เปิดธุรกิจขายเบอร์โทรศัพท์สวย พบคนต้องการเบอร์สวยเพิ่มมากขึ้นจากความเชื่อเรื่องดวงชะตา เจอขายตั้งแต่ราคาไม่กี่ร้อยบาท ไปจนถึงหลายล้านบาทต่อเลขหมาย มีเงินหมุนเวียนในตลาดหลายร้อยล้านบาท เนื่องจากมีภาคเอกชนทำกำไร ขณะที่ กสทช. ผู้บริหารจัดการเลขหมาย คิดค่าธรรมเนียมการขอเลขหมาย 5,000 บาทต่อครั้ง
เลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือเลขหมายโทรศัพท์มือถือ เป็นทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด โดยกฎหมาย (ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551) กำหนดให้ กสทช. (เดิมคือ กทช.) เป็นผู้มีอำนาจในการบริหารจัดการเลขหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ โดยต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและความเป็นธรรม
ในการขอรับจัดสรรเลขหมาย ค่ายมือถือ หรือผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต และมีคุณสมบัติตามที่ กสทช. กำหนด สามารถขอรับการจัดสรรเลขหมาย เพื่อนำไปให้บริการแก่ผู้บริโภคได้ ด้วยการจำหน่าย โอน แลกเปลี่ยน หรือสามารถนำเลขหมายที่ได้รับการจัดสรร ไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ได้
วิธีการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน กฎหมายกำหนดให้ กสทช. พิจารณาจัดสรรเลขหมายเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 10,000 เลข โดยการพิจารณาแต่ละครั้ง ผู้ประกอบการสามารถขอได้มากกว่า 1 กลุ่ม เช่น หากได้รับการจัดสรรจำนวน 10 กลุ่ม ผู้ประกอบการจะได้เลขหมายทั้งสิ้น 100,000 เลขหมาย โดยผู้ประกอบการจะขอเลือกหมายเลขเองไม่ได้
และค่าธรรมเนียมเลขหมาย หรือค่าใช้จ่ายในการขอเลขหมาย จะมีค่าธรรมเนียมการพิจารณาคำขอจำนวน 5,000 บาทต่อครั้ง และหลังจากได้รับการจัดสรรเลขหมายแล้ว จะมีค่าธรรมเนียมรายเดือน จำนวน 2 บาท/เลขหมาย โดย กสทช. จะนำเงินที่ได้ไปใช้ในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศ
โดยความต้องการหมายเลขโทรศัพท์มือถือ นอกจากจะมีเพื่อจุดประสงค์ในการใช้งานตามปกติแล้ว ยังพบว่ามีความต้องการในตลาดที่จะนำหมายเลขพิเศษ หรือเบอร์สวย ที่มีรูปแบบการจัดเรียงสวยงาม ซึ่งเป็นที่ต้องการในตลาดมากกว่าหมายเลขธรรมดาทั่วไป นำไปเป็นทรัพย์สิน หรือเก็งกำไร เนื่องจากเบอร์สวยเหล่านี้ เป็นที่จดจำง่าย ได้เปรียบในการเข้าถึงมากกว่าเบอร์ธรรมดาทั่วไป
ในหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 10 หลัก จะพบว่ามีรูปแบบเบอร์สวยที่ตลาดต้องการอยู่เป็นจำนวนมาก เช่น เลขเดียวกันวางติดกัน 5 หลัก (089-13x-xxxx) ไปจนถึงเลขเดียวกันวางติดกัน 7 หลัก (081-xxx-xxxx) เบอร์เรียง เบอร์ตอง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด และมีการให้มูลค่ากับเบอร์สวยมหาศาล จนเกิดเป็นธุรกิจขายเบอร์สวยขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งในร้านค้า และบนโลกอินเทอร์เน็ต
จากการสำรวจธุรกิจเบอร์สวยในปัจจุบัน พบว่ามีการให้ราคากับเบอร์สวยตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักสิบล้าน ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด และความสวยของเลขหมายตามค่านิยมของแต่ละบุคคล เช่น เบอร์เรียง 08-45678910 มีราคา 5 ล้านบาท เบอร์ 088-269-9999 มีราคา 590,000 บาท เบอร์ 08-4872-6666 มีราคา 30,000 บาท เป็นต้น
เจ้าของธุรกิจเบอร์สวยรายหนึ่งได้เปิดเผยว่า ธุรกิจเบอร์สวยในขณะนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องมาจากความต้องการของผู้บริโภคที่นิยมมากขึ้น และมีการเก็งกำไร ทำให้ราคาของเบอร์สวยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับมีการนำหมายเลขโทรศัพท์ไปเชื่อมโยงกับเรื่องดวงชะตา ทำให้ผู้ขายสามารถทำกำไรจากการขายเบอร์สวยได้มากขึ้นกว่าแต่ก่อน
ประเภทของเบอร์สวย นอกจากจะมีเบอร์เรียง เบอร์ซ้ำกันแล้ว ความเชื่อเรื่องดวงยังทำให้เกิดเบอร์ที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ต้องไม่มีเลขใดเลขหนึ่งที่เจ้าของเชื่อว่าเป็นเลขอัปมงคลอยู่ในเบอร์โทรศัพท์ ต้องลงท้ายด้วยเลขที่เป็นมงคล ไปจนถึงผลรวมของเลขทุกตัวต้องได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการ ทำให้เบอร์สวย และเบอร์ดีตามความเชื่อมีจำนวนมากขึ้น ผู้ขายจึงมีโอกาสในการทำกำไรเพิ่มขึ้น
“ในตลาดจะมีชื่อเรียกเบอร์สวยตามลักษณะของเบอร์ เช่น เบอร์สวยแพลตตินัม เบอร์สวยวีไอพี โดยเบอร์สวยที่ขายส่วนใหญ่มาจากการซื้อต่อพ่อค้าคนกลางที่ไปรับมาจากค่ายมือถืออีกทีหนึ่ง ซึ่งวิธีซื้อขายมีทั้งแบบตกลงราคา หรือมีการประมูลที่จัดโดยพ่อค้าคนกลาง ราคาของเบอร์สวย มีตั้งแต่ไม่กี่ร้อยบาทไปจนถึงมากที่สุดที่เคยได้ยินคือ 30 ล้านบาท เงินหมุนเวียนในตลาดเบอร์สวยในตอนนี้ จึงน่าจะมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาท” เจ้าของธุรกิจเบอร์สวยกล่าว
ขณะที่เบอร์สวยที่มีการซื้อขายมูลค่าตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้าน คือ เลขเดียวกันวางติดกัน 5 หลัก ไปจนถึงเลขเดียวกันวางติดกัน 7 หลัก และเบอร์เรียง 7 หลัก พบว่าในเลขหมายจำนวน 1 ล้านเลขหมาย จะมีเบอร์ที่เข้าข่ายมีการซื้อขายในราคาหลักหมื่นบาทขึ้นไปอย่างน้อย 1,000 เลขหมาย คิดเป็นมูลค่าในตลาดหลายร้อยล้านบาท
ข้อมูลการจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ล่าสุดจาก กสทช. ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2555 มีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่อยู่ในแผนโทรคมนาคมทั้งหมด (ขึ้นต้นด้วยเลข 08 และ 09) มีจำนวนทั้งสิ้น 200,000,000 เลขหมาย (สองร้อยล้านเลขหมาย) มีการจัดสรรไปแล้ว 112,080,000 เลขหมาย และเหลือเลขหมายที่รอการจัดสรรอีก 87,920,000 เลขหมาย
โดยปกติ การขอเลขหมายเพื่อมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการ แทบจะไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ เลย นอกจากค่าธรรมเนียมในการขอ 5,000 บาทต่อครั้ง ส่วนเงินที่ต้องจ่ายทุกเดือน 2 บาทต่อเลขหมาย ไม่สามารถถือว่าเป็นต้นทุนในการขอเบอร์สวยได้ เนื่องจากไม่ว่าจะเป็นเบอร์ที่สวยหรือไม่ ผู้ประกอบการก็ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมส่วนนี้อยู่แล้ว เพราะหมายเลขโทรศัพท์เป็นทรัพยากรของประเทศที่มีอยู่อย่างจำกัด การที่ผู้ประกอบการจะนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ จำเป็นต้องมีการเก็บค่าธรรมเนียม เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศ
เบอร์สวยระหว่าง กสทช. กับผู้ประกอบการ จึงเปรียบเสมือนของที่ได้มาฟรี โดยไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นจากเลขหมายธรรมดาแต่อย่างใด ในขณะที่มูลค่าเบอร์สวยในตลาด มีมูลค่าเพิ่มขึ้นมากกว่าเบอร์ธรรมดาจำนวนมหาศาล ดังนั้นมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากเบอร์สวย จึงตกเป็นผลประโยชน์ของเอกชน แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ของภาครัฐ
ปัจจุบัน จึงมีการตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายว่า การจัดสรรเลขหมายเหล่านี้ กสทช. ไม่ได้คำนึงถึงมูลค่าทางเศรษฐศาสตร์ ความคุ้มค่า และความขาดแคลนของทรัพยากร
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีความพยายามผลักดัน ให้การจัดสรรเบอร์สวยเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะสูงที่สุด ด้วยวิธีการต่างๆ โดยวิธีการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ การประมูล โดยมีวิธีคล้ายกับการประมูลเลขทะเบียนรถยนต์ เพื่อทำให้มูลค่าเพิ่มของเบอร์สวยจำนวนหลายร้อยล้านบาทในตลาด ถ่ายโอนจากภาคเอกชนมาสู่ภาครัฐมากขึ้น โดยเฉพาะเลขหมายที่ยังรอการจัดสรรอีกกว่า 87 ล้านเลขหมาย จะมีเบอร์สวยแทรกอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นผลประโยชน์สาธารณะที่มีมูลค่ามหาศาล
สอดคล้องกับความเห็นของ ดร.เดือนเด่น นิคมบริรักษ์ นักเศรษฐศาสตร์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ที่มองว่า เบอร์โทรศัพท์ไม่ว่าจะสวยหรือไม่ ก็สามารถใช้สื่อสารได้เช่นกัน เบอร์สวยจึงเป็นสินค้าที่เกินความจำเป็น ในตลาดเบอร์สวยเป็นสิ่งที่มีมูลค่า มีคนต้องการมาก และเป็นสิ่งที่ขาดแคลน การจะรู้ได้ว่ามีมูลค่าเท่าไรต้องนำไปประมูลเพื่อให้ได้มูลค่าที่แท้จริง ให้คนที่ยอมจ่ายสูงสุดได้ไป เป็นการดูดซับกำไรจากผู้ประกอบการเข้าภาครัฐ
ในกฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบัน (หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551) ยังคงมีการเปิดช่องให้ กสทช. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข หรือวิธีการสำหรับจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมเป็นกรณีพิเศษได้ เช่น การประมูล หรือทำข้อเสนอแข่งขันด้วยวิธีต่างๆ แต่จากวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 4 ปีแล้ว ข้อเท็จจริงพบว่า กสทช. ยังคงไม่มีการนำวิธีพิเศษ หรือการประมูลมาใช้จัดสรรเลขหมายแต่อย่างใด