ThaiPublica > คอลัมน์ > รู้จัก Procurement Watch Inc. (ตอนจบ): ถึงเวลา “ปฏิรูป” การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแล้วหรือยัง

รู้จัก Procurement Watch Inc. (ตอนจบ): ถึงเวลา “ปฏิรูป” การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแล้วหรือยัง

28 พฤษภาคม 2013


Hesse004

เมื่อตอนที่แล้วได้กล่าวถึงความเข้มแข็งของภาคประชาชนฟิลิปปินส์หรือชาวปินอย (Pinoy) ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการปฏิวัติสีเหลืองหรือ Yellow Revolution เมื่อปี 1986 ที่นำโดยนางคอราซอน อากีโน (Corazon Aquino) ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของฟิลิปปินส์

Yellow Revolution นับเป็นการเริ่มต้นสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชน ซึ่งในเวลาต่อมาได้พัฒนาไปสู่การรวมกลุ่มขององค์กรภาคประชาสังคม (Civil Society Organization) ในรูปแบบต่างๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ Procurement Watch Inc. หรือ PWI

PWI มีจุดเริ่มต้นจากการรวมกลุ่มของภาคประชาชนซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนในเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยเฉพาะ (Corruption in Public Procurement) โดย PWI พยายามผลักดันบทบาทของภาคประชาสังคมให้เข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจรัฐซึ่งมีกฎหมายรองรับเป็นเรื่องเป็นราว

PWI ก่อตั้งเมื่อปี 2001 โดยมีกลุ่มนักวิชาการ อดีตข้าราชการระดับสูงที่มีชื่อเสียงและเกษียณอายุไปแล้ว กลุ่ม NGO ด้านต่อต้านคอร์รัปชันและกลุ่มนักกฎหมายหัวก้าวหน้า โดยคนเหล่านี้เห็นพ้องต้องกันว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของฟิลิปปินส์ดูแล้ว “น่าเป็นห่วง” หากไม่มีการทำอะไรเสียเลยเห็นทีจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้

ด้วยเหตุนี้ PWI จึงมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะลดปัญหาคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างโดยกำหนดกลยุทธ์การเคลื่อนไหวขององค์กรไว้อย่างเป็นรูปธรรม โดย PWI จะคอยทำหน้าที่ติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ผ่านกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Monitor) ส่งเสริมและสนับสนุนการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Research and Advocacy) รวมไปถึงจัดฝึกอบรม (Training) ให้ความรู้กับประชาชนที่สนใจเข้าร่วมเป็น “อาสาสมัคร” ในการติดตามตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งความรู้ดังกล่าว ได้แก่ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกฎหมายและข้อระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ซึ่งกลยุทธ์ที่ว่ามานี้จะนำไปซึ่งเป้าหมายที่ต้องการ คือ การปฏิรูป (Reform) กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของฟิลิปปินส์ (โปรดดูภาพที่ 1 กลยุทธ์การขับเคลื่อนของ PWI)

PWI

อาจกล่าวได้ว่า กลยุทธ์ที่ PWI ใช้ในการขับเคลื่อนองค์กรภาคประชาชนเพื่อต่อต้านคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นมีความเชื่อมโยงและสอดประสานกันกับเป้าหมายที่จะปฏิรูประบบการจัดซื้อจัดจ้างของประเทศฟิลิปปินส์โดยให้มี “ภาคประชาชน” เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วย

อย่างไรก็ดี ก่อนที่ภาคประชาชนจะเข้าไปติดตามตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้นั้น พวกเขาจะต้องมีเครื่องมือก่อน ซึ่งส่วนหนึ่ง PWI ได้สนับสนุนเรื่องการทำวิจัย ศึกษาค้นคว้าวิธีการต่างๆ ที่จะนำมาช่วยติดตามและอบรมให้ความรู้กับเหล่าอาสาสมัครทั้งหลาย โดยอาศัยอดีตข้าราชการบำนาญที่มีความรู้ความเข้าใจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างมาคอยแนะนำ

ดังนั้น กลยุทธ์เรื่องการทำวิจัยและให้ความรู้กับภาคประชาชนจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญก่อนที่จะพัฒนาไปสู่การปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม

การเตรียมพร้อมตั้งแต่ปี 2001 ทำให้ PWI กลายเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการเรียกร้องให้รัฐสภาฟิลิปปินส์ผ่านร่างกฎหมายการปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง (Government Procurement Reform Act: GPRA)

ว่ากันว่า กว่าสภาจะยอมรับและผ่านกฎหมายฉบับนี้ได้ บรรดาเหล่ามือกฎหมายของ PWI และคนในวงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐต้องพยายามออกแรง “ล็อบบี้” ให้สภาเห็นความสำคัญของเรื่องนี้

จนในที่สุด เมื่อปี 2003 รัฐบาลของนางกลอเรีย มาคัลปากัล อาร์โรโย (Gloria Macapagal Arroryo) ก็ได้ผ่านกฎหมายปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐฉบับนี้ออกมา โดยสาระสำคัญของกฎหมายได้ยึดหลักการปฏิรูป 5 ประการ คือ 1) ความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (Transparency) 2) การแข่งขันที่เป็นธรรม (Competitiveness) 3) ความคล่องตัวในการจัดหา (Streamlined Process) 4) ระบบการจัดซื้อจัดจ้างที่สามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน (System of Accountability) และ 5) การมีส่วนร่วมในกระบวนการติดตามตรวจสอบของภาคประชาชน (Public Monitoring)

โดยหลักการปฏิรูป เรื่อง Public Monitoring นี้เอง ที่ทำให้ภาคประชาชนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะที่เป็น “ผู้สังเกตการณ์ในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง” หรือ Procurement Observer

ตามกฎหมายการปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่นี้ ได้บัญญัติไว้ในมาตรา 13 ว่า ในทุกกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างนั้น คณะกรรมการที่ทำหน้าที่จัดซื้อจัดจ้างจะต้องเชิญ “ผู้สังเกตการณ์” เข้าร่วมทุกครั้ง Section 13; In all stages of procurement, the Bids and Awards Committee (BAC) is required to invited observers โดยคุณสมบัติของผู้จะเข้ามาเป็น Procurement Observer ได้นั้น ได้แก่ องค์กรวิชาชีพต่างๆ (Professional Organization) สมาคมธุรกิจต่างๆ หอการค้า องค์กรต่อต้านด้านคอร์รัปชัน กลุ่มองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรและไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงในการจัดซื้อจัดจ้างครั้งนั้น

BESchoolFurniture ที่มาภาพ :http://api.ning.com
BESchoolFurniture ที่มาภาพ: http://api.ning.com
ตัวอย่างกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมของ Procurement Watch Inc.หรือที่ภาษาตากะล็อกเรียกว่า Bantay Eskuwela ที่มาภาพ : http://bantayeskuwela.files.wordpress.com
ตัวอย่างกิจกรรมที่เป็นรูปธรรมของ Procurement Watch Inc. หรือที่ภาษาตากาล็อกเรียกว่า Bantay Eskuwela ที่มาภาพ: http://bantayeskuwela.files.wordpress.com

กฎหมายปฏิรูปฉบับนี้กำหนดให้ Procurement Observer สามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างตั้งแต่เอกสารต่างๆ ของคณะกรรมการทุกชุดในการจัดซื้อจัดจ้างโครงการที่ร่วมสังเกตการณ์ รายงานผลการพิจารณาการประมูล รายงานผลการตรวจรับพัสดุหรือรายงานการตรวจการจ้าง แผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างประจำปี (Annual Procurement Plan and Project Procurement Management Plan)

การเข้าถึงเอกสารเหล่านี้ทำให้ผู้สังเกตการณ์สามารถติดตามและตรวจสอบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างได้โดยใช้องค์ความรู้ทางด้านการจัดซื้อจัดจ้างที่ได้รับจาก PWI มาช่วยในการตรวจสอบ

กรณีที่พบความผิดปกติ กฎหมายดังกล่าวได้ให้อำนาจกับ Procurement Observer สามารถรายงาน ผลการติดตามตรวจสอบและเสนอโดยตรงต่อหัวหน้าส่วนราชการที่ทำการจัดซื้อจัดจ้างนั้นได้เลย รวมทั้งส่งต่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา (Ombudsman) ดำเนินการต่อไป

ในบทความเรื่อง Procurement Watch Inc.: The Role of Civil Society in Public Procurement Reforms in the Philippines โดย Maria Kristina และ Villanueva Pimentel ได้อ้างอิงตัวเลขที่ส่วนราชการของฟิลิปปินส์สามารถประหยัดงบประมาณได้หลังจากกฎหมายปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้างฉบับนี้บังคับใช้ในปี 2003 โดย Kristina และ Pimentel พบว่า ส่วนราชการส่วนใหญ่ประหยัดงบประมาณในการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างได้เฉลี่ยแล้ว 20-30% โดยเฉพาะกรมราชทัณฑ์ของฟิลิปปินส์ ประหยัดงบประมาณลงไปได้ถึง 58% ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการแข่งขันในตลาดจัดซื้อจัดจ้างที่เพิ่มมากขึ้นและอีกส่วนหนึ่งมาจากการที่มีคนคอย “เฝ้าจับตา” ดูอยู่ทุกขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง

จะเห็นได้ว่าการต่อสู้คอร์รัปชันนั้นมิใช่เป็นแค่ “วาทกรรม” ที่ถูกผลิตซ้ำออกมาทั้งจากคนของภาครัฐหรือแม้แต่ NGO เพราะการต่อสู้กับคอร์รัปชันด้วยคำพูดนั้นไม่สามารถทำให้อัตราการคอร์รัปชันนั้นลดลงได้

หากแต่การต่อสู้ดังกล่าวยังต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และท้ายที่สุด คือ “กลยุทธ์” ที่จะผลักดันให้การต่อต้านคอร์รัปชันเกิดขึ้นจริงอย่างเป็น “รูปธรรม” โดยมีเป้าหมายที่ชัดเจน

PWI เป็นองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันตัวอย่างที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการจะลดปัญหาการคอร์รัปชันเฉพาะในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง โดยวางกลยุทธ์ต่าง ๆ ไว้ให้สอดคล้องกับช่วงจังหวะเวลาที่จะผลักดันกฎหมายปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง

….ซึ่งในที่สุดพวกเขาก็ทำสำเร็จ….

ทุกวันนี้ ในฟิลิปปินส์มีองค์กรภาคประชาชนที่มีลักษณะการดำเนินงานคล้าย PWI เกิดขึ้นหลายองค์กร เช่น การเปิดเว็บไซต์ Check My School (www.checkmyschool.org) ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมอาสาสมัครมาช่วยตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของโรงเรียนรัฐ ไม่ว่าจะเป็นช่วยกันตรวจนับโต๊ะเก้าอี้ที่โรงเรียนจัดซื้อว่าได้ของครบหรือไม่ ชำรุดหรือไม่ ตรวจนับจำนวนหนังสือหรือสภาพตำราเรียนที่จัดซื้อให้เด็กโรงเรียนประถมว่าสามารถใช้งานได้จริงหรือเปล่า

ที่มาภาพ: ตัวอย่างหน้าเว็บเพจ Check My School อีกหนึ่งกิจกรรมที่ภาคประชาชนฟิลิปปินส์ช่วยในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มาภาพ: http://mediaandpeople.files.wordpress.com
ตัวอย่างหน้าเว็บเพจ Check My School อีกหนึ่งกิจกรรมที่ภาคประชาชนฟิลิปปินส์ช่วยในการตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่มาภาพ: http://mediaandpeople.files.wordpress.com

หากเราหันกลับมาย้อนมองที่บ้านเรา ซึ่งก็ไม่ได้มีอะไรที่แตกต่างกับฟิลิปปินส์เลย…การคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างยังคงเกิดขึ้น “ปกติ” ตามที่ปรากฏบนหน้าสื่อต่างๆ… แม้เรื่องจะปูด “แดง” ออกมา แต่เดี๋ยวสักพักเรื่องเหล่านี้ก็จางหายไปเหมือน “ไฟไหม้ฟาง”

ด้วยเหตุนี้ ในอดีตที่ผ่านมา การต่อสู้ของภาคประชาชนที่ออกมาเรียกร้องจึงทำกันแค่เป็นพักๆ ซึ่งดูเหมือนตอนแรกจะขึงขังจริงจังแต่พอนานเข้าก็ขาดความต่อเนื่อง ทั้งหมดที่ว่านี้เราคงต้องทบทวนกันแล้วว่าการเคลื่อนไหวขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชันบ้านเรานั้นมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนหรือยังที่จะเคลื่อนไหวเพื่ออะไร เน้นเป้าหมายไปที่ส่วนใด และมีทิศทางหรือวางกลยุทธ์การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันที่ชัดเจนหรือไม่

…มิเช่นนั้นแล้ว การต่อต้านคอร์รัปชันจะเป็นแค่เพียง “ลมปาก” ที่ไม่มีวันประสบผลสำเร็จเป็นแน่แท้