ThaiPublica > คอลัมน์ > ชวนคิดเรื่องภาษีมรดก

ชวนคิดเรื่องภาษีมรดก

14 ตุลาคม 2014


พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

ประเด็นเรื่องภาษีมรดก เป็นเรื่องที่ได้รับการพูดถึงกันค่อนข้างมากในช่วงนี้ ผมขอถือโอกาสชวนคุยเรื่องนี้กันหน่อยครับ เผื่อว่าจะช่วยเสริมประเด็นที่สังคมน่าจะถกเถียงกันก่อนที่นโยบายจะออกมาบังคับใช้จริงๆ

เหมือนกับภาษีตัวอื่นๆ ผลกระทบของภาษีจะขึ้นอยู่กับการใช้บังคับ หากนำไปใช้แล้วมีข้อยกเว้น และทำให้เกิดการหลบเลี่ยง ผลกระทบของภาษีอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่วางแผนไว้ และอาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ ก็เป็นได้ เราจึงควรคิดกันเยอะๆ ก่อนนำมาใช้จริง และไม่ปล่อยให้มันเป็นภาษีที่เกิดจากความสะใจเท่านั้น

ต้องถือว่าภาษีมรดกเป็นหนึ่งในนโยบายหลักอย่างหนึ่งของรัฐบาลชุดนี้ และน่าจะเป็นนโยบายภาษีชิ้นแรกๆ ที่รัฐบาลพยายามจะผลักดันให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว จุดประสงค์หลักประการหนึ่งคือเพื่อเป็นเครื่องมือหนึ่งในการ “ลดความเหลื่อมล้ำ” ลองมาคุยกันดีกว่าครับว่าภาษีตัวนี้น่าจะเป็นอย่างไร

ผมเข้าใจว่าขณะนี้ภาษีมรดกอยู่ในขั้นตอนของกฤษฏีกา จะส่งกลับคืนให้กระทรวงการคลังเพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี เพื่อนำส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อนุมัติเป็นกฎหมายในเร็วๆ นี้ รัฐบาลคาดว่าจะสามารถผ่านกฎหมายฉบับนี้เพื่อใช้บังคับเป็นกฎหมายได้ภายในกลางปีหน้า (แต่ไม่รู้จะผ่าน สนช. ที่แต่ละคนมีสมบัติเยอะกันทั้งนั้นได้เร็วหรือเปล่านะครับ)

ผมไม่เคยเห็นตัวร่างกฎหมายฉบับนี้ แต่ตามที่ได้ยินมา (นี่มาจากการคาดเดาจากข้อมูลบนหน้าหนังสือพิมพ์นะครับ กฎหมายจริงอาจจะมีรายละเอียดและการปิดช่องว่างที่ดีกว่านี้)

– น่าจะเป็นการเก็บภาษีจากการ “รับมรดก” -inheritance tax (และไม่ใช่การเก็บภาษีบนกองมรดก–estate tax)
– น่าจะมีการยกเว้นการรับมรดก 50 ล้านบาทแรก
– เก็บบนทรัพย์สินที่มีการจดทะเบียน เช่น ที่ดิน เงินฝาก เงินลงทุน รถยนต์ ฯลฯ แต่สินทรัพย์ที่ไม่มีการจดทะเบียน เช่น เงินสด ของประดับ เพชรพลอย พระเครื่อง หรือสินทรัพย์ในต่างประเทศ ฯลฯ อาจจะไม่มีการเก็บ (?)
– อัตราภาษีน่าจะเป็นร้อยละ 10
– อาจจะมีการยกเว้นเกษตรกร (?)

ถ้าใครสนใจว่าการเก็บภาษีมรดกของไทยเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ทั่วโลก ผมแนะนำให้อ่าน บทความของมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษาที่มีการตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจหลายประการ เช่น ถ้าเรามีการเก็บภาษีมรดกจริงๆ เราจะเป็นหนึ่งไม่กี่ประเทศทั่วโลกที่มีการเก็บภาษีมรดก หลายประเทศเคยมีการเก็บภาษีมรดก แต่ได้มีการยกเลิกไป เพราะสาเหตุหลายประการ อัตราที่จะเก็บก็ไม่ต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ฯลฯ

ถ้าประเทศไทยจะ “เลือก” นำภาษีมรดกมาใช้ ผมคิดว่าการออกแบบโครงสร้างและการบังคับใช้เป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องมีการคิดกันเยอะๆ หน่อยครับ ไม่เช่นนั้นภาระภาษีจะตกอยู่กับคนแค่กลุ่มหนึ่ง และอาจไม่ใช่คนกลุ่มที่เราต้องการจะเก็บภาษีตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ

ผมคิดว่า การนำภาษีตัวใหม่มาใช้มีสามปัจจัยที่ควรขบคิดกันให้หนักๆ ครับ คือ

1. ความเสมอภาค (fairness) คนที่อยู่ในสถานะใกล้เคียงกันควรจ่ายภาษีเป็นสัดส่วนใกล้เคียงกัน และคนที่ฐานะดีกว่าไม่ควรเสียภาษีในสัดส่วนที่น้อยกว่าคนที่มีฐานะต่ำกว่า

2. ประสิทธิภาพ (efficiency) ต้นทุนในการบริหารจัดการ จัดเก็บ ตรวจสอบ และต้นทุนของผู้เสียภาษี ไม่ควรสูงเกินไป

3. ผลของภาระภาษี (effectiveness) ควรสอดคล้องกับเหตุผลในการเก็บภาษีนั้นๆ เช่น ถ้าจุดประสงค์ของการเก็บภาษีมรดกคือการลดความเหลื่อมล้ำ คนรวยมากๆ ก็ควรเสียภาษีในสัดส่วนที่มากกว่าคนรวยน้อยกว่า

ผมขอตั้งคำถามสามสี่ข้อเรื่องภาษีมรดกให้ชวนคิดกันครับ

1. ทำไมต้องเก็บภาษีจาก “มรดก”

เราอาจจะต้องคุยกันให้เข้าใจก่อนว่า ทำไมจึงควรมีการเก็บภาษีมรดก

หลายคนบอกว่า เพราะลดความเหลื่อมล้ำ คนที่อยู่ดีๆ ได้รับยกสมบัติให้จำนวนมาก เพราะถือเป็นรายได้ที่อยู่ดีๆ ก็ได้มา (windfall) ก็ควรแบ่งให้รัฐบ้าง ยิ่งเป็นกองมรดกของมหาเศรษฐีที่ได้มาเยอะๆ แบ่งจ่ายให้รัฐไปพัฒนาประเทศนิดหน่อยคงไม่เดือดร้อนอะไร

ถ้านั่นคือเหตุผลที่เราควรเก็บภาษีมรดก เราก็ไม่ควรเก็บเฉพาะสมบัติที่ “คนตาย” ยกให้เท่านั้น แต่อาจต้องมีการเก็บภาษีของการยกสมบัติให้ก่อนตาย (ไม่ว่าจะกี่ปีก่อนตายก็ตาม)

ไม่เช่นนั้นคงตอบคำถามได้ลำบาก ว่าทำไมคนที่ได้รับสมบัติ 50 ล้านบาท จากพ่อแม่ที่เสียไปจึงควรเสียภาษีให้รัฐ แต่คนที่พ่อยกหุ้นให้ 15,000 ล้าน เพราะพ่อจะไปเล่นการเมือง จึงไม่ต้องเสียภาษี

ทุกวันนี้ “เงินได้ที่ได้รับจากการอุปการะโดยหน้าที่ธรรมจรรยา เงินได้ที่ได้รับจากการรับมรดก หรือจากการให้โดยเสน่หาเนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี” ได้รับยกเว้นตามประมวลรัษฎากรมาตรา 42 (10) ซึ่งอาจต้องมีการแก้ไขในส่วนนี้ หรือมีการคิดภาษีจากการให้ (gift tax) ด้วย ซึ่งก็เข้าใจว่ามีการพิจารณากันอยู่

ในต่างประเทศ อีกเหตุผลหนึ่งในการเก็บภาษีมรดก คือการปิดช่องว่างของการเก็บภาษีจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินทรัพย์ (capital gain tax) ถ้าพ่อซื้อที่ดินไว้ แต่ไม่เคยขายที่เลย แล้วสามารถยกหุ้นให้ลูกได้โดยไม่เสียภาษี เท่ากับว่ามีช่องว่างที่คนสามารถหลีกหนีการจ่ายภาษี capital gain tax ไปได้เรื่อยๆ

แต่บางคนก็ไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีจากมรดก เพราะมันคือการเก็บภาษีจากความมั่งคั่งที่มาจากการสะสมรายได้ที่มีการเสียภาษีมาแล้ว การเก็บภาษีซ้อนก็เหมือนการ “ยึดทรัพย์” ไปกลายๆ

2. ภาษีมรดกลดความเหลื่อมล้ำได้จริงหรือ

ถ้ามีการเก็บภาษีมรดกในรูปแบบที่มีการพูดคุยกัน ก็คาดได้ว่าจะมีสามสี่อย่างที่อภิมหาเศรษฐีทำได้ง่ายๆ และอาจจะสามารถเลี่ยงภาษีมรดกได้แบบสบายๆ

หนึ่ง คือขายที่ดินหรือเงินลงทุน ออกมาซื้อเพชรพลอยเครื่องประดับกันมากขึ้น เพราะน่าจะได้รับยกเว้นจากภาษีมรดก

สอง คือย้ายเงินลงทุนออกไปต่างประเทศ ซึ่งทำได้ง่ายขึ้นในปัจจุบันและหลายคนมีบัญชีลงทุนอยู่ต่างประเทศอยู่แล้ว และตรวจสอบได้ไม่ง่ายนัก

สาม คือเริ่มยกสมบัติให้ลูก หรือหลาน (ประหยัดภาษีมรดกไปได้สองครั้ง) โดยโอนให้ทั้งหมดหรือบางส่วน (หากกลัวว่าลูกหลานจะขายทิ้งก่อนตาย)

สี่ คือตั้งบริษัทหรือโครงสร้างทางกฎหมายอื่นๆ ที่ทำให้แน่ใจว่า เจ้าของสินทรัพย์ยังมีอำนาจในการควบคุมดูแลสินทรัพย์อยู่ในขณะมีชีวิต แต่มูลค่าที่ต้องโอนให้เมื่อเสียชีวิตมีน้อยมาก เพื่อให้เสียภาษีมรดกในจำนวนน้อย

แปลว่าถ้าเป็นไปอย่างที่กำลังมีการพูดคุยกัน อภิมหาเศรษฐีส่วนใหญ่ น่าจะสามารถหลบเลี่ยงภาษีนี้ได้แบบไม่ยากเย็นนัก นี่ยังไม่นับ “เกษตรกร” อภิมหาเศรษฐี จะสามารถส่งผ่านที่ดินสองหมื่นไร่เป็นมรดกได้แบบไม่เสียภาษี ถ้ามีการยกเว้น “อาชีพ” เกษตรกรเข้าจริงๆ

คนที่เหลือจ่ายภาษีมรดก คงเป็นเศรษฐีธรรมดาๆ ที่พอมีอันจะกินอยู่บ้าง แต่ไม่มากพอจะหลีกเลี่ยงให้เป็นระบบ หรือเข้าไม่ถึงคำแนะนำ บริการทางการเงิน และคำปรึกษาด้านกฎหมายต่างๆ และเราอาจจะบังคับท่านๆ อภิมหาเศรษฐีทั้งหลายให้เสียภาษีมรดกได้ไม่ง่ายนัก และกว่าจะเก็บได้ก็ต้องรอให้ท่านเสียชีวิตกันก่อน ซึ่งก็แปลว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำก็คงไม่ได้ดีขึ้นนัก

และหลายคนก็กังวลว่า รูปแบบการเก็บสะสมความมั่งคั่งของเศรษฐีจะเปลี่ยนไปจากการเก็บสินทรัพย์อยู่ในระบบ เช่น เงินฝาก เงินลงทุน ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ต่อไป ไปอยู่ในรูปที่ไม่มีประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากนัก เช่น เพชร พลอย หรือไปอยู่ในรูปสินทรัพย์ต่างประเทศแทนเลย น่าคิดนะครับ

นอกจากนี้ บางคนมองว่าการเก็บภาษีจากรายได้และความมั่งคั่ง เป็นการสร้างความบิดเบือนในแรงจูงใจในการทำงาน (คนไม่อยากทำงานเยอะเพราะถูกรัฐแบ่งไปเยอะ หรือไม่อยากสะสมทุนมากๆ เลยอยากใช้จ่ายให้หมดๆ ไป) และอาจทำให้เกิดการบริโภคที่มากเกินไปหรือการออมที่น้อยเกินไป หรือบางคนก็บอกว่าภาษีมรดกคือการเก็บภาษีซ้ำซ้อน เพราะเป็นการเก็บบนการสะสมทุนที่ได้จ่ายภาษีบนรายได้มาแล้วรอบหนึ่ง

จึงมีข้อเสนอว่า เราควรหันมาเก็บภาษีจากการบริโภคให้มากขึ้นแทน เช่น เก็บภาษีจากการบริโภคสินค้าฟุ่มเฟือยที่เฉพาะคนรวยซื้อหาให้มากขึ้นแทนดีกว่าไหม เช่น ภาษีสนามกอล์ฟ (เอ แต่ได้ข่าวว่าเขาจะลดภาษีนี้นี่นา) ภาษีเรือ หรือภาษีที่เก็บจากรถหรือเครื่องประดับแพงๆ ดีกว่าไหม?

3. ใครได้ใครเสียจากภาษีมรดก

จากประสบการณ์ในต่างประเทศพบว่า เมื่อมีการเก็บภาษีมรดก กิจกรรมในการหลีกเลี่ยงภาษีมรดกก็มีเพิ่มขึ้น และคนที่มีทรัพยากรมากก็ทุ่มทรัพยากรจำนวนมากในการหลีกเลี่ยงภาษีมากขึ้น และเมื่อเวลาผ่านไป รายได้ที่รัฐเก็บได้จากภาษีมรดกก็มีไม่มากนัก รายได้จากภาษีมรดกในต่างประเทศเก็บกันได้แค่ประมาณ 0.2-0.4% ของ GDP เท่านั้นเอง และส่วนใหญ่น้อยกว่า 1% ของฐานรายได้ภาษี

อีกนัยหนึ่งคือ การเก็บภาษีมรดก ทำให้เกิดภาระภาษีขึ้นจริง แต่รัฐไม่ใช่คนที่ได้รับประโยชน์ แต่กลายเป็นนักวางแผนภาษี ที่ปรึกษากฎหมาย ที่ปรึกษาบัญชี นักวางแผนทางการเงิน สถาบันการเงินต่างประเทศ และนายหน้าขายเพชร ที่ได้รับประโยชน์จากการเก็บภาษีมรดก

สรุปคือ ภาษีมรดกอาจจะไม่สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ และอาจจะสร้างรายได้ให้รัฐได้ไม่มากนัก บางคนเชื่อว่าอาจมีการนำภาษีมรดกมาใช้ แต่ก็คงยกเลิกไปในที่สุด เพราะใช้บังคับไม่ได้

ดังนั้นแล้ว เราจึงน่าจะมีการทบทวน ถกเถียง และพิจารณาให้รอบคอบ ก่อนนำภาษีใหม่มาใช้จริงๆ ดีไหมครับ

ไม่ว่าจะอย่างไร การปฏิรูปภาษีเงินได้ทั้งระบบ ให้ระบบที่เรามีอยู่มีความยุติธรรมมากขึ้น และทำให้การจัดเก็บภาษีมีคุณภาพและประสิทธิผลมากขึ้น และทำให้ภาระภาษีเกิดขึ้นอย่างเหมาะสม น่าจะเป็นสิ่งที่ควรต้องเร่งทำโดยเร็ว เพราะอาจจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของเราได้ในระดับหนึ่ง (น่าไปลองไล่กันดูนะครับ ว่าคนที่เสียภาษีเงินได้สิบอันดับแรกของประเทศไทย ใช่ตระกูลร่ำรวยที่สุดหรือเปล่า)

สุดท้ายแล้ว ถ้าสังคมไทยคิดว่าการเก็บภาษีมรดกเป็นสิ่งที่ควรทำ ก็ควรทำให้ครบถ้วน สร้างระบบตรวจสอบที่มีคุณภาพ เพื่อลดโอกาสในการหลบเลี่ยงภาษี และปิดช่องว่างช่องโหว่ต่างๆ เพื่อสร้างความยุติธรรม ประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของภาษีให้ดีที่สุด
แต่ถ้าคิดว่าเอาบังคับใช้ไปก่อนแล้ววันหลังค่อยเลิกก็ได้ มันคงสร้างต้นทุนให้สังคมไม่น้อยทีเดียว มีภาษีประเภทอื่นที่เหมาะสมกว่าหรือไม่

และผมกลัวว่าถ้ามีคนไม่เห็นด้วยมากๆ จะพาลทำให้การผลักดันภาษีตัวอื่นที่ควรจะเอามาใช้มากกว่าภาษีมรดก เช่น ภาษีที่ดิน ถูกต่อต้านไปด้วย และไม่ได้ถูกนำมาใช้สักที

คราวหน้าผมจะมาชวนคุยเรื่องภาษีที่ดินนะครับ