ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอน10): มาตรการป้องกัน-เฝ้าระวัง แจกคู่มือกลุ่มเสี่ยง

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอน10): มาตรการป้องกัน-เฝ้าระวัง แจกคู่มือกลุ่มเสี่ยง

23 มกราคม 2015


สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กำหนดมาตรการป้องกันและทำระบบเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน พร้อมทำเป็นหนังสือ “คู่มือ” ให้กับสถานประกอบการที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบ

จากการนำเสนอซีรีส์สังคมไทยไร้แร่ใยหินมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหน่วยงานรัฐหลายภาคส่วนมีหน้าที่ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี 2554 เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน แต่จนถึงปัจจุบันการผลักดันเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยก็ยังไม่สำเร็จนั้น ทางด้านของกระทรวงสาธารณสุด ล่าสุด “คณะอนุกรรมการการดำเนินการด้านนโยบายอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม” ได้แต่งตั้ง “คณะทำงานพัฒนาแนวทางเฝ้าระวังโรค”ขึ้นเพื่อทำงานด้านการเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน โดยมีนายปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานดำเนินงาน

ด้านนายปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้สำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ กำลังทำระบบเฝ้าระวังประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน โดยเฝ้าระวังโรคที่เกิดจากแร่ใยหิน 3 ชนิด ได้แก่ โรคปอด โรคมะเร็งปอด และโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ซึ่งโรคเหล่านี้จะไม่แสดงอาการในระยะแรกๆ ฉะนั้น ผู้ป่วยจึงไม่รู้สึกเหนื่อยหรือรู้สึกถึงความผิดปกติของร่างกายจนกว่าโรคจะลุกลามหรือกลายเป็นมะเร็งแล้ว

สำหรับกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังโรคคือ กลุ่มประชากรที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการใช้แร่ใยหิน ซึ่งกลุ่มนี้ก็จะมีการตรวจร่างกาย ตรวจสุขภาพ เช่น เอ็กซเรย์ปอด เป่าปอด ประจำทุกปี ซึ่งแพทย์จะพบความผิดปกติบางอย่างได้ เช่น พบเยื่อหุ้มปอดหนาขึ้น ส่วนการตรวจหามะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้นจะพบได้ยากเพราะระยะเกิดโรคเร็วที่สุดหลังการสัมผัสก็คือ 20 ปี ดังนั้นเราก็จะมี “กระบวนการค้นหา” ก่อนว่ามีกลุ่มเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน โดยดูจากระบบทะเบียนของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ แล้วติดตามไปดูประวัติการทำงานของผู้ป่วยว่ามีโอกาสสัมผัสแร่ใยหินหรือไม่

แร่ใยหิน

ด้าน “การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก” นั้น ปัจจุบันสำนักโรคจากการประกบอาชีพฯ กำลังพัฒนากระบวนการค้นหาผู้ป่วยโดยทำงานร่วมกับกรมการแพทย์ ซึ่งหากทางกรมการแพทย์วินิจฉัยพบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดก็จะสอบสวนประวัติการทำงานของผู้ป่วยอย่างละเอียดมากขึ้นว่าเคยสัมผัสแร่ใยหินหรือไม่

“มาตรการเร่งรัดที่ดำเนินการในตอนนี้คือ “การให้ความรู้” โดยมีกระบวนการสื่อให้สังคมรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกัน และความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากแร่ใยหินที่ชัดเจนมากขึ้นผ่านสถานพยาบาล ตั้งแต่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากแร่ใยหิน และถึงแม้จะยังไม่ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน แต่ประชาชนก็ต้องเข้าใจและป้องกันความเสี่ยงได้ ซึ่งที่ผ่านมาเคยทำไปแล้วครั้งหนึ่งแต่ไม่สำเร็จ เพราะประชาชนยังมองไม่เห็นถึงความเสี่ยงที่จะเกิดโรค” นายปรีชากล่าว

ด้าน “การดูแลกลุ่มเสี่ยง” เช่น คนงานก่อสร้าง จะทำหนังสือคู่มือแนวทางปฏิบัติในการทำงานให้กับบริษัทก่อสร้างหรือผู้รับเหมานำไปปฏิบัติในการทำงาน และติดตามการปฏิบัติตามคู่มือของสถานประกอบการแต่ละแห่งที่ใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบ

“แม้ว่าตอนนี้เรายังไม่มีจำนวนประชากรกลุ่มเสี่ยงอย่างช่างก่อสร้างที่ชัดเจน แต่ก็สามารถกำหนดจำนวนคร่าวๆ จากพื้นที่ตั้งสถานประกอบการได้ โดยกลุ่มบริษัทอสังหาริมทรัพย์หรือบริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ ทางสำนักฯ ก็จะให้คู่มือแนวทางปฏิบัติแก่บริษัทโดยตรง ส่วนบริษัทขนาดเล็ก จะได้คู่มือแนวทางปฏิบัติผ่านสำนักงานในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานคุ้มครองและป้องกันโรคเขตต่างๆ” นายปรีชากล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า ช่างรื้อถอนเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่กรมควบคุมโรคให้ความสำคัญ และเริ่มดำเนินการกำหนดมาตรการป้องกันการสัมผัสแร่ใยหินโดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือป้องกันส่วนบุคคล รวมถึงตรวจหาการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินในอากาศขณะรื้อถอนด้วย ซึ่งปัจจุบันทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ ได้พัฒนาเป็นหนังสือคู่มือและผลิตออกมาเป็นหนังสือเล่มแล้ว

ทั้งนี้ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ ยังได้พัฒนาวิธีการและสร้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อตรวจวัดเส้นใยแร่ใยหินในสิ่งแวดล้อม โดยจัดฝึกอบรมและให้ความรู้แก่บุคลากรของหน่วยงาน เนื่องจากปัจจุบันเหลือผู้เชี่ยวชาญน้อยราย รวมถึงจัดอบรมในระดับแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดด้วย เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันโรคจากแร่ใยหินที่ถูกต้อง

ทบทวนกรณีผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอด พบเหตุเกิดจากแร่ใยหิน

“จากการทบทวนวรรณกรรมเดิมที่มีอยู่ของ “คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน” พบผู้ป่วยจากการทำงานที่เกิดจากแร่ใยหิน 12 ราย โดยนำรายชื่อผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจากทะเบียนมะเร็งทั้งจากสถาบันโรคทรวงอกและจากมหาวิทยาลัยต่าง มาสืบค้นประวัติการทำงานและทบทวนการวินิจฉัยใหม่ อีกทั้งยังพบว่าโรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดร้อยละ 80-90 เกิดจากแร่ใยหิน” นายปรีชากล่าว

สำหรับสาเหตุที่พบผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอดจำนวนน้อยเพราะว่า อุบัติการณ์ของโรคมีน้อยมากอยู่แล้ว ไม่เหมือนกับมะเร็งปอดที่สัมพันธ์กับบุหรี่และสารอื่นๆ มากมาย ดังนั้นจึงลำบากที่จะบอกว่าแร่ใยหินมีผลกระทบต่อมะเร็งหรือไม่

ส่วนกรณีที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดใช้ค่ามาตรฐานแร่ใยหินในอากาศที่ 5 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตรนั้น ทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ ได้เสนอให้กระทรวงอุตสาหกรรมปรับลงเหลือ 0.1 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตรเหมือนกับต่างประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าคนงานมีโอกาสสัมผัสแร่ใยหินน้อย แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องหาหลักฐานมาสนับสนุนอันตรายของแร่ใยหินให้มากขึ้น เพื่อให้กระทรวงอุตสาหกรรมปรับเปลี่ยนค่ามาตรฐานความปลอดภัยโดยไม่มีข้อโต้แย้ง

“แม้ว่าเราจะเสนอแผนไปด้วยหลักฐานเดิมที่มีอยู่ แต่ก็มีบางส่วนที่เราต้องทำเพิ่มเติม เพราะสถานประกอบการแต่ละแห่งมีความหย่อนยานในเรื่องของมาตรฐาน” นายปรีชากล่าว

โมเดลการเฝ้าระวังโรคจากแร่ใยหินในประเทศเกาหลี

ทั้งนี้ เพื่อการทบทวนและวินิจฉัยโรคที่เป็นระบบจึงไปดูงานที่ประเทศเกาหลีเมื่อพฤษภาคม 2557 ตามโครงการศึกษาร่วมกันระหว่างเกาหลีกับประเทศไทยที่จะขับเคลื่อนการยกเลิกการใช้แร่ใยหิน โดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ มาประชุมร่วมกันเพื่อจัดทำแนวทางเฝ้าระวังโรค ซึ่งโครงการนี้ศึกษาครอบคลุมตั้งแต่เรื่องกฎหมาย การป้องกันความเสี่ยง การเฝ้าระวัง และระบบการวินิจฉัย

“ระบบการเฝ้าระวังที่เกาหลีดีมาก เช่น การรื้อถอนอาคาร ก็จะระบุชัดเจนว่าวัสดุชิ้นใดบ้างที่มีแร่ใยหินประกอบ แล้ววาดออกมาเป็นแผนผังได้ ทั้งนี้ประเทศเกาหลีจะให้ความสำคัญมากกับอาคารเรียน เพราะหากประชากรสัมผัสแร่ใยหินตั้งแต่เด็กๆ จะมีโอกาสป่วยจากแร่ใยหินได้เร็วขึ้น เช่น ในโรงเรียนอนุบาล ดังนั้น หากพบว่าอาคารเรียนใดใช้วัสดุแร่ใยหินก็จะสั่งรื้อถอน” นายปรีชากล่าวและบอกว่า ประเทศเกาหลีได้กำหนดให้สถานประกอบการต่างๆ ที่ใช้แร่ใยหินต้องตรวจวัดและรายงานสภาพแวดล้อมในการทำงาน รวมถึงการกำจัดหากรื้อถอนอาคารแก่ทางการด้วย โดยมีองค์กรที่ดูแลเรื่องแร่ใยหินโดยเฉพาะ

สำหรับองค์กรดังกล่าวจะดูแลตั้งแต่การควบคุมการบังคับใช้กฎหมาย ไปจนถึงกระบวนการกำจัดวัสดุที่มีแร่ใยหินประกอบ ส่วนในเรื่องของสุขภาพองค์กรนี้จะเชื่อมโยงกับทางการแพทย์และคอยประสานงาน ไม่ได้ดูแลด้านสุขภาพโดยตรง และเมื่อวินิจฉัยแล้วพบว่าประชาชนป่วย ก็จะได้รับค่าชดเชยจากกองทุน ซึ่งจ่ายให้หมดทุกคนโดยไม่ได้สนใจว่าป่วยมาจากสาเหตุใด เพราะคนที่สัมผัสมีโอกาสเกิดโรค แต่คนที่เกิดโรคคือสัมผัสมาแล้ว

ด้านการวินิจฉัยโรคจากเหตุแร่ใยหินในเกาหลีมีระบบค่อนข้างดี โดยมีคู่มือการวินิจฉัยให้แพทย์ทุกคน ทุกโรงพยาบาล ฉะนั้น แพทย์ทุกคนจะทราบว่าต้องวินิจฉัยอย่างไร และรายงานคนไข้อย่างไรซึ่งมีระบบส่งต่อข้อมูลเข้าส่วนกลาง อีกทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนแพทย์ต่างๆ ก็ร่วมมือกันดีมาก เช่น การอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์โรคเหตุแร่ใยหิน แพทย์ที่เกาหลีจะได้รับการอบรมอย่างกว้างขวาง คือโรงพยาบาลทุกจังหวัดสามารถวินิจฉัยโรคจากแร่ใยหินได้ รวมถึงวิจัยหาสารกำหนดชีวภาพที่มีความสัมพันธ์กับการสัมผัสแร่ใยหิน เพื่อคัดกรองโรคได้รวดเร็วขึ้น

ในขณะที่แพทย์ในประเทศไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านฟิล์มโรคเหตุแร่ใยหินโดยตรงน้อย โดยจำกัดอยู่แต่เฉพาะแพทย์ที่สนใจเท่านั้น อีกทั้งการจ่ายค่าชดเชยจากกองทุนทดแทนของไทยก็ไม่ได้ระบุว่าป่วยเหตุแร่ใยหิน เนื่องจากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดแต่ไม่ได้ระบุสาเหตุว่ามาจากแร่ใยหิน นั่นเพราะการวินิจฉัยของแพทย์อาจไม่เชี่ยวชาญมากพอหรือแพทย์ไม่ได้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการวินิจฉัย อีกทั้งผู้ป่วยอาจขอร้องแพทย์ว่าอย่าระบุสาเหตุการเกิดโรค เพราะจะทำให้ถูกไล่ออกจากงาน หรือค่าชดเชยที่ผู้ป่วยได้ไม่มากพอสำหรับการยังชีพ

“ตอนนี้ผมก็ขอคู่มือของเกาหลีอยู่เพื่อมาใช้เป็นแนวทางในประเทศไทย โดยจะให้เครือข่ายแพทย์สาขาต่างๆ มาประชุมร่วมกันเพื่อสร้างกระบวนการวินิจฉัยให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และขยายเครือข่ายให้กว้างมากขึ้น” นายปรีชากล่าว

อุปสรรคในการเฝ้าระวังโรคเหตุใยหิน

ในแง่การสัมผัส ไม่ว่าการตรวจสภาพแวดล้อมสถานประกอบการที่ใช้วัสดุแร่ใยหินจะมีค่าเกินหรือไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่คนงานยังมีความเสี่ยงอยู่ เพราะค่ามาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนดคือ 5 เส้นใยต่ออากาศ 1 ลูกบาศก์เซนติเมตร

ส่วนผลกระทบด้านสุขภาพ ยังไม่มีข้อมูลที่เพียงพอที่จะสรุปว่าแร่ใยหินปลอดภัยหรือไม่ เพราะจากข้อมูลที่กระทรวงสาธารณสุขทบทวนมานั้นยังไม่พบข้อมูลที่สนับสนุนหรือคัดค้านแต่อย่างใด เนื่องจากยังถกเถียงกันอยู่ว่า การเกิดโรคเหตุแร่ใยหินในประชาชนทั่วไปที่ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงนั้น มีหลักฐานยืนยันมากเพียงพอหรือยัง

“ในโรคที่เกิดขึ้นได้ยากมากๆ เช่น โรคมะเร็งเยื่อหุ้มปอดนั้น ไม่จำเป็นต้องหาหลักฐานเชิงประจักษ์มาประกอบ แต่สามารถใช้พยาธิสภาพที่จะก่อให้เกิดโรคมาใช้ประกอบแทนได้ โดยสันนิษฐานว่า แค่แร่ใยหินเพียง 1 เส้นใย ก็สามารถก่อให้เกิดโรคได้ เพียงแต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะส่งผลมากหรือน้อย” นายปรีชากล่าวและว่า ถ้ามีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทดแทนแร่ใยหินได้ ก็ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทน เพราะอย่างประเทศเกาหลีใช้ผลิตภัณฑ์ทดแทนมาตั้งแต่ปี 2552 ก็ไม่พบว่าประชาชนได้รับผลกระทบใดๆ จากสารทดแทนดังกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า แม้การเฝ้าระวังโรคจากแร่ใยหินจะทำได้ยาก เพราะระยะฟักตัวของโรคนาน ไม่แสดงอาการ ไม่มีตัวชี้วัด จนกว่าจะเกิดโรคแล้ว ฉะนั้นทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพจึงเน้น “ป้องกัน” ไม่ให้เกิดการ “สัมผัส” เพราะถ้าสัมผัสไปแล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะป้องกันได้อย่างไร ต่างกับโรคติดเชื้ออื่นๆ ที่มีระบบป้องกัน เช่น ฉีดวัคซีน ดังนั้น เมื่อสัมผัสแร่ใยหินไปแล้ว การเฝ้าระวังจะทำได้เพียงแนะนำให้ผู้สัมผัสแร่ใยหิน “งดปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ” ที่จะก่อให้เกิดโรค เช่น การสูบบุหรี่

สำหรับการทำทะเบียนผู้ที่สัมผัสแร่ใยหินนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขก็เสนอให้มีการจัดทำ แต่ก็มีความเป็นไปได้ยาก เพราะประเทศไทยไม่มีระบบและหน่วยงานเก็บฐานข้อมูลที่ชัดเจน รวมถึงขาดระบบส่งต่อข้อมูลที่ดี นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยงยังเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ทำให้เก็บข้อมูลได้ยาก ซึ่งแนวทางที่เป็นไปได้คือ จัดตั้งศูนย์ขึ้นมาดูแลเฉพาะเรื่องแร่ใยหิน หรือตั้งเป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านโรคปอดจากการทำงาน

สำหรับการทำงานของอนุกรรมการฯ นั้น ตอนนี้ยังไม่มีการประชุมใดๆ เพราะคณะกรรมการชุดใหญ่มีรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำให้ข้อเสนอของคณะอนุกรรมการฯ ไม่มีคณะกรรมการชุดใหญ่รองรับ ฉะนั้น ทางสำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ จึงตั้งคณะทำงานด้านการพัฒนาการเฝ้าระวังขึ้น เพื่อดำเนินการด้านวิชาการ ตามหน้าที่ปกติของสำนักฯ ที่ต้องพัฒนาระบบเฝ้าระวังเพื่อเป็นแนวทางให้จังหวัดและโรงพยาบาลนำไปใช้ และพร้อมที่จะเสนอ ครม. ทันทีที่มีรัฐบาล