ThaiPublica > คอลัมน์ > นางงามพม่าและสิทธิมนุษยชน

นางงามพม่าและสิทธิมนุษยชน

13 กันยายน 2014


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

อ่านเรื่องนางงามพม่าได้เป็น Miss Asia Pacific World และถูกปลดออกจากตำแหน่งเนื่องจากไม่ยอมทำศัลยกรรมความงามโดยเฉพาะทรวงอกเมื่อเร็ว ๆ นี้แล้ว นึกว่าเป็นเรื่องธรรมดา ๆ แต่เมื่อลองค้นคว้าลงลึกแล้วจึงรู้ว่ามันมีอะไรให้คิดกว่านั้นมาก

May Myat Noe เป็นนางงามพม่าในยุคเปิดประเทศที่ผู้คนตื่นเต้นกับความงามในวัยรุ่นของเธอเป็นอันมาก

อีกทั้งมาจากประเทศที่ตัดขาดจากโลกภายนอกในเรื่องการประกวดความงามมายาวนาน เมื่อเธอเข้าประกวดก็ได้รับรางวัล Miss Asia Pacific Word ที่เกาหลีใต้อย่างชนะใจคนดู ตอนชนะเธอเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แต่ตอนที่เธอถูกปลดออกจากตำแหน่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านไปนี้และนำมงกุฎกลับประเทศไปด้วยยิ่งดังกว่าเก่าอีก

May Myat Noe ที่มาภาพ : http://i14.photobucket.com/albums/a339/aieseifer/imagejpg1-102.jpg
May Myat Noe
ที่มาภาพ : http://i14.photobucket.com/albums/a339/aieseifer/imagejpg1-102.jpg
May Myat Noe ที่มาภาพ : http://sv6.postjung.com/wb/data/801/801395-img-1409446266-4.jpg
May Myat Noe
ที่มาภาพ : http://sv6.postjung.com/wb/data/801/801395-img-1409446266-4.jpg
May Myat Noe ที่มาภาพ : http://www.shwedarling.com/blog/wp-content/uploads/2014/04/may.jpg
May Myat Noe
ที่มาภาพ : http://www.shwedarling.com/blog/wp-content/uploads/2014/04/may.jpg

เรื่องราวของเธอมี 2 ด้านขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายใดเล่า แต่ที่แน่นอนก็คือเมื่อเธอได้รับรางวัลแล้วสักพัก เธอก็แตกคอกับผู้จัดการพม่าของ Miss Asia Pacific World ประจำย่างกุ้ง ฝั่งผู้จัดการนางงามบอกว่าไม่เป็นความจริงที่เธอจะหักร้อยละ 30 ของรายได้ และแม่ของนางงามเป็นตัวยุ่งเจ้ากี้ เจ้าการแล้วทะเลาะกับผู้คนไปหมด อีกทั้งไม่ยอมทำตามข้อตกลงคือไม่ยอมลงนามในสัญญา 3 ปี โฆษณา ร้องเพลง เดินแบบ ปรากฏตัว ฯลฯ นอกจากนี้เธอยังหยาบคายไม่เคารพยำเกรงทีมงานผู้จัดการประกวดและผู้เป็นเจ้าของ Miss Asia Pacific World ซึ่งเป็นบริษัทเกาหลีอีกด้วย

ในด้านของนางงาม เธอตอบคำถามผู้สื่อข่าวหลังจากโดนปลดออกจากตำแหน่งว่าสาเหตุมาจากการที่เธอปฏิเสธการถูกบังคับให้ทำศัลยกรรมนมและส่วนอื่น ๆ ของร่างกายโดยบริษัทเกาหลีเจ้าของการประกวด และเหตุที่เธอเอามงกุฎผลิตโดย Swarovski ราคา 100,000-200,000 เหรียญมาพม่าก็เพราะต้องการใช้เป็นตัวบังคับให้บริษัทประกวดขอโทษเธอที่ถูกกล่าวหาว่า ‘ขี้โกง’ และ ‘ไม่เคารพยำเกรง’ ก่อนที่จะคืนให้ นอกจากนี้เธอย้ำว่าเธอได้หอบมงกุฎกลับย่างกุ้งก่อนที่จะถูกบริษัทประกาศปลดตำแหน่ง

ฝ่ายบริษัทเกาหลีก็ออกข่าวว่าเธอถูกปลดเพราะมีทัศนคติไม่เหมาะสม ขี้โกงไม่เคารพยำเกรง และพูดจากำกวมทำนองว่าเธอได้ทำศัลยกรรมนมแล้ว จมูกก็ทำให้แล้ว แต่ไม่เคยนึกถึงบุญคุณและแถมเคยได้รับเงินไปแล้ว 10,000 เหรียญด้วย

ไม่ว่าฝ่ายใดจะว่าอย่างใดก็ตาม ข่าวที่สื่อรายงานในต่างประเทศโดยไม่มีฝ่ายใดเอ่ยถึงก็คือผู้จัดการประกวด Miss Asia Pacific World มีเรื่องข่าวคาวด้านเซ็กส์ระหว่างผู้ประกวดกับผู้จัดและสปอนเซอร์โดยผู้ประกวดถูกบังคับมิฉะนั้นจะไม่ได้รับตำแหน่ง และบริษัทประกวดนี้อื้อฉาวมาแล้วหลายครั้งจนเป็นเรื่องที่รู้กันทั่วไป

Miss Asia Pacific World จัดประกวดเป็นปีที่ 4 และทุกปีก็มีแต่เรื่องอื้อฉาว ในปีแรกคือ 2011 นางงามจาก Wales และผู้เข้าประกวดหลายคนออกมาพูดว่าทุกอย่างถูกล๊อกไว้ก่อนประกวดแล้ว (เหมือนดั่งหวยที่คนไทยมักเชื่อกัน) นางงามคนรองจากเวเนซูเอล่าได้ตำแหน่งก่อนการประกวดด้วยซ้ำ นางงามฝรั่งสุดแสบคนนี้แอบอัดเสียงที่เธอถกเถียงกับผู้จัดและเอาขึ้นยูทูปจนคนได้ยินกันทั่วโลก

นอกจากนี้คนอื่นยังเล่าเรื่องการต้องไปนอนกับพวกผู้จัดเพื่อให้ได้ตำแหน่งอีกด้วย เธอเล่าว่าเธอกับเพื่อนนางงามหนีไปสนามบิน แต่ผู้จัดก็ยังตามไปเพื่อหน่วงเหนี่ยวโดยมีตำรวจรับสินบนเป็นผู้ช่วยเหลืออีกด้วย

การประกวดในปี 2011 ก็วุ่นวาย กรรมการตัดสินชาวเกาหลีทั้งหมดเลือกนางงามเกาหลีเป็นผู้ชนะ ได้ตำแหน่งอยู่ 1 วัน ก็ลาออกเมื่อถูกวิจารณ์หนัก รองที่หนึ่งจากฝรั่งเศสจึงได้เป็นแทนโดยอยู่ได้ไม่นานก็ถูกถอด จนรองที่สองคือนางงามจากยูเครนได้เป็น Miss Asia Pacific World แทนในที่สุด

บริษัทประกวดเกาหลีแห่งนี้พยายามใช้ชื่อ Miss Asia Pacific เพื่อให้ดูเหมือนว่าเป็นอันเดียวกับ Miss Asia Pacific International ซึ่งมีชื่อเสียงโดยมีการประกวดตั้งแต่ปี 1968 (ศิริพร สว่างล้ำ ได้ตำแหน่งในปี 1978 และปรียานุช ปานประดับ ในปี 1988)

อย่างไรก็ดีระหว่างปี 2006 ถึง 2014 ก็เลิกจัดไปเพราะหาสปอนเซอร์ไม่ได้ บริษัทของเกาหลี Miss Asia Pacific World จึงพยายามมาสวมชื่อแทน ซึ่งคุณภาพการจัดอยู่ในระดับอื้อฉาวจนเรื่องราวจากฝั่งของนางงามพม่าดูน่าเชื่อถือกว่า
ความจริงถูกเปิดเผยออกมาในตอนนี้ว่านางงามพม่านั้นอายุจริงแค่ 15 ปี แต่ผู้จัดก็ยอมให้สมัครโดยออกข่าวว่าอายุ 18 ปี และมีเงื่อนไขบังคับให้นางงามที่ชนะทำศัลยกรรมนมทุกคนเพื่อความงาม “ยิ่งขึ้น” อีกทั้งจะทำให้ทั้งตัวด้วยในมูลค่า 10,000 เหรียญ ในกรณีของนางงามพม่านั้นผู้จัดการบอกว่าต้องให้ทำศัลยกรรมเพราะนมของเธอเล็กไป (พูดอย่างนี้อภัยให้กันไม่ได้) นอกจากนี้ก็ให้เธอเข้าคอร์สเรียนดนตรี ร้องเพลง ฝึกท่าเต้นเป็นเวลา 3 เดือน ทั้งหมดนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าที่จะเก็บเกี่ยวจากเธอในอนาคต

ประเด็นที่น่าคิดก็คือการกระทำเช่นนี้กับนางงามโดยบริษัทที่มุ่งผลกำไรสูงสุดเป็นเสมือนกับการค้ามนุษย์โดยไม่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ก่อนจะชนะในบางกรณีผู้เข้าประกวดก็ต้องทำในสิ่งที่ตนเองไม่ต้องการและหากชนะแล้วก็ต้องเปลี่ยนแปลงร่างกาย (เพื่อประชาสัมพันธ์ศัลยกรรมของเกาหลี) ไปในรูปแบบที่นายจ้างต้องการ เช่น ตาสองชั้น หน้ารูปตัววี จมูกโด่ง นมได้ขนาด ฯลฯ ทั้งหมดนี้เพื่อ “การขาย” ความเป็นนางงามของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้าหรือการค้าอื่น ๆ ที่บริษัทรับมาให้ทำอีกต่อหนึ่ง

สิ่งที่ผู้จัดการประกวดของบริษัทเกาหลีแห่งนี้กระทำโดยแท้จริงแล้วก็ไม่แตกต่างจากบริษัทจัดประกวดอื่น ๆ ในไทยหรือประเทศอื่น เพียงแต่บริษัทเกาหลีมีการบังคับให้ทำศัลยกรรมเพิ่มเติม ผู้เข้าประกวดและผู้ชนะอยู่ในฐานะ ‘ทาสสมัยใหม่’ โดยทั้งหมดนี้ก็เพื่อเงินสำหรับผู้จัด สปอนเซอร์ ผู้จัดการนางงาม นางงาม และเหล่าผู้เข้าประกวด

ความงามของสตรีกลายเป็นสินค้านามธรรมที่จับต้องได้ผ่านความงามจริงและปลอมของบรรดาเหล่านางงามที่เรียงหน้าเข้ามาอย่างไม่หยุดหย่อน และถูกเอารัดเอาเปรียบผ่านเงื่อนไขบังคับโดยคิดปลอบใจว่าเป็น ‘win-win’ ของทุกฝ่าย
ถ้าสตรีจะมีดีก็ตรงที่ความงามของร่างกายแต่เพียงอย่างเดียวแล้ว โลกของเธอคงอยู่ง่ายขึ้นอีกมากเพราะเพียงมีเงินไปทำศัลยธรรมก็มีที่ยืน คำถามก็คือเราจะให้สตรีมีที่ยืนเฉพาะในแง่มุมของความงามเท่านั้นหรือ

หมายเหตุ : ตีพิมพ์ครั้งแรกคอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 9 ก.ย. 2557