เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2558 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจได้จัดงานสัมมนาใหญ่ประจำปี “เศรษฐกิจไทยปี 59 มองไปข้างหน้า โอกาสและความท้าทาย” โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจปี 2559” มีรายละเอียดดังนี้
กังวลเศรษฐกิจไม่ฟื้น – โลกไร้เครื่องยนต์ขับเคลื่อน
“เมื่อตอนวันปีใหม่ ข่าวชิ้นแรกที่ได้มีโอกาสอ่านคือคำสัมภาษณ์ของกรรมการผู้จัดการใหญ่ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เขาบอกว่าเศรษฐกิจโลกปีนี้ ใช้คำอยู่ 2 คำ คือ “น่าผิดหวังและเป็นหย่อมๆ” หมายความว่าแต่เดิมที่เคยคิดว่ามันน่าจะดีขึ้นจากปี 2558 ปีนี้อาจจะไม่ดีเท่าที่เคยคาดเอาไว้ แล้วถ้ามันจะดีก็ดีเป็นหย่อมๆ ลักษณะเป็นเช่นนั้น
เหตุผลสำคัญคือกังวลผลกระทบของการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายโดยธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา หรือ FED ที่จะมีไปถึงประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนา โดยในช่วงเวลาที่ผ่านมาเงินทุนมูลค่ามหาศาลที่สหรัฐอเมริกาอัดฉีดเข้าไปในระบบเป็นเวลา 7 ปีเต็มเพื่อผ่อนคลายทางการเงิน ไม่ได้อยู่ในสหรัฐอเมริกา มันไปอยู่ในทุกแห่งของโลก
ต่อมาพอขึ้นดอกเบี้ยก็เป็นที่กังวลว่า เวลาเงินเหล่านี้ไหลกลับจะกระทบอย่างไรต่อประเทศเหล่านี้ บางประเทศอาจจะมีเงินไหลออกมาก บางประเทศอาจจะน้อย และเมื่อมันไหลกลับมาสู่สหรัฐอเมริกาแล้ว ระบบเศรษฐกิจที่เพิ่งจะแข็งแรงขึ้นมาจะมาสามารถรองรับปริมาณเงินจำนวนมหาศาลเหล่านี้ได้สักแค่ไหน เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาแข็งแรงพอหรือไม่กับการขึ้นดอกเบี้ย มันจะมีผลให้สหรัฐอเมริกาชะลอตัวลงอีกหรือไม่
ขณะเดียวกัน ในยามที่สหภาพยุโรปไม่แข็งแรง จีนก็ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ฉะนั้น การประเมินของ IMF คือว่าโลกใบนี้เหลือประเทศหลักๆ คือสหรัฐอเมริกาที่แข็งแรงพอ แล้วถ้าหากว่าจีนและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อ่อนแอลง การไหลเวียนทางเศรษฐกิจของโลกปีนี้มันจะขาดพลังพอสมควร
ถัดจากที่ IMF ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้ ไม่กี่วันมีข่าวเรื่องดัชนีการผลิตของจีนออกมาว่าถดถอยติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ซึ่งเราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่าการเติบโตของจีนที่ผ่านมา สังคมตะวันตกตั้งคำถามตลอดเวลาว่าเป็นของจริงหรือไม่ แล้วเมื่อไรที่มีตัวเลขตกลงต่อเนื่อง มันจะก่อให้เกิดความหวั่นไหวว่าจีนจะเป็นอะไรหรือไม่ แล้วประกอบกับประเทศจีนเป็นประเทศใหญ่ที่สุดที่รองรับการส่งออกจากประเทศต่างๆ ในโลกนี้ โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่พึ่งพาจีนแทบจะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นตลาดที่สำคัญมากที่สุด
การที่ดัชนีการผลิตตกมาแบบนี้ ตลาดหุ้น 2 วันก่อน คงจะทราบกันแล้วว่า ตลาดหุ้นต้องหยุดการซื้อขาย ซึ่งท่านก็ทราบดีอยู่แล้วว่าก่อนหน้านี้จีนมีกฎระเบียบว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทห้ามขายหุ้นออกมา เช้านี้มีข่าวมาอีกแล้วว่าอาจจะออกกฎที่เข้มข้นกว่านี้อีก เพื่อไม่ให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่สามารถระบายหุ้นออกมาได้ แล้วข่าวแบบนี้มันทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกเริ่มตกตามค่อนข้างจะรุนแรง
ฉะนั้น เมื่อมีความเห็นจาก IMF แบบนี้ มีข้อมูลของจีนแบบนี้ นิตยสารเศรษฐกิจบางฉบับใช้คำพูดที่อ่านแล้วไม่รู้ว่าดีหรือไม่ดี เขาใช้คำว่า “Engineless World” คือปีนี้จะเป็นปีที่ไม่มีเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่แท้จริง กลายเป็นโลกที่ไม่มีพลัง
อันนี้คือสิ่งที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมาตั้งแต่ต้นปี เมื่อรวมกับภาวะทางการเมืองของโลก มันก็แปลกที่ว่าทำไมความตึงเครียดมีมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โลกมองในเชิงที่ค่อนข้างเป็นลบ IMF ก็ประเมินการเติบโตเศรษฐกิจของปีนี้ไว้ที่ 3.6% ซึ่งผมก็คิดว่ายังโอเคนะ ไม่ใช่สิ่งที่ต้องกังวลมากจนเกินไป
ฐานรากไทยลำบาก กระทบล่างขึ้นบน
พอเราเอาตัวสถานการณ์นี้มองกลับมายังเมืองไทย คุณจะชอบหรือไม่ก็แล้วแต่ นี่คือสิ่งที่คุณต้องเผชิญ โลกมันเป็นแบบนี้ ปัญหาหลักที่เราเป็นห่วงในเมืองไทยตอนนี้คือเรื่องราคาสินค้าเกษตร ซึ่งมันตกแล้วตกอีก ยิ่งราคาน้ำมันตกอีก ตรงนี้ก็มีผลทำให้คนที่อยู่ในเศรษฐกิจฐานรากลำบาก ต้องยอมรับเลยว่าเขาลำบาก
ปีที่ผ่านมาจริงๆ รัฐบาลทำอะไรไปแล้วหลายอย่าง จีดีพีเติบโตในอัตราที่เรียกว่าพอสมควรทีเดียวตามสภาพการณ์ แต่การที่เศรษฐกิจยังไม่สามารถไปได้ดี เพราะว่าฐานรากยังไม่ดีเท่าที่ควร เราต้องยอมรับข้อนี้เลย ดังนั้น เรื่องของราคาสินค้าเกษตร เรื่องของชีวิตของเกษตรกร เป็นเรื่องใหญ่มากๆ เพราะคนกว่า 30 ล้านคน อยู่ในภาคเกษตรแต่สร้างจีดีพีไม่ถึง 10% แล้วพอคนส่วนใหญ่จน อำนาจซื้อทั้งประเทศก็น้อย พออำนาจซื้อทั้งประเทศน้อย ในระดับที่อยู่บนขึ้นมา ไม่ว่าจะเอสเอ็มอีหรืออะไรก็ตาม การค้าขายจะฝืดเคือง เศรษฐกิจข้างบนจะค่อยๆ ถูกกระทบจากตรงนี้ ดังนั้น ระบบเศรษฐกิจมันเชื่อมโยงกันหมด ไม่มีใครดีกว่าใคร ถึงเวลาแล้วจะโดนกันหมด
ดังนั้น เป้าหมายหลัก หรือ Priority ของรัฐบาลชุดนี้ก็คือจะทำอย่างไรที่จะช่วยคนจนให้ได้ เราจะไม่พูดเรื่องการเมือง เรารู้อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร ข่าวมีอยู่ทุกวัน จนบางทีไม่อยากจะอ่านด้วยซ้ำไป ว่าทำไมเมืองไทยถึงเป็นอย่างนี้หนอ
เลิกยึดตัวเลข ต้อง “ชนะ” ตัวเลข
ฉะนั้น ภายใต้ภาวะแบบนี้ คนบางกลุ่มอาจจะมองว่าไม่สดใส แต่ผมมองว่ามันเป็นความท้าทาย เราเคยผ่านมาแล้วหลายยุคหลายสมัย มีการทำนายเศรษฐกิจที่เลวร้าย แต่เราก็เคยผ่านมา ยกตัวอย่างง่ายๆ ปีที่ผ่านมา มีการทำนายเศรษฐกิจ เดิมทีเดียวผมชอบการทำนายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เวลาที่ ธปท. ทำนายเศรษฐกิจจะยิงทีเดียวเลยว่าเท่าไหร่ เดิมทีเดียวทำนายว่าทั้งปี 2558 เติบโต 2.7% ซึ่งผมชอบที่ ธปท. ตั้งแบบนี้ขึ้นมา เพราะว่ามันจะเป็นตัวที่ทำให้เรามีแรงกระตุ้น รวมถึงกระตุ้นคนอื่นให้วิ่งเต็มที่ ให้ชนะตลาด beat the market เป็นภาษาหุ้นคือชนะดัชนีตลาด
พอบอกว่าจีดีพีโต 2.7% เราต้องทำให้มากกว่านั้น เพราะเวลาที่ทำนาย เขาคิดจากแบบจำลองที่มีตัวแปร ไม่ว่าเรื่องการบริโภค เรื่องการลงทุน การใช้จ่ายรัฐบาล แต่เราต้องเติมตัวแปร “สมคิด” เข้าไปในตัวแปรเหล่านั้นด้วย เป็น “สมคิดแฟกเตอร์” หมายความว่าเราจะไปเร่งสิ่งเหล่านี้ให้ได้ ในยามที่เศรษฐกิจแทบจะพังทลายในปี 2540 เขาทำนายว่าเราจะติดลบด้วยซ้ำไป แต่เราก็ไปเพิ่มตัวแปรตัวนั้นตัวนี้ในแบบจำลอง ก็สามารถทำให้ดีขึ้นได้
ปีที่ผ่านมาตอนแรก ธปท. ทำนายว่า 2.7% ตอนหลังครั้งสุดท้ายปรับเป็น 2.8% ผมคิดว่าแบบนี้น่าลุ้นมาก อาจจะเป็น 2.9% หรืออาจจะเป็น 3% ก็ได้ แสดงว่าเราไม่ได้นั่งกอดเข่ารอดูเขาทำนายตัวเลข คือเขาทำนายเพื่อเป็นแนวทางว่าธุรกิจที่จะไปวางแผนควรจะวางแผนตามแนวทางระดับนี้ แต่หน้าที่ของเราคือทำให้ดีขึ้น ซึ่งเราก็มารอดูกันว่าปลายปีจะเท่าไหร่
หันมาดูตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ จริงๆ ผมไม่ค่อยชอบที่สภาพัฒน์ทำนาย เพราะทำนายกว้างมาก บอกว่าปี 2558 เติบโต 3-4% กว้างแบบนี้ไม่ต้องถึงมือระดับสภาพัฒน์ก็ทำนายได้ ห่างกันตั้ง 1% ทำนายแบบนี้ไม่ได้ ธุรกิจจะวางแผนลำบาก ปีนี้เอาให้แคบๆ ถ้าเราทำแบบ ธปท. ไม่ได้ เราอาจจะให้ช่วงที่แคบระดับทศนิยม ให้มันแคบลงบ้าง สภาพัฒน์ทำนายปีนี้ 3-4% ให้ไปปรับใหม่ได้หรือไม่ ให้มันชัดเจนกว่านี้
แต่ที่น่าเกลียดมากเลยคือตัวเลขของ IMF สมัยต้มยำกุ้ง แนะนำอะไรมาทำตามจนเจ๊งก็มีมาแล้ว นี่เอาอีกแล้ว เดือนตุลาคมทำนายว่าเศรษฐกิจไทยเติบโต 2.5% ถ้านักธุรกิจเชื่อตามคำทำนายนี้ วางแผนที่ 2.5% มันก็หดตัวกันหมด ดังนั้น ฝรั่งไม่ใช่เก่งเสมอไป อยู่ที่ว่าใช้ใครในการคำนวณตัวเลขออกมา ประเมินจากข่าวจากสถานการณ์บางอย่างแล้วบอก 2.5%
ปี 2558 เศรษฐกิจฟื้น – ปี2559 รักษา Momentum
ฉะนั้น ผมจะเรียนแบบนี้ว่า ปีที่ผ่านมา ถ้ามองดูตัวเลขที่ออกมาถือว่าน่าพอใจในระดับนี้ ในปี 2557 จีดีพีอยู่ที่ 0.9% ปี 2558 ที่ผ่านมามันจะจบอยู่ที่ 2.8-2.9% ดีไม่ดี 3% ถามว่าแบบนี้ดีขึ้นหรือไม่ ถ้าเรามองแบบนี้ก็บอกได้ว่ามันน่าจะอุ่นใจหน่อย ว่าค่อยๆ กระเตื้องๆ ขึ้นมาแล้ว แต่ตัวสำคัญไม่ได้อยู่ที่ปีต่อปีเทียบกันแบบนี้ มันอยู่ที่ Momentum ไตรมาสต่อไตรมาส ปี 2558 เริ่มแบบปีต่อปี ไตรมาสแรกโตขึ้น 3% ไตรมาส 2 อยู่ที่ 2.8% ไตรมาส 3 2.9% แต่อัตราการเติบโตไตรมาสต่อไตรมาส ไตรมาส 2 เทียบกับไตรมาสแรกของปี 2558 อยู่ที่ 0.3% แล้วเป็น 1% ในไตรมาสสามเทียบกับไตรมาส 2 ผมเชื่อว่าไตรมาส 4 จะโตมากกว่าไตรมาส 3 อีก
ลักษณะตรงนี้อาจมองว่า Momentum ของการเติบโต น่าพอใจ อย่างน้อยที่สุดปีที่แล้วเราสามารถหยุดยั้งการทรุดตัวของเศรษฐกิจได้ เพราะว่าช่วงนี้ความมั่นใจมันหายไปแล้ว เมื่อมันสามารถหยุดตรงนี้ได้ ดัชนีความเชื่อมั่นของสภาอุตสาหกรรมไทยออกมาพิสูจน์แล้วว่าความมั่นใจมันเริ่มกลับมา ด้านหอการค้าก็บอกมาแล้วว่าความมั่นใจของผู้บริโภคเริ่มกลับมาแล้ว แต่ประเด็นจริงๆ ไม่ได้อยู่ที่ความมั่นใจ เราต้องแปลงความมั่นใจให้เป็นการขับเคลื่อนที่แท้จริง ให้เศรษฐกิจมันเดินได้ ความมั่นใจอย่างเดียวแล้วไม่ได้ทำอะไร สักพักหนึ่งความมั่นใจเหล่านี้มันจะฝ่อลงไป ถ้าเกิดฝ่อลงไปมันจะยุ่งไปกันใหญ่ ชีพจรที่เต้นแผ่วๆ มันจะแผ่วลงไปอีก
ดังนั้น ภารกิจสำคัญยิ่งในปีนี้ของรัฐบาล ประการแรก คือ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจจะต้องดูแล Momentum ของการเติบโตให้อยู่ในช่วงที่ “พอเหมาะพอควร” ซึ่งปีนี้ ธปท. ทำนายแล้วว่าจีดีพีอยู่ที่ 3.5% เราก็จะดูว่าปีนี้เราจะสามารถชนะตลาดได้หรือไม่ แต่จะพยายามให้เต็มที่
เดินหน้าทุกเครื่องยนต์ – ไม่ทิ้งไว้เบาะหลัง
แล้วถามว่าจะชนะมันอย่างไร เมื่อวานนี้มีข่าวออกมาว่าสมคิดพูดว่าจะให้ส่งออกอยู่เบาะหลัง take the back seat ผมไม่ได้พูดแบบนั้น แต่เมื่อวานไม่ได้ให้สัมภาษณ์การให้ข่าวอาจจะไม่ถูกต้อง ยืนยันว่าไม่มีใครที่อยู่เบาะหลังทั้งสิ้น เครื่องยนต์ทุกเครื่องจะต้องเดินหน้าอย่างเต็มที่ ไม่มีไขลาน เพราะว่าเรามีอยู่ไม่กี่ตัว ทุกเครื่องยนต์ต้องทำงานเต็มที่
เรื่องการส่งออกจะให้เขามาอยู่ที่นั่งข้างหลังได้อย่างไร ในเมื่อการส่งออกมันเท่ากับ 70% ของจีดีพี ฉะนั้น เอกชน ฝ่ายราชการ โดยเฉพาะกระทรวงพาณิชย์ ต้องพยายามเร่งตรงนี้ให้ได้ เดิมทีเขาขอตั้งเป้าส่งออกว่า 2.5% ผมไม่ให้ เพราะผมว่าต้อง 5% แล้วจะต้องประเมินข้าราชการ ทูตพาณิชย์ ตามฐานนี้ว่าคุณทำได้ดีแค่ไหน เพราะจริงๆ แล้วตัวเลขส่งออกปีที่แล้วมันไม่ได้สูง มันเริ่มต้นสองสามเดือนแรกที่ 17,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่บังเอิญโลกปีนี้ไม่ค่อยดีนัก ไม่ดีจริงหรือไม่ก็ไม่รู้ แต่ถ้าเราไปบอกว่าเอาเป้าหมายต่ำๆ ไว้ก่อน มันก็ยิ่งแย่เข้าไปอีก ดังนั้น 5% ตั้งเป้าหมายไว้แล้วมาวิ่งแข่งกับมัน กลางเดือนนี้ทูตพาณิชย์จะกลับมาที่กรุงเทพฯ ผมจะไปคุยกับเขา ไม่ใช่ไปข่มขู่เขา แต่ไปให้กำลังใจและแนะแนวทางว่าทำอย่างไรให้ดีที่สุด นี่คือเครื่องยนต์ตัวสำคัญ
เครื่องยนต์ที่ 2 เรื่องของท่องเที่ยว ถือเป็นพระเอกในปีที่ผ่านมา แต่ยังมีช่องทางอีกมากที่การท่องเที่ยวจะช่วยให้ผลักดันการหมุนเวียนในเศรษฐกิจได้ ผมคุยกับท่านกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ว่าจันทร์ที่ 11 มกราคม 2559 จะเอาทุกองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไปนั่งคุยกัน หารือว่าปีนี้การท่องเที่ยวจะเร่งเต็มสูบกันได้อย่างไร
เครื่องยนต์ตัวที่ 3 คือ การใช้จ่ายของรัฐบาล เป็นที่รู้กันแล้วในคณะรัฐมนตรีว่าปีนี้จะเป็นปีที่เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณให้เร็วที่สุด ผมได้ยินว่าภาคเอกชนจะช่วยเหลือรัฐบาลว่างบประมาณอะไรที่ลงได้ก่อนจะเร่งให้ลงมาก่อนใน 2 ไตรมาสแรก ไม่ว่าจะงบสัมมนา งบจัดงานต่างๆ เพื่อให้ช่วยประคอง Momentum ของเศรษฐกิจให้ก้าวขึ้นต่อไป
เน้นเติบโตจากภายใน สร้างรากฐานให้เข้มแข็ง
แต่อย่างที่ผมเรียนเมื่อสักครู่นี้ ถ้าโลกใบนี้มันเริ่มแผ่ว เราจะอาศัยแต่แรงข้างนอกอย่างเดียวไม่ได้ ก็ต้องหันกลับมามองภายในประเทศ อันนี้จะเป็นโอกาสของเมืองไทยเลย เวลาที่เศรษฐกิจดี ไม่เคยมีใครคิดจะยกเครื่องประเทศไทย เศรษฐกิจไม่ดีจะเป็นโอกาสสำคัญ
ฉะนั้น การเติบโตจากภายในที่เราพูดกันเมื่อปีที่แล้วและเริ่มไปบางส่วนแล้ว ปีนี้ท่านจะได้เห็นที่เข้มข้นขึ้น ถามว่าการเติบโตจากภายในจะทำอย่างไร ผมอยากจะตอบว่าจะต้องไม่ใช่การเอาง่ายๆ เข้าว่า ไม่ใช่แค่การแจกเงิน ผมเรียนแบบตรงไปตรงมาว่ารัฐบาลของท่านนายกรัฐมนตรีมีทางเลือกที่ง่ายและทางที่ยาก ทางที่ง่าย ถ้าจะให้คนชมกันคนชอบหมดเลย คือฉีดเงินเข้าระบบอย่างเดียวเลย แล้วมันฉีดได้ด้วยไม่ใช่ไม่ได้ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีมันแค่ 43% ในโลกนี้บอกว่าต้องไม่เกิน 60% แปลว่าอัดฉีดเข้ามาได้อีกเยอะ แต่ฉีดแล้วบริโภคไปแล้วมันก็หมด ภาระจะไปอยู่ที่รัฐบาลหน้า ดังนั้น ถ้าคิดว่าฉีดเงินลงไปทุกอย่างอัดเงินเข้าไป รับรองว่าจีดีพีไม่แค่ 3.5% หรอก
แต่ว่ามันเหมือนเราไปเอาทรัพยากรอนาคตมาใช้ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ใช่ตัวแก้ปัญหา ผมจึงเรียนว่ารัฐบาลนี้ต้องการเน้นให้มีการเติบโตที่ “พอสมควร” แต่สำหรับเรื่องเข้าไปช่วยอุดรูในส่วนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากในสังคม ที่อาจต้องอัดฉีดเงินเข้าไปก็ต้องเป็นการอัดฉีดในเชิงพัฒนา เชิงสร้างการเติบโตจากภายในขึ้นมา โดยเฉพาะในหลายๆ ตัวแปรที่ไม่เคยทำมาก่อน พูดง่ายๆ ว่าการอัดเงินเข้าไปต้องสอดรับการแนวทางปฏิรูปและสร้างความเข้มแข็งในระยะยาวขึ้นมาให้ได้ อันนี้คือสิ่งที่ต้องการทำ เป็นการเลือกทางที่ยาก ไม่ใช่ทางที่ง่าย ในรัฐบาลปกติที่มาจากการเมืองไม่มีเวลาคิดแบบนี้หรอก เวลาคุณไม่มีเงินเศรษฐกิจไม่ดี คุณก็เปลี่ยนรัฐบาล ฉะนั้น นโยบายจะเน้นระยะสั้นให้จีดีพีโต รอบหน้าจะถูกเลือกกลับมาเอง แต่รัฐบาลนี้มีเวลาปีครึ่ง คงไม่ไปมากกว่านี้ จึงอยากใช้จังหวะเวลานี้เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ควรจะเปลี่ยนแปลง
หนุนเกษตรกรเพาะปลูกหลากหลาย กระจายความเสี่ยง
ถามว่าเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง ผมจะพูดเฉพาะเรื่องหลักๆ ที่คิดว่าอยากจะทำให้เกิดผลมากหน่อย เป็นจุดเริ่มต้น แล้วถ้ารัฐบาลต่อไปจะสานต่อก็สานต่อไป สิ่งแรก ถ้าหากเราจะพัฒนาจากภายใน ผมเรียนแล้วว่าหัวใจของเศรษฐกิจคือฐานราก ถ้า 30 ล้านคนไม่ได้รับการพัฒนา เศรษฐกิจเมืองไทยไม่มีทางที่จะดีได้เลย ถึงดีก็มีบางส่วนเท่านั้น แล้วสุดท้ายจะเกิดช่องว่างทางสังคมที่ใหญ่มาก ง่ายมากต่อการปลุกปั่นให้เกิดการเมืองที่เป็นกลียุค ดังนั้น สิ่งที่ทุกข์ใจอยู่เพราะคิดแล้วคิดอีกว่าจะช่วยเกษตรกรหรือคนจนเหล่านี้ได้อย่างไร ผมก็จะเริ่มทำวิธีของผม จะลองดู ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น
ยกตัวอย่างเรื่องข้าว พวกข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว ไม่ใช่ตัวปัญหา ปัญหาคือข้าวนาปรังหรือข้าวขาว ที่เวลาน้ำน้อยผลผลิตต่อไร่ต่ำ ต้นทุนสูง ขายสู้คนอื่นไม่ได้ ฉะนั้น มันมีทางเดียวคือว่าจะทำอย่างไรให้เกษตรกรพร้อมใจหรือยินยอมปรับการเพาะปลูกให้หลากหลายมากขึ้น เป็นสินค้าที่น่าจะผลิตได้มากขึ้น พูดง่ายๆ คือ การสร้างความหลากหลายในการผลิตของเกษตรกรเป็นสิ่งจำเป็นมาก ถ้ามัวแต่ผลิตข้าวอย่างเดียวแล้วราคามันตกทุกวัน แล้วรัฐบาลไม่ประกันราคาข้าวหรือรายได้ เกษตรกรจะจนลงทุกวัน เศรษฐกิจก็มีปัญหา ไม่เฉพาะเกษตรกร เอสเอ็มอี ธุรกิจใหญ่ๆ มีปัญหาทั้งหมด ถามเครือสหพัฒน์ว่าลองชาวนาไม่มีเงิน มีคนซื้อมาม่าหรือไม่ สมัยก่อนเศรษฐกิจไม่ดี มาม่าขายดีนะ ตอนนี้ถึงขั้นว่าเศษฐกิจไม่ดีจนมาม่าขายได้น้อยลง แปลว่าคนมันจนมาก
ถามว่าจะให้เกษตรกรปรับวิธีการแบบนี้ได้อย่างไร ผมตั้งใจว่าจะใช้หัวหอกสำคัญคือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กับธนาคารออมสิน และจะใช้วิธีขับเคลื่อนในแนวนอน คือแนวดิ่งมีแล้ว กระทรวงทำอยู่แล้ว การขับเคลื่อนแนวนอนจะร่วมกับสหกรณ์ทั่วประเทศ ใช้กองทุนหมูบ้านให้เกิดประโยชน์ ใช้สภาเกษตรกรทั้งประเทศ ร่วมกับเอกชน ร่วมกับทุกฝ่าย ผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
ผมจะคุยกับ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสิน วันศุกร์ที่ 8 มกราคม 2559 นี้ ให้คิดมาตรการออกมาว่าจะทำให้ชาวนาเลือก ไม่ได้บังคับนะ ทดลองการปลูกพืชชนิดอื่น ในแปลงนาจะยกคันร่องขึ้นมาปลูกมะพร้าวก็ได้ มังคุดก็ได้ กล้วยหอมก็ได้ แต่เราเข้าใจชาวนาว่าคนที่จนบางทีไม่กล้าเสี่ยง บางทีทำแล้วพลาดก็อดตาย ดังนั้นต้องให้เขาช่วยผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตรงนี้ให้ได้
ภาคเอกชนอยากให้มีโอกาสเข้ามาทำแปลงสาธิต ไปช่วยแนะนำทำเป็นตัวอย่างว่าการทำเพาะปลูกที่หลากหลายทำอย่างไร ให้ชุมชนได้เห็นตัวอย่างจะได้มั่นใจมากขึ้น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมถ้าทำทั้งแนวนอนและแนวดิ่งจากกระทรวงลงไป วันหนึ่งจะเกิดออกผลขึ้นมา
ลงทุน “โครงสร้างพื้นฐานชนบท” เพิ่มมูลค่าสินค้า
แต่เท่านั้นไม่พอ สิ่งที่สมคิดอยากจะทำคือไปเพิ่มมูลค่าสินค้าที่มีอยู่ มีคนส่งรูปสินค้าบรอคโคลีจากอเมริกามาให้ผม ขายดีมากในอเมริกา แต่มัน made in Thailand ทำไมเราไม่ตั้งคำถามว่าผลไม้เต็มภาคใต้เลยแต่กลับไม่มีโรงงานแปรรูปในท้องถิ่นเลย มีแต่โรงงานขนาดใหญ่ที่ระยองแทน มันไม่ควรจะเป็นแบบนั้น ทำไมชาวบ้านที่ปลูกมันสำปะหลัง แค่ทำมันเส้นเพิ่มมูลค่าจากกิโลกรัมละ 2 บาท เป็น 5-6 บาท ทำไมมันทำยากมากนัก ทำไมความพยายามเหล่านี้ไม่มีเลย
คำตอบคือ เพราะในอดีตที่ผ่านมา เวลาเราให้ลงทุน เราจะให้ลงทุนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ แต่มันถึงเวลาแล้วว่าจะทำอย่างไรให้เปลี่ยนแปลงในสิ่งเหล่านี้ คือต้องมีการลงทุนในท้องถิ่น ผมให้โจทย์ธนาคารออมสินไปแล้ว อย่างเวลาผมไปเที่ยวญี่ปุ่น ผมชอบไปเที่ยวญี่ปุ่น แต่ละเมืองมีจุดเด่น ล่าสุดไปที่เมืองโอบุเสะ ทั้งเมืองมีแต่เกาลัด ข้าวผัดเกาลัด เกาลัดแปรรูป ไอศกรีมเกาลัด เค้กเกาลัด หีบห่อทุกอย่างออกมาดีหมด ผมมองแล้วเห็นว่าทำไมเกษตรกรเขาทำได้ขนาดนี้ ทำไมเราทำไม่ได้แบบนี้
หน้าที่นี้เป็นหน้าที่ของ ธ.ก.ส. โดยตรง ทำไม่ได้ก็ยุบทิ้งไปเลย ด้านธนาคารออมสินที่ผ่านมาช่วยได้ดีมาก ส่วนธนาคารกรุงไทย รัฐบาลถือหุ้นใหญ่ต้องมาช่วยกัน ไม่เช่นนั้นจะเข้าไปรื้อเลย เราถือหุ้นใหญ่แท้ๆ กรรมการผู้จัดการใหญ่บอกมาว่าจะช่วยเต็มที่ ก็จะเอามาช่วยด้วย
แต่ภาคเอกชนจะเข้ามาช่วยได้ บางครั้งต้องใช้เกษตรกรคุยกับเกษตรกร สร้างความมั่นใจว่าเป็นของจริง นำไปสู่นโยบายที่คิดมาเมื่อคืน ในภาคอุตสาหกรรมมีการสร้างเอสเอ็มอี ในภาคเกษตรกรรมเหมือนกัน เราต้องสร้างเอสเอ็มอีในภาคเกษตรกรรม ของไทยมีแต่เกษตรกรที่ยากจน แต่จริงๆ ยังมีพวกเถ้าแก่น้อยเกษตรกร มีอยู่ทุกชุมชน คนเหล่านี้ที่เรียกว่า Smart Farmer เขามีกิจการไม่ใหญ่มาก แต่เขาเป็นนักธุรกิจ เป็นผู้ประกอบการ ไม่ใช่แค่ปลูกข้าวปลูกผัก แต่เขารู้ว่าจะเอาสินค้ามาเพิ่มมูลค่าอย่างไร แปรรูปอย่างไร ทำให้เกิดผลแล้วขาย ตรงนี้คือสิ่งที่ ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินต้องตั้งเป้าเปิดศักราชใหม่ในการสร้างเอสเอ็มอีเกษตรกร ต้องเป็นเกษตรอุตสาหกรรมด้วย ไม่ใช่แค่ปลูกข้าวปลูกผักอยู่แค่นั้น มันฟังแล้วน่าถดถอยมาก ไปดูต่างประเทศผลไม้แปรรูปสารพัดอย่างมาจากเมืองไทย แต่เมืองไทยไม่ทำเลย เอกชนรายใหญ่ก็ไม่ทำ ทำแต่โรงงานขนาดใหญ่
สิ่งสุดท้ายที่อยากจะทำตรงนี้คือ ปีนี้อยากให้มีลงทุนโดยกองทุนหมู่บ้าน ลงทุนในอะไร ไม่ใช่ให้กู้ แต่ต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของชนบท เราคุ้นเคยกับคำว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นถนนใหญ่ รถไฟฟ้า รถไฟ เรือบิน แต่จริงๆ โครงสร้างพื้นฐานในชนบทคือ ฝาย แหล่งน้ำ ยุ้งฉาง โรงอบ ลานตาก โรงงานแปรรูปขนาดเล็ก มีน้อยมากเลยตอนนี้ อย่างข้าวราคาตกตอนนี้เพราะอะไร เพราะมันชื้น ต้องไปฝากโรงสีเก็บ ชาวนาไม่มีอะไรสักอย่าง
อันนี้ให้โจทย์ไปแล้ว ภายในวันที่ 20 มกราคม 2559 แกนนำของกองทุนหมู่บ้านจะทยอยส่งแนวคิดกลับมาว่าโครงการอะไรบ้างที่จะทำ จะเป็นครั้งแรกที่เห็นว่าการลงทุนที่ลงไปถึงรากหรือแนวนอนจะทำกันอย่างไร ผมไม่ได้บอกว่าจะออกมาสำเร็จทันที ของทุกอย่างที่ไม่เคยเริ่มต้น เวลาเริ่มต้องมีจุดอ่อนแน่นอน แต่มันต้องเริ่ม ข้างล่างถึงมีโอกาสแข็งแรงขึ้น
ตรงนี้ให้การบ้านคณะกรรมส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอไปด้วยว่าต้องการเห็นการลงทุนท้องถิ่นที่จูงใจให้เอกชนไปลงทุนในตำบล ถ้าคุณสามารถสร้างโรงงานแปรรูปขนาดเล็กไปเพิ่มมูลค่าเพิ่มได้ หรือไปลงทุนร่วมกับเกษตรกรได้ ผมจะให้บีโอไอให้สิทธิพิเศษแก่เอกชนเหล่านั้น นี่คือสิ่งที่อยากจะทำ
ลงทุนสร้างแหล่งท่องเที่ยวระยะยาว
แค่นั้นไม่พอ สังคมเกษตรชนบทจะเติบโตได้อยู่ที่การท่องเที่ยว ญี่ปุ่นมันโตทุกเมืองเลย มีจังหวัดท่องเที่ยว ของเราก็มีจังหวัดท่องเที่ยว แต่ขาดการลงทุน เพราะเราเล่นกันระยะสั้น สนับสนุนให้คนมาเที่ยวเท่านั้น แต่มันถึงเวลาที่ต้องเอาเงินลงทุนไปสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ขึ้นมา ในแต่ละจังหวัดควรจะต้องมีที่ไหนสักที่ที่ทำให้ดีไปเลย เราอยากเห็น Road side Station แบบญี่ปุ่น นั่งรถไปจอดตามปั๊มน้ำมัน อยากเห็นแบบดีๆ ขึ้นมา ไม่ใช่มีปั๊มมีร้านค้าร้านเดียว มันไม่เกิดอารมณ์ของการพัฒนาเลย เรื่องการท่องเที่ยว ถามคนที่ไปเที่ยวญี่ปุ่น ความสุขของการเที่ยวอยู่ที่ระหว่างทางได้จอดแวะได้เห็นสินค้าหลากหลาย ได้เห็นทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว
ผมคุยกับท่านกอบกาญจน์(รมต.ท่องเที่ยวและกีฬา)แล้วว่าให้เตรียมงบประมาณพิเศษที่จะทำเรื่องลงทุนท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังมีคนแนะนำมาว่าคนไทยส่วนใหญ่ท่องเที่ยวกลางวัน ดังนั้นเอาไฟมาติดตอนกลางคืน แม่น้ำเจ้าพระยา คลองต่างๆ หนุนการท่องเที่ยวยามเย็นยามค่ำคืน สร้างมันขึ้นมา ข้อมูลข่าวสารสร้างขึ้นมา ถ้าเราไม่นิ่งๆ ไม่เอาลวกแค่คนมาซื้อของแล้วจบ มันยังมีหนทางเยอะแยะเลย ดังนั้น นโยบายใหม่ของการท่องเที่ยวจะเน้นตรงนี้ ผมไม่ได้กำกับด้านท่องเที่ยวแต่ขอท่านรองนายกฯ ที่ดูแลแล้วว่าจะขอเข้าไปคุยกับกลุ่มท่องเที่ยวที่เกี่ยวข้องเหล่านี้
ลุยทำ Internet Broadband – สร้างผู้นำดิจิทัลชุมชน
ยังไม่จบแค่นี้ ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ท่านอุตตม สาวนายน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บอกว่ากระทรวงมีโครงการที่จะทำ Internet Broadband 10,000 จุด ผมจึงบอกต่อไปว่าเรามีเวลาปีครึ่ง เรื่องนี้สำคัญที่สุด เพราะถ้าหากว่าชาวนาชาวไร่สามารถตั้งเป็นเอสเอ็มอีเป็นวิสาหกิจชุมชนได้ หัวใจต่อไปของการค้าขายคือ E-Commerce มันขายได้ทั้งโลกเลย การศึกษาจะเข้าไปถึงได้ต้องมี Internet Broadband ทุกอย่างมันอยู่ที่ตรงนี้หมดเลยในอนาคต ทำมันให้เสร็จในเวลาที่มีอยู่ ทำลงไปเลย ของบประมาณมา มีให้แค่ไหนให้แค่นั้น ไม่มีกั๊กไปทำต่อข้างหน้า หาเงินมาได้เกือบ 200,000 ล้านบาทจากการประมูลคลื่น ขอเงินมาเลยกี่เปอร์เซ็นต์มาลงเรื่องอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์
อนาคตชาวนาจะสามารถเรียนรู้อินเทอร์เน็ตได้ อย่าคิดว่าเป็นเรื่องตลก เขามีโครงสร้างยกระดับดิจิทัลชุมชน สร้างผู้นำด้านดิจิทัลและอินเทอร์เน็ตในชุมชน เพราะต้องมีคนในชุมชนที่สามารถเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ ฝึกคนเหล่านี้ให้ไปฝึกคนอื่นๆ ต่อไป ดังนั้นปีนี้จะได้เห็นการเริ่มต้นเศรษฐกิจดิจิทัลที่แท้จริงในชนบท ยังไม่ต้องพูดเรื่องเอาไปใช้กับการท่องเที่ยวชนบทหรือเอสเอ็มอีนะ มันต้องเกิดขึ้นให้ได้
ตรงนี้เป็นบางตัวอย่างที่บอกว่าถ้าเรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนมัน เม็ดเงินไม่ว่าจะผ่านกองทุนหมู่บ้าน ผ่านธนาคาร ผ่านรัฐบาล เพื่อการพัฒนา มันจะสามารถไปเติมเต็มส่วนที่ขาดหายและสามารถสร้างอนาคตได้
หนุนไทยเป็น “Startup Nation” แบบอิสราเอล
เรื่องที่สองที่อยากจะเห็นและตั้งใจ คิดว่าถ้าทำได้มันจะเปลี่ยนโครงสร้างของประเทศไทย ผมเคยบอกไปแล้วว่าบริษัทใหญ่มีแค่ 100 กว่าแห่งเอง ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์นั่นแหละ แต่ในต่างประเทศที่โตได้โตดีเพราะมี startup หนังสือที่ขายดีขายเทน้ำเทท่าคือเรื่อง Startup Nation ที่พูดเรื่องของอิสราเอล ประเทศนิดเดียวแต่สร้างธุรกิจใหม่ๆ แต่ละปีจำนวนมหาศาล ขณะนี้ถ้าไปดูมาเลเซียและสิงค์โปร์ พวกบริษัทเกิดใหม่ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เต็มไปหมดเลย หรือไปดูตลาดหุ้นอเมริกา หุ้นที่อยู่ 10 อันดับแรก มันแทบไม่มีสินค้ายุคเก่าเหลืออยู่เลย มันเป็นเรื่องของ startup ทั้งสิ้น
ถ้าเราไม่เปลี่ยนฐานตรงนี้ ไม่มีนักรบทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่ฉลาดหลักแหลมขึ้นมา คุณจะย่ำอยู่แค่นี้ จะเห็นสิ่งทอเน้นราคาถูก เห็นอาหารพื้นๆ เห็นสินค้าที่สิบยี่สิบปีไม่เคยเปลี่ยนแปลง ผมไปเห็นร้านค้าของเวียดนามทำตระกร้า กระเป๋า จากหวายไปเปิดที่ญี่ปุ่น การออกแบบนี่สุดยอดเลย พวกนี้เกิดจาก startup ใหม่ๆ ความรู้ของคนรุ่นใหม่ๆ มาทำ
ถามว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร มันต้องไปจุดประกายแนวคิดของคนไทยว่าคนเราเกิดมาไม่ใช่เกิดมารับจ้าง เราสามารถสร้างธุรกิจตัวเองได้ การล้มการเลิกไม่ใช่สิ่งที่น่าอาย ดังนั้น ผมจะเข้าไปตามมหาวิทยาลัย ไปกระตุ้นให้ตื่นตัว มหาวิทยาลัยหอการค้าตื่นแล้ว มหาวิทยาลัยกรุงเทพตื่นแล้ว แล้วเมื่อไรมหาวิทยาลัยของรัฐจะตื่นเสียที
พอคุณกระตุ้นสิ่งเหล่านี้ได้ ต่อไปจะมาถึงสถาบันและองค์กรทั้งหลายที่มีอยู่พร้อมเข้ามาช่วยได้ ผมคุยกับกระทรวงการคลัง ถ้าหากบริษัทขนาดใหญ่เข้าไปร่วมลงทุนกับ startup เหล่านี้ ในเชิงของการร่วมทุนบริษัท เราจะให้แรงจูงใจข้างหน้าต่อไป เพราะว่าการร่วมทุนแบบนี้มันเกิดยาก เขาไม่มั่นใจในระบบของเมืองไทย แต่บริษัทขนาดใหญ่สามารถต่อท่อเข้าไปในบริษัทเล็กๆ ที่เพิ่งเกิด ถ้ายินดีต่อท่อเข้าไป สิ่งจูงใจเหล่านี้ต้องให้เขา
ไม่เพียงเท่านี้ เพราะ startup คือคนรุ่นใหม่อยากทำธุรกิจ บริษัทใหม่ทุนน้อย ขอสินเชื่อก็ยาก SME Bank กำลังเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ไม่ใช่แค่ปล่อยสินเชื่อแต่ต้องไปช่วยเขาสร้างธุรกิจ บุคลากรต้องปรับปรุง ธนาคารออมสินก็กำลังจะทำ จะเป็นการเปลี่ยนแปลงของธนาคารเหล่านี้เดินคู่กันไป
แล้วผมคุยกับกระทรวงการคลังว่าเราต้องสร้างอนาคตให้เขาให้ได้ ความคืบหน้าตอนนี้มีการตั้งกองทุนร่วมลงทุนกับเขาแล้ว แต่ว่ามันช้ามาก ผมจำได้เราอนุมัติไปที่ SME Bank และธนาคารออมสิน แห่งละ 3,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ค่อยขยับ ต้องไปจัดการ แต่เขาจะมั่นใจมากขึ้นถ้ากระทรวงการคลังเดินเครื่องต่อ
ด้านธนาคารพาณิชย์ ธนาคารกรุงเทพเริ่มมีกองทุนภายในมาลงทุนในบริษัทใหม่ๆ เหล่านี้แล้ว เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นโรงรับจำนำมานานแล้ว ต้องถึงเวลาที่จะสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา สร้างโอกาสขึ้นมา ผมคุยกับผู้ว่าการ ธปท. บอกว่าอนาคตข้างหน้าให้ช่วยตรงนี้ เป็นการสร้างกระดูกสันหลังใหม่ของประเทศ ดังนั้น ต้องปล่อยให้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐไปสร้างขึ้นมาให้ได้ ธนาคารพาณิชย์ใหญ่ๆ ถ้าจะมาทำ ธปท. ต้องเกื้อหนุน หน้าที่ ธปท. ไม่ใช่แค่สร้างเสถียรภาพ ไม่ใช่แค่ดูค่าเงิน แต่มีหน้าที่ควบคู่กระทรวงการคลังสร้างระบบขึ้นมา
กองทุนรวมวายุภักษ์ หนึ่ง ขณะนี้ราชการถืออยู่เต็ม 100% มีเงินสดพอสมควร แต่ตามกฎที่มียังให้ไปถือหุ้นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ได้ 15% หุ้นบริษัทในตลาดถือได้ไม่เกิน 5% ทำไมไม่คิดเอามาใช้ประโยชน์ กันเงินบางส่วนออกมาสร้าง startup ให้เป็น startup nation ให้มีผู้ประกอบการเต็มไปหมดในประเทศไทย นี่คือสิ่งที่ประเทศอื่นพยายามสร้างตลอดเวลา สิงคโปร์ถึงกับเขียนหนังสือขึ้นมา หน้าปกเป็นภาษาจีนบอกว่า “เกียชู” แปลว่ากลัวแพ้ เขารู้ว่าข้อจำกัดทางจิตใจเป็น mental block ที่สำคัญคือทำธุรกิจแล้วกลัวแพ้ กลัวเสียหน้า กลัวล้มเหลว หนังสือเล่มนี้บอกว่าเลิกกลัว ถ้าไม่ล้มก็ลุกไม่ได้ พวกนี้เป็นสิ่งที่อยากสร้างขึ้นมา
มหาวิทยาลัยเริ่มตื่นตัวแล้ว กลุ่ม startup เริ่มมีแล้ว ถ้า ICT ไปเน้นที่ technology-based ไปสร้างบุคลากรทางด้านเทคโนโลยี ผมเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า ไม่ว่าเรื่องแอปพลิเคชันเรื่อง digital solution เรื่องความบันเทิง เรื่อง animation เรื่อง software มันจะค่อยๆ เกิดขึ้นมาเร็วมาก แต่มันต้องมีจุดเริ่มต้น
เลิก “เตรียมพร้อม” สู่ AEC – เริ่ม “ทำ” ทันที
เรื่องที่ 3 ที่อยากจะเห็นเป็นหน้าที่หลักของกระทรวงพาณิชย์และบีโอไอ ทุกวันนี้เราพูดอยู่คำเดียว “เตรียมความพร้อม” รับเออีซี มันควรจะพร้อมมานานแล้ว ไม่ใช่มาเตรียม ไม่พร้อมก็ล้มไปเลย แต่ ณ วันนี้ต้องคิดใหม่ว่า ต้องสร้างเออีซีเป็นบ้าน เป็นเหมือนตลาดในบ้าน หรือเป็น AEC as Home Market ต้องกล้าไปค้าขายในพนมเปญเหมือนกับค้าขายที่อุดรธานี ถ้าเปลี่ยนความคิดแบบนี้ได้ จะมีวิธีดิ้นรนทันทีว่าจะไปค้าขายในรอบๆ นี้อย่างไร มันไม่ใช่เวลามานั่งเตรียมความพร้อมเลย ต้องไปแล้ว ต้องมองว่าจะเอาเออีซีเป็นตลาดของคุณ ตอนนี้กระทรวงพาณิชย์จะทำอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งพาเอสเอ็มอีไปด้วย จะสร้าง brand ไทยอย่างไร พูดมาหลายปีแล้ว ทำให้เห็นสักที ทำอย่างที่จะสร้าง e-commerce ขนาดใหญ่ให้เอสเอ็มอีเหล่านี้เกาะตามออกไป จะสร้างช่องทางออกไปข้างนอกอย่างไรที่ทำให้บริษัทค้าปลีกใหญ่ๆ พาคนเหล่านี้ออกไปค้าขายได้
ส่วนนโยบายของบีโอไอจะเปลี่ยนด้วย เปลี่ยนจากการดึงคนเข้ามาในประเทศ เป็นช่วยพาคนไปในเออีซี และประเทศที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรีของเรา นโยบายจะมีทั้งสองด้าน ทั้งดึงเข้าและผลักออกไป ด้านกระทรวงการคลัง จะแก้ไขกฎระเบียบให้นำเงินปันผลที่ไปลงทุนกลับมาไทยได้สะดวกขึ้น
ถ้าเราคิดขึ้นมาแบบนี้แล้ว ไม่มีคำว่าเป็นไปไม่ได้ แต่จริงๆ เรายังฝังอยู่กับเรื่องเดิมๆ คือเรารู้ว่าประเทศในเออีซีพัฒนาเขาช้ากว่าเรา โดยเฉพาะที่อยู่บนบก แต่ในเรื่องห่วงโซ่การผลิตมันสามารถเชื่อมต่อกันได้ เราก็ไปต่อกับเขา เราต้องอัปเกรดสินค้าขึ้นไปแล้วเอาห่วงโซ่การผลิตแต่ละแห่งมาเชื่อมต่อกัน ไม่ใช่ไปผลิตสินค้าแข่งกันเอง มันต้องคิดแบบนี้ ฝากสภาอุตสาหกรรมไทยไว้ จะทำอย่างไรกับเรื่องเหล่านี้ พวกนี้เป็นสิ่งที่ตั้งใจจะทำให้เกิด อย่างน้อยตั้งไข่ให้ได้
ฟันธง “รถไฟจีน-ญี่ปุ่น” เริ่มปีนี้ เชื่อมโยงอาเซียน
เรื่องรถไฟปีนี้จีนญี่ปุ่นต้องเริ่มแน่นอน ทำไมต้องเป็นแนวเหนือใต้กับตะวันออกตะวันตก ผมบอกหลายครั้งแล้วว่าเมืองไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียน แต่มันจะเป็นไม่ได้เลยถ้าเส้นทางเป็นจุดตัดตรงนี้เชื่อมโยงไปทั้งหมด ดังนั้น ท่ามกลางการเมืองโลกแบบนี้ ทั้งจีน-ญี่ปุ่น ต้องอยู่กับเขาหมด ดังนั้น เส้นทางเหนือใต้จีนทำ รัฐบาลต่อรัฐบาลต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้ว ส่วนแนวตะวันออกตะวันตกด้านล่างญี่ปุ่นทำ กระทรวงคมนาคมสัญญาว่าปีนี้ต้องเริ่มแน่นอน
แล้วข่าวทั้งหลายที่ออกมาเรื่องรถไฟไทยจีนเอาข้อมูลมาจากไหน ผมจะไม่พูดอีกแล้ว ที่บอกว่าจะใช้แรงงานจีนแพงเท่านั้นเท่านี้ เราเจรจากับจีนช้าเพราะเราต้องการประโยชน์สูงสุดที่ควรได้ แนวเส้นทางที่มีสร้างสำหรับ 100 ปีข้างหน้า เส้นที่มีอยู่มัน 100 ปีมาแล้ว แล้วต่อไปพื้นที่แถวนี้จะเชื่อมโยงด้วยราง 1.435 เมตร ถ้าไม่สร้างจะไปเชื่อมต่ออะไร
ส่วนรายละเอียดวิธีการเจรจากับจีน แต่เดิมบอกว่าตั้งบริษัทร่วมทุน 60:40 เป็นบริษัทเน้นตัวรถไฟกับระบบเดินรถไฟ มันไม่ใช่ การก่อสร้างมันมีภาระหนักที่ราง ดังนั้นต้องรวมไปหมด ต้นทุนทั้งหมด เราจะไปกลัวอะไรในเมื่อไม่ได้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ 2 ข้างทางเลย ดังนั้น ถ้าเขาจะทำต้องรับเงื่อนไขแบบนี้ ถ้าเราจะทำก็ต้องเงื่อนไขแบบนี้ แล้วถ้าถือหุ้น 40% สมมติ 4 แสนล้านบาท ผมใช้ไป 3 แสนล้านบาท ให้เอกชนมาช่วยทำอีก 1 แสนล้านบาท มันแบ่งเบาภาระไปได้เยอะ จะได้มีเงินไปทำเส้นอื่นได้ จีนเข้าใจดี เขาบอกว่าให้ส่งข้อมูลไปให้เขา มันยังอยู่ในขั้นตอนเจรจา เขาขออย่างเดียวคือให้เริ่มต้นเร็ว ให้มั่นใจว่าเกิดแน่ๆ เขาบอกว่ามันจะช้าได้อย่างไร มันไม่ได้เปลี่ยนเส้นทาง ไม่เปลี่ยนรูปแบบ เหลือแค่เงินลงทุนว่าจะรวมอะไรบ้าง แบ่งกันอย่างไร
ดังนั้น คมนาคมเกิดแน่นอน ถ้าไม่เกิดท่านนายกฯ บี้ตายแน่ สิ่งใหม่ โครงการที่เข้าร่วมทุนกับเอกชนหรือ PPP ทุกโครงการต้องเป็นไปตามกำหนดการแน่นอน มันอาจจะเริ่มขับเคลื่อนออกมาได้ช่วงครึ่งปีหลัง
ยกเครื่องระบบภาษี – 7 ปีงบประมาณสมดุล
สุดท้าย เรื่องปฏิรูปภาษี กระทรวงการคลัง ต้องขอบคุณมากใน 4 เดือนที่ผ่านมาข้าราชการทำงานหนักมาก คิดอะไรพูดอะไรสามารถทำได้เร็ว เมื่อวันก่อนไปคุยกับเขา ภาษีมรดกมาแน่แต่ว่าไม่ใช่ไปรังแกคน, ภาษีที่ดินสิ่งปลูกสร้างต้องมี แต่ว่าไม่ทำให้คนรายได้น้อยลำบาก, โครงสร้างภาษี รัฐมนตรียังไม่ได้พูด อธิบดีพูดหมดเลย แต่เกิดแน่นอน แล้วต้องย้ำว่าการปรับโครงสร้างภาษีต้องดูแลคนที่มีรายได้น้อยด้วย
ไม่ต้องกังวลว่าทำแบบนี้จะภาครัฐล้มหรือไม่ล้ม กระทรวงการคลังมีความรับผิดชอบอยู่แล้ว ผมให้ทีมหนึ่งทำแล้วให้กระทรวงการคลังไปดูต่อว่าถ้าต้องการทำงบประมาณสมดุลแบบ 10 ปีก่อน เราต้องทำอย่างไร กี่ปี เบื้องต้นจากข้อสมมติฐาน 2 ปีแรก จีดีพีโต 3% หลังจากนั้นหวังว่าจะอยู่ที่ 5% ต่อเนื่องได้ คุมรายจ่ายไม่ให้เกินระดับที่ควร 7 ปีเราจะกลับเข้าสู่สมดุล โดยที่หนี้ต่อจีดีพีไม่เกิน 49% จากหลักสากลที่มีเพดาน 60% ดังนั้นมีช่องว่างอีกเยอะ
ตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งรัฐวิสาหกิจ
สิ่งที่กระทรวงคลังเป็นงานใหญ่ของปีนี้คือ ซูเปอร์โฮลดิ้ง รัฐวิสาหกิจ เรื่องนี้ใกล้จะถึงไคลแมกซ์แล้ว ให้การบ้านกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ว่ารัฐวิสาหกิจที่ยังอยู่ใต้ สคร. ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องไม่ใช่อยู่เงียบๆ เป็น silence shareholder ต้องเข้าไปดูว่าแต่ละแห่งต้องมีแผนอย่างไร การบริหารไม่อยู่แค่เจ้ากระทรวง ในฐานะผู้ถือหุ้นเปลี่ยนคณะกรรมการบริหารได้ ผมกำชับคุณเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สคร. ว่าปีนี้อยากเห็นเป็น active shareholder
สิ่งต่างๆ เหล่านี้คิดว่าจะต้องนำออกมา นอกจากเรื่อง s-curve เรื่อง cluster ที่พูดไปเยอะแล้ว ผมเชื่อว่าถ้าเม็ดเงินจะลงมาในสิ่งเหล่านี้จะคุ้มค่ามาก ถ้ามันจำเป็นสำนักงบประมาณก็เตรียมตัวทำงบเพิ่มเติมไว้เลย ในเมื่อคุณได้เงินมาก้อนหนึ่งแล้วเอามาใช้ประโยชน์ไม่ใช่กอดไว้
ยัน “ประชารัฐ” ไม่เอื้อนายทุน แต่มาตามความพร้อม
ดังนั้น สิ่งเหล่านี้ ในบางครั้งในช่วงที่เราเห็นว่าเป็นวิกฤติ แต่มันเป็นโอกาสที่สำคัญ ถามว่าห่วงหรือไม่ ปัญหาเศรษฐกิจไม่น่าห่วง แต่สิ่งที่น่าห่วงน่ากังวลคือคนในประเทศ การทำงานทุกอย่างมีข้อจำกัดทั้งนั้น เรื่องระบบ เรื่องงบประมาณ เรื่องคน แต่ในช่วงเวลาแบบนี้ ช่วงเวลาของความเป็นตายของประเทศ การเมืองก็ไม่ดี เศรษฐกิจข้างนอกก็แย่ ความเป็นเอกภาพ ความร่วมมือกันเป็นสิ่งสำคัญมาก มันไม่มีประโยชน์เลยที่จะอยู่คนละฝั่ง ทำอันนั้นก็ไม่ดีทำอันนี้ก็ไม่ดี
ยกตัวอย่างง่ายๆ คือเรื่อง “ประชารัฐ” เจตนาคืออยากให้ 3 ภาค คือ รัฐบาล เอกชน ประชาชน มาช่วยกันกอบกู้เศรษฐกิจไทยให้ดีขึ้น ตอนเริ่มต้นมันก็ต้องแน่นอนว่าเอกชนจะมาก่อน เพราะเขาพร้อมก่อน มีการตั้งคณะอนุกรรมการ 12 คณะ เช่น เรื่องเอสเอ็มอี เรื่องฐานราก เรื่อง s-curve เรื่องสร้างร้ายได้ให้ประเทศ ถามว่าทำไม เพราะเขามีความพร้อมที่จะทำ แต่ไม่พร้อมจะเป็นรัฐมนตรี การเมืองไทยไม่เอื้อให้เข้ามา อย่างธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารแท้ๆ แต่ส่งผู้บริหารระดับสูงเข้ามา หรือ SCG แข็งแรงมากเลย ไปสู่ระดับโลกแล้ว นักออกแบบเป็น 100 คน บริษัทเอกชนไทยมีนักออกแบบแบบนี้บ้างหรือไม่ น้อยมาก ไม่ยอมจ้างมืออาชีพ นี่เขาจะเอามาให้เลย จะไม่เอาใช่ไหม เขาจะมากลืนบริษัทคุณหรือเปล่า
ในเมื่อเขาต้องการมาช่วย ตอนเริ่มต้นเราก็พาคณะใหญ่ไปพบนายกฯ ตั้งอนุกรรมการมา 12 คณะเป็นแกนหลักก่อน ต่อไปจะค่อยๆ ดึงทุกภาคส่วนเข้ามา เลือกว่าจะดึงเข้ามาช่วยในด้านอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่าเข้ามากันหมดแบบนี้จะทำได้อย่างไร พอมันเริ่มตั้งขึ้นมา กระแสมาทันทีว่าทำไมมีแต่เอกชนรายใหญ่ จะมาฮุบประเทศนี้หรืออย่างไร เวลาเขาไม่ช่วยก็ว่าเขา เวลาเขาจะมาช่วยก็ไปว่าเขาอีก แล้วจะเอาอย่างไร
ประชารัฐเป็นสิ่งที่ต้องทำ ภาคประชาชนอย่างเดียวบางทีกำลังไม่ถึง รัฐอย่างเดียวไม่ได้มันแนวดิ่งมากเกินไป มันต้องรวม 3 ภาคแบบนี้ ทุกเรื่องเลย ทำไมเราไม่สามารถมานั่งคุยกันแนะนำกัน รัฐบาลนี้ไม่ได้แข่งเลือกตั้งแน่นอน อีกปีครึ่งต้องไปแล้ว ทำไมไม่ใช้โอกาสนี้ช่วยกันทำในสิ่งเหล่านี้
ทั้งหมดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ผมอยากใช้โอกาสนี้ทำความเข้าใจว่าประชารัฐเจตนาเป็นแบบนี้ แล้วทุกมาตรการมีเหตุผลมีที่มาที่ไป เศรษฐกิจไม่ดีพอ ยังลงไปไม่ถึงฐานรากเพราะอะไร ต้องค่อยๆ สร้างขึ้นมา ทุกคนต้องเข้ามาช่วยกัน ต้องมาเป็นกำลังสำคัญของรัฐบาล ทั้งเอกชนทั้งภาคประชาชน เราพยายามทำให้ดีที่สุด เหนื่อยไม่ว่า ขออย่างเดียวให้เมืองไทยผ่านพ้นช่วงสำคัญนี้ไปให้ได้
อ่านเพิ่มเติม