ThaiPublica > เกาะกระแส > “ทรัมป์” เชิญผู้นำอาเซียนเยือนสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปีหน้า ยึดมั่นความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หนุนความมั่นคงเสถียรภาพ

“ทรัมป์” เชิญผู้นำอาเซียนเยือนสหรัฐฯ ไตรมาส 1 ปีหน้า ยึดมั่นความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์หนุนความมั่นคงเสถียรภาพ

5 พฤศจิกายน 2019


เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน, นายโรเบิร์ต ซี. โอไบรอัน ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ครั้งที่ 7 ในห้วงการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 35 และการประชุมสุดยอดที่เกี่ยวข้อง ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวเปิดการประชุมว่า ในฐานะประธานอาเซียนปีนี้ ประเทศไทยขอขอบคุณสหรัฐฯ ที่ได้สนับสนุนยุทธศาสตร์และกลไกอาเซียนมาอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (East Asia Summit) การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ASEAN Regional Forum หรือ ARF) และการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับรัฐมนตรีกลาโหมประเทศคู่เจรจา (ASEAN Defence Ministers’ Meeting Plus หรือ ADMM-Plus) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภูมิทัศน์ของภูมิภาค ที่วางอยู่บนหลักการของผลประโยชน์ร่วมกัน และกฎระเบียบของภูมิภาค

“ผมขอแสดงความยินต่ออาเซียนและสหรัฐฯที่ประสบความสำเร็จในการฝึกผสม ASEAN-U.S. Maritime Exercise ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา สหรัฐฯ เป็นประเทศแรกๆ ที่ประกาศสนับสนุนอาเซียนเรื่องเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโดแปซิฟิก (ASEAN Outlook on Indo-Pacific หรือ AOIP) ที่จัดทำขึ้นและได้รับความเห็นชอบจากผู้นำอาเซียนในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 ซึ่งจัดขึ้นในประเทศไทย”

ASEAN Outlook on Indo-Pacific เป็นรากฐานหลักของความมีเสถียรภาพและความรุ่งเรืองของภูมิภาค

การที่สหรัฐฯ ได้คำนึงถึงการประสานความร่วมมือกับอาเซียนบนหลักการผลประโยชน์ร่วมกันตามที่ระบุไว้ใน ASEAN Outlook on Indo-Pacific เช่น โครงสร้างพื้นฐาน สำหรับเศรษฐกิจดิจิทัล และด้านพลังงาน นักลงทุนสหรัฐฯ เองก็สามารถมีบทบาทในการเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างทั่วถึง เพื่อส่งเสริมการขยายตัวของภูมิภาค และด้วยความเชื่อมโยงนี้ ผมมีความยินดีที่ภาคเอกชนสหรัฐฯ และไทยได้ร่วมกันจัดการประชุม Indo-Pacific Business Forum เป็นครั้งที่ 2 ขึ้นในวันนี้

ประเทศไทยหวังว่าการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ กับไทยจะคงก้าวหน้าไปในทุกมิติอย่างไม่หยุดยั้งอย่างครอบคลุม เท่าเทียม และยั่งยืน เพื่อประโยชน์และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนอาเซียน ผมมั่นใจว่าการประชุมวันนี้เปิดโอกาสให้ทั้งสหรัฐฯ และอาเซียนได้หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและมุมมองระหว่างกัน ว่าจะเสริมสร้างการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของภูมิภาคอย่างไร

ยึดมั่นในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับอาเซียน

ลำดับต่อจากนั้น นายโรเบิร์ต ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นตัวแทนของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวตอบว่า ประเทศไทยเป็นเพื่อนที่ดีของสหรัฐฯ มาเป็นเวลากว่า 200 ปี การต้อนรับ การเอาใจใส่จากทีมงาน ความสามารถในการการทำหน้าที่เป็นประธานอาเซียนตลอดทั้งปีนี้ เกิดขึ้นจากประชาชนคนไทยทุกคน

นายโรเบิร์ตกล่าวว่า ผมทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา จะขออ่านจดหมายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้เขียนถึงผู้นำทุกท่าน

“ท่านผู้นำอาเซียนที่นับถือทุกท่าน ผมเขียนจดหมายฉบับนี้เพื่อขอแสดงความยินดีอย่างยิ่งต่อการประสบความสำเร็จของการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมขอแสดงความนับถืออย่างสูงต่อท่านนายกรัฐมนตรีของไทย พลเอก ประยุทธ์ ที่ได้แสดงให้คนไทยทั้งประเทศเห็นถึงการเป็นผู้นำในการทำหน้าที่ประธานอาเซียนตลอดปี 2019 ผมเชื่อว่าผู้เข้าร่วมประชุมทุกรายจะจดจำการต้อนรับอย่างสมเกียรติและอบอุ่นของไทยและชาวไทย”

สหรัฐฯ ยังคงยึดมั่นในการเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับอาเซียน และสนับสนุนอาเซียนในการมีบทบาทหลัก ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ทั้งด้านความมั่นคงทางการเมือง ด้านเศรษฐกิจ และด้านสวัสดิการสังคม

เอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโดแปซิฟิกมีความชัดเจนถึงการมีวิสัยทัศน์ร่วมต่ออนาคตของภูมิภาคที่พลวัตแห่งนี้ บนพื้นฐานของการให้เคารพอำนาจอธิปไตย ยึดมั่นต่อหลักการปกครอง

ผมยังมีความทรงจำที่ดีต่อการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก แต่ผมไม่สามารถเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ได้ จึงได้มอบหมายให้นายโรเบิร์ต ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ทำหน้าที่ผู้แทนพิเศษของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา หัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมการประชุมสุดยอดสหรัฐฯ-อาเซียน และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก

นายโรเบิร์ตเป็นผู้แทนที่มีสิทธิมีเสียงของสหรัฐฯ เพื่อผลประโยชน์ของหสรัฐฯ และประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ

“ผมขอถือโอกาสนี้เชิญผู้นำอาเซียนทุกท่านเข้าร่วมประชุมกับผมในการประชุมสุดยอดครั้งพิเศษที่สหรัฐฯ ในช่วงไตรมาสแรกปี 2020 ซึ่งจะเป็นโอกาสอันดีของเราในการขยายความร่วมมือของทั้งสองประเทศ ที่มีประชากรจากสหรัฐฯ และประเทศอาเซียนรวมกันจำนวนร่วม 1 พันล้านคน”

ผมและประชาชนอเมริกาหวังว่าจะได้ต้อนรับทุกท่านที่สหรัฐฯ ในเร็วๆ นี้

หนุนความมั่นคงเสถียรภาพ

หลังจากจบการอ่านจดหมายประธานาธิบดีทรัมป์ นายโรเบิร์ตได้กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนประธานาธิบดีทรัมป์ ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนกับผู้นำของอาเซียน และเช่นเดียวกับที่ประธานาธิบดีทรัมป์ได้กล่าวในจดหมาย ผมขอให้ทุกท่านเชื่อมั่นว่า สหรัฐฯ จะยังคงยึดมั่นอย่างเหนียวแน่นในการสนับสนุนเพื่อนและพันธมิตรในอาเซียน

ความเป็นหุ้นส่วนที่ยาวนานมาถึง 42 ปี ยังคงอยู่ เข้มแข็ง น่าชื่นชม

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ ได้กลายเป็นผู้นำด้านบทบาทความเป็นธรรม โปร่งใส เคารพในอำนาจอธิปไตย ตลาดเสรี ในอินโดแปซิฟิก เราเชื่อว่าบทบาทนี้จะนำไปใช้อย่างเท่าเทียมกันในประเทศอื่นไม่ว่าประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ ซึ่งเป็นแนวทางหลักของเราในการบริหารความสัมพันธ์กับอินโดแปซิฟิก

เราเห็นหลักการนี้แพร่หลายอย่างกว้างขวางและเข้มแข็ง โดยในเดือนมิถุนายนอาเซียนได้ออกแถลงการณ์ที่หนักแน่นที่ด้วยการออกเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโดแปซิฟิก ที่มีจุดยืนร่วมกันในประเด็นที่มีความสำคัญ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ อินเดีย นิวซีแลนด์ ก็ให้การสนับสนุนหลักการนี้ของภูมิภาค

การนำหลักการนี้มาใช้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นหลักการร่วมที่จะรักษาความสงบ การผลักดันความรุ่งเรืองในอินโดแปซิฟิกไป 7 ทศวรรษ แต่สิ่งที่จะมีผลต่อความสำเร็จของภูมิภาคก็คือ จะต้องยึดมั่นในหลักการนี้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นและไม่ว่าจะสูญเสียมากแค่ไหน

การมีส่วนร่วมของสหรัฐฯ ในอาเซียนนับได้ว่าแข็งแกร่ง และเข้มแข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง การลงทุนของสหรัฐฯ ในอาเซียนมีมูลค่ามหาศาลถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ มีคนมักตั้งคำถามว่าเสาหลักทางเศรษฐกิจของอินโดแปซิฟิกคืออะไร ซึ่งคำตอบก็เห็นได้จากประเทศไทยในวันนี้

บริษัทสหรัฐฯ ชั้นนำได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมอินโดแปซิฟิกในวันนี้ และการประชุมวันนี้ซึ่งเป็นปีที่สองก็มีขนาดใหญ่ขึ้นสองเท่า มีผู้เข้าร่วมประชุมกว่า 1,000 คนจากทั่วภูมิภาค ซึ่งนายวิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ก็ได้เข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานด้านเศรษฐกิจอื่นที่เข้าร่วมด้วย เช่น บรรษัทการเงินระหว่างประเทศ (International Finance Corporation หรือ IFC) ธนาคารเพื่อการนำเข้าและส่งออกสหรัฐฯ

“เรานำตัวแทนเหล่านี้มาที่ประเทศไทย เพราะทั้งหมดยึดมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาเพื่อการเจริญก้าวหน้าระยะยาวของประเทศในภูมิภาคนี้”

การค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศอาเซียนมีมูลค่า 334 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งสามารถขยายได้มากขึ้น เราได้เปิดการหารือเกี่ยวกับระเบียบศุลกากรอิเล็กทรอนิกส์ single window และภายใต้การเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์กับอาเซียน สหรัฐฯ ได้ช่วยเหลืออาเซียนในการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อพัฒนาปรับปรุงเรื่องน้ำ การขนส่ง และความปลอดภัยไซเบอร์เพื่อประชาชนอาเซียน นอกจากนี้ยังมีโครงการนำร่องอีกจำนวนมาก ที่จะเริ่มดำเนินการในเดือนต่อๆ ไป

เรายังได้ขยายบทบาทการช่วยเหลือในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นชีวิตกว่าครึ่งของประเทศสมาชิก 10 ประเทศ โดยที่ปีนี้เป็นปีแห่งการครบรอบ 10 ปี ของกรอบความริเริ่มลุ่มน้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative หรือ LMI) ได้ให้การสนับสนุนเป็นเงิน 45 ล้านดอลลาร์ และมีญี่ปุ่นเข้ามาเป็นพันธมิตร เพื่อพัฒนาตลาดพลังงานหมุนเวียนข้ามประเทศที่ยั่งยืน รวมทั้งการปราบปรามอาชญากรรมและการลักลอบค้ามนุษย์ข้ามประเทศที่มีออสเตรเลียเข้ามาร่วมดำเนินการ

ในการประชุมครั้งนี้ได้มีการนำเสนอโครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาขึ้นล่าสุด คือแพลตฟอร์มใหม่ Blue Dot Networks เป็นความพยายามที่จะดึงดูดสินเชื่อโครงการที่ผู้ขาย ผู้ดำเนินการ ยึดมั่นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่โปร่งใสและยั่งยืน ซึ่งเป็นโครงการที่ทำร่วมกับญี่ปุ่นและออสเตรเลีย

เราหวังว่าจะได้ทำงานร่วมรัฐบาลของทุกประเทศสมาชิก และความริเริ่มของเราก็หวังว่าจะดึงเอกชนให้มาลงทุนมากขึ้น ดึงความสนใจที่นำโดยเอกชนในโครงสร้างพื้นฐานของอาเซียน ซึ่งจำเป็นต่อความเชื่อมโยง

ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของอาเซียน ช่วยให้อาเซียนมีเสถียรภาพและรักษาความปลอดภัยมั่นคงของภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทะเลจีนใต้ จีนได้ใช้ตัวกลางที่จะพยายามที่หยุดยั้งอาเซียนไม่ให้สำรวจชายฝั่ง ซึ่งคาดว่าเฉพาะปริมาณสำรองน้ำมันและก๊าซก็มีมูลค่ามากถึง 2.5 ล้านล้านดอลลาร์

ชั้นเชิงนี้ขัดต่อหลักการให้ความเคารพ ความเป็นธรรม และกฎหมายแห่งชาติ ภูมิภาคนี้ไม่มีผลประโยชน์และไม่มีความยิ่งใหญ่ที่ประเทศอื่นจะสามารถนำมาใช้ต่อเนื่องและทำให้เป็นสิ่งที่ถูกต้องได้

สหรัฐฯ ได้ช่วยเหลือประเทศสมาชิกให้คงอำนาจอธิปไตย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเราได้ให้ความช่วยเหลือมากกว่า 1.3 พันล้านดอลลาร์ในการให้ความช่วยเหลือด้านความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก ซึ่งส่วนใหญ่ตกอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการจัดการฝึกผสม ASEAN-U.S. Maritime Exercise เป็นครั้งแรก โดยมีไทยร่วมกันเป็นเจ้าภาพ และมีกองทัพเรือ และกองตรวจการณ์ชายฝั่ง ทหารเรือกว่า 1,000 นายจาก 10 ประเทศอาเซียน

อาเซียนกำลังมีบทบาทมากขึ้นในการกดดันสหประชาชาติให้ใช้มาตรการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ เพื่อให้ดำเนินการปลดอาวุธนิวเคลียร์ การปลดอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะเป็นผลดีต่อเอเชีย ต่อโลก และต่อเกาหลีเหนือเอง

ความสัมพันธ์ของเรามีมายาวนานและแน่นแฟ้น ความริเริ่มของผู้นำอาเซียนรุ่นใหม่และโครงการฝึกงานของสหรัฐฯ-อาเซียน จะยังคงช่วยให้ประชาชนของทั้งสองมีความสัมพันธ์กัน สร้างเครือข่ายและประสานความร่วมมือ

การร่วมมือกันของสหรัฐฯ และอาเซียนมีอนาคตที่สดใส คนรุ่นต่อไปของเราจะตระหนักถึงความก้าวหน้าที่พวกเราได้สร้างขึ้นในวันนี้