ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 3) : การรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินอย่างปลอดภัย

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 3) : การรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินอย่างปลอดภัย

30 มิถุนายน 2014


ประเทศไทยผลักดันให้ยกเลิกการใช้แร่ใยหินหลังจากที่องค์กรอนามัยโลกระบุว่าเป็นสารก่อมะเร็ง จนปัจจุบันเหลือการใช้แร่ใยหิน “ไครโซไทล์” เพียงชนิดเดียวซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนของการยกเลิกการใช้ จากที่เคยใช้ทั้งหมด 5 ชนิด แต่จากข้อมูลในตอนที่ 2 ยังมีการนำเข้าแร่ใยหินที่ถูกยกเลิกการใช้ไปแล้ว

สำหรับแร่ใยหินในไทยร้อยละ 90 ใช้ในงานก่อสร้าง ทำท่อซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคา ร้อยละ 8 ทำผ้าเบรกและคลัทช์ ร้อยละ 2 ทำกระเบื้องปูพื้นและวัสดุกันไฟหรือความร้อน

ปัจจัยที่จะทำให้เกิดโรคจากแร่ใยหินได้คือ 1. ปริมาณใยหินที่เข้าสู่ปอด 2. ความคงทนของใยหินในปอด และ 3. ขนาดของเส้นใยหิน นั่นคือถ้าเป็นเส้นใยขนาดเล็กกว่า 5 ไมครอน ก็จะถูกเม็ดเลือดขาวกำจัดออกได้ แต่ถ้าเส้นใยขนาดมากกว่า 200 ไมครอน ก็จะตกอยู่ที่ทางเดินหายใจส่วนบน แต่ถ้าขนาดเล็กพอที่จะเข้าสู่ปอดได้ และมีความคงทนพอ ก็จะก่อให้เกิดมะเร็งได้

ทั้งนี้แต่ละบุคคลมีเนื้อเยื่อที่ไวต่อการเป็นมะเร็งต่างกัน บางคนได้รับใยหินเพียงเส้นเดียวก็อาจเป็นมะเร็งได้ ดังนั้นการใช้แร่ใยหินจึงไม่มีปริมาณการสัมผัสที่ปลอดภัย อีกทั้งมะเร็งที่เกิดจากแร่ใยหินยังไม่มียาหรือวิธีการรักษา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี

ดังนั้น กลุ่มเสี่ยงที่อาจได้รับแร่ใยหินเข้าสู่ร่างกายก็คือ กลุ่มที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าดังกล่าวข้างต้น กลุ่มผู้ใช้แรงงานในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง กลุ่มผู้เก็บและแยกขยะ กลุ่มประชาชนทั่วไป เป็นต้น

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2557 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดประชุมเชิงปฏิบัติการให้กับสำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทั่วประเทศ เรื่อง “การรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินอย่างปลอดภัย” ณ สถาบันบำราศนราดูร

ที่ผ่านมามีการใช้วัสดุที่มีแร่ใยหินในการก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่คือกระเบื้องมุงหลังคาและกระเบื้องปูพื้น ในขั้นตอนการรื้อถอนอาคารจึงต้องระมัดระวังไม่ให้กระเบื้องแตกหัก เพื่อป้องกันใยหินฟุ้งกระจายสู่สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะกลายเป็นสาเหตุให้ประชาชนกลายเป็นโรคมะเร็งได้ ด้วยความสำคัญนี้กรมควบคุมโรคจึงต้องสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องในการรื้อถอนอาคารผ่าน สคร. ไปยังประชาชนในพื้นที่ต่างๆ

รศ. ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายขั้นตอนการรื้อถอนอาคารซึ่งมีวัสดุที่มีแร่ใยหินประกอบ ได้แก่ การเตรียมการ การรื้อถอน และการกำจัดทิ้ง

การรื้อถอนกระเบื้องแร่ใยหิน

ในขั้นเตรียมการ ต้องสำรวจและระบุวัสดุที่มีแร่ใยหิน รวมทั้งระบุประเภทว่าฟุ้งกระจายง่ายหรือฟุ้งกระจายยาก แล้ววางแผนการรื้อถอนให้ชัดเจนว่าใครมีหน้าที่ทำอะไรตรงจุดไหนบ้าง เช่น คนรื้อกระเบื้องออกจากหลังคา คนเก็บกระเบื้อง คนนำไปทิ้ง ซึ่งคนงานรื้อถอนต้องผ่านการอบรมถึงวิธีการรื้อถอนที่ถูกต้องและมีความรู้เรื่องอันตรายจากใยหิน ทั้งนี้ต้องมีการเก็บตัวอย่างอากาศพื้นที่ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการรื้อถอน เพื่อให้ทราบปริมาณเส้นใยหินที่ฟุ้งอยู่ในอากาศ

ขั้นตอนรื้อถอน นอกจากเครื่องมือและอุปกรณ์ช่างแล้ว ด้านคนงานก็ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันอันตรายส่วนบุคคล ได้แก่ ชุดทำงาน และหน้ากากป้องกันฝุ่นขนาดเล็ก ถุงมือ ซึ่งควรใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง และแว่นตานิรภัย สำหรับหน้ากากมีหลายประเภท ทั้งแบบครึ่งหน้า เต็มหน้า และสวมครอบทั้งศีรษะ

นอกจากนี้ต้องมีอุปกรณ์ฉีดพ่นน้ำเป็นฝอย เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย แผ่นพลาสติกและถุงขยะพลาสติกชนิดเหนียวทนทานพิเศษที่กักเก็บฝุ่นได้ สำหรับห่อหุ้มกระเบื้องที่จะรื้อออก และขยะแร่ใยหินอื่นๆ และเครื่องดูดฝุ่นที่ติดตั้งถุงกรองชนิดประสิทธิภาพกรองสูง (HEPA filter) (หรืออุปกรณ์สำหรับทำความสะอาดแบบเปียกแทน)

กั้นบริเวณรื้อถอนเพื่อป้องกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องเข้ามา กรณีรื้อกระเบื้องมุงหลังคาหรือฝ้าเพดาน ต้องปูแผ่นพลาสติกที่พื้นก่อนรื้อถอน เพื่อให้ทำความสะอาดและเก็บกระเบื้องทิ้งได้ง่าย และหากมีแนวโน้มว่าฝุ่นจะฟุ้งกระจายได้ง่าย เช่น กระเบื้องผุหรือแตกง่าย ต้องคลุมพลาสติกสูงเท่ากับหรือสูงกว่าหลังคาเพื่อป้องกันการฟุ้งกระจาย ทั้งนี้ระหว่างการรื้อถอนต้องระมัดระวังไม่ให้กระเบื้องแตกหัก และพรมน้ำที่หัวตะปูหรือหมุดก่อนรื้อถอนเพื่อลดการฟุ้งกระจายด้วย

การรื้อถอนอาคารกรณีแร่ใยหิน

หลังจากรื้อเสร็จแล้วให้เรียงกระเบื้องแผ่นๆ ไว้ด้วยกันแล้วหุ้มพลาสติกให้มิดชิด และเก็บเศษกระเบื้องชิ้นใหญ่ใส่ถุงพลาสติกที่เตรียมไว้ และใช้เครื่องดูดฝุ่นหรือผ้าเปียกทำความสะอาดพื้นที่ที่มีเศษกระเบื้องขนาดเล็กและฝุ่นผง รวมใส่ถุงพลาสติก ห้ามกวาดแห้งเพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจาย พร้อมทั้งติดฉลากระบุวัตถุอันตรายประเภทที่ 9 และสัญลักษณ์ความเป็นอันตรายต่อสุขภาพบนถุงพลาสติกและห่อกระเบื้องเก่า

การรื้อถอนแร่ใยหิน

ขั้นตอนสุดท้าย การกำจัดทิ้งวัสดุที่มีแร่ใยหินประกอบนั้น ต้องนำไปกำจัดทิ้งในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตถูกต้อง ซึ่งปัจจุบันพื้นที่การทิ้งขยะอันตรายของไทยยังไม่มีการกำหนดเป็นการเฉพาะ แต่การกำจัดด้วยวิธี “การฝังกลบ” นั้นเป็นวิธีที่เหมาะสมแล้ว เพราะว่าแร่ใยหินไม่ละลายน้ำ

สำหรับกระเบื้องปูพื้นอาจใช้การท่วมน้ำทิ้งไว้ค้างคืน เพื่อให้รื้อกระเบื้องได้ง่ายและไม่แตกหัก ในกรณีลอกฉนวนกันความร้อนใยหินที่ฉีดพ่นอาคารหรือท่อน้ำ (พบการใช้ในลักษณะนี้ในต่างประเทศ) ต้องปิดล้อมพื้นที่และผนึกห้องนั้น ๆ เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายก่อน แล้วลอกวัสดุออกมาให้หล่นอยู่ในพลาสติกหุ้ม ทั้งนี้ การรื้อวัสดุประเภทนี้ต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น

ตัวอย่างการรื้อถอนอาคารศูนย์พัฒนาการจัดบริการอาชีวอนามัย จังหวัดสมุทรปราการ

สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สมาคมสิ่งแวดล้อมแห่งสาธารณรัฐเกาหลี ทำโครงการ “การเฝ้าระวังการรับสัมผัสแอสเบสตอสปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการรื้อถอนอาคารศูนย์พัฒนาการจัดบริการอาชีวอนามัย จังหวัดสมุทรปราการ” เพื่อศึกษาการประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพจากการสัมผัสแอสเบสตอสปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมจากการรื้ออาคาร และนำผลที่ได้มาจัดทำแนวปฏิบัติเพื่อการป้องกันแอสเบสตอสจากการรื้อถอนอาคาร

กำหนดระยะเวลาดำเนินการ ธันวาคม 2556 ถึง พฤษภาคม 2557

อาคารดังกล่าวก่อสร้างเมื่อปี 2537 ขนาดพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน 56 ตารางวา ประกอบด้วยอาคารสำนักงาน 2 ชั้น 1 หลัง และบ้านพัก 4 หลัง บ้านไม้ 3 หลัง และบ้านปูนกึ่งไม้ 1 หลัง

ขั้นตอนแรก สำนักงานโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมได้ประเมินวัสดุในอาคารต่างๆ ว่ามีอะไรบ้างที่อาจมีแร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ แล้วเก็บตัวอย่างไปวิเคราะห์หาแร่ใยหินรวม 20 จุด

หลังจากระบุวัสดุที่มีแร่ใยหินประกอบได้แล้วก็ดำเนินการรื้อถอนออก โดยเริ่มจากรื้อเพดาน ฉนวนกันความร้อนที่อาคารสำนักงาน และรื้อไม้และหลังคาที่บ้านพัก เมื่อเหลือแต่โครงตึกก็ใช้รถแบคโฮทุบทิ้งโดยมีการฉีดพ่นน้ำระหว่างทุบตลอดเวลา หลังจากนั้นจึงเก็บเศษวัสดุเตรียมนำไปทิ้ง และปรับพื้นที่เพื่อการก่อสร้างใหม่

จากการเก็บตัวอย่างอากาศตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังการรื้อถอนอาคารตามขั้นตอนที่ได้มาตรฐาน พบว่า มีเส้นใยหินฟุ้งอยู่ในอากาศบริเวณรื้อถอนไม่เกินค่ามาตรฐานคือ 0.1 เส้นใยต่อมิลลิลิตร ตามหลักขององค์กรนักสุขศาสตร์อุตสาหกรรมภาครัฐแห่งประเทศอเมริกา (ACGIH) ยกเว้นการรื้อถอนอาคารในช่วงแรก แต่ถ้าวัดตามค่ามาตรฐานตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ของไทยที่ระบุ 5 เส้นใยต่อมิลลิลิตร จะไม่พบเส้นใยหินในอากาศเกินค่ามาตรฐานเลย ดังนี้

ก่อนการรื้อถอน 31 มกราคม 2557 มีเส้นใยหินเฉลี่ย 0.006 เส้นใยต่อมิลลิลิตร
ระหว่างการรื้อถอน 3 กุมภาพันธ์ 2557 มีเส้นใยหินเฉลี่ย 0.106 เส้นใยต่อมิลลิลิตร เกินค่ามาตรฐานตาม ACGIH
ระหว่างการรื้อถอน 4 กุมภาพันธ์ 2557 มีเส้นใยหินเฉลี่ย 0.022 เส้นใยต่อมิลลิลิตร
ระหว่างการรื้อถอน 7 กุมภาพันธ์ 2557 มีเส้นใยหินเฉลี่ย 0.029 เส้นใยต่อมิลลิลิตร

จากผลสรุปเบื้องต้นชี้ให้เห็นว่า การรื้อถอนอาคารที่มีแร่ใยหินผสมนั้นอาจมีการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมได้ แต่สามารถป้องกันได้ หากปฏิบัติตามขั้นตอนการรื้อถอนที่ถูกต้อง และมีมาตรการป้องกันที่เหมาะสม

แม้ว่าการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่างๆ จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นบ้าง เนื่องจากต้องใช้เวลาในการรื้อวัสดุที่มีแร่ใยหิน แต่คุ้มค่ากับการมีต้นทุนสุขภาพที่ดีและลดภาวะเสี่ยงจากโรคมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งที่เกิดจากแร่ใยหินซึ่งยังไม่มีทางรักษา