ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งกรรมการสอบ “โสฬส สาครวิศว” ปล่อยกู้เกินวงเงิน ทำแบงก์ขาดทุน 750 ล้านบาท

บอร์ดเอสเอ็มอีแบงก์ตั้งกรรมการสอบ “โสฬส สาครวิศว” ปล่อยกู้เกินวงเงิน ทำแบงก์ขาดทุน 750 ล้านบาท

5 มีนาคม 2012


นายโสฬส  สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)
นายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

จากการนำเสนอข่าว “เปิดรายงาน ธปท. “เอสเอ็มอีแบงก์” สอบตก เอ็นพีแอลพุ่ง–ปล่อยสินเชื่่อบกพร่อง คลังต้องเพิ่มทุน 3-5 พันล้าน”(อ่านเพิ่มเติม)

ต่อมา เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2555 ม.ร.ว.พงษ์สวัสดิ์ สวัสดิวัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงขึ้นมาตรวจสอบการบริหารงานของนายโสฬส สาครวิศว กรรมการผู้จัดการธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือเอสเอ็มอีแบงก์) ธพว. โดยเฉพาะกรณีปล่อยสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการประมาณ 16,350 ล้านบาท และการประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2555 ที่ประชุมคณะกรรมการ ธพว. ได้มีมติแต่งตั้งนายพิชัย ชุณหวชิร ประธานกรรมการบริหาร ธพว. เป็นประธานสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้แล้ว

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวว่า การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงนายโสฬสครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” พบว่าความผิดปกติหลายประเด็นดังนี้ คือ

1. กรณีผู้บริหารของ ธพว. อนุมัติสินเชื่อโครงการนี้ทั้งสิ้น 23,350 ล้านบาท ขณะที่วงเงินที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) นำมาฝากกับธนาคารมีแค่ 7,000 ล้านบาท เกินวงเงินไป 16,350 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีลูกค้าเบิกเงินออกไปใช้จริง 17,704 ล้านบาท หมายความว่ามีลูกค้าเบิกเงินสินเชื่อออกไปใช้เกินกว่าวงเงินที่ สปส. นำมาฝากกับ ธพว. ไปกว่า 10,000 ล้านบาท ธนาคารจึงต้องใช้แหล่งเงินทุนตามปกติ ซึ่งมีต้นทุนรวมอยู่ที่ 6.5% ต่อปี แต่นำไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้าโดยคิดดอกเบี้ยแค่ 5% ต่อปี คงที่ 5 ปี ทำให้ธนาคารขาดทุน 750 ล้านบาท

“หากธนาคารนำเม็ดเงินสินเชื่อ 10,000 ล้านบาท ไปปล่อยกู้ให้กับลูกค้าทั่วไป ซึ่งปกติจะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 8% ต่อปี แต่ปล่อยกู้โครงการนี้คิดดอกเบี้ยแค่ 5% ต่อปี คงที่ 5 ปี ทำให้ธนาคารต้องสูญเสียรายได้จากดอกเบี้ยรับไปอีก 1,500 ล้านบาท”

2. ฝ่าฝืนมติคณะกรรมการธนาคาร ครั้งที่ 4/2552 วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งคณะกรรมการมีมติให้ปล่อยสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” ภายใต้วงเงินฝากที่ได้รับการสนับสนุนจาก สปส. ประมาณ 7,000 ล้านบาท แต่ปรากฏว่าผู้บริหารของ ธพว. อนุมัติสินเชื่อโครงการนี้ไปเกินกว่าวงเงินฝากที่ สปส. นำมาฝากไว้

3. เจตนาเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ตามที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. จัดตั้งธนาคาร โดยมีลูกค้ารายใหญ่กลุ่มหนึ่งได้รับการอนุมัติสินเชื่อภายหลังจากวงเงิน 7,000 ล้านบาทเต็มแล้ว และพบว่าลูกค้ารายใหญ่บางรายมีกิจการหลายประเภท แต่โดยพฤตินัยแล้วเป็นกิจการที่มีเจ้าของคนเดียวกันหรือครอบงำโดยบุคคลเดียวกัน ซึ่งตามคำสั่ง ธพว.ที่ 74/2552 ถือว่าเป็นกลุ่มกิจการเดียวกัน ตามหลักการจะต้องขออนุมัติสินเชื่อพร้อมกัน และต้องนำวงเงินสินเชื่อของทั้งกลุ่มมารวมกันด้วย ซึ่งคณะกรรมการสินเชื่อของ ธพว. มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อทั้งกลุ่มรวมกันสูงสุดไม่เกิน 500 ล้านบาท

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวต่อไปอีกว่า หลังจากที่ธนาคารอนุมัติสินเชื่อโครงการนี้ออกไปจนเต็มวงเงินแล้ว ยังอนุมัติสินเชื่อให้กับกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ต่อไปอีก ปรากฏว่ามีลูกค้ารายใหญ่ที่เป็นกิจการในเครือข่ายรวมกัน 3 กิจการ ได้รับการอนุมัติสินเชื่อเกินกว่าเพดานสูงสุด 500 ล้านบาท และการขออนุมัติสินเชื่อ ใช้รูปแบบของการแยกนำเสนอ โดยไม่นำเสนอมาพร้อมกัน จึงไม่ได้มีการรวมวงเงินสินเชื่อทั้ง 3 กิจการ เสนอต่อคณะกรรมการที่มีอำนาจลงนามอนุมัติสินเชื่อ แต่กรณีนี้ถือว่าผู้ที่มีอำนาจลงนามไปนั้น ไม่มีอำนาจในการอนุมัติสินเชื่อ

เอสเอ็มอีแบงก์

ลูกค้ากลุ่มนี้ประกอบไปด้วย

1. บริษัท เอส เค กรีนอโกรโปรดักส์ ทำเรื่องของอนุมัติสินเชื่อ 2 ครั้ง วงเงิน 349.5 ล้านบาท โดยวงเงินสินเชื่อที่เคยได้รับการอนุมัติสูงสุด 293 ล้านบาท ต่อมาได้ยกเลิกวงเงินไป 100 ล้านบาท ปัจจุบันคงเหลือวงเงินสินเชื่อ 193 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นวงเงินสินเชื่อ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” 192.5 ล้านบาท เป็นลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของฝ่ายสินเชื่อ 2

2. บริษัท ส.สิทธิโชคการโยธา จำกัด ทำเรื่องขออนุมัติสินเชื่อ 300 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ 200 ล้านบาท เป็นลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของฝ่านสินเชื่อ 4

3. บริษัท ส.เขมราฐทรานสปอร์ต จำกัด ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ 41.98 ล้านบาท เป็นลูกค้าที่อยู่ในความดูแลของสายงานสาขา

ทั้ง 3 บริษัทมีเจ้าของที่แท้จริงและบริหารงานโดยบุคคลเดียวกัน ที่มีชื่อขึ้นต้นด้วย “ส” หรือ “S” และนามสกุลขึ้นต้นด้วย “ค” หรือ “k” ซึ่งทั้ง 3 บริษัทเคยได้รับการอนุมัติวงเงินสินเชื่อจากโครงการนี้รวมกันสูงสุด 534.98 ล้านบาท และการนำเสนอต่อคณะกรรมการสินเชื่อเป็นการแยกนำเสนอ ทำให้การอนุมัติสินเชื่อให้กับบางบริษัทเป็นการใช้อำนาจอนุมัติที่ไม่ถูกต้อง

นอกจากนี้ กรณีที่ ธพว. อนุมัติสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำภายใต้ “โครงการสินเชื่อชะลอการเลิกจ้างแรงงาน” ให้กับบริษัท เอส เค กรีนอโกรโปรดักส์ เป็นการรีไฟแนนซ์หนี้มาจากธนาคารกรุงไทย โดยมีบุคคลชื่อ “ส” นายสกุล “ค” เป็นผู้ค้ำประกันอยู่ด้วย แต่เมื่อ ธพว. รับรีไฟแนนซ์มาแล้วได้ยกเลิกการค้ำประกันของบุคคลดังกล่าว ซึ่งเป็นการผิดต่อหลักปฎิบัติของ ธพว. และผิดต่อหลักการพื้นฐานในการพิจารณาสินเชื่อ

ทั้งนี้ ในการรับรีไฟแนนซ์ จะต้องนำเอาหลักประกันและบุคคลค้ำประกันทั้งหมดมาด้วย เนื่องจากธนาคารรับโอนหนี้มาทั้งหมด และยังได้อนุมัติวงเงินเพิ่มเติมให้อีก แต่กรณีนี้กลับได้รับการยกเว้นไม่ต้องให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งบุคคลดังกล่าวเป็นบุคคลที่มีความสำคัญสูงสุดของกิจการทั้งหมด และมีอำนาจในการเคลื่อนย้ายเงินของทุกกิจการไปใช้ในเรื่องอื่นใดก็ได้ หากไม่นำมาเป็นบุคคลค้ำประกันย่อมก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงต่อธนาคาร