ThaiPublica > ประเด็นสืบสวน > “มกอช. – กรมวิชาการเกษตร – โมเดิร์นเทรด”หารือเครียดแนวทางคัดกรองสินค้า ยัน “Q” ได้มาตรฐาน – ขอข้อมูล Thai-PAN สอบข้อเท็จจริง

“มกอช. – กรมวิชาการเกษตร – โมเดิร์นเทรด”หารือเครียดแนวทางคัดกรองสินค้า ยัน “Q” ได้มาตรฐาน – ขอข้อมูล Thai-PAN สอบข้อเท็จจริง

21 สิงหาคม 2014


หลังจากที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าว “เปิดผลสำรวจ “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช” พบสารพิษตกค้างกว่า 50% ในผักผลไม้ทั้งในห้างค้าปลีก-ตลาดทั่วไป ระบุเครื่องหมาย “Q” เยอะสุด” จากนั้น วันที่ 18 สิงหาคม 2557 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้แถลงข่าวการเฝ้าระวังสารกำจัดศัตรูพืชตกค้างในผักและผลไม้ (เปิดรายชื่อห้าง-ตลาดสด ประเภทผัก-ผลไม้ ที่มีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างมากสุด) อีกครั้ง และเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2557 สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมกับกรมวิชาการเกษตร และกลุ่มผู้ประกอบการห้างค้าปลีก (Modern trade) หารือแนวทางคัดกรองคุณภาพสินค้า ณ อาคารสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

โดยเบื้องต้นนายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) ได้กล่าวถึงกรณีรายงานการตรวจพบสารเคมีตกค้างในสินค้าพืชผักที่มีตราสัญลักษณ์ Q เกินค่ามาตรฐานนั้น ได้มีการมอบหมายให้เจ้าหน้าที่เร่งประสานไปยัง Thai-PAN เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงจากปัญหาที่เกิดขึ้น

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)

เนื่องจากข้อมูลของทาง มกอช. และทาง Thai-PAN ไม่ตรงกัน นายศักดิ์ชัยยืนยันว่าทาง มกอช. ได้มีการเฝ้าระวังและติดตามความปลอดภัยสินค้าเกษตรอย่างต่อเนื่อง โดยมีการสุ่มตรวจสินค้า Q ทั้งในตลาดของผู้ประกอบการห้างค้าปลีกและตลาดสด พบว่าสินค้า Q มีการตกค้างของสารเคมีเกิดค่ามาตรฐานเพียงร้อยละ 2-3 เท่านั้น และที่ผ่านมาการลงพื้นที่ตรวจนั้นไม่ได้มีการเผยแพร่ข่าว เนื่องจากกังวลว่าจะเป็นการสร้างความตื่นตระหนกโดยใช่เหตุให้แก่ประชาชน รวมทั้งกรณีการตรวจพบสัญลักษณ์ Q ที่ไม่ได้มาตรฐานมาจากเหตุด้านความเข้าใจของผู้ได้รับตรามาตรฐาน และกลไกทางภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงตราสัญลักษณ์บ่อยครั้ง ทำให้ผู้ที่ขึ้นทะเบียนตรา Q ที่อยู่ระหว่างการปรับปรุงข้อมูลมีการใช้ตัวเลขรหัสเก่าอยู่

“บางครั้งเราก็ชั่งน้ำหนักดู บางทีเราเจอแค่นิดๆ หน่อยๆ ผมว่าในต่างประเทศการเจอ 4-5% เป็นเรื่องปกติ ไม่ถือว่าอันตราย จะเป็นอันตรายหากกินซ้ำๆ กันทุกๆ วันซึ่งคงไม่มีใครกินอย่างนั้น ที่ผ่านมาเท่าที่พบยังไม่ถึงขึ้นปลอมเครื่องหมาย Q เพราะว่าบางครั้งเขาใส่รหัสผิด หรืออาจจะเป็นความล่าช้าของทางราชการที่พยายามปรับเลขรหัสเข้าหากัน เช่น กรมนี้เคยใช้รหัสแบบนี้ เมื่อเปลี่ยนมาใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรก็ต้องมีการปรับเข้าหากัน โดยเฉพาะเครื่องหมาย Q ที่มีสัญลักษณ์ธงชาติ ได้มีการยกเลิกไประยะหนึ่งแล้ว แต่อาจยังมีผู้ประกอบการบางรายใช้อยู่ ทาง มกอช. จะเร่งประสานหน่วยงานต่างๆ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน” นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัยกล่าว

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัยกล่าวต่อไปว่า ในการตรวจสอบการใช้เครื่องหมาย Q ซึ่งจะมีการดำเนินงานต่อไป ร่วมกับทางผู้ประกอบการห้างค้าปลีกนั้น หากมีการพบการปลอมแปลงคงต้องมีการดำเนินการทางกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 ซึ่งได้ระบุโทษของการปลอมแปลงไว้ คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ทั้งนี้ได้ระบุว่ากรณีปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ เบื้องต้นสันนิษฐานว่า

1) สินค้าเกษตรที่ Thai-PAN สุ่มเก็บไปตรวจสอบติดเครื่องหมาย Q ปลอม หรือเลียนแบบเครื่องหมาย Q และรหัสการรับรองมาตรฐาน
2) สินค้า Q ที่ตรวจพบสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานอาจไม่ใช่สินค้าจากแหล่งผลิตที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตรจริง
3) ผู้ผลิตจัดทำใบรับรองมาตรฐานอันเป็นเท็จหรือปลอมแปลงมาตรฐานใบรับรอง ทำให้ห้างค้าปลีกหลงผิดและรับมาจำหน่าย
4) มีการนำสินค้าเกษตรที่ได้รับรองมาตรฐาน และไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน มาบรรจุรวมในบรรจุภัณฑ์เดียวกันจำหน่ายภายใต้เครื่องหมาย Q
5) มีการใช้ใบรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practice) ที่หมดอายุมาประกอบการซื้อขายสินค้าเกษตร โดยตรวจสอบไม่ละเอียด ดั้งนั้น จึงต้องเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง และแก้ไขปัญหาเพื่อไม่ให้กระทบต่อภาพลักษณ์สินค้า Q และสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งหลายในประเทศด้วย

มาตรฐาน Q
มาตรฐาน Q

ด้านนางสาวเสริมสุข สลักเพ็ชร์ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาวิทยาการหลังการเก็บเกี่ยว ตัวแทนจากกรมวิชาการเกษตร เผยว่า ที่ผ่านมาหน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ ผู้รับผิดชอบหลักในเรื่องนี้ได้มีการดำเนินการตรวจสอบมาตรฐานของผู้ค้าอยู่ตลอด โดยเฉพาะผู้ผลิตเพื่อการส่งออกต่างประเทศ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ละเลยสินค้าในประเทศ

“การสุ่มของเรามีการเข้าไปซื้อแบบผู้บริโภคโดยไม่ได้แจ้งร้านค้า ซึ่งเมื่อพบก็จะมีการแจ้งเตือนกลับไปสู่เกษตรกร ซึ่งก็มีข้อมูลที่ตรงกับในส่วนของ Thai-PAN คือพืชตระกูลกะหล่ำ ที่เคยมีการตรวจพบสาร วอ. 4 (วัตถุอันตรายชนิดที่ 4 หมายถึงสารเคมีที่ห้ามนำเข้าและห้ามจำหน่าย) ก็มีการแจ้งเตือนกลับไป เกษตรกรก็จะมาชี้แจงกับเราว่าเป็นเพราะอะไร และต้องหาวิธีป้องกัน ซึ่งถามว่าได้ผลไหมเราก็เห็นว่าเมื่อเตือนไปแล้ว มีการลงตรวจอีกก็ไม่พบในแหล่งจำหน่ายเดิม”

นางสาวเสริมสุขกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมานั้น หากมีการพบซ้ำในเกษตรกรรายเดิมจะดำเนินการ “พักใช้” คืองดการให้การรับรองแก่เกษตรกรในแปลงที่ขึ้นทะเบียน GAP ทั้งนี้การตรวจแปลงเกษตรไม่ได้ตรวจเฉพาะแปลงที่ขึ้นทะเบียน GAP แต่ยังรวมไปถึงเกษตรกรที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน (Non-GAP) ด้วยเช่นกัน

สำหรับกรณีที่มีการพบสารตกค้างที่อยู่ในกลุ่มสารเฝ้าระวัง (Watch Lists) 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ในส่วนของ อีพีเอ็นและไดโครโตฟอส ได้มีการขึ้นทะเบียน วอ. 4 ทางกรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการเรียกเก็บและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เหลือเพียงแต่คาร์โบฟูรานและเมโทมิล ที่ยังเป็นสารเฝ้าระวังอยู่ และอยู่ระหว่างหารือว่าจะเพิกถอนหรือไม่

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จาก มกอช. ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า การตรวจมีการดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งทำมากว่า 5 ปีแล้ว มีการตรวจสอบ 3 ระดับ คือ ตั้งแต่แปลงเกษตร ตลาดสด และห้างค้าปลีก ซึ่งพบตัวเลขสารตกค้างลดลง ไม่ตรงกับรายงานจาก Thai-PAN

การตรวจจะใช้ห้องปฏิบัติการที่ขึ้นทะเบียนกับ มกอช. ทั้งสิน 11 แห่งทั่วประเทศไทย การลงพื้นที่เก็บตัวอย่างจากแหล่งจำหน่ายต่างๆ พบว่าสินค้ามีสินค้าที่ได้รับมาตรฐาน Q มีสารพิษเกินค่ามาตรฐานลดลง ในปี 2556 พบร้อยละ 20.59 จากจำนวน 136 ตัวอย่าง และในปี 2557 (ระหว่างเดือนมกราคม–สิงหาคม) พบร้อยละ 4.02 จากจำนวน 249 ตัวอย่าง

ในสินค้าทั่วไปพบปริมาณสารตกค้างเกินค่ามาตรฐานร้อยละ 26.83 ในปี 2556 และร้อยละ 8.76 ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ดูแล้วการสุ่มตรวจของ มกอช. ในปี 2557 ยังดำเนินการไม่ครบทั้งปี ผลนี้อาจมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งผักและผลไม้ที่พบการตกค้างเกินค่า MRL (Maximum Residue Limit) หรือปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดที่กำหนดให้มีได้ในสินค้าเกษตร มีดั้งนี้ ส้ม คื่นช่าย โหระพา คะน้า กะเพรา กวางตุ้ง ผักชี พริก ผักแผว แมงลัก โดยเฉพาะส้ม คื่นช่าย โหระพา และคะน้า ทีมีการพบในผลผลิตทางการเกษตรที่ได้รับเครื่องหมาย Q

เจ้าหน้าที่จาก มกอช. ชี้แจงเพิ่มเติมว่า การที่ทาง มกอช. และ Thai-PAN มีผลตรวจไม่ตรงกันนั้นสืบเนื่องมาจาก Thai-PAN ใช้ค่า MRL อิงตามของสหภาพยุโรป (EU) แต่ทาง มกอช. ใช้มาตรฐาน CODEX และมาตรฐานอาเซียน มาปรับกับมาตรฐานการบริโภคของคนไทย และกำหนดค่า MRL ของไทยเอง ซึ่งมีความเหมาะสมมากว่า

“ในการใช้ค่ามาตรฐาน MRL อาจต้องดูในแง่ลักษณะภูมิอากาศร่วมด้วย เนื่องจากประเทศเราอยู่ในโซนร้อน แตกต่างจากยุโรป การกำหนดค่าของเขาอาจจะไม่เหมาะสมกับของเรา”

สำหรับการขอยกเลิกการขึ้นทะเบียนสารคาร์โบฟูราน และเมโทมิล ทางเจ้าหน้าที่จาก มกอช. ให้คำตอบว่า ขั้นตอนนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา เนื่องจากต้องดูผลกระทบจากหลายๆ ฝ่าย ที่ผ่านมาทางเกษตรกรและผู้ประกอบการยังคงให้การยืนยันถึงความ “จำเป็น” ที่จะต้องใช้สารทั้งสองชนิดนี้ เช่น ชาวนา และผู้ทำสวนมะม่วง

นายศักดิ์ชัยกล่าวทิ้งท้ายว่า สำหรับตัวเกษตรกรแล้วในบางครั้งอาจไม่มีความตั้งใจในการใช้สารเคมี แต่เกิดการปนเปื้อนจากแปลงข้างเคียง หรือการใช้สารเคมีไม่ถูกต้อง (Miss Use) ซึ่งเป็นผลจากการโฆษณาของผู้ค้าสารเคมี ดังนั้นการแก้ไขอาจต้องดำเนินการไปถึงตัวผู้ค้าสารเคมี โดยยืนยันหากทาง Thai-PAN เชิญให้มีการร่วมตรวจในครั้งต่อไป มกอช. พร้อมร่วมด้วย

“อาจมีการเชิญ Thai-PAN มาพูดคุยวิธีการตรวจต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน อาจจะร่วมกับทางกรมที่เกี่ยวข้อง และต่อไปเป็นมาตรฐานวิธีการเดียวกัน”

ข้อถกเถียงในวงประชุม

อย่างไรก็ตาม ในการประชุมหารือร่วมกันระหว่าง มกอช. กรมวิชาการเกษตร และกลุ่มผู้ประกอบการห้างค้าปลีกนั้น มีข้อถกเถียงที่ยังคงต้องดำเนินการหาข้อสรุป ดังนี้

1) ประเด็นการใช้ “มาตรฐานบังคับ” และ “มาตรฐานสมัครใจ” เป็นเกณฑ์สำหรับผู้ขึ้นทะเบียนแปลงเกษตร GAP เนื่องจากปัจจุบันใช้มาตรฐานสมัครใจเป็นเกณฑ์ หมายถึง เกษตรกรสมัครใจที่จะไม่ใช้สารเคมีเกินกว่าที่กำหนด ดั้งนั้นเมื่อมีการใช้เกิน บทลงโทษจึงเพียงแต่ตักเตือน หนักสุดอาจเป็นการพักการให้ GAP แก่แปลงนั้นๆ แต่หากมีการกำหนดเป็นมาตรฐานบังคับแล้ว การไม่ปฏิบัติตามถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงกว่า

ในประเด็นนี้ทางผู้ประกอบการห้างค้าปลีกมีการเสนอให้ปรับมาตรฐานใหม่ เพื่อยกระดับผลผลิตของเกษตรกรให้ได้มาตรฐานอย่างแท้จริง เนื่องจากการใช้มาตรฐานสมัครใจนั้นอาจเป็นช่องว่างสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาผลผลิตมีสารตกค้างเกินมาตรฐานเกิดขึ้นอีก

2) ประเด็นสืบเนื่องจากการกำหนดมาตรฐานบังคับ และมาตรฐานสมัครใจ ในเรื่องของการออกกฎหมายนั้นมีอำนาจซ้อนทับระหว่างหน่วยงานอยู่ การออกกฎหมายยังมีการเหลื่อมกันระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งมีบทบาทในการคุ้มครองผู้บริโภคเช่นเดียวกัน แต่การออกกฎหมายจะมาจากทั้ง 2 หน่วยงานไม่ได้ การดำเนินการที่ผ่านในการจะออกกฎหมายใดๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคต้องมีการหารือร่วมกันก่อน และส่งมอบให้ทาง อย. เป็นผู้รับผิดชอบ ในประเด็นนี้จึงเป็นที่ถกเถียงว่ากรณีสินค้าเกษตรซึ่งก็อยู่ในความดูแลของกรมวิชาการเกษตรและ มกอช. นั้นจะมีขอบเขตและอำนาจแค่ไหนในการเข้าไปตรวจสอบ และออกร่างกฎหมายเพื่อบังคับใช้เพิ่มเติม

3) การใช้ชุดทดสอบสารพิษตกค้างในผักผลไม้ เนื่องจากสารเคมีที่เกษตรกรใช้มีหลากหลายมากขึ้น การใช้ชุดทดสอบแบบเดิม คือ GT KIT นั้นอาจไม่เพียงพอ แต่ชุดทดสอบใหม่ก็ยังไม่มีความแน่นอน แต่สามารถตรวจวัดได้กว้างกว่า จึงเกิดเป็นประเด็นการใช้งานระหว่าง ชุดทดสอบ GT KIT ซึ่งเป็นชุดน้ำยาตรวจสอบสารเคมีกลุ่มฟอสเฟต/คาร์บาเมต ซึ่งผู้ประกอบการห้างค้าปลีกและหลายๆ ที่ ใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากราคาไม่สูงมาก และใช้เวลาไม่นานในการทดสอบ กับชุดทดสอบ TM KIT ที่สามารถตรวจยืนยันชนิดสารเคมีกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต, กลุ่มคาร์บาเมต, กลุ่มไพเรทรอยด์ และกลุ่มออร์แกโนคลอรีน ในผักผลไม้และธัญพืช ซึ่งตรวจสอบได้กว้างกว่าชุดทดสอบ GT KIT แต่มีราคาสูงกว่า และยังไม่เสถียรในการใช้ เนื่องจากเป็นการปรับปรุงขึ้นมาใหม่

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นที่ว่าผลตรวจสอบระหว่างชุดทดสอบกับในห้องปฏิบัติการนั้นมีค่าที่ไม่เท่ากัน ผู้ประกอบการห้างค้าปลีกยืนยันว่าการใช้ชุดทดสอบในการตรวจสอบนั้น เมื่อนำไปเทียบผลกับการตรวจจากห้องปฏิบัติการแล้ว ผลการตรวจที่ผ่านจากชุดทดสอบตกค่ามาตรฐานหลายรายการ แต่ทั้งนี้ ผลตรวจจากห้องปฏิบัติการต้องใช้ค่าใช้จ่ายสูง ต้องตรวจทุกครั้ง ผู้บริโภคก็จะต้องรับภาระในการบริโภคอาหารที่แพงเกินความจำเป็น

ดั้งนั้น ผู้ประกอบการห้างค้าปลีกจึงเลือกที่จะสนับสนุนและให้ความรู้กับเกษตรกร ในการที่จะทำแปลงเกษตรให้ได้มาตรฐาน GAP และทำขั้นตอนของผู้รับบรรจุภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานหลักเกณฑ์และวิธีการผลิตอาหารที่ดี GMP (Good Manufacturing Practice)

ผักและผลไม้ที่มกอช นำมาแสดง  ในวงกลมสีแดงเป็นเครื่องหมาย Qที่ไม่ถูกต้อง
ผักและผลไม้ที่มกอช นำมาแสดง ในวงกลมสีแดงเป็นเครื่องหมาย Qที่ไม่ถูกต้อง

4) เรื่องของมาตรฐานตรา Q ก็ยังเป็นข้อถกเถียง เนื่องจากทาง มกอช. มีการปรับเปลี่ยนมาตรฐาน และเปลี่ยนสัญลักษณ์ Q จากที่มีลายธงชาติมาเป็นสีเขียวล้วน แต่ทางผู้ประกอบการและห้องปฏิบัติการบางแห่งยังคงใช้สัญลักษณ์เก่า ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้แก่ผู้บริโภคได้ จึงต้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ส่วนทางผู้ได้รับตรา Q แล้วมีปัญหาว่าเลขรหัสไม่สามาตรตรวจสอบได้นั้นอาจอยู่ระหว่างกระบวนการปรับเปลี่ยน ทาง มกอช. เองก็ได้เผยว่าในเร็วๆ นี้อาจมีการปรับรูปแบบอีก จึงเกิดคำถามถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยน

5) การเปิดเผยผลการตรวจสารตกค้างในผักผลไม้ของภาครัฐ จากที่ผู้สื่อข่าวจากไทยพับลิก้า และผู้สื่อข่าวจากหลายสำนักสอบถามนายศักดิ์ชัย ยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัดว่าต่อไปนั้นเมื่อภาครัฐลงพื้นที่ตรวจสารตกค้างแล้วจะนำผลการตรวจมาเผยแพร่หรือไม่ และเช่นเดียวกัน ผลการตรวจที่ทาง มกอช. จะตรวจสอบซ้ำจากผลตรวจของ Thai-PAN ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่าจะเปิดเผยให้ประชาชนได้ทราบ

ส่วนการลงพื้นที่ตรวจ นายศักดิ์ชัยกล่าวว่า ยังคงต้องมีการแจ้งล่วงหน้าในกรณีที่ลงพื้นที่ตรวจ ณ จุดกระจายสินค้า (Distribution Center) หรือโรงบรรจุภัณฑ์ ก็อาจจะต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า เนื่องจากต้องอาศัยเจ้าหน้าที่ในการนำตรวจ แต่หากเป็นจุดจำหน่ายต่างๆ นั้นสามารถทำการตรวจโดยไม่แจ้งให้ทราบได้อยู่แล้ว

นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) แถลงข่าวเรื่องมาตรฐานQ
นายสัตวแพทย์ศักดิ์ชัย ศรีบุญชื่อ เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.) แถลงข่าวเรื่องมาตรฐานQ

ข้อโต้แย้งจาก Thai-PAN

หลังการประชุมเสร็จสิ้น ผู้สื่อข่าวได้สอบถามประเด็นเพิ่มเติมไปทาง นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงาน Thai-PAN โดยนางสาวปรกชลยืนยันว่า Thai-PAN ไม่ได้มีเจตนาทำลายความน่าเชื่อถือของมาตรฐาน Q แต่สิ่งนี้จะเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับมาตรฐาน Q มากกว่า

ในเบื้องต้นตนยังไม่ได้รับการติดต่อขอข้อมูลจากทาง มอกช. แต่อย่างใด มีเพียงการขอข้อมูลที่ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับ Thai-PAN แถลงข่าวไปเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ที่ผ่านมา หากมีการประสานมาก็ยินดีที่จะร่วมมือ และยินดีที่จะลงพื้นที่ตรวจร่วมกับทาง มกอช.

ด้านค่า MRL นั้นนางสาวปกรกชลยืนยันว่า ก่อนหน้านี้อาจมีการเทียบจากค่า MRL ของสหภาพยุโรป แต่ปัจจุบันการทดสอบในปี 2557 ใช้ค่า MRL ตามที่ มกอช. กำหนด ซึ่งในประเทศไทยมี 2 องค์กรที่กำหนดค่า MRL คือ อย. และ มกอช. แต่เนื่องจากข้อมูลของ มกอช. ใหม่กว่า ทาง Thai-PAN จึงยึดของ มกอช. เป็นหลัก แต่มีการนำค่าของทั้ง CODEX และสหภาพยุโรปมาเทียบประกอบไว้เท่านั้น

สำหรับค่า MRL ที่เขียนเอาไว้ว่า “ไม่ระบุ” นั้นเป็นค่าที่ “ไม่ควร” พบการตกค้างของสารพิษ เมื่อพบการตกค้างทาง Thai-PAN จึงอ่านค่าว่ามีการตกค้าง “เกิน” จากค่ามาตรฐาน นางสาวปกรกชลยังระบุอีกว่า ค่อนข้างแน่ใจว่าค่า MRL ของไทยได้มาตรฐาน จากการไม่ระบุตัวเลขค่าการตกค้างทำให้เป็นการบังคับกลายๆ ว่าสารชนิดนั้นๆ จะต้องไม่มีการตกค้างให้เห็นในพืชผัก ผลไม้

“ยอมรับเหมือนกันว่าเมื่อทดลองเลือกตรวจผักที่ได้มาตรฐาน Q ครั้งแรกตกใจ เพราะเราตั้งเป้าไว้ว่าไม่น่าจะเจอสารตกค้างในผักที่ได้รับมาตรฐานแต่กลับเจอ จึงเกิดประเด็นคำถามขึ้น และยังไม่กล้าดำเนินการในผักที่ติดเครื่องหมายอินทรีย์ เพราะหากพบการตกค้างขึ้นมาคงเป็นเรื่องใหญ่มาก แต่ในการตรวจครั้งต่อไปอาจจะต้องลองตรวจดู”

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวไทยพับลิก้าได้ลงพื้นที่ห้างค้าปลีก 1 แห่ง พบผักที่ติดตรามาตรฐาน Q เพียง 2 ชนิด มีการเปลี่ยนมาใช้สัญลักษณ์ที่ถูกต้องแล้ว มีรหัสใต้สัญลักษณ์ครบถ้วน แต่ 1 ในนั้นไม่มีการระบุข้อมูล GAP หรือ GMP แต่อย่างใด เหล่านี้ผู้บริโภคอาจต้องมีความรอบคอบมากขึ้นในการตรวจสอบและเลือกซื้อสินค้า