ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะจีน : ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (3)

มลภาวะจีน : ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (3)

9 เมษายน 2014


รายงานโดย อิสรนันท์

จะว่าไปแล้ว การที่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถหาหนทางแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษที่ลามไปตามเมืองใหญ่น้อยทั่วประเทศอย่างได้ผลตลอดไป ใช่แต่จะสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับผู้นำทำเนียบจงหนานไห่ในกรุงปักกิ่งเท่านั้น หากยังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ยังแก้ไม่ตกเช่นกัน ทั้งๆ ที่ตระหนักว่าเป็นตัวการใหญ่ทำให้ผู้คนทั่วทุกมุมโลกเสียชีวิตถึงเกือบ 7 ล้านคนในแต่ละปี โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนและผู้มีรายได้ปานกลางในแถบเอเชียอาคเนย์และหมู่เกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก ที่มีโอกาสเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศมากที่สุดในโลก โดยเมื่อปี 2555 ชาวบ้านในภูมิภาคนี้เสียชีวิตจากผลพวงของสภาพอากาศเลวร้ายมากถึง 5.9 ล้านคน

ปักกิ่ง
ปักกิ่ง

มาเรีย เนรา ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมและสาธารณสุขขององค์การอนามัยโลกยืนยันว่า นับวันมลภาวะทางอากาศซึ่งเป็นต้นตอของโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดในสมอง และมะเร็งที่ปอด ได้ชื่อว่าเป็นเพชฌฆาตตัวร้ายที่คร่าชีวิตประชาชนเกือบ 7 ล้านคนในแต่ละปี หรือในอัตราส่วน 1 ต่อ 8 ซึ่งมากกว่าที่เคยประเมินไว้กว่าเท่าตัว หนำซ้ำมลภาวะทางอากาศยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งปอด และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ นับเป็นครั้งแรกที่องค์การอนามัยโลกจัดให้มลภาวะทางอากาศเป็นสารก่อมะเร็ง

ในรายงานขององค์การอนามัยโลกยังแยกแยะด้วยว่า กว่าครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเมื่อปี 2555 หรือราว 4 ล้าน 3 แสนคน เป็นผลพวงจากมลภาวะทางอากาศภายในเคหสถาน อาทิ จากควันของเตาถ่านในครัว ที่ใช้ไม้ ถ่านหิน หรือชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง อีกราว 3 ล้าน 7 แสนคนเสียชีวิตจากมลภาวะทางอากาศภายนอกเคหสถาน อาทิ ควันพิษจากการเผาไหม้ของรถยนต์ หรือควันจากโรงงานอุตสาหกรรม หรือบางคนเสียชีวิตจากมลภาวะทั้งจากภายในและภายนอกเคหสถาน

องค์การอนามัยโลกเตือนด้วยว่า ในประเทศที่กำลังพัฒนา ผู้หญิงและเด็กมีโอกาสได้รับมลภาวะทางอากาศมากกว่าผู้ชาย เพราะมักใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้าน จึงมีโอกาสสูดควันจากเตาไฟระหว่างปรุงอาหารมากกว่าผู้ชาย

รายงานฉบับล่าสุดขององค์การอนามัยโลกยังได้เผยชื่อของ 5 เมืองใหญ่ที่ได้ชื่อว่ามีค่ามลภาวะทางอากาศสูงที่สุดในโลกในขณะนี้ ประกอบด้วย กรุงไคโร นครหลวงแดนฟาโรห์อียิปต์ กรุงนิวเดลีและนครกัลกัตตา ประเทศอินเดีย นครเทียนสินและนครฉงชิ่งหรือจุงกิง ประเทศจีน ขณะที่กรุงจาการ์ตา นครหลวงของอินโดนีเซีย ครองตำแหน่งเมืองที่มีมลภาวะทางอากาศสูงที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ท้ายสุด องค์การอนามัยโลกได้เรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกรวมไปถึงหน่วยงานด้านสาธารณสุขเร่งออกมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อหาทางลดมลภาวะทางอากาศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการลดมลภาวะทางอากาศในภาคขนส่ง พลังงาน อุตสาหกรรม และการจัดการของเสีย

ในช่วงไล่เลี่ยกันนั้น รัฐบาลฝรั่งเศสซึ่งประสบปัญหามลภาวะทางอากาศพุ่งสูงเกินมาตรฐานจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อสุขภาพและต่อชีวิตของประชาชน เนื่องจากอากาศที่หนาวเย็นในเวลากลางคืนและร้อนอบอ้าวในเวลากลางวัน ทำให้ควันพิษไม่สามารถกระจายตัวสู่ชั้นบรรยากาศได้ โดยเฉพาะในกรุงปารีสและปริมณฑล ซึ่งผลการวัดค่ามลภาวะในอากาศ อันเกิดจากยานพาหนะ ความร้อน และอุตสาหกรรมหนัก ปรากฎว่าเกินค่ามาตรฐานถึงเท่าตัว โดยพุ่งสูงถึง 180 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่ค่ามาตรฐานความปลอดภัยคือต้องไม่เกิน 80 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ที่มาภาพ :http://static.guim.co.uk/sys-images/Environment/Pix/pictures/2014/3/14/1394799784296/Air-pollution-in-Paris--E-003.jpg
ที่มาภาพ: http://static.guim.co.uk/sys-images/Environment/Pix/pictures/2014/3/14/1394799784296/Air-pollution-in-Paris–E-003.jpg

หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า คุณภาพของอากาศอยู่ในระดับเลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ใกล้เคียงกับระดับมลภาวะทางอากาศที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในกรุงปักกิ่ง ทำให้รัฐบาลไม่สามารถนิ่งนอนใจได้อีกต่อไป ต้องออกมาตรการจำกัดยานพาหนะในกรุงปารีสเพื่อควบคุมระดับมลภาวะทางอากาศ

นับเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปีนับตั้งแต่ปี 2540 ที่รัฐบาลต้องนำระบบวันทางเลือกหรือวันขับรถตามเลขทะเบียนมาใช้ ซึ่งหมายความว่าผู้ขับขี่จะสามารถนำรถออกมาใช้ได้วันเว้นวันเท่านั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งรถจักรยานยนต์ โดยรถที่มีเลขทะเบียนคู่จะนำรถออกมาใช้ในวันคู่ ส่วนรถทะเบียนคี่ก็ใช้ในวันคี่ พร้อมกันนั้น รัฐบาลยังได้กำหนดมาตรการอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย อาทิ จำกัดความเร็วยานพาหนะ และจำกัดการเผาไหม้เชื้อเพลิง เป็นต้น

และเพื่อป้องกันความอลหม่านที่อาจเกิดขึ้น ทางการได้เตรียมรับมือด้วยการให้ระบบขนส่งสาธารณะทุกรูปแบบเริ่มให้บริการฟรีแก่ประชาชนล่วงหน้า เพื่อโน้มน้าวให้ชาวเมืองปารีสจอดรถไว้ที่บ้าน หลังจากประกาศใช้มาตรการนี้ได้ไม่กี่วัน ผลการตรวจวัดพบว่าค่าอนุภาคมลภาวะในอากาศเริ่มลดลงเล็กน้อย

ขณะเดียวกัน นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียในสหรัฐฯ และ มหาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์จุงกิงในจีนได้ร่วมกันเปิดเผยผลการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมลภาวะกับพัฒนาการทางสมองหรือความฉลาดความโง่ของเด็ก โดยเลือกศึกษาเด็กทารกที่เกิดในเขตตงเหลียงในจุงกิงหรือฉ่งชิ่ง ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ ในช่วงก่อนหน้าที่โรงงานไฟฟ้าพลังถ่านหินในพื้นที่นั้นจะปิดตัวลงเมื่อปี 2547 ได้ผลสรุปที่น่าตกใจว่าเด็กทารกในเขตนั้นมีระดับโปรตีนที่สำคัญต่อการพัฒนาของสมองน้อยกว่าทารกที่เกิดหลังช่วงเวลาที่โรงไฟฟ้าถ่านหินปิดตัวลง หรืออีกนัยหนึ่งก็คือมีทักษะการเรียนรู้และความจำด้อยกว่าเด็กคนอื่น นับเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่ยืนยันว่าทารกในครรภ์ที่ได้รับมลภาวะจากโรงไฟฟ้าถ่านหินจะมีผลต่อพัฒนาการทางสมองที่ช้ากว่าเด็กทั่วไป

ผลการศึกษาชิ้นนี้ตอกย้ำความกังวลของสังคมจีนต่อปัญหามลภาวะ ซึ่งยิ่งกดดันผู้นำจงหนานไห่ให้เพิ่มความเข้มงวดในการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมมากขึ้น กระทั่งประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ต้องใช้ภาพลักษณ์ส่วนตัวว่าเป็นผู้นำตีนติดดินมาแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ด้วยการเดินดุ่ยๆ ตรวจเยี่ยมตรอกแห่งหนึ่งในย่านหนานหลัวกู่เซี่ยง อันเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งหนึ่งในกรุงปักกิ่งอย่างไม่เป็นทางการ โดยไม่มีผ้าปิดปากป้องกันหมอกควันพิษ พร้อมกับนั่งพูดคุยกับชาวบ้านในละแวกนั้นอย่างเป็นกันเอง

ส่วนภาคเอกชนซึ่งเบื่อที่จะรอพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐที่แสนจะอืดอาดยืดยาดกว่าจะออกมาตรการแก้ไขปัญหาหมอกควันพิษที่เป็นรูปธรรม ทั้งๆ ที่นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศกลางที่ประชุมประจำปีสมัชชาสภาประชาชนเมื่อเร็วๆ นี้ให้การจัดการปัญหามลภาวะทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับให้สัญญาว่ารัฐบาลจะเร่งออกมาตรการใหม่มาแก้ปัญหานี้ แต่ภาคเอกชนก็ไม่เชื่อน้ำมนต์อีกแล้ว จึงพึ่งพาตัวเองด้วยการแปลงวิกฤติเป็นโอกาส อาทิ เสนอให้มีการประกันหมอกควันสำหรับนักท่องเที่ยว

เซี่ยงไฮ้
เซี่ยงไฮ้

ทั้งนี้ บริษัทตัวแทนท่องเที่ยวออนไลน์ซีทริปดอทคอม ร่วมกับบริษัทประกันผิงอัน เสนอจะขายประกันการท่องเที่ยวแบบพรีเมียม คลุมไปถึงการประกันในกรณีที่ลูกทัวร์ต้องเผชิญกับหมอกควันด้วย เพียงแค่ต้องจ่ายเบี้ยประกัน 10-15 หยวน (ราว 52-78 บาท) ซึ่งถ้าหากลูกทัวร์ต้องเผชิญกับสภาพท้องฟ้าที่มีหมอกควันอันตราย บริษัทจะจ่ายเงินชดเชยให้วันละ 50 หยวน (ราว 262 บาท) แต่การประกันนี้ครอบคลุมแค่ 7 เมืองใหญ่ในประเทศเท่านั้น

ก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่แล้ว เมืองเฉิงตูได้เปิดคลินิกหมอกควันขึ้นโดยเฉพาะ ปรากฏว่าแค่ 10 วันเท่านั้น มีคนไข้มารักษาถึง 100 คน

ด้านสำนักข่าวซินหัวก็หัวใสเสนอเมนูอาหารจีน 5 ชนิด ซึ่งเชื่อว่า ช่วยบำรุงสุขภาพทำให้ร่างกายสามารถต้านทานมลภาวะทางอากาศตามเมืองใหญ่ได้ อาทิ เห็ดหูหนูขาวและลูกบัวต้มน้ำตาลกรวด ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบำรุงปอด บรรเทาอาการไอ ลูกแพร์จีนต้มกับน้ำตาลกรวด ช่วยบำรุงปอด บรรเทาอาการร้อนใน

นอกจากนี้ ก็ยังแนะนำให้กินเมล็ดอัลมอนด์ เพื่อช่วยบำรุงหัวใจและปอด รวมทั้งช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย หรือให้กินแห้ว ช่วยบำรุงลำคอทำให้หายจากอาการระคายเคืองจากการสูดดมหมอกควันเข้าไป สุดท้ายก็คือแนะนำให้กินผักใบเขียว เพื่อช่วยลดระดับสารเคมีที่ทำให้เซลล์ของมนุษย์กลายพันธุ์ และช่วยสร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อบุผิวในทางเดินหายใจ

หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าช้าเป็นเรือเกลือ ในที่สุดรัฐบาลปักกิ่งก็เริ่มขยับแขนขาเพื่อแก้ไขปัญหามลภาวะทางอากาศแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ 10,000 ล้านหยวน (ราว 52,800 ล้านบาท) จัดตั้งเป็นกองทุนต่อต้านมลภาวะ โดยกองทุนนี้จะเสนอให้รางวัลแก่รัฐบาลระดับท้องถิ่นที่สามารถทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสามารถลดค่าอนุภาคขนาดเล็กในอากาศ

คณะรัฐมนตรียังได้ประกาศมาตรการควบคุมการใช้ถ่านหิน พร้อมกับเรียกร้องให้เพิ่มความพยายามในการส่งเสริมการใช้น้ำมันคุณภาพสูงสำหรับยวดยานพาหนะ การประหยัดพลังงานในการก่อสร้าง การใช้หม้อน้ำที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการเตรียมบังคับให้โรงงานหลายร้อยแห่งในกรุงปักกิ่งที่เป็นตัวก่อมลภาวะต้องติดตั้งอุปกรณ์ในการกรองฝุ่นละออง ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกสั่งปิดทันที รวมทั้งอาจจะยกเลิกอุตสาหกรรมบางประเภทที่เป็นตัวการก่อมลภาวะ อาทิ โครงการผลิตเหล็กและปูนซีเมนต์

มาตรการเหล่านี้มีขึ้นหลังจากสำนักงานวิชาการด้านสังคมศาสตร์ในกรุงปักกิ่งและสำนักงานวิชาการด้านสังคมศาสตร์เซี่ยงไฮ้ได้เผยแพร่รายงานว่าด้วยสภาพมลภาวะใน 40 เมืองใหญ่ทั่วโลกโดยอาศัยเกณฑ์วัดหลายอย่าง เช่น พลังความมีชีวิตชีวาในทางเศรษฐกิจ, ความมั่นคงทางสังคม, วัฒนธรรม, การบริหารจัดการเขตเมือง, นิเวศวิทยา, และพื้นที่ของเขตนคร พบว่ามลภาวะในกรุงปักกิ่งอยู่ในระดับที่เกือบจะไม่เหมาะสมสำหรับการดำรงชีวิตอยู่แล้ว โดยติดรองบ๊วยเมืองใหญ่ที่มีสภาพอากาศเลวร้ายที่สุด รองจากกรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย

สำหรับเมืองใหญ่ที่ติดอยู่ใน 5 อันดับแรกของรายงานฉบับนี้ ได้แก่ โตเกียว, ลอนดอน, ปารีส, นิวยอร์ก, และสิงคโปร์ ขณะที่ เซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง อยู่ในอันดับ 21 และอันดับ 31 ตามลำดับ