ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > งานวิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้หนี้ครัวเรือนฉุดบริโภคลดลง 50% – ย้ำระยะสั้นไม่ส่งผลต่อระบบการเงิน

งานวิจัยธนาคารไทยพาณิชย์ ชี้หนี้ครัวเรือนฉุดบริโภคลดลง 50% – ย้ำระยะสั้นไม่ส่งผลต่อระบบการเงิน

20 ตุลาคม 2014


17 ตุลาคม 2557 ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ และ ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (อีไอซี) ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้รายงานผลการศึกษา “การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือน: นัยต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ” ในงานสัมมนาประจำปีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา

1_การบริโภคภาคครัวเรือ

หนี้ครัวเรือนพุ่งฉุดบริโภคลงครึ่งหนึ่ง

ดร.อธิภัทรระบุว่า การเติบโตของหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ส่งผลต่อการบริโภคสินค้าไม่คงทนของครัวเรือนแล้ว ซึ่งยิ่งครัวเรือนมีภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น จะทำให้การบริโภคลดลงมากขึ้น สูงสุดครึ่งหนึ่งของรายได้ที่ได้เพิ่ม โดยรายได้ 10 บาทที่เพิ่มขึ้น จะสร้างการบริโภคได้เพียง 5.4, 6.7 และ 7.8 บาท ในกลุ่มที่มีการเติบโตของหนี้สูง, กลาง, และต่ำ ตามลำดับ เป็นที่มาของอุปสงค์ภายในประเทศที่หายไปช่วงที่ผ่านมา

“หนี้ที่เพิ่มขึ้นได้ไปเบียดเบียนการบริโภคแล้วอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ขณะที่ถ้าเราต้องการจะเฝ้าระวังว่าภาระหนี้ต่อรายได้ที่ควรเป็นอยู่ในระดับเท่าไรถึงเริ่มมีความเสี่ยง คำตอบอยู่ที่ 40% ของรายได้รวม ถ้าภาระหนี้สูงกว่านี้จะทำให้ครัวเรือนมีความกังวลใจ และมีแนวโน้มผิดชำระหนี้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะกระทบต่อการบริโภคของเขา” ดร.อธิภัทรกล่าว

หนี้ครัวเรือนเร่งตัวแซงอาเซียน เทียบเท่าประเทศรายได้สูง

ภาวะหนี้ครัวเรือนของไทยในปัจจุบัน โดยรวมเพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าประเทศอาเซียนอื่นๆ โดยตั้งแต่ปี 2553-2556 หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้น 19.3% เทียบกับสิงคโปร์, มาเลเซีย, อินโดนีเชีย และฟิลิปปินส์ ที่เติบโตเพียง 13.4%, 12.1% 1.8% และ 1% ตามลำดับ นอกจากนี้ โดยรวมประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสูงเทียบเคียงกับประเทศรายได้สูงหรือพัฒนาแล้ว โดยคิดเป็น 83% ของจีดีพี เทียบเคียงกับประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ นิวซีแลนด์ และอังกฤษ ที่มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 83%, 85%, 92% และ 96% ตามลำดับ ขณะที่ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย และสิงคโปร์ มีหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีเพียง 6%, 10% และ 60% ตามลำดับ

ถ้าแยกภาระหนี้ตามระดับรายได้ พบว่ากลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุด 20% แรก ยังเป็นกลุ่มที่มากที่สุด โดยเฉลี่ยที่ 50% ของรายได้รวม ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้สูงสุด 80% แรก มีภาระหนี้เฉลี่ย 25% ของรายได้รวม และรวมทั้งหมดที่ภาระหนี้เฉลี่ย 27% ของรายได้รวม ซึ่งน่าเป็นห่วง ขณะเดียวกัน ทางด้านการเติบโตของหนี้ พบว่ากลุ่มที่มีภาระหนี้ตั้งแต่ 20-40% ของรายได้ มีสัดส่วนของหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น

ดร.พชรพจน์กล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้กลุ่มคนรายได้น้อยจะมีภาระหนี้สูงสุด โดยคิดเป็นกลุ่มเสี่ยง 24% ของกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด แต่ยังน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับภาระหนี้ที่มี ขณะที่กลุ่มที่รวยที่สุดมีความเสี่ยงสูงถึง 20% ของกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นว่ากลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงจะต้องมีรายได้น้อยเสมอไป ทั้งนี้ เมื่อแบ่งตามที่ตั้งพบว่ากลุ่มเสี่ยงจะกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ระดับเกินครึ่งหนึ่งของกลุ่มเสี่ยงรวม ขณะที่กรุงเทพฯ มีกลุ่มเสี่ยงคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3% เท่านั้น โดยครัวเรือนที่จัดอยู่กลุ่มเสี่ยงจะมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงเพียง 4.8% ของภาระหนี้ และมีรายได้ที่ไม่แน่นอนคิดเป็น 73% ของรายได้รวม ส่วนครัวเรือนที่ไม่มีความเสี่ยงจะมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูงถึง 16.8% และมีรายได้ที่ไม่แน่นอนคิดเป็น 58% ของรายได้รวมเท่านั้น

Web

หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี

4_ภาระหนี้_รายได้รวม เฉล

5_ครัวเรือนกลุ่มเสี่ยง

ครัวเรือนกลุ่มเสี่ยง-แบ่งตามภาค

หนี้ชนชั้นกลาง ความเสี่ยงต่ำ

ทั้งนี้ ใน “ระยะสั้น” ภาระหนี้ครัวเรือนจะยังไม่ส่งผลต่อระบบการเงินและสถาบันการเงิน เนื่องจากปัจจุบันหนี้ที่มีความเสี่ยงในการชำระ เนื่องจาก “ความกังวลใจที่จะชำระหนี้ไม่ได้” จากจำนวนหนี้ทั้งหมดของครัวเรือน (Debt at Risk) มีแนวโน้ม “ลดลง” ในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จาก 23.4% ของภาระหนี้ทั้งระบบ ในปี 2552 เหลือเพียง 20.4% ในปี 2556 สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้หนี้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นในระยะที่ผ่านมา แต่ความรู้สึกว่าจะสามารถชำระหนี้ได้กลับดีขึ้น

ทั้งนี้ ถ้าแยกตามสถาบันการเงิน สหกรณ์และกองทุนหมู่บ้านมีสัดส่วนหนี้ที่มีความเสี่ยงในการชำระ เนื่องจากความกังวลใจของครัวเรือนสูงถึง 28% เทียบกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินของรัฐ ที่มีสัดส่วนเพียง 15% และ 16% ตามลำดับ

หนี้ที่มีความเสี่ยงในการชำระ

หนี้ที่มีความเสี่ยง

สาเหตุที่ภาวะหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน สวนทางความมั่นใจในชำระหนี้ที่ดีขึ้น เกิดจากหนี้ที่เติบโตขึ้นส่วนใหญ่เป็นของชนชั้นกลางและผู้ที่มีการศึกษาสูง ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้น้อยกว่า โดยการเติบโตของหนี้ 5 ปี ตั้งแต่ปี 2552-2556 กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยที่สุด 40% ก่อหนี้มากขึ้น 3.2% ต่อปี ขณะที่กลุ่มคนที่มีรายได้มากที่สุด 20% แรก และ 20% กลุ่มที่สอง ก่อหนี้สูงถึงปีละ 6.2% และ 6.1% ตามลำดับ นอกจากนี้ กลุ่มคนที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษาและสูงกว่า ก่อหนี้เพิ่มเฉลี่ยปีละ 11.4% ขณะที่กลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษา ก่อหนี้เพิ่มเฉลี่ยเพียงปีละ 3.2% ทั้งนี้ สัดส่วนของหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มที่มีรายได้สูงสุด 20% แรก คิดเป็น 65% ของหนี้ที่เพิ่มขึ้นในระยะเวลา 5 ปี

“หนี้ที่ผ่านมาเร่งตัวขึ้นมา แต่ว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นไม่ได้มาพร้อมกับความเสี่ยงระยะสั้นต่อเสถียรภาพการเงิน เพราะว่าหนี้ที่เพิ่มขึ้นไปเพิ่มหลักๆ ในกลุ่มชนชั้นกลางที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า” ดร.อธิภัทร กล่าว

การเติบโตของหนี้

10_สัดส่วนของหนี้ที่เพิ

ดร.พชรพจน์กล่าวว่า นโยบายที่ภาครัฐควรให้ความสำคัญภายใต้ภาวะหนี้ครัวเรือนที่สูงมี 4 เรื่อง ได้แก่

1) รัฐต้องหลีกเลี่ยงภาวะเงินฝืด เนื่องจากภาวะที่ราคาสินค้าและค่าจ้างลดลง ขณะที่หนี้ไม่ได้ลดลงด้วย ส่งผลให้ภาระหนี้ต่อรายได้มากขึ้น และครัวเรือนจะลดการใช้จ่ายลง ฉุดเศรษฐกิจให้ตกต่ำได้ แต่ปัจจุบันยังมีความเสี่ยงต่ำอยู่

“ปัจจุบันเราคงไม่ได้เติบโตแย่เหมือนที่อเมริกาหรือยุโรปที่ 1% ส่วนใหญ่ก็มองที่ 4% ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดเงินฝืดใน 2-3 ปีข้างหน้าคงมีไม่มากนัก แต่ถ้ามันมีสัญญาณว่าจะเกิด ผู้วางนโยบายการเงินก็ต้องเข้ามาดูแล” ดร.พชรพจน์กล่าว

2) ใช้ระบบประกันภัย ป้องกันความไม่แน่นอน เช่น ภัยธรรมชาติ การเจ็บป่วย เป็นต้น ซึ่งนำไปสู่การก่อหนี้

3) ต้องสร้างการรับรู้ทางการเงินมากขึ้น ในภาคครัวเรือน เพื่อให้ครัวเรือนสามารถบริหารเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น ใช้แอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น

4) ต้องสร้าง “กันชน” ในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะจากภาคการคลัง เพื่อให้สามารถชดเชยการบริโภคมวลรวมในกรณีที่เกิดวิกฤติได้ ซึ่งปัจจุบันบันประเทศไทยมีหนี้สาธรณะในระดับที่ต่ำประมาณ 40% เท่านั้น