ThaiPublica > เกาะกระแส > ครม. ปรับเกณฑ์ใหม่ตั้ง Thailand Future Fund คลังใส่ทุน 1 หมื่นล้าน – ลดภาษีกระตุ้นซื้อสินค้า OTOP

ครม. ปรับเกณฑ์ใหม่ตั้ง Thailand Future Fund คลังใส่ทุน 1 หมื่นล้าน – ลดภาษีกระตุ้นซื้อสินค้า OTOP

13 กรกฎาคม 2016


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่มาภาพ: www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

“ประยุทธ์” ยังไม่ใช้ ม.44 แก้ปม กทม. ใช้งบส่อไม่โปร่งใส

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงข้อสงสัยเรื่องความโปร่งใสในการใช้จ่ายงบประมาณของกรุงเทพมหานครหลายครั้ง โดยกรณีล่าสุดคือรถยนต์กู้ภัยขนาดเล็กที่ใช้งบในการจัดซื้อถึงคันละ 8 ล้านบาท ว่า ขณะนี้ กระทรวงมหาดไทย (มท.) กำลังสอบสวนอยู่ มีขั้นตอนตามกฎหมาย ต้องทำตามขั้นตอนนั้นไป ว่าเรื่องมีการร้องเรียนเข้ามาก็ต้องสอบสวนก่อนว่ามีข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร คงจะยังไม่ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เข้าไปร่วมสอบสวนด้วย เพราะต้องให้หน่วยงานต้นสังกัดดูก่อน และยืนยันว่าเรื่องนี้ยังไม่จำเป็นต้องใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 44 เข้าไปช่วยแก้ไขปัญหา

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่บางฝ่ายเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 44 เข้ามาช่วยสอบสวนคดีเลี่ยงเสียภาษีนำเข้ารถยนต์หรูของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ว่า เรื่องนี้ก็เช่นเดียวกัน คือต้องปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการก่อน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กำลังสอบสวนอยู่ ที่มีปัญหาในอดีตคือคนไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการ แต่คดีนี้เข้าสู่กระบวนการแล้ว จึงไม่ต้องห่วงอะไร เชื่อว่าอีกไม่นานคงมีผลออกมา

ท้าชุมนุมบีบตั้งสังฆราช – ยันผิด กม. จับหมด

เมื่อถามถึงกรณีที่มีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการเพื่อตรวจสอบว่าสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ล่วงละเมิดธรรมวินัยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้พูดคุยกับมหาเถรสมาคม (มส.) ตลอดเวลาอยู่แล้ว ตนอยากให้ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการ อย่ามาเร่งรัดกัน

เมื่อถามถึงกรณีที่พระเมธีธรรมาจารย์ เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ระบุเตรียมเคลื่อนไหวใน 7 วันหากไม่นำรายชื่อสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ขึ้นทูลเกล้าฯ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตกลงประเทศนี้เป็นของใคร ก็ลองออกมาสิ กฎหมายเขามีหรือเปล่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้ชุมนุมเกิน 5 คนได้หรือเปล่า อยากเคลื่อนไหวก็ออกมา จับวันนี้ไม่ได้ก็จับพรุ่งนี้ อย่างไรก็จับให้ได้ เพราะมันผิดกฎหมาย มายื่นคำขาดกับตนได้อย่างไร ตนสงสัยว่าสื่อมวลชนไปให้เครดิตคนเหล่านี้กันอยู่ได้อย่างไร

เมื่อถามว่า ขณะนี้ พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธัมมชโย) เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาในคดีฟอกเงินและรับของโจรจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ยังอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า ตนมั่นใจว่ายังอยู่ในวัด เพราะนับตั้งแต่มีคดีความทางตำรวจก็เฝ้าอยู่ตลอด

จุดยืดปมทะเลจีนใต้ต้องรอคุย “อาเซียน”

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเตรียมอ่านคำตัดสิน กรณีความขัดแย้งเรื่องกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนในทะเลจีนใต้ ระหว่างประเทศฟิลิปปินส์กับประเทศจีน ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้ ว่า ประเทศไทยต้องทำตามมติของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ที่จะให้ทะเลจีนใต้เป็นทะเลแห่งความร่วมมือ คดีดังกล่าวประเทศไทยไม่ใช่คู่ขัดแย้ง และการจะแสดงท่าทีอะไร จะไปแสดงท่าทีโดดๆ ประเทศเดียวไม่ได้ ต้องแสดงท่าทีในฐานะอาเซียน จึงต้องหารือกับสมาชิกอาเซียนประเทศอื่นๆ ก่อน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกระแสข่าวว่ารัฐบาลเตรียมที่จะตั้งศูนย์ส่งกลับแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานภายในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมายว่า ไม่มี เพราะเรื่องแรงงานต่างด้าว กระทรวงแรงงานรับผิดชอบอยู่แล้ว มีการนำมาลงทะเบียนกว่า 2 ล้านคน แล้วก็พยายามหาวิธีแก้ไขปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะการพิสูจน์สัญชาติก่อนที่จะเดินทางมาทำงานในประเทศไทย แต่ขณะนี้ประเทศเพื่อนบ้านบางประเทศเขายังไม่พร้อม แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาใครมีปัญหาเรื่องทำผิดกฎหมายก็ต้องส่งกลับไปอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องตั้งศูนย์ใหม่ขึ้นมาอีก

แจงไม่เขียน รธน.ใหม่เอง ถ้าไม่ผ่านประชามติ – ตั้ง กรธ. มาทำ

พล.อ. ประยุทธ์ ยังกล่าวชี้แจงถึงกรณีที่พูดว่าหากร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. …. ไม่ผ่านการออกเสียงประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 จะเขียนร่างรัฐธรรมนูญฯ ใหม่ขึ้นมาเอง ว่า ตนเขียนร่างรัฐธรรมนูญฯ เองไม่ได้อยู่แล้ว ต้องมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฯ (กรธ.) ชุดใหม่ขึ้นมาจัดทำ เหตุที่ตนต้องพูดว่าจะเขียนเอง เพราะต้องการจะประชดสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม ต่อไปนี้ตนจะไม่พูดอะไรที่จะสร้างปัญหาอีกแล้ว

ส่วนความคืบหน้าในการตรวจสอบกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า เอกสารความเห็นแย้งของกลุ่มประชาธิปไตยใหม่เป็นร่างรัฐธรรมนูญฯ ปลอม พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเดินหน้าตรวจสอบอยู่

ด้าน พ.อ. (หญิง) ทักษดา สังขจันทร์ ผู้ช่วยโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกฯ ได้กล่าวในที่ประชุม ครม. ว่า ไม่ว่าผลการทำประชามติในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ออกมาอย่างไร ก็จะยังเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 ตามโรดแมปต่อไป

สำหรับวาระการประชุม ครม. อื่นๆ ที่น่าสนใจ มีดังนี้

ครม. ลดภาษี สูงสุด 15,000 บาท กระตุ้นซื้อสินค้า OTOP

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจ) กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมสินค้าท้องถิ่นไทย (OTOP Extravaganza) เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยให้เม็ดเงินลงสู่ระดับชุมชน ให้ผู้ซื้อสินค้า OTOP สามารถนำใบกำกับภาษีจากการซื้อสินค้าดังกล่าวมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามจำนวนที่จ่ายจริง ไม่เกิน 15,000 บาท ระหว่างวันที่ 1-31 สิงหาคม 2559 คาดว่าจะเกิดการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้า OTOP ประมาณ 10,000 ล้าน

ทั้งนี้ มีเงื่อนไขว่าสินค้าดังกล่าวต้องเป็นสินค้า OTOP ที่ได้รับการรับรองและลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชน จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และเสียภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างถูกต้อง ซึ่งรวมไปถึงสินค้า OTOP ที่วางขายในห้างสรรพสินค้า โดยจะมีป้ายกำกับไว้ว่าเป็นสินค้าที่ร่วมรายการ

“ข้อมูลจากกรมพัฒนาชุมชนพบว่า มีผู้ประกอบการ OTOP จำนวนทั้งสิ้น 40,699 ราย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ผลิตชุมชน จำนวน 25,234 ราย ผู้ผลิตที่เป็นเจ้าของรายเดียวจำนวน 14,854 ราย และผู้ผลิตที่เป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) จำนวน 614 ราย ซึ่งมีสินค้า OTOP ประกอบด้วย อาหาร เครื่องดื่ม เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย ของที่ระลึก จำนวนกว่า 80,000 รายการ โดยมาตรการดังกล่าวเป็นการเชื่อมโยงกับโครงการประชารัฐในการสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงเป็นการจูงใจให้ผู้ประกอบการ OTOP เข้ามาจดทะเบียนภาษีให้ถูกต้อง โดยเว้นระยะเวลาให้ประมาณ 1 เดือน” นายกอบศักดิ์กล่าว

ปรับเกณฑ์ตั้ง Thailand Future Fund คลังลงขัน 1 หมื่นล้าน

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) ตามมติ ครม. เดิม เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ใน 3 ประเด็น ได้แก่

  1. แก้ไขชื่อกองทุนจากเดิม คือ กองทุนโครงสร้างพื้นฐานอนาคตประเทศไทย เป็น “กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย” เพื่อให้เกิดความชัดเจนและกำกับดูแลในลักษณะของกองทุนรวม
  2. เปลี่ยนเป็นจัดตั้ง “กองทุนหมุนเวียน” เดิมที่จะให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ เพื่อเป็นกลไกในการรับประกันผลตอบแทนขั้นต่ำแก่ผู้ถือหน่วยลงทุน และดอกผลที่ได้จะสามารถนำไปเก็บไว้ในกองทุนหมุนเวียนดังกล่าว สำหรับใช้จ่ายต่อไป
  3. เงินทุน ในเบื้องต้นจะใช้เงินและหลักทรัพย์จากกองทุนรวมวายุภักษ์ หรือจากกระทรวงการคลังในการตั้งกองทุนประมาณ 1 หมื่นล้านบาท

“เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ในระยะแรกกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ลงเงินทั้งหมดนี้ มาจาก 2 ส่วน คือ เงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนของกองทุนรวมวายุภักษ์ กองทุนที่ 1 จำนวน 1,000 ล้านบาท ส่วนที่สอง คือ ใช้เงินสด หรือหลักทรัพย์ หรือนำหน่วยลงทุนของกองทุนวายุภักษ์ กองทุนที่ 1 ไปแลกกับหน่วยลงทุนของกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานอีกประมาณ 9,000 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยลงทุนของกองทุนวายุภักษ์มีผลตอบแทนที่ดี และมีรายได้สม่ำเสมอ จึงเกิดรายได้ที่เหมาะสม” นายกอบศักดิ์กล่าว

นายกอบศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ มีการจ้างบริษัทเพื่อบริหารกองทุนรวมเรียบร้อยแล้ว คือ “บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงไทย จำกัด (มหาชน)” กับ “บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)” และขณะนี้กำลังดำเนินการจัดหาคณะที่ปรึกษาเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถจดทะเบียนได้ในเวลา 1 เดือน

ต่อเวลาลดภาษี 5 จังหวัดภาคใต้ – หักค่า CCTV ได้ 100%

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติขยายเวลาสำหรับมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจอีก 3 ปี ระหว่างปี 2561-2563 และมาตรการทางภาษีเพื่อสนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) ระหว่างปี 2559-2563 ในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ 5 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สตูล และสงขลา ใน 4 อำเภอ คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย โดยมีมาตรการต่างๆ ดังนี้

  • ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหลือ 3% ของกำไรสุทธิแก่บริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในพื้นที่ดังกล่าว
  • ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่าย และให้เสียในอัตรา 0.1% สำหรับเงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว และยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้มารวมในการคำนวณภาษี
  • ลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะเหลือ 0.1% สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
  • บุคคลในพื้นที่ดังกล่าวสามารถหักค่าใช้จ่าย ค่าซื้อ และค่าติดตั้งระบบ CCTV ได้ 100%
  • บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ประกอบกิจการในพื้นที่ดังกล่าว สามารถหักค่าใช้จ่าย ค่าซื้อ และค่าติดตั้งระบบ CCTV ได้ 100%

“การช่วยเหลือเรื่องมาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจนี้ดำเนินการมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ระหว่างปี 2556-2557 และ 2558-2560 การขยายเวลาในครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถมั่นใจได้ว่าในอีก 3 ปีข้างหน้าจะยังได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการติดตั้งระบบ CCTV ช่วยในการเฝ้าระวังในพื้นที่ดังกล่าว” นายกอบศักดิ์กล่าว

เปิดเสรีการค้า ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจบริการในไทยได้

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดธุรกิจบริการที่ไม่ต้องขออนุญาตในการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้ธุรกิจบริการ 6 ประเภท ได้แก่ ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจอื่นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, ธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า, ธุรกิจเป็นทรัสต์ตามกฎหมายว่าด้วยทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน, ธุรกิจสถาบันการเงินอื่นตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน, ธุรกิจประกันชีวิตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจประกันชีวิต และธุรกิจประกันวินาศภัยตามกฎหมายประกันวินาศภัย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

  1. ธุรกิจที่มีกฎหมายเฉพาะและหน่วยงานร้องขอ
  2. ธุรกิจที่จำกัดการให้บริการและไม่มีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เป็นธุรกิจที่ได้รับยกเว้นไม่อยู่ใน (21) ของบัญชีสามท้ายพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่คนไทยมีความพร้อมจะประกอบธุรกิจแข่งกับคนต่างด้าวได้

“การเปิดเสรีภาคบริการ ซึ่งเป็นผลดีกับผู้บริโภคเพราะจะได้รับการบริการที่ดีขึ้น ส่วนจะเปิดรับให้ต่างชาติเข้ามาเป็นสัดส่วนเท่าไหร่ ต้องดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” นายกอบศักดิ์กล่าว

กำหนดคุณสมบัติชาวนาที่รัฐช่วยเหลือต้นทุนการผลิต

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการโครงการสนับสนุนเงินช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2559/60 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2559 ช่วยเหลือครอบครัวที่มีที่ดินไม่เกิน 15 ไร่ ไร่ละ 1,000 บาท ระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม – 31 ตุลาคม 2559

โดยผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการต้องมีคุณสมบัติดังนี้

  1. เป็นผู้มีสัญชาติไทยและบรรลุนิติภาวะ
  2. เป็นเกษตรกรจากทะเบียนการจ่ายเงินสนับสนุนตามโครงการมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยปี 2557 หรือทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการเพาะปลูก 2557/58 และประสงค์ปลูกข้าวในปีการเพาะปลูก 2559/60 โดยแสดงความประสงค์ต่อคณะกรรมการผู้บริหารโครงการฯ ระดับหมู่บ้าน สำหรับเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวฯ แต่ปลูกข้าวในปี 2559/60 ให้ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว ปีการเพาะปลูก 2559/60 กับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนร่วมโครงการ
  3. เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับ ธ.ก.ส.
  4. เป็นหัวหน้าครัวเรือน หรือผู้ได้รับมอบหมาย (1 สิทธิ์/1ครัวเรือน)
  5. เป็นเจ้าของนาหรือทำนาเอง ต้องมีเอกสารสิทธิ์ หรือสัญญาเช่า หรือหนังสือรับรองการเช่า
  6. หากปลูกข้าวในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ จะลงเข้าร่วมโครงการไม่ได้ ยกเว้นเคยลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตรในปี 2552/53 แล้วได้รับสิทธิ์ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 กับวันที่ 23 มีนาคม 2553

ตั้ง กก.พิจารณาโครงการสลากการกุศล

นายกอบศักดิ์กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์การออกสลากการกุศล ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ กำหนดให้มีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาโครงการสลากการกุศล” เพื่อกำหนดแนวทางการพิจารณาและกลั่นกรองโครงการสลากการกุศลของหน่วยงานต่างๆ โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน ทั้งนี้ เนื่องจากตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา มีถึง 33 หน่วยงานที่ขอรับสลากการกุศล ถึง 40 โครงการ รวมเป็นเงินกว่า 59,130 ล้านบาท และหลักเกณฑ์การพิจารณาสนับสนุนโครงการสลากการกุศลในอดีตมักเป็นการพิจารณาลักษณะของโครงการในภาพกว้าง โดยที่โครงการส่วนใหญ่ไม่มีรายละเอียดของข้อมูลที่แสดงถึงความคุ้มค่า นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดจากการดำเนินโครงการก็ไม่ชัดเจน ขาดการตรวจสอบ และการควบคุมที่เป็นรูปธรรม

สำหรับหลักเกณฑ์ในการพิจารณาโครงการสลากการกุศลมีตัวอย่างดังนี้ คือ หน่วยงานที่จะขอรับการสนับสนุนจะต้องเป็นส่วนราชการ มูลนิธิ หรือองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหากำไร, โครงการที่ขอรับการสนับสนุนต้องเน้นด้านสาธารณสุขหรือลดความเหลื่อมล้ำด้านสังคม ฯลฯ โดยกำหนดให้ไม่เกินงวดละ 11 ล้านคู่ฉบับ (22 ล้านฉบับ) วงเงินสนับสนุนต้องไม่เกินโครงการละ 1,000 ล้านบาท และไม่เกิน 10,000 ล้านบาท ต่อการประชุมเพื่อพิจารณาโครงการที่ขอรับการสนับสนุนแต่ละครั้ง

ด้านสัดส่วนการจัดรายได้จากการจำหน่ายสลากการกุศล 60% เป็นเงินรางวัล, ไม่เกิน 22.5% เป็นเงินรายได้ที่ให้กับหน่วยงานเจ้าของโครงการ แต่ต้องไม่เกิน 400 ล้านบาท, ไม่เกิน 0.5% เป็นค่าภาษีพนัน และอีกไม่เกิน 17% เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารงาน ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย

ควัก 614 ล้าน ช่วย จนท.ทำงานใต้เพิ่ม 1,228 คน

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบการพิจารณาเงินทดแทนการประกันชีวิตย้อนหลังแก่เจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพเนื่องจากปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปฏิบัติงานในช่วงระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2547 – 31 กันยายน 2552 จำนวน 1,228 คน ให้ได้รับ “เงินทดแทนการประกันชีวิต” จำนวน 500,000 บาท เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพเนื่องจากปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2553 เป็นต้นมา นอกเหนือไปจากที่ได้รับ “เงินเยียวยา” จากภาครัฐ จำนวน 600,000 บาท

โดยให้นำเงื่อนไขและวิธีการจ่าย “เงินทดแทนการประกันชีวิต” ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยบำเหน็จความชอบสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2550 มาใช้บังคับโดยอนุโลม และหากมีเจ้าหน้าที่ที่ตกหล่นจากการเยียวยานี้ ให้รายงานเป็นวาระทราบจร เป็นคราวๆไป ถ้าไม่มีข้อทักท้วงถือเป็นมติ

“เหตุที่ต้องมีมติ ครม. นี้ ก็เนื่องจากคนที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาคจากการปฏิบัติงานในภาคใต้ก่อนปี 2553 จะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐเพียง 6 แสนบาท ต่างกับคนที่ประสบเหตุหลังปี 2553 ที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐถึง 1.1 ล้านบาท จึงต้องมีการอนุมัติงบเพิ่มเติมให้เท่าเทียมกัน” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

ทั้งนี้ งบประมาณทั้งหมดกว่า 614 ล้านบาท ให้นำมาจากงบกลาง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559

ไฟเขียวแก้ ป.วิอาญา ห้ามคนหนีคดียื่น “อุทธรณ์-ฎีกา”

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ซึ่งนายมหรรณพ เดชพิทักษ์ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เตรียมเสนอให้ที่ประชุม สนช. พิจารณา ซึ่งเป็นไปตามหลักการที่มีการหารือกันว่า หากสมาชิก สนช. จะเสนอร่างกฎหมายใดให้ที่ประชุม สนช. พิจารณา จะต้องส่งมาให้ ครม. พิจารณาก่อน เพื่อดูว่ามีความซ้ำซ้อนกับร่างกฎหมายที่ ครม. เตรียมเสนออยู่แล้ว หรือตรงตามนโยบายของ คสช. หรือไม่

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ. นี้คือการกำหนดว่า ไม่ให้จำเลยที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี ส่งตัวแทนมายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาคดีได้จนกว่าจะมาแสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่ศาล จากที่เดิมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 182 กำหนดให้ศาลอาญาสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลยได้ และจำเลยก็สามารถส่งตัวแทนมายื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกาคำพิพากษาดังกล่าวได้ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องจำเลยหลบหนีคดีหรือไม่ให้คดีความรกโรงรกศาล

เกลี่ยคนช่วยงาน ศอตช. แทนใช้ ม.44 ตั้งเพิ่ม

พล.ต. สรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. ได้พิจารณาข้อเสนอของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ ศอตช. ที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญฯ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 มาตรา 44 แต่งตั้งเจ้าหน้าที่ให้มาช่วยงาน ศอตช. แต่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ด้านกฎหมาย เห็นว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 ให้ใช้แค่มติ ครม. ก็พอ จึงบรรจุวาระเข้ามาพิจารณาในที่ประชุม ครม. และแทนที่จะแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ใหม่ให้มาช่วยงาน ศอตช. ก็ให้เปลี่ยนมาเป็นเกลี่ยอัตราผู้ปฏิบัติงานของหน่วยงานที่อยู่ใน ศอตช. แทน ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจและไม่ต้องเพิ่มจำนวนข้าราชการ