ThaiPublica > คอลัมน์ > เหตุใดเราจึงไม่ควรใส่ใจการจัดอันดับด้านการศึกษาของ World Economic Forum ให้มากเกินไปนัก (ตอนที่ 2)

เหตุใดเราจึงไม่ควรใส่ใจการจัดอันดับด้านการศึกษาของ World Economic Forum ให้มากเกินไปนัก (ตอนที่ 2)

3 ตุลาคม 2014


ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค

ในตอนที่แล้วที่ผู้เขียนได้เล่าถึงที่มาของ WEF รวมไปถึงวิธีการเก็บข้อมูลและการคิดคะแนนอันดับทางการศึกษาของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะได้เล่าถึงจุดอ่อนของการนำเอาวิธีการเหล่านั้นมาใช้ในเชิงเปรียบเทียบอันดับการศึกษาระหว่างประเทศ ในตอนนี้ผู้เขียนจะได้นำผลลัพธ์ของการจัดอันดับที่ได้ปรากฏออกมาแล้วมาแสดงให้เห็นว่าผลของการจัดอันดับในลักษณะเช่นนี้มีข้อบกพร่องหรือความไม่น่าเชื่อถืออย่างไรบ้าง

กรณีตัวอย่างแบบแปลกประหลาดที่เกิดขึ้น หากใช้วิธีการอ้างอิงแบบเดียวกัน

หากมีผู้ที่เชื่อว่าการสำรวจความเห็นลักษณะนี้มีค่าคู่ควรต่อการนำมาใช้อธิบายการจัดอันดับของคุณภาพการศึกษาของประเทศต่างๆ ได้ ผู้เขียนก็จะขอยกตัวอย่างในกรณีที่ผิดปกติ (aberration case) ของข้อมูลเดียวกันนี้ เช่น การสำรวจคุณภาพของระบบการศึกษาที่มีต่อการตอบสนองทางเศรษฐกิจของประเทศ ของ WEF ในปี 2014-2015 (รายงาน WEF หน้า 458 )หรือที่มีการตีความกันว่าคือคุณภาพของมหาวิทยาลัย พบว่า ประเทศรวันดา (อันดับ 50) ซึ่งเป็นประเทศในทวีปแอฟริกาที่มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์มายาวนานหลายปี มีคุณภาพการศึกษาสูงกว่าภูฏาน (51) ดินแดนแห่งเทือกเขาสูง และประเทศลาว (80) ยังมีการพัฒนาทางอุดมศึกษาในขั้นเริ่มต้นและทั้งสองประเทศต่างนิยมส่งนักศึกษามาเรียนมหาวิทยาลัยไทยเป็นจำนวนมาก แต่ก็น่าเหลือเชื่อที่ประเทศเหล่านี้ยังมีอันดับที่สูงกว่าประเทศอิสราเอล (69) ซึ่งมีมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยระดับโลกในด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีหลายแห่ง รวมไปถึงประเทศที่มีความก้าวหน้าในการผลิตแรงงานเพื่อตอบสนองอุตสาหกรรม เช่น เกาหลีใต้ (73) แต่ได้รับการจัดให้อยู่ในลำดับพอๆ กับเอธิโอเปีย (74) หรือยูกานดา (78) ซึ่งความแปลกประหลาดทั้งหมดนี้ล้วนเกิดจากการนำคะแนนสำรวจแบบเฉลี่ยของกลุ่มตัวอย่างแต่ละประเทศที่ไม่ควรจะนำมาเปรียบเทียบกันได้มาใช้เปรียบเทียบกันนั่นเอง

หรืออาจจะสามารถกล่าวอย่างติดตลกได้ว่า หากท่านเชื่อตามที่มีผู้อ้างว่า คุณภาพการศึกษาไทยแพ้ลาว เขมร ฯลฯ แล้วนั้น ท่านก็ควรจะเห็นด้วยกับข้อมูลเดียวกันว่า คุณภาพการศึกษาของรวันดาหรือซิมบับเวย์ สูงกว่าคุณภาพการศึกษาของประเทศอิสราเอลหรือประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีคุณภาพการศึกษาใกล้เคียงกับเอธิโอเปีย เช่นกัน (แน่นอนว่าคงไม่มีใครที่พอจะมีความรู้รอบตัวบ้างคิดเช่นนั้น)

ตารางที่ 2: อันดับคุณภาพระบบการศึกษาต่อการตอบสนองต่อเศรษฐกิจ (หรือคุณภาพมหาวิทยาลัย) หากวัดโดยใช้วิธีการแบบ WEF

WEF-3

แต่อย่างไรก็ตาม ถ้ามีการตีความว่าเรื่องนี้ไม่ได้หมายถึงคุณภาพการศึกษา แต่เป็นผลจากการสำรวจความพึงพอใจของคุณภาพระบบการศึกษาที่มีต่อการตอบสนองทางเศรษฐกิจ ก็อาจจะพอมีเหตุผลอยู่บ้าง เพราะแต่ละประเทศก็มีความต้องการทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน จนทำให้การประเมินความพอใจของระบบการศึกษาของประเทศต่างๆ มีผลที่แตกต่างกันออกไปตามสภาพแวดล้อมและบริบทของตน

หลายเรื่องเป็นเพียงการสำรวจทัศนคติมุมมอง (perception) ของผู้ตอบ ซึ่งขัดแย้งกับคุณภาพที่แท้จริง

ประเด็นเรื่องของแบบสอบถามอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องของการรับรู้ (perception) ของผู้ตอบ ซึ่งอาจจะสวนทางกับความเป็นจริง ก็สมควรได้รับการกล่าวถึง ยกตัวอย่างเช่น ในส่วนของคำถามเรื่องคุณภาพการศึกษา พบว่าผู้ตอบจากหลายๆ ประเทศมีมุมมองต่อคุณภาพการศึกษาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ของประเทศที่ขัดแย้งกับหลักฐานเชิงประจักษ์ เช่น ผลการทดสอบนานาชาติ อาทิ PISA หรือ TIMSS ซึ่งเป็นการประเมินผลการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับนานาชาติที่ได้รับการยอมรับเชื่อถือ ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ได้ว่า ทัศนคติหรือการรับรู้ของผู้ตอบแบบสอบถามอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนอินโดนีเซียเชื่อว่าการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของตนมีคุณภาพที่ดีพอสมควร (ค่าเฉลี่ย 4.6) ในขณะที่ความเป็นจริง ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ในอันดับรั้งท้ายของกลุ่มประเทศอาเซียนที่เข้าร่วมสอบ PISA และ TIMSS หรือคนเวียดนามมองว่าการศึกษาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของประเทศยังด้อยคุณภาพ (ค่าเฉลี่ย 3.9) ในขณะที่ผลการสอบ PISA ของประเทศอยู่ในลำดับที่สูงมาก (คิดเป็นอันดับที่ 8 และ 17 จาก 65 ประเทศที่เข้าร่วมสอบ PISA 2012 ในวิชาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์ในกลุ่มอาเซียน)

ตารางที่ 3 : ความแตกต่างระหว่างการสำรวจมุมมอง (Perception) ของผู้ประกอบการต่อคุณภาพการศึกษาคณิตศาสตร์-วิทยาศาสตร์ ที่สำรวจโดย WEF กับความเป็นจริงจากการทดสอบมาตรฐานในระดับนานาชาติ

ความแตกต่างของผู้ประกอบการ

สมมติว่าการจัดอันดับนี้มีเหตุมีผลจริงๆ ทำไมโดยภาพรวมอันดับประเทศไทยยังพอใช้ได้อยู่?

สาเหตุหนึ่งที่แม้ประเทศไทยจะมีคะแนนจากการสำรวจความเห็นต่อการศึกษาที่ไม่ดีนัก แต่อันดับโดยรวมของการแข่งขันของประเทศยังพอไปได้ คือ ถูกจัดอยู่ในลำดับที่ 31 จาก 144 ประเทศ และอันดับ 3 ของอาเซียน (รองจากสิงคโปร์ มาเลเซีย) อาจเป็นเพราะน้ำหนักของดัชนีด้านการศึกษาของ WEF ที่ได้มาจากคำถาม 5 ข้อ และข้อมูลสถิติการศึกษาจาก UNESCO Institute for Statistics 3 ข้อ คิดรวมแล้วมีน้ำหนักเพียงแค่ประมาณ 10.6 % ของ Global Competitiveness Index โดยเฉพาะประเด็นอันดับคุณภาพการศึกษาไทยที่ถูกนำมาให้เป็นข่าว (ตาราง 1 ส่วนที่ 1) คิดเป็นน้ำหนักเพียง 3.9% เท่านั้น ดังนั้น สามารถกล่าวได้ว่าประเด็นคุณภาพการศึกษาของ WEF ตามที่พูดกันมีผลน้อยมากต่อดัชนีด้านการแข่งขันของประเทศในภาพรวม

หรือจริงๆ แล้วกระแสนี้เกิดจากปมเขื่องของคนไทย?

ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่า จริงๆ แล้วประเด็นเรื่องการจัดอันดับการศึกษาของ WEF นี้อาจจะไม่ได้รับความสนใจมากนักก็เป็นได้ แต่ทว่าวาทกรรมที่เกิดจากความไม่พอใจหรือความอับอายที่การศึกษาไทยแพ้เพื่อนบ้านน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหลักที่ทำให้เป็นกระแสขึ้นมา เพราะผู้จุดประเด็นเข้าใจถึงประเด็นปมเขื่อง รวมทั้งความเป็นชาตินิยมของประเทศไทยได้ดีว่า ถ้าหากนำเอาประเด็นเปรียบเทียบกับเพื่อนบ้านมาใช้เปรียบเทียบจะสามารถสร้างกระแสตอบรับได้มาก ซึ่งดูเหมือนจะเป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะสื่อมวลชนและภาคประชาสังคมที่ตื่นเต้นตกใจกับการที่คุณภาพการศึกษาไทยตกไปอยู่ในอันดับท้ายๆ ของอาเซียน โดยเฉพาะการที่ต้องตามหลังเพื่อนบ้าน อย่างเช่น ลาวหรือเขมร ซึ่งไทยเรามีทัศนคติในเชิงดูแคลนมานาน

มีประเทศไหนอีกบ้างที่ให้ความสนใจกับอันดับการแข่งขันทางการศึกษาของ WEF

จากการศึกษาข้อมูลของการสอบวัดระดับมาตรฐานในระดับชาติด้านการศึกษาต่างๆ แทบไม่ปรากฏว่ามีประเทศใดที่ให้ความสำคัญกับเรื่องการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาของ WEF เท่าไหร่นัก ด้วยเหตุผลที่ว่าการจัดอันดับคะแนนเฉลี่ยความเห็นของคนในประเทศในประเด็นคุณภาพการศึกษานั้น ไม่สามารถใช้บอกคุณภาพการศึกษาได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะการนำมาใช้เปรียบเทียบในระดับนานาชาติยิ่งทำไม่ได้เลย แม้โดยภาพรวมอันดับความสามารถการแข่งขันของ WEF หรือ IMD จะได้รับความสนใจจากประเทศต่างๆ ตามสมควร แต่ถ้าหากจะพิจารณาเป็นเฉพาะประเด็นการศึกษา นานาชาติจะให้ความสำคัญกับหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการประเมินคุณภาพการศึกษาโดยตรงมากกว่า เช่น การวัดผล PISA โดย OECD, TIMSS โดย IEA , การวัดผลสอบ TOEFL โดย ETS หรือรายงานผลของบริษัท McKinsey หรือ Pearson ซึ่งได้วิเคราะห์คุณภาพของระบบการศึกษาจากหลายประเทศเอาไว้ การวัดและประเมินผลโดยองค์กรเหล่านี้จะได้รับการยอมรับมาตรฐานในวงการการศึกษาระหว่างประเทศมากกว่า

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้คืออะไร

ก่อนอื่นต้องยอมรับความจริงว่าคุณภาพด้านการศึกษาของประเทศไทยยังมีจุดบกพร่องที่ต้องแก้ไขอยู่มาก ทั้งด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน อาชีวศึกษา อุดมศึกษา การลงทุนในการวิจัยและพัฒนา ทักษะภาษาอังกฤษ และคุณภาพของบัณฑิต แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีความเห็นที่ว่า เราไม่ควรนำเอามาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบไม่ได้ เช่น WEF นี้มาเป็นตัวบ่งชี้สภาวะทางการศึกษาของประเทศ เนื่องจากความพยายามในการนำเอาข้อมูลต่างๆ มาแสดงให้เห็นว่าการศึกษาไทยควรได้รับการพัฒนาแก้ไข แม้จะเป็นความหวังดีที่เข้าใจได้ แต่การใช้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนอาจส่งผลทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิดๆ ต่อสังคม โดยเฉพาะในประเด็นอ่อนไหวเช่นนี้ อาจจะทำให้เกิดผลเสียต่อการวางนโยบายแก้ปัญหาที่ผิดพลาดเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น หากข้อมูลที่ส่งต่อกันมีความน่ากลัวกว่าความเป็นจริง และมีผู้บริหารของประเทศหรือกระทรวงศึกษาธิการที่ตระหนกตกใจ จนนำไปสู่การเร่งรัดในการผลักดันนโยบายบางเรื่องอย่างรีบเร่ง แทนที่จะตัดสินใจดำเนินนโยบายอย่างถูกทางอย่างค่อยเป็นค่อยไป สุดท้ายอาจจะส่งผลเสียต่อการวางแผนพัฒนาการศึกษาของชาติก็เป็นได้ นอกจากนั้น ในฐานะสมาชิกของสังคม ผู้ที่มีความรู้ควรจะช่วยกันเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องออกไปอย่างกว้างขวาง ไม่ควรปล่อยให้ความเข้าใจผิดหรือการใช้ประเด็นอ่อนไหวครอบงำสังคมไทยมากและนานเกินไปนัก

อ้างอิง
PISA 2012 Results in Focus – OECD
What explains Vietnam’s stunning performance in PISA 2012?: World Bank Blogโดย Christian Bodewig 11 December 2013

รายงานเรื่องการศึกษาของบริษัทแม็คคินซีย์(McKinsey Report)How the world’s best-performing schools come out on top (2007)

How the world’s most improved school systems keep getting better (2010)

รายงานการประเมินคุณภาพระบบการศึกษาของบริษัทเพียร์สัน (The Learning Curve 2012 report
,The Learning Curve 2014 report)

คะแนนสอบ TOEFL โดยเฉลี่ยของประเทศต่างๆ ปี 2013 โดยองค์กร ETS

ผลการประเมินทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ โดยบริษัท EF (EF English Proficiency Index – 3rd Edition)