ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มาตรการรัฐบาล “ประยุทธ์ ” แพ็คเกจช่วย “ชาวนา- เกษตรกร” ผ่านธกส. 4 เดือนเกือบ 2 แสนล้าน

มาตรการรัฐบาล “ประยุทธ์ ” แพ็คเกจช่วย “ชาวนา- เกษตรกร” ผ่านธกส. 4 เดือนเกือบ 2 แสนล้าน

4 ตุลาคม 2014


มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2557 อนุมัติให้ใช้สภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จำนวน 40,000 ล้านบาท เป็นมาตรการเสริมในการลดต้นทุนให้แก่ชาวนา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หลังจากมีการลดต้นทุนในแง่ของปัจจัยการผลิต ค่าปุ๋ย ค่าสารเคมีเกษตร ค่าที่ดิน และค่าบริการรถไถ่ ไปแล้วก่อนหน้าเฉลี่ยไร่ละ 432 บาท

โครงการช่วยเหลือชาวนา

การอนุมัติสภาพคล่อง ธ.ก.ส. ในครั้งนี้มุ่งช่วยเหลือชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือน โดยการสนับสนุนเงินช่วยเหลือค่าต้นทุนการผลิตจำนวน 1,000 บาท/ไร่ กำหนดกรอบวงเงินสูงสุด 15,000 บาท/ครัวเรือน หมายถึงชาวนาจะได้รับเงินช่วยเหลือไม่เกิน 15,000 บาท แม้จะมีที่นาเกิน 15 ไร่

และในวันที่ 2 ตุลาคม 2557 ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ร่วมจัดงานเปิดตัวโครงการ “มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในฤดูการผลิตปี 2557/58” โดยมีนายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี

โครงการช่วยเหลือเกษตรกร

โดยมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีมติเห็นชอบให้ ธ.ก.ส. ดําเนินการช่วยเหลือชาวนา ปีการผลิต 2557/58 จำนวน 3 โครงการ ด้วยกัน คือ

1. โครงการลดดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการผลิตแก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2557/58 โดยการลดดอกเบี้ยลงร้อยละ 3 ต่อปี รายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาไม่เกิน 6 เดือน ธ.ก.ส. อนุมัติวงเงินสำหรับโครงการนี้จำนวน 89,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลรับภาระชำระดอกเบี้ยจำนวนหนึ่งแทนเกษตรกรในกรอบวงเงิน 2,292 ล้านบาท นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. คาดการณ์ว่าจะมีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ถึง 3.57 ล้านราย

นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการว่า “ได้มีการดำเนินการมาเรื่อยๆ ชาวนาที่มากู้เงินไปทำนาในรอบการผลิตนี้ก็จะได้รับการลดดอดเบี้ยไปโดยอัตโนมัติ ซึ่ง ธ.ก.ส.ได้อนุมัติเงินกู้ให้แก่ชาวนาไปแล้วกว่า 1 ล้านราย จากจำนวนชาวนาที่ได้ทำการขึ้นทะเบียนเกษตรกรประมาณ 3 ล้านราย”

2. โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวนาปี (ประกันยุ้งฉาง) ซึ่งเป็นสินเชื่อที่เข้าไปช่วยเกษตรกรในช่วงที่ผลผลิตออกมาเป็นปริมาณมากและมีราคาตกต่ำ มีเป้าหมายดําเนินการในเขตพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จํานวนข้าวเปลือก 1.5 ล้านตัน วงเงินสินเชื่อ 17,280 ล้านบาท

“เพื่อให้เกษตรกรมีทางเลือกในการชะลอการขายโดยไม่ต้องพะวงกับปัญหาเงินที่จะนํามาใช้จ่ายในครัวเรือนและภาระหนี้สิน เพราะสามารถนําผลผลิตคือข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเหนียวมาขอกู้กับ ธ.ก.ส. ในอัตราร้อยละ 80 ของราคาตลาด ในวงเงินไม่เกินรายละ 300,000 บาท โดยไม่เสียดอกเบี้ยกําหนดชําระคืนภายใน 4 เดือนนับถัดจากเดือนรับเงินกู้ เริ่มตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2558” นายลักษณ์กล่าว

3. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวและสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร ได้แก่ สหกรณ์ภาคการเกษตรและกลุ่มเกษตรกร โดยการไปรวบรวมข้าวเปลือกเพื่อการจําหน่าย วงเงินสินเชื่อ 18,000 ล้านบาท และเพื่อนําไปแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มอีก 2,000 ล้านบาท รวมวงเงิน 20,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. เพื่อกระตุ้นให้องค์กรของเกษตรกรเข้ามามีส่วนช่วยในการรักษาระดับราคาผลผลิตข้าว รวมทั้งมีการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิต

โครงการนี้คิดดอกเบี้ยเงินกู้ในอัตรา MLR -1 (ปัจจุบัน MLR เท่ากับร้อยละ 5 ต่อปี) โดยสถาบันเกษตรกรจ่าย 1% และรัฐบาลชดเชย 3% โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี

“อันนี้ก็จะดำเนินการร่วมกับทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายรวมทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านบาท ทำงานร่วมกับสหกรณ์กว่า 500 แห่งทั่วประเทศ เพื่อที่จะทำการวบรวมข้าวเปลือก แล้วก็รวบรวมสีแปรด้วย ซึ่งก็จะมีสหกรณ์ประมาณ 140 แห่ง ที่มีความสามารถในการที่จะสีแปรเป็นข้าวสาร โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนตุลาคมเป็นต้นไป คาดว่าจะช่วยดึงข้าวเปลือกเข้ามาหมุนเวียนในระบบของสหกรณ์ เป็นข้าวเปลือกทั้งสิ้น 3 ล้านตัน” นายลักษณ์ กล่าว

Web

นอกนี้ยังมีอีก 1 มาตรการที่ ธ.ก.ส. ได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว คือ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557 อันเป็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชาวนา ในการบริหารจัดการตัวเองด้วยระบบประกันความเสี่ยงความเสียหายจากแปลงนา ซึ่งกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัย และคณะกรรมการบริหารและกำกับระบบประกันภัย (คปภ.) ประมาณการเป้าหมาย 1.5 ล้านไร่ โดยรัฐสมทบค่าเบี้ยประกันจำนวน 494.90 ล้านบาท

นายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวถึงความคืบหน้าในการดำเนินการตามโครงสร้างนี้ ว่า “ก็มีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้ว ชาวนาที่เริ่มทำนาในฤดูการผลิตนี้ก็มาเข้าร่วมโครงการกับ ธ.ก.ส. ประมาณ 6 หมื่นราย คิดเป็นเนื้อที่ 8 แสน 5 หมื่นไร่ ยังเหลือแต่ชาวนาในภาคใต้ที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการประกันภัยนาข้าว เนื่องจากยังไม่ถึงฤดูทำนาของเขา”

ทั้งนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่โดยรวมแล้วตั้งแต่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศจนกระทั่งมีการจัดตั้งรัฐบาล ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน ได้มีการอนุมัตินโยบายให้ ธ.ก.ส. ดำเนินงานกว่า 10 โครงการ เป็นเม็ดเงินถึง 283,374.51 ล้านบาท

ธ.ก.ส. ปิดกองทุนช่วยเหลือชาวนา

เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2557 ณ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. ได้ทำการแถลงปิดกองทุนช่วยเหลือชาวนาที่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2557 ในช่วงวิกฤติการณ์ “จำนำข้าว” สามารถรวบรวมเงินบริจาคได้ถึง 14,208 ล้านบาท และนำไปจ่ายให้แก่ชาวนาที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 10,500 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานของกองทุนช่วยเหลือชาวนามียอดผู้เข้าร่วมบริจาคและสมทบทั้งสิ้น 14,208,310,287.64 บาท แบ่งเป็น 1. กองทุนช่วยเหลือชาวนา (เงินบริจาค) จำนวน 30,327,073.41 บาท 2. เงินสมทบกองทุนช่วยเหลือชาวนา (แบบไม่มีผลตอบแทน) จำนวน 916,659,054.89 บาท และ 3. เงินสมทบกองทุนช่วยเหลือชาวนา (แบบมีผลตอบแทนร้อยละ 0.63) จำนวน 13,261,324,159.34 บาท

กองทุนช่วยเหลือชาวนา (1)

กองทุนช่วยเหลือชาวนา ตาราง (1)

“ขณะนี้ชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวเป็นที่เรียบร้อยแล้วทุกราย ประกอบกับ ธ.ก.ส. ได้รับชำระเงินคืนจากการระบายข้าวของกระทรวงพาณิชย์มาแล้ว คณะกรรมการธนาคารจึงมีมติเห็นชอบให้นำเงินดังกล่าวไปคืนให้กับผู้ร่วมสมทบในกองทุนช่วยเหลือชาวนาพร้อมปิดโครงการกองทุนช่วยเหลือชาวนาจากเดิมที่กำหนดไว้วันที่ 31 ธันวาคม 2557 มาเป็นวันที่ 30 กันยายน 2557” นายลักษณ์กล่าว