เมื่อประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจะเปิดประตูอย่างเป็นทางการในปี 2558 พาเหรดของสถาบันการเงินไทยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาต่างทยอยเข้าไปเปิดตลาดเพื่อเรียนรู้และทำความคุ้นชินกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หรือประเทศพม่ามากขึ้น แม้ว่าตลาดการเงินของพม่ายังไม่เปิดให้นักลงทุนต่างชาติเปิดสาขาหรือร่วมลงทุน แต่สถาบันการเงินไทยโดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ได้เดินหน้าเข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนกันแล้วทั้งธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย ที่เริ่มเข้าไปเมื่อปี 2555 ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ไปปักหลักตั้งแต่ปี 2538 และในเดือนกันยายน 2557 นี้ ก็จะมีข่าวดีว่าธนาคารพาณิชย์ของไทยจะเป็นใครบ้างที่จะได้ใบอนุญาตเปิดสาขาอย่างเป็นทางการ
ขณะเดียวกัน ในส่วนของประกันชีวิต ล่าสุด บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) นำโดยนายสาระ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เปิดสำนักงานผู้แทน (Representative Office) อย่างเป็นทางการ ณ กรุงย่างกุ้ง สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งเป็นบริษัทประกันชีวิตรายแรกของไทย โดยระบุว่าเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี (ASEANEconomic Community: AEC)
“เมียนมาร์ถือเป็นประเทศแรกที่บริษัทฯ ได้เข้าไปตั้งสำนักงานผู้แทนในกลุ่มประเทศอาเซียน และที่เมียนมาร์ กฎหมายในเรื่องประกันชีวิตหรือประกันวินาศภัยยังเป็นเรื่องใหม่มาก ปัจจุบันในเมียนมาร์มีบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจประกันภัยอยู่แล้วประมาณ 13 บริษัท รวม Myanmar Insurance ซึ่งเป็นบริษัทผู้ประกอบการของท้องถิ่น และยังไม่อนุญาตให้บริษัทของต่างชาติเข้ามาประกอบธุรกิจประกันภัยได้”
แต่อย่างไรก็ดี ได้เปิดโอกาสให้บริษัทต่างชาติสามารถเปิดสำนักงานผู้แทนได้ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเตรียมความพร้อมก่อนจะมีการเปิดเออีซีในปี 2558 โดยจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้ความร่วมมือและการบริการข้อมูลความรู้เกี่ยวกับคุณค่าและประโยชน์ของการประกัน รวมถึงการวางโครงสร้างระบบ ประเภทของการประกันชีวิต และผลประโยชน์ ตลอดจนกลยุทธ์เจาะลึกถึงการบริการต่างๆ แก่ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐ
“เมียนมาร์เป็นประเทศที่มีศักยภาพที่น่าจับตามอง ภายหลังจากการปฏิรูปประเทศทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณเปิดรับนักลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น และเป็นประเทศที่หลายประเทศให้ความสนใจจากเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และจากการศึกษาธุรกิจประกันชีวิตในเมียนมาร์ บริษัทที่เก่าแก่ของเขาอายุใกล้เคียงกับบริษัทเมืองไทยเกือบ 70 ปี และพบว่ามีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด จากการนำต้นแบบของแต่ละประเทศ อาทิ ประเทศในภาคพื้นเอเชีย ยุโรป ออสเตรเลีย และอเมริกา มาพัฒนาใช้ ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีสำหรับเมืองไทยในฐานะของผู้มีประสบการณ์ ในการให้คำแนะนำ คำปรึกษา รวมถึงให้ความรู้ เพื่อให้ได้แบบประกันที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม วัฒนธรรม และประชาชนของเมียนมาร์” นายสาระกล่าว
ส่วนกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านตอนบน CLMV อย่าง กัมพูชา ลาว และเวียดนาม มีศักยภาพไม่แพ้เมียนมาร์ แม้บางประเทศอาจมีจำนวนประชากรน้อย แต่มีศักยภาพในการเติบโต หรือบางประเทศที่มีความพร้อมสำหรับการนำเรื่องประกันเข้าไป โดยเฉพาะแบบประกันด้านความคุ้มครองและสะสมทรัพย์ที่ประเทศไทยเป็นผู้เชี่ยวชาญและประสบความสำเร็จ ซึ่งมองว่า น่าจะเหมาะสมและสอดคล้องกับประชากรของกลุ่มประเทศดังกล่าวข้างต้นที่เริ่มให้ความสำคัญเรื่องประกันชีวิตและวินาศภัยอย่างจริงจังทั้งด้านโครงสร้างและรูปแบบ
ขณะที่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านตอนล่าง อย่างประเทศฟิลิปปินส์ หรืออินโดนีเซีย ก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยเฉพาะด้านจำนวนประชากรที่มีมาก ขณะเดียวกัน ประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย ก็เป็นประเทศที่มีการพัฒนาเรื่องการประกันเป็นลำดับต้นๆ โดยบริษัทฯ ได้เล็งเห็นศักยภาพและคาดว่าจะเป็นตลาดในลำดับต่อไป
“ผมคิดว่าเวลามองต้องมองเป็นภาพยาว เพราะประกันเป็นเรื่องของการลงทุนระยะยาว ผมเข้าใจว่าสถาบันการเงินหลายๆ ที่เขาอาจจะมองเห็นภาพนี้เหมือนกัน วันนี้ไม่มีทางจะหลีกเลี่ยงได้ในเรื่องของเออีซี คือเห็นจริงๆ ว่าเป็นโอกาส และโอกาสไม่ได้มาอย่างนี้เสมอไป เรามองเห็นว่าเป็นโอกาส และเราไม่ได้เป็นแค่ประกันชีวิตที่ตอบโจทย์ให้กับคนไทย มองไปในอนาคตให้เป็นอาเซียนหมดเลย ซึ่ง AEC 2015 เป็นตัวที่ทำให้ต้องรีบ และต้องยอมรับว่าประเทศไทยทำเลค่อนข้างดีมาก ในการที่จะเป็นตัวกลาง ในด้านของภูมิศาสตร์ และประเทศไทยก็มีความพร้อมในด้านการแพทย์ โรงพยาบาล”
อ่านเพิ่มเติม กลยุทธ์การก้าวเป็นอาเซียนแบงก์ของธนาคารกสิกรไทย