ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “ประยุทธ์” ยกเครื่องรัฐบาล ปิดทาง “ทักษิณสไตล์” คืนทำเนียบ

“ประยุทธ์” ยกเครื่องรัฐบาล ปิดทาง “ทักษิณสไตล์” คืนทำเนียบ

29 ตุลาคม 2014


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ :http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่มาภาพ :http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/

1 สัปดาห์หลังทำงานครบ 5 เดือน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปลี่ยนสไตล์การสื่อสารกับสื่อและสาธารณะใหม่แบบหน้ามือเป็นหลังมือ

หลังฝ่าวิกฤติการเมืองเข้าสู่โรดแมปขั้นที่สอง เตรียมยกร่างรัฐธรรมนูญ และก้าวเข้าสู่การเลือกตั้ง ตามกำหนดการในโรดแมปขั้นที่สาม ในช่วงปี 2559 เป็นอย่างเร็ว โดยปราศจากปัจจัยแทรกซ้อน

แต่มีปัจจัยเศษฐกิจที่ไม่อาจควบคุมได้ แม้เป็นรัฐบาลเบ็ดเสร็จ มีเสียงทั้งหมดฝ่ายเดียวในฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ

เมื่อเศรษฐกิจไร้ข่าวดี มีแต่ข่าวร้าย ทั้งเศรฐกิจชะงักงัน-การส่งออกติดลบ-หนี้ครัวเรือนท่วม-เงินฝืด ประชาชนขาดความมั่นใจในทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ขณะที่ปัญหาอาชญากรรม ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน เช่น กรณี “เกาะเต่า” สะท้อนประสิทธิภาพของการทำงานรัฐมนตรีไปโดยปริยาย

ไม่นับรวมพันธะ-ภาระ ที่รับไม้ต่อมากจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ทั้งปัญหาราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำ การบริหารจัดการข้าว 18 ล้านตัน และข้าวฤดูกาลใหม่อีกราว 7 ล้านตัน ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร หล่นพ้นจากเก้าอี้ ทั้งยังมีปัญหาราคายาง ที่ทำให้กลุ่ม กปปส. นำมาเป็นเงื่อนไขในการชุมนุมยืดเยื้อ

สารพัดปัญหาโถมกระหน่ำตกไปอยู่ที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่เพียงผู้เดียว ราวกับมรสุมฤดูฝนปนฤดูหนาว

ความเคร่งเครียด หงุดหงิด ตะกอนในใจของ พล.อ. ประยุทธ์ จึงหลุดออกมาทางหน้าสื่อ เกิดการปะทะทางอารมณ์และปะทะทางความคิด จนกลายเป็นกระแสสังคม ส่งผลให้ “ผลงาน” ถูกกลบลบเลือน

กลายเป็นเสียงบ่นดังๆ ในห้องประชุมร่วมคณะรัฐมนตรีกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2557 ที่ห้องสโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี

เป็นเสียงของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่กล่าวว่า “รัฐบาลและ คสช. ทำงานให้ประชาชนตั้งหลายอย่าง แต่ทำไมประชาชน สื่อ ถึงบอกว่าเราไม่ทำอะไรเลย” ดังก้อง สะท้อนอยู่ในใจ ได้ยินทั้งห้องประชุม คสช.-ครม.

คำบ่นของนายกรัฐมนตรี กลายเป็นคำถามที่ส่งสัญญาณไปถึง “ทีมกุนซือพลเรือน” ของ คสช. ที่ประจำการอยู่ในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) และคณะ คสช. ทั้ง 15 คน

คำบ่นของนายกรัฐมนตรี กลายเป็นโจทย์ของ “ทีมกุนซือพลเรือน” ที่ต้องไขคำตอบ ขบคิดหาทางแก้ปัญหา ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ–การเมือง

ต้นสัปดาห์นี้ ทั้งนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเสนาธิการของทีมตึกไทยคู่ฟ้า และฝ่ายที่ปรึกษา คสช. ยอมรับตรงกันใน 3 ประเด็นว่า 1. ปัญหาทุกปัญหาถูกรวมอยู่ที่นายกรัฐมนตรีต้องตอบคนเดียว 2. ทีมรัฐมนตรีส่วนหนึ่งขาดคุณภาพ 3. การสื่อสารกับสาธารณะในรายการ “คืนความสุข” ทุกวันศุกร์ มุ่งตอบคำถามและรายงานการทำงานของรัฐบาลมากเกินไป

ดังนั้น ทั้งฝ่ายนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษา จึงกำหนดแนวทางแก้ปัญหา ออกจากกับดักการเมือง เพื่อป้องกันคะแนนนิยมไม่ให้ตกไปกว่านี้ และหาทางแก้ปมประชานิยม ไม่ให้ประชาชนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจเกิดกระแสเรียกร้องการบริหาร “สไตล์ทักษิณ” อีกครั้ง

นับจากนี้ไป พันธะ-ภาระ ของนายกรัฐมนตรี จึงจะโฟกัสเฉพาะ 4 เรื่องเท่านั้น คือ 1. การแก้ปัญเศรษฐกิจ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ 2. การแก้ปัญหาคอร์รัปชัน 3. การปฏิรูปการศึกษา 4. การเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านและมหาอำนาจจีน-ญี่ปุ่น เพื่อสร้างสมดุลการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่

ยุทธศาสตร์แรก ที่นายกรัฐมนตรีจะ “ทำทันที” คือ การสื่อสารแบบจำกัด ภาพที่ปรากฏชัดทันที หลังเห็นชอบข้อหารือกับทีมที่ปรึกษาผ่านไป 24 ชั่วโมง คือ การแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2557

เป็นครั้งแรก ที่นายกรัฐมนตรีกลับมาใช้โพเดียมอีกครั้ง หลักยกเลิกไปราว 1 สัปดาห์ และเจาะจงสื่อสารทางเดียวด้วยการพูดเฉพาะเรื่องสำคัญที่รัฐบาลต้องการสื่อสาร โดยไม่ฟังคำถามผู้สื่อข่าว

เป็นครั้งแรก ที่นายกรัฐมนตรีพูดว่าอนาคตประเทศจะลงทุนอะไร ทำอะไร ด้วยเหตุผลใด แทนการบอกว่าที่ผ่านมาทำอะไร เช่น จะเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน ให้ร่วมลงทุนโครงการพื้นฐาน จะพัฒนาการค้าชายแดนผ่านเขตเศรษฐกิจพิเศษ 5 จุด ทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าการค้า จะพยายามดูแลค่าครองชีพ เร่งรัดการส่งออก ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้น

เป็นครั้งแรก ที่นายกรัฐมนตรีแถลงเรื่องเศรษฐกิจรวดเดียว 3 เรื่อง ที่เป็นปัญหาคาใจ เช่น จำนวนสต็อกข้าว, ทิศทางปฏิรูปพลังงาน, โครงการลงทุน 3 ล้านล้าน และการพัฒนาชายแดน และตอบคำถามประเด็นการเมืองแบบสั้นๆ กระชับ และไม่ตอบโต้แบบยืดเยื้อหรือเปิดประเด็นใหม่

เป็นครั้งแรก ที่นายกรัฐมนตรีมีเสียงราบเรียบ ไม่มีเสียงดัง ดุเดือด ดราม่า

เป็นครั้งแรก ที่นายกรัฐมนตรีหันไปมองทีมงานฝ่ายเสนาธิการประจำตึกไทยคู่ฟ้า ที่ส่งสัญญาณให้เลิกการแถลงข่าว พร้อมบอกผู้สื่อข่าวว่า “พอแล้ว เขาส่งสัญญาณให้พอแล้ว”

ในช่วงท้าย เมื่อถูกถามเรื่อง “อำนาจนายกรัฐมนตรี” พล.อ. ประยุทธ์ ตบอกตัวเอง พร้อมบอกว่า “ผมเป็นหัวหน้า คสช. อย่าลืมกันว่า คสช. มาเพื่อทำอะไร”

จากนั้น พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ตอกย้ำ ว่า “นายกรัฐมนตรี จะพูดชี้แจงเองคนเดียวไม่ได้แล้ว ต่อไปนี้ รัฐมนตรีต้องออกแรงกันบ้าง”

ยุทธศาสตร์ที่สอง คือ นายกรัฐมนตรีจะมีการกำหนดการไปเยือนสื่อหลายสำนัก ทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์

ยุทธศาสตร์ที่สาม เพื่อตอบโจทย์ที่ว่า “รัฐมนตรีบางคนขาดคุณภาพ” ข้อหารือระหว่างนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเสนาธิการ และที่ปรึกษา จึงมีวาระการประเมินผลงานรัฐมนตรี ว่าหากต้นปี 2558 ยังไร้ผลงาน ก็อาจต้องปรับคณะรัฐมนตรี

ยุทธศาสตร์ที่สี่ เพื่อให้การทำงานของรัฐบาลมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ลำดับการสั่งการสั้นกระชับ จึงจะมีการออกแบบ “ทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายพลเรือน” อยู่ในโครงสร้างอำนาจของ คสช. เพื่อช่วยกำหนดวาระของรัฐบาล ในทีมนี้จะมีการทาบทาม นักธุรกิจ-นักเศรษฐศาสตร์-นักกฎหมาย เข้าร่วมประมาณ 7 คน เพื่อเชื่อมโยงงาน กำหนดทิศทางของฝ่ายรัฐบาล-คสช.-สภาปฏิรูปแห่งชาติ-สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ร่วมกัน เช่น นายบรรยง พงษ์พานิช ,นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ, นายดอน ปรมัตถ์วินัย โดยให้ตัวแทนจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเข้าร่วมเป็นฝ่ายเลขานุการ

ยุทธศาสตร์ที่ห้า เพื่อเตรียมการกำหนดญัตติสาธารณะด้านเศรษฐกิจ-ต่างประเทศ จึงมีการกำหนดร่วมกันว่า ในการไปประชุมกลุ่มเอเปก ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ในระหว่างวันที่ 10-11 พฤศิกายน 2557 จะมีการทำข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนโครงการพื้นฐานกับ 2 ประเทศ หลังหารือแบบทวิภาคีกับจีนและญี่ปุ่น โดยจะต้องจัดแผนการเยือนกลุ่มประเทศอาเซียนจนครบ แล้วจึงกำหนดให้มีการเยือนจีนและญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการตามลำดับอีกครั้ง

ทั้งนี้ วาระของนายกรัฐมนตรี นับจากนี้ นอกจากมิติด้านการทูตและความมั่นคงแล้ว จะมีมิติด้านเศรษฐกิจการลงทุนโครงการพื้นฐาน 3 ล้านล้านผสมผสานไปด้วย ตามนัยแห่งคำพูดนายกรัฐมนตรีหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 ตุลาคม ที่ผ่านมา คือ การลงทุนบางรายการ จะมีการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้าน แบบรัฐต่อรัฐ

โดยวาระการเยือนกลุ่มอาเซียนอย่างเป็นทางการ และวาระระหว่างประเทศ ของนายกรัฐมนตรี มีดังนี้

30-31 ตุลาคม 2557 เยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ
12-13 พฤศจิกายน 2557 ร่วมประชุมกลุ่ม ASEAN ที่เมียนมาร์
28-29 พฤศจิกายน 2557 เยือนลาวอย่างเป็นทางการ
30 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2557 เยือนมาเลเซียอย่างเป็นทางการ
11-12 ธันวาคม 2557 ร่วมประชุม ASEAN ที่เกาหลี
19-20 ธันวาคม 2557 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดประชุมกลุ่มประเทศ GMS

จากนี้ไป ทุกบาทก้าวของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงน่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง