ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสการเมือง > นักวิชาการ “ปอกเปลือก” กองทุนพัฒนาสตรีต้องโปร่งใส-อย่าตัดตอน ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเข้าถึงได้

นักวิชาการ “ปอกเปลือก” กองทุนพัฒนาสตรีต้องโปร่งใส-อย่าตัดตอน ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเข้าถึงได้

22 มีนาคม 2012


โครงการสตรีและเยาวชนศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดสัมมนาวิชาการเรื่อง “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี: มุมมองทางวิชาการ” เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 ณ ห้องบุญชู โรจนเสถียร ชั้น 3 อาคารอเนกประสงค์ 1 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เนื่องจากได้ตระหนักถึงความสำคัญของ “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” และประสงค์จะเห็นการใช้ประโยชน์จากกองทุนฯ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากที่สุด เพราะมีการประมาณการว่าต้องใช้วงเงินที่ค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยจังหวัดละ 100 ล้านบาท

วิทยากรร่วมสัมมนา ได้แก่ ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นางสาวไรรัตน์ รังสิตพล องค์การเพื่อสตรีแห่งชาติ หรือ UN Women ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย และ ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ประธานโครงการสตรีและเยาวชนศึกษา วิทยากรร่วมและผู้ดำเนินรายการ

นอกจากนั้น ผู้เข้าร่วมฟังเสวนาส่วนใหญ่เป็นผู้ทำงานด้านวิชาการเกี่ยวกับสตรี และตัวแทนเครือข่ายสตรีกลุ่มต่างๆ เช่น นางวณี บางประภา ผู้วิจัยเรื่อง “กองทุนหมู่บ้าน ชุมชนเมือง และผลกระทบต่อผู้หญิง” นางสาวธนพร วิจันทร์ ประธานกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรี รวมถึงผู้แทนจากสมาคมบัณฑิตสตรี เครือข่ายสตรี 4 ภาค และอื่นๆ เป็นต้น

ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล, คุณไรรัตน์ รังสิตพล, ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา (จากซ้ายมาขวา)
ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล, คุณไรรัตน์ รังสิตพล, ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา (จากซ้ายมาขวา)

ในมุมมองของนักวิชาการและผู้ร่วมเสวนาส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” มีจุดอ่อนต้องแก้ไขปรับปรุง เริ่มตั้งแต่แนวคิดการจัดตั้ง วัตถุประสงค์ คุณสมบัติของสมาชิก กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการทุกชุดที่เกี่ยวข้อง การประเมินผล และที่มาที่ไปของเงิน ดังนั้น เวทีนี้จึงมุ่งเน้นแลกเปลี่ยนทัศนะที่มีต่อแนวคิดและแนวทางการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

นางสาวไรรัตน์ ผู้ซึ่งมีประสบการณ์เกี่ยวกับการดำเนินการของกองทุนสตรีในระดับสากล เช่น กองทุนยุติความรุนแรงของสตรีทุกรูปแบบ (UN Trust Fund For Women) กองทุนเพื่อสนับสนุนความเสมอภาคระหว่างเพศ (UN Gender Equality) เป็นต้น มีข้อสังเกตต่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 4 ข้อ

1. กองทุนฯ จะต้องเป็นเครื่องมือทำให้การพัฒนาลงไปถึงผู้ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง ที่สำคัญต้องเชื่อมโยงกับภาพใหญ่ให้ได้ โดยกองทุนฯ นี้จะต้องเข้าไปสนับสนุนได้ทุกๆ หน่วยงานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แม้จะมี 7 กระทรวงที่เกี่ยวข้องดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ก็ต่างมีงานของตัวเองอยู่แล้ว และแต่ละกระทรวงก็มีงบเกี่ยวกับผู้หญิงกระจายอยู่ ตรงนี้กองทุนฯ ควรจะมาบูรณาการ หรือหากลไกเข้าไปเติมเต็มให้มีประสิทธิภาพ และประเทศไทยก็มีแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติอยู่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ดังนั้น การดำเนินการเรื่องการพัฒนาบทบาทสตรีควรดำเนินการสอดคล้องกับแผนฯ 11

2. กองทุนฯ จะต้องคิดว่า จะสร้างประสิทธิภาพหรือสร้างขีดความสามารถของกลุ่มสตรีหรือองค์กรผู้รับทุนอย่างไร แต่วัตถุประสงค์ของกองทุนฯ มุ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนหรือให้เป็นรายได้ แล้วมิติของการดำเนินการ การสร้างเครือข่าย การสร้างภาวะผู้นำ จะสนับสนุนเงินไปช่วยดำเนินการหรือไม่

3. การสร้างขีดความสามามารถไม่ควรเป็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น น่าจะสร้างในลักษณะองค์กร สมาคม ชุมชน โดยไม่เลือกปฏิบัติ ไม่ใช่เสริมพลังทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยที่ความแตกต่างการเลือกปฏิบัติยังอยู่คู่สังคม ดังนั้น ต้องสร้างความเข้าใจมิติความเท่าเทียมทางเพศโดยให้องค์ความรู้กับสังคมด้วย

4. กองทุนฯ นี้ควรมองกลุ่มผู้หญิงอื่นที่มีภาวะเฉพาะด้วย เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มผู้หญิงมุสลิม กลุ่มผู้หญิงแรงงานนอกระบบ กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี กลุ่มผู้หญิงที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยแต่อยู่ในประเทศไทย เป็นต้น ควรมองด้วยว่าทำอย่างไรให้เข้าถึงกองทุนฯ นี้

ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา
ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา

ด้าน ดร.สกนธ์ ให้มุมมองทางด้านเศรษฐศาสตร์เป็นข้อสังเกตว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดำเนินการภายใต้ระเบียบสำนักนายกฯ โดยอ้างเรื่องความง่าย คล่องตัวในการจัดการ และคิดว่าในอนาคตจะแปรเป็นพระราชบัญญัติเหมือนกองทุนหมู่บ้าน เรื่องนี้ต้องติดตามให้เกิดขึ้นเพราะถือเป็น “หัวใจ” สำคัญของการจัดตั้งกองทุนลักษณะนี้ คือทำให้สามารถตรวจสอบได้โดยผ่านกระบวนการวิธีพิจารณางบประมาณ

เนื่องจากการจัดตั้งกองทุนในประเทศไทยทั้งที่เปิดเผยและไม่เปิดเผยมีประมาณกว่า 200 กองทุน แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ในวงกว้าง ดังนั้น กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเมื่อเปิดขึ้นมาแล้วใช้เงินเริ่มต้นถึง 7,700 ล้านบาท หรือประมาณจังหวัดละ 100 ล้านบาท ถ้าไม่กำหนดวิธีการตรวจสอบการได้มาของเงินและการใช้ไปอย่างชัดเจน จะนำไปสู่โจทย์ภาครัฐเรื่อง “ธรรมาภิบาล” ซึ่งการทำนโยบายสาธารณะจำเป็นต้องมีธรรมาภิบาล ความโปรงใส ความเป็นธรรม เข้าถึง ตอบสนองประชาชน มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผล

“หากกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี จะไม่เห็นการจัดการทำให้เกิดธรรมาภิบาล เพราะจะเบลอ ไม่ชัดเจน” ดร.สกนธ์กล่าว

นอกจากธรรมาภิบาลแล้ว ดร.สกนธ์ตั้งข้อสังเกตเรื่อที่มาขอเงิน 7,700 ล้านบาท ที่พบว่า รัฐบาลมีการกันเงินไว้ภายใต้เงินกองทุนพัฒนาสตรีเพียง 1,700 ล้านบาท ส่วนที่ขาดอีก 6,000 ล้านบาท คาดว่ารัฐบาลจะเอาเงินจากงบกลาง ซึ่งงบประมาณปี 2555 ไม่ได้เกิดจากความสามารถหารายได้หรือจากการเก็บภาษีอย่างเดียว แต่ส่วนหนึ่ง 400,000-500,000 ล้านบาท มาจากการกู้ยืม หมายความว่าเงินที่ใช้ในกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี 7,700 ล้านบาท เมื่อใช้ไปแล้วโอกาสการเรียกคืนเงินกู้มีมากน้อยแค่ไหน จะมีการบริหารจัดการอย่างไรที่จะมีเงินมาใช้เงินกู้ที่กู้ยืมในงบประมาณปี 2555

อีกประเด็นที่ ดร.สกนธ์ชวนคิดคือ เมื่อเงินที่จ่ายให้กองทุนพัฒนาสตรีถูกฝังในระบบงบประมาณของประเทศ จะคล้ายกองทุนหมู่บ้านที่แรกๆ อาศัยสถาบันการเงินของรัฐเป็นให้ทุนประเดิม แต่ท้ายที่สุดเมื่อเงินทุนหมุนเวียนหดหายไป รัฐบาลมีการเติมเงินให้เรื่อยๆ แล้วกองทุนพัฒนาสตรีจะเป็นลักษณะนี้หรือไม่ ที่สำคัญบริหารจัดการไม่ดีจะกลายเป็นเบี้ยหัวแตกหรือเปล่า

“ขนาดการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายแผ่นดินแต่ละปีเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ซึ่งไม่น่าตกใจถ้ามีรายจ่ายเพิ่มและมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย แต่รายได้เพิ่มขึ้นแค่ 9% ดังนั้น ถ้าทุกอย่างผูกระบบงบประมาณแบบนี้ตลอด แล้วกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเลี้ยงตัวเองไม่ได้ รัฐบาลต้องคอยเติมเต็มตลอดไปเพราะผูกพันในงบประมาณ หากเป็นแบบนี้มากขึ้นการบริหารการคลังจะมีจำกัด” ดร.สกนธ์กล่าว

นอกจากนี้ ดร.สกนธ์มีความเห็นว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่เน้นให้กู้ยืมดอกเบี้ยต่ำหรือไม่คิดอัตราดอกเบี้ย มีลักษณะเอาเงินเป็นตัวตั้งในการแก้ไขปัญหา ขณะที่มิติอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นความเข้มแข็ง ความมั่นคงของสตรี อาศัยเม็ดเงินอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเงินไม่ใช่เรื่องใหญ่ที่สุด ไม่ควรมองเรื่องเงินอย่างเดียว มีมิติอื่นมากมายที่สำคัญ เช่น ประเด็นการสร้างเครือข่ายน่าจะเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาบทบาทสตรี สร้างความเข้มแข็ง และยั่งยืน

อีกประเด็นหนึ่งที่ ดร.สกนธ์ตั้งข้อสังเกตคือ ระเบียบสำนักนายกฯ ระบุว่า ถ้าได้เงินจากองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จะรับเงินจากที่อื่นไม่ได้ จะทำให้ “ตัดตอน” ไปรวมกับกลุ่มอื่นไม่ได้ เช่น เคยได้รับเงินจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) แต่เมื่อรัฐบาลเดินหน้ากองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแล้วห้ามรับจาก อบต. ตรงนี้ไม่อยากให้เกิดความแตกแยกในพื้นที่ จะกลายเป็นการสร้างความแตกแยก หรือไม่มีความสมานฉันท์ในพื้นที่หรือไม่

ในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ดร.สกนธ์ตั้งข้อสังเกตว่า กองทุนฯ 7,700 ล้านบาท เสมือนหนึ่งว่าจะจัดสรรให้จังหวัดละ 100 ล้านบาท ถ้าเป็นแบบนี้จริงจะมีความเท่าเทียมจริงหรือไม่ เพราะนครราชสีมาซึ่งเป็นจังหวัดใหญ่ที่สุด กับแม่ฮ่องสอน ระนอง ก็มีขนาดต่างกันเรื่องนี้จะจัดสรรอย่างไร

ประเด็นต่อมาคือ คนที่จะได้เงินกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีต้องขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิก ถึงจะทำโครงการเสนอขอเงินได้ ซึ่งระเบียบการจัดสรรเงินกว้างมาก จะใช้วิธีใครมาก่อนได้ก่อน หรือจัดสรรแบบเฉลี่ย นอกจากนี้ การให้ลงทะเบียนก่อนถึงจะเข้าถึงกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี อาจขัดรัฐธรรมนูญเรื่องความเท่าเทียมและความเสมอภาค

อีกข้อสังเกตคือ กองทุนฯ นี้มีกรรมการหลายระดับมาก ประเด็นคือว่า การมีหลายๆ กรรมการ และการคัดสรรกรรมการเหล่านี้อาศัยระเบียบราชการ ซึ่งจากประสบการณ์การใช้ระเบียบราชการคือคนที่อยากให้เป็นไม่ได้เป็น คนที่ไม่อยากให้เป็นกลับได้คัดเลือกเข้าไปเป็นกรรมการ

“วันนี้ปัญหาของผู้หญิงอยู่ที่ไหน ต้องตอบโจทย์ตรงนี้ให้ได้ การเพียงใส่เงินเข้าไปคงแก้ปัญหาไม่ได้ และทำไม่ได้ยั่งยืน” ดร.สกนธ์กล่าว

ขณะที่ ดร.สุธาดา ผู้ที่เกาะติดเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมาตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันกล่าวว่า ได้เคลื่อนไหวและไปยื่นข้อเสนอให้ทบทวนระเบียบสำนักนายกว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีให้รัฐบาลพิจารณา ได้เข้าพบทั้งนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี นางนลินี ทวีสิน เหลือแต่ศาลรัฐธรรมนูญกับศาลปกครองเท่านั้นที่ยังไม่ได้ไป โดยการดำเนินการที่ผ่านมานั้นยังไม่มีการตอบรับจากรัฐบาล

“หากรัฐบาลยังยืนยันที่จะคัดเลือกกรรมการตามระเบียบสำนักนายกฯ ทางเครือข่ายองค์กรสตรีต่างๆ จะเข้าพบคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อปรึกษาขอให้ดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง อาจมีการทำหนังสือยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลอีกครั้ง หรือไม่เช่นนั้นอาจมีการฟ้องร้องต่อศาลปกครองให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อให้ระงับกระบวนการรับสมัครสมาชิกและคัดเลือกกรรมการ” ดร.สุธาดากล่าว

ดร.สุธาดาตั้งข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี โดยเปรีบเปรยว่าข้อสังเกตที่ตั้งขึ้นคือการ “ปอกเปลือก” นโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เนื่องจากนโยบายนี้อุปมาอุปมัยเหมือนเป็น “แอปเปิ้ล” ที่ต้องปอกเปลือก เพราะพิษอยู่ที่เปลือก ถ้าไม่ปลอกเปลือกจะเป็นอันตราย

ข้อสังเกตโดยสรุปของ ดร.สุธาดา ที่สำคัญคือ

1. เป็นการดำเนินนโยบายสาธารณะที่ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชนและเครือข่ายสตรี ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 87

2. การกำหนดให้ “กองทุนต้องมีการสมัครสมาชิก” เป็นการลิดรอนสิทธิพลเมือง อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 27 และจำกัดการมีส่วนรวมของเครือข่ายองค์กรสตรีและภาคประชาชน

3. กระบวนการและขั้นตอนการรับสมัครสมาชิก เป็นกระบวนการรับสมัครที่ขัดหลักธรรมาภิบาล อาจขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 74

4. “ข้อกำหนด” หลายข้อในระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ. 2555 มีลักษณะการวางขอบเขตการใช้อำนาจของภาครัฐและภาคการเมืองที่ “ครอบงำ-กำกับ” การดำเนินนโยบายสาธารณะและการจัดการอย่างเบ็ดเสร็จ และขาดการส่งเสริมบทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนตามกระบวนการประชาธิปไตย

ดร.สุธาดายกตัวอย่างระเบียบสำนักนายกฯ ที่ต้องแก้ไข เช่น วัตถุประสงค์ของกองทุน ต้องมีการทวนให้เป็นไปตามหลักการพัฒนาบทบาทสตรีตามกฎหมายระหว่างประเทศ หลักการรัฐธรรมนูญ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติ

นอกจากนี้ การให้น้ำหนักกับวัตถุประสงค์ข้อแรกเรื่องการให้กู้ยืม โดยให้สัดส่วนเงินกู้ 60-80% ซึ่งเป็นการให้เงินกู้เพื่อสร้างรายได้ ขณะที่วัตถุประสงค์ข้อสอง สาม และสี่ ซึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาศักยภาพและส่งเสริมบทบาทสตรี กลับได้รับจัดสรรเงินในสัดส่วนลดลงมา และยังกันไว้สำหรับบริหารกองทุนฯ 10% เพราะฉะนั้นจะเหลือเงินอีกประมาณ 10% สำหรับจัดสรรให้วัตถุประสงค์ข้อสอง สาม และสี่ ซึ่งจะเป็นไปปัญหาในตัวเอง

“ชื่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี น่าจะเปลี่ยนชื่อเป็น “กองทุนสินเชื่อเพื่อสตรีแห่งชาติ” และให้ใช้เงิน “กู” ไม่ใช่เงิน “กู้” และไม่ใช่เงินงบประมาณ” ดร.สุธาดากล่าว

สำหรับข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลที่กลุ่มการเคลื่อนไหวของ ดร.สุธาดาได้ดำเนินการแต่รัฐบาลไม่ตอบรับ ได้แก่

1. ขอให้ยกเลิกการรับสมัครสมาชิก และให้เป็น “กองทุนเปิด” เพื่อผู้หญิงสามารถเข้าถึงการใช้สิทธิในกองทุนนี้ได้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน

2. ขอให้ทบทวนบทบาทและแก้ไขคุณสมบัติของผู้ต้องการใช้สิทธิในกองทุน “เปิดกว้าง” คือผู้หญิงและองค์กรทุกกลุ่ม

3. ตั้งคณะอนุกรรมการร่วมทั้ง 4 ฝ่าย คือ ภาครัฐ องค์กรสตรีภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เป็น “อนุกรรมการจัดรับฟังความคิดเห็นจากสตรีในทุกจังหวัด นับจากนี้ไปอีก 90 วัน” หรือในช่วงเดือน เมษายน พฤษภาคม และมิถุนายน เพื่อรวบรวมความเห็นต่อระเบียบสำนักนายกรับมนตรีว่าด้วยกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555 เพื่อประมวลข้อคิดเห็นที่ได้จากเวทีระดับจังหวัดทั่วประเทศ มาทบทวนและแก้ไขระเบียบ

4. ตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ฝ่าย คือ ภาครัฐ องค์กรสตรีภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็น “อนุกรรมการพิจารณาแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยเรื่องกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี พ.ศ.2555″ นับจากนี้ไปภายใน 60 วัน หรือภายในเดือนเมษายน-พฤษภาคม

ดร.นิรมล สุธรรมกิจ
ดร.นิรมล สุธรรมกิจ

ด้าน ดร.นิรมล สรุปปิดท้ายว่า ทุกคนในเวทีนี้เห็นตรงกันว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะต้องครอบคลุมผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดและทั่วถึง ที่สำคัญคือการติดตามประเมินผลและความยั่งยืนของกองทุนฯ รวมถึงการใช้เงินของกองทุนฯ จะต้องมีประสิทธิภาพ โดยควรนำไปพัฒนาเรื่องขีดความสามารถเรื่องการมีส่วนร่วม การมีจิตสำนึก ส่วนเรื่องเศรษฐกิจคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ไม่อยากให้น้ำหนักด้านนี้มากเกินไป

“การสัมมนาครั้งนี้เป็นมุมมองวิชาการ การนำเสนอส่วนใหญ่จึงเป็นการเอาจุดอ่อนมาตีแผ่ และหาทางป้องกันจุดอ่อนทำให้เป็นจุดแข็ง ดังนั้นจึงไม่ได้หมายความว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไม่มีข้อดี แต่เวทีวิชาการส่วนใหญ่จะเก็บข้อดีไว้ เพราะรู้อยู่แล้ว แต่ข้อบกพร่องต้องนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อหาแนวทางไปสู่การแก้ไขให้ดีขึ้น ดังนั้น จะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการสัมมนาครั้งนี้ส่งให้เครือข่ายสตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง” ดร.นิรมลกล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้นำเสนอข่าวการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสตรีและความเคลื่อนไหวในช่วงที่ผ่านมา อ่านรายละเอียดเพิ่ม “นลินี ทวีสิน” ออกทีวีแจงกองทุนสตรีเน้น “ยั่งยืน” อ้างใช้ระเบียบสำนักนายกฯ เพื่อความคล่องตัวก่อนยื่นเป็นพ.ร.บ.

กลุ่มแรงงานสตรี เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบ (ภาพบน) ไม่ได้เข้าพบนางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมตรี ขณะที่นางงามกลับได้พบ ที่มาภาพกลุ่มแรงงาน : http://www.dailynews.co.th/​sites/default/files/​imagecache/620x245/photos/​16269/0.jpg และที่มาภาพนางงาม : http://www.posttoday.com/​media/content/2012/03/21/​ADC7E3B415A146EF9AD68350D42396​C1.jpg
กลุ่มแรงงานสตรี เดินทางมายื่นข้อเรียกร้องที่ทำเนียบ (ภาพบน) ไม่ได้เข้าพบนางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมตรี ขณะที่นางงามกลับได้พบ ที่มาภาพกลุ่มแรงงาน : http://www.dailynews.co.th/ sites/default/files/ imagecache/620x245/photos/ 16269/0.jpg และที่มาภาพนางงาม : http://www.posttoday.com/ media/content/2012/03/21/ ADC7E3B415A146EF9AD68350D42396 C1.jpg