เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2557 นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการคนใหม่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ประชุมบอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์นัดแรก เพื่อเร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งจะต้องนำเสนอคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือที่เรียกว่า “ซูเปอร์บอร์ด” พิจารณาภายในวันที่ 21 สิงหาคม 2557
ภายหลังการประชุมบอร์ด นางสาลินีเปิดเผยว่ามีวาระสำคัญที่ผ่านการพิจารณาดังนี้ คือ 1. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการชุดย่อย เพื่อกำกับดูแลด้านงานด้านต่างๆ 5 ชุด ได้แก่ แต่งตั้งคณะกรรมการบริหาร โดยมี นางพรรณขนิตตา บุญครอง ที่ปรึกษาด้านพัฒนารัฐวิสาหกิจ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นประธาน, แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ โดยมี นายอัษฎางค์ เชี่ยวธาดา อธิบดีอัยการ สำนักงานการบังคับคดี สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นประธาน, คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยมีนาย ลวรณ แสงสนิท รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เป็นประธาน, คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อสรรหากรรมการผู้จัดการเอสเอ็มอีแบงก์ และคณะอนุกรรมการฟื้นฟูกิจการเอสเอ็มอีแบงก์
เรื่องที่ 2 เร่งจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการตามคำสั่ง คสช. มี 4 แนวทาง คือ แนวทางที่ 1 การบริหารจัดการสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ โดยจัดกลุ่มลูกหนี้ตามสถานะ ได้แก่ กลุ่มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) กลุ่มสินเชื่อที่มีคุณภาพอ่อน และต้องมีกระบวนการดูแลใกล้ชิด ทั้งนี้ การจัดการกับลูกหนี้กลุ่ม NPLs ค้างนาน สถานะไม่ดำเนินธุรกิจไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ และเคยได้รับโอกาสปรับโครงสร้างหนี้มาหลายครั้ง กลุ่มนี้จะขออนุมัติต่อกระทรวงการคลังให้เปิดประมูลขายออกไป
“ปัจจุบันธนาคารมีสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ ค้างชำระหนี้เกิน 3 เดือนขึ้นไปอยู่ประมาณ 34,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38% ของยอดสินเชื่อคงค้าง 88,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นลูกหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งผ่านการปรับโครงสร้างหนี้มาแล้วหลายครั้ง แต่ไม่มีความสามารถที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้ คิดเป็นมูลหนี้ 20,000 ล้านบาท ตามแผนฟื้นฟูกิจการ คือต้องขายลูกหนี้ NPLs กลุ่มนี้ออกไป หากผ่านการอนุมัติจากกระทรวงการคลัง ก็จะทำให้ธนาคารมียอด NPLs คงเหลือแค่ 14,000 ล้านบาท เท่านั้น” นางสาลินีกล่าว
ส่วนกลุ่มลูกหนี้ที่ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ธนาคารจะใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ หรือปรับตารางการชำระหนี้ โดยจะคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้เป็นปัจจัยสำคัญที่สุด เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบ
แนวทางที่ 2 การบริหารสินเชื่อที่มีคุณภาพดี เน้นการรักษาความสัมพันธ์กับลูกค้าเดิมผ่านช่องทางสาขา 95 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงต้องมีการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อเพิ่มรายได้ของธนาคาร โดยมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าตามพันธกิจหลัก เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs จำนวนมากที่ไม่ได้รับโอกาสจากธนาคารเอกชนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2557 พบว่า ธนาคารอนุมัติสินเชื่อใหม่เพียง 5,684 ล้านบาท สาเหตุเกิดจากความล่าช้าในการพิจารณาสินเชื่อ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องปรับปรุงกระบวนการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อ (Credit Process) เสียใหม่ให้มีประสิทธิภาพ และกลไกการคานอำนาจ (Check and Balance) ที่ได้มาตรฐานและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติด้วย เพราะหากเข้มงวดจนเกินไป ก็จะไม่เป็นการช่วยเหลือ SMEs ตามเจตนารมณ์ของพันธกิจ ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถปรับปรุงได้ เพราะพนักงานสินเชื่อของเอสเอ็มอีแบงก์มีทักษะด้านสินเชื่ออย่างเพียงพออยู่แล้ว
แนวทางที่ 3 การบริหารสภาพคล่อง ธนาคารมีแผนปรับโครงสร้างทางการเงินให้มีสัดส่วนเงินกู้ระยะยาวเพิ่มขึ้น โดยขอให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ระยะยาว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการเชื่อมั่นว่าเมื่อปรับปรุงระบบงานด้านสินเชื่อและแก้ไข NPLs แล้วจะทำให้สถานะของเอสเอ็มอีแบงก์มีความมั่นคงขึ้นโดยลำดับ ซึ่งธนาคารอาจจะขอออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิ์ระยะยาว เพื่อปรับการบริหารแหล่งเงินทุนให้สอดคล้องเก็บเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในการปล่อยสินเชื่อ และยังนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 โดยไม่ต้องขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณจากกระทรวงการคลังมาใช้ในการเพิ่มทุน
“ขณะนี้ธนาคารไม่ได้มีปัญหาขาดสภาพคล่อง แต่มีปัญหาเรื่องการระดมทุนระยะสั้นเพื่อมาปล่อยกู้ระยะยาว ขณะที่ธนาคารมีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงประมาณ 7% ต่ำกว่ามาตรฐาน BIS Ratio ที่ 8.5% โดยเงินกองทุนที่มีอยู่ 7% หรือประมาณ 3,300 ล้านบาท จัดอยู่ในกองทุนชั้นที่ 1 ทั้งหมด ซึ่งตามมาตรฐานกำหนดสัดส่วนไว้แค่ 4.25% เท่านั้น แต่เงินกองทุนชั้นที่ 2 ไม่มี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องขออนุมัติกระทรวงการคลังระดมเงินโดยออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิระยะยาว เพื่อนำมาสำรองไว้ในกองทุนชั้นที่ 2 แต่คงไม่มากเท่ากับกองทุนชั้นที่ 1 ทั้งนี้เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นคงให้กับธนาคารในระยะยาว ขณะเดียวกันไม่ต้องไปรบกวนเงินภาษีของประชาชนมาเพิ่มทุนธนาคาร 2,000 ล้านบาท” นางสาลินีกล่าว
แนวทางที่ 4 การสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานและจัดโครงสร้างกำลังคนให้เหมาะสมกับการดำเนินธุรกิจ ปัจจุบันเอสเอ็มอีแบงก์มีพนักงาน 1,637 คน ธนาคารพยายามจะจัดให้มีพนักงานด้านหารายได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อเอสเอ็มอีแบงก์ได้รับอนุมัติจากกระทรวงการคลังให้ดำเนินการขายหนี้ด้อยคุณภาพ NPLs ออกไปบ้างแล้วจะสามารถโอนย้ายพนักงานบริหารหนี้ กลับมาเป็นพนักงานสินเชื่อ
นอกจากนี้ พยายามปรับปรุงกระบวนการทำงาน และระบบข้อมูลทุกระบบให้เชื่อมโยงกัน ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ต้องจัดให้มีการสื่อสารภายในองค์กรอย่างทั่วถึงและสม่ำเสมอ ระหว่างสำนักงานใหญ่กับเขต ภาค และสาขาทั้ง 95 แห่ง เพื่อรักษาขวัญกำลังใจ และให้สาขาได้เข้าถึงและเข้าใจนโยบายและแนวทางการทำธุรกิจของธนาคารอย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจนถึงขั้นนำไปปฏิบัติได้จริง
ต่อกรณีที่มีกระแสข่าวกระทรวงการคลังมีแนวคิดที่จะปิดกิจการเอสเอ็มอีแบงก์ หรือนำไปควบรวมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย นางสาลินีตอบสั้นๆ ว่า “บอร์ดได้รับมอบหมายให้มาฟื้นฟูกิจการแบงก์ ไม่ได้ให้มาปิดแบงก์”
ดูเพิ่มเติม: เอกสารแถลงข่าว