ThaiPublica > เกาะกระแส > “พม่าเปิดประเทศ-คนไทยเปิดใจ” – เผยตระกูลบิ๊ก 5 เสือธุรกิจพม่า

“พม่าเปิดประเทศ-คนไทยเปิดใจ” – เผยตระกูลบิ๊ก 5 เสือธุรกิจพม่า

16 มกราคม 2013


การเปิดประเทศของพม่าหรือเมียนมาร์ ที่เดินหน้าอย่างรวดเร็วภายใต้การนำของนายเต็ง เส่ง ประธานาธิบดี สร้างความตื่นตาตื่นใจให้หลากหลายประเทศที่ต่างอาสาให้การช่วยเหลือพม่ามากมาย จนพม่าในฐานะผู้รับเองต้องตั้งสติในการรับว่าจะเลือกใคร ใช้โมเดลแบบไหน อย่างไรในการปฏิรูปประเทศ

ปลายปีที่แล้วจนถึงต้นปี 2556 ธนาคารพาณิชย์ของไทยหลายแห่งได้เข้าไปเปิดสำนักงานตัวแทนเพื่อให้บริการคนไทยที่เข้าไปลงทุนในพม่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556 ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ได้เปิดสำนักงานตัวแทนกรุงย่างกุ้ง

นายสมเกียรติ ศิริชาติไชย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า เป้าหมายเพื่อเป็นศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลและคำปรึกษาแบบครบถ้วนสมบูรณ์ ณ จุดเดียว ทั้งเรื่องการตลาดเชิงลึก ข้อมูลการค้าการลงทุน กฎหมาย เครือข่ายธุรกิจที่สำคัญต่างๆ รวมทั้งสถาบันการเงินของท้องถิ่น พร้อมช่วยต่อยอดการจับคู่ธุรกิจจากฐานลูกค้าของธนาคารที่สนใจเข้าไปลงทุน และเครือข่ายนักธุรกิจพม่าในหลากหลายอุตสาหกรรม

ธนาคารกสิกรไทยเปิดสำนักงานตัวแทนย่างกุ้ง เมื่อ 9 มกราคม 2556
ธนาคารกสิกรไทยเปิดสำนักงานตัวแทนย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2556

เช่นเดียวกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่เพิ่งลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับธนาคารกลางเมียนมาร์ เพื่อสนับสนุนการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์และส่งเสริมความร่วมมือเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจตลาดทุน เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556

“ภายใต้ความร่วมมือนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสนับสนุนการจัดตั้งตลาดหลักทรัพย์และตลาดทุนในเมียนมาร์
โดยสนับสนุนข้อมูลทั้งในด้านการปฏิบัติการของตลาดหลักทรัพย์ กฎเกณฑ์ ระบบการซื้อขาย และระบบงานหลังการซื้อขายหลักทรัพย์ การส่งเสริมบริษัทจดทะเบียน การให้ความรู้แก่บุคลากรในตลาดทุนเมียนมาร์ การร่วมจัดทำแผนพัฒนาความรู้ด้านตลาดทุนแก่นักลงทุนและผู้ร่วมตลาดในเมียนมาร์ รวมทั้งส่งเสริมโอกาสทางธุรกิจ โดยจะศึกษาความเป็นไปได้ของการส่งเสริมให้มีบริษัทหลักทรัพย์ร่วมทุนระหว่างไทยกับเมียนมาร์ด้วย” นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าว

นับเป็นการเริ่มต้นการพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุนของเมียนมาร์

ข้อมูลที่ทุกฝ่ายพูดตรงกันก็คือ วันนี้คนพม่ายังใช้เงินสดในการค้าขาย ซื้อ-ขายสินค้า อย่างการซื้อรถยนต์ราคาแพงๆ หลายล้านบาทก็ใช้เงินสดเท่านั้น ไม่มีการใช้บริการเช่าซื้อ ไม่มีลีสซิง แม้กระทั่งการฝากเงินก็ยังเก็บเงินกันเองอยู่ ถ้าเป็นประเทศไทยก็บอกว่าเอาเงินฝั่งตุ่ม ขณะที่การกู้ยืมเงินเพื่อการลงทุนดูจะไม่ค่อยได้ใช้บริการธนาคารพาณิชย์ หากจะกู้ต้องใช้โฉนดที่ดินค้ำประกัน และสามารถกู้ได้ 30% ของราคาหลักประกัน

การที่คนพม่าไม่นิยมใช้บริการธนาคารพาณิชย์ทั้งเงินฝากและเงินกู้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความเสียหายที่พวกเขาได้รับหลังระบบธนาคารพาณิชย์ล้มในปี 2008

แต่เมื่อพม่าเดินหน้าเปิดประเทศ ความจำเป็นในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมีมากมาย ดังนั้น กลไกสำคัญอย่างยิ่งคือแหล่งเงินทุน จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่พม่าต้องเร่งพัฒนาตลาดเงินและตลาดทุน ซึ่งเป็นความจำเป็นเร่งด่วนที่อาจจะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กัน

“พม่าเขาไปเร็ว ตลาดหลักทรัพย์ไทยได้มีการเจรจากับธนาคารกลางพม่าเมื่อปีที่แล้ว จากนั้นก็ผ่าน ครม. เท่าที่ทราบ ปีนี้จะผ่าน พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ก็นับว่าเร็วมาก เทียบกับของไทยมี พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ หลังจากมีตลาดหลักทรัพย์มาแล้ว 17 ปี”นายจรัมพรกล่าว

การที่พม่าต้องเร่งพัฒนาตลาดทุน เนื่องจากพม่ามีความจำเป็น 2 เรื่อง คือ 1. การแปรรูปรัฐวิสาหกิจ ที่ต้องการให้โปร่งใส ประชาชนเป็นเจ้าของ 2. พม่าต้องการจะทำ infrastructure fund เพราะต้องลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอีกจำนวนมาก ขณะที่ภาคเอกชนของเขายังห่างไกลการระดมทุนผ่านช่องทางต่างๆ เพราะว่าเอกชนแต่ละกลุ่มยังฝังตุ่มไว้เยอะ

ดังนั้นการพัฒนาตลาดทุน ในแง่โครงสร้างพื้นฐานจำเป็นจะต้องมีระบบกฎหมาย ระบบการชำระเงิน ระบบหลังบ้าน ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการพัฒนาตลาดทุนจะเดินหน้าต่อไม่ได้ หากระบบการเงินการธนาคารยังไม่เริ่มก่อน ต้องมีบริษัทหลักทรัพย์ ต้องมีธนาคารให้บริการชำระเงิน

แหล่งข่าวซึ่งเป็นที่ปรึกษาบางโครงการให้กับพม่าให้ความเห็นวา “เรื่องโอกาสทางธุรกิจมันชัดขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจใหญ่ๆ ของพม่ายังไม่มีพาร์ทเนอร์ต่างประเทศ และเขายังไม่เข้าใจเรื่องการ joint venture และต่อไปก็จะมี private equity, venture capital ที่จะเข้ามาตลาดนี้ ซึ่งต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง ดังนั้นในเบื้องต้นต้องมาทำเรื่องระบบบัญชี เรื่อง corporate governance ทางพม่าสนใจเรื่องนี้มาก เขามาเมืองไทยก็มาดูงานที่ สมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย(IOD)เขาอยากรู้ว่า corporate governance คืออะไร บทบาทกรรมการคืออะไร เป็นต้น”

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารกลางเมียนมาร์ ที่มาภาพ :http://www.facebook.com/photo.php?fbid=4819965911194&set=pcb.4819972151350&type=1&theater
ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับธนาคารกลางเมียนมาร์ ที่มาภาพ : http://www.facebook.com/photo.php?fbid=4819965911194&set=pcb.4819972151350&type=1&theater

แหล่งข่าวในแวดวงตลาดทุนอีกรายให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าสำหรับการเริ่มต้นตลาดทุน อาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นตลาดสำหรับประชาชนทั่วไป โดยอาจจะเริ่มที่ตลาดสำหรับผู้ซื้อผู้ขายจำกัดกลุ่ม อาทิ เป็นนักลงทุนสถาบัน นักลงทุนสถาบันต่างประเทศที่สนใจ private equity แล้วค่อยๆ ขยายออกไป เพราะการตั้งตลาดหลักทรัพย์นั้นไม่ยาก แต่การที่จะให้มีตลาดทุนที่โปร่งใส ทำงานได้อย่างดี ตอบโจทย์ของประเทศ เป็นเรื่องที่สำคัญ หากเริ่มผิดแล้วคนร้องยี้ ตลาดหุ้นก็จะแย่ มันจบเลย ซึ่งมีตัวอย่าง กรณีประเทศจีน ที่เศรษฐกิจดีแต่ 3 ปี ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไม่ฟื้น ติดลบๆ เนื่องจากว่าก่อนปี 2008 มันร่วงแรง ความเชื่อมั่นมันหมด

หากใครติดตามและเกาะติดความเคลื่อนไหวของพม่า จะเห็นถึงความตั้งใจและความกระตือรือร้น แม้ว่าคนที่ทำงานได้ของพม่าจะมีจำกัด โดยเฉพาะภาคราชการ แต่ความช่วยเหลือของต่างประเทศมากันหลากหลายจำนวนมาก ทั้งเกาหลี จีน ญี่ปุ่น และยุโรป ต่างพร้อมจะให้ในเรื่องเดียวกัน ทำให้ในช่วงแรกพม่าต้องคิดมากขึ้น ต้องเปรียบเทียบว่าโมเดลนี้กับโมเดลนั้นต่างกันอย่างไร และใช้โมเดลไหนดีกว่ากัน เป็นเรื่องที่เขาต้องทำงานหนักมาก

ที่สำคัญ พม่าเป็นเมืองพุทธ ประชาชนพม่ามีความเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง เขาปฏิบัติ ไม่ใช่แค่เข้าวัด ไหว้พระเพื่อขอพร ขอนั่น ขอนี่ อย่างที่เห็นโดยทั่วไปในประเทศไทย แต่ที่พม่า ทุกคนที่เข้ามาในพุทธสถานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพระธาตุอินแขวน หรือพระธาตุชเวดากอง หรือพระธาตุมุเตา หรือที่อื่นๆ จะมาเพื่อสวดมนต์ เจริญสมาธิ นั่งวิปัสสนา อย่างจริงจัง เป็นการสืบสานพระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติที่นำไปสู่การพัฒนาจากข้างใน

ด้วยเหตุนี้จึงมีการตั้งข้อสังเกตว่า คนพม่ามีความตั้งใจ (determination) สูงมาก ที่เห็นได้ชัด กรณีการเปิดประเทศรัฐบาลทหาร ประกาศลอยตัวค่าเงินจาก 6 จ๊าด/ดอลลาร์ เป็น 800 จ๊าด /ดอลลาร์ หรือการสร้างถนน 20 เลนที่เนปีดอ เมืองหลวงใหม่ และสร้างเสร็จภายใน 6 ปี มีสนามบินสวยงามและขนาดใหญ่มาก

“อย่างโครงการบางอย่างที่คนไทยทำแล้วช้า เขาไม่แฮปปี้เลย เพราะเขาต้องการเร็ว ทำแล้วทำเลย ตัดสินใจแล้วทำเลย ประกอบกับในปี 2015 พม่าจะมีการเลือกตั้งอีกครั้ง รัฐบาลต้องการทำให้ประชาชนรู้สึกว่าการปฏิรูปนั้นมีการเปลี่ยนแปลง และคุณภาพชีวิตคนดีขึ้น เพราะฉะนั้น อะไรที่ทำให้คนรู้สึกได้ก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลจะเร่งทำ จะเคาะแล้วทำ ฉะนั้น โครงการไหนช้าเขาจะไม่เอาแล้ว ดึงคืนให้คนอื่นมาทำแทน เพื่อต้องการให้เร็ว” แหล่งข่าวรายเดิมให้ความเห็น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาไม่ว่าจะเป็นตลาดเงินหรือตลาดทุนก็ต้องใช้เวลาทั้งคู่ จะรอให้อย่างหนึ่งดีก่อนแล้วค่อยพัฒนาอีกอย่างหนึ่งอาจจะไม่ได้ ที่สำคัญพม่าต้องเข้าใจให้ชัดว่าจะจัดตั้งตลาดหุ้นไปเพื่ออะไร เพราะนักธุรกิจพม่าจะห่วงเรื่องการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติ แต่ถ้าหากพม่าต้องการแหล่งเงินทุนจากต่างชาติ กติกาพวกนี้ก็ต้องยอมเปิด

โดยทั่วไป การตั้งตลาดทุนมีเพื่อวัตถุประสงค์ต่างๆ กัน และโครงสร้างธุรกิจแต่ละประเทศก็ต่างกัน ก็ต้องมีเป้าหมายชัดว่าตั้งขึ้นเพื่ออะไร ขณะที่โครงสร้างธุรกิจพม่าเป็นกลุ่มบริษัทในเครือ (conglomerate) คล้ายฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มีเป็นตระกูลๆ ทำธุรกิจเกือบทุกอย่าง ซึ่งแตกต่างกับประเทศไทย แม้ว่าเมื่อ 50-60 ปีก่อน มีตระกูลต่างๆ แต่ละตระกูลต่างมีความชำนาญเป็นเรื่องๆ เกษตร ทำเหล้า แต่ที่พม่าเป็นตระกูลใหญ่ๆ ทำธุรกิจหลายอย่างคล้ายๆ กันหมด อาทิ โรงแรม, สายการบิน, ธนาคาร, ก่อสร้าง, เทเลคอม (กำลังออกใบอนุญาต)

นอกจากนี้ความเห็นนักธุรกิจที่เข้ามาค้าขายกับพม่าเห็นพ้องกันว่า“ถ้าถามว่าพม่าเขามองไทยอย่างไร ต้องบอกว่าเขามองเราค่อนข้างดี ช่วงที่เขาลำบากไทยก็ช่วยเขาตลอด แล้วเขาก็มองว่าเราจริงใจ เขาพูดว่าธุรกิจไทยอย่าเป็นเหมือนธุรกิจบางประเทศ ประเภทตีหัวเข้าบ้านแล้วสร้างปัญหาเยอะ ของไทยยังไม่ค่อยมีเรื่องแบบนี้”

ที่สำคัญ สินค้าอุปโภคบริโภคในชั้นวางสินค้าของพม่ามีแต่ผลิตภัณฑ์ของไทยเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นจุดได้เปรียบของไทยเพราะเป็นที่รู้จักของผู้บริโภคแล้ว

สิ่งที่นายพิษณุ สุวรรณชฎ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงย่างกุ้งพยายามทำความเข้าใจกับคนไทยว่าคนไทยต้องเปลี่ยนมุมมองต่อพม่าใหม่ เพราะคนไทยรับรู้เรื่องราวของพม่าที่คลาดเคลื่อน มีทัศนคติทางลบ ดังนั้น เพื่อให้ไทยพร้อมที่จะมีที่ยืนในพม่ามากขึ้น คนไทยต้องสร้างทัศนคติขึ้นใหม่ ทำใจให้เป็นกลาง อย่าให้อุปสรรคมาฉุดโอกาสที่ดี

ด้านนายเสถียร เศรษฐสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทคาราบาวตะวันแดง จำกัดซึ่งมาร่วมงานเปิดสำนักงานตัวแทน ธนาคารกสิกรไทยให้ความเห็นว่ายอดขายคาราบาวแดงในช่วงที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่ผ่านมาสินค้าเมดอินไทยแลนด์ เป็นที่ยอมรับในด้านมาตรฐานและคุณภาพในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน สำหรับพม่าที่นี่น่าสนใจ ผู้บริโภคกว้างมากและเป็นตลาดเกิดใหม่ หากตลาดตอบรับดีก็จะย้ายฐานการผลิตมาที่นี่เพราะสามารถส่งไปขายบังคลาเทศ อินเดียได้ด้วย โดย
ส่วนตัวมองว่าพม่าไปได้เร็วจากนโยบายการเปิดประเทศ อาทิ การเปิดเสรีในเรื่องสิทธิการเช่า นโยบายการลงทุนเป็นต้น

อย่างไรก็ตามสิ่งที่นักธุรกิจหลายๆคนมองตรงกันว่า”พม่า” คือโอกาสที่ดี แต่ก็ยังมีความเสี่ยง แม้จะมีการปรับ ครม.เมื่อเร็วๆนี้ และมีนักปฏิรูปเข้ามานั่งในกระทรวงสำคัญๆ แต่สิ่งที่คนวงในจับตามากเป็นพิเศษคือโรคประจำตัวของประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ซึ่งเป็นโรคหัวใจ หากเป็นอะไรไป การปฏิรูปประเทศอาจจะสะดุดได้ เพราะมีทหารบางกลุ่มมองว่าปฏิรูปที่ดำเนินการอยู่ “เร็วเกินไป เปลี่ยนเร็วเกินไป” และมองว่าประเทศพม่าเสียผลประโยชน์มากกว่า

ประเด็นนี้จึงเป็นความไม่แน่นอนที่ไม่อาจคาดเดาได้

กลุ่ม 5 เสือธุรกิจขนาดใหญ่พม่า

ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานตัวแทนกรุงย่างกุ้ง ให้ข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของพม่า 5 กลุ่ม ได้แก่

1. Htoo (ทู) Group of Companies เป็นกลุ่มที่มีสายธุรกิจกว่า 50 ประเภท บริษัทในเครือกว่า 100 บริษัท ไม่ว่าจะเป็นสายการบิน (Air Bagan), ธนาคาร (AGD Bank), โรงแรม (Aureum, Myanmar Treasure & Kandawgyi Palace Hotel), ค้าไม่สัก, เหมือง (หยกและอัญมณี) และ IT/Telecom (Elite Tech) เป็นต้น

โครงการใหญ่ที่ Htoo รับผิดชอบ เช่น งานก่อสร้างเมืองเนปีดอร่วมกับกลุ่ม Asia World และโทรศัพท์ 30 ล้านเลขหมาย

2. Max Myanmar Group เป็นกลุ่มที่มีสายธุรกิจหลากหลาย แต่มีชื่อเสียงในธุรกิจก่อสร้าง เช่น ไฮเวย์ต่างๆ และพัฒนาสู่ธุรกิจธนาคาร (Ayeyarwady Bank) โรงแรม (Royal Kumadara) โรงงานปูนซีเมนต์และเทรดดิ้งรถยนต์จากญี่ปุ่น ทาง Max เคยมีหุ้นอยู่ในโครงการท่าเรือทวาย แต่ถอนหุ้นออกมา

3. Kanbawza Group เป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงทางด้านการเงิน โดยธนาคาร KBZ เป็นธนาคารที่มีเครือข่ายสาขามากที่สุด โดยตั้งเป้าที่ 100 สาขาภายในปี 2556 และยังมีธุรกิจเหมือง (หยกและอัญมณี), สายการบิน(Mai & Air KBZ) และก่อสร้าง เป็นต้น KBZ Bank เป็นหนึ่งในสามธนาคารที่เซ็นสัญญากับ Visa ในการรับบัตรผ่านตู้เอทีเอ็ม

4. Asia World Group เป็นกลุ่มที่มีสายสัมพันธ์ค่อนข้างแนบแน่นกับกลุ่มธุรกิจจากประเทศจีน และมีท่าเรือเป็นของตนเองในย่างกุ้ง (Asia World Port Terminal) โดยเป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงในด้านการก่อสร้าง และเหมือง

โครงการใหญ่ที่ Asia World Group รับผิดชอบ เช่น งานก่อสร้างเมืองเนปีดอร่วมกับ กลุ่ม Htoo และงานก่อสร้างเขื่อนโรงไฟฟ้าพลังน้ำ

5. Yuzana Group เป็นกลุ่มที่เคยมีชื่อเสียงทางด้านธุรกิจโรมแรมและห้างสรรพสินค้ามาก แต่ปัจจุบันมุ่งเน้นการพัฒนาที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตรเป็นหลัก

Yuzana เป็นกลุ่มที่มี Plam Plantation ที่ใหญ่ที่สุด และเป็นหนึ่งในสองกลุ่มธุรกิจที่มีโรงกลั่นเป็นของตนเอง