ThaiPublica > เกาะกระแส > กสศ. สำรวจเด็กหลุดออกนอกระบบหลังเปิดเทอมใหม่พุ่ง โควิดทำครัวเรือนจนเฉียบพลัน จนถาวร เกือบจน

กสศ. สำรวจเด็กหลุดออกนอกระบบหลังเปิดเทอมใหม่พุ่ง โควิดทำครัวเรือนจนเฉียบพลัน จนถาวร เกือบจน

18 มิถุนายน 2021


กสศ. สำรวจสถานการณ์เด็กหลุดออกนอกระบบหลังเปิดเทอมใหม่ ต้นทุนการศึกษาสูงเกินแบกรับ พบกลุ่มใหม่ครัวเรือนจนเฉียบพลัน ส่งผลเด็กหายไปจากระบบแล้ว 10% และยังหลุดต่อเนื่อง ขณะที่ชุมชนแออัด กทม. พบหนี้นอกระบบเพิ่ม หลายครอบครัวกู้เงินผ่อนมือถือเรียนออนไลน์ แนวโน้มไม่มีค่าเดินทางไป รร. แนะรัฐออกมาตรการเร่งด่วน บูรณาการแก้ครัวเรือนยากจนในพื้นที่ ปรับเงินอุดหนุนรายหัว หลังคงอัตราเดิมนาน 10 ปี ด้าน รศ. ดร.สังศิต แนะตั้งกองทุนหมุนเวียนการศึกษา 5 หมื่นล้านรับมือวิกฤติ

ศ. ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า นอกจาก กสศ. ดูแลนักเรียนยากจนพิเศษ เส้นรายได้ต่ำว่า 3,000 บาทลงมา วิกฤติโควิดทำให้เกิดปรากฏการณ์ความยากจนที่ซ้ำซ้อน ทั้งยากจนเฉียบพลัน จนถาวร และเกือบจน สะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจในปีการศึกษา 2564 เบื้องต้นเราพบว่าจะมีเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 6,568 คน แต่อีกเดือนเศษจะเพิ่มเป็นหมื่นคน และคาดการณ์ว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบ 65,000 คน

ถ้าหลุดจากระบบประถมศึกษาอาจจะไม่มากเพราะเป็นการศึกษาภาคบังคับราว 4% มัธยมศึกษาตอนต้นอยู่ที่ 19-20% มัธยมปลายอยู่ที่ 48 % และในจำนวนนี้โอกาสเข้ามหาลัยได้เพียง 8-10% กสศ. อุดหนุนช่วยเหลือนักเรียนยากจนพิเศษอยู่ที่ปีละ 3,000 บาท ต้นทุนการศึกษานั้นมีค่าใช้จ่ายแฝง เช่น ค่าเดินทาง ค่าอาหาร อยู่ประมาณ 2,058-6,034 บาท ทำให้การเรียนต่อเป็นไปไม่ได้ นโยบายการจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวก็ใช้อัตราเดิมมา 10 กว่าปีไม่มีการปรับเพิ่มท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น รายได้ลด หนี้นอกระบบเพิ่ม

ศ. ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กสศ.

ดังนั้น จะต้องเร่งแก้ปัญหาจริงจังโดยการปรับเงินอุดหนุนรายหัว ค่าเล่าเรียน ค่าเสื้อผ้า อุปกรณ์การเรียน ให้สอดรับกับค่าใช้จ่ายจริง ตอนนี้ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายจริงเกือบ 2-3 พัน ไม่เช่นนั้นในภาคเรียนที่สองจะเห็นการหลุดจากระบบมากกว่านี้ เด็กที่ใกล้เสี่ยงหลุดหรือหลุดแล้ว ทัศนคติ ความมุ่งมั่นทางการศึกษาน้อยมาก การดึงกลับมาเรียนหนังสือ ถ้าไม่ทำแบบประณีด สามารถเข้าถึงวิธีคิดหรือปัญหาจริง เทอมสองจะเห็นเด็กหลุดมากขึ้นและเป็นวิกฤติของประเทศอย่างแท้จริง และขอเสนอให้มีการประนอมหนี้การศึกษา เรียนฟรีแบบไม่มีค่าเทอม และการหาทางช่วยเหลือพ่อแม่ผู้ปกครอง ยกตัวอย่างโมเดลของจังหวัดพิษณุโลกและภูเก็ตเป็นการทำงานเชิงรุก บูรณาการเชื่อมโยงไปสู่การทำงานในพื้นที่ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ

“ค่าน้ำมันรถไปกลับ วันละประมาณ 40 บาท เดือนละ 800 บาท ผู้ปกครองมีรายได้ 1,077 บาทต่อคนต่อเดือน จะไปรอดหรือครับ นี่เป็นปัญหาหนักมาก เด็กที่เพิ่มมากขึ้น 7-8 แสนคนที่ยากจน ถ้าเอาเส้นรายได้ 1,021 บาท จะมีเด็กยากจนพิเศษ 9 แสนคน ถ้าใช้เส้นแบ่ง 1,388 บาท จะเกิดเด็กยากจนและยากจนพิเศษ 1.9 ล้านคน เด็กเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า แต่เราช้อนได้เพียง 10-15% เท่านั้น ทั้งนี้ กสศ. จะมีการประชุมบอร์ดเพื่อกำหนดทิศทางใน 3 ปีข้างหน้าในท่ามกลางวิกฤติโควิดที่ไม่ลดลง จะกำหนดบทบาทภารกิจอย่างไรเพื่อช่วยเหลือเยียวยา ครอบครัวเปราะบางยากจนให้ดียิ่งขึ้นให้ได้ ” ศ. ดร.สมพงษ์กล่าว

ภูเก็ตจนเฉียบพลันเด็กหายจากระบบ 10% สอบติดแต่ไม่มีเงินจ่าย

นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย

นางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายกสมาคมสตรีสร้างสรรค์สังคมไทย โครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่าโรคระบาดครั้งนี้หนักหนาสาหัสกว่าสึนามิมาก ผลกระทบต่อเนื่องมาถึงครัวเรือนและเด็กเยาวชน ภูเก็ตเคยเป็นเมืองท่องเที่ยวระดับต้นของโลก ปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤติ ทำรายได้กว่า 440,000 ล้านบาท รายได้เฉลี่ยประชากรต่อหัวต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ 33,000 บาท แต่เมื่อเกิดวิกฤติโควิด มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เก็บข้อมูลตัวเลข ชี้ว่ารายได้ต่อคนต่อเดือนของประชากรภูเก็ตเหลือเพียง 1,961 บาท ต่ำกว่าเกณฑ์คนจนทั่วประเทศไทยของ จปฐ. (ข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน) ซึ่งอยู่ที่ 3,000 บาท

“สิ่งที่เกิดขึ้นหนักหนาสาหัส เรียกว่าจนเฉียบพลัน พ่อแม่ผู้ปกครองตกงานตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วถึง 13-15% ขณะที่ประชากรแฝงกว่า 4 แสนคนพอเกิดโควิด ตกงาน ต้องกลับภูมิลำเนากว่า 50,000 คน ส่งผลตัวเลขกลับด้านอย่างมีนัยสำคัญ คือคนที่เคยเรียน กศน. เคยทำงานในโรงแรมส่งตัวเองเรียน หรือฝึกอาชีพเพิ่มเติมเมื่อถูกพักงาน อัตราคนเรียนต่อ กศน. น้อยลง จากเดิมปี 2562 สมัคร 1,800 คน วันนี้ เหลือเพียง 170 คน”

นอกจากนี้ ยังพบว่าเด็กหายไปจากระบบเมื่อวันเปิดเทอมที่ผ่านมา 10% และยังมีกลุ่มที่มีโอกาสหลุดจากระบบในช่วงสิ้นภาคเรียนที่ 1 อีก ที่ยังต้องประเมินอีกครั้ง

“หลายกรณีพ่อแม่จนเฉียบพลัน เคยเป็นพนักงานโรงแรมแต่รายได้เป็นศูนย์ ไม่มีเงินจ่ายค่าเทอม เด็กหลายคนสอบติดโรงเรียนรัฐ ต้องวางเงิน 3,000-4,500 บาท เมื่อไม่มีต้องถูกลบชื่อออกให้เด็กคนอื่นๆ เรียนหรือเด็กบางคนเคยเรียน รร.เอกชน รร.นานาชาติ แต่วันนี้ต้องลาออกเรียนรร.วัด รร.รัฐ ยิ่งไปกว่านั้น บางกรณียังค้างค่าเรียน ออกก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้วุฒิการศึกษา แม้ว่าจะขอทำสัญญาประนอมหนี้ ขอวุฒิการศึกษาเด็กก่อนก็ยังไม่ได้ บางโรงเรียนไม่ให้เด็กเข้าห้องสอบเพราะไม่ได้จ่ายค่าเทอม วิกฤติแบบนี้แล้วเราจะทิ้งเด็กได้อย่างไร ต้องให้เด็กเข้าเรียนก่อน ที่ภูเก็ต ถ้าเปรียบเทียบสภาพคน วันนี้เป็นตายเท่ากัน เราต้องช่วยเคสระยะสั้น เฉพาะหน้าก่อน ช่วยเด็กที่กำลังจะจมน้ำให้ได้ ต้องมาช่วยเป็นการด่วน ไม่ใช่หลุดจากระบบแล้วเอื้อมมือช่วย

พิษณุโลก-ภูเก็ต จังหวัดทดลองเฝ้าระวังป้องกันเด็กหลุด

นางอัญชลีกล่าวว่า สนับสนุนให้ปัญหาการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ทั้งสองสภาไม่ควรตัดงบประมาณ ไม่ใช่ที่ไม่ควรตัดก็ไปตัด แต่งบที่ควรตัดกลับยกมือกันพรึ่บ กสศ. จะเป็นองค์กรหน้าด่านที่ดีที่สุด มีข้อมูล คุ้นเคยกับเด็กยากจน มีเครือข่ายองค์กรภาคีในพื้นที่ มีมดงาน หลายองค์กรที่มาช่วยกัน ทั้งระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ มีจิตอาสา หัวใจเต็มร้อย โดยภูเก็ตจะทำงานร่วมกับ กสศ. เป็นแล็บทดลองแก้ปัญหาเรื่องนี้

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรยื่นมือมาช่วยโดยเฉพาะเรื่องทุนสนับสนุนเพิ่มเติม อย่าให้เด็กเสียโอกาสทางการศึกษา และควรมีมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้แก่ รร.เอกชน เพื่อเติมลมหายใจ ไม่ต้องไปเคลียร์ลูกหนี้ เป็นการช่วยเด็กทางอ้อม ทั้งหมดนี้ เพื่อเพิ่มแต้มต่อให้เด็กๆ ครอบครัวจนเฉียบพลัน และจนถาวร ผ่านพ้นวิกฤติปีการศึกษา 2564 ให้ได้

นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก

นายรณชัย จิตรวิเศษ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบรุนแรงกับประชาชน ปัญหาทางเศรษฐกิจและการศึกษามีผลเกี่ยวเนื่องกัน แต่ละครัวเรือนย่อมนึกถึงปากท้องก่อนเรื่องการเรียน ต้องคิดเอาตัวรอด ทำให้สุ่มเสี่ยงที่เด็กจะหลุดจากระบบการศึกษามากยิ่งขึ้นเพื่อไปหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว การเข้าสู่ตลาดแรงงานเร็วทำให้เป็นแรงงานค่าแรงถูกที่ไม่มีทักษะความรู้ จึงได้มีนโยบายให้จังหวัดทำงานเชิงรุก ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ แทนที่จะไปตามหาเด็กที่หลุดจากระบบไปแล้ว จะเป็นการยากที่ทำให้เขากลับเข้ามาในระบบอีก ทางจังหวัดได้ร่วมมือกับผู้ตรวจการแผ่นดิน พาเด็กก่อนที่จะหลุดจากระบบการศึกษาซึ่งพ่อแม่ตัดสินใจว่าจะไม่ส่งลูกเรียนต่อมาฝึกอาชีพเพื่อให้อย่างน้อยมีความรู้ ไม่ใช่แรงงานไร้ฝีมือ และยังเผื่อไปต่อยอดได้ในอนาคต

อีกทั้งการทำงานร่วมกับ กสศ. สมาคมสุขปัญญา มูลนิธิพลเอก ดร.ศิริ ทิวะพันธุ์ ร่วมกันดูแลไม่ให้เด็กหลุดจากระบบ หรือหลุดจากระบบอย่างมีคุณค่า มีการศึกษาติดตัวสามารถเอาตัวรอดได้ เป็นการร่วมมือของหลายภาคส่วน ที่เข้าใจเรื่องการศึกษาเชื่อมโยงผู้บริหารศึกษา เขตพื้นที่การศึกษาในจังหวัดเป็นการดูแลแบบครบวงจรเพราะการทำงานเพียงลำพังฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดจะไม่เข้มแข็งพอ อาจมองภาพการช่วยเหลือไม่ครบวงจร หรือไม่มีกำลังพอดูแลจึงตั้งคณะทำงานประกอบด้วยทั้งท้องถิ่น ราชการ พมจ. เอกชน ภาคการศึกษา เขตพื้นที่การศึกษา อดีตผู้ที่อยู่ในแวดวงการศึกษา ทุกส่วนจะมาพูดคุยเพื่อเห็นภาพการทำงานร่วมกันที่สามารถสนับสนุนส่งไม้ต่อให้กันได้

ชุมชนแออัดกทม. กู้ผ่อนมือถือเรียนออนไลน์ -ไม่มีค่าเดินทางไป รร.

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานครบนฐานภาคประชาสังคม กสศ

นายอนรรฆ พิทักษ์ธานิน หัวหน้าโครงการสนับสนุนองค์ความรู้และพัฒนาเครือข่ายครูและเด็กนอกระบบการศึกษาในกรุงเทพมหานครบนฐานภาคประชาสังคม กสศ. กล่าวว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ในพื้นที่ กทม. รุนแรงกว่าพื้นที่อื่นๆ คนจนในพื้นที่เผชิญกับความยากลำบาก ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบ แรงงานภาคบริการ มีแนวโน้มภาระหนี้สินนอกระบบเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะหนี้สินจากการศึกษา รายงานจากชุมชนพบว่า พ่อแม่ผู้ปกครองบางรายต้องไปกู้เงินนอกระบบเพื่อซื้อมือถือให้บุตรหลานเรียนออนไลน์ กลายเป็นหนี้ระยะยาวดอกเบี้ยสูง เกิดความตึงเครียดในครัวเรือน หรือถ้าไปโรงเรียนได้ก็จะไม่มีเงินค่าเดินทาง แนวโน้มในอีกสองเดือนอาจนำไปสู่การหลุดจากระบบการศึกษาหลายหมื่นคน ซึ่งทำให้ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาสูงขึ้น

นายอนรรฆกล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหานั้นจะต้องช่วยเหลือลงไปสองส่วน คือ ส่วนแรกด้านครัวเรือน ที่จะต้องเน้นความช่วยเหลือไปยังกลุ่มเป้าหมายชุมชนแออัด ไซต์งานก่อสร้าง หรือครัวเรือนนอกชุมชนก็มีความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งจะต้องไปดูความต้องการว่าอยากให้ช่วยเหลือด้านใดบ้าง และระยะกลางจะต้องทำให้เกิดการจ้างงาน ส่วนที่สองคือด้านการศึกษา ทั้งการลดค่าใช้จ่ายภาคการศึกษา สนับสนุนค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง อุปกรณ์ ค่าเดินทาง ไปจนถึงการติดตามเฝ้าระวังเด็กที่จะหลุดจากระบบ สร้างการป้องกันได้อย่างทันท่วงที ที่สำคัญคือต้องบูรณาการการทำงานจากแต่ละภาคส่วนมาร่วมแก้ปัญหาครั้งนี้

วัคซีนตัวแปรหลักลดความเหลื่อมล้ำ ฟื้นทั้งเศรษฐกิจ-การศึกษา

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา

ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ iSEE พบว่ามีนักเรียนยากจนพิเศษ 1.17 ล้านคนหรือ 18% ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งเป็นกลุ่มยากจนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายการศึกษาสูงกว่ากลุ่มครอบครัวที่รวย 4 เท่า คือยิ่งจนยิ่งแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูง ซึ่งในครอบครัวยากจนพิเศษ มีรายได้เฉลี่ย 1,077 บาทต่อเดือนต่อคน ในขณะที่ค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาสูงถึง 2,000-6,000 บาท ต่อปี

ดร.ภูมิศรัณย์กล่าวว่า ปัญหาเด็กนอกระบบไม่ใช่แค่ปัญหาการศึกษา แต่กระทบต่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจด้วย โดยนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ดคำนวณว่า หากประเทศไทยไม่มีเด็กหลุดจากระบบจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 3% ขณะที่อดีตนักเศรษฐศาสตร์จากยูเนสโกประเมินว่า การที่ประเทศไทยแก้ปัญหาเด็กหลุดจากระบบการศึกษาได้จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจมากกว่า 228,000 ล้านบาทต่อปี รายงานธนาคารโลกล่าสุดในเดือนมิถุนายนระบุว่า การเข้าถึงวัคซีนเป็นตัวแปรสำคัญต่อสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของประเทศต่างๆ เศรษฐกิจโลกขยายตัว 5.6% เร็วกว่าที่คาดไว้ 1.5% เพราะการมาของวัคซีน ในขณะที่ประเทศยากจนกำลังพัฒนาเศรษฐกิจทรุดลง คนจนเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโตเพียง 2.9% ต่ำสุดในรอบ 20 ปี จะมีมากกว่า 100 ล้านคนที่กลายเป็นกลุ่มยากจนสูงสุด หรือ extream poverty

“ดังนั้น ควรเร่งการฉีดวัคซีนในครู ในเด็ก หากทำได้ และในภาพรวมควรฉีดให้ได้ 90% เพื่อการฟื้นกลับคืนทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา โดยเร็ว เพราะจะทำให้สถานการณ์กลับเข้าสู่การฟื้นฟู และยิ่งเปิดเรียนเร็วเท่าไหร่ยิ่งส่งผลดีต่อเศรษฐกิจเท่านั้น โดยผลกระทบจากการปิดเรียน 4 เดือน ส่งผลต่อจีดีพีไทย 9.12 แสนเหรียญสหรัฐ”

ตั้งกองทุนหมุนเวียนการศึกษา 50,000 ล้าน

รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ วุฒิสมาชิก ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา

รศ. ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ วุฒิสมาชิก ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา กล่าวว่า ข้อมูลจากธนาคารโลกชี้ว่า ปี 2562 คนยากจนในประเทศไทยมีจำนวน 3.7 ล้าน ปี 2563 พบมีคนยากจน 5.2 ล้านคน เพียงแค่ 1 ปี มีคนยากจนเพิ่มขึ้นถึง 1.5 ล้านคน ปี 2564 คนยากจนอาจเพิ่มขึ้น 6.7-7 ล้านคน เพราะปัญหาเศรษฐกิจยังหนัก คนยากจนเพิ่มมากขึ้น คนเหล่านี้รัฐบาลต้องเข้ามาดูแล ในบรรดาปัญหาทั้งหมดในประเทศไทยคิดว่าปัญหาการศึกษาเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด

รศ.สังศิต กล่าวว่า เป็นโอกาสที่รัฐบาลจะได้แสดงถึงความรับผิดรับชอบต่อประเทศไทยได้ดียิ่งขึ้น คิดว่าถ้าหากรัฐบาลมองเห็นว่าเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในประเทศไทย การที่จะให้นักเรียนต้องหยุดเรียนเพราะขาดแคลนเงินทอง พ่อแม่ตกงาน ครอบครัวมีลูก 2-3 คน แต่มีมือถือเครื่องเดียวเรียนออนไลน์ก็ไม่ได้ จะเป็นเรื่องใหญ่ในอนาคตต้องหาทางแก้ปัญหาโดยเร็ว

รัฐบาลควรทำเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ ตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อการศึกษา สำหรับคนยากจนที่รัฐบาลมุ่งเป้าไปเลยว่าครอบครัวไหนยากจน เข้าไม่ถึงการศึกษาจริง เป็นเวลาที่ดีมากที่รัฐบาลจะสำรวจตัวเลขได้ออกมาชัดเจนว่า 77 จังหวัดมีจำนวนครัวเรือนยากจนได้รับผลกระทบเท่าไหร่ เพื่อรัฐบาลจะได้พุ่งเป้าทำงานกับคนเหล่านี้ และต้องสร้างพันธมิตรระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ผู้ว่าฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน สถานศึกษา ภาคประชาสังคม มาร่วมเป็นกรรมการช่วยดูแลในแต่ละจังหวัดของตัวเอง และรัฐบาลจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็น เช่น ให้งบประมาณเดือนละ 5 หมื่นล้าน ตลอด 1 ปี รวมประมาณ 6 แสนล้านบาทต่อปี คาดว่าประมาณปี 2566 รัฐบาลจะคลี่คลายปัญหาดังกล่าวได้ เศรษฐกิจภาพรวมของโลกและประเทศไทยดีขึ้น

“การจัดตั้งกองทุนเราดูแลแบบตรงเป้า ผมคิดว่าภาครัฐไม่ควรทำงานคนเดียว ต้องทำงานร่วมกันทุกภาคส่วนเป็นจิตอาสาสำรวจความขาดแคลน สำหรับเงิน 5 หมื่นล้านบาทต่อเดือนไม่ใช่เรื่องใหญ่ของรัฐบาล ตัดงบก่อนสร้าง งบกองทัพ รัฐบาลหาเงินได้แน่นอน แต่สิ่งที่รัฐบาลจะได้ประโยชน์ในระยะยาว คือจะคลี่คลายได้โดยเร็ว”