่ต้องแข่งกับคนที่เขาเก่งที่สุดในโลก มันเลยออกอาการชัดเจน อย่าง ปตท. อย่างธนาคารกรุงไทย ก็ยังมี Monopoly บางอย่างให้ และแข่งในประเทศเป็นหลัก แต่คอยดูนะครับ ถ้าไม่แก้ไม่กันนักการเมืองในเรื่อง governance ข้อนี้ให้ดี ผมว่า ไม่เกินสิบปี ความเสื่อมถอยต้องมาเยือนอย่างแน่นอน

…ผมเขียนตอนที่หนึ่งไปเมื่อสองวันก่อน …ทีแรกคิดว่าเขียนยาวละเอียดเกินไป ตามนิสัยเสียส่วนตัว ปรากฎว่า มีคนชอบเยอะ ได้ไลก์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ (รวมในไทยพับลิก้ามีไลก์เกือบหมื่น) กับมีคนเชียร์ ขอให้นิสัยเสียเยอะๆ เอาให้ยาว ให้ละเอียดที่สุด วันนี้เลยจัดให้ ว่าเสียยาว…มีแค่สองข้อ แล้วจะประเมินว่าตอนต่อไปจะเอายังไง น่าจะมีปัญหาอีกสามสี่ประเด็นใหญ่ แล้วก็จะสรุปข้อเสนอเพื่อปรับปรุงนะครับ น่าจะอีกสักสองตอน

ขอยืนยันอีกครั้ง ไม่ได้เขียนเพื่อด่าประณามใคร แต่เขียนเพื่อหวังจะให้มีการปรับปรุง ผมมั่นใจว่าเนื้อหาก็เป็นแบบนั้น แต่ที่คนถือโอกาสเข้ามารุมด่า รุมคอมเมนต์ไปถึงเรื่องคุณภาพบริการและราคา ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ก็ขอให้ถือว่าเป็นกระจกสะท้อนนะครับ ผมไม่ได้เจตนาจะมาล่อเป้าให้ใดๆ หวังว่าหลายท่านที่การบินไทย ทั้งบางคนในคณะกรรมการ ทั้งผู้บริหาร ทั้งพนักงาน ที่ผมยังรักใคร่ นับถือชอบพอ คงไม่เคืองจนเกินไปนะครับ

เป็นเรื่องแปลกที่ในเมืองไทย เวลามีอะไรที่ไม่ดีไม่ชอบ เรามักจะนั่งค้นหามุ่งประณามว่า “ใครทำ” ใครกันวะที่ไม่ใช่กู? แต่ผมเป็นอีกพวก ที่มุ่งจะหาว่า เป็น “เพราะอะไร” ทำไมมันถึงไม่ถูกไม่ต้อง ปัจจัยโครงสร้างอะไรที่ผิดเพี้ยนบิดเบี้ยว มากกว่าจะหาจำเลยที่เป็นปุถุชน ระหว่างการตะโกนเรียกร้องหา “คนดี คนเก่ง” กับการสร้างระบบที่ทำให้ “คนดีกับคนเก่ง” เท่านั้นที่จะได้มีโอกาสมาทำงาน …ผมเลือกอย่างหลังครับ

…รออ่านตอนต่อไปนะครับ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongoanich