ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 7): ข้อโต้แย้ง “ไครโซไทล์” ใช้อย่างปลอดภัยได้ ทำไมต้อง “แบน”

สังคมไทยไร้แร่ใยหิน (ตอนที่ 7): ข้อโต้แย้ง “ไครโซไทล์” ใช้อย่างปลอดภัยได้ ทำไมต้อง “แบน”

20 กันยายน 2014


ข้อถกเถียงเรื่องแร่ใยหินอันตรายและเป็นสารตั้งต้นก่อมะเร็ง ซึ่งขณะนี้ความเห็นยังเป็นสองฝ่าย และยังไม่ได้ข้อยุตินั้น เพื่อให้การนำเสนอมีข้อมูลทั้งสองด้าน สำหรับในกลุ่มที่เห็นว่าไม่ควรยกเลิกการนำเข้าแร่ใยหินนั้น นายเมธี อุทโยภาส ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ กล่าวว่า แร่ใยหินสามารถใช้ได้อย่างปลอดภัยหากปฏิบัติตามมาตรฐานที่กระทรวงอุตสาหกรรมกำหนด คือมีเส้นใยหินฟุ้งกระจายไม่เกิน 5 เส้นใยต่อลูกบาศก์เมตร เพราะปัจจุบันมีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย ที่สามารถดักจับฝุ่นเพื่อลดการฟุ้งกระจายของเส้นใยหินได้ ทั้งนี้แร่ใยหินสามารถป้องกันได้ 100% ถ้าอยู่ในบรรยากาศต่ำ และถ้าแร่ใยหินอยู่ในปอดจะสามารถละลายได้เร็วกว่าใยแก้ว ใยกระดาษ และใยฝ้าย มีโอกาสอุดตันในช่องทางเดินหายใจน้อย และมีความเสี่ยงต่ำในการเกิดโรคมะเร็งเพียง 1 ในแสนคนที่มีการสัมผัสแร่ใยหินทุกวัน

ส่วนกรณีที่สังคมกลัวว่าจะเกิดการฟุ้งกระจายหากผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินประกอบเกิดการแตกหักนั้นนายเมธีได้ยืนยันว่า ไม่เกิดการฟุ้งกระจาย โดยเฉพาะในกระเบื้องมุงหลังคาและท่อน้ำที่มีซีเมนต์ผสมด้วย เพราะเส้นใยหินจะติดอยู่กับซีเมนต์ และจะฟุ้งกระจายในกรณีที่เจียรตัดเท่านั้น ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่ใช้เส้นใยหินฉีดพ่นเป็นฉนวนกันความร้อนซึ่งฟุ้งกระจายได้ง่าย แต่ประเทศไทยไม่มีการใช้งานเช่นนั้น ดังนั้นการอ้างว่าแค่สัมผัสแร่ใยหินเพียงนิดเดียวก็เป็นโรคมะเร็งได้จึงไม่ถูกต้อง

พร้อมระบุว่าการฟุ้งกระจายของแร่ใยหินในผ้าเบรก จริงๆ แล้วไม่สามารถหาเส้นใยได้ แต่มีการระบุว่าการเสียดสีทำให้ผ้าเบรกสึกทำให้เกิดฝุ่นใยหินได้ ซึ่งผ้าเบรกแผ่นเล็กคงมีใยหินออกมาได้ไม่เยอะ อีกทั้งประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนฝนตกชุก ฉะนั้นใยหินจะจมน้ำหายหมด และเส้นใยหินสามารถละลายได้ในธรรมชาติ ในขณะที่ใยแก้วหรือใยพลาสติกสลายตัวยากกว่า

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า สารทดแทนต่างๆ ที่หลายฝ่ายพูดถึงนั้นยังมีราคาแพงและคุณภาพต่ำกว่าแร่ใยหินครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้หากจะยกเลิกการใช้แร่ใยหินทันที ฉะนั้นควรปล่อยให้ตลาดเป็นตัวเลือกผลิตภัณฑ์ดีกว่า ถ้าแร่ใยหินแข่งขันในตลาดไม่ได้ก็ต้องถอยออกไปเอง แต่ไม่ใช่ให้รัฐบาลมาควบคุมโดยประกาศว่าห้ามนำเข้า เพราะในประเทศไทยมีสารที่อันตรายกว่าไครโซไทล์มากมาย แต่รัฐบาลกลับไม่สนใจ และไม่ประกาศยกเลิกการใช้ โดยเลี่ยงไปใช้วิธีการอื่นๆ เพื่อลดปริมาณการใช้ลง เช่น เหล้า บุหรี่

สำหรับสารทดแทนแร่ใยหินในปัจจุบันมี 2 แบบ คือ 1. คุณภาพเหมือนแร่ใยหินแต่โฆษณาว่าดีกว่า และ 2. มีความแข็งแรงลดลงครึ่งหนึ่งเพราะทำจากใยกระดาษและใยพลาสติก และใยพลาสติกดังกล่าวยังไม่ผ่านการพิสูจน์ว่าปลอดภัยจริงหรือไม่

“กระเบื้องมีความแข็งแรงลดลง ทำให้คนมีโอกาสการตกหลังคาสูงขึ้นเพราะเหยียบแล้วแตก ในขณะที่กระเบื้องใยหินรถทับยังไม่แตกเลย ของใหม่ไม่ได้ดีจริงแต่สิ่งที่โฆษณาเกทับอยู่คือไม่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วแร่ใยหินก็ไม่มีปัญหาต่อสุขภาพเช่นกัน มิเช่นนั้นพวกเราทุกคนที่ใช้หลังคาใยหินคงป่วยหมดแล้ว” นายเมธีกล่าว

ทั้งนี้ ทางกรมชลประทานที่ใช้ท่อซีเมนต์ใยหิน ระบุว่าไม่พบปัญหาอะไรแม้ว่าจะใช้งานมาหลายปีแล้ว น้ำประปาที่ผ่านท่อซีเมนต์ใยหินมาประชาชนก็ใช้ทั้งอุปโภคและบริโภค โครงการน้ำประปาดื่มได้ก็ไม่มีปัญหาอะไร

ปัจจุบันประเทศไทยก็นำเข้าแร่ใยหินลดลง มีผลิตภัณฑ์แร่ใยหินลดลงเพราะความนิยมของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ใช้ท่อพีวีซีแทนท่อน้ำซีเมนต์ใยหิน ใช้หลังคาอลูซิงค์แทนหลังคากระเบื้องใยหิน ใช้ผ้าเบรกไร้แร่ใยหินตามที่ญี่ปุ่นผลิตรถยนต์รุ่นใหม่ๆ

นายเมธีกล่าวต่อว่า ด้านกระบวนการผลิตแร่ใยหินในปัจจุบันของประเทศไทยได้พัฒนามาใช้น้ำมากขึ้น หรือที่เรียกว่าระบบเปียก โดยจะไม่มีการฉีกถุงใยหินเทผสมแล้ว แต่จะส่งถุงใยหินไปตามสายพานแล้วทิ้งลงบ่อผสมทั้งถุง เทซีเมนต์ตามลงไป แล้วก็ตีผสมให้เข้ากันในบ่อซึ่งมีน้ำ ถุงใยหินจะแตกระหว่างการผสมซึ่งกระดาษและเยื่อพลาสติกจากถุงก็จะถูกโม่ละเอียดไปด้วยซึ่งไม่เป็นปัญหาต่อผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด หลังจากนั้นก็เอามาลอยน้ำบนตะแกรงออกมาเป็นชั้นๆ คล้ายกับการทำกระดาษสา เมื่อได้ความหนาที่ต้องการก็นำมาขึ้นลอนเป็นกระเบื้อง กระบวนการทุกอย่างทำเป็นระบบเปียกทั้งหมดซึ่งแทบไม่มีฝุ่นให้เห็น

เปรียบเทียบการสลายของ

“โรคแอสเบสโตซิสไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนที่คลุกคลีอยู่กับใยหินมากๆ ซึ่งในเมืองไทยโอกาสสัมผัสแร่ใยหินแทบไม่มีเลย ยกเว้นโรงงานทำผ้าเบรกที่ไม่สามารถใช้ระบบเปียกได้ แต่ทางศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ได้เข้าไปชักจูงให้ผู้ประกอบการใช้แร่ใยหินอย่างปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันพบว่ากระบวนการผลิตดีขึ้นมาก และยังไม่พบผู้ป่วยจากแร่ใยหิน” นายเมธีกล่าว(อ่านเพิ่มเติม รายงานการป้องกันการสัมผัสแร่ใยหินกรณีรื้อถอนอาคารของซีไอซี)

ทั้งนี้นายเมธีระบุว่า สาเหตุการยกเลิกแร่ใยหินมาจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่สนใจวิเคราะห์หาอันตรายจากแร่ใยหินหลังจากที่สำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งในอเมริกามาขอความร่วมมือ ซึ่งสำนักงานกฎหมายนี้ร่ำรวยขึ้นมาจากการฟ้องแพทย์และบริษัทผู้ผลิตที่ใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบ ว่าปกปิดข้อมูลอันตรายจากแร่ใยหินทำให้มีประชากรเป็นโรคหลายราย ซึ่งสุดท้าย WHO ก็พิสูจน์ได้ว่า ฝุ่นแร่ใยหินก่อให้เกิดโรคมะเร็งในคนจริงๆ

ในปี ค.ศ. 1950 หลังจากพบคนงานป่วยหลายรายและเกิดคดีความฟ้องร้องกันมาก ทำให้เกิดกระแสการยกเลิกใช้แร่ใยหิน แต่ตอนนั้นเป็นช่วงที่ทั่วโลกยังใช้แร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลอยู่ โดยมีแหล่งแร่ใหญ่อยู่ที่ออสเตรเลีย ซึ่งลักษณะเส้นใยของแร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลเป็นเส้นปลายแหลมคล้ายเข็ม จึงมีส่วนทำให้เกิดปัญหาที่ปอดได้เมื่อหายใจเข้าไปหากเส้นใยไม่ละลายออกหรือละลายช้า ส่วนไครโซไทล์ลักษณะเส้นใยจะมัดเป็นม้วน และสามารถละลายในปอดได้เร็วกว่าแอมฟิโบลมาก ดังนั้นปัญหาโรคจากเหตุแร่ใยหินจึงเกิดจากใยหินกลุ่มแอมฟิโบลมากกว่า ไม่ใช่ไครโซไทล์

“แม้ว่าไครโซไทล์จะสลายได้ในปอด แต่หากสูดดมเข้าไปปริมาณมากก็มีปัญหาได้เช่นเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะเกิดกับคนงานในเหมือง แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่พบคนงานในเหมืองป่วยสักเท่าไหร่ ทั้งนี้กรณีที่เกิดการฟ้องร้องกันนั้นส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนงานในโรงงานที่ใช้แร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบล ซึ่งภายหลังรู้ว่ามีปัญหาก็เลิกใช้” นายเมธีกล่าว

ปัจจัยเสี่ยงเปรียบเทียบเรื่องแร่ใยหิน

เช่นเดียวกับประเทศไทยที่เริ่มยกเลิกการใช้แร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบล จนปัจจุบันอนุญาตให้ใช้ไครโซไทล์ได้เพียงอย่างเดียว โดยกระทรวงอุตสาหกรรมจดทะเบียนเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 คือ การนำเข้า การผลิต การครอบครอง ต้องขออนุญาตก่อน

หลังจากที่ WHO ยกเลิกการใช้แร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลได้แล้ว ก็มี WHO บางกลุ่มโดยเฉพาะในยุโรปที่เสนอให้ยกเลิกการใช้ไครโซไทล์ด้วย ส่วนหนึ่งเพราะสงครามทางการค้า เนื่องจากในยุโรปสามารถผลิตวัตถุดิบอื่นๆ ขึ้นมาทดแทนแร่ใยหินได้มากมาย เช่น ใยกระดาษ ใยอารามิก ใยแก้ว ซึ่งแร่ใยหินจากรัสเซีย บราซิล จีน ที่มีราคาถูกกว่าจะเป็นศัตรูทางการค้ากับยุโรปได้ ทั้งนี้ก็ยังไม่มีการพิสูจน์ว่าสารทดแทนใหม่ๆ นั้นปลอดภัยจริงหรือไม่

“สารพิษที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน 400-500 ชนิด ก็ผ่านการพิสูจน์จากโดยสถาบันวิจัยมะเร็งนานาชาติขององค์การอนามัยโลก (IARC) แล้วว่าเป็นสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับไครโซไทล์ โดยที่ไครโซไทล์มีอันตรายน้อยกว่า แต่ประเทศไทยก็นำเข้าสารพิษนั้นมาใช้ เช่น น้ำมันดีเซล ควันดำจากท่อไอเสียรถยนต์ (zood) สารเคมีที่สร้างขึ้นมามีทั้งประโยชน์และโทษ เราก็เลือกใช้ประโยชน์ และป้องกันการเกิดโทษ โดยใช้อุปกรณ์ป้องกันตามที่นักสาธารณสุขศาสตร์ออกแบบมาให้ใช้” นายเมธีกล่าว (คลิ๊กที่ภาพเพื่อขยาย)

ค่าเฉลี่ยของการได้รับสารก่อมะเร็งจากแร่ใยหิน

หลังจาก WHO เสนอเรื่องการยกเลิกการใช้แร่ใยหินเข้ามาในประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ก็มีมติลำดับแรกๆ ให้ “สังคมไทยไร้ใยหิน” ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วประเทศไทยไม่มีแร่ใยหินอยู่ในอากาศ ดังนั้นเหตุผลของโครงการก็คือไม่ต้องการให้ใช้แร่ใยหินในประเทศไทยตามความตั้งใจของใครหลายๆ คน ซึ่งจะสังเกตได้ว่ากิจกรรมของ สสส. มีแต่เรื่องยกเลิกการใช้แร่ใยหินเท่านั้น ไม่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการยกเลิกสารพิษตัวอื่นๆ

“สสส. ทำโครงการโดยใช้งบของรัฐบาล แล้วมาโจมตีคนทำสินค้าซึ่งจ่ายภาษีให้รัฐบาล ก็สังเกตดูว่าไม่เป็นธรรมเท่าไหร่” นายเมธีกล่าว

จากกระแสต่อต้านการใช้แร่ใยหินที่แรงขึ้น ผู้ที่เสียหายอย่างรัสเซียและบราซิลก็ออกมาต่อสู้บ้าง เพราะการให้ข้อมูลด้านเดียวถึงโทษตลอดมานั้นไม่ถูกต้อง แล้วเป็นข้อมูลด้านลบที่ระบุว่าแค่สัมผัสนิดเดียวก็มีสิทธิเสียชีวิตแน่นอน ทั้งๆ ที่เราสัมผัสกับแร่ใยหินกันอยู่ทุกคนเพราะหลังคาที่ใช้เป็นหลังคาใยหิน แต่ทำไมเราถึงไม่ป่วย และไม่เจอผู้ป่วยสักรายในประเทศไทย

ด้านงานวิจัยโรคแร่ใยหินในไทยก็มีเป็นร้อยชิ้น ซึ่งไม่เจอกรณีผู้ป่วยจากแร่ใยหิน ยกเว้นเพียงรายเดียวที่พบว่าเป็นโรคมะเร็ง แต่มีสาเหตุมาจากแป้งทัลคัมซึ่งเป็นสายแร่เดียวกันกับแร่ใยหินแต่คนละชนิดกัน ปัจจุบันก็ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าไครโซไทล์ก่อให้เกิดโรคมะเร็งจริงหรือไม่

ด้านการยกเลิกการใช้แร่ใยหินในไทยคงไม่จบง่ายๆ เพราะมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปี 2554 ว่าสังคมไทยไร้แร่ใยหินยังคงอยู่ ฉะนั้น การเดินหน้ายกเลิกก็ยังดำเนินต่อไป ทั้งนี้ทางผู้แทนการค้าจากรัสเซียก็ถามกลับไปยัง ครม. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าแร่ใยหินก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพจริงหรือไม่ เพราะที่รัสเซียไม่พบผู้ป่วยจำนวนมาก ทำให้ ครม. ออกมติใหม่ให้กระทรวงสาธารณสุขไปศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคแร่ใยหิน ทั้งนี้ประเทศไทยถือเป็นผู้นำเข้าแร่ใยหินจากรัสเซียในอันดับต้นๆ ด้วย

“ยังต่อสู้กันต่อไปอีกสักตั้ง เพราะรัฐบาลก็ยังไม่นิ่ง ก็ไม่รู้จะเอาอย่างไรในเรื่องนี้ ข้อมูลทางการแพทย์ก็ยังไม่แน่นอน สถานการณ์ก็คงยังไม่จบ แต่ที่ผ่านมาข้อมูลเรื่องความอันตรายเป็นประเด็นเดิมๆ ทางเราก็ต่อสู้กับอีกฝ่ายด้วยข้อมูล เพราะวัตถุประสงค์ขององค์กรคือเสนอข้อมูลเท็จจริงออกมา” นายเมธีกล่าว

ที่ผ่านมาประเทศไทยอ้างข้อมูลจากต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลนั้นเป็นอันตรายจากแร่ใยหินกลุ่มแอมฟิโบลซึ่งประเทศไทยเลิกใช้แล้ว แต่เอาผลกระทบต่อสุขภาพมาเหมารวมกับไครโซไทล์ หรือภาพประกอบข่าวไครโซไทล์ก็เอาเส้นใยแอมฟิโบลซึ่งเป็นลักษณะเข็มแหลมมาใช้ประกอบ ซึ่งสร้างความเข้าใจผิดแก่ผู้รับสาร

“ทุกวันนี้ที่ยังเลือกใช้แร่ใยหินอยู่เพราะว่าราคาถูกและแข็งแรงกว่าวัตถุดิบชนิดอื่นๆ แม้ว่าจะมีคู่แข่ง เช่น สังกะสีจากจีน มาแบ่งส่วนการตลาดไปบ้าง ส่วนผลกระทบจากกระแสต่อผลิตภัณฑ์แร่ใยหินในตอนนี้กลับกลายเป็นว่าดีขึ้น เพราะการตีตรา “อกแตก” บนผลิตภัณฑ์ที่มีแร่ใยหินประกอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกำหนดนั้น เสมือนกับการรับประกันว่าสินค้านี้แข็งแรงทนทาน ทำให้ชาวบ้านเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตราอกแตกไปใช้” นายเมธีกล่าว

นอกจากนี้ยังกล่าวว่า การยกเลิกการใช้แร่ใยหินในประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายในการรื้อถอนอาคารสูงมาก และอายุการใช้งานของกระเบื้องที่ไม่มีแร่ใยหินสั้นเพียง 5 ปี ในขณะที่กระเบื้องใยหินอายุการใช้งานนานถึง 30 ปี ซึ่งบ้านในเมืองไทยกว่าร้อยละ 70 ใช้กระเบื้องใยหินทั้งหมด ดังนั้นกรมโรงงานอุตสาหกรรมจึงกำหนดมาตรการเอาไว้แล้วให้ ครม. พิจารณาอนุมัติการยกเลิกการใช้ ซึ่ง ครม. จะตัดสินตามข้อมูลจากสาธารณสุข

ปัจจุบันประเทศไทยมีอุตสาหกรรมแร่ใยหินคือ กระเบื้องโอฬาร, กระเบื้องตราเพชร, กระเบื้องไทย, บริษัทท่อน้ำสากล และโรงงานผ้าเบรกอีกกว่า 20 แห่ง

“เขาบอกว่าจะเจอปัญหาสุขภาพก็ต่อเมื่อเวลาผ่านไป 20-30 ปี ถามว่าวัยนั้นก็อายุ 70 กว่าปีแล้ว ถ้าจะเสียชีวิตด้วยโรคอะไรก็แล้วแต่ เมื่อมีผลวิเคราะห์ออกมาความสำคัญของผลวิเคราะห์นั้นก็จะน้อยลง เพราะคนอายุขนาดนั้นแล้วก็ต้องป่วยเป็นสักโรคหนึ่ง แต่ถ้าคนหนุ่มคนสาวป่วยนั่นแหละถึงจะมีความสำคัญสูงมาก เพราะการเสียชีวิตเร็วมันน่าเสียดาย ทั้งนี้คนไทยมีอายุเฉลี่ยเพียง 72 ปีเท่านั้นเอง” นายเมธีกล่าว