ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. เผยเอกชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในรอบ 11 เดือน – ส่งออกยังไม่ฟื้น เตรียมทบทวนประมาณการใหม่เดือนหน้า

ธปท. เผยเอกชนใช้จ่ายเพิ่มขึ้นในรอบ 11 เดือน – ส่งออกยังไม่ฟื้น เตรียมทบทวนประมาณการใหม่เดือนหน้า

30 สิงหาคม 2014


ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย
ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย

เมื่อ 29 สิงหาคม 2557 ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงตัวเลขเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม 2557 ว่าการบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นในรอบ 11 เดือน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2556 ตามความเชื่อมั่นของครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การเมืองมีความชัดเจนมากขึ้น ส่งผลไปยังนโยบายภาครัฐที่ช่วยสนับสนุนกำลังซื้อ เช่น มาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) และน้ำมันดีเซล โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคปรับขึ้นจาก 143.5 ในเดือนมิถุนายน เป็น 146.7 ในเดือนถัดมา

เมื่อดูในรายละเอียด พบว่าส่วนใหญ่การปรับตัวเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าไม่คงทน ขณะที่สินค้าคงทนยังหดตัว โดยเฉพาะยานยนต์ เนื่องจากฐานที่สูงในช่วงก่อนหน้าและสถาบันการเงินมีความระมัดระวังที่จะปล่อยสินเชื่อมากขึ้น อย่างไรก็ดี การบริโภคสินค้าไม่คงทนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องมากขึ้น โดยในอนาคตมีข้อจำกัดจากภาระหนี้ครัวเรือนที่สูงและรายได้เกษตรกรตกต่ำตามราคาผลผลิต

ทั้งนี้ การปรับตัวเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการคาดการณ์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ฯ ที่ระบุว่าการใช้จ่ายของเอกชนจะเป็นตัวชี้วัดการฟื้นตัวของเศรษฐกิจลำดับแรกที่จะปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การท่องเที่ยวและการลงทุนเอกชนจะปรับตัวตามมา

ด้านการส่งออกสินค้า เดือนกรกฎาคม หดตัวอีกครั้งที่ -0.5% จากระยะเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่า 18,700 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากอุปสงค์ในภูมิภาคเอเชียชะลอตัวต่อเนื่อง ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและยังมีข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ต่ำกว่าประเทศคู่แข่ง แม้ประเทศกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) จะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ก็ไม่สามารถชดเชยได้เพียงพอ

ทั้งนี้ 7 เดือนแรกของปี 2557 การส่งออกขยายตัวเป็นบวกเพียง 2 เดือนเท่านั้น ได้แก่ กุมภาพันธ์และมิถุนายน ขยายตัวได้ 2.1% และ 3.8% จากระยะเดียวกันของปีที่แล้ว ตามลำดับ ขณะที่ 5 เดือนที่เหลือหดตัวทั้งหมด (ดูตาราง) ทำให้ภาคการส่งออกอาจจะออกมาต่ำกว่าที่ ธปท. เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3% และต้องทบทวนอีกครั้งหนึ่ง

การเติบโตของการส่งออก

ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมยังทรงตัวจากเดือนก่อน การลงทุนเอกชนปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยในภาคก่อสร้างในพื้นที่นอกเขตเทศบาล (ซึ่งไม่รวมอยู่ในดัชนีการลงทุนภาคเอกชน) เนื่องจากผู้ประกอบการบางส่วนเริ่มลงทุนหลังจากได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุนและใบอนุญาต รง.4 แต่โดยรวมยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีที่แล้ว โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวมากขึ้นจากเดือนมิถุนายน หดตัว -2.7 เป็น -3.4 ในเดือนกรกฎาคม

ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมยังทรงตัว เนื่องจากผู้ประกอบการยังเร่งระบายสินค้าคงคลังที่เก็บไว้ 2-3 เดือนก่อนหน้านี้ โดยดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม (ปรับฤดูกาลแล้ว) หดตัวลดลงจากเดือนมิถุนายนที่หดตัว -2.8% เหลือ -0.1% ในเดือนกรกฎาคม

“ผู้ประกอบการก็ได้ระบายสินค้าคงคลังมาหลายเดือนแล้ว มาถึงจุดที่ถ้าอุปสงค์ไปต่อได้ ก็จะเริ่มขยายระดับการผลิตได้ ส่วนการลงทุนยังไม่ได้เห็นชัดเจนมากนักแต่ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น” ดร.รุ่งกล่าว

ด้านเถียรภาพทางเศรษฐกิจ อัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มจะปรับตัวหลังจากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงานมีมติปรับลดราคาน้ำมันลงเมื่อ 28 สิงหาคม 2557

“การลดราคาพลังงานลง คงมีผลทั้งในทันทีและเฉลี่ยทั้งปี ก็คงจะเห็นการปรับลดของค่าประมาณกลางเราลงไปบ้าง แต่ไม่ถึงกับมาก แต่เงินเฟ้อพื้นฐานคงไม่มีนัยสำคัญ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเป็นการปรับลง ซึ่งมักจะไม่ส่งผ่านเหมือนการปรับขึ้น” ดร.รุ่งกล่าว

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ดร.รุ่งระบุว่า ต้องรอการประเมินใหม่หลังประชุมคณะกรรมนโยบายการเงิน (กนง.) ในเดือนหน้า แต่คาดว่าจะเห็นการฟื้นตัวที่ชัดเจนในช่วงครึ่งปีหลัง แม้จะค่อยๆ ทยอยปรับตัวดีขึ้นก็ตาม

“ถ้าให้มองตอนนี้ คิดว่าเครื่องยนต์ต่างๆ มันไม่ได้มีเครื่องยนต์เดียว แต่มันหลายเครื่องยนต์และเริ่มทำงานมากขึ้น แต่ว่าจะบอกว่ามันทำงานเต็มที่ แล้วมีพระเอกตัวเดียวก็อาจจะยังไม่ถึงขนาดนั้น ก็เป็นเรื่องของการช่วยเหลือกันแต่ละเครื่องยนต์ อย่างการบริโภคที่เริ่มไปได้ การลงทุนก็เริ่มมีสัญญาณเบื้องต้นว่าจะดีขึ้นแต่ยังไม่ชัดเจนมากนัก การคลังก็ขับเคลื่อนมากขึ้น ส่วนการส่งออกก็ยังคงรออยู่” ดร.รุ่งกล่าว