ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > มลภาวะที่จีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (8) :แม่น้ำแยงซีปนเปื้อนมลพิษ ปลาสเตอร์เจียนที่ผลิตไข่ปลาคาเวียร์ เสี่ยงสูญพันธุ์

มลภาวะที่จีน ปัญหาที่ท้าทายมนุษยชาติ (8) :แม่น้ำแยงซีปนเปื้อนมลพิษ ปลาสเตอร์เจียนที่ผลิตไข่ปลาคาเวียร์ เสี่ยงสูญพันธุ์

5 ตุลาคม 2014


อิสรนันท์

นับเป็นความโชคดียิ่งของจีนที่สมัชชาประชาชนได้ลงมติผ่านกฎหมายปกป้องสิ่งแวดล้อมฉบับแก้ไขปรับปรุงใหม่ให้ทันสมัยในรอบ 25 ปี ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2558 เป็นต้นไป โดยระบุชัดว่าการปกป้องสิ่งแวดล้อมเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาล ซึ่งได้เร่งเดินหน้าแก้ปัญหามลภาวะในอากาศในกรุงปักกิ่งอย่างยั่งยืน ครอบคลุมไปถึงการสั่งปิดหรือสั่งโยกย้ายโรงงานที่ปล่อยมลภาวะ ควบคุมจำนวนโรงงานทั้งหมดให้มีได้ไม่เกิน 18 ล้านโรงงานภายในปี 2563 ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ หนำซ้ำ ยังกำหนดบทลงโทษที่หนักขึ้นสำหรับผู้ที่เป็นตัวการก่อมลภาวะ

ไม่เช่นนั้นแล้ว จีนคงจะเป็นเป้าหมายใหญ่ของการโจมตีระหว่างที่ผู้นำจาก 120 ประเทศได้ร่วมประชุมว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งสหประชาชาติที่จัดขึ้นที่นครนิวยอร์กเมื่อวันที่ 23 ก.ย.2557 เหมือนเช่นทุกครั้งที่ผ่านมา โดยนายจาง เกาลี่ รองนายกรัฐมนตรีรีบแถลงต่อที่ประชุมถึงความคืบหน้าในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงการจะจับมือกับสหรัฐฯ​เป็นครั้งแรกเพื่อร่วมกันลดปัญหานี้ในฐานะที่ทั้ง 2 ประเทศเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมกันเกือบ 45 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด แทนที่ต่างฝ่ายจะต่างเกี่ยงกันรับผิดชอบเหมือนในอดีตที่ดีแต่ปะทะคารมกล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งว่าเป็นตัวการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า ทำให้ปัญหานี้คาราคาซังมาเนิ่นนาน

ไล่เลี่ยกันนั้น ได้มีการเปิดเผยรายงานผลการวิเคราะห์ประจำปีของโครงการ โกลบอลคาร์บอนที่ระบุว่า เมื่อปีที่แล้ว ปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและผลิตภัณฑ์ซีเมนต์เพิ่มขึ้นราว 3.6 หมื่นล้านตัน หรือ 2.3 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าสูงเป็นประวัติการณ์ คาดว่าอาจจะเพิ่มขึ้นอีก 2.5 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้ หากยังขืนปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป ปัญหาโลกร้อนอาจจะเข้าขั้นวิกฤติภายใน 30 ปีข้างหน้า

ที่มาภาพ : http://cdn.phys.org/newman/gfx/news/hires/2014/1-thecausesofc.jpg
ที่มาภาพ : http://cdn.phys.org/newman/gfx/news/hires/2014/1-thecausesofc.jpg

ขณะที่ผลสำรวจร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยอีสแองเกลียกับมหาวิทยาลัยเอ็กเซอเตอร์ในอังกฤษให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าขณะนี้สัดส่วนมลภาวะทางอากาศต่อประชากรของจีนได้ทะยานสูงแซงหน้าแดนดินถิ่นอเมริกาแล้ว หลังจากสัดส่วนมลภาวะต่อประชากรในจีนได้แซงหน้าสหภาพยุโรปเรียบร้อยโรงเรียนจีนแล้วตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยลูกหลานแดนมังกรได้ผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยคนละ 7.2 ตัน สูงกว่าชาวยุโรปที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยคนละ 6.8 ตัน และอินเดีย 1.9 ตัน

ข่าวนี้มีขึ้นในช่วงที่มีข่าวร้ายที่เป็นลางบอกเหตุว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษคงจะเรื้อรังไปอีกนาน ลางบอกเหตุล่าสุดมีขึ้นเมื่อสถาบันวิทยาศาสตร์การประมงของจีนได้นำเสนอรายงานชิ้นหนึ่งแสดงความกังวลว่าปลาสเตอร์เจียนที่ผลิตไข่ปลาคาเวียร์มีโอกาสเสี่ยงที่จะสูญพันธุ์เต็มที หลังจากไม่พบการขยายพันธุ์ในแม่น้ำแยงซีที่ปนเปื้อนมลพิษเมื่อปีที่แล้ว

ในรายงานชิ้นนี้กล่าวว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปีนับตั้งแต่นักวิจัยได้เริ่มเก็บสถิติการวางไข่ของปลาสเตอร์เจียนสายพันธุ์แม่น้ำแยงซี อันเป็นสายพันธุ์ปลาเก่าแก่ที่สุดชนิดหนึ่งในโลกที่เชื่อว่าดำรงอยู่มานานกว่า 140 ล้านปี ปรากฎว่าเมื่อปีที่แล้ว ไม่พบเห็นการวางไข่ของปลาสเตอร์เจียนในพื้นที่สังเกตการณ์แห่งหนึ่งของแม่น้ำแยงซี ในมณฑลหูเป่ย ทางภาคกลางของประเทศ

นอกจากนี้ ยังไม่พบปลาหนุ่มสาวอยู่ในแม่น้ำแยงซีที่ไหลออกทะเลในเดือนสิงหาคมตามฤดูกาล ซึ่งถ้าหากไม่มีการแพร่พันธุ์ตามธรรมชาติ ก็หมายความว่าปลาสเตอร์เจียนจะไม่เพิ่มจำนวน และเสี่ยงสูญพันธุ์หากปราศจากการคุ้มครอง

นักวิจัยจีนหลายคนประเมินว่า ขณะนี้มีปลาสเตอร์เจียนที่แม่น้ำแยงซีเหลืออยู่ราว 100 ตัวเท่านั้น จากที่เคยมีอยู่หลายพันตัวเมื่อช่วงกว่า 20 ปีที่แล้ว

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2545 กองทุนสัตว์ป่าโลกได้เผยผลการศึกษาพบว่าการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดดของจีนได้นำมาซึ่งมลภาวะทั้งในน้ำและอากาศ ขณะที่การสร้างเขื่อนหลายสิบแห่งในแม่น้ำแยงซี รวมทั้งเขื่อนไตรผาอันเป็นเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นตัวการสำคัญทำลายแหล่งอาศัยของสัตว์หลายชนิดจนใกล้สูญพันธุ์ภายในเวลาไม่ช้าไม่นานนี้ อาทิ ประชากรโลมาน้ำจืดที่ลดลงฮวบฮาบถึง 99.4 เปอร์เซ็นต์จากปี 2524-2549 ขณะที่จระเข้จีนลดลง 97 เปอร์เซ็นต์จากปี 2498-2553

ในส่วนของปัญหาจากมลภาวะทางอากาศหรือหมอกควันพิษของจีน นอกจากจะส่งผลกระทบไกลไปถึงฮ่องกง เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอาจไกลไปถึงพื้นที่บางส่วนในสหรัฐฯ แล้ว ยังมีรายงานจากสำนักงานอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไต้หวันว่า ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา มลภาวะจากจีนแผ่นดินใหญ่ยังได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของนักเรียนไต้หวันมากขึ้น กระทั่งกระทรวงศึกษาธิการไทเปต้องหาทางเพิ่มมาตรการป้องกันสุขภาพของเด็กนักเรียน

หนึ่งในมาตรการ “กันไว้ดีกว่าแก้” ก็คือการให้อำนาจแก่เทศบาลนครหรือเทศบาลเมืองต่างๆ ที่จะตัดสินใจสั่งปิดโรงเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย หากพบว่าค่ามาตรฐานระดับฝุ่นละอองขนาดเล็ก ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน มีค่าเฉลี่ยเกิน 500 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป หรือฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน มีค่าเฉลี่ยเกิน 350.4 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรขึ้นไป จากเดิมที่พิจารณาแต่ดัชนีมาตรฐานในการวัดระดับมลพิษในอากาศเพียงอย่างเดียวนั้น

การปรับค่ามาตรฐานระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กของไต้หวันนี้มีขึ้นขณะที่หลายประเทศกำลังเผชิญกับปัญหามลภาวะและสิ่งแวดล้อมในระดับที่รุนแรงมากขึ้นเป็นพิเศษ อาทิ ที่สิงคโปร์ ซึ่งระดับมลภาวะทางอากาศพุ่งสูงจนอยู่ในระดับอันตรายต่อสุขภาพอีกครั้ง อันเป็นผลจากปัญหาหมอกควันไฟป่าในอินโดนีเซีย ซึ่งทุกปีจะมีการเผาป่า ก่อให้เกิดกลุ่มหมอกควันไฟหนาทึบลอยข้ามน้ำข้ามทะเลมาปกคลุมน่านฟ้าของประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้ค่าดัชนีมาตรฐานมลพิษ (พีเอสไอ) เมื่อปีที่แล้วสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 401 เกินมาตรฐานที่กำหนดให้ไม่ควรเกิน 100 จนกลายเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศ ขณะที่ประชาชนต่างใส่หน้ากาก หรือล้มป่วยจากการสูดควันพิษมากเกินขนาด

ด้านเม็กซิโกก็เผชิญปัญหาสารเคมีคอปเปอร์ซัลเฟตและโลหะหนักอื่นๆ จำนวน 10 ล้านแกลลอน เกิดรั่วไหลจากเหมืองทองแดงแห่งหนึ่งที่บริหารงานโดยบริษัท กรุ๊ปโป เม็กซิโก แล้วสารพิษเหล่านี้ได้ไหลลงแม่น้ำบาคานูชิและโซโนรา รวมถึงเขื่อนแห่งหนึ่งในรัฐโซโนรา ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ โดยทางการไม่สามารถหยุดยั้งได้แม้จะสร้างเขื่อนชั่วคราวเพื่อกัดสารพิษเหล่านี้ แต่จากการตรวจน้ำในแม่น้ำ ปรากฎว่ามีสารหนู แคดเมียม ทองแดง โครเมียม และสารปรอทในแม่น้ำสูงกว่าระดับที่ปลอดภัย

บริษัทกรุ๊ปโป เม็กซิโก แก้ตัวว่า การรั่วไหลนี้มาจากการที่มีฝนตกหนักผิดปกติ แต่ทางการโต้ว่าสาเหตุแท้จริงมาจากการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียที่มีปัญหา และได้ขู่ว่าอาจจะสั่งปรับบริษัทนี้ถึง 100 ล้านบาทหากไม่แก้ปัญหาโดยเร็ว

ก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือน ส.ค. ได้เกิดเหตุปัญหาน้ำเป็นพิษขึ้นที่เมือง “โทเลโด” รัฐโอไฮโอ สหรัฐอเมริกา ถึงขั้นที่ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอต้องประกาศภาวะฉุกเฉินขึ้นที่เมืองนี้ หลังจากตรวจพบว่าน้ำที่ใช้ในการบริโภคอยู่ในระดับที่เป็นพิษ ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากสาหร่ายที่อยู่ในทะเลสาบเอรี แหล่งน้ำสำคัญในพื้นที่ ทำให้ประชาชนราว 500,000 คน ไม่สามารถนำน้ำมาบริโภคได้แม้จะผ่านการต้มแล้วก็ตาม แต่ไม่สามารถทำลายพิษได้ อีกทั้งยังไม่สามารถบอกได้ว่าน้ำประปาของเมืองโทเลโดจะปลอดภัยเมื่อใด

สำหรับจีน ซึ่งมีแนวโน้มว่าปัญหามลภาวะทางอากาศจะทวีความเลวร้ายมากขึ้นจนคุกคามชีวิตความเป็นอยู่รวมทั้งสภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน โดยรัฐบาลยังต้องต่อสู้อย่างไม่ลดละ ล่าสุดทางการได้เพิ่มความพยายามที่จะดึงภาคประชาชนเข้ามาร่วมในการรณรงค์แก้ปัญหาปัญหามลภาวะทางอากาศ ด้วยการรณรงค์ชักชวนประชาชนให้เดินเท้า ปั่นจักรยาน ฯลฯ เพื่อลดหมอกมลพิษ

ทั้งนี้ กระทรวงสิ่งแวดล้อมจีน ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ mep.gov.cn ว่าด้วย “มาตรฐานพึงปฏิบัติ 8 ประการ” ที่ภาคประชาชนต้องร่วมมือกันขจัดความเสียหายทางสภาวะแวดล้อมบางส่วน ประกอบด้วยการกระตุ้นให้ลูกหลานมังกรหันมาใช้วิธีเดินเท้าหรือปั่นจักรยานในการเดินทางเหมือนในอดีตก่อนจะเปิดประเทศ การงดหรือใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลงระหว่างเดินซื้อสินค้าตามห้างใหญ่น้อย ตลอดจนหยุดการเผาขยะสิ่งปฏิกูล ยุติการจุดพลุประทัดดอกไม้ไฟในเทศกาลต่างๆ ให้เลิกการประกอบอาหารประเภทปิ้งย่างหรือ “เคบับ” หนึ่งในอาหารทานเล่นยอดนิยมที่เผยแพร่มาจากชาวมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเกียง มีลักษณะคล้ายกับบาร์บีคิวของตะวันตก โดยนำเนื้อสัตว์นานาชนิดเสียบไม้ปิ้งย่างบนเตาถ่าน

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของจีน ยังได้เรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันสอดส่องผู้ที่มีพฤติกรรมบ่อนทำลายสิ่งแวดล้อม หากพบเห็นก็ให้แจ้งตำรวจทันทีเพื่อจะได้จับกุมและลงโทษตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ จากการสำรวจของเทศบาลปักกิ่งเมื่อเดือน เม.ย. พบว่า 31 เปอร์เซ็นต์ของมลภาวะทางอากาศมาจากการปล่อยควันเสียของรถยนต์ อีก 22.4 เปอร์เซ็นต์ มาจากกระบวนการเผาไหม้ถ่านหินของโรงไฟฟ้า จากโรงงานอุตสาหกรรมราว 18 เปอร์เซ็นต์ และอีก 14 เปอร์เซ็นต์ มาจากการประกอบอาหารประเภทปิ้งย่าง การปศุสัตว์ และการซ่อมแซมยานพาหนะ เป็นต้น

ที่มาภาพ : http://www.ycen.com.cn/ycxww_PIC/tpzx/pk/tfh/201409/W020140917319716839110.jpg
ที่มาภาพ : http://www.ycen.com.cn/ycxww_PIC/tpzx/pk/tfh/201409/W020140917319716839110.jpg

อย่างไรก็ดี แทนที่การรณรงค์นี้จะได้ผล กลับมีแต่เสียงบ่นว่ามาตรการเหล่านี้ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุแต่ย่างใด หนำซ้ำยังทำให้ชาวบ้านมีแต่เดือดร้อนมากขึ้น โดยเว็บไซต์ “Shahiist” ได้วิจารณ์ว่าการประกาศห้ามปิ้งย่างนั้นไร้เหตุผล เป็นเพียงการโยนความผิดไปให้พ่อค้าแม่ค้าขายเคบับเท่านั้น ที่สำคัญก็คือไม่สามารถช่วยลดมลภาวะในกรุงปักกิ่งได้ เนื่องจากสาเหตุหลักจริงๆ นั้นมาจากรถยนต์และถ่านหิน

แต่มาตรการป้องปรามมลภาวะทางอากาศใดก็ไม่โดนใจเท่ากับนำ “โดรน” หรือเครื่องบินไร้คนขับ มาเป็นอาวุธใหม่เสริมทัพการต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษ

เริ่มจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมได้ทดลองส่งโดรนที่ติดกล้องตรวจจับความร้อนระดับคลื่นแสงอินฟราเรด บินไปตรวจสอบพื้นที่แถบมณฑลเหอเป่ย ส่านซี และมองโกเลียใน ครอบคลุมพื้นที่ราว 1,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีที่แล้วจนถึงเดือน ก.พ. ปีนี้ ก่อนจะเริ่มใช้งานจริงเมื่อกลางปีนี้

ในเว็บไซต์ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมเผยว่า ผลจากการใช้โดรนตรวจหาโรงงานที่ทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมใน 3 มณฑล ปรากฎว่าพบโรงงานอุตสาหกรรม 3 แห่งจากโรงงานทั้งหมด 254 แห่งที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสอบนั้นได้ทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยโรงงานเหอเป่ย ไอออน แอนด์ สตีล กรุ๊ป ผู้ผลิตเหล็กกล้าอันดับหนึ่งของประเทศ โรงงานฉางซี หัวเซ อะลูมิเนียม แอนด์ พาวเวอร์ และโรงงานอินเนอร์ มองโกเลีย ยี่หัว เคมีคอล

เว็บไซต์ของกระทรวงสิ่งแวดล้อมยังรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ได้ใช้โดรนเพื่อต่อยอดการตรวจสอบภาคพื้นดินเพื่อให้แน่ใจว่าโรงงานกว่า 200 แห่งนั้นได้หยุดการปล่อยมลภาวะหรือไม่ หรือยังลักลอบปล่อยก๊าซพิษในช่วงกลางคืนหรือในช่วงวันหยุด

นอกจากใช้โดรนตรวจหาโรงงานที่ทำผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อมแล้ว ทางการปักกิ่งยังใช้โดรนเป็นตัวพ่นสารเคมีเหนือพื้นที่ที่มีหมอกควันพิษในรัศมี 3.1 ไมล์ เพื่อทำให้หมอกพิษที่แขวนลอยอยู่ในอากาศที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจของมนุษย์ เกิดแข็งตัวและหล่นลงมายังพื้น ขณะเดียวกันก็ช่วยลดความกังวลของคนขับเครื่องบินว่าสารเคมีที่ใช้ในการกำจัดหมอกพิษอาจย้อนกลับมาส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนขับได้

มีรายงานว่า บริษัทอุตสาหกรรมการบินแห่งจีนได้ผลิตและพัฒนาโดรนรุ่นนี้ ซึ่งช่วยลดต้นทุนต่ำกว่าวิธีการเดิมถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้านี้ทางการจีนเคยใช้ปืนใหญ่ จรวด และเครื่องบินขนาดเล็ก ในการปล่อยสารเคมีอย่างซิลเวอร์ไดออกไซด์กลางอากาศ เพื่อทำฝนเทียมที่จะช่วยลดมลภาวะในอากาศ

ขณะนี้ทางการได้ทดสอบปฏิบัติการของโดรนกว่าร้อยครั้ง รวมไปถึงการนำไปทดสอบบริเวณสนามบินหรือท่าเรือทางตอนเหนือของประเทศ โดยบริษัทผู้ผลิตเปิดเผยว่า การขึ้นบินแต่ละครั้งของโดรนพร้อมร่มชูชีพเพื่อช่วยให้สามารถรับน้ำหนักสารเคมีได้ราว 700 กิโลกรัม หรือมากกว่าปกติ 3 เท่า สามารถขจัดปัญหาหมอกควันรอบสนามบิน หรือแหล่งช็อปปิ้งใหญ่ๆ ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ

ป้ายคำ :