จากความพยายามที่จะยกเลิกการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์ให้สำเร็จในปี 2555 แต่ปัจจุบันก็ยังไม่สำเร็จด้วยปัญหาด้านนโยบายที่ยังไม่ผ่านคณะรัฐมนตรี รวมถึงยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า ไครโซไทล์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ และโรคเหตุแร่ใยหินในประเทศไทยยังไม่ชัดเจน
ปัจจุบันข้อมูลแร่ใยหินไครโซไทล์แบ่งออกเป็น 2 ชุด จาก 2 กลุ่มที่มีความเห็นตรงข้ามกัน โดยฝ่ายหนึ่งยืนยันว่าแร่ใยหินทุกชนิดรวมถึงไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ ซึ่งปัจจุบันมีสารทดแทนใช้แล้ว ดังนั้นจึงต้องยกเลิกการใช้ ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งแย้งว่า ข้อมูลทางการแพทย์ในไทยยังไม่ชัดเจนพอที่จะสรุปได้ว่าโรคที่เกิดขึ้นมาจากแร่ใยหิน เพราะมีผู้ป่วยที่อาจเป็นโรคเหตุแร่ใยหินรวมแล้วไม่ถึง 100 ราย และตรวจไม่พบเส้นใยหินในปอดของคนไข้
ด้วยเหตุนี้ ทางสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน ได้จัดเสวนา “นานาทัศนะการใช้ใยหินในอุตสาหกรรมไทย…จำเป็นหรือไม่” ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2556 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับแร่ใยหินในไทย ในครั้งนั้นสรุปได้ว่า ข้อมูลความรู้เรื่องการใช้แร่ใยหินไครโซไทล์มีน้อยมาก ซึ่งไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้ประกอบในเชิงนโยบาย แม้ว่าประเทศไทยจะนำเข้าแร่ใยหินเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมมานานกว่า 70 ปีแล้ว
ต่อมาในปี 2557 สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน จึงจัดเสวนาเป็นครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “การใช้ใยหินไครโซไทล์ในอุตสาหกรรมไทยและผลกระทบต่อสุขภาพ” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2557 โดยระบุว่าต้องการระดมความรู้ ความคิด จากนักวิชาการในสายงานที่เกี่ยวข้องและตัวแทนภาครัฐ มาร่วมกันหาข้อมูลที่แท้จริงให้สังคมรับทราบ และหาแนวทางดูแลและควบคุมการใช้ไครโซไทล์อย่างปลอดภัยในอุตสาหกรรมโดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ
1. ดร. นพ.สุรศักดิ์ บูรณตรีเวทย์ ศาสตราจารย์คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้แทนสมาคมโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย
2. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล รองศาสตราจารย์ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
3. พญ.พงษ์ลดา สุพรรณชาติ สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
4. นพ.วรชัย ศิริกุลชยานนท์ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
5. ดร.ปรียา ลีฬหกุล รองศาสตราจารย์หลักสูตรโภชนศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
6. ดร.ศิริวรรณ พราพงษ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
7. ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน
8. ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ รองศาสตราจารย์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
9. ดร.อิงเหวย หวัง ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
10. นางสมศรี สุวรรณจรัส ผู้อำนวยการสำนักควบคุมวัตถุอันตราย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม
11. นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมกระทรวงสาธารณสุข
12. นายบัณฑิต ตั้งประเสริฐ รองเลขาธิการ สำนักคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
บทสรุปจาการเสวนาครั้งนี้ก็ยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่า แท้จริงแล้วไครโซไทล์สามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ เพราะข้อมูลที่วิทยากรนำมาหารือ แม้ทางการแพทย์ของต่างประเทศจะระบุว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ และไม่มีระดับการใช้ที่ปลอดภัย แต่ข้อมูลทางการแพทย์ในเมืองไทยยังมีน้อยและระบุได้ไม่ชัดเจนเหมือนในต่างประเทศ ทั้งนี้ จากข้อมูลที่วิทยากรนำมาเสนอส่วนใหญ่จะบอกว่าประเทศไทยไม่มีข้อมูลหรือมีแต่น้อยมาก แต่ในเวทีเสวนาไม่ได้พูดในประเด็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องหารือและวางระบบการจัดเก็บข้อมูลโรคที่เกิดจากแร่ใยหินอย่างเป็นระบบและจริงจังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ในขณะที่ฝ่ายอุตสาหกรรมยืนยันว่าระบบการผลิตใช้เครื่องจักรทำงานแทนคนจึงทำให้คนไม่ต้องรับสัมผัสจากใยหิน
อย่างไรก็ตาม ในวงสัมมนา รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล สาขาวิชาโรคระบบทางเดินหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โรคปอดเหตุแร่ใยหินแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ
1. โรคเยื่อหุ้มปอดชนิดไม่ร้าย เช่น มีน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มปอดหนา 2. โรคปอดใยหิน หรือแอสเบสโทสิส 3. มะเร็งปอด และ 4. เนื้องอกเยื่อเลื่อม (เมโสเธลิโอมา) ซึ่งเป็นมะเร็งเยื่อหุ้มปอดที่มีความรุนแรงสูง โดยสาเหตุของโรคเกิดจากใยหินเข้าสู่ปอดแล้วร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้จึงก่อให้เกิดโรคขึ้นมา
ในขณะที่ ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ สำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตยสถาน กล่าวว่าสำหรับประชากรกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคจากแร่ใยหินแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1. คนงานในโรงงานที่ใช้แร่ใยหิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องติดตามเฝ้าระวังโรค และ 2. กลุ่มผู้บริโภค ซึ่งเริ่มต้นการนำวัสดุไปใช้จนกระทั่งรื้อถอนและกำจัดทิ้ง เช่น คนงานก่อสร้างหรือรื้อถอน ประชาชนเจ้าของที่อยู่อาศัย ชุมชนโดยรอบประชาชนทั่วไปฯลฯ
นอกจากนี้ โรคจากเหตุใยหิน ต้องพบเส้นใยหินในปอดร่วมด้วยถึงยืนยันได้ว่าโรคดังกล่าวเกิดจากแร่ใยหินจริง ทั้งนี้ปัญหาการตรวจไม่พบใยหินในปอดคนไข้เกิดจากความผิดพลาดในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ ตั้งแต่การซักประวัติคนไข้ การพยากรณ์โรค และวิธีการตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อเพื่อหาสาเหตุของโรค
ด้านการซักประวัติคนไข้และการพยากรณ์โรคของแพทย์เกิดความผิดพลาด เนื่องจากอาการของคนไข้ เช่น เจ็บหน้าอก ไอแห้ง หอบเหนื่อย เป็นอาการทั่วไปของโรคทั่วๆ ไปที่เกิดจากการทำงานซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ถ้าแพทย์ขาดการซักประวัติการทำงานของคนไข้ก็จะไม่ทราบว่าแร่ใยหินอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของโรค ทำให้รักษาไม่ตรงกับโรค รวมถึงส่งผลต่อการวินิจฉัยโรคของแพทย์ด้านอื่นๆ ด้วย เช่น แพทย์รังสีที่ดูผลการเอ็กซเรย์ และแพทย์พยาธิที่ตรวจตัวอย่างชิ้นเนื้อ
“ในการอ่านผลเอ็กซเรย์ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญของแพทย์เพื่อระบุว่ามะเร็งที่เกิดขึ้นที่ปอด เป็นมะเร็งปอดหรือมะเร็งเยื้อหุ้มปอดกันแน่”
ด้าน นพ.วรชัย ศิริกุลชยานนท์ กล่าวว่า โรคเนื้องอกเยื่อเลื่อม และโรคปอดใยหิน จะวินิจฉัยว่ามีสาเหตุว่าเกิดจาดแร่ใยหินจริงต้องพบเส้นใยหินที่ปอด แต่การตรวจแบบธรรมดาจะไม่พบ ต้องใช้การย้อมสีพิเศษ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการตรวจราคาแพง ดังนั้น ถ้าแพทย์ไม่ทราบประวัติคนไข้ว่าเคยสัมผัสแร่ใยหินมาก่อน ก็จะใช้การตรวจแบบธรรมดา จึงไม่พบเส้นใยหิน ทำให้การวินิจฉัยสาเหตุของโรคผิดพลาด
ปัจจุบันแม้ว่าจะมีงานวิจัยเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคสาเหตุแร่ใยหินโดยการดูจากระดับสารชีวภาพชนิดต่างๆ ในร่างกาย เพื่อให้คัดกรองโรคเบื้องต้นได้เร็วขึ้น แต่ผลการวิจัยก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ชัดเจนว่าปริมาณสารชีวภาพในร่างกายที่สูงขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากแร่ใยหินในร่างกาย
ดังนั้น การวินิจฉัยที่ผิดพลาดดังกล่าว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พบผู้ป่วยโรคเหตุแร่ใยหิน จนถึงปัจจุบันไม่ถึง 100 ราย
ดร.ศิริวรรณ พราพงษ์ กล่าวว่า สารบ่งชี้ชีวภาพ ได้แก่ เพอร็อกซิเรดอกซิน (PRX) โทรโพมัยโอซิน (TPM) สารโปรตีนออสทีโอพอนทิน (OPN) สารแอมัยลอยด์ (SAA) ในร่างกาย เพื่อให้การคัดกรองโรคเหตุแร่ใยหินได้เร็วขึ้น แต่ผลการวิจัยก็ยังสรุปไม่ได้แน่ชัดว่าระดับสารชีวภาพที่สูงมากในคนนั้นๆ เกิดจากแร่ใยหินไครโซไทล์
ทั้งนี้การศึกษาสารหลั่งจากเซลล์แอดิโพไฅน์ ที่เรียกว่า อิดิพซิน ของ รศ. ดร.ปรียา ลีฬหกุล สรุปว่า อิดิพซินจะมีปริมาณสูงอย่างมีนัยสำคัญในคนงานโรงงานผลิตกระเบื้องและท่อซีเมนต์ใยหิน แต่ก็ยังต้องศึกษาวิจัยกันต่อไปอีกว่าโรคดังกล่าวเกิดจากแร่ใยหินไครโซไทล์หรือใยหินกลุ่มแอมฟิโบลที่ประเทศไทยเลิกใช้ไปแล้ว
ขณะที่นายเมธี อุทโยภาส ตัวแทนจากศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ซึ่งเห็นไม่เห็นด้วยที่จะให้ยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหิน กล่าวว่า ไครโซไทล์เป็นสารก่อมะเร็งในระดับต่ำ ในขณะที่ดีเซล นิกเกิล เป็นอันตรายมากกว่าแร่ใยหิน ทำไมประเทศไทยถึงไม่ยกเลิกการใช้ อีกทั้งแร่ใยหินไครโซไทล์ที่ใช้ในไทยเป็นแบบอัดแข็ง ไม่ใช่ฉีดพ่นเป็นฉนวนกันความร้อนอย่างต่างประเทศ ฉะนั้นจะเอางานวิจัยของต่างประเทศมาอ้างอิงโดยตรงไม่ได้เพราะบริบทต่างกัน นอกจากนี้สารทดแทนแร่ใยหินในปัจจุบันมีความทนทานน้อยกว่า อายุการใช้งานสั้นกว่า จาก 30 ปี เหลือ 5 ปี และมีต้นทุนสูงกว่า 40-50 เท่า
“โรคเหตุแร่ใยหินที่เกิดขึ้นในไทยต้องไปศึกษาให้ชัดเจนว่า เกิดจากไครโซไทล์ที่อันตรายต่ำ หรือ แร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลที่มีความเป็นพิษสูงกันแน่ และควรจะศึกษาไครโซไทล์เป็นการเฉพาะแยกจากแร่ใยหินกลุ่มอื่นๆ ด้วย เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเลยว่าไครโซไทล์อันตรายจริงหรือไม่” นายเมธีกล่าว
เช่นเดียวกับ ดร. นพ.สมชัย บวรกิตติ กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้แร่ใยหินในไทยใช้เครื่องจักรทำงานทั้งหมด ไม่มีโอกาสที่คนจะไปสัมผัสแร่ใยหินโดยตรงแล้ว ซึ่งจากการตรวจพบเส้นใยหินในปอดของคนไทยที่ผ่านมาสรุปได้ว่า ทุกกรณีสัมผัสแร่ใยหินมาจากสิ่งแวดล้อมทั่วไป ไม่ใช่ในโรงงาน ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งว่าแร่ใยหินสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัย
ในด้านเศรษฐกิจ หากยกเลิกการใช้ไครโซไทล์จริง ก็จะกระทบกิจการของโรงงานอุตสาหกรรมและกระทบรายจ่ายของผู้บริโภคที่ต้องรื้อถอนอาคารที่ใช้วัสดุใยหินในการก่อสร้างทั้งหมด เนื่องจากกฎหมายระบุห้ามมีไว้ในครอบครอง ฉะนั้นสถานประกอบการและอาคาร เช่น ฟาร์มสุกร โรงเรียน โรงพยาบาล ต้องรื้อถอนทั้งหมด จากการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้บริโภคจะมีค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนรวมประมาณ 4.64 แสนล้านบาท
ดังนั้น หากรัฐบาจะยกเลิกการใช้ไครโซไทล์จริง ก็ต้องพัฒนาและสนับสนุนการใช้สารทดแทนให้มีคุณภาพใกล้เคียงแร่ใยหิน รวมถึงวางมาตรฐานการรื้อถอนที่ปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากประเด็นทางเศรษฐกิจข้างต้น แพทย์ส่วนหนึ่งก็ยังคงยืนยันว่า เมื่อพิสูจน์ได้แล้วว่าแร่ใยหินทุกชนิดเป็นสารก่อมะเร็ง และปัจจุบันมีสารทดแทนแร่ใยหินแล้ว รัฐบาลจึงต้องยกเลิกการใช้ไครโซไทล์เพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงของโรคเหตุใยหินในสังคมไทย ทั้งนี้รัฐบาลต้องคำนึงถึงต้นทุนของประชาชนที่จะมีสุขภาพที่ดีด้วย นอกเหนือจากมูลค่าทางเศรษฐกิจ เพราะเมื่อคำนวณแล้วค่ารักษาพยาบาลโรคเหตุแร่ใยหินรวมกับค่าเสียโอกาสในการทำงานเลี้ยงดูครอบครัวของกลุ่มเสี่ยงแล้วมีมูลค่าสูงกว่ามูลค่าทางเศรษฐกิจ
ดังนั้น แม้จะมีการสัมมนาเรื่องต่อเนื่องมา 2 ปี ในวันนี้ข้อมูลทั้ง 2 ด้าน ยังคงยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับไครโซไทล์ที่ตนเองมีอยู่ โดยต่างฝ่ายต่างให้เหตุผล และอ้างอิงงานวิจัยรองรับชุดเหตุผลและความคิดของตนเอง และมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชน จึงไม่มีข้อสรุป นอกเสียจากว่ากลุ่มแพทย์และนักวิชาการจะร่วมมือกันวิจัยโรคเหตุแร่ใยหินของไทยอย่างจริงจัง แล้วนำงานวิจัยนั้นมาผลักดันเชิงนโยบายเรื่อง “การใช้-ยกเลิกไครโซไทล์” ในอนาคต