ThaiPublica > เกาะกระแส > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ > ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 21-27 ก.ค. 2561 : “ครูสาวค้ำศิษย์กู้ กยศ. สุดท้ายถูกยึดทรัพย์” และ “ลาวเขื่อนแตก นับพันครอบครัวประสบภัย”

ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 21-27 ก.ค. 2561 : “ครูสาวค้ำศิษย์กู้ กยศ. สุดท้ายถูกยึดทรัพย์” และ “ลาวเขื่อนแตก นับพันครอบครัวประสบภัย”

28 กรกฎาคม 2018


ประเด็นฮอตรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 21-27 ก.ค. 2561

  • ครูสาวค้ำศิษย์กู้ กยศ. สุดท้ายถูกยึดทรัพย์
  • แจงแล้ว เหตุไม่ถ่ายทอดสดพิจารณางบกลาโหม
  • ชาวบ้าน 3 หมู่บ้านพิษณุโลกปฏิเสธงบไทยยั่งยืน 2.8 ล้าน
  • อดีต ส.ส. ปชป. ขอโทษ “ปู-แม้ว” แฉแผนล้ม “รัฐประหาร-กฎหมายฟัน”
  • ลาวเขื่อนแตก นับพันครอบครัวประสบภัย
  • ครูสาวค้ำศิษย์กู้ กยศ. สุดท้ายถูกยึดทรัพย์

    ที่มาภาพ: เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/infographic/1378)

    ปี 2538 นางสาววิภา บานเย็น เข้ารับราชการในโรงเรียนประจำตำบลแห่งหนึ่งในจังหวัดกำแพงเพชร และต่อมาในปี 2541 เมื่อโรงเรียนดังกล่าวเปิดกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เป็นครั้งแรก นางสาววิภาได้เป็นผู้ค้ำประกันการกู้ยืมให้แก่ลูกศิษย์ถึง 60 คน

    แต่ต่อมา เมื่อจบการศึกษาจนมีงานทำกันไปแล้ว แต่กลับมีลูกศิษย์จำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้ชำระหนี้ จนเป็นเหตุให้กรมบังคับคดีประกาศยึดทรัพย์สินที่เป็นบ้านและที่ดินของนางสาววิภาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา ซึ่งจากการตรวจสอบสถานะคดีของผู้กู้ยืมที่นางสาววิภาเป็นผู้ค้ำประกันนั้น ทาง กยศ. พบว่า แม้จะมีลูกศิษย์จำนวน 29 รายที่ชำระหนี้เรียบร้อยแล้ว 10 รายยังคงชำระหนี้อยู่ แต่ยังมีลูกศิษย์อีก 21 รายที่ไม่ชำระหนี้ ซึ่งใน 21 นี้กำลังได้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีแล้วทั้งสิ้น โดยมีการยึดทรัพย์ไปแล้ว 4 ราย ซึ่งใน 4 รายนี้ นางสาววิภาได้ชำระหนี้แทนในฐานะที่เป็นผู้คำประกันให้แล้ว ซึ่งทาง กยศ. จะดำเนินการถอนการยึดทรัพย์ต่อไป

    ทั้งนี้ ในส่วนทรัพย์สินของนางสาววิภาที่ถูกยึดไปนั้น ทาง กยศ. แจ้งว่าจะมีการยื่นคำขอระงับการบังคับคดีชั่วคราวไม่ให้นำทรัพย์สินไปขายทอดตลอด และทางกองทุนจะดำเนินการไกล่เกลี่ย โดยภาระหนี้นี้จะไม่ถึงขั้นทำให้นางสาววิภาต้องล้มละลายจนถึงขั้นสูญเสียทรัพย์สินทั้งหมดและพ้นสภาพความเป็นครูดังที่เป็นข่าวแต่อย่างใด


    ที่มา : ยูทูบเรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร (https://www.youtube.com/watch?v=LT0MqENVc5Q)

    เรียบเรียงจาก

    เว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ : ชะตากรรม “ครูวิภา” ในวันที่ต้องแบกหนี้ลูกศิษย์
    เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS : กยศ.ยื่นระงับบังคับคดีชั่วคราวไม่ขายทอดตลาดบ้านและที่ดิน ‘ครูวิภา’
    เว็บไซต์ WORKPOINT NEWS : เปิดใจทั้งน้ำตา “ครูวิภา” ถูกยึดบ้าน-ที่ดิน หลังค้ำเงิน กยศ.ให้ศิษย์กว่า 60 คน แต่กลับถูกเบี้ยว

    แจงแล้ว เหตุไม่ถ่ายทอดสดพิจารณางบกลาโหม

    เว็บไซต์วอยซ์ทีวีรายงานว่า พล.ท. ชาตอุดม ดิตถะสิริ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2561 ว่า ในส่วนของงบกระทรวงกลาโหม ที่พิจารณาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2561 ได้พิจารณาเสร็จแล้วในภาพรวมและระดับนโยบาย ยังไม่มีการตัดหรือเพิ่มงบแต่อย่างใด เพราะต้องส่งให้อนุกรรมาธิการทั้ง 2 คณะ คือ อนุฯ กมธ.ฝึกอบรมสัมมนาฯ และอนุฯ กมธ.ครุภัณฑ์ฯ เป็นคนตัด ก่อนจะเสนอกลับมายังที่ประชุมใหญ่ของ กมธ.ประมาณวันที่ 7-8 ส.ค. 2561 เพื่อให้พิจารณาอีกครั้ง ดังนั้นตนจึงยังไม่สามารถแจงรายละเอียดได้

    อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมช่วงพิจารณางบกระทรวงกลาโหมจึงไม่มีการถ่ายทอดการประชุมเหมือนการพิจารณากระทรวงอื่น พล.ท. ชาตอุดม กล่าวว่า การพิจารณาส่วนราชการไหนที่เป็นชั้นความลับ เกี่ยวกับความมั่นคง ก็จะไม่ถ่ายทอดการประชุมออกไปข้างนอกอยู่แล้ว เช่น หน่วยงานในพระองค์ และกระทรวงกลาโหม เป็นต้น

    ทั้งนี้ การประชุมเสนอร่างงบประมาณฯ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา พบว่ากระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานในกำกับ 92 หน่วยงาน ได้งบประมาณมากที่สุด คือ 4.89 แสนล้านบาท รองลงมา คือ งบกลาง รวมกว่า 4.68 แสนล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 3.73 แสนล้านบาท กระทรวงการคลัง 2.42 แสนล้านบาท ส่วนกระทรวงกลาโหมและหน่วยงานในกำกับ 6 หน่วยงาน ได้งบมากเป็นอันดับ 5 รวมเป็น 2.27 แสนล้านบาท ส่วนกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานในกำกับ 14 หน่วยงาน ได้งบประมาณ 1.04 แสนล้านบาท 

    3 หมู่บ้านพิษณุโลกปฏิเสธงบไทยยั่งยืน 2.8 ล้าน


    ที่มา : ยูทูบเรื่องเล่าเช้านี้ บีอีซี-เทโร (https://youtu.be/rJfimD4X-uA)

    เว็บไซต์เรื่องเล่าเช้านี้รายงานว่า ชาวบ้านน้ำจวง อำเภอชาติตระการ 3 หมู่บ้าน ไม่ขอรับงบไทยยั่งยืนส่งเสริมการท่องเที่ยว 2.8 ล้าน โครงการชุมชนท่องเที่ยวโอท็อปนวัตวิถี เพราะเห็นว่าไม่สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน และพร้อมใจส่งคืนให้กับคลังของรัฐบาล เพื่อจะได้จัดสรรไปให้กับหมู่บ้านอื่นๆ ที่มีต้องการโครงการดังกล่าว เพราะว่าโครงการนี้เป็นชุมชนท่องเที่ยวโอท็อป นวัตวิถี เป็นโครงการที่ต้องไปอบรมสัมมนาและฝึกพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของชาวบ้านจึง มีการลงมติไม่รับ
     
    ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 13 ตำบลน้ำจวง นายหยี แซ่หยาง เป็นตัวแทนชาวบ้านราว 4,000 คนของ 3 หมู่บ้าน บอกว่า ชาวบ้านได้ร่วมประชุมและทำประชาคมแล้ว ไม่ต้องการงบไทยยั่งยืนส่งเสริมการท่องเที่ยว 2.8 ล้านบาทที่ว่านี้ เพราะสิ่งที่ชาวบ้านต้องการคือถาวรวัตถุ คือ 1) ศูนย์การเรียนรู้ศาสตร์พระราชา 2) ปรับปรุงถนนด้วยการซื้อหินคลุกไปปรับถนนตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ และ 3) สร้างห้องสุขาตามแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ แต่ชาวบ้านขอไปแล้วไม่ตรงกับโครงการไทยยั่งยืนท่องเที่ยวชุมชนโอท็อปของรัฐบาล
     
    ชาวบ้านที่ล้วนเป็นชาวไทยพื้นที่สูงเชื้อสายม้ง บอกว่า งบ 2.8 ล้านของโครงการนี้มีแต่การศึกษาดูงานเพื่อการท่องเที่ยวหรือการอบรมเท่านั้น ซึ่งชาวบ้านไม่ต้องการ เพราะหากถนนหนทางยังสัญจรไปมาไม่สะดวก การอบรมดูงานไปก็ไม่เกิดประโยชน์

    อดีต ส.ส. ปชป. ขอโทษ “ปู-แม้ว” แฉแผนล้ม “รัฐประหาร-กฎหมายฟัน”

    ที่มาภาพ : เว็บไซต์มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/politics/news_1060800)

    เว็บไซต์ข่าวสดรายงานว่า วันที่ 27 ก.ค. 2561 นายนคร มาฉิม อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จ.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) จังหวัดพิษณุโลก ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ขอโทษนายทักษิณ ชินวัตร และนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เคยร่วมให้มีการล้มรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย พรรคพลังพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ทั้งยังเล่าถึงสารพัดวิธีในการกำจัดรัฐบาลของนายทักษิณ โดยอ้างถึง นักการเมือง กองทัพ ข้าราชการ และทุกสรรพกำลัง

    โดย นายนคร มาฉิม อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ระบุว่า

    นายนคร มาฉิม อดีต สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร จ.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.)

    “ถึงนายก ทักษิณ ชินวัตร

    ถึงนายกทักษิณ ชินวัตร ก่อนหน้านี้ผมเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลกสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับท่านที่เป็นทั้งหัวหน้าพรรคไทยรักไทยและเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง ปี 2544 ท่านเป็นรัฐบาล ผมเป็นฝ่ายค้าน ต่างคนต่างทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน ในระบอบประชาธิปไตย ท่านทำหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปตามนโยบายที่หาเสียงไว้และที่ได้แถลงต่อรัฐสภา ท่านทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ผมทำหน้าที่ตรวจสอบในฐานะฝ่ายนิติบัญญัติ โดยต่างฝ่ายต่างยึดเอาผลประโยชน์ของชาติบ้านเมืองและประชาชนเป็นที่ตั้ง

    ขณะนั้นต้องยอมรับความจริงว่า ท่านบริหารชาติบ้านเมืองได้ดี มีนโยบายใหม่ๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้าน โครงการ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สร้าง สนามบินสุวรรณภูมิ การค้า การลงทุนเฟื่องฟูเจริญรุ่งเรือง ต้องยอมให้ในการบริหารงานของท่านว่าเก่งมาก ทำให้พรรคไทยรักไทยโดยการนำของท่านชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลาย 377 เสียงสส. จาก 500. สส. เป็นประวัติศาสตร์ทางการเมือง ผมอยู่ฝ่ายตรงข้ามก็มองอย่างแปลกใจว่าเป็นไปได้อย่างไร ทำไมท่านจึงชนะใจประชาชน เหตุใดพวกเราพ่ายแพ้ต่อท่าน อย่างยับเยินทั้งที่พวกเราและแนวร่วมฝ่ายอนุรักษ์นิยมมีความพร้อมทั้งทุน เครือข่าย นายทุน กลุ่มขุนศึก กลุ่มศักดินาอำมาตย์ และเครือข่ายข้าราชการ ได้ใช้สรรพกำลังทุกองคาพยพอย่างเต็มที่แล้ว ใช้การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ใช้วาทกรรมทำลายทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะ รวยแล้วโกง โกงทั้งโคตร ทุจริตเชิงนโยบายฯลฯ แต่ยังไม่สามารถหยุดยั้งความนิยมในตัวท่านและพรรคของท่านได้

    ขณะนั้นพวกเราตื่นตระหนกกันมาก จึงร่วมกันทุกฝ่ายระดมสรรพกำลัง ทั้งฝ่ายการเมือง ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายข้าราชการประจำและที่สำคัญที่สุดและแนบเนียนที่สุดคือ ฝ่ายตุลาการระดับสูงบางคนที่เชื่อมั่นและศรัทธาฝ่ายเผด็จการอนุรักษ์นิยมในนามตุลาการภิวัฒน์ ร่วมกันขย้ำท่าน และพรรคของท่านให้ตายคามือ ยึดอำนาจด้วยปืน ยุบพรรคท่านทิ้งด้วยกฎหมาย ตัดสิทธิ์ทางการเมืองของคณะกรรมการบริหาร

    เมื่อนักการเมืองแถวสอง มาในนามพรรคพลังประชาชน ทำไมพวกท่านยังชนะการเลือกตั้งอยู่ พวกเราจึงร่วมกันใช้วิธีการเดิม ยึดอำนาจด้วยกำลังอาวุธ ยุบพรรคท่านทิ้งด้วยอำนาจทางกฎหมาย นักการเมืองพวกท่านแถวที่สาม มาตั้งพรรคใหม่ชื่อเพื่อไทย เอาน้องสาวท่านซึ่งไม่ประสีประสาเรื่องการเมืองมาลงก็ชนะพวกเราอีก มันเกิดอะไรขึ้นกับคนไทยส่วนใหญ่ ท่านมีดีอะไรทำไมท่านจึงชนะตลอดและทำไมฝ่ายเรา ที่ครองอำนาจ มายาวนานมีครบเครื่องทุกองคาพยพจึงพ่ายแพ้ตลอดและไม่เห็นช่องทางที่จะชนะท่านได้เลย

    สุดท้ายพวกเราจึงปรึกษากันว่าคงจะต้องให้ทหารยึดอำนาจอีก และเพื่อตอกฝาโลง ก็ใช้กระบวนการยุติธรรมในมือตัดสินเอาผิดอีก ท่านกับน้องสาวจะต้องไม่อยู่ในประเทศ เพราะถ้าท่านอยู่พวกเราคงจะไม่ได้มีโอกาสชนะและกลับมาครองอำนาจเป็นแน่ พวกท่านอยู่ต่างประเทศคงจะสบายดีนะ พวกเราขอแช่แข็งประเทศสัก 5-20 ปี ก่อนจนกว่าจะมั่นใจได้ว่าพวกเราจะบริหารจัดการอำนาจและปกครองแบบเบ็ดเสร็จ

    การสมคบคิด การวางแผนการยึดอำนาจ กระบวนการทำลายประชาธิปไตยทำลายอำนาจของประชาชนจึงมีอยู่จริง ไม่ใช่เป็นแค่เพียงทฤษฎี แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะนี่มันคือสงคราม สงครามระหว่างฝ่ายประชาธิปไตย กับฝ่ายเผด็จการและแนวร่วมฝ่ายเผด็จการ ในหลายๆเรื่อง หลายๆเหตุการณ์ หลายๆสถานการณ์ผมอยู่และรับรู้จากเหตุการณ์จริงนั้นด้วย

    แต่พอมีสติ พิจารณาศึกษาอย่างรอบด้านจึงรู้ว่าเหตุผลทีทำให้ท่านชนะ เพราะท่านทำเพื่อประชาชนในวิถีประชาธิปไตย เหตุผลที่ฝ่ายเราพ่ายแพ้ตลอดเพราะฝ่ายเราทำเพื่อนายทุน ขุนศึก และศักดินาอำมาตย์ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยไม่ได้ทำเพื่อประชาชนและประชาธิปไตย ที่สำคัญที่สุด ประชาชนส่วนใหญ่รู้เท่าทันและรู้ความจริงทุกอย่างแล้วว่าใครเป็นใคร ใครต่อสู้เพื่อประชาชนและประชาธิปไตย ใครต่อสู้เพื่อเผด็จการและเครือข่ายเผด็จการ

    ผมขอโทษท่านและน้องสาวท่านด้วยนะครับที่เคยต่อสู้กับท่าน แต่เมื่อความจริงปรากฏ ความอยุติธรรมและเผด็จการปกครองครอบงำประเทศ ปนะชาชนเดือดร้อน ทุกข์ยากลำบาก สิทธิเสรีภาพสูญสิ้น ชาติบ้านเมืองของเราบอบช้ำ เข้าขั้นวิกฤต ผมจึงขออนุญาตมาร่วมอุดมการณ์เดียวกันกับท่าน ขอร่วมสู้กับท่านและเหล่าวีรชนฝ่ายประชาธิปไตย เพื่อนำพาประเทศไทยของเราให้ข้ามพ้นจากความขัดแย้ง ข้ามพ้นจากยุคมืดของเผด็จการ ที่กดขี่ข่มเหงพวกเรา เดินทางไปสู่ระบอบประชาธิปไตย สร้างความเสมอภาพ ความเจริญรุ่งเรืองเช่นอารยประเทศ

    วันนี้เป็นวันคล้ายวันเกิดครบ 69 ปีของท่าน ชีวิตที่ผ่าร้อนผ่านหนาว ผ่านทุกข์ผ่านสุข ผ่านอุปสรรคหนักหนามาอย่างท่าน มีทั้งคนรัก มีทั้งคนเกลียด มีทั้งคนกลัวท่าน ถือว่าท่านใช้ชีวิตโคตรจะคุ้มเลย ท่านอย่าพึ่งเป็นอะไรไปเสียก่อนละ เชื่อว่าอีกไม่นาน ฝ่ายประชาธิปไตยและประชาชนจะเป็นฝ่ายชนะ ฝ่ายเผด็จการแน่นอน ไม่ต้องรอชาติหน้า เพื่อเป็นของขวัญในวันเกิดของท่าน ประชาชนผู้รักประชาธิปไตยก็จะรู้สึกมีความสุข เอิบอิ่มใจ ลูกหลานพวกเราก็ไม่ต้องเป็นทาสไพร่อีกต่อไป คุณความดีของท่านที่เคยทำไว้คนไทยส่วนใหญ่จะไม่ลืม ในฐานะผู้แทนคนหนึ่งแม้จะไม่ได้ไปพบปะกับท่าน

    ก็ขออาราธนาคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจงอำนวยพรให้ท่านและครอบครัวมีความสุข สุขภาพแข็งแรง ขอให้ท่านใช้สติ ปัญญาที่ชาญฉลาดของท่านอย่างสุขุมรอบคอบ อย่าหลงระเริงไปกับลาภ ยศ สรรเสริญเยินยอจนลอยห่างไปจากความจริง ไปจากประชาชนนะครับ และขอให้ท่านและน้องสาวยิ่งลักษณ์ ได้กลับมาสู่อ้อมกอดของแผ่นดินครับ

    นคร มาฉิม
    อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดพิษณุโลก
    อดีตประธานคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองสภาผู้แทนราษฎร
    26 ก. ค. 2561″

    ลาวเขื่อนแตก นับพันครอบครัวประสบภัย

    ที่มาภาพ:เฟซบุ๊กสำนักข่าวเอบีซีลาว

    วันที่ 25 ก.ค. 2561 เว็บไซต์ไทยพับลิก้ารายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 ของประเทศลาว เกิดน้ำท่วมกะทันหันที่เมืองสนามไชย แขวงอัตตะปือ ส่งผลให้ประชาชนหลายร้อยครัวเรือนได้รับผลกระทบและสูญหายหลายร้อยคน หลังจากที่น้ำจากลำน้ำเซเปียนเอ่อล้นไหลท่วมอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย แตก

    สำนักข่าวสารประเทศลาว(Khaosan Pathet Lao:KPL)หรือ Laos News Agency รายงานว่า วิกฤติน้ำท่วมเกิดจากสันเขื่อนเซเปียน – เซน้ำน้อย ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างแตก มวลน้ำปริมาณ 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร จึงไหลท่วมบ้านเรือนในแขวงอัตตะปือ ส่งผลกระทบต่อประชาชนมากกว่า 6,600 คน และมีจำนวนกว่าหลายร้อยคนสูญหาย บ้านเรือนถูกกระแสน้ำพัดพาจมหายไป ระดับน้ำในหลายพื้นที่สูงจนมิดหลังคาเรือน

    ที่มาภาพ:เพจLaoFAB
    สันเขื่อน ที่มาภาพ:
    https://www.idsala.com/2018/07/5000.html
    ที่มาภาพ:เฟซบุ๊กสำนักข่าวเอบีซีลาว

    รัฐบาลประกาศเขตประสบภัยระดับชาติ

    สำนักข่าวสารประเทศลาวรายงานว่า ในเบื้องต้นมีประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 1,005 ครอบครัว มีผู้สูญหายประมาณ 34 คน ขณะนี้รัฐบาลได้ให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนทั้งด้านอาหาร ที่พักอาศัย เครื่องนุ่งห่ม สิ่งของจำเป็น โดยได้ร่วมกับกองทัพ สำนักงานตำรวจ พร้อมระดมยานพาหนะในทุกช่องทางเพื่อช่วยผู้ที่ยังติดค้าง

    สำนักข่าวเอบีซีลาว (ABC Laos News) รายงานว่า เจ้าหน้าที่ทางการได้เร่งใช้เรืออพยพผู้ประสบภัยออกจากเมืองสันไชย ซึ่งเป็นที่ตั้งโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย หลังจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว พร้อมเตือนให้อพยพอยู่ที่สูง

    รัฐบาลได้ประกาศให้พื้นที่น้ำท่วมเมืองสนามไชยเป็นเขตประสบภัยฉุกเฉินระดับชาติ พร้อมทั้งมอบให้กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ร่วมมือกับกระทรวงป้องกันประเทศ แขวงอัตตะปือ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งตั้งตั้งคณะรับผิดชอบ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการประสานงาน ระดมทุน พร้อมรับความช่วยเหลือและบริจาคเงิน สิ่งของ ของจำเป็นจากทุกภาคส่วนทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่น ผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไปที่มีน้ำใจช่วยเหลือ พร้อมกับได้เปิดศูนย์รับบริจาคขึ้น

    ที่มาภาพ:เพจ LaoFAB

    เช้าวันที่ 24 กรกฎาคม 2561 แขวงอัตตะปือ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวได้ออกจดหมายแจ้งวิกฤติน้ำท่วม อันเนื่องมาจากอุบัติเหตุของโครงการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ทำให้น้ำไหลลงลำน้ำเซเปียน เมืองสะนามไชย แขวงอัตตะปือ นับตั้งแต่เวลา 20.00 น.ของวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 และสร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในหลายพื้นที่ โดยให้หน่วยงานทุกฝ่ายให้ความช่วยเหลือประชาชน พร้อมเร่งอพยพประชาชนเร่งด่วน

    ที่มาภาพ:เฟซบุ๊กสำนักข่าวสารประเทศลาว

    สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บริษัท SK Engineering & Construction ให้ข้อมูลในการสัมภาษณ์ว่า สาเหตุของการทรุดตัวเกิดจากฝนที่ตกหนักต่อเนื่องและน้ำท่วม บริษัทฯได้ตั้งทีมงานเฉพาะกิจขึ้นและวางแผนช่วยเหลืออพยพประชาชนในหมู่บ้านใกล้เคียง รวมทั้งได้ร่วมกับรัฐบาลลาวให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัย

    นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ได้งดการประชุมคณะรัฐมนตรีและนำคณะรัฐมนตรีลงพื้นที่ที่ประสบภัยเพื่อติดตามการให้ความช่วยเหลืออย่างใกล้ชิดพร้อมพิจารณามาตรการให่ความช่วยเหลือเพิ่มเติม

    นายกรัฐมนตรีทองลุน สีสุลิด ลงพื้นที่ประสบภัยติดตามการให้ความช่วยเหลือ ที่มาภาพ:เฟซบุ๊กสำนักข่าวเอบีซีลาว

    สถานฑูตไทยเปิดรับบริจาค

    สถานทูตไทย ณ กรุงเวียงจันทน์ เปิดรับบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือพี่น้องชาวลาวจากเหตุเขื่อนแตกน้ำท่วมบ้านเรือน ผ่าน บัญชีธนาคารกรุงไทย สาขานครหลวงเวียงจันทน์ ชื่อบัญชี Royal Embassy – Donation เลขที่บัญชี 945-1-03-115-4 ในสกุลเงินบาท และยังสามารถบริจาคที่แขวงอัตตะปือได้ผ่าน 3 บัญชีทั้งสกุลกีบและสกุลดอลลาร์ โดยสกุลกีบ ได้แก่บัญชีธนาคารการค้า เลขที่ 080110000058308001 บัญชีธนาคารพัฒนาลาว เลขที่ 0301800100000004 ส่วนสกุลดอลลาร์ผ่านบัญชีธนาคารการค้า เลขที่ 080110100021371001

    ที่มาภาพ:http://vientiane.thaiembassy.org/th/news/announce/detail.php?ID=580

    ราชบุรีโฮลดิ้งชี้แจง

    บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ชี้แจงกรณีการทรุดตัวของเขื่อนดินย่อยโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ว่า บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) ซึ่งบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 25 เป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ตั้งอยู่ที่แขวงจำปาสัก ในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่า เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2561 เขื่อนดินย่อยกั้นช่องเขา ส่วน D (Saddle Dam D) ขนาดสันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 770 เมตร และสูง 16 เมตร ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อเสริมการกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย เกิดการทรุดตัว ส่งผลให้สันเขื่อนดินย่อยดังกล่าวเกิดรอยร้าว และน้ำไหลออกไปสู่พื้นที่ท้ายน้ำ และลงสู่ลำน้ำเซเปียน ที่อยู่ห่างจากพื้นที่เขื่อนประมาณ 5 กิโลเมตร โดยเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพายุฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องทำให้มีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลเข้าสู่พื้นที่กักเก็บน้ำของโครงการฯ

    ขณะนี้บริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ดำเนินการอพยพประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณโดยรอบเพื่อความปลอดภัยไปยังสถานที่พักพิงชั่วคราวตามแผนฉุกเฉินที่กำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งได้เร่งดำเนินการประเมินสถานการณ์ เพื่อที่จะเข้าไปดำเนินการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นโดยเร่งด่วนเมื่อปริมาณน้ำในเขื่อนดังกล่าวลดลง หากมีความคืบหน้าประการใดจะแจ้งให้ทราบต่อไป

    อนึ่ง โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างมีความก้าวหน้าประมาณร้อยละ 90 และกำหนดจะเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ภายในปี 2562

    ที่ตั้งโครงการไฟฟ้าเซเปียน-เซน้ำน้อย ที่มาภาพ:https://www.idsala.com/2018/07/5000.html

    ปัจจุบันลาวมีเขื่อนไฟฟ้า 54 แห่ง ปี 2021 จะเพิ่มเป็น 100 แห่ง

    ที่มาภาพ:http://raosukunfung.com/2018/07/25

    นายคำมะนี อินทิลาด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและเหมืองแร่ เปิดเผยในโอกาสเฉลิมฉลองความสำเร็จของการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ส่วนขยายที่มีกำลังการติดตั้ง 80 เมกะวัตต์ ว่า ปัจจุบันลาวแหล่งผลิตไฟฟ้าแล้ว 54 แห่ง รวมมีกำลังการติดตั้ง 7,162 เมกะวัตต์ สามีรถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 37,086 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี

    สำหรับโครงการเชื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 ส่วนขยายเพิ่มเป็นโครงการของรัฐบาล โดยขยายออกจากโครงการเขื่อนไฟฟ้าน้ำงึม 1 เพื่อเพิ่มกำลังการผลิต ทั้งเป็นการรองรับการใช้ไฟฟ้าภายในประเทศให้เพียงพอ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้เริ่มศึกษาสำรวจในปี 2012 และเริ่มก่อสร้างในปี 2015 มีมูลค่าลงทุนประมาณกว่า 122 ล้านดอลลลาร์สหรัฐ

    โครงการนี้นอกจากสร้างผลประโยชน์ทางการเงินให้กับรัฐบาลแล้ว ยังเป็นโครงการที่มีประสิทธิภาพสูง สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มาก และสามารถค้ำประกันด้สนพลังงานภายในประเทศให้เพียงพอด้วย

    องค์กรแม่น้ำนานาชาติให้ข้อมูลเพิ่ม

    สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหลายกลุ่มได้สะท้อนความวิตกมาในหลายปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานของลาว เพราะนอกจากนี้กังวลผลต่อแม่น้ำโขงแล้วยังกังวลต่อชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจในท้องถิ่น
    โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2019 และขายไฟในสัดส่วน 90% ให้กับประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงรับซื้อกระแสไฟฟ้าระหว่าง PNPC กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยหรือ EGAT ส่วนที่เหลือ 10% จะจำหน่ายผ่านเครือข่ายระหว่าง PNPC กับ Electricite du Laos

    PNPC ก่อตั้งในปี 2012 โดย SK Engineering & Construction Co.,Ltd.,Korea Western Power Co., Ltd.(KOWEPO), บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) และ Lao Holding State Enterprise (LHSE)องค์กรแม่น้ำนานาชาติให้ข้อมูลว่า เขื่อนแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนขั้นบันไดเซเปียน-เซน้ำน้อย ซึ่งมีด้วยกันทั้งหมดห้าเขื่อน เป็นเขื่อนลักษณะที่เรียกว่า เขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ (saddle dam) หมายถึงเป็นเขื่อนเสริมพิเศษที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรวบรวมน้ำในอ่างเก็บน้ำที่เกิดจากเขื่อนหลัก เพื่อให้สามารถยกระดับน้ำให้สูงขึ้นและเก็บน้ำได้

    โครงการแม่น้ำเซเปียนนี้ ไหลลงแม่น้ำเซกอง ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาของแม่น้ำโขง ลงสู่แม่น้ำโขง ที่สตึงเตรง กัมพูชา

    จากข้อมูลที่องค์กรแม่น้ำนานาชาติมีอยู่ บริเวณเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ ‘D’ ของโครงการเซเปียน-เซน้ำน้อยได้แตกออกประมาณสองทุ่มเมื่อคืนนี้ เขื่อนแห่งนี้ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 คาดว่าจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 410 เมกะวัตต์ โดยจะขายให้ประเทศไทย 370 เมกะวัตต์ เป็นโครงการที่มีสัญญาก่อสร้างในลักษณะ “สร้าง-โอนให้-ให้บริการ” (build operate transfer – BOT) โดยมีอายุสัมปทาน 27 ปี เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างกลุ่มบริษัทจากเกาหลีใต้และไทย ได้แก่ บริษัท SK Engineering and Construction (SK E&C) – จากเกาหลีใต้; บริษัท Korea Western Power (KOWEPO) – จากเกาหลีใต้; บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) – จากไทย และ Lao Holding State Enterprise (LHSE)

    เมื่อวานนี้ (23 กรกฎาคม) หัวหน้าโครงการจัดสรรที่อยู่ใหม่ให้ประชาชนของโครงการนี้ส่งจดหมายไปถึงหัวหน้าแผนกจัดสรรที่อยู่ใหม่ของโครงการที่แขวงจำปาสักและแขวงอัตตะปือ โดยระบุว่าสภาพการณ์อันตรายอย่างมาก เนื่องจากมีน้ำหลากจากแนวสันเขื่อน และเขื่อนดินปิดช่องเขาต่ำ D ใกล้จะแตกออก จดหมายระบุว่า หากเขื่อนแตก น้ำปริมาณห้าพันล้านตันจะไหลไปด้านท้ายน้ำเข้าสู่แม่น้ำเซเปียน ในจดหมายระบุให้มีการเร่งเตือนฉุกเฉินแจ้งให้หมู่บ้านด้านท้ายน้ำอพยพและย้ายไปอยู่ในที่สูง

    ในเวลาไม่กี่ชั่วโมงหลังมีการออกจดหมาย (ในค่ำของวันจันทร์) เขื่อนได้แตกออก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมทะลักในปริมาณมหาศาลไปด้านท้ายน้ำการแตกของเขื่อนเป็นผลมาจากฝนที่ตกหนักตามฤดูอย่างต่อเนื่อง และฝนที่ตกหนักโดยเฉพาะในพื้นที่นี้เมื่อวันจันทร์

    ส่งผลให้กว่า 4,000 ครอบครัว (บางตัวเลขระบุว่ากว่า 6,600 ครอบครัว) ต้องสูญเสียบ้านเรือนและทรัพย์สินเนื่องจากถูกน้ำท่วม และมีผู้สูญหายกว่า 200 คนมีหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมอย่างน้อย 7 แห่ง ประกอบด้วย บ้านท่าบก หินลาด สมอใต้ ท่าแสงจัน ท่าหินใต้ ท่าบก ท่าม่วง เขต สนามชัย แขวงอัตตะปือ

    ชาวบ้านจำนวนมากเหล่านี้ได้ถูกอพยพมาที่อยู่ใหม่ก่อนหน้านี้ หรือที่ผ่านมาได้รับผลกระทบด้านการทำมาหากินเนื่องจากการก่อสร้างเขื่อน มาในคราวนี้ยังต้องได้รับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต้องสูญเสียบ้านเรือน ทรัพย์สิน และสมาชิกในครอบครัวไป

    บทเรียนเขื่อนแตก

    ความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน ซึ่งไม่สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและอุบัติภัยได้ อย่างกรณีที่เกิดฝนตกหนักมาก ๆ ปัจจุบันความผันผวนด้านสภาพอากาศที่ยากต่อการพยากรณ์และรุนแรง เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากในลาวและในภูมิภาคนี้ อันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศ

    ทั้งยังแสดงให้เห็นข้อบกพร่องของระบบเตือนภัยสำหรับการสร้างและการเดินเครื่องเขื่อน เนื่องจากมีการเตือนภัยที่ดูเหมือนจะล่าช้ามากและไม่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนไม่ได้รับการแจ้งเตือนล่วงหน้ามากเพียงพอเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว ทั้งสองประเด็นต่างทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับมาตรฐานของเขื่อนและความปลอดภัยของเขื่อนในประเทศลาว รวมทั้งความเหมาะสมของโครงการเหล่านี้ในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

    ทั้งยังมีคำถามเกี่ยวกับบทบาทและความรับผิดชอบ การตรวจสอบได้และความสามารถในการบริหารจัดการและรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน ในโครงการที่เป็นของและดำเนินการโดยเอกชนร่วมกับหน่วยงานของรัฐบาล

    เนื่องจากในปัจจุบันมีการก่อสร้างหรือมีแผนที่จะก่อสร้างโครงการพลังงานไฟฟ้ากว่า 70 แห่งตลอดทั่วสปป.ลาว โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการของและดำเนินการโดยบริษัทเอกชน (ในรูปแบบสัญญา “สร้าง-โอนให้-ให้บริการ”) เหตุการณ์ครั้งนี้จึงทำให้เกิดคำถามสำคัญเกี่ยวกับการวางแผนและการบริหารจัดการเขื่อน ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการตรวจสอบโดยทันที

    อนึ่งก่อนหน้านี้ ทีมงานขององค์กรแม่น้ำนานาชาติ ได้เคยลงพื้นที่เขื่อนเซเปียน เซน้ำน้อย ในปี 2556 และได้เขียนงานไว้ว่า…

    ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย ต้องการให้มีการปรึกษาหารือก่อนการก่อสร้าง
    เขียนเมื่อ 24 มกราคม 2556

    เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดิฉันได้ไปพักกับครอบครัวชนเผ่ายาหวน (Nya Heun) ในพื้นที่รองรับผู้อพยพที่หนาแน่นบริเวณแขวงปากซอง ลาวใต้ ประชาชนหลายพันคนถูกบังคับให้อพยพมาที่นี่ระหว่างปี 2539-2544 เพื่อปูทางให้มีการสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยและห้วยห้อ ที่มีการวางแผนก่อสร้างในช่วงนั้น บริเวณพื้นที่ที่ตกทอดมาแต่บรรพชนของพวกเขาตามริมฝั่งแม่น้ำเซเปียนและเซน้ำน้อย แม่น้ำและลำห้วยใกล้กับถิ่นฐานบ้านเกิดของพวกเขาเป็นแหล่งประมงที่อุดมสมบูรณ์ มีน้ำจืดไหลอย่างเสรี พวกเขาสามารถเก็บของป่าได้จากในป่า มีพื้นที่เพื่อทำการเกษตรบนพื้นที่สูงโดยปลูกพันธุ์ผักต่าง ๆ ผสมกับผลไม้ กาแฟ และข้าว

    แต่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพที่ดิฉันไปพัก เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการถางป่า และมีหน้าดินตื้นไม่เหมาะสมกับรูปแบบการเกษตรบนพื้นที่สูงที่พวกเขาคุ้นเคย ทั้งไม่มีแม่น้ำบริเวณใกล้เคียงที่สามารถจับปลา หรือสามารถนำน้ำสะอาดมาใช้งานได้เหมือนที่เคยเป็นมา ชาวบ้านเหล่านี้กลับต้องกลายเป็นคนซื้อข้าว ซื้อเนื้อ และซื้อปลาจากตลาดซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณ 5-8 กม. โดยมีระบบส่งน้ำแบบใช้แรงโน้มถ่วงของโลกเพียงเครื่องเดียวเพื่อจ่ายน้ำสำหรับใช้งานประจำวันทั้งชุมชน ชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ทำงานรับจ้างเป็นแรงงานรายวันในแปลงปลูกกาแฟบริเวณใกล้เคียง ซึ่งเป็นของบริษัทจากลาวและต่างชาติ รวมทั้งการเก็บเกี่ยวผลผลิตกาแฟจากแปลงปลูกเล็ก ๆ ในที่ดินซึ่งได้รับมาใกล้กับบ้าน เพื่อส่งขายให้กับบริษัท

    ชาวบ้านบอกว่าก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกเจ็บปวดจากความหิวโหยอย่างที่เป็นอยู่ในตอนนี้เลย แม้ว่าในหมู่บ้านเดิมที่พวกเขาอยู่ เด็กอาจต้องเสียค่าเล่าเรียน และคนป่วยอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลบ้าง แต่ก็เป็นค่าใช้จ่ายในระดับที่ชาวบ้านจ่ายได้ เนื่องจากไม่มีรายจ่ายในด้านอื่น ๆ มากนัก แต่ในปัจจุบัน ครอบครัวเหล่านี้บอกว่ากำลังประสบปัญหาไม่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียน หรือไม่มีเงินรักษาตัวยามเจ็บป่วย เนื่องจากเงินที่เก็บสะสมได้ต้องนำไปใช้ซื้ออาหาร

    การหาทางแก้ปัญหาและอยู่รอดในที่ดินใหม่

    ชาวบ้านทุกคนต่างต้องปากกัดตีนถีบในสภาพที่แร้นแค้น แต่พวกเขาต้องประหลาดใจว่า ที่ดินเดิมของพวกเขาส่วนใหญ่กลับไม่ถูกน้ำท่วม กว่า 10 ปีที่แล้ว ชาวบ้านได้รับการแจ้งเตือนว่า น้ำจากแม่น้ำจะหลากท่วมบ้านเรือนของตนโดยเร็ว เนื่องจากเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย

    เพราะอันที่จริงยังไม่มีการสร้างเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยขึ้นมาในตอนนั้น เนื่องจากแผนก่อสร้างเดิมของบริษัทจากเกาหลีใต้ประสบปัญหาจากวิกฤตการเงินในเอเชีย ทำให้ชาวบ้านรู้สึกโกรธ สับสน และกังวลใจพร้อมกับตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงถูกบีบให้อพยพออกจากถิ่นฐานบ้านเกิดของตนเอง

    ปัจจุบันครอบครัวส่วนใหญ่ได้กลับเข้าไปจับจองที่ดินเดิมของตน พวกเขาเริ่มเพาะปลูกและเก็บของป่าอย่างที่เคยทำมา แต่ก็เพิ่งทำได้ไม่นานมานี้เอง เนื่องจากก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ได้ขัดขวางไม่ให้พวกเขาเข้าไปในที่ดินของตน แต่ไม่กี่ปีก่อนหน้านี้ ทางการบอกว่าหลายครอบครัวที่ต้องการกลับไปที่ดินเดิม ต้องสามารถจำแนกได้ว่าที่ดินของตนอยู่ที่แปลงไหน และต้องจ่ายเงินจำนวนมาก ในปัจจุบัน ถนนที่จะนำพวกเขากลับไปสู่บ้านเกิดของตนมีเจ้าหน้าที่ของรัฐตั้งด่านตรวจเต็มไปหมด แต่ถ้าครอบครัวเหล่านี้สามารถจ่ายค่าผ่านทางให้กับเจ้าหน้าที่ได้ พวกเขาก็สามารถกลับไปบ้านเกิดของตนเองได้

    ชาวบ้านแสดงจุดยืนอย่างหนักแน่นและภูมิใจที่จะต่อต้านการบังคับให้อพยพ

    แม้ว่าครอบครัวส่วนใหญ่จะย้ายรวมกันไปอยู่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพ แต่มีสองหมู่บ้านที่ไม่ยอมย้าย ได้แก่บ้านห้วยโจดและบ้านหนองผานวน แม้จะถูกข่มขู่จากทางการ แต่ทุกครอบครัวในหมู่บ้านตัดสินใจร่วมกันกับผู้ใหญ่บ้าน ที่จะไม่ยอมรับข้อเสนอให้อพยพโยกย้าย แม้จะถูกทางการตัดบริการสาธารณูปการทั้งหลาย แต่ชาวบ้านยืนยันจะไม่ยอมละทิ้งถิ่นฐานของตนในป่าบนพื้นที่สูง ช่วงที่ดิฉันไปเยี่ยมพวกเขา ๆ ประกาศอย่างภูมิใจว่า สามารถเก็บเกี่ยวธัญญาหารจากในป่าได้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บน้ำผึ้งป่าและการทำแปลงเกษตรขนาดเล็กเพื่อการพึ่งตนเองของครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาไม่สามารถทำได้บนพื้นที่ที่แห้งแล้งในแปลงอพยพ

    ชาวบ้านที่ห้วยโจดตระหนักดีถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนที่ถูกโยกย้ายไปแล้ว พวกเขาอธิบายกับดิฉันว่า ได้เริ่มโครงการถ่ายภาพ เพื่อบันทึกข้อมูลพันธุ์พืชและสัตว์ท้องถิ่นบริเวณภูเขาและแม่น้ำรอบชุมชน ในเวลาอันรวดเร็ว พวกเขาสามารถอธิบายถึงตัวอย่างพันธุ์ปลาที่แตกต่างกันกว่า 20 ชนิด ซึ่งจับได้จากลำห้วยและแม่น้ำบริเวณใกล้เคียง และกับข้าวอีกหลายสิบอย่างที่พวกเขาปรุงขึ้นมาจากของที่หาได้จากธรรมชาติที่มีความสำคัญเช่นนี้ ในปัจจุบันพวกเขาต้องการบันทึกข้อมูลทุกอย่างเอาไว้ เพื่อเปรียบเทียบกับสภาพตอนที่บริษัทที่ทำแปลงเกษตรขนาดใหญ่หรือบริษัทที่สร้างเขื่อนเริ่มเข้ามาอ้างกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินของพวกเขา

    อนาคตร่วมกันที่ถูกคุกคาม

    บรรดาผู้ใหญ่บ้านและชาวบ้านที่ดิฉันได้พบต่างบอกว่า ในช่วงหกสัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนของบริษัท ไฟฟ้า เซเปียน-เซน้ำน้อย จำกัด (PNPC) และที่ปรึกษาโครงการจากประเทศไทย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้เข้ามาหาพวกเขาในหมู่บ้าน มีการถ่ายภาพบ้านเรือนของชาวบ้าน ที่ดินทำกิน และครอบครัวของพวกเขา มีการสอบถามชาวบ้านเกี่ยวกับอาหารและรายได้หลัก และเริ่มจะมีการปักป้ายชื่อของบริษัทจากเกาหลีใต้ SK Construction and Engineering บริเวณพื้นที่หน้าแคมป์คนงาน

    ในตอนนี้ดูเหมือนว่าหลังจากล่าช้าไปหลายปี คงจะมีการก่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเซเปียน-เซน้ำน้อยเสียที ทั้งนี้ด้วยเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย และมีการลงนามสัญญาสัมปทานเมื่อเดือนตุลาคม 2555 มีผู้ถือหุ้นประกอบด้วย บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) จากไทย บริษัทจากเกาหลีใต้สองแห่งได้แก่ SK Engineering & Construction Company และ Korea Western Power Company และรัฐบาลสปป.ลาว โดยคาดว่า 90% ของไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งออกไปประเทศไทย

    โครงการที่ครอบคลุมหลายลุ่มน้ำประกอบด้วยเขื่อนหกแห่งที่จะก่อสร้างขึ้นในแม่น้ำเซเปียน-เซน้ำน้อย และแม่น้ำห้วยหมากจัน โดยจะมีการผันน้ำผ่านระบบท่อและคลองเข้าไปสู่แม่น้ำเซกง คาดว่าโครงการนี้จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมบริเวณป่าต้นน้ำ ซึ่งยังคงเป็นทรัพยากรที่สำคัญสำหรับชาวบ้านชนเผ่ายาหวน ซึ่งอยู่ในพื้นที่รองรับผู้อพยพ ทั้งยังส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการประมงในภูมิภาค ไม่เป็นที่ชัดเจนว่าที่ผ่านมาได้มีการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนแล้วหรือไม่ แม้ว่าจะมีกลุ่มชาติพันธุ์อีกหลายพันคนในกัมพูชาซึ่งอาศัยอยู่ด้านท้ายน้ำของแม่น้ำเซกง

    อันที่จริง ชาวบ้านในชุมชนที่ดิฉันได้พบใกล้กับแขวงปากซองหรือัตตะปือ ต่างไม่เคยได้ทราบเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการนี้ที่จะมีต่อผืนดิน แม่น้ำ และสัตว์น้ำรอบตัวพวกเขาเลย เนื่องจากเคยมีประสบการณ์ถูกโยกย้ายมาแล้วครั้งหนึ่ง พวกเขาจึงรู้สึกโกรธและต้องการทราบว่า บริษัทจากไทยและเกาหลีใต้มีแผนการอย่างไรที่จะป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการดำรงชีพของพวกเขา ผู้ใหญ่บ้านคนหนึ่งบอกกับดิฉันว่า “บริษัทที่ต้องการสร้างเขื่อนเซน้ำน้อย ควรมาพูดคุยกับชาวบ้านในหมู่บ้านเสียก่อน พวกเขาไม่ควรเริ่มก่อสร้างเขื่อนโดยที่ยังไม่ได้พูดคุยกับชาวบ้าน พวกเราที่เป็นชาวบ้านต้องการทราบข้อมูลที่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น และเกิดขึ้นเมื่อไร… พวกเรากังวลมากในตอนนี้ ที่ผ่านมาได้มีการเริ่มจัดเตรียมพื้นที่ก่อสร้างของบริษัท SK แล้ว แต่พวกเขาไม่เคยเข้ามาที่หมู่บ้านเพื่ออธิบายอะไรเลย พวกเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น และจะได้รับความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เรายังคงรอคอยข้อมูลเหล่านี้”

    หากสถาบันระหว่างประเทศซึ่งมีขั้นตอนปฏิบัติเพื่อคุ้มครองด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม อย่างเช่น ธนาคารพัฒนาเอเชีย พิจารณาที่จะลงทุนในโครงการนี้ พวกเขาจำเป็นต้องรับฟังข้อกังวลอย่างจริงจังของชาวบ้านเกี่ยวกับช่องว่างที่ชัดเจนในแง่การปรึกษาหารือและความโปร่งใสของโครงการ เรากำลังรอดูอยู่ว่าพวกเขาจะแสดงความรับผิดชอบในเรื่องนี้อย่างจริงจังหรือไม่

    ต้นฉบับภาษาอังกฤษ English Version









    ที่มาภาพ:เฟซบุ๊คสำนักข่าวเอบีซีลาว,เพจLaoFAB,