ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 9) : “การเฝ้าระวังโรค” บทบาทที่หายไปของกระทรวงสาธารณสุข

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 9) : “การเฝ้าระวังโรค” บทบาทที่หายไปของกระทรวงสาธารณสุข

20 มกราคม 2015


คณะทำงานสังคมไทยไร้แร่ใยหินของกระทรวงสาธารณสุขลดขอบข่ายการทำงานลงจากยุทธศาสตร์ตามมติครม. โดยเฉพาะระบบการเฝ้าระวังโรคก่อน ระหว่าง และหลังการทำงานของกลุ่มเสี่ยง

จากการศึกษาในระดับสากลเกี่ยวกับเรื่องสารก่อมะเร็งในมนุษย์แล้วพบว่าแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็งได้มาตั้งแต่ปี 2513นั่น ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) รณรงค์และผลักดันให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกยกเลิกการใช้แร่ใยหินผ่านการจัดประชุมนานาชาติหลายครั้ง

สำหรับประเทศไทยได้จัดประชุมนานาชาติเรื่องแร่ใยหินครั้งแรกที่กรุงเทพในปี 2549 ชื่อว่า “Asian Asbestos Conference” โดยมีสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพจัดงาน และได้ทำปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration) ว่าด้วยบทบาทของนายจ้าง ลูกจ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เกี่ยวกับการดำเนินเรื่องแร่ใยหินในประเทศ โดยเน้นย้ำเรื่อง “การเฝ้าระวัง” เป็นสำคัญ

การผลักดันการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยส่งผลมาจากหลายฝ่าย คือ WHO ให้ข้อมูลว่าแร่ใยหินเป็นสารก่อมะเร็ง ฉะนั้นควรยกเลิกการใช้ ด้าน ILO เน้นย้ำการใช้สารทดแทน พยายามยกเลิกการใช้แร่ใยหินในการผลิตใหม่ๆ ส่วนสินค้าที่ผลิตออกใช้แล้วต้องรื้อถอนอย่างปลอดภัย โดยมีนักพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอและนักวิชาการเป็นผู้ขับเคลื่อนโครงการ นอกจากนี้ก็มีสมัชชาสุขภาพที่เสนอนโยบาย เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยมียุทธศาสตร์ 4 ข้อคือ ให้ยกเลิกใช้แร่ใยหิน เน้นใช้สารทดแทน ให้ความรู้ประชาชน และเฝ้าระวัง ติดตาม วินิจฉัยโรค

การยกเลิกแร่ใยหิน

หลังจากนั้นเป็นต้นมา จึงเกิดกระแสการผลักดันยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย จนกระทั่งผ่านมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติในปี 2553 และในที่สุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2554 โดยเห็นชอบตามมติสมัชชาสุขภาพครั้งที่ 3/2553 เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน โดยห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์และผลิตภัณฑ์ที่มีไครโซไทล์เป็นส่วนประกอบ

บทบาทกระทรวงสาธารณสุขตามยุทธศาสตร์

จากยุทธศาสตร์ 4 ข้อตามมติครม. มียุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงสาธารณสุข 2 ข้อ ได้แก่ ยุทธศาสตร์ข้อที่ 3 เรื่อง การเผยแพร่ความรู้และประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบ และยุทธศาสตร์ข้อ 4 เรื่อง พัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมรวมทั้งการวินิจฉัยโรคซึ่งเป็นภารกิจหลักของกระทรวงสาธารณสุข

รายละเอียดในยุทธศาสตร์ข้อที่ 4 กำหนดให้กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ สถาบันการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมร่วมกันดำเนินงาน ดังนี้

1. พัฒนาให้มีหน่วยตรวจประเมินความเสี่ยงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพครอบคลุมในพื้นที่เสี่ยงทั่วประเทศ โดยให้เป็นไปตามหลักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล ตลอดจนเข้มงวดกวดขันการบังคับใช้กฎหมาย มุ่งเน้นให้มีมาตรการความปลอดภัยในการทำงานที่เหมาะสมกับการควบคุมป้องกันโรคที่เกี่ยวข้อง

2. กำหนดหลักเกณฑ์และสนับสนุนการวิจัยพัฒนา การตรวจคัดกรองด้านสุขภาพ การเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพ วิธีมาตรฐานด้านการวินิจฉัยและชันสูตรมาตรฐานการอ่านฟิล์ม วางระบบการขึ้นทะเบียนผู้เชี่ยวชาญและพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีบทบาทด้านการควบคุมคุณภาพและสนับสนุนให้เกิดการปฏิบัติตามในเรื่องดังกล่าวข้างต้น

3.เชื่อมโยงและเข้าถึงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การเฝ้าระวังความเสี่ยงจากอันตรายของแร่ใยหินมีประสิทธิภาพ จัดทำทะเบียนแร่ใยหิน/ผลิตภัณฑ์/สินค้าที่มีองค์ประกอบแร่ใยหิน แหล่งที่ตั้งหรือที่กักเก็บและทะเบียนผู้สัมผัสแร่ใยหินที่มีระยะเวลาเพียงพอกับระยะฟักตัวของโรค ข้อมูลเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน มีการวางระบบเชื่อมโยงข้อมูลด้านการประเมินการรับสัมผัส ร่วมกับข้อมูลการเจ็บป่วยและพัฒนาระบบการติดตามผู้สัมผัสอย่างต่อเนื่องทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการทำงาน ทั้งนี้ให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ในแรงงานนอกระบบรวมทั้งประชาชนทั่วไป เพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ปนเปื้อนแร่ใยหิน

4.พัฒนาความร่วมมือในการติดตามตรวจสอบสินค้าในประเทศ เพื่อให้ได้ฐานข้อมูลเชื่อมโยงกับการติดตามข้อมูลสุขภาพในกลุ่มผู้สัมผัส

นั่นคือ ตามคำสั่งดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมีหน้าที่รับผิดชอบด้านสุขภาพของประชาชนตั้งแต่การป้องกัน การเฝ้าระวังโรค และการวินิจฉัยโรค ที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหิน

กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการน้อยกว่ายุทธศาสตร์

จากยุทธศาสตร์ที่สมัชชาสุขภาพเสนอไปยังครม.และมีมติออกมานั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อดูแลเรื่องแร่ใยหิน ส่วนการวินิจฉัยโรคที่เกิดจากแร่ใยหินได้มอบหมายให้กรมควบคุมโรคเป็นผู้ดำเนินการ ในขณะที่ไม่มีหน่วยงานไหนรับผิดชอบด้านการเฝ้าระวังโรค

ทั้งนี้แม้ว่าหน้าที่การเฝ้าระวังโรคจะเป็นหน้าที่ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม แต่ตามคำสั่งซึ่งเป็นผลมาจากมติครม. สำนักโรคจากการประกอบอาชีพฯ มีเพียงหน้าที่รวบรวมข้อมูลเพื่อรอเสนอครม.เท่านั้น หรือถ้าหากกระทรวงสาธารณสุขจะมอบหมายให้สำนักระบาดวิทยาดูแลระบบการเฝ้าระวังโรค การทำงานก็ยังไม่ครอบคลุมการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวกับแร่ใยหินตามยุทธศาสตร์ที่ต้องเฝ้าระวังทั้งก่อน ระหว่างและหลังการทำงาน เนื่องจากประชาชนกลายเป็นผู้ป่วยแล้ว(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

การดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข

“การเฝ้าระวัง” งานที่หายไปจาก คณะกรรมการฯ ชุดต่างๆ

เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2554 กระทรวงสาธารณสุขเริ่มดำเนินการตามมติครม. โดยมีคำสั่งให้คง “คณะกรรมการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม” เอาไว้เป็นคณะทำงานหลักเพื่อดำเนินการเรื่องแร่ใยหิน โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการ (คณะกรรมการฯ ชุดนี้ตั้งขึ้นตามมติครม. ปี 2524 ชื่อว่า “คณะกรรมการประสานงานอาชีวอนามัยแห่งชาติ” และเปลี่ยนชื่อเป็นคณะกรรมการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมในปี 2548 )

ต่อมาวันที่ 18 ธันวาคม 2555 กระทรวงสาธารณสุขจึงแต่งตั้ง “คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากแร่ใยหิน” โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน เพื่อทำหน้าที่หลักในการรวบรวมและทบทวน ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากแร่ใยหิน เพื่อสรุปรายงานและให้ข้อเสนอแนะทางนโยบายเกี่ยวกับแร่ใยหินที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ

สาเหตุที่กระทรวงสาธารณสุขต้องทบทวนและรวมรวมข้อมูลทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับแร่ใยหินขึ้นใหม่ เพราะในสังคมไทยมีทั้งกลุ่มที่ยอมรับและกลุ่มที่ไม่ยอมรับ ข้อมูลหลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่เดิม โดยกลุ่มที่ไม่ยอมรับอ้างว่า ข้อมูลเดิมที่มียังไม่เพียงพอที่จะสรุปว่าประเทศไทยต้องเลิกใช้แร่ใยหิน ในขณะที่กลุ่มยอมรับข้อมูลเดิมที่มี ก็เน้นแต่การวินิจฉัยโรคให้พบผู้ป่วยมากขึ้น โดยขาดการทำงานด้านการเฝ้าระวังโรค

ดังนั้น คณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงฯ จึงต้องหาข้อมูลมาสนับสนุนการยกเลิกการใช้แร่ใยหินและตอบคำถามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือไม่ยอมรับหลักฐานทางวิชาการที่มีอยู่เดิมว่าต้องยกเลิกใช้แร่ใยหินในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตามการเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหินก็ยังไม่ปรากฏให้เห็นในขอบข่ายการดำเนินงานของคณะกรรมการชุดนี้

ปัจจุบันคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงฯ ประชุมแล้วรวมทั้งสิ้น 5 ครั้ง คือ วันที่ 26 ธันวาคม 2555, วันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2556, วันที่ 17 เมษายน 2556, วันที่ 29 กรกฎาคม 2556 และวันที่ 29 มกราคม 2557 โดยการประชุม 4 ครั้งแรกซึ่งมีนพ.ชาญวิทย์ ทระเทพ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ในที่ประชุมสรุปว่าแร่ใยหินไม่อันตราย ทำให้การดำเนินการผลักดันการยกเลิกแร่ใยหินหยุดชะงัก จนกระทั่งการประชุมครั้งสุดท้ายซึ่งนพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นประธานในที่ประชุม จึงมีมติว่า แร่ใยหินอันตรายและเห็นด้วยให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหิน

จากมติครั้งสุดท้ายของคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงฯ ทำให้กระทรวงสาธารณสุขมีบทบาทที่ต้องดำเนินการใน 2 ประเด็นหลักคือ 1.ประสานงานและผลักดันยุทธศาสตร์การยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย และ2.จัดลำดับความสำคัญและมาตรการป้องกันผู้ได้รับผลกระทบจากแร่ใยหิน ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์ข้อ 3 เรื่องการพัฒนาระบบเฝ้าระวังและติดตามกลุ่มเสี่ยงทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม

รายละเอียดของยุทธศาสตร์ข้อ 3 ประกอบด้วย 1.จัดตั้งคณะทำงานและอนุกรรมการสำหรับดำเนินการตามยุทธศาสตร์ 2.จัดทำมาตรการระบบเฝ้าระวังโรค จัดทำข้อมูลพัฒนาระบบทะเบียนผู้ที่ได้รับสัมผัสแร่ใยหินทั้งในปัจจุบันและอดีต จากการทำงานสัมผัสแร่ใยหินอย่างต่อเนื่อง และ3.กำหนดแนวทาง ข้อบังคับในเรื่องมาตรการความปลอดภัยในการรื้อถอน ซ่อมแซม ต่อเติมอาคาร การทิ้งและกำจัดขยะที่มีแร่ใยหินเพื่อมิให้เกิดการฟุ้งกระจายสำหรับประชาชนโดยทั่วไป(คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

บทบาทกระทรวงสาธารณสุข

ขอบข่ายการทำงานลดลงจากยุทธศาสตร์ของคณะอนุกรรมการฯ

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2556 ระหว่างการทำงานของคณะกรรมการศึกษาข้อเท็จจริงฯ ด้านคณะกรรมการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมมีมติจัดตั้ง “คณะอนุกรรมการการดำเนินการด้านนโยบายอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม” โดยมีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานขึ้นเพื่อทำหน้าที่ ประสาน สนับสนุน ติดตาม และส่งเสริมการทำงานของคณะกรรมการอาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ปัจจุบันคณะอนุกรรมการการดำเนินการด้านนโยบายอาชีวอนามัยฯ กำลังพิจารณา (ร่าง) คำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานเรื่องแร่ใยหิน 2 คณะ ได้แก่ “คณะทำงานประสานติดตามนโยบายยุทธศาสตร์การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน” และ “คณะทำงานพัฒนาแนวทางการเฝ้าระวังโรคจากแร่ใยหิน”

สำหรับคณะทำงานประสานติดตามนโยบายยุทธศาสตร์การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหินซึ่งมีนายนพพร ชื่นกลิ่น รองอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นประธานนั้น มีหน้าที่กำหนดเป้าหมายและแผนยุทธศาสตร์ เรื่องมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน แล้วจัดทำแผนและพัฒนาแผนยุทธศาสตร์นั้น รวมถึงประสานงานและติดตามแผนยุทธศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

จะเห็นได้ว่า การทำงานตามคำสั่งของคณะทำงานประสานติดตามนโยบายยุทธศาสตร์การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน ดังกล่าว มุ่งเน้นเฉพาะเรื่องการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เท่านั้น แต่ยังไม่มีแผนงานสู่การปฏิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนคณะทำงานพัฒนาแนวทางการเฝ้าระวังโรคจากแร่ใยหินซึ่งมีนายปรีชา เปรมปรี ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมเป็นประธานนั้น มีหน้าที่รวม 5 ข้อคือ 1.ทบทวนองค์ความรู้และความสำคัญของการเฝ้าระวังโรคจากแร่ใยหิน 2.พัฒนาคู่มือแนวทางการเฝ้าระวังโรคจากแร่ใยหิน 3.พัฒนาศักยภาพเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคจากแร่ใยหิน 4.ติดตามประเมินผล 5.ให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะแก่หน่วยงานเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง คำสั่งดังกล่าวนั้นเป็นเพียงแผนงานการป้องกันและเฝ้าระวังโรคจากแร่ใยหิน แต่ยังไม่มีมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนเพื่อการปฏิบัติจริง เช่นเดียวกับคณะทำงานประสานติดตามนโยบายยุทธศาสตร์การทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน

ทั้งนี้ปัจจุบันคณะทำงานทั้ง 2 ชุดข้างต้นยังไม่มีการประชุมร่วมกันเพื่อดำเนินงานการผลักดันการยกเลิกแร่ใยหินในประเทศไทย

ดังนั้น ผลจากมติครม. ปี 2554 สู่การดำเนินการของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมาจึงลดทอนขอบข่ายงานและหน้าที่ความรับผิดชอบของกระทรวงสาธารณสุขลงจากยุทธศาสตร์ข้อ 4 ตามที่มติครม. ปี 2554 กำหนดไว้ เหลือเพียงการจัดทำแผนเพื่อเสนอต่อครม. และการวินิจฉัยโรคเหตุแร่ใยหินในประเทศไทย โดยขาดมาตรการการเฝ้าระวังโรคเหตุแร่ใยหินซึ่งเป็นการดำเนินงานที่ต้องใช้เวลาติดตามนานที่สุด

อีกทั้งความคิดเห็นเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยของบุคลากรในกระทรวงสาธารณสุขก็ยังขัดแย้งกัน แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะมีมติว่า ต้องยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทยก็ตาม

ทั้งนี้คำสั่งตามมติครม. และของคณะกรรมการพิเศษที่กระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้งขึ้นนั่นคือ “ภารกิจพิเศษ” ที่เพิ่มเติมขึ้นมาให้กระทรวงสาธารณสุขปฏิบัติ ซึ่งในกรณีแร่ใยหินนี้ ผู้รับผิดชอบในกระทรวงสาธารณสุขจะปฏิบัติตามเฉพาะคำสั่งตามมติก็ได้

แต่อย่างไรก็ตามการป้องกันโรค การเฝ้าระวังโรค และการวินิจฉัยโรค เป็น “ภารกิจปกติ” ในการทำงานของกระทรวงสาธารณสุข