ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > ผู้แทนการค้ารัสเซียและศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ แจงมีมาตรฐานการใช้แร่ใยหินอย่างไรให้ปลอดภัย

ผู้แทนการค้ารัสเซียและศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ แจงมีมาตรฐานการใช้แร่ใยหินอย่างไรให้ปลอดภัย

20 พฤศจิกายน 2014


ปัจจุบันประเทศไทยอนุญาตให้ใช้แร่ใยหินเพียงชนิดเดียวคือไครโซไทล์ และอยู่ระหว่างการพิจารณายกเลิกการใช้แร่ใยหินทุกชนิดในประเทศไทย จากสถานการณ์ดังกล่าว ทางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกการใช้ไครโซไทล์จึงพยายามเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านของไครโซไทล์ที่สามารถควบคุมและป้องกันได้ ดังนั้นทางผู้แทนการค้ารัสเชีย ร่วมกับศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ จัดเสวนาวิชาการเพื่อชี้แจงมาตรการการใช้ไครโซไทล์ที่สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย โดยมีตัวอย่างของมาตรการการควบคุมไครโซไทล์ที่ทำได้จริงในต่างประเทศเนื่องจากไม่พบผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหินหลังใช้เฉพาะไครโซไทล์

เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ผู้แทนการค้าแห่งสหพันธรัฐรัสเชียประจำประเทศไทย ร่วมกับศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ (ICA) และศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์แห่งประเทศไทย (CIC) จัดงานเสนาเรื่อง “นโยบายนานาชาติและหลักการทางวิทยาศาสตร์ในการบริหารจัดการใยหินไครโซไทล์” เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้ไครโซไทล์อย่างปลอดภัย โดยมีผู้แทนจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมเสวนา ได้แก่ นายฌาคส์ ดันนิแกน (Jacques Dunnigan) ศาสตราจารย์จากประเทศแคนาดา, นายวิเวก จันดรา เรา ศรีปาล (Vivek Chandra Rao Sripalle) รองประธานด้านความปลอดภัยทางสุขภาพของบริษัท HIL จำกัด ประเทศอินเดีย, นายคลอดิโอ ซาเกรีย (Claudio Scliar) เลขาธิการด้านธรณีวิทยา กระทรวงพลังงานและการเหมืองแร่ ประเทศบราซิล, นายลี แวน ตอย (Le Van Toi) อธิบดีกรมวัสดุการก่อสร้าง กระทรวงการก่อสร้าง ประเทศเวียดนาม, นางสาวลี ที เฮง (LE Thi Hang) อธิบดีกรมการก่อสร้างโรงพยาบาล กระทรวงการก่อสร้างประเทศเวียดนาม, นายสมชัย บวรกิตติ ศาสตราจารย์สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน และนายภูริศ ศรสรุทร์ ผู้แทนกลุ่มวิจัยวิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

วิทยากรในงานเสาวนาวิชาการระดับนานาชาติเรื่อง "นโยบายนานาชาติและหลักการทางวิทยาศาสตร์ในการบริหารจัดการใยหนไครโซไทล์" เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท
วิทยากรในงานเสวนาวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง “นโยบายนานาชาติและหลักการทางวิทยาศาสตร์ในการบริหารจัดการใยหินไครโซไทล์” เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2557 ณ โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท

นายฌาคส์ ดันนิแกน ศาสตราจารย์จากประเทศแคนาดา กล่าวว่า ในทวีปอเมริกาเหนือมีการจัดการทางวิทยาศาสตร์และมาตรการควบคุมความเสี่ยงด้านสุขภาพและกระบวนการผลิตแร่ใยหิน โดยรัฐบาลจะควบคุมอุตสาหกรรมตั้งแต่การอนุญาตประกอบกิจการ การติดตามตรวจสอบ และการประเมินผล ซึ่งมีการกำหนดมาตรฐานด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไว้ชัดเจน

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เคยทำเอกสารเผยแพร่เกี่ยวกับการใช้แร่ใยหินอย่างปลอดภัย “safety in the use of asbestos” ซึ่งหมายความว่า แร่ใยหินชนิดไครโซไทล์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะก่อผลกระทบทางสุขภาพน้อยกว่าแร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบล โดยมีหลักฐานการวิจัยจากหลายประเทศ เช่น อังกฤษ สวีเดน กรีซ ฯลฯ ที่ระบุว่า ไม่พบผู้ป่วยกรณีร้ายแรงที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหินเลยหลังจากที่อนุญาตให้ใช้เฉพาะไครโซไทล์เท่านั้น

สำหรับค่ามาตรฐานการฟุ้งกระจายของฝุ่นใยหินในอากาศที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1 เส้นใยต่อมิลลิลิตรอากาศ ก็พบว่า ในสภาพแวดล้อมปกติมีฝุ่นใยหินปนเปื้อนอยู่ในอากาศ 0.001 เส้นใยต่อมิลลิลิตรอากาศ ซึ่งเป็นปริมาณที่มากกว่าที่ตรวจพบในโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหินเสียอีก

“ในปี 2529 องค์กรพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งสหรัฐอเมริกา (USEPA) สั่งให้แบนแร่ใยหินทุกชนิดในอเมริกา แต่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในปี 2534 ว่าอนุญาตให้นำเข้าไครโซไทล์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมได้ ภายใต้การควบคุมของกฎหมายว่าด้วยการควบคุมวัตถุมีพิษ เนื่องจากไครโซไทล์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย และมีข้อมูลหลักฐานไม่เพียงพอที่สนับสนุนให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินในอเมริกา” นายฌาคส์กล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ในประเทศแคนาดา ILO เคยเรียกร้องให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินเช่นกัน แต่ยกเลิกแร่ใยหินชนิดแอมฟิโบลเท่านั้น เนื่องจากพิสูจน์และยืนยันได้ชัดเจนแล้วว่าอันตรายมากกว่าไครโซไทล์ จึงส่งผลให้ประเทศอังกฤษ และออนตาริโอ ยกเลิกการใช้แอมฟิโบลด้วย ส่วนไครโซไทล์ยังอนุญาตให้ใช้ได้โดยมีการควบคุมการฟุ้งกระจายของใยหินในอากาศอยู่ที่ 0.1-1 เส้นใยต่อมิลลิลิตรอากาศ

ด้านนายวิเวก จันดรา เรา ศรีปาล รองประธานด้านความปลอดภัยทางสุขภาพของบริษัท HIL จำกัด ประเทศอินเดีย กล่าวว่า การผลิตซีเมนต์แร่ใยหินสามารถควบคุมการใช้ให้ปลอดภัยได้ ซึ่งในอินเดียต้องขออนุญาตก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจากรัฐ ซึ่งการก่อตั้งโรงงานก็ต้องคำนึงถึงสุขภาพสิ่งแวดล้อมด้วยโดยบังคับให้ทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ส่วนในระบบการผลิต รัฐบาลประกาศกฎระเบียบกำหนดมาตรฐานให้ตรวจสุขภาพพนักงานเป็นประจำ และกำหนดให้ตรวจวัดคุณภาพอากาศสม่ำเสมอโดยติดเครื่องมือวัดไว้ที่คนงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐจะเข้าไปสุ่มตรวจสอบ

สำหรับผู้ประกอบการก็ใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ซึ่งลดการสัมผัสโดยตรงระหว่างคนงานกับแร่ใยหิน เช่น มีระบบสายพานขนส่งวัตถุดิบ มีห้องหรือบ่อผสมระบบปิดที่ใส่วัตถุดิบทั้งถุงและตีผสมภายในบ่อ รวมถึงมีการดูดฝุ่นภายในห้องผลิตทุกวัน นอกจากนี้ยังใช้ระบบเปียกหรือการฉีดพ่นน้ำเข้ามาช่วยในการลดและกำจัดฝุ่นใยหินและการกำจัดขยะ ส่วนคนงานก็มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน

“ผลการตรวจคุณภาพอากาศที่ผ่านมายังไม่เคยเกินค่ามาตรฐานที่รัฐกำหนดไว้คือ 1 เส้นใยต่อมิลลิลิตร รวมถึงการตรวจสุขภาพคนงานทั้งเอ็กซเรย์ปอดและเป่าปอดพบว่า ทุกคนสุขภาพปกติ ทั้งนี้ในประเทศอินเดียเคยจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินเช่นกันแต่ศาลสูงพิพากษาให้ใช้ได้อย่างปลอดภัยโดยควบคุมการใช้แทน” นายวิเวกกล่าว

ด้านนายคลอดิโอ ซาเกรีย เลขาธิการด้านธรณีวิทยา กระทรวงพลังงานและการเหมืองแร่ ประเทศบราซิล กล่าวว่า แร่ใยหินมีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งแร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลอันตรายมากกว่าไครโซไทล์ ทั้งนี้ในชั้นบรรยากาศทั่วๆ ไปก็มีฝุ่นแร่ใยหินฟุ้งกระจายอยู่แล้ว ในแหล่งน้ำธรรมชาติก็มีแร่ใยหินปนเปื้อน ด้านอุตสาหกรรมก็เลือกแร่ใยหินมาใช้เนื่องจากคุณสมบัติที่แข็งแรง ทนความร้อนสูง และมีอยู่มากในธรรมชาติของบราซิล

“เหมืองมินาซู ที่รัฐโกลาส เป็นเหมืองขนาดใหญ่ของประเทศซึ่งประชาชนก็อาศัยอยู่ใกล้ๆ กับเหมือง แต่ก็ไม่พบปัญหาทางสุขภาพใดๆ ในคนงานเหมืองและประชาชนที่อาศัยอยู่โดยรอบ ทั้งนี้ บราซิลมีประชากรที่ใช้กระเบื้องมุงหลังคาที่มีแร่ใยหินถึง 25 ล้านครัวเรือน และจากการติดตามสุขภาพของผู้ที่อาศัยภายใต้หลังคาใยหิน 550 คนเป็นเวลา 15 ปี ก็ไม่พบว่ามีผู้ป่วยเกี่ยวกับโรคทางเดินหายใจ” นายคลอดิโอกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า บราซิลมีอุตสาหกรรมแร่ใยหิน 12 แห่ง และโรงงานแร่ใยหิน 20 แห่ง กระจายอยู่ทั่วประเทศ มีการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยของคนงานโดย ILO ในปี 2527 ซึ่งต่อมาบราซิลก็จัดทำคู่มือปฏิบัติในการใช้แร่ใยหินอย่างปลอดภัยขึ้นเพื่อเป็นข้อกำหนดให้สถานประกอบการปฏิบัติตาม ซึ่งรายละเอียดของการปฏิบัติงานจะมีความแตกต่างกันตามความเสี่ยงของงานและพื้นที่ในการปฏิบัติงาน

นายคลอดิโอกล่าวอีกว่า ตั้งแต่มีข้อกำหนดการใช้แร่ใยหินอย่างปลอดภัยมา พบปัญหาเพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกิดจากที่สถานประกอบการละเมิดข้อกำหนดที่ว่า ต้องตรวจสุขภาพและวัดคุณภาพอากาศทุก 2, 3 หรือ 6 เดือน ซึ่งหากพนักงานสุขภาพไม่ผ่านก็ต้องออกจากงาน ส่วนสถานประกอบถ้าไม่ได้มาตรฐานจะถูกสั่งปิด

ด้านนายลี แวน ตอย อธิบดีกรมวัสดุการก่อสร้าง กระทรวงการก่อสร้าง ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า เวียดนามกำหนดให้ใช้เฉพาะไครโซไทล์เท่านั้น โดยมีการควบคุมการใช้ที่เข้มงวด เพื่อปกป้องสุขภาพของพนักงานและสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันมีแผนลดการใช้กระเบื้องแร่ใยหินระหว่างปี 2557-2562 โดยเป็นทางเลือกหนึ่งของการลดผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมนอกเหนือจากการควบคุมการใช้

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ที่ผ่านมาจากศึกษาของกรมยังไม่พบผู้ป่วยที่มีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน ไม่ว่าจะตรวจสุขภาพจากการเอ็กซเรย์ปอดหรือทำ CT Scan ในด้านของช่างก่อสร้างที่ใช้ผลิตภัณฑ์แร่ใยหินก็ยังไม่พบว่าป่วยมาจากไครโซไทล์

ในขณะที่นางสาวลี ที เฮง (LE Thi Hang) อธิบดีกรมการก่อสร้างโรงพยาบาล กระทรวงการก่อสร้าง ประเทศเวียดนาม กล่าวว่า อุตสาหกรรมแร่ใยหินในเวียดนามมีทั้งหมด 39 แห่ง แบ่งเป็นอุตสาหกรรม 34 แห่ง และโรงงานขนาดเล็ก 5 แห่ง ซึ่งรวมแล้วมีพนักงานกว่า 5,000 คน ซึ่งปัญหาทางสุขภาพที่พบส่วนใหญ่เกิดจากมลภาวะทางเสียงและแสง ส่วนปัญหาทางสุขภาพที่เกิดจากฝุ่นมีร้อยละ 7 เท่านั้น

จากการศึกษาของกรมโดยมีกลุ่มตัวอย่าง 1,032 คนจากสถานประกอบการที่แตกต่างกัน ซึ่งคนงานร้อยละ 48 ทำงานมาน้อยกว่า 10 ปี และมีคนงานที่ทำงานมากกว่า 20 ปีร้อยละ 19 พบว่า คนงาน 1,022 คน หรือร้อยละ 98 มีสุขภาพปกติ ส่วนปัญหาทางสุขภาพของอีก 20 คนที่เหลือป่วยจากสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไครโซไทล์ นั่นเพราะทางรัฐบาลมีมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของสถานประกอบการและพนักงาน

ทั้งนี้ สาเหตุที่ทำให้บางประเทศยกเลิกการใช้แร่ใยหิน บางประเทศอนุญาตให้ใช้โดยมีการควบคุมนั้น ผู้เข้าร่วมเสวนาต่างมีความเห็นตรงกันว่า เกิดจากการแข่งขันทางการค้า และแรงกดดันจากองค์กรต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งประเทศที่มีความพร้อมเรื่องสารทดแทนและเทคโนโยลีก็สามารถที่จะยกเลิกการใช้แร่ใยหินได้ ในขณะที่บางประเทศที่มีมาตรการควบคุมที่ดี และจัดการด้านผลกระทบที่เกิดแร่ใยหินได้ ก็เลือกที่จะใช้โดยมีการควบคุม

สำหรับสถานการณ์เรื่องแร่ใยหินในประเทศไทย นายสมชัย บวรกิตติ ศาสตราจารย์สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่า แร่ใยหินมีอันตรายจริง และที่ทำให้ก่อโรคในคนนั่นเพราะในตอนนั้นมนุษย์ยังขาดความรู้เรื่องอันตรายจากแร่ใยหิน แต่ในวันนี้มนุษย์มีความรู้ดีแล้วจึงสามารถควบคุมป้องกันการใช้ให้เกิดความปลอดภัยได้ ซึ่งสำหรับประเทศไทยใช้แร่ใยหินมากว่า 70 ปีแล้วก็ยังไม่พบผู้ป่วยจากแร่ใยหินที่พิสูจน์ได้ และปัจจุบันประเทศไทยใช้เฉพาะไครโซไทล์ซึ่งอยู่ในกระเบื้องมุงหลังคาบ้านและโรงเลี้ยงสุกร ก็ยังไม่พบว่าคนหรือสุกรป่วยจากไครโซไทล์ นั่นเพราะไครโซไทล์ไม่ก่ออันตรายต่อสุขภาพ

เช่นเดียวกับที่นายภูริศ ศรสรุทร์ ผู้แทนกลุ่มวิจัยวิทยาลัยการบริหารและจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า จากงานวิจัย “การควบคุม มาตรการ และข้อเสนอแนะในการจัดการและนำแร่ใยหินชนิดไครโซไทล์ไปใช้อย่างปลอดภัย” ที่ศึกษาเองพบว่า การใช้ไครโซไทล์สามารถควบคุมให้เกิดความปลอดภัยได้ แต่หากยกเลิกการใช้ไปทันทีจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท เนื่องจากโรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ราชการ รวมถึงโรงเลี้ยงสุกรของประเทศไทยในปัจจุบันที่ใช้หลังคามุงกระเบื้องที่มีแร่ใยหินประกอบนั้นมีจำนวนมาก นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต้องลงทุนเพิ่มกว่า 30 ล้านบาท และส่งผลให้มีผู้ว่างงานอีก 4,000-5,000 คน

“หากจะเปลี่ยนไปใช้สารทดแทน ต้องคำนึงถึงคุณภาพที่ดีอย่างน้อยเทียบเท่าเดิม และมีราคาที่เหมาะสมด้วย ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพยังไม่พบปัญหาที่เกิดจากการใช้สารทดแทน” นายภูริศกล่าว